คว่ำบาตร – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 24 Aug 2023 07:53:09 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘หัวเว่ย’ ซุ่มสร้าง ‘โรงงานลับผลิตชิป’ โดยได้งบสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเลี่ยงการคว่ำบาตรของ ‘อเมริกา’ https://positioningmag.com/1442262 Thu, 24 Aug 2023 07:29:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1442262 นับตั้งแต่ที่โลกเกิดปัญหาขาดแคลน ชิป ในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ปัจจุบัน ชิปได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามระหว่าง จีน และ สหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ เองพยายามจะกีดกันจีนไปพร้อม ๆ กับสร้างความแข็งแรงของการผลิตชิปในประเทศ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่ารัฐบาลจีนได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการให้งบกับ หัวเว่ย สร้างโรงงานลับไว้ผลิตชิป  

สมาคมผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ (Semiconductor Industry Association) ได้เปิดเผยกับ Bloomberg ว่า ทางรัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุน หัวเว่ย (Huawei Technologies) เป็นมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการสร้าง โรงงานลับ สำหรับ ผลิตชิป ทั่วประเทศจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ

สำหรับหัวเว่ยได้เริ่มหันมาผลิตชิปในปี 2565 โดยที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ซื้อโรงงานผลิตชิปที่มีอยู่อย่างน้อย 2 แห่ง และกําลังสร้างใหม่อีก 3 แห่ง โดยดำเนินกิจการในชื่ออื่นเพื่อจะได้ซื้ออุปกรณ์ผลิตชิปของอเมริกาทางอ้อม เนื่องจากบริษัทติด บัญชีดำ (Entity List) ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หัวเว่ย ถูกขึ้นบัญชีดําทางการค้าในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2562 โดยจํากัดซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่จากการจัดส่งสินค้าและเทคโนโลยีไปยังบริษัทเว้นแต่บริษัทนั้น ๆ จะได้รับใบอนุญาต

ที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ต่างก็ทำสงครามเทคโนโลยีกัน โดยเฉพาะในด้านของชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด เพราะต้องใช้ในทุกสิ่งตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์และตู้เย็น และยังถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการใช้งานทางทหารและการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยนอกจากสหรัฐฯ จะจำกัดการส่งออกชิปที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลด้านเอไอไปยังจีนแล้ว ทางจีนก็ตอบโต้โดยการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปไปยังสหรัฐฯ และยุโรปด้วย

Source

]]>
1442262
Binance ระงับบริการบางส่วนกับ ‘ชาวรัสเซีย’ ที่ถือครองคริปโต มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นยูโร https://positioningmag.com/1382327 Thu, 21 Apr 2022 12:52:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382327 ‘Binance’ เเพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศระงับการให้บริการบางส่วนกับชาวรัสเซียที่ถือครองคริปโตฯ มูลค่าเกิน 10,000 ยูโรขึ้นไป ตามมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของสหภาพยุโรป (EU)

Binance เเจ้งว่า ผู้ใช้ชาวรัสเซียเเละบริษัทที่จัดตั้งในรัสเซีย ที่ถือครองคริปโตเคอร์เรนซี มูลค่ารวมมากกว่า 10,000 ยูโร (ราว 3.6 เเสนบาท) จะถูกห้ามไม่ให้ทำการฝากเงินใหม่หรือทำการซื้อขายใดๆ ทั้งฟังก์ชั่น spot , futures , Earn , staking เเละกระเป๋าเงิน Custody wallets

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะสามารถถอนเงินได้เเละจะมีเวลา 90 วันในการปิดสถานะ

โดยข้อจำกัดดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อบัญชีของพลเมืองรัสเซีย ที่อาศัยอยู่นอกประเทศที่ได้รับการยืนยันหลักฐานที่อยู่เเล้ว ตลอดจนถึงบัญชีของชาวรัสเซียรายย่อ หรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในรัสเซีย ที่มีการถือครองสินทรัพย์คริปโตฯ บนเเพลตฟอร์ม Binance ‘น้อยกว่า 10,000 ยูโร

