“เฮียฮ้อ” จุดเปลี่ยนบนโลกเอนเตอร์เทนเมนต์

ความเคลื่อนไหวของอาร์เอสยุคใหม่ น่าจะเปรียบได้กับทีมสโมสรฟุตบอลอาชีพ โดยมี สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ เป็นทั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีม ทีมฟุตบอลที่ลงทุนผ่าตัดทีมใหม่ หาสูตรการเล่นใหม่ๆ ใช้ปีกซ้าย ปีกขวา และกองหน้า เข้าซัลโว รวมทั้งการเข้ายิงจากแถวสอง …สูตรการเล่นครั้งใหม่ของอาร์เอสดูจะมาแรง และช่วงชิงพื้นที่แห่งชัยชนะอย่างได้ผล ทั้งเรตติ้ง รายได้ และความเป็นทีมที่มีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจบันเทิงมากที่สุดทีมหนึ่ง

คำว่า “จุดเปลี่ยน” น่าจะเป็นสิ่งที่เฮียฮ้อสัมผัสได้ดีที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจอาร์เอส ซึ่งในวันนี้องค์กรที่มีอดีตเป็นเพียงนายห้างขายเพลง ได้กลายเป็นธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ เน็ตเวิร์คที่มีบทบาทต่อวงการบันเทิงอย่างยิ่งในยุคนี้ ทั้งธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ กีฬา รวมทั้งการบริหารศิลปิน เป็นโมเดลเชิงรุกที่สร้างความตื่นตะลึงให้วงการบันเทิงอย่างมาก

เฮียฮ้อ เรียกจุดเปลี่ยนนี้ว่า เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา สามารถเรียกความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ว่า การปฏิวัติองค์กร เมื่อนำพาองค์กรจากระบบอะนาล็อกมาสู่โลกดิจิตอล คล้ายกับเปลี่ยนจากซ้ายสุดมาขวาสุด

เพราะนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงครั้งแรกๆ เมื่อปี 2524 ในการเริ่มต้นเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลงในระบบกฎหมายลิขสิทธิ์เพลงผลิตเพลงเพื่อขายในรูปแบบเทปคาสเซตต์ มาถึงการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญเมื่อปี 2534-2535 ในการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเน้นกลุ่มตลาดวัยรุ่น และครั้งสำคัญในยุคแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2544-2545 นั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของธุรกิจเพลง และเพื่อรองรับกฎกติกาของตลาดหุ้น

ทว่าการเปลี่ยนแปลงเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ถือเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ เพื่อสร้างลมหายใจใหม่…

“ไม่มีใครมาบอกผมหรอก แต่เทคโนโลยีมันส่งสัญญาณเตือนผมเอง” เฮียฮ้อจำเหตุการณ์นั้นได้ดีว่า เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปญี่ปุ่น ลูกชายอยากได้เครื่องเล่น MP3 ซึ่งขณะนั้นเมืองไทยยังไม่นิยม นั่นเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความคิดในใจว่า ถ้าเราเป็นผู้บริโภค เราย่อมเลือกที่จะซื้อเทคโนโลยีนี้ เพราะสามารถฟังเพลงได้เป็นร้อยเพลง

ความคิดในวันนั้นเป็นจุดเล็กๆ ที่จุดความคิดของเฮียฮ้อในการเดินเข้าสู่ความสนใจในการปรับองค์กรสู่โลกดิจิตอล แม้ในการตัดสินใจช่วงนั้นอาร์เอสยังไม่ได้ลำบากถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยน แค่เฮียฮ้อมั่นใจว่า ถ้าไม่ปรับวันนี้ วันหน้าก็ต้องเปลี่ยนแปลง ยิ่งสถานการณ์ธุรกิจเพลงของทั่วโลกในขณะนั้นหลายค่ายต้องปิดตัวลง ยอดขายซีดีลดลงอย่างน่าตกใจ เมื่อไลฟ์สไตล์การฟังเพลงยุคใหม่ๆ เปลี่ยนตามเทคโนโลยีทันสมัย เช่น อินเทอร์เน็ต และมือถือ จึงเป็นสิ่งเขารีบตัดสินใจรื้อระบบการทำธุรกิจครั้งใหญ่

