Wattanapong Jaiwat – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 08 Jul 2024 10:45:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ส่องมุมมอง จิ๊บ BrandBaker เมื่อ AI จะทำให้นักการตลาดตกงานหรือไม่ แล้วต้องปรับตัวอย่างไรในสภาวะเช่นนี้ https://positioningmag.com/1481713 Mon, 08 Jul 2024 08:36:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481713 พาไปคุยกับ สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล (จิ๊บ) ผู้ร่วมก่อตั้งของ BrandBaker ในเรื่องภาพรวมการตลาดของไทย การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้นักการตลาดตกงานหรือไม่รวมถึงการปรับตัวในสภาวะเช่นนี้

การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบันได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของ ChatGPT ของ OpenAI ที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสรุปข้อความ ไปจนถึงการสร้างประโยคต่างๆ ฯลฯ

เนื่องด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นก็ได้สร้างผลกระทบต่อหลายอาชีพเช่นกัน ซึ่งรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชี้ว่าผลกระทบดังกล่าวมีมากถึง 40% ต่อตำแหน่งงานทั้งหมด

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับสายการตลาดก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

Positioning จะพาไปคุยกับ สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล (จิ๊บ) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งของ BrandBaker ว่าการเข้ามาของ AI จะกระทบกับนักการตลาดแค่ไหน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ภาพรวมการตลาดในประเทศไทย

ผู้ร่วมก่อตั้งของ BrandBaker กล่าวถึงสถานการณ์การตลาดในไทยว่าในปี 2024 นั้นเป็นปีที่หลายคนมองว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก แต่ความเป็นจริงแล้วงบการตลาดไม่ได้ลดลง แต่เม็ดเงินนั้นกระจายไปยังแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคม (Social Network) ต่างๆ

เขายังกล่าวว่า ทางฝั่งของแบรนด์เองนั้นก็ยังมองว่าการทำการตลาดและการทำโฆษณาถือเป็นสิ่งสำคัญอยู่ แต่แบรนด์จะเลือกการทำตลาดหรือทำแคมเปญใน Social Network แต่ละที่ โดยเจาะจงซึ่งลูกค้าในแต่ละแพลตฟอร์มก็จะไม่เหมือนกัน

ทางด้านของฝั่งเอเจนซี่นั้นเขายังมองว่าตลาดยังค่อนข้างเปิด แต่ความท้าทายที่เขามองคือเรื่องของความเก่งที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ ซึ่งเอเจนซี่บางเจ้าอาจมีความถนัดในบางรูปแบบ เช่น ถนัดเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ หรือบางเจ้าถนัดทำแคมเปญการตลาด เป็นต้น

มองเรื่อง Marketing อิ่มตัวมาสักพักแล้ว

สุรศักดิ์ กล่าวถึงวงการตลาดนั้นอิ่มตัวมาสักพักแล้ว ก่อนที่จะมี AI เข้ามานั้น สิ่งใหม่ของวงการตลาดก็คือ Direct Social Commerce อย่างเช่น TikTok Shop ฯลฯ นอกจากนี้วงการดังกล่าวจะปรับตัวเมื่อแพลตฟอร์ม Social Network ปรับรูปแบบ เช่น การเกิดขึ้นของ Reels ของฝั่ง Meta ที่เอาออกมาสู้กับ TikTok เป็นต้น

นอกจากนี้เขายังมองว่าผู้คนในแต่ละยุคก็จะมีการใช้ Social Network ของตัวเอง อย่าง Gen Y และ Gen Z เองจะใช้ Instagram หรือ TikTok ขณะที่ Gen X จะใช้ Facebook เป็นหลัก ซึ่งถ้าหากแบรนด์ต้องการทำการตลาดก็จะเข้าไปเจาะลูกค้าในแต่ละกลุ่มตามแพลตฟอร์ม

ขณะเดียวกันเขาเองก็มองว่าถ้าหากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนั้น เงินในส่วนการตลาดเองจะถือว่าโดนตัดเป็นสิ่งแรกๆ

ผู้ร่วมก่อตั้งของ BrandBaker มองว่าการเข้ามาของ AI นั้นจะยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขนาดนั้น / ภาพจาก Shutterstock

เมื่อ AI เข้ามา ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ยังมีข้อผิดพลาด

ในเรื่องของการเข้ามาของ AI เขากล่าวว่าการเข้ามาของ AI ที่เห็นได้ชัดคือการเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นทำได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของ AI ในเฉพาะงานซ้ำซ้ำนั้นทำได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่เขามองว่าการเข้ามาของ AI นั้นจะยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขนาดนั้น

เขาได้เปรียบถึงการทำงานของ GenAI ในปัจจุบันนั้นเหมือนกับนกแก้ว และยังมีจุดผิดพลาดหลายจุด ขณะเดียวกันในการปรับแต่งตัว GenAI ให้ตรงตามความต้องการของเหล่าแบรนด์ต่างๆ เองนั้นก็ยังต้องใช้ต้นทุนที่สูงมากเช่นกัน

สุรศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างถึงการนำ GenAI ถ้าหากจะนำมาเขียนคอนเทนต์เพื่อการตลาดและตอบโจทย์แบรนด์นั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลักษณะภาษา การใช้คำต่างๆ ที่จะคุมให้เนื้อหาออกมาตรงกับสิ่งที่เป็นตัวตนของแบรนด์ยังถือว่าเป็นเรื่องยาก และยังรวมถึงตัว GenAI ไม่ได้ออกแบบมาในเรื่องของความแม่นยำ

เขาเองยังมองว่า GenAI ในตอนนี้ถ้าหากจะสั่งให้ทำงานตั้งแต่ต้นจนจบเลย เช่น ออกแบบสินค้าหรือคิดเรื่องของคอนเทนต์การตลาดให้ตรงกับตามแบรนด์ต้องการ เสร็จแล้วโพสต์ลง Social Network ในเวลานี้ยังถือว่าทำไม่ได้ นอกจากนี้เอง

AI ช่วยเรื่อง Productivity

สุรศักดิ์ มองว่าการเข้ามาของ AI นั้นถ้าหากใช้งานเป็นแล้วจะช่วยในหลากหลายเรื่องในมุมของนักการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการหาไอเดีย เช่น การที่ครีเอทีฟดูไอเดียหลายๆ อันแล้วเลือกอันที่ดีที่สุด เนื่องจาก AI หลายตัวค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือบทความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ AI ทำได้ไวมาก