ในเดือนนี้ EU ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นครั้งที่ 5 โดยพุ่งเป้าไปที่กระเป๋าเงินคริปโตฯ ธนาคาร สกุลเงินและทรัสต์ เพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจเปิดโอกาสให้ชาวรัสเซียเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศ

เมื่อเดือนที่ผ่านมา Binance ระบุว่า ผู้ที่ถือบัตรเครดิตของธนาคารรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร จะไม่สามารถใช้งานบัตรบนแพลตฟอร์มได้ และยืนยันว่าบริษัทได้ระงับการให้บริการกับผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในลิสต์คว่ำบาตรด้วย

“Binance จะต้องเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมที่ดำเนินการตามมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ต่อไป เราเชื่อว่า Crypto Exchange รายใหญ่แห่งอื่น ๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎเดียวกันในไม่ช้า

ที่มา : Reuters , Binance , Bloomberg 

]]>
1382327
สวรรค์แห่งใหม่ของ “โอลิการ์ค” รัสเซีย: “ดูไบ” อ้าแขนต้อนรับ VIP ขนเงินหนีคว่ำบาตร https://positioningmag.com/1381479 Tue, 12 Apr 2022 10:28:59 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381479 หลังการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกต่อ “รัสเซีย” กลุ่ม “โอลิการ์ค” เศรษฐี VIP ที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐบาลปูติน เริ่มเข้าซื้ออสังหาฯ และจอดเรือยอชต์หรูของตนใน “ดูไบ” สวรรค์แห่งใหม่ของคนรวยรัสเซีย

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 เป็นต้นมา สนามบินดูไบมีโอกาสได้ต้อนรับคนรัสเซียจำนวนมากที่หลั่งไหลกันเข้ามา และหลายๆ คนคือกลุ่ม ‘คนวงใน’ ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

กลุ่ม VIP เหล่านี้ใช้ชีวิตได้ตามปกติในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่ไม่ยี่หระกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย หรือความพยายามของตะวันตกที่จะคว่ำบาตรรัสเซียให้จงได้ แต่กลับกัน พวกเขายินดีต้อนรับกลุ่มคนวงในของปูติน และอาจจะยินดีมากกว่าสถานที่อื่นๆ ในโลกด้วยซ้ำ จากการที่โอลิการ์ครัสเซียเหล่านี้จะมาพร้อมกับกระแสเงินที่นำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์และเก็บไว้ใน UAE

สำนักข่าว The Observer รายงานว่า เมื่อ UAE ไม่ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียตามตะวันตกและไม่กลัวความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั้งธนาคาร บริษัทอสังหาฯ เอเย่นต์รถยนต์ หรือท่าจอดเรือหรู ต่างรับคำสั่งซื้อบ้าน รถสปอร์ต และพื้นที่จอดเรือกันแบบมือเป็นระวิง

Photo : Shutterstock

อย่างไรก็ตาม การซื้ออสังหาฯ หรือสินค้าหรูใน UAE ทางเศรษฐีรัสเซียก็ยังทำด้วยความระมัดระวัง โดยการชำระเงินผ่านสกุลเงินคริปโต หรือชำระเงินผ่านบริษัทคนกลางอีกทอดหนึ่งเพื่อให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เศรษฐีรัสเซียบางรายซื้อสินค้าในดูไบโดยตรงจากบัญชีที่รัสเซียแบบไม่เกรงกลัวใดๆ

 

อสังหาฯ บูมสุดขีดจาก VIP รัสเซีย

เอเย่นต์ขายอสังหาฯ ในดูไบรายงานว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาฯ ถือว่าเป็นขาขึ้นสุดๆ หลังจากนักลงทุนชาวรัสเซียแห่เข้ามาลงทุน บางคนซื้อสิทธิ์ขาด และบางคนเซ็นสัญญาเช่าระยะยาวพร้อมวางเงินล่วงหน้า 1 ปี

