Gen Y หรือคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป กำลังเริ่มเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน แต่พวกเขาเป็นพนักงานที่แปลกแตกต่างไปจากพนักงานทั้งหมดเท่าที่โลกเคยมีมา
Generation Y หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1977-1995 ซึ่งบางส่วนเติบโตจนเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน กำลังรุกเข้าสู่บริษัททั่วสหรัฐฯ แต่พวกเขาเป็นพนักงานที่แตกต่างไปจากพนักงานรุ่นก่อนๆ ในหลายด้าน นับตั้งแต่การเลี้ยงดูไปจนถึงโลกทัศน์ พวกเขาเฉยเมย น่ารำคาญ ทะเยอทะยาน เรียกร้อง และตั้งคำถามกับทุกสิ่ง หากไม่มีเหตุผลดีพอ อย่าหวังว่า Gen Y จะยอมเสียเวลาเดินทางไปทำงานนอกเวลาหรือยอมทำงานดึก ความภักดีต่อบริษัทของ Gen Y จะอยู่ในอันดับท้ายสุด ในรายการสิ่งที่ให้พวกเขาให้ความสำคัญ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ครอบครัว เพื่อน สังคม เพื่อนร่วมงาน และตัวของพวกเขาเอง
แต่โลกธุรกิจก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องอ้าแขนต้อนรับพวกเขา เพราะคนรุ่นพ่อแม่ของ Gen Y คือรุ่น baby boom หรือคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังทยอยเกษียณอายุ โดยจะมี Baby Boom ราว 64 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่จะเกษียณอายุในปลายทศวรรษนี้ และถึงแม้โลกธุรกิจจะไม่ต้อนรับพวกเขา พวกเขาก็แค่กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ ซึ่งดูเต็มใจจะต้อนรับพวกเขากลับบ้านโดยไม่คิดจะดุด่าว่ากล่าวแม้แต่คำเดียว
Gen Y เป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ติดเพื่อน ชอบทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน เสียงดัง มองโลกในแง่ดี และมีรอยเจาะในร่างกายมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ Baby Boom ของพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยลักษณะของคนแต่ละรุ่นชี้ว่า Gen Y ซึ่งกำลังเข้าสู่วัยทำงาน นับเป็นคนวัยทำงานที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อย่างดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก และขณะเดียวกัน ก็กำลังจะเป็นคนวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกเช่นกัน
Gen Y ย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ด้วยข้อมูลความรู้ที่อัดแน่นอยู่ในหัว มากกว่าที่คนวัยยี่สิบรุ่นก่อนหน้าพวกเขาทุกรุ่นเคยมีมา และยังพร้อมมูลด้วยข้อมูลข่าวสารที่มากกว่าเพียงปลายนิ้วสัมผัสในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ พวกเขายังมีความคาดหวังที่สูงยิ่ง แต่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังสูงสุดและเป็นสิ่งแรก คือตัวของพวกเขาเอง
บุคลิกลักษณะและโลกทัศน์ของ Gen Y
ข้อมูลจากสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐระบุว่า Gen Y มีจำนวน 79.8 ล้านคน ซึ่งมากกว่าคนรุ่น Baby Boom รุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ที่มีจำนวน 78.5 ล้านคน การจะให้คำจำกัดความ Gen Y เป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม Gen Y มีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้า Gen Y ต่างทุกข์ทรมานกับปัญหาความอ้วน แต่ Gen Y ชอบไปฟิตเนส Joshua Buttler นักบัญชีที่เป็นนักเพาะกายในขณะเดียวกัน เขาสูง 6 ฟุต 2 นิ้ว หนัก 230 ปอนด์ ด้วยวัย 22 ปี และการศึกษาจาก Howard University เขาได้เข้าทำงานในบริษัทบัญชียักษ์ใหญ่อย่าง KPMG ซึ่งยอมให้เขาเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน เพื่อจัดตารางเวลาสำหรับฝึกเพาะกาย เพื่อจะเข้าร่วมแข่งขันเพาะกาย เขายังเป็นนักกีฬาเทนนิสของบริษัท และบริษัทยังยอมให้เขาย้ายไปยังนิวยอร์กตามที่เขาต้องการ