เขาเปรียบเทียบว่าในอดีตสำหรับครีเอทีฟแล้ว จะต้องมานั่งดูไอเดียต่างๆ ในหนังสือ หรือสื่ออื่นๆ แต่การเข้ามาของ Google ในการช่วยหาข้อมูลต่างๆ นั้นรวดเร็วมากขึ้น ฉะนั้นแล้วการเข้ามาของ AI ก็ช่วยลดเวลาลง แต่ก็ต้องมีการนั่งตรวจสอบอยู่ดี

แต่เขาก็มองว่าความท้าทายใหม่ในอนาคตนั้นการที่นำ AI มาใช้งานอาจทำให้เกิดไอเดียที่คล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นผลจากการใช้ข้อมูลในการฝึกฝน AI ที่แทบไม่ได้ต่างกัน และเขายังชี้ข้อมูลคาดการณ์ว่าข้อมูลที่นำมาฝึกฝน AI ก็กำลังจะหมดเช่นกัน ขณะเดียวกันเขาก็มองว่าท้ายที่สุดการต่อยอดเรื่องต่างๆ ก็เกิดขึ้นจากมนุษย์อยู่ดี

สุรศักดิ์ ยังมองว่า GenAI ยังช่วยในงานครีเอทีฟเช่นกัน – ภาพจาก Unsplash

AI ยังไม่เข้ามา Disrupt งานด้านการตลาดเร็วๆ นี้

เขายังมองจากประสบการณ์ในการทดลองใช้ AI หลากหลายบริษัท เขาค้นพบว่าถ้าหากนั่งเขียนคอนเทนต์แล้วให้ระบบ AI ช่วยตัดสินใจให้นั้นถือว่าเรากำลังพึ่งพาระบบสุ่ม ที่จะใชนอกจากนี้เขายังชี้ว่าถ้าหากแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง การให้เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยทำงาน ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีมนุษย์ช่วยตรวจสอบ

นอกจากนี้เองถ้าหากเป็นคอนเทนต์บางประเภทแล้ว แม้ AI จะช่วยเข้ามาร่างหรือเขียนข้อความได้นั้น แต่สุรศักดิ์ยังมองว่ามนุษย์เองนั้นต้องการที่จะเสพคอนเทนต์ที่เป็นตัวตนของผู้เขียนคนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดรวมถึงทิศทางของผู้เขียน

เขามองว่าถ้าหากมีความเข้าใจในเรื่อง AI แล้ว ทีมที่ทำงานอาจหาทีมที่มีคนใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเก่งๆ หลายคน แล้วก็มีผู้ที่มากประสบการณ์ในเรื่องการตลาดช่วยตรวจสอบในเรื่องของงงานอีกที

แล้วนักการตลาดต้องปรับตัวอย่างไร

ผู้ร่วมก่อตั้งของ BrandBaker แนะนำให้นักการตลาดทดลองเล่นกับระบบ AI ต่างๆ ดู โดยเขาได้ชี้ถึงงาน 2 แกนได้แก่อย่างแรกคือความบ่อยของงาน กับอย่างที่สองคืองานที่ต้องใช้ตรรกะของมนุษย์

เขาชี้ว่า ถ้าหากเป็นงานที่ต้องทำบ่อยๆ เช่น ให้ช่วยยิงข้อความผ่าน Social Network หรืองานไหนที่สามารถทำเป็นระบบอัตโนมัติได้ เขาแนะนำให้ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งเขาแนะนำว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีหลายตัว และต้องวางแผนในการใช้งาน รวมถึงดูความคุ้มค่าเม็ดเงินที่จ่ายไปด้วย

ขณะที่งานที่ต้องใช้ตรรกะของมนุษย์อาจนำ AI เข้ามาช่วยต่อยอดในกระบวนการต่างๆ หรือแม้แต่การนำมาตั้งเป็นคำถามเพื่อที่จะทำให้งานของเรานั้นดีขึ้น เขาได้ชี้ถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่นักการตลาดจะต้องมี รวมถึงความเข้าใจในตัวของลูกค้า

]]>
1481713
Boeing สารภาพข้อหาสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ ในคดีเครื่องบิน 737 MAX ตกในอินโดนีเซียและเอธิโอเปีย https://positioningmag.com/1481765 Mon, 08 Jul 2024 05:12:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481765 ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อย่าง โบอิ้ง (Boeing) ได้สารภาพข้อหาสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ ในคดีเครื่องบิน 737 MAX ตกในอินโดนีเซียและเอธิโอเปียในปี 2018 และ 2019 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังสร้างผลกระทบต่อความเชื่อถือของบริษัท

Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้รับสารภาพข้อหาสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ ในคดีเครื่องบิน 737 MAX 8 ตกในอินโดนีเซียและเอธิโอเปีย ในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากถึง 346 ราย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นต่อเนื่องมาจากคดีในปี 2021 ที่ Boeing ถูกดำเนินคดีอาญาจากกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากพบว่าบริษัทละเมิดข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุร้ายแรง

อัยการสหรัฐฯ ชี้ว่านักบินของ Boeing สองคนปกปิดข้อมูลสำคัญจากหน่วยงานกำกับด้านการบินของสหรัฐฯ เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติใหม่ หรือ MCAS ในเครื่องบินรุ่น 737 MAX ซึ่งตัวระบบดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุขัดข้องของเครื่องบินที่ตกในอินโดนีเซียและเอธิโอเปีย

เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมยังกล่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้ยังจะต้องจ่ายค่าปรับทางอาญาจำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์ และบริษัทตกลงที่จะลงทุนอย่างน้อย 455 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการด้านความปลอดภัยและการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

กรณีเครื่องบิน 737 MAX 8 ตกในอินโดนีเซียและเอธิโอเปียห่างกันในระยะเวลา 5 เดือน สร้างผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทไม่น้อย เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินทั่วโลกได้สั่งให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวต้องจอดไว้ชั่วคราว เพื่อที่จะตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการซื้อกิจการของ Spirit AeroSystems เพื่อแก้ปัญหาผลิตเครื่องบินไม่ทัน เนื่องจากปัญหาของคุณภาพชิ้นส่วนในการผลิต หรือแม้แต่เรื่องความปลอดภัย

ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินเองก็ห้าม Boeing เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่น 737 MAX จนกว่าจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

การสารภาพข้อหาสมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ ของ Boeing นั้นยิ่งทำให้เพิ่มความยากลำบากในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้กลับมา แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทพยายามในเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตาม

