กระทรวงการคลัง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 29 Dec 2021 07:59:51 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สบน. เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่น ‘ส่งความสุข’ 3 หมื่นล้าน อายุ 3 ปี เริ่ม 17 ม.ค. 65 https://positioningmag.com/1369083 Wed, 29 Dec 2021 06:48:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1369083 สบน. เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น ‘ส่งความสุข’ วงเงิน 3 หมื่นล้าน อายุ 3 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.6% ต่อปี เริ่มจำหน่าย 17 ม.ค. 65 ผ่าน 4 ธนาคารใหญ่ ขั้นต่ำ 1,000 บาท ซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยให้สิทธิ์กลุ่มผู้สูงอายุก่อน 

ในช่วงต้นปี 2565 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะมีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “ส่งความสุข” ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเงินที่ได้ ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการมาตรการต่างๆ เช่น การจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ประกันตน เป็นต้น

‘ส่งความสุข’ มีอะไรบ้าง ซื้อได้ที่ไหน ? 

การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่นส่งความสุข จะเริ่มจำหน่าย วันที่ 17-31 มกราคม 2565 เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป

รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 1.90 ต่อปี (ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.60 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.80 ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.30 ต่อปี)

โดยจะ จำหน่ายวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนเท่านั้น ผ่านช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

วงเงินซื้อเท่าไหร่ ?

ประชาชนสามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท แบ่งการจำหน่ายเป็น 3 ช่วง โดยในสัปดาห์แรกจะเป็นการจำหน่ายแบบกำหนดอายุและจำกัดวงเงิน และในสัปดาห์ถัดไปจึงเปิดโอกาสให้ซื้อแบบไม่จำกัดวงเงิน ดังนี้

• ช่วงที่ 1 (วันที่ 17-18 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย

• ช่วงที่ 2 (วันที่ 19-23 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยซื้อได้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย

• ช่วงที่ 3 (วันที่ 24-31 ม.ค. 2565) เปิดจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (รวมอายุ 60 ปีขึ้นไป) แบบไม่จำกัดวงเงินจำหน่าย

ทั้งนี้ วงเงินการซื้อในแต่ละช่วงไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนสามารถซื้อพันธบัตรได้ในทุกช่วงการจำหน่าย ตามเงื่อนไขอายุและวงเงินที่กำหนด และหากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

“หากมีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.6% ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจประชาชนอยู่ เพราะเป็นพันธบัตรระยะสั้น 3 ปี ดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ”

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 ทางสบน.วางแผนที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงินรวมทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท โดยในช่วงต้นปีงบประมาณ ได้จำหน่ายไปแล้ว 80,000 ล้านบาท และในครั้งนี้อีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือ 40,000 ล้านบาท จะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนพ.ค.65 เป็นต้นไป

 

 

 

]]>
1369083
คลัง เปิดขายพันธบัตร ‘ออมไปด้วยกัน’ รุ่นอายุ 5 และ 10 ปี เริ่ม 15 พ.ย.นี้ https://positioningmag.com/1361962 Sun, 14 Nov 2021 10:49:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1361962 คลังเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่น ‘ออมไปด้วยกัน’ วงเงิน 8 หมื่นล้าน เริ่ม 15 พ.ย. – 3 ธ.ค. นี้ ผ่านหลายช่องทางทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ บนแอปฯ เป๋าตัง เคาน์เตอร์ธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง

โดยกระทรวงการคลัง จะเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นออมไปด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท เน้นจำหน่ายให้แก่ประชาชนรายย่อย 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทจำหน่ายแก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร

‘ออมไปด้วยกัน’ มีอะไรบ้าง ซื้อได้ที่ไหน ? 

สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ ที่กระทรวงการคลังจะจำหน่ายครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 รุ่นอายุ คือ อายุ 5 ปี และ 10 ปี เเละช่องทางการจำหน่ายแยกเป็น 2 ส่วน มีรายละเอียด ดังนี้

ส่วนที่ 1 จำหน่ายในวอลเล็ต สะสมบอร์ดมั่งคั่ง (สบม.) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564

พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี : จ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได

  • ปีที่ 1 ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ปีที่ 2 – 4 ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
  • ปีที่ 5 ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.10 ต่อปี

พันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี : จ่ายดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได

  • ปีที่ 1 – 3 ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี
  • ปีที่ 4 – 5 ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
  • ปีที่ 6 – 9 ดอกเบี้ยร้อยละ 3.50 ต่อปี
  • ปีที่ 10 ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี

วงเงินซื้อเท่าไหร่ ? 

  • ขั้นต่ำ 100 บาท (100 หน่วย) และซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 100 บาท โดยจำหน่ายราคาหน่วยละ 1 บาท
  • วงเงินซื้อขั้นสูงไม่เกิน 10,000,000 บาท (10,000,000 หน่วย) ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้าซื้อต่อราย

วันที่จ่ายดอกเบี้ย 

  • จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์, พฤษภาคม, สิงหาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน โดยดอกเบี้ยงวดแรกจะจ่ายวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565

คุณสมบัติผู้ซื้อเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่กรณีผู้เยาว์เมื่อลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วต้องไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองที่สาขาธนาคารกรุงไทยสำหรับการซื้อครั้งแรก