แม้แต่ “โรมัน อบราโมวิช” หนึ่งในคนวงในของปูตินที่ดังที่สุด เพราะเป็นอดีตเจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี มีข่าวลือเช่นกันว่าเขากำลังมองหาอสังหาฯ ระดับลักชัวรีที่ดูไบ จากการที่เครื่องบินเจ็ตของเขาบินเข้าออกบ่อยครั้ง และมีเรือยอชต์ที่สามารถสืบสาวไปถึงตัวเขาได้มาจอดพักอยู่ในท่าเรือแล้ว

Roman Abramovich
โรมัน อบราโมวิช (Photo by Clive Mason/Getty Images)

วิธีการลงทุนของอบราโมวิชถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้เขาเข้าไปสร้างอาณาจักรบ้านหรูที่เซนต์ บาร์ตส์ เกาะอาณานิคมของฝรั่งเศสในเขตทะเลแคริบเบียน และวิธีที่เขาทำให้อะไรๆ สะดวกขึ้นในการลงทุน คือการเข้าไปอุดหนุนเงินให้รัฐท้องถิ่นสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนและที่จอดรถ

เอเย่นต์อสังหาฯ บางรายในดูไบเชื่อว่าโอลิการ์ครัสเซียน่าจะทำแบบเดียวกันที่ UAE เพื่อปฏิบัติตัวเป็น ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ กับรัฐบาลท้องถิ่น

 

UAE เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนรวย

แม้ว่าโอลิการ์คส่วนใหญ่จะใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวบินเข้าออก แต่เที่ยวบินพาณิชย์ปกติระหว่างดูไบกับมอสโควก็ไม่เคยหยุดบินเช่นกัน

ในหมู่นายธนาคาร โบรกเกอร์ และเศรษฐีทั่วโลก เป็นที่รู้กันดีว่า UAE มีสภาพแวดล้อมทางการลงทุนที่เปิดกว้าง เพราะถามคำถามน้อยมากเมื่อจะขนเงินเข้ามา

การได้สิทธิพำนักอาศัยและบัญชีธนาคารก็ง่ายเช่นกัน เพราะสามารถได้มาภายในเวลาแค่ 30 วันหลังจดทะเบียนบริษัท หากอยากได้สิทธิพำนักถาวร ก็แค่ซื้อสิทธิในราคาประมาณ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 50.5 ล้านบาท) ราคาเท่าๆ กับการซื้อวิลล่าสักหลังหนึ่งของเศรษฐีเหล่านี้

แม้แต่บริษัทที่ทำงานกับการบริหารทรัพย์สินให้ชาวรัสเซียยังย้ายตามกันมา เพราะการทำวีซ่าให้พนักงานที่สะดวก ตัวอย่างเช่น Goldman Sachs ธนาคารอเมริกันที่ประกาศปิดการดำเนินการในรัสเซีย แต่เดิมบริษัทมีพนักงานราว 80 คนในมอสโคว แต่หลังประกาศปิด พนักงานราวครึ่งหนึ่งถูกย้ายมาทำงานที่ดูไบแทน

เช่นเดียวกับ JP Morgan ที่กำลังย้ายพนักงานในมอสโควราว 160 คนมาดูไบ และแผนกบริหารทรัพย์สินของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอย่าง Rothschild แม้ว่าบริษัทจะหยุดรับลูกค้ารัสเซียรายใหม่แล้ว แต่มีข่าวว่าบริษัทมีการย้ายพนักงานในรัสเซียบางส่วนมาที่ UAE

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ UAE ต้อนรับรัสเซีย เกิดจากสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงหลังที่ดูเหมือนจะเกิดความบาดหมางระหว่าง UAE กับรัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งทำให้ UAE เอนเอียงไปมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียแทน และการต้อนรับโอลิการ์ครัสเซียครั้งนี้อาจจะเป็นสัญญาณให้สหรัฐฯ ทราบว่าดูไบไม่พึงพอใจ และพร้อมจะไปตามเส้นทางของตนเอง