ที่มา – Reuters, CNBC, BBC

]]>
1481765
7-Eleven ในญี่ปุ่นเตรียมเปิดบริการให้ลูกค้าสั่งพิซซ่าจากร้านได้ในบางพื้นที่ แถมมีแผนขยายไปยังทั่วประเทศ https://positioningmag.com/1481696 Sun, 07 Jul 2024 10:10:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481696 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดบริการให้ลูกค้าสามารถที่จะสั่งพิซซ่าอบร้อนจากร้านสะดวกซื้อได้ ซึ่งลูกค้าจะเริ่มต้นสามารถใช้บริการดังกล่าวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม และจะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมหลังจากนี้

7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น เตรียมหารายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ล่าสุดบริษัทเตรียมนำสาขามากถึง 12,000 สาขาใน 3 เขตใหญ่ของประเทศให้บริการในการส่งพิซซ่าอบร้อน ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งผ่านแอปพลิเคชัน 7 Now และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมหลังจากนี้

ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่นในสาขาในเขต Hokkaido เขต Kyushu รวมถึงเขต Kanto มากถึง 12,000 สาขาจะพร้อมให้บริการพิซซ่าอบร้อนส่งถึงบ้านของลูกค้า โดยค่าส่งพิซซ่าจะอยู่ในช่วง 110 เยน จนถึง 550 เยน

โดยระยะเวลาในการจัดส่งพิซซ่าของทางบริษัทนั้นจะอยู่ในช่วง 30 นาที แต่ทางบริษัทได้กล่าวว่าจะพยายามส่งพิซซ่าให้ได้ไวที่สุดภายใน 20 นาที

ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นสามารถเริ่มสั่งพิซซ่าอบร้อนจากร้านสะดวกซื้อรายดังกล่าวในช่วงเริ่มต้นจะมีพิซซ่า 2 หน้าให้เลือกคือหน้าไก่เทอริยากิในราคา 880 เยน กับ หน้ามาร์การิต้าในราคา 780 เยน ซึ่งผู้บริหารของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่าหน้าพิซซ่าทั้ง 2 เป็นหน้าที่คนญี่ปุ่นต้องการรับประทานมากที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา 7-Eleven ในญี่ปุ่นได้ปรับตัวในด้านธุรกิจ และมีบริการใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการ Delivery หรือแม้แต่การวางจำหน่ายสินค้าประเภทใหม่ๆ เพื่อที่จะเจาะกลุ่มลูกค้า หรือแม้แต่ขยายรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น

แผนของ 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่นยังเตรียมที่จะขยายบริการดังกล่าวไปยังส่วนที่เหลือภายในประเทศในภายหลัง ซึ่งขึ้นกับการขยายบริการในส่วนของแอปฯ 7 Now ของบริษัทด้วย

ที่มา – Yahoo News Japan, Asahi Shimbun, SoraNews24

]]>
1481696
บล.พาย เปิดตัวบริการ Digital Wealth Management ชี้กลุ่มคนไทยมั่งคั่งสูงยังมีเงินฝากเป็นจำนวนมาก https://positioningmag.com/1473115 Fri, 05 Jul 2024 14:18:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1473115 บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ บล. พาย ได้เปิดตัวบริการ Digital Wealth Management โดยมองโอกาสจากกลุ่มคนไทยมั่งคั่งสูงยังมีเงินฝากเป็นจำนวนมาก สามารถนำออกมาลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งได้ นอกจากนี้ยังชูจุดเด่นที่ Relationship Manager หรือทีมงานนั้นคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน

บ๊อบ เวาเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน บล. พาย มีลูกค้ามากกว่า 80,000 รายที่ยังใช้บริการเป็นประจำอยู่ และลูกค้ามีมูลค่าการลงทุน หรือ AUM แตะระดับ 100,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 10% เมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สิน ณ สิ้นปี 2023 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันทาง บล. พาย นั้นต้องการที่จะกระจายรายได้ออกมาจากรายได้หลักคือค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือแม้แต่สัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยการเปิดตัวเปิดตัวบริการ Digital Wealth Management ในชื่อ Pi Private Wealth

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บล. พาย มองโอกาสไว้คือความมั่งคั่งของไทยของเหล่ามหาเศรษฐียังสูงมาก โดยคนไทยที่เป็นเหล่ามหาเศรษฐีนั้นยังมีเงินฝากจำนวนมาก โดยเม็ดเงินนั้นมีมากถึง 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 2.7 ล้านล้านบาท ขณะที่กลุ่มลูกค้า Mass Affultent มีเงินฝากมากถึง 113,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 4.1 ล้านล้านบาท

การเปิดตัว Digital Wealth Management ของ บล. พาย นั้น บ๊อบ มองว่าทำให้ปรับเปลี่ยนเรื่องการลงทุนของไทยได้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาคนไทยยังลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากจำนวนกองทุนรวมต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ณัชชา สุนทรธาราวงศ์, Deputy CEO and Chief of Private Wealth บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า หลังจากที่ได้เปิดบริการ Pi Private Wealth แบบไม่เป็นทางการมาตั้งแต่เดือนมีนาคมนั้น จุดเด่นของนั้นแตกต่างเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยชูจุดเด่นในเรื่องการใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่เรื่องของพนักงาน ซึ่งแตกต่างแพลตฟอร์มดิจิทัลคู่แข่งรายอื่น

ณัชชา สุนทรธาราวงศ์ – Deputy CEO and Chief of Private Wealth บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) / ภาพจากบริษัท

เธอได้ชี้ว่าต้องการสร้างพอร์ตโฟลิโอการลงทุน ให้ดีมากขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวใช้ได้ทั้งนักลงทุนส่วนบุคคลและนักลงทุนที่เป็นสถาบันหรือบริษัทต่างๆ และยังสามารถออกแบบการลงทุนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่ง บล. พาย สามารถให้บริการได้ครบวงจร

สำหรับบริการของ Pi Private Wealth มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หรือลงทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่กองทุนรวมทั้งจาก บลจ. ไทย บลจ. ต่างประเทศ หุ้นกู้ ตราสารหนี้ กองทุนส่วนบุคคล หรือแม้แต่สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น ไปจนถึงการปล่อยกู้ให้กับบริษัทต่างๆ โดยมีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน (Private Credit)

นอกจากนี้ บล. พาย ยังจับมือกับพันธมิตร เช่น Investcorp ซึ่งทำธุรกิจ Private Wealth รายใหญ่ หรือแม้แต่สถาบันการเงินรายอื่นๆ อย่าง Citi หรือ BNP Paribas เป็นต้น

สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุน ทาง บล. พาย ยังมองการลงทุนในสหรัฐอเมริกา และมองสหรัฐอยู่ในช่วงที่หุ้นกำลังเป็นขาขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังพอไปได้ ตลาดต้องการความแน่นอน นอจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มประเทศอย่าง อินเดีย เวียดนาม

ในขณะที่เรื่องเทคโนโลยี AI นั้น บล. พาย มองว่าเหมือนกับต้นกำเนิดอินเทอร์เน็ตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และการเข้ามาของ AI ทำให้ชีวิตดีขึ้น บริษัทต่างๆ สามารถทำอะไรได้มากขึ้น นอกจากนี้ บล. พาย มองว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ  ลดดอกเบี้ย ตราสารหนี้จะได้ประโยชน์

]]>
1473115
คุยกับ ‘พิมล ศรีวิกรม์’ กับการปั้นแบรนด์ Alexander & James ลุยตลาดเอเชีย หลังเปิด Flagship Store ใหม่ https://positioningmag.com/1481325 Fri, 05 Jul 2024 08:56:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481325 คุยกับ พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการของ บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Alexander & James ในเรื่องการขยายธุรกิจแบรนด์โซฟาจากอังกฤษที่ต้องการเจาะตลาดเอเชีย โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน รวมถึงการเปิด Flagship Store ใหม่ในซอยสุขุมวิท 63

สำหรับแบรนด์ Alexander & James หลายคนอาจรู้จักว่าแบรนด์โซฟาดังกล่าวถือว่าเป็นแบรนด์จากอังกฤษ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าเจ้าของจริงๆ นั้นคือบริษัทไทยนั่นก็คือ บมจ. ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TCMC

โดย TCMC ได้เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 75% ของ Midlands Group บริษัทแม่แบรนด์ Alexander & James เมื่อ 8 ปีที่แล้ว และแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำจากอังกฤษมีการเปิดขายสินค้าในประเทศไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้โซฟาของแบรนด์ดังกล่าวยังมีการผลิตในประเทศไทยด้วยส่วนหนึ่ง นอกจากประเทศสเปน

สินค้าหลักของแบรนด์ Alexander & James ก็คือโซฟา โดยจุดเด่นของแบรนด์คือ วิธีการดึงดุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ นอกจากนี้ลูกค้าสามารถปรับแต่งวัสดุโซฟาได้ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเลือกหนังที่ผลิตในทวีปยุโรปหลายแบบ หรือวัสดุอื่นได้

ล่าสุด TCMC ได้เปิด Flagship Store ของ Alexander & James แห่งใหม่ในซอยสุขุมวิท 63 ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีขนาดใหญ่กว่าสาขาเดิมที่สุขุมวิท 39 นอกจากนี้ยังมีการออกแบบด้วยคอนเซ็ปต์ที่ผสมกลิ่นอายของวัฒนธรรมอังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแบรนด์

Positioning จะพาไปคุยกับ พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการของ TCMC ในเรื่องธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตลาดไปในทวีปเอเชีย หรือแม้แต่การขยายตลาดในประเทศไทย

ภาพรวมธุรกิจ

พิมล ได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจของแบรนด์ Alexander & James ว่ามีการออกแบบโดยทีมงานที่อังกฤษที่ฝีมือสูง ส่งผลทำให้ความต้องการโซฟาของแบรนด์สูง ซึ่งตัวเขาเองสงสัยว่าทำไมขายดีที่อังกฤษ ต่อมาลูกค้าคนไทยเห็นคุณค่า เลยเริ่มนำมาลองขายในประเทศไทย

ตลาดในอังกฤษซึ่งเป็นตลาดหลักของแบรนด์ Alexander & James นั้นชะลอตัวลง เนื่องจากสภาวะดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลทำให้การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง ส่งผลทำให้การสั่งซื้อโซฟาลดลงด้วย เขายังมองว่าภายในช่วงปลายปี 2024 นี้อังกฤษน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ยอดขายกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นอกจากนี้เขายังมองว่าเทรนด์สินค้าตกแต่งบ้านจากเดิมที่เน้นสไตล์มินิมอลนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเทรนด์ที่มี ‘ความเยอะ’ มากขึ้น เช่น อย่างโซฟา เขาได้ยกตัวอย่างเช่นมีตุ่มขึ้นมา ฯลฯ หรือแม้แต่การมีหมอนเสริม

ปรับแบรนด์เน้นไลฟ์สไตล์มากขึ้น

ประธานของ TCMC ยังกล่าวถึง แบรนด์ Alexander & James นั้นอาจขยายธุรกิจไปยังเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากโซฟา เน้นไลฟ์สไตล์มากขึ้น โดยจะเน้นสินค้าเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะกาแฟ โต๊ะข้างเตียง โต๊ะข้างข้างโซฟา โดยมองว่าสินค้าเหล่านี้เป็นส่วนเสริมจากโซฟา

สินค้าเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เหล่านี้บริษัทอาจจ้างให้กับผู้ผลิตรายอื่นนั้นผลิตสินค้าให้แทน เช่น ผู้ผลิตในยุโรป หรือแม้แต่ ผู้ผลิตจากจีน

เขาได้เล่าตัวอย่างลูกค้าได้มาสอบถามในโชว์รูมบ่อยๆ ว่า โต๊ะข้างโซฟานั้นสวยมาก เนื่องจากสินค้าเข้ากัน จะซื้อกลับไปด้วยได้ไหม จึงทำให้บริษัทตัดสินใจที่นำสินค้าอื่นๆ วางขายด้วย

เปิดโชว์รูมใหม่ และอนาคตมีแผนอาจขยายสาขาไปภูเก็ต

สำหรับแบรนด์ Alexander & James นั้น ตัว Flagship Store ที่สุขุมวิท 63 ถือเป็นสาขาเดียวในทวีปเอเชียของแบรนด์ โดยพิมลได้กล่าวว่า การย้ายสาขาจากเดิมที่อยู่สุขุมวิท 39 นั้นมีพื้นที่มากขึ้น มีการตกแต่งหรูหรา รวมถึงสินค้าที่นำมาโชว์หลากหลายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน พิมล ยังมองว่าแบรนด์ Alexander & James นั้นเจาะตลาดสินค้าหรู แต่อยู่ในช่วงราคาที่จับต้องได้ โดยราคาโซฟานั้นอยู่ในช่วง 100,000 ถึง 300,000 บาท แตกต่างกับแบรนด์หรูจากอิตาลี ซึ่งโซฟาตัวนึงนั้นราคามีตั้งแต่ 900,000 จนถึงหลัก 1,000,000 บาท เขายังกล่าวว่าถ้าหากลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าแล้วส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าเลย