ส่วนที่ 2 จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ วงเงิน 70,000 ล้านบาท ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง แยกเป็นการจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปก่อนในวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 อัตราดอกเบี้ยทั้งรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี และรอบการจ่ายดอกเบี้ยเหมือนกับผู้ลงทุนผ่านแอปพลิชันเป๋าตัง
ประชาชนที่สนใจสามารถลงทุนผ่านทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของธนาคารทั้ง 4 แห่ง คุณสมบัติผู้ลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หากเป็นผู้เยาว์ต้องมีบัญชีธนาคารตัวแทนจำหน่ายและได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน
ส่วนที่เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะจำหน่ายให้แก่นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร มีเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปี เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.20 จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยจำหน่ายเฉพาะช่องทางเคาน์เตอร์ธนาคารทั้ง 4 แห่ง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง มีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2565 รวม 1.5 แสนล้านบาท โดยรอบนี้ออกพันธบัตร 8 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่วนอีก 7 หมื่นล้านบาท จะออกจำหน่ายอีกในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน 2565

 

 

 

]]>
1361962
“กระทรวงการคลัง” เตรียมเพิ่มสิทธิ์ “คนละครึ่ง เฟส 2” ให้กลุ่มวืด OTP https://positioningmag.com/1310741 Wed, 16 Dec 2020 15:29:52 +0000 https://positioningmag.com/?p=1310741 กระทรวงการคลัง สั่งรวบรวมตัวเลขผู้ที่มีปัญหาลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 2 ที่ไม่ได้รับ OTP จากเครือข่ายดีแทค โดยจะเพิ่มสิทธิ์ให้ผู้ลงทะเบียนกลุ่มนี้ คาดว่า จะทราบผล 15 มกราคม 2564

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้ธนาคารกรุงไทย รวมรวมตัวเลขผู้ที่เข้ามาลงทะเบียน คนละครึ่ง” เฟส 2 ทั้งหมด ว่า มีส่วนที่เกินจากผู้ที่ได้สิทธิ์ 5 ล้านคนเท่าไร และมีจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ติดปัญหาไม่ได้รับเลข OTP จำนวนเท่าไร ซึ่งธนาคารกรุงไทย จะรายงานให้กระทรวงการคลังทราบภายใน 2-3 วันนี้ ก่อนจะพิจารณามาตรการเยียวยา ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในกลุ่มนี้

ส่วนผู้ที่ได้รับการยืนยันสิทธิ์แล้ว จะต้องใช้จ่ายภายใน 14 วัน หากไม่ใช้จ่ายตามกำหนด ทางระบบจะตัดสิทธิ์ และ เปิดให้ผู้ที่พลาดโอกาส เข้ามาลงทะเบียนเพิ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีปัญหาไม่ได้รับ OTP ด้วย คาดว่า น่าจะเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ได้ในวันที่ 15 มกราคม 2564

อาคม กล่าวว่า ได้รับรายงานภาพรวมการลงทะเบียนว่า เครือข่ายการให้บริการของเอไอเอส และทรูไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะเครือข่ายดีแทคเท่านั้น ทำให้หลายคนพลาดสิทธิ์ ซึ่งปัญหานี้เป็นหน้าที่ของ กสทช. ต้องเข้ามาดูคุณภาพสัญญาณการให้บริการ เพราะกรณีนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง รับทราบแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ขยายคนละครึ่ง” ระยะ 3, ระยะ 4 โดยจะต้องพิจารณาภาพรวมโครงการทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนโครงการด้วย

]]>
1310741
“คลัง” ขายหุ้นการบินไทยให้กองทุนวายุภักษ์แล้ว ถือหุ้นเหลือ 47.86% สิ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ https://positioningmag.com/1280221 Fri, 22 May 2020 14:50:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280221 คลังขายหุ้นการบินไทยให้กองทุนวายุภักษ์ 3.17% รวมมูลค่า 278 ล้านบาท คาด การบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ 24 พ.ค.

รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ 22 พ.ค. 2563 กระทรวงการคลังได้ขายหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ให้กองทุนวายุภักษ์แล้วจำนวน 69 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.03 บาท รวมมูลค่าประมาณ 278 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.17% โดยเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ

การซื้อขายหุ้นดังกล่าว ทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นบริษัทการบินไทยจาก 51.03% เหลือ 47.86% ส่งผลให้บริษัทการบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจทันที

กระทรวงการคลังได้แจ้งการขายหุ้นให้บริษัทการบินไทย กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับทราบแล้ว แต่เรื่องการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นหน้าที่ของบริษัทการบินไทยจะเป็นผู้แจ้ง ในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.นี้

Source

]]>
1280221
เปิดรับอุทธรณ์เยียวยา 5,000 บาท ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เท่านั้น ดีเดย์ 20 เม.ย. https://positioningmag.com/1273473 Tue, 14 Apr 2020 15:19:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1273473 กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดรับอุทธรณ์ ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท วันที่ 20 เม.. 63 ผ่านช่องทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ย้ำ ไม่ต้องเดินทางมากระทรวงการคลัง

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเม็ดเงินช่วยเหลือเยียวยาถึงคนทำงานที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ COVID-19 ในรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2563 และรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน 2563 แล้วจำนวน 2.4 ล้านราย คิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท

กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเร่งกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองผู้ลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคนโดยเร็วที่สุด

โดยในช่วงวันที่ 15-17 เมษายน 2563 จะเริ่มทยอยส่ง SMS และโอนเงินเยียวยาในรอบที่ 3 ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ประมาณ 8 แสนราย คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มผู้ได้รับสิทธิ์แต่ได้รับแจ้งว่า การโอนเงินไม่สำเร็จ เนื่องจากบัญชีธนาคารถูกปิด บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปี ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียน เลือกรับโอนเงินผ่านพร้อมเพย์แต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ หรือเข้ามาแก้ไขข้อมูลบัญชีแล้ว แต่ใส่ข้อมูลไม่ถูกต้องสามารถแก้ไขได้โดยการผูกบัญชี พร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนผ่าน Mobile Banking หรือตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร โดยไม่ต้องไปสาขาธนาคาร เพื่อรอรับการโอนเงินเยียวยางวดเดือนเมษายนอีกครั้งในวันที่ 22 หรือ 29 เมษายน 2563