ปี 2547-2548 จึงเป็นปีที่เฮียฮ้อตัดสินใจปฏิวัติธุรกิจครั้งใหญ่ เขาบอกว่าเหน็ดเหนื่อยมากที่สุดในชีวิตตลอด 25 ปีของอาร์เอส ช่วงปีนั้นเขาเหนื่อยขนาดไม่อยากตื่นนอนมาทำงานเช้า เพราะไม่อยากเข้ามาเผชิญปัญหาในที่ทำงาน แม้เขาจะรู้ว่าเมื่อตัดสินใจผ่าตัด ย่อมต้องเสียเลือด เสียอาการ แต่เขาก็ไม่คิดว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะทำให้เขาต้องเจอกับอาการรุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจใหม่

“เมื่อผมตัดสินเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจที่มุ่งแต่ขายเพลง มาทำรูปแบบการขายเอนเตอร์เทนเมนต์ ดิจิตอล โครงสร้างบุคลากรเดิมที่มีแต่กลุ่มคนประเภทสายโปรดักชั่นก็ต้องเปลี่ยนแปลง ดึงคนจากกลุ่มาร์เก็ตติ้งเข้ามาเพื่อทำตามเป้าหมายใหม่”

โครงสร้างเรื่องบุคลากร เป็นสิ่งที่เฮียฮ้อเอาจริงเอาจังอย่างมาก เฮียฮ้อเปรียบเปรยว่า เขาใช้ “ยาแรง” กับคนเก่า โดยมีการเทรนนิ่งคนเก่าถึงรูปแบบการทำงานใหม่ๆ เช่น เวลาพรีเซนต์ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำ Power Poin ไม่เน้นการใช้กระดาษ หากพนักงานเทรนแล้วปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องลาออกไป

“เราให้เวลาปรับตัว บางคนอายุเกิน 30 ปีปรับตัวได้ รับสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าปรับไม่ได้ อึดอัด เราก็ต้องให้ออก”

นอกจากคนในองค์กร การลงทุนด้านไอทีใหม่ เพื่อรองรับการทำธุรกิจ เป็นอีกจุดสำคัญที่เฮียฮ้อยอมควักกระเป๋าถึงร้อยล้านบาท เพื่อรองรับโมเดลธุรกิจใหม่

โมเดลใหม่ของอาร์เอส เฮียฮ้อเรียกว่า เอนเตอร์เทนเมนต์เน็ตเวิร์ค เน้นสองด้านหลักๆ คือ ด้านบันเทิง และด้านกีฬา มีธุรกิจที่แตกขาออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจเพลง ธุรกิจดิจิตอล ธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจทีวี ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจกีฬา ธุรกิจโชว์บิส และธุรกิจวิทยุ ใช้สูตรบริหารรายได้แบบ 360 องศา

ใช่แล้ว โมเดลใหม่ เพลงเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นการแตกกลุ่มเพื่อสร้างช่องทางของรายได้ และกระจายความเสี่ยง ซึ่งในอนาคตจะแตกขาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อรองรับการบริหารธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา

สูตรใหม่ของอาร์เอส เป็นแนวรบที่ยืดหยุ่นตามแรงเหวี่ยงของสภาวะตลาดการแข่งขันได้เป็นอย่างดี ราวกับว่าจังหวะช่วงใดน่าบุก น่าลงทุน ก็ใช้สาขาธุรกิจนั้นรุก

ดังเช่นช่วงนี้ ธุรกิจภาพยนตร์เป็นโมเดลใหม่ที่เฮียฮ้อปราบปลื้มยิ่งนัก เพราะกล่าวกันว่า หนังทุกเรื่องที่อาร์เอสสร้าง คุ้มทุนตั้งแต่ยังไม่ออกฉาย โดยใช้สูตรการหาพันธมิตรมาร่วมทุนในรูปแบบของสปอนเซอร์ หากแต่การเป็นสปอนเซอร์ของหนังอาร์เอสนั้น ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่กว่าปกติ เพราะสปอนเซอร์หนังอาร์เอสสามารถมีส่วนร่วมในเนื้อหาของหนังกลืนไปกับเรื่องราว พล็อตเรื่อง หรือการลงทุนทางเนื้อหา

เหมือนเรื่องล่าสุด รักนะ 24 ชั่วโมง เฮียฮ้อบอกว่า เป็นเรื่องในรูปแบบมาร์เก็ตติ้งที่สมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่งสปอน เซอร์หลักมี 3 รายคือ เซเว่นอีเลฟว่น เนสกาแฟ และยามาฮ่า เรื่องนี้ได้สร้างพล็อตเรื่องได้อย่างกลมกลืน สถานที่ดำเนินเรื่องนี้ ร้อยละ 80 มีฉากในเซเว่นอีเลฟเว่น มีพล็อตเรื่องที่ทำให้ตัวละครต้องมีการชิงโชคกับเนสกาแฟ และพระเอกนางเอกขับรถยามาฮ่า