เขายังชี้ว่าลูกค้าในต่างจังหวัดนั้นสนใจในโซฟาของแบรนด์ไม่น้อย โดยได้ยกตัวอย่างลูกค้าในจังหวัดนครราชสีมา ได้มาสั่งซื้อโซฟาของแบรนด์เช่นกัน และเขาเองยังเปรยไว้ว่าอาจมีการขยายสาขาของ Alexander & James ไปต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต เนื่องจากเป็นตลาดที่มีชาวต่างชาติที่มีจำนวนมาก ซึ่งอาจมีการไปทดลองเปิดสาขาชั่วคราวเพื่อทดลองการขายก่อน ขณะที่การขยายสาขานั้นเป็นเรื่องของอนาคต

เตรียมขยายธุรกิจไปในเอเชีย

ประธานของ TCMC ยังได้กล่าวถึงสัดส่วนของรายได้จากการขายโซฟานั้น 90% มาจากอังกฤษ เนื่องจากขายเป็นล็อตใหญ่ๆ (B2B) และที่เหลืออีก 10% คือนอกอังกฤษ ซึ่งเน้นขายให้ลูกค้า (B2C)

สำหรับสาขาของแบรนด์ Alexander & James ที่อยู่ในไทยนั้นมีลูกค้าชาวต่างชาติสั่งสินค้าเหมือนกัน เช่น ลูกค้าที่มาจาก มาเลเซีย หรือแม้แต่นิวซีแลนด์ แต่การสั่งสินค้ากลับไปนั้นลูกค้าจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งเอง ซึ่งทางแบรนด์จะช่วยดูในเรื่องบริษัทรับขนส่งให้

เขายังกล่าวถึงแผนในการขยายตลาดไปยังทวีปเอเชียเนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทไม่ได้จริงจังมากนัก จนล่าสุดเขากล่าวว่ามีลูกค้าจากประเทศจีนสั่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสินค้าของแบรนด์ Alexander & James จะมีบางส่วนผลิตในไทย แต่เนื่องด้วยความสวยงามในการออกแบบทำให้ลูกค้าชาวจีนชื่นชอบ

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าด้วยความที่เป็นแบรนด์จากอังกฤษ ยิ่งทำให้ลูกค้าจีนชื่นชอบมากกว่าเดิม ซึ่งหลังจากนี้ทางแบรนด์จะเริ่มเข้าไปเปิดตลาดในประเทศจีน เพื่อเจาะลูกค้าเพิ่ม

ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดตะวันออกกลางเขาก็ยังมองว่าเติบโตมากขึ้น โดยในดูไบนั้นมีลูกค้าที่สั่งสินค้าเหมือนกัน แต่จะสั่งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีลูกค้าชาวต่างชาติที่สั่งสินค้าไปขายต่อก็มี โดยเลือกสินค้าแต่ละชนิดที่น่าสนใจไปวางจำหน่าย

Alexander & James ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 ไว้ที่ 130 ล้านบาท และประธานของ TCMC ยังคาดว่าแบรนด์โซฟาจากอังกฤษรายนี้จะสามารถเป็น Top of mind ในกลุ่มผู้ชื่นชอบสินค้าลักชัวรี่ที่มาพร้อมคุณภาพได้

]]>
1481325
EU วางแผนขึ้นภาษีสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มจีน เช่น Temu และ Shein หลังผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน https://positioningmag.com/1481016 Thu, 04 Jul 2024 09:49:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1481016 สหภาพยุโรป (EU) เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มของจีนอย่าง Shein และ Temu รวมถึง Aliexpress โดยมาตรการดังกล่าวตามหลังมาจากสินค้าจากจีนราคาถูกจำนวนมากได้ทะลักเข้ามาในทวีปยุโรปเพิ่มมากขึ้น

EU เตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อจากแพลตฟอร์มของจีนอย่าง Shein และ Temu รวมถึง Aliexpress โดยเหตุผลสำคัญคือสินค้าจีนราคาถูกได้ทะลักเข้าสู่ยุโรปจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งได้รับความเดือดร้อน

มาตรการที่ EU เตรียมงัดขึ้นมาคือ จะมีการขึ้นภาษีสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโร ซึ่งในอดีตไม่เคยต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งก่อนหน้านี้มีแค่การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เหล่า E-commerce ที่มีแหล่งจัดส่งนอกสหภาพยุโรป เช่น จีน ฯลฯ จะโดนภาษีเพิ่มเติมทันที ถ้าหากส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ในสหภาพยุโรป

จำนวนสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 150 ยูโรได้ทะลักเข้ามาในทวีปยุโรปมากถึง 2,300 ล้านชิ้นในปี 2023 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก EU เผยว่าแต่ละครัวเรือนในสหภาพยุโรปได้สั่งซื้อสินค้าจาก E-commerce เฉลี่ยครัวเรือนละ 2 ชิ้น

สำหรับ Shein หรือแม้แต่ Temu นั้นได้ขายสินค้าที่มีราคาถูก อย่างเช่น เดรสผู้หญิงในราคาราวๆ 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่สินค้าที่มีราคาถูกมากๆ ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการจากจีนนั้นยังได้ประโยชน์เนื่องจากอัตราค่าขนส่งของจีนนั้นยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่จ่ายในอัตราแพงกว่า

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการในยุโรป เช่น H&M หรือแม้แต่ Inditex เจ้าของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอย่าง Zara นั้นเสียความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าราคาถูกจากจีนเหล่านี้ จนต้องมีการงัดกลยุทธ์ออกมาต่อสู้

ไม่ใช่แค่ EU เท่านั้นที่กำลังปวดหัวกับสินค้าจากจีนจำนวนมากทะลักเข้าสู่ประเทศ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อินโดนีเซียเองกำลังพิจารณาที่จะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนบางชนิดสูงถึง 200% ด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลมองว่าสินค้าที่ทะลักเข้ามาบางชนิดส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้

ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการตอบโต้สินค้าราคาถูกจากจีน EU ได้ออกมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดถึง 38.1% มาแล้ว เพื่อตอบโต้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ยุโรปจำนวนมาก และมองว่าผู้ผลิตจากจีนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ส่งผลทำให้ EV จีนมีราคาถูกกว่าผู้ผลิตในสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดีในการใช้มาตรการดังกล่าวนั้นอาจเพิ่มหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากร เนื่องจากต้องตรวจสอบสินค้านำเข้าจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของ EU ยังเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อนำเสนอให้กับรัฐสภายุโรปชุดใหม่ เพื่อพิจารณาวิธีการตอบโต้สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาด้วย

ที่มา – The Guardian, Reuters

]]>
1481016
มองอนาคตธุรกิจ Food Delivery ทั้งไทยและต่างประเทศ บนการแข่งขันที่ยังดุเดือด แม้จะเหลือผู้เล่นน้อยราย https://positioningmag.com/1480493 Thu, 04 Jul 2024 05:42:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480493 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่าจะเหลือผู้เล่นน้อยรายแล้วก็ตาม ซึ่งต่างกับอดีต แต่ผู้เล่นที่เหลืออยู่ต่างต้องแข่งขันเพื่อกินส่วนแบ่งตลาด หรือหารายได้ใหม่ๆ เนื่องจากแรงกดดันทั้งจากนักลงทุนหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งก็ตาม

อุตสาหกรรมส่งอาหาร (Food Delivery) ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปิดกิจการของผู้เล่นบางราย การควบรวมกิจการ การเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขยายไปยังประเทศอื่นๆ

Positioning พาไปวิเคราะห์ถึงทิศทางของอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยหรือเทรนด์อุตสาหกรรมทั่วโลกว่าจะเป็นยังไงต่อไป

ดูภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อน

ก่อนอื่นต้องยกข้อมูลของ Statista ที่มองว่าตลาด Food Delivery ทั่วโลกในปี 2024 นั้นมีขนาดของรายได้ใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ารายได้จากปี 2024 ถึง 2029 จะเติบโตราวๆ 9.49% ต่อปี โดยตลาดที่ใหญ่สุดในโลกยังเป็นประเทศจีน

ทางด้าน Momentum Works ที่ได้ออกบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาชี้ว่าในปี 2023 ผู้เล่นในตลาดบริการส่งอาหารมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 47% และ LINE MAN ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 36%

ขณะเดียวกันผู้เล่นรายรองลงมาอย่าง foodpanda ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 8% และ Shopee Food ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 6% ที่เหลืออีก 3% เป็นของ Robinhood เท่านั้น ก่อนที่จะปิดตัวลง

นอกจากนี้ขนาดตลาดของธุรกิจ Food Delivery ในไทยของ Momentum Works เมื่อใช้ตัวเลขยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในแพลตฟอร์ม (GMV) ของไทยนั้นปี 2022 มีขนาด 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2023 เติบโตเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถ้าหากมองออกมาในหลายๆ ประเทศในอาเซียนแล้วนั้น ตลาดของธุรกิจ Food Delivery กลับกลายเป็นว่าเวียดนามนั้นมีอัตราการเติบโตมากที่สุด แต่สำหรับ ไทย สิงคโปร์ นั้นธุรกิจดังกล่าวเติบโตช้าลงเรื่อยๆ

Robinhood เป็นอีกผู้เล่นที่ต้องปิดตัวลงไปในอุตสาหกรรม Food Delivery ที่แข่งขันรุนแรง – ภาพจากบริษัท

ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม สร้างความได้เปรียบ

ผู้ให้บริการ Food Delivery หลายรายเริ่มมองลู่ทางหารายได้ใหม่ๆ นอกจากธุรกิจส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือต่างประเทศ

ถ้าหากมองกรณีของผู้ให้บริการ Food Delivery ในทวีปยุโรปหลายรายเองก็ขยายธุรกิจออกไปไม่ว่าจะเป็นการรับส่งอาหารสด เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ใช้พนักงานส่งสินค้าเหมือนกัน และต้นทุนในการบริหารงานแทบจะไม่แตกต่างกันนัก

การโฆษณาภายในตัวแอปฯ หรือแม้แต่บนพาหนะที่ไว้ขนส่งอาหาร ซึ่งผู้เล่นทั้งในไทย อาเซียน หรือแม้แต่ผู้เล่นในธุรกิจนี้ทั่วโลกต่างงัดการหารายได้ในส่วนนี้แทบทั้งสิ้น

หรือแม้แต่การเข้าสู่โลก FinTech ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการทางการเงินแบบง่ายๆ อย่าง Wallet ไว้จ่ายเงิน การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกัน การให้บริการด้านสินเชื่อ จนถึงด้านการลงทุน หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจ Buy Now Pay Later อย่างเช่นในกรณีของ GoTo (หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อเดิมอย่าง Gojek) ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกัน

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่น Food Delivery บางรายอย่าง Deliveroo ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทวีปยุโรป ที่เริ่มรุกเข้ามาในตลาด E-commerce มากขึ้น โดยบริษัทมองถึงขนาดตลาดดังกลล่าวใหญ่มากถึง 700,000 ล้านปอนด์ และเริ่มนำสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ ดอกไม้ เครื่องสำอาง ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

การหารายได้ทางใหม่ๆ ยังถือเป็นการสร้างป้อมปราการให้กับธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำธุรกิจ Food Delivery ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคฯ อย่าง TikTok หรือแม้แต่ Shopee รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อาจรุกเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ส่งผลต่อบริษัทได้ในระยะยาว

บริการส่งอาหารทั่วโลก ในแต่ละประเทศนั้นแต่ละบริษัทต่างมีคู่แข่งรายสำคัญอยู่ – ข้อมูลจาก Presentation ของ Delivery Hero

เมื่อแอปฯ ล้มหายตายจาก หรือขายกิจการนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเกิดใหม่ของแพลตฟอร์มส่ง Food Delivery ลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เล่นหน้าเก่าสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดได้ และตัวเลขสัดส่วนในการครองตลาดนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีในบางประเทศในอาเซียนที่มีผู้เล่นหลายราย เช่น เวียดนาม ที่ตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก

ที่ไทยเองนั้นตลาด Food Delivery เริ่มทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นทั้ง Grab และ LINE MAN เองครองตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้ ขณะเดียวกันในส่วนของ Foodpanda และ Grab นั้นบริษัทตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดีในบางตลาดนั้นกลับมีการซื้อและขายกิจการ อย่างเช่นกรณีของ ไต้หวัน ที่ Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda ประกาศขายธุรกิจให้กับ Uber ทำให้ผู้เล่นจากสหรัฐอเมริกาแทบจะครองตลาด Food Delivery แทบทั้งหมดในไต้หวัน