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาโดยตลอด และเตรียมเปิดกลไกการขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เมษายน 2563 ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ที่www.เราไม่ทิ้งกัน.com” จึงขอเน้นย้ำว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพราะไม่ได้มีช่องทางการเปิดรับเอกสาร และเป็นการดำเนินการตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งต่อตัวผู้ประสงค์จะขอทบทวนสิทธิ์เองและต่อส่วนรวมของสังคมไทย

และในระยะต่อไป จะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้กดยกเลิกการลงทะเบียนโดยความเข้าใจผิดด้วย กลไกการทบทวนสิทธิ์จะดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและความเดือดร้อนของผู้ลงทะเบียน ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังในพื้นที่ เช่น คลังจังหวัด สรรพากรพื้นที่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) เป็นต้น รวมถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ด้วย

ทั้งนี้ ผู้ผ่านการทบทวนสิทธิ์จะยังได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือน เนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์

โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอและมีความตั้งใจที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ให้ครอบคลุมครบทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มต่อไป

]]>
1273473
ใครได้-ไม่ได้ ? “คลัง” ไขข้อสงสัย 14 ข้อ รับเงิน 5,000 บาทใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com https://positioningmag.com/1271426 Thu, 02 Apr 2020 10:53:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1271426 กระทรวงการคลัง ตอบข้อสงสัยประชาชน เรื่องมาตรการรับเงินเยียวยาจากผลกระทบไวรัส COVID-19 เดือนละ 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน บนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยเปิดให้มีการลงทะเบียนตั้งเเต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งยอด ณ วันที่ 1 มี.ค. ณ เวลา 18.00 น. มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 22.5 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดกรองจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาดังกล่าว

ล่าสุดเฟซบุ๊กของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ใน 14 ข้อ ดังนี้

1.ประชาชนที่ลงทะเบียนได้รับ SMS “ลงทะเบียนไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลตามบัตรประชาชนไม่ถูกต้อง” และไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก ควรทำอย่างไร

ตอบ กรณีกรอกข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง และได้รับ SMS ลงทะเบียนแจ้งผลการลงทะเบียนไม่สำเร็จ สามารถเข้าไปลงทะเบียนใหม่ได้โดยระบุข้อมูลที่ถูกต้อง หากกรณีที่ยังไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ ขอให้โทรสอบถามสถานะการลงทะเบียนได้ที่ธนาคารกรุงไทย โทร. 02 111 1144

2.ประชาชนที่ลงทะเบียนสำเร็จแล้วมีความต้องการ แก้ไขข้อมูล หรือยกเลิกการลงทะเบียน และหากได้รับเงินจะคืนเงินอย่างไร

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขหรือยกเลิกข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน สำหรับกรณีที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ และต่อมามีความประสงค์จะคืนเงิน กระทรวงการคลังจะพิจารณากำหนดแนวทางและแจ้งให้ท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง

3.ระบบลงทะเบียนไม่มีตัวเลือกของ อำเภอเมืองชลบุรี เลยเลือกอำเภออ่างศิลา ที่ใกล้เคียงจะมีปัญหาต่อการลงทะเบียนหรือไม่ และถือเป็นการลงข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมทั้งจะถูกดำเนินคดีหรือไม่

ตอบ ระบบมีตัวเลือกของ “ตำบล/แขวง” และ “อำเภอ/เขต” ครบถ้วน โดยผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ในพื้นที่ที่ท่านอยู่ในถูกต้องก่อน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

4.หมายเลขบัตรประชาชนของตนเองถูกคนอื่นนำไปลงทะเบียนแล้ว

ตอบ สามารถสอบถามสถานะการลงทะเบียนได้ที่ธนาคารกรุงไทย โทร. 02 111 1144 ว่าเลขประจำตัวประชาชนของตนมีการลงทะเบียนแล้วหรือยัง ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุเกิดจากการที่บุคคลอื่นกรอกหมายเลขประจำตัวประชาชนผิด และไปตรงกับเลขประจำตัวประชาชนของผู้ร้องฯ

5.เป็นบุคคลที่กรมบังคับคดีไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ได้รับผลกระทบเนื่องจากทำอาชีพนวดรับเงินค่าจ้างรายวัน และร้านถูกสั่งให้ปิดทำการ ส่งผลให้ไม่มีรายได้ จะต้องทำอย่างไร

ตอบ กระทรวงการคลังจะโอนเงินชดเชยรายได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

6.อยากให้พระภิกษุได้รับการเยียวยาด้วย เนื่องจากผู้มาทำบุญตักบาตรลดลง และกิจนิมนต์น้อยลง ส่งผลกระทบต่อผู้ติดตามรับใช้พระภิกษุ

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19

7.ปัจจุบันได้รับเบี้ยคนชรา/เกษตรกร ซึ่งทำงานอื่นไปด้วย สามารถลงทะเบียนขอรับการเยียวยาได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

8. ออกจากประกันสังคมมา 7 เดือนแล้ว ลงทะเบียนได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

9.มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่แจ้งอายัดบัตรไว้ แล้วอยากจะกลับมาใช้บัตรใหม่อีกครั้งได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร

ตอบ โปรดติดต่อธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ หรือ โทร. 02 109 2345

10.เป็นเกษตรกร/ทำนา เดือดร้อน แต่ลงทะเบียนไม่ได้

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19

11.ประกอบอาชีพชาวนาอย่างเดียว จะลงทะเบียนได้ไหม และจะโดนตัดสิทธิการช่วยเหลืออื่นหรือไม่

ตอบ มาตรการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง แรงงาน ที่มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิต-19 ตรง ๆ สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐอื่น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของหน่วยงานของรัฐนั้น

12.ประกอบอาชีพหลักเป็นนักพยากรณ์ดูดวงลายมือ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งโต๊ะรับดูดวงเพื่อพบลูกค้าเพื่อความแม่นยำ แต่ตอนนี้ไม่สามารถมาตั้งโต๊ะรับลูกค้าได้แล้วเนื่องจากโควิด-19 และมีอาชีพเสริม คือ รับลอตเตอรี่จากพี่สาวมาขายบ้างเป็นบางวันไม่ได้ขายทุกวัน และไม่มีแผงขายประจำเป็นหลักแหล่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน ทั้งนี้ ตอนลงทะเบียนกรอกข้อมูลอาชีพเสริม (ขายลอตเตอรี่) จะเป็นอะไรมั้ย และจะสามารถแก้ไขข้อมูลเปลี่ยนเป็นอาชีพหลัก (นักพยากรณ์) ได้หรือไม่

ตอบ หากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิต-19 สามารถสมัครลงทะเบียนได้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

13.พี่สาวขายลอตเตอรี่ในแผงที่วัด แต่คนอื่นลงทะเบียนให้ว่าขายลอตเตอรี่ในตลาดสด จะเป็นอะไรมั้ย และจะสามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน โดยกระทรวงการคลังจะมีการคัดกรองอีกครั้งว่าได้รับสิทธิหรือไม่

14.บัญชีธนาคารที่กรอกตอนลงทะเบียน มาตรวจสอบกับธนาคารทีหลังแล้วพบว่าบัญชีดังกล่าวโดนระงับไปแล้ว จะสามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่

ตอบ ขณะนี้ระบบยังไม่เปิดระบบให้แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียน หากมีจะประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วและท่านได้รับสิทธิ จะมีการแจ้งให้ท่านจะต้องเปิดบัญชีและเปิดพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้สามารถโอนเงินได้

]]>
1271426
ถามตอบชัดๆ 12 ข้อข้องใจ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เตรียมจัดเก็บครั้งแรก สิงหาคม’63 https://positioningmag.com/1265653 Mon, 24 Feb 2020 13:49:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1265653 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเริ่มบังคับใช้จริงแล้ววันที่ 1 ม.ค. 63 และประชาชนจะต้องจ่ายจริงในเดือน ส.ค.นี้ โดยยังมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับวิธีการคิดคำนวณ เพราะเป็นกฎหมายใหม่ วิธีคิดใหม่ ทำให้เวทีสัมมนาวิชาการ “ไขข้อข้องใจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จัดโดยหอการค้าไทย ดึงหน่วยงานรัฐมาช่วยตอบคำถามชัดๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนชำระภาษี

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มายกเลิกและทดแทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมที่ใช้กันมาหลายสิบปี เป้าหมายของกฎหมายภาษีที่ดินฯ คือการสังคายนาวิธีการจัดเก็บให้คิดในอัตราที่ทันสมัย เป็นปัจจุบัน เก็บภาษีได้ครบครอบคลุม ไม่ลักลั่น และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ปูพื้นภาพรวมภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ จะมีการแยกเก็บภาษีออกเป็น 4 หมวด คือ 1.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า 2.ที่อยู่อาศัย 3.เกษตรกรรม 4.อื่นๆ กฎหมายตีความว่าเป็นที่ดินประเภทใดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น และแต่ละหมวดจะเสียภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากัน (ดูตารางด้านล่าง) โดยเก็บในอัตราก้าวหน้า (แบบเดียวกับการเสียภาษีเงินได้) และมีผู้เก็บภาษีคือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ของที่ดินนั้นๆ เช่นเดียวกับภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนเดิม

สำหรับปีนี้มีการขยายเวลาชำระภาษีออกไปให้เป็น 31 ส.ค. 63 จากปกติจะต้องชำระไม่เกินวันที่ 30 เม.ย. เนื่องจากกฎหมายลูกที่จะใช้ในการตีความการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างๆ กำลังทยอยออกมาให้ครบ 18 ฉบับซึ่งคาดว่าจะครบภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ โดยไทม์ไลน์การดำเนินการเฉพาะปี 2563 เป็นไปตามแผนภาพด้านล่าง

เพื่อตอบคำถามรายละเอียดทั้งแนวคิดและการปฏิบัติจากกฎหมายใหม่ครั้งนี้ เวทีสัมมนาได้รวบรวมผู้ให้ข้อมูลมาตอบข้อข้องใจ ได้แก่ “ชุมพล สุวรรณกิจบริหาร” เลขานุการกรมจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), “วิลาวัลย์ วีระกุล” รองอธิบดี กรมธนารักษ์ และ “สันติธร ยิ้มละมัย” รองอธิบดี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ติดตามอ่านได้ด้านล่างนี้!!