ไม่ว่าเหตุผลจะเกิดจากอะไร แต่ขณะนี้ถนนใจกลางเมืองของดูไบเริ่มเห็นรถสปอร์ตกลับมาวิ่งกันอีกครั้ง หลายคันเป็นของทายาทเศรษฐีรัสเซีย และบรรดาครอบครัวเศรษฐีต่างเดินช้อปปิ้ง ถ่ายรูปคู่กับตึกเบิร์จ คาลิฟะ อย่างมีความสุข

Source

]]>
1381479
EU อนุมัติคว่ำบาตร ‘รัสเซีย’ รอบใหม่ มุ่งไปยังกลุ่มพลังงาน-เหล็ก-สินค้าฟุ่มเฟือย https://positioningmag.com/1377679 Tue, 15 Mar 2022 12:34:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377679 EU อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่โดยมุ่งเป้าไปยังภาคพลังงาน เหล็ก สินค้าฟุ่มเฟือยเเละกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทหาร

สหภาพยุโรป (EU) ได้อนุมัติอย่างเป็นทางการให้มีการคว่ำบาตรครั้งใหม่ (รอบที่ 4) ต่อรัสเซียหลังรุกรานยูเครน ซึ่งรวมถึงการห้ามการลงทุนในภาคพลังงานของรัสเซีย การส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากรัสเซีย

เเหล่งข่าวเผยกับ Reuters ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจน้ำมันของรัสเซียอย่าง Rosneft, Transneft และ Gazprom Neft อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจะยังคงสามารถซื้อน้ำมันและก๊าซจากพวกเขาได้ 

พร้อมจะมีการห้ามการทำธุรกรรมกับรัฐวิสาหกิจของรัสเซียบางแห่ง ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมการทหารของรัฐบาลเครมลิน

ทั้งนี้ การสั่งห้ามนำเข้าเหล็กจากรัสเซีย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มูลค่า 3.3 พันล้านยูโร (ราว 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

บริษัทเอกชนในสหภาพยุโรป จะไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยใดๆ ที่มีมูลค่ามากกว่า 300 ยูโรซึ่งรวมถึงเครื่องประดับไปยังรัสเซีย โดยแหล่งข่าวในสหภาพยุโรป กล่าวว่า จะมีการห้ามส่งออกรถยนต์ที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ยูโรด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหภาพยุโรปออกการจัดอันดับให้กับบริษัทสัญชาติรัสเซีย

พร้อมกันนั้น คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า มาตรการจำกัดการเข้าถึงตลาดการเงินในยุโรป เเละการกีดกันออกจากระบบธนาคาร SWIFT จะยังคงดำเนินต่อไป

โดยสหภาพยุโรป จะถอดรัสเซียออกจากสถานะการค้า “most-favoured nation” เพื่อลงโทษทางภาษีสำหรับสินค้ารัสเซียหรือการห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของเหล่ามหาเศรษฐี นักธุรกิจที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ซึ่ง โรมัน อับราโมวิชผู้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีของอังกฤษ ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรนี้ด้วย

ที่มา : Reuters 

]]>
1377679
เเบรนด์ดังเเห่หยุดทำธุรกิจในรัสเซีย ‘Nike – IKEA’ ปิดสาขาชั่วคราว หลังซัพพลายเชนชะงัก https://positioningmag.com/1376400 Fri, 04 Mar 2022 09:15:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376400 Nike เเบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่เเละ IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง ประกาศปิดสาขาในรัสเซียชั่วคราว หลังเกิดข้อจำกัดทางการค้า และปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงัก ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติต่อรัสเซียที่เข้ารุกรานยูเครน

มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่ตอบโต้การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะการตัดธนาคารกลางรัสเซียจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ที่ทำให้ภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมข้ามประเทศได้แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงการควบคุมการส่งออกและการปิดพื้นที่ทางอากาศ