ผลสำรวจคนรุ่น Gen Y ในสหรัฐฯ พบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของคนอายุ 18-25 ปี ต่างนิยมมีรอยสัก และ 30% ของคนวัยดังกล่าว มีรอยเจาะในร่างกายมากกว่า 1 แห่ง แต่เครื่องประดับที่สำคัญที่สุดสำหรับ Gen Y ซึ่งเกิดมาในยุคที่โลกร่ำรวยเทคโนโลยี คือ ข้าวของเครื่องใช้ไฮเทคทั้งหลาย iPod, BlackBerry, Laptop ซึ่งเปรียบเสมือนแขนขาที่ Gen Y ขาดไม่ได้
ในการทำงาน Gen Y ดูเหมือนจะเรียกร้องสูงและรักษาสิทธิ์อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาไม่ใช่คนหยิบโหย่ง แม้อาจจะดูเหมือนเป็นเช่นนั้น แต่ความจริง พวกเขาเพียงแต่ชอบเรียกร้องขอมีทีม ที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนพวกเขาในการทำงาน รวมทั้งต้องการคนที่จะคอยให้กำลังใจอีกนิดหน่อย ในการจะลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้นเอง สำหรับ Gen Y บางคนแล้ว นิยามคำว่า “จริยธรรมการทำงาน” จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่
และยังมีนิยามอีกหลายอย่างที่ Gen Y เปลี่ยนมันเสียใหม่ พวกเขาไม่แบ่งแยกเพศและเชื้อชาติ ผู้หญิงสามารถดูกีฬาและเล่นวิดีโอเกมเหมือนผู้ชาย Gen Y โตขึ้นมาพร้อมกับการบริโภคสื่ออย่างกว้างขวาง ทำให้พวกเขาคุ้นชินและยอมรับความหลากหลาย
Gen Y เติบโตมาโดยถูกปลูกฝังว่า พวกเขาจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น อย่างไรก็ตาม โลกทัศน์ของ Gen Y สั่นสะเทือน หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญที่โรงเรียนมัธยม Columbine ซึ่งเด็กนักเรียนใช้ปืนยิงกราดสังหารเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และเหตุวินาศกรรมช็อกโลกซึ่งผู้ก่อการร้ายถล่มตึกเวิลด์เทรด ที่เรียกว่าเหตุการณ์ 11 กันยายน
เหตุสะเทือนขวัญทั้งสอง เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงและจริงจัง เกินกว่าภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ในสมัยพ่อแม่ของพวกเขา Gen Y รู้สึกว่า ภัยคุกคามในยุคของพวกเขานี้ สามารถจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ กับใครก็ได้ และไม่มีทางที่จะคาดการณ์ได้ เมื่อบวกกับข่าวร้ายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ก็ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นหลักประกันให้แก่ Gen Y ได้ว่า ชีวิตในวันพรุ่งนี้จะมีความสุขหรือปลอดภัย Gen Y จึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุดและดีที่สุดเสียแต่วันนี้
ติดพ่อแม่
Gen Y เติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูของ Baby Boom พ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งตั้งใจจะเลี้ยงดูพวกเขาอย่างตรงข้ามกับที่ตัวเองเคยได้รับมาในวัยเด็ก Gen Y จึงเป็นลูกที่ได้รับการพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจจากพ่อแม่มาตั้งแต่เกิด เมื่อบวกกับความร่ำรวยของพ่อแม่ในยุคทศวรรษ 1980-1990 และการที่พ่อแม่รู้สึกผิด ที่ต่างทำงานนอกบ้านทั้งคู่ จนมีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูกน้อยลง จึงชดเชยความรู้สึกผิดนั้น ด้วยการให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ลูก Gen Y ไม่เพียงแต่ได้ทุกอย่างจากพ่อแม่อย่างที่ตัวเองต้องการ แต่พวกเขายังเป็นศูนย์กลางในชีวิตของพ่อแม่
Gen Y จึงมีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง ไม่เคยถูกพ่อแม่ตีหรือดุด่าว่ากล่าว ไม่ว่าพวกเขาจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็จะได้รับความชื่นชมยินดีเสมอ Gen Y เป็นเด็กที่เรียนหนัก และเติบโตเป็นวัยรุ่นที่ทะเยอทะยานสูง เป้าหมายคือ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ซึ่งจะทำให้ได้งานดีๆ และมีชีวิตที่ดี
แต่เมื่อ Gen Y รุ่นแรกเรียนจบมหาวิทยาลัยในช่วงปลายทศวรรษ 1990 Gen Y จำนวนมากกลับพบว่า พวกเขาหาได้เรียนรู้มากพอเกี่ยวกับความมานะบากบั่นหรือการเสียสละไม่ ทำให้ Gen Y จำนวนมากหวนกลับไปสู่สถานที่ที่พวกเขารู้ว่าปลอดภัยที่สุด นั่นคือบ้าน