 

Q: กฎหมายใหม่แก้ความลักลั่นและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อย่างไร

ชุมพล: การเก็บภาษีที่ดินฯ ครั้งนี้ใช้ฐานการคิดราคาทรัพย์สินจากราคาประเมินโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งประเมินใหม่ทุกๆ 4 ปี ต่างจากกฎหมายบำรุงท้องที่เดิมอัปเดตราคาล่าสุดในปี 2524 ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน รวมถึงการคิดราคาสิ่งปลูกสร้างใช้ตารางบัญชีราคาโดยกรมธนารักษ์เช่นกัน และคิดเฉพาะตัวโครงสร้างอาคาร ไม่มีการประเมินส่วนควบ เช่น เครื่องจักร เสาวิทยุ ของอาคาร

รวมถึงการเสียภาษีโรงเรือนเดิมจะคิดอัตราภาษีจากรายได้การทำประโยชน์ เช่น อพาร์ตเมนต์ คิดตามค่าเช่ารายเดือน ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้ดุลยพินิจประเมินราคา แต่ภาษีใหม่คิดจากมูลค่าทรัพย์ทั้งหมด เราตัดสิ่งรุงรังพวกนี้ออกเพื่อตัดเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจหน้างานออก

Q: ช่วยให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บภาษีได้ดีขึ้นอย่างไร

ชุมพล: เมื่อก่อนเป็นระบบประชาชนมีหน้าที่ไปแจ้งเสียภาษีเอง แต่ระบบใหม่อปท.จะออกจดหมายแจ้งประชาชนให้มาชำระภาษี

อปท.ทำเช่นนี้ได้แล้ว เพราะกฎหมายใหม่เชื่อมโยงให้กรมที่ดินจะต้องส่งข้อมูลเจ้าของที่ดินไปให้อปท.แต่ละแห่ง และอปท.มีหน้าที่ไปประเมินการใช้ประโยชน์ทุกแปลง ดังนั้น การหลบเลี่ยงจ่ายภาษีทำได้น้อยลง

Q: กฎหมายนี้เอื้อคนรวยหรือไม่ จากการกำหนดเพดานมูลค่าที่อยู่อาศัยหลังหลักที่ไม่ต้องเสียภาษีสูงถึง 50 ล้านบาท

ชุมพล: กลุ่มที่อยู่อาศัยหลังหลักได้รับยกเว้นภาษีได้ถึงมูลค่า 50 ล้านบาท เจตนาเพื่อช่วยบุคคลที่ได้ที่ดินมรดกกลางเมือง บางท่านอยู่มาตั้งแต่ที่ดินยังไม่เจริญแต่ปัจจุบันเจริญไปมากแล้ว อย่างเช่นกรุงเทพฯ ที่ดินปัจจุบันแพงสุดถึงตารางวาละ 1 ล้านบาทแล้วตามราคาประเมิน หากลูกหลานได้รับที่ดินมรดกขนาด 50 ตร.ว. ในย่านนั้น ก็จะมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท จึงปรับเพดานราคาบ้านหลังหลักให้สมเหตุสมผล

ส่วนข้อท้วงติงจากผู้ที่กล่าวว่า ตนมีที่อยู่อาศัยหลายหลังรวมกันมูลค่ายังไม่ถึง 50 ล้านบาท ทำไมจึงต้องเสียภาษีหลังที่ 2 เป็นต้นไป ประเด็นนี้เรามองว่าท่านมีความสามารถที่จะมีบ้านมากกว่า 1 หลัง ขณะที่คนไทยบางกลุ่มยังไม่สามารถมีบ้านหลังแรกได้ ให้พิจารณาในจุดนี้

Q: ใครจะเป็นคนชำระภาษี ในกรณีเหล่านี้…

ชุมพล: คอนเซ็ปต์หลักของการจ่ายภาษีคือ “เจ้าของทรัพย์สิน” ผู้มีชื่อสลักหลังโฉนดคือผู้ที่ต้องจ่ายภาษี

กรณี 1 เจ้าของผู้ให้เช่า vs ผู้เช่า : ผู้จ่ายภาษีคือเจ้าของทรัพย์สิน ไม่ใช่ผู้เช่า หากจะมีการผลักภาระให้ผู้เช่า เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันเอง
กรณี 2 เจ้าของโฉนด vs เจ้าบ้านตามทะเบียนบ้าน : ดูตามกรรมสิทธิ์ “เจ้าของ” ไม่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าบ้าน
กรณี 3 ที่ดินรัฐ : เป็นข้อยกเว้น เช่น ที่ดินราชพัสดุ ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดิน นส.3 ที่ดิน นส.3ก หรือแม้แต่การบุกรุกเข้าใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้ประโยชน์บนที่ดินรัฐจะต้องเป็นผู้เสียภาษี
กรณี 4 ที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างมีเจ้าของร่วมหลายราย : ผู้มีชื่อคนแรกในโฉนดเป็นผู้เสียภาษี ส่วนการจัดการแบ่งค่าใช้จ่ายในหมู่เจ้าของร่วม ต้องตกลงกันเอง
กรณี 5 ที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างมรดกที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ : อปท.นั้นๆ จะเลือกทายาท 1 คนเพื่อรับภาระเสียภาษีในปีนั้น

Q: ประเมินการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหมวดไหน ดูจากอะไร

ชุมพล: ดูตามเจตนาการใช้ประโยชน์ เช่น สร้างโรงเรือนเพื่อเลี้ยงไก่ถือเป็นเกษตรกรรม และดูจากการใช้งานจริงบนที่ดิน ไม่ใช่อาชีพของเจ้าของทรัพย์ ดังนั้น หากทรัพย์มีไว้ทำเกษตรกรรมจะถือว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม หากเจ้าของไม่ใช่เกษตรกร ไม่ต้องไปลงทะเบียนเป็นเกษตรกร เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุให้ตรวจสอบจุดนี้