“ผมบอกว่าพล็อตเรื่องทำได้เนียน และไม่ขายของ เพราะก่อนที่จะทำเรื่องนี้ นอกจากจะทำการสำรวจถึงตลาดว่า จะขายหนังเรื่องนี้ได้ไหม เรายังให้สปอนเซอร์มีส่วนในการคิดพล็อตเรื่องด้วย ผมว่ายินดีกันทุกฝ่าย”

ไม่ใช่แค่หนัง สูตรหารายได้แบบใหม่ ในการใช้ศิลปินไปช่วยทำการตลาดให้สินค้า เป็นอีกบริบทหนึ่งที่เฮียฮ้อยิ้มแย้มกับวิธีนี้อย่างมาก เช่น การนำศิลปินไปทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ หรือการแต่งเพลงให้ศิลปินอาร์เอสร้องเพื่อโปรโมตสินค้าชนิดนั้นโดยเฉพาะ โดยไม่มีการนำเพลงนี้ไปลงแผ่นขายอีก

เห็นชัดว่าตัวอย่างที่เฮียฮ้ออธิบายนั้น อาร์เอสไม่ได้ขายเพลงอย่างเดียวอีกแล้ว หรือทำแผ่นซีดี แต่ง 10 เพลง แล้วขาย เหมือนเช่นเดิม แต่เน้นขายแบบหลากหลายมากขึ้น สร้าง Window หรือช่องทางใหม่ๆ รอบตัว

“รู้สึกแฮปปี้กว่าเมื่อก่อนมาก ดีใจที่อาร์เอสเดินมาถูกทางทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง อย่างในวันนี้ อาร์เอสเพลงหนึ่งเพลง อาจไม่ต้องมีต้นทุนเลยก็ได้ ใครอยากฟังก็โหลดเอาไป เราก็ไม่ต้องเสียเงินค่าทำซีดี ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องสต็อก เรื่องเอเย่นต์จัดจำหน่าย นี่แหละคือสิ่งที่ผมคิดว่า ผมไม่เสียใจเลยที่ยอมเหนื่อยมา”

ในความคิดของเฮียฮ้อเชื่อมั่นว่า โลกของการแข่งขันด้านธุรกิจนั้น กุญแจสำคัญอยู่ที่ “คอนเทนต์” จะแพ้ชนะกันก็อยู่เรื่องของการจัดการเรื่องนี้ ใครมีคอนเทนต์ที่หลากหลายกว่า สามารถหาช่องทางเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า ย่อมมีชัย

“โลกของคอนเทนต์ในโลกซึ่งมีอิทธิพลมาก มี 4 ด้าน คือ ข่าว เกม บันเทิง และกีฬา อาร์เอสวางโพสิชันนิ่งว่า อยากจะมีอิทธิพลทางด้านคอนเทนต์บันเทิงและกีฬา เป็นหลัก หรือเรียกว่า Entertainment & Sport Content Provider และ Multimedia Service”

อย่างธุรกิจกีฬา ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่อาร์เอสกำลังบุกเบิกเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร ปี 2008 และฟุตบอลโลก ครั้งต่อไป นี่ถือเป็นคอนเทนต์สำคัญที่จะนำมาบริหารจัดการ …ความเปลี่ยนแปลงของอาร์เอสครั้งใหญ่ สู่บทบาทใหม่ทางธุรกิจ เหมือนคำเปรียบเทียบที่เฮียฮ้อพูดว่า เหมือนเราแล่นเรือทอดสมออยู่ที่หนึ่ง เมื่อวันหนึ่งมันหาปลาลำบาก อยู่ลำบากมากขึ้น เราก็ควรหาที่ใหม่ที่มีปลาชุกชุมกว่า ก็เหมือนอาร์เอสในวันนี้

Profile

Name : สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
Age : 45 ปี
Education : ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
Career Highlights :
ปัจจุบัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์.เอส โปรโมชั่น (1992) จำกัด
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรส ซาวด์ จำกัด
Family : สมรสแล้ว มีลูกชาย 2 คน
Lifestyle :
ไม่ชอบเข้าสังคม หรืองานสังสรรค์ เวลาว่างชอบเล่นกอล์ฟกับครอบครัว เล่นปิงปองกับลูกๆ เข้าอินเทอร์เน็ต
บุคคลที่เป็นต้นแบบทางความคิด สตีฟ จ๊อป , ริชาร์ด เบนสัน