ผลสำรวจบัณฑิตในอเมริกาที่จบระหว่างปี 2000-2006 พบว่า 58% ย้ายออกจากบ้านของพ่อแม่หลังจบมหาวิทยาลัย แต่มีถึง 32% ที่ยังอยู่กับพ่อแม่นานกว่า 1 ปี และแม้แต่บัณฑิตที่ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ไปแล้ว แต่ผลสำรวจก็ยังพบว่า 73% ของคนอายุ 18-25 ปี ยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่ และ 64% ยังต้องให้พ่อแม่เกื้อหนุนในเรื่องอื่นๆ แม้ Sheryl Walker วัย 24 ปี จะได้งานดีๆ ทำที่ PricewaterhouseCoopers แต่ก็ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งเธอบอกว่า พ่อแม่มีความสุขที่เธอยังอาศัยอยู่กับพวกท่าน
คนอายุ 20 ปีขึ้นไปยังคิดถึงตัวเองในวัย 20 แตกต่างไปจากคนวัยเดียวกันรุ่นก่อนๆ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่ชอบถูกผูกมัด และยังไม่เป็นหลักเป็นฐาน ข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันความคิดว่าตัวเองยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอของ Gen Y คือ การที่อายุเฉลี่ยของหนุ่มสาวที่แต่งงานในปี 1960 ซึ่งผู้หญิงอยู่ที่อายุ 20 และผู้ชายอยู่ที่อายุ 23 เพิ่มขึ้นเป็นผู้หญิงอายุ 26 และผู้ชายอายุ 28 ในปัจจุบัน ซึ่งในแง่สังคมวิทยาแล้ว นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาก
การที่พ่อแม่ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในชีวิตวัยเกิน 20 ของ Gen Y และการที่พวกเขาสามารถกลับไปอยู่บ้านได้ทุกเมื่อ โดยที่พ่อแม่ไม่เคยว่าอะไร ทำให้ Gen Y มักมีปัญหาในการตัดสินใจ แม้ Gen Y จะมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะประสบความสำเร็จ แต่วิธีการที่พวกเขาถูกเลี้ยงดูมา ซึ่งปลูกฝังความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนสุดพิเศษ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดของบริษัท
วิธีดึงดูดใจ Gen Y
Katie Connolly นักกฎหมายสาววัย 28 ปี ผู้มีดีกรีจากมหาวิทยาลัย Minnesota Law School ยอมเปลี่ยนงานใหม่ที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า ยอมออกจากบริษัทกฎหมายเก่าแก่อายุ 150 ปี ไปทำงานในบริษัทกฎหมายที่เล็กกว่า เพียงเพื่อจะได้มีหน้าต่างอยู่ข้างโต๊ะทำงาน และแต่งตัวตามสบายมาทำงาน ทั้งยังได้รับโอกาสว่าความเป็นครั้งแรก
แม้ Gen Y จะให้ความสำคัญกับเรื่องเงินเป็นอย่างมาก และไม่ถูกใครหลอกง่ายๆ ในเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขา ที่จะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่บริษัทใหญ่ๆ เสนอให้พนักงาน แต่นอกจากเรื่องเงินแล้ว Gen Y ยังสนใจบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ และมองหาคุณค่าที่พวกเขาสามารถจะยึดถือร่วมกับบริษัทได้ เช่น การให้ความสำคัญกลุ่มเพื่อน การบริหารที่ไม่มีพิธีรีตองหรือออกคำสั่งมากเกินไป
บริษัทที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและงาน จะสามารถดึงดูดใจ Gen Y ได้แน่นอน แม้ Gen Y จะยอมทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถ้าจำเป็น แต่พวกเขาจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่พอใจ แลกกับการที่ต้องยอมสูญเสียเวลาพักผ่อนอันมีค่าไป และไม่ต้องการมีวิถีชีวิตที่ต้องทำงานหนักไปตลอดชีวิต
บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งปรับเปลี่ยนวิธีการรับสมัครงานให้เข้ากับคนยุค Gen Y ซึ่งคุ้นเคยกับ Flash Drive และการรับส่งข้อความ แทนที่จะเป็นโบรชัวร์แบบเก่า บางบริษัทถึงกับเปิดรับสมัครงานในเว็บ Facebook ยอดฮิตของนักศึกษาในสหรัฐฯ
แต่เหนืออื่นใด กุญแจสำคัญที่สามารถจะดึงดูด Gen Y ให้เข้าไปทำงานได้อย่างแน่นอน อาจอยู่ที่บ้าน หากสามารถจูงใจพ่อแม่ของ Gen Y ได้สำเร็จ ก็เกือบจะแน่นอนว่า จะได้ลูกของพวกเขาเข้าไปทำงานด้วย บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Merrill Lynch ถึงกับจัดงานวันพบพ่อแม่ของพนักงานใหม่ เพื่อพาพ่อแม่เยี่ยมชมการทำงานของบริษัท