การดูเจตนาจากการใช้งานจริงทำให้ก้าวข้ามลักษณะอาคารด้วย เช่น หากตึกแถวสำหรับพักอาศัยถูกดัดแปลงไปใช้เป็นโรงงาน จะตกอยู่ในหมวด “อื่นๆ” ไม่ใช่หมวด “ที่อยู่อาศัย”

Q: กรณีนำบ้านพัก คอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ มาให้เช่า ถือเป็นการใช้ที่ดินหมวดใด

ชุมพล: ถ้าทรัพย์นั้นใช้ให้เช่าเพื่อการอยู่อาศัยให้ถือว่าเป็นที่อยู่อาศัย โดยต้องเป็นการพักอาศัยรายเดือนเท่านั้น ที่ไม่นับเป็นหมวดอื่นๆ (ซึ่งเสียภาษีสูงกว่า) เพราะเราต้องการดูแลไม่ให้มีการผลักภาระไปให้ผู้เช่าซึ่งมีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ส่วนที่พักรายวัน เช่น โรงแรม ห้องเช่ารายวัน ถือเป็นหมวดอื่นๆ

Q: การตีความว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินเกษตรกรรมหรือไม่ ดูจากอะไร

ชุมพล: ขณะนี้มีนิยามที่ดินเกษตรกรรมตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แต่จะมีกฎหมายลูกประกาศภายในไม่กี่วันนี้ เพื่อให้ความชัดเจนยิ่งขึ้น

ในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะระบุเกณฑ์การวัดความเป็นที่ดินเกษตร 12 ประเภทใหญ่ เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดว่าต้องเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์มากน้อยแค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม

Q: หากมีการใช้ประโยชน์หลายอย่างบนที่ดินแปลงเดียว คิดอย่างไร

ชุมพล: วัดตามการใช้งานจริง สมมติมีที่ดิน 1 ไร่ ทำนา 200 ตร.ว. อีก 200 ตร.ว.เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็จะคิดเป็นที่ดินเกษตรกรรมแค่ 200 ตร.ว. ที่เหลือเป็นที่ดินรกร้าง

Q: ช่วงเวลาการตรวจสอบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของและประเมินว่าใช้ประโยชน์อย่างไร คือเมื่อไหร่

ชุมพล: การตรวจสอบเกิดขึ้นทุกวันที่ 1 ม.ค. ของทุกปี และการประเมินการใช้ประโยชน์นับจากวันที่เจ้าหน้าที่ประเมินสำรวจที่ดิน ดังนั้น กรณีมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันภายหลังวันที่ 1 ม.ค. ของปีนั้น เจ้าของเดิมยังต้องเป็นผู้ชำระภาษีที่ดินอยู่

Q: หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินราคาหรือการใช้ประโยชน์ทำอย่างไร

ชุมพล: สามารถยื่นคัดค้านได้ 3 ครั้ง ครั้งแรกยื่นคำร้องภายใน 30 วันหลังจาก อปท. ส่งแบบประเมินภาษีให้ผู้เสียภาษี หากยังไม่พอใจ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้งภายใน 30 วัน และหากยังไม่พอใจในผลตอบรับ สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างขั้นตอนทั้งหมด หากถึงกำหนดชำระภาษีแล้วต้องเสียภาษีเต็มจำนวนไปก่อน ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าภาษีที่ต้องชำระในภายหลังและผู้เสียภาษีมีการชำระเกินไปก่อนแล้ว จะได้เงินส่วนต่างคืนพร้อมดอกเบี้ย 1%

Q: ตรวจสอบราคาประเมินที่ดินของตนเองได้ที่ไหน

วิลาวัลย์: ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมธนารักษ์ โดยที่ดินทุกแปลงทั่วไทยที่มีการใช้ประโยชน์สามารถทราบราคาประเมินได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับรอบภาษีที่ดินฯ ปี 2563 จะยังใช้ราคาประเมินที่ดินรอบบัญชีปี 2559-62 ไปก่อน เนื่องจากราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ 2564-67 จะประกาศใช้วันที่ 1 ธ.ค. 63

Q: การยื่นคัดค้านและการเสียภาษีมีระบบออนไลน์หรือไม่

สันติธร: ขณะนี้ยังไม่มี การยื่นคัดค้านจะต้องไปที่ อปท. ของที่ดินของท่าน ส่วนระบบชำระเงิน อยู่ระหว่างเจรจากับ ธ.กรุงไทย เพื่อเป็นช่องทางชำระเงิน

แต่ในอนาคต อยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ออนไลน์สำหรับยื่นคัดค้านหรืออุทธรณ์ผ่านออนไลน์ได้ทันที เพื่อความสะดวกของประชาชน

]]>
1265653
คลังคอนเฟิร์ม! บ้าน-คอนโดฯ ปล่อยเช่ารายเดือน ‘ไม่’ ถือเป็น ‘การพาณิชย์’ กรณีภาษีที่ดิน https://positioningmag.com/1258570 Thu, 26 Dec 2019 04:44:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1258570 (photo: Shutterstock)

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 สร้างความวิตกให้ผู้ที่มีบ้าน-คอนโดฯ มากกว่าหนึ่งหลัง และอาจให้บุคคลอื่นเช่าพักว่า อาจจะถูกเก็บภาษีในหมวดพาณิชยกรรม ซึ่งจะต้องจ่ายภาษีแพงกว่าหมวดที่อยู่อาศัยหลังที่สองเกิน 10 เท่าตัว กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจึงออกโรงชี้แจง “บ้าน-คอนโดฯ ปล่อยเช่ารายเดือน” นั้นให้ถือว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ไม่ใช่การพาณิชย์

“ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง และ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย

ดังนั้นเพื่อไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนที่มีจุดประสงค์หลักในการใช้ประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยขอชี้แจงแนวทางการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้

  1. เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
  2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
  3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีที่พักอาศัยของตนเอง หรือที่เช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเจ้าของทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัย หรือการให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อการอยู่อาศัยด้วย

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดภาระของประชาชนที่จะต้องไปติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการลดภาระให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. ในการสำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินการแจ้งให้ อปท. ทั่วประเทศทราบและถือปฏิบัติต่อไป

สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นภาษีที่ใช้ทดแทนภาษีโรงเรือน มีการแยกการจัดเก็บออกเป็น 3 หมวด ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ 1.ที่อยู่อาศัย (แยกเป็นบ้านหลังหลักและบ้านหลังอื่นๆ) 2.เกษตรกรรม 3.อื่นๆ (แยกเป็นพาณิชยกรรมและที่ดินว่างเปล่า) จุดประสงค์หลักของกฎหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจากการถือครองที่ดินจำนวนมาก ทำให้ที่ดินว่างเปล่าเป็นหมวดที่เสียภาษีสูงที่สุด รองลงมาคือที่ดินพาณิชยกรรม

หลังกฎหมายหลักออกมาแล้วยังเหลือกฎหมายลูกอีก 8 ฉบับ ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยจะทยอยออกประกาศนับจากนี้ ซึ่งในตัวกฎหมายลูกจะเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าคำนิยามการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะตั้งกฎเกณฑ์อย่างไร เช่น ที่ดินเกษตรกรรม ต้องมีการปลูกพืชผลอะไรในสัดส่วนเท่าไหร่ต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีแบบมี ‘ป่ากล้วยกลางเมือง’ แล้วนับเป็นที่ดินเกษตรกรรมแทนที่ดินว่างเปล่า

ประเด็นการนำบ้านหรือห้องชุดปล่อยเช่าเป็นอีกรายละเอียดหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าจะนับการใช้ประโยชน์นี้ว่าเป็น “พาณิชยกรรม” หรือเป็น “บ้านหลังอื่นๆ” ซึ่งการเสียภาษีจะมีอัตราต่างกันเกิน 10 เท่าตัว เช่น หากนาย A มีบ้านให้เช่าราคา 10 ล้านบาท ถ้านับเป็นหมวดพาณิชยกรรมจะเสียภาษีที่ดินอัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท เท่ากับนาย A ต้องเสียภาษีปีละ 30,000 บาท แต่ถ้านับว่าเป็นหมวดบ้านหลังอื่นๆ จะเสียภาษีอัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เท่ากับนาย A เสียภาษีบ้านหลังนี้เพียงปีละ 2,000 บาท

คำยืนยันจากคลังและมหาดไทยน่าจะสร้างความโล่งใจให้นักลงทุนปล่อยเช่าได้บ้าง แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากกฎหมายลูกกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะถึงเวลาแจ้งชำระภาษีที่ดินของจริงช่วงเดือนมิถุนายน 2563

]]>
1258570
ไม่ส่งเสริมแต่ไม่ปิดกั้น! “คลัง” เตรียมเก็บภาษีซื้อขายเงินดิจิทัล https://positioningmag.com/1161641 Wed, 14 Mar 2018 12:41:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1161641 ไม่ง่ายแล้ว เมื่อกระทรวงการคลัง เตรียมคุมเงินดิจิทัลป้องกันรายย่อยเสียหาย เตรียมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกรายการ พร้อมกับหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 เพราะไม่ต้องการส่งเสริมแต่ไม่ปิดกั้น 

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลด้วยการให้ตัวกลาง เช่น ตัวแทน ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นจากการซื้อขาย เพื่อนำไปใช้คำนวณกำไรและเงินปันผลจากการซื้อขายหรือได้รับผลตอบแทนจากสกุลเงินดิจิทัลในช่วงปลายปี

เมื่อหักเงินนำส่งกรมสรรพากรแล้ว หากมียอดเงินเกินกว่าภาษีต้องจ่ายสามารถขอเคลมคืนเงินภาษีได้ หากจ่ายไม่พอต้องจ่ายเพิ่ม

โดยยอมรับว่าไม่เหมือนกับการหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์ไปเลยครั้งเดียวจบ หรือยกเว้นภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น เพราะรัฐบาลไม่ต้องการส่งเสริมให้ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล

เมื่อรัฐบาลกำหนดนิยามว่า คริปโตเคอเรนซี และโทเคน เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่า จึงต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยใช้ประมวลรัษฎากรปัจจุบันดำเนินการจัดเก็บไม่ต้องออกกฎหมายฉบับใหม่เพิ่ม โดยใช้กฎหมายปัจจุบันบังคับใช้จะดำเนินการไปพร้อมกัน

เมื่อ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีผลบังคับใช้ แนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากยอดเงินซื้อขาย เน้นกับกลุ่มตัวแทน ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ สำหรับบุคคลรายย่อยได้รับการยกเว้นเหมือนกับการซื้อตราสารทองคำ เพื่อสะสมของนักลงทุนรายย่อยได้รับการยกเว้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังต้องกำหนดให้ ผู้ประกอบการ ทั้งศูนย์ซื้อขาย ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ ต้องมาขอใบอนุญาตและดำเนินการตามข้อกำหนด เช่น การยืนยันตัวตน (KYC) และการแจ้งเส้นทางการเงินให้กับ ก.ล.ต.รับทราบ เพื่อป้องกันการฟอกเงินจากเงินผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษ หากกระทำผิดทั้งปรับและจำคุก คาดว่าจะกำหนดให้เอกชนตัวกลางเข้ามาลงทะเบียนขอไลเซนส์ได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า อีกทั้งได้คุยกับแบงก์ต่างชาติหลายแห่ง ยอมรับว่าไม่ส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อขายสกุลดิจิทัล