เทรนด์ในการซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการธุรกิจ Food Delivery นั้นยังคงไม่หมดไป แต่เทรนด์ดังกล่าวนั้นจะไปอยู่ในประเทศที่ตลาดดังกล่าวยังคงเติบโต และมีผู้เล่นจำนวนมาก เช่น อินเดีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น หรือแม้แต่ Foodpanda พิจารณาการขายกิจการธุรกิจในอาเซียน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์ด้วย

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือผู้เล่นในประเทศจีนอย่าง Meituan ที่มีข่าวลือว่าอาจมีการขยายกิจการออกมานอกประเทศจีนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีข่าวลือว่าเป็นผู้เล่นอีกรายที่สนใจซื้อกิจการของ Foodpanda

นอกจากธุรกิจ Food Delivery นั้นจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการคู่แข่งแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ยังสนใจที่จะซื้อการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) เช่น กรณีในไทย LINE MAN ลงทุนในกิจการของ FoodStory และ Rabbit Line Pay เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในอนาคต

ต้องมาลุ้นกันว่าธุรกิจส่งอาหารจากประเทศจีนอย่าง Meituan เองนั้นจะมีการรุกตลาดนอกประเทศจีนหรือไม่ – ภาพจาก Shutterstock

เส้นทางสู่กำไรที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง (หรือตั้งคำถาม)

อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้เล่น Food Delivery หลายรายเองทั่วโลกยังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายของเหล่า Rider ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบไอทีต่างๆ ซึ่งจุดคุ้มทุนของแต่ละบริษัทนั้นมีความแตกต่างกันไป

บทความของ Financial Times ได้คำนวณตัวเลขของผู้เล่น Food Delivery ในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เข้า IPO บริษัทเหล่านี้ขาดทุนรวมกันแล้วมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจนี้

ขณะเดียวกันหลายบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อย่างเช่น Sea​ บริษัทแม่ของ Shopee Food รวมถึงผู้เล่นในตลาด Food Delivery อย่าง Uber Grab Deliveroo Doordash รวมถึง Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Foodpanda เป็นต้น ต่างโดนเหล่านักลงทุนบีบให้บริษัทต่างทำกำไรให้ได้ไวที่สุด ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่เน้นการขยายธุรกิจกินส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้มากที่สุด

สิ่งที่นักลงทุนต้องการไม่ใช่แค่กำไรเท่านั้น แต่ยังต้องเลิกเผาเงินสด หรือเลิกยึดครองตลาดที่นักลงทุนมองว่าไม่สามารถทำกำไรต่อไป

การบีบของนักลงทุนนั้นยังทำให้แผนธุรกิจของผู้เล่น Food Delivery หลายรายเริ่มเปลี่ยนจากการหารายได้ที่เน้นการส่งอาหาร การรับส่งลูกค้า ซึ่งรายได้ 2 ส่วนนี้นั้นมากกว่า 50% ของรายได้รวม เริ่มทำให้หลายผู้เล่นต้องปรับตัวให้คล้ายกับซุปเปอร์แอปฯ (Super App) มากขึ้น

คำถามคือในระยะยาวแล้ว การที่แอปเหล่านี้ปรับตัวคล้ายกับ Super App จะสามารถแข่งกับผู้เล่นดั้งเดิม เช่น  การเข้าไปยังธุรกิจ E-commerce หรือแม้แต่ FinTech นั้นแต่ละบริษัทสามารถสร้างจุดแข็งหรือแม้แต่ความได้เปรียบจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้บริษัทเหล่านี้ยังโดนจับตามองจากหน่วยงานกำกับดูแลถึงเรื่องของการแข่งขันด้านธุรกิจ เนื่องจากหลายประเทศ ผู้เล่นในธุรกิจเหล่านี้กำลังเหลือน้อยราย และยังรวมถึงเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของเหล่า Rider รับส่งอาหาร (หรือแม้แต่ Rider คนขับ) โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นใหญ่

ในอนาคตอันใกล้นี้เรากำลังเห็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม Food Delivery ต่างเหลือผู้เล่นน้อยรายลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางประเทศการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นในธุรกิจนี้เหลือไม่เกิน 3-4 รายแล้ว ภายใต้การแข่งขันที่ยังคงดุเดือดทั้งคู่แข่งทางตรง หรือแม้แต่คู่แข่งทางอ้อม

]]>
1480493
Qatar Airways ผลประกอบการปีล่าสุด กำไรพุ่ง 39% จากจำนวนผู้โดยสารที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ขยายเส้นทางบิน https://positioningmag.com/1480844 Wed, 03 Jul 2024 05:02:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480844 สายการบินรายใหญ่อย่าง ‘กาตาร์ แอร์เวย์ส’ รายงานผลประกอบการปีล่าสุด 2023/24 นั้นกวาดกำไรไปมากถึง 61,560 ล้านบาท เติบโต 39% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัจจัยสำคัญคือจำนวนผู้โดยสารที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Qatar Airways สายการบินยักษ์ใหญ่จากตะวันออกกลางอีกราย ได้รายงานผลประกอบการประจำปี 2023/24 โดยสายการบินรายนี้ทำกำไรได้มากถึง 6,100 ล้านริยาลกาตาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 61,560 ล้านบาท เติบโตมากถึง 39% เมื่อเทียบกับปี 2022

สายการบินได้รายงานถึงผลประกอบการประจำปี 2023/24 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายได้รวมของสายการบินเติบโตมากถึง 6% อยู่ที่ 81,000 ล้านริยาลกาตาร์ และขนส่งผู้โดยสารไปแล้วมากกว่า 40 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 26%

ตัวเลขอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร หรือ Load Factor ของ Qatar Airways นั้นสูงมากถึง 83% หลังจากสายการบินได้พยายามกลับมาเพิ่มเส้นทางการบินมากขึ้น ซึ่งเส้นทางการบินทั้งหมดมีมากถึง 170 เส้นทาง ขณะเดียวกันก็ยังรวมถึงความต้องการในการเดินทางที่ยังสูงทั่วโลกยังส่งผลดีต่อสายการบินด้วย

ขณะที่ธุรกิจคาร์โก้ของ Qatar Airways ในรายงานผลประกอบการประจำปีชี้ว่าสายการบินมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ล่าสุดนั้นสายการบินมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 7.4%