รักษา Gen Y ให้อยู่กับบริษัท
สิ่งที่เคยผูกมัดพนักงานไม่ให้เปลี่ยนงานในอดีต คือภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวและการผ่อนบ้าน ไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะผูกมัด Gen Y ในวันนี้ได้อีกต่อไป การดึงดูด Gen Y ให้มาทำงานกับบริษัทก็ยากแล้ว แต่การจะรักษาพวกเขาให้ทำงานกับบริษัทใดเพียงแห่งเดียวไปนานๆ ยากยิ่งกว่า
กุญแจคือ ใช้วิธีเดียวกับที่พ่อแม่ของ Gen Y ใช้ ในการเลี้ยงดูพวกเขาจนเติบโต นั่นคือ ให้ความรัก ให้กำลังใจ และให้รางวัล ซึ่งในบริบทของบริษัทก็คือ การมีกลุ่มคนที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลการทำงานของ Gen Y การมีพี่เลี้ยง การมอบหมายงานที่ท้าทายไม่น่าเบื่อ และการแสดงความชื่นชมยินดีในความสำเร็จของ Gen Y ความภักดีของ Gen Y ขึ้นอยู่กับความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์ ที่พวกเขามีต่อผู้บริหารที่อยู่เหนือพวกเขาโดยตรง ซึ่งจะต้องทำให้ Gen Y รู้สึกว่า ได้รับการเอาใจใส่จากผู้บริหาร โดยอาจเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นนามบัตร ซึ่งจะทำให้ Gen Y รู้สึกตัวเองมีค่า การให้เขาได้เข้าร่วมการประชุมระดับบริหารเป็นครั้งคราว วันเกิดและวันเริ่มงานวันแรกของ Gen Y เป็นสิ่งที่จะลืมไม่ได้
ตัวอย่างเช่น Johnny Cooper นักออกแบบแฟชั่นของ J.C. Penney ด้วยวัย 23 ปี เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยมีบทบาทในการปรับปรุงไลน์ชุดว่ายน้ำบุรุษ และยังได้ดูแลโครงการระดมทุนโครงการสำคัญของบริษัท หลังจากที่เขาเสนอความคิดนี้ต่อผู้บริหารผ่านทางอีเมล
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ KPMG ซึ่งจัดให้พนักงานใหม่มีพี่เลี้ยง และมีเว็บไซต์ที่ช่วยให้กระบวนการทำงานง่ายขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมด้านสังคมของพนักงานใหม่ เพื่อให้เขามีกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการส่งพนักงานไปฝึกอบรมในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ลดอัตราพนักงานลาออก จาก 25% ในปี 2002 เหลือ 18% ในปีที่แล้ว
การจะพัฒนา Gen Y ต้องเข้าใจว่า คนรุ่นนี้มีศักยภาพสูงมากในการทำงานและในการเรียนรู้ มากกว่าคนรุ่นใดๆ ที่ผ่านมา Gen Y มีพลังมาก และมักคิดนอกกรอบ เขาอาจมีความคิดที่แปลกแหวกแนวชนิดที่คุณไม่เคยนึกฝันไปถึง Gen Y ไม่ต้องการมีชีวิตการทำงานแบบเดียวกับคนรุ่นก่อนๆ ที่มีความภักดีกับบริษัท ดังนั้น นอกจากบริษัทจะต้องสร้างเครื่องมือที่จะรักษา Gen Y ให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ แล้ว ยังจะต้องหาวิธีที่รวดเร็วขึ้น ในการพัฒนาทักษะของ Gen Y และให้โอกาสที่ดีกว่าแก่พวกเขา
หากให้ Gen Y มีโอกาสรับผิดชอบอย่างแท้จริง เขาจะพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะมีศักยภาพในการคิดและทำงานแล้ว พวกเขายังมีศักยภาพในด้านนวัตกรรม มีความกระตือรือร้น และมีมุมมองที่แปลกใหม่
แต่บุคลิกลักษณะที่สำคัญที่สุดของ Gen Y ซึ่งทำให้คนรุ่นนี้แตกต่างไปจากคนวัยเดียวกับพวกเขาทั้งหมดที่ผ่านมา อาจเป็นความเชื่อมั่นและการกล้าพูดกล้าทำโดยที่ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัวด้วยแฟชั่นที่อาจดูเหมือนบ้าๆ บอๆ การเอาแต่ใจตัวเอง และการทำตามความต้องการของตัวเองทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องงาน เพราะ Gen Y จะคิดว่าตัวเองพิเศษ และจะคาดหวังเสมอว่า จะต้องมีใครสักคน พ่อแม่ เพื่อนหรือหัวหน้างาน ที่จะช่วยพวกเขาให้ทำในสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จอยู่เสมอ
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 28 พฤษภาคม 2550