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่ต้องการให้สถาบันการเงินเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล แต่นำระบบบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในธุรกรรมของแบงก์ได้ เพราะเป็นระบบดี แต่ไม่ได้เปิดซื้อขายสกุลดิจิทัล เพราะ ธปท. ไม่ยอมรับว่าคริปโตเคอเรนซีในการแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้ปิดกั้น เพราะจะถูกมองว่าล้าหลัง เพียงแต่ต้องการควบคุมไม่ให้ได้รับความเสียหาย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เป็นการห้ามหรือปิดกั้นการซื้อขายสกุลดิจิทัล แต่ต้องการควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่ปล่อยให้ซื้อขายจนเกิดความเสียหายกับนักลงทุน โดย กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และ ก.ล.ต.ร่วมกันดูแลอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม จะนำกลับเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อประกาศบังคับใช้

ที่มา : mgronline.com/stockmarket/detail/9610000025707

]]>
1161641
ธนาคารกสิกรไทยร่วมมือ บตท.พัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยจัดซื้อในวงเงิน 8 พันล้าน https://positioningmag.com/56331 Mon, 22 Apr 2013 00:00:00 +0000 http://positioningmag.com/?p=56331

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) และ ธนาคารกสิกรไทย โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานในพิธี นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และนางสาวกรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ ประธานกรรมการ นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พร้อมคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานในความร่วมมือครั้งนี้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสอันดีที่เกิดความร่วมมือครั้งสำคัญระดับประเทศ ในการลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย” ระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเอกชนชั้นนำของประเทศ และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ “บตท.” หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดภายใต้กระทรวงการคลัง ที่มีบทบาทหลักในการะดมทุนจากตลาดทุนเข้าสู่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการออกตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง หรือ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ บตท. มีพันธกิจเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนต่างๆ อันได้แก่ การช่วยลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับสถาบันการเงิน การพัฒนาตลาดทุน โดยออกตราสาร ABS, MBS ที่มีความเสี่ยงต่ำให้กับนักลงทุน ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเจริญเติบโต และช่วยให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัย และเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น”

“จากบทบาทการเชื่อมโยงเพื่อประโยชน์ทุกภาคส่วน ทั้งภาคสถาบันการเงิน ภาคตลาดทุน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคประชาชน ทำให้เสถียรภาพในระบบการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคง ดังนั้น โครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย ระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงนับเป็นโครงการสำคัญเพื่อใช้ประสิทธิภาพของระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ เพื่อพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุนของประเทศไปพร้อมๆ กัน เทียบเท่ากับนานาประเทศซึ่งใช้ระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้เจริญรุ่งเรือง”

นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจวันนี้เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง ธนาคารกสิกรไทย และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ภายใต้ “โครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 8,000 ล้านบาท” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยผ่านระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีบทบาทหลักในการระดมทุนจากตลาดทุนเข้าสู่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ซึ่งบทบาทดังกล่าวทำให้ บตท. มีความชัดเจนมากขึ้น ในฐานะตัวกลางจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินตลาดแรก โดยใช้หลักการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) และร่วมมือกับสถาบันการเงินตลาดแรก สร้างผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ บตท. ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยครั้งนี้ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่เป็นอัตราคงที่ใน 2 หรือ 3 ปีแรก และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปีต่อมา เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจหลักในการสนับสนุนให้มีอัตราดอกเบี้ยบ้านคงที่ของ บตท. เพื่อช่วยประชาชนให้ได้รับโอกาสการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมากขึ้น”

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะร่วมมือกันในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยในวงเงิน 8,000 ล้านบาท สิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2556 ต่อเนื่องจากโครงการในช่วงปลายปี 2555 ที่ได้ตั้งวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยไว้ที่ 2,500 ล้านบาท และธนาคารฯ สามารถโอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ถึง 2,400 ล้านบาท ถือเป็นความร่วมมือนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมระบบเศรษฐกิจและระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งสถาบันการเงิน ประชาชนผู้กู้ ตลอดจนผู้ลงทุน และสถาบันการลงทุนที่ได้ลงทุนในพันธบัตรของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย”

“จากทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการที่อยู่อาศัยในทุกภูมิภาคโดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ และจากการที่ธนาคารกสิกรไทยได้มีโอกาสสัมผัส และใกล้ชิดกับลูกค้าทำให้เราทราบดีว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังต้องการได้รับโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ดังนั้นความร่วมมือกันของธนาคารกสิกรไทย และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในโครงการความร่วมมือในการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น และได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติทั่วไป”

นอกจากการได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และคงที่จากโครงการความร่วมมือนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังได้จัดแคมเปญการตลาด เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า โดยมอบบัตรกำนัลเซ็นทรัลมูลค่าสูงสุด 1,200 บาท สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่ยื่นกู้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 และจดจำนองภายใน 15 กรกฎาคม 2556 นี้ ครอบคลุมทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านใหม่ บ้านมือสอง หรือสินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ผู้สนใจสามารถขอสมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาทั่วประเทศ หรือติดต่อ 0 2888 8888

]]>
56331