Badr Mohammed Al-Meer ได้กล่าวถึงผลประกอบการของ Qatar Airways ว่า รายได้และกำไรที่ทำสถิติของสายการบินนั้นมาจาก การมุ่งเน้นในเรื่องความสามารถในการทำกำไร ประสิทธิภาพ รวมถึงประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายเส้นทางการบิน หรือแม้แต่การขยายฝูงบิน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Qatar Airways คือสายการบินกำลังสนใจที่จะซื้อหุ้นสัดส่วน 20% ของ​ Virgin Australia หลังจากที่สายการบินพยายามที่จะเจาะตลาดในแถบดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีสิทธิ์โดนรัฐบาลออสเตรเลียขวางไม่ให้ซื้อหุ้นก็ตาม

]]>
1480844
อินโดนีเซียเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการถึง 200% ชี้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการ https://positioningmag.com/1480645 Tue, 02 Jul 2024 05:58:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480645 อินโดนีเซียเตรียมที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการสูงสุดถึง 200% โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ตามมาจากสินค้าจีนหลายประเภท เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า ฯลฯ ได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป ส่งผลทำให้ธุรกิจสิ่งทอและผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศได้รับผลกระทบจนต้องมีการปิดกิจการ

Reuters และ Channel News Asia รายงานข่าวว่า อินโดนีเซียเตรียมที่จะขึ้นภาษีสินค้าจีนบางรายการสูงสุดถึง 200% โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ตามมาจากสินค้าจีนหลายประเภทได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการดังกล่าวออกมา

สินค้าจากจีนที่จะมีการขึ้นภาษีนั้นประกอบไปด้วย รองเท้า ผลิตภัณฑ์เซรามิก เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องสำอาง เหล็ก โดยอัตราภาษีนั้นเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 100% และบางรายการนั้นปรับเพิ่มมากถึง 200%

Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า สินค้าจีนหลายประเภทได้ทะลักเข้าสู่ประเทศมากเกินไป ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดย่อมนั้นล่มสลายลงได้ และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าเหล่านี้ลดการทะลักเข้ามา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ยังได้กล่าวเสริมในการสัมภาษณ์ของ Channel News Asia ว่า ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า เนื่องจากสินค้านำเข้ามีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผู้ประกอบการในประเทศผลิต

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซียไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศจีนได้ มาตรการดังกล่าวนั้นออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องปิดตัวลง หรือแม้แต่ต้องมีการปลดพนักงาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการปิดตัวลงของธุรกิจประเภทดังกล่าว หรือแม้แต่การล้มละลายจำนวนมาก

สาเหตุที่ทำให้อินโดนีเซียต้องประกาศมาตรการดังกล่าวออกมานั้น เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ทวีความรุนแรง ทำให้สินค้าจากแดนมังกรที่ไม่สามารถส่งออกไปยังโลกตะวันตกได้ทะลักเข้าสู่หลายประเทศ ซึ่งอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

ในปี 2023 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ออกกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้ามากกว่า 3,000 รายการ ตั้งแต่ส่วนผสมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และสารเคมี เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้มีการผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทหลายแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ Apple เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

จีนนั้นถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ 1 ใน 3 ของอินโดนีเซีย นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศที่นำเม็ดเงินลงทุน หรือ FDI เข้าอินโดนีเซียเป็นอันดับต้นๆ ด้วย

]]>
1480645
Boeing ซื้อกิจการซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเครื่องบิน Spirit AeroSystems เพื่อแก้ปัญหาผลิตเครื่องบินไม่ทัน https://positioningmag.com/1480550 Mon, 01 Jul 2024 15:29:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1480550 ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘โบอิ้ง’ ล่าสุดได้ควักเงินมากถึง 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อกิจการซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเครื่องบิน Spirit AeroSystems เพื่อแก้ไขปัญหาที่บริษัทผลิตเครื่องบินไม่ทัน รวมถึงความปลอดภัยในชิ้นส่วนเครื่องบิน ซึ่งส่งผลกับความน่าเชื่อถือของบริษัทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

Boeing ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศเข้าซื้อกิจการของ Spirit AeroSystems ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเครื่องบิน โดยดีลดังกล่าวนั้นมีมูลค่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 172,480 ล้านบาท

Pat Shanahan ซึ่งเป็น CEO ของ Spirit AeroSystems ได้กล่าวว่า ดีลการซื้อกิจการดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 บริษัทสามารถร่วมกันทำงานในด้านวิศวกรรมและด้านการผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมถึงในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของชื้นส่วนเครื่องบิน

สำหรับ Spirit AeroSystems เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Boeing ก่อนที่จะมีการแยกกิจการออกไปในปี 2005 โดยซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเครื่องบินรายนี้มีลูกค้าที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้มากกว่า 70% ของบริษัทนั่นก็คือ Boeing รองลงมาคือ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินจากยุโรปที่ 25%

ขณะที่ธุรกิจของ Spirit AeroSystems ในทวีปยุโรปนั้นทาง Airbus จะซื้อกิจการดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถผลิตเครื่องบินรุ่น A220 และ A350 ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องบินจากสหรัฐรายนี้ประสบปัญหาในการประกอบเครื่องบิน โดยในปี 2023 บริษัทได้กล่าวว่าปัญหาใหญ่มาจากเรื่องของ Supply Chain ส่งผลทำให้การผลิตและส่งมอบเครื่องบินเป็นไปอย่างล้าช้ากว่าที่คาดไว้

ขณะเดียวกัน Boeing ยังประสบปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือของเครื่องบิน ในเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เครื่องบินรุ่น 737 MAX 8 ตก 2 ครั้ง จนทำให้หน่วยงานด้านการบินทั่วโลกสั่งหยุดบินเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะไฟเขียวให้เครื่องบินรุ่นนี้กลับมาบินได้อีกครั้ง

หรือแม้แต่กรณีชิ้นส่วนหลุดออกจากเครื่องบินรุ่น 737 MAX 9 ของสายการบิน Alaska จนทำให้หน่วยงานกำกับดูแลการบินของสหรัฐอเมริกาต้องออกมาสั่งให้ Boeing ห้ามเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าว จนกว่าจะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลพึงพอใจในเรื่องของความปลอดภัย

การตัดสินใจดังกล่าวดำเนินการขึ้นในขณะที่ Boeing พยายามที่จะแก้ไขวิกฤตองค์กรและภาพพจน์ของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งท้ายที่สุดบริษัทได้เลือกการซื้อกิจการของ Spirit AeroSystems กลับมา

ที่มา – The Guardian, CNN, CBS News

]]>
1480550