ทำให้บริษัทระดับโลกหลายสิบเเบรนด์ ต้องหยุดดำเนินการในรัสเซีย อย่างผู้ผลิตวอดก้ารายใหญ่ Diageo เเละผู้ผลิตรถยนต์ Toyota เเละก่อนหน้านี้เเบรนด์ใหญ่อย่าง Apple, Google , Ford และ Shell ก็ได้ร่วมประณามการโจมตีของรัสเซียด้วย

IKEA ระบุว่า บริษัทจะปิดร้านค้าในรัสเซียและชาติพันธมิตรอย่างเบลารุส ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่อพนักงานกว่า 15,000 ราย เเต่ IKEA ชี้เเจงว่าการปิดร้านค้าครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางการเมือง

“สงครามได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อมนุษยชาติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงัก รวมถึงข้อจำกัดทางการค้าอื่นๆ ทำให้เราต้องตัดสินใจระงับการทำธุรกิจในรัสเซียชั่วคราว”

ด้าน Nike กล่าวว่า เเบรนด์กำลังประสบปัญหาอย่างมากจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เเละอธิบายถึงการปิดร้านค้าชั่วคราวครั้งนี้ว่า “ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจของเรา Nike จะหยุดดำเนินการในรัสเซีย”

Mango เเบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นจากสเปน ได้ปิดร้านค้าและเว็บไซต์ขายออนไลน์ในรัสเซียชั่วคราวเเล้ว พร้อมด้วย Intel และ Cisco ที่ระงับการขายในรัสเซีย ขณะที่ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ก็กำลังยุติธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งมีพนักงานเกือบ 2,300 คน

ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย ต้องตอบโต้ด้วยคำสั่งให้ภาคเอกชนในรัสเซีย ขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน 80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ เเละสั่งห้ามโบรกเกอร์ที่ขายหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ทำธุรกรรมทุกประเภทอย่างไม่มีกำหนด พร้อมประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวสู่ระดับ 20% จากเดิม 9.5% เป็นกรณีฉุกเฉิน

 

ที่มา : Reuters , Straitstimes 

]]>
1376400
Fitch เเละ Moody’s หั่นเครดิต ‘รัสเซีย’ สู่อันดับ ‘ขยะ’ ความน่าเชื่อถือติดลบ ไม่น่าลงทุน https://positioningmag.com/1376261 Thu, 03 Mar 2022 10:05:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376261 ตลาดการเงินของรัสเซียทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน ชาติตะวันตกตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร สถาบันการจัดอันดับ ปรับลดความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัสเซียเป็นอันดับขยะไม่น่าลงทุน ความน่าเชื่อถือติดลบ

Fitch Rating ปรับลดอันดับเครดิตของรัสเซียจากเดิมที่ระดับ BBB สู่ระดับ B และปรับลดอันดับความน่าลงทุนเป็นระดับติดลบ (Negative) เช่นเดียวกับ Moody’s ได้ปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของรัสเซียจากระดับ Baa3 มาอยู่ที่ B3 พร้อมประเมินว่าอาจมีการปรับลดอีกในอนาคต เเละปรับลดอันดับความน่าลงทุนสู่ระดับขยะ’ (Junk) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้

ความรุนแรงของการคว่ำบาตรจากนานาประเทศที่ตอบโต้การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินระดับมหภาค แสดงถึงความกังวลครั้งใหญ่ต่อปัจจัยพื้นฐานด้านสินเชื่อของรัสเซีย และอาจบ่อนทำลายความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล” Fitch ระบุ

โดยการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ห้ามการทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารกลางของรัสเซียนั้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อปัจจัยพื้นฐานด้านสินเชื่อของรัสเซียมากกว่าการคว่ำบาตรครั้งก่อนๆ เพราะทำให้เงินทุนสำรองของธนาคารกลางรัสเซียที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ไม่สามารถนำมาใช้แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนได้ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

นักวิเคราะห์จาก JPMorgan และที่อื่นๆ ต่างมองว่า มาตรการคว่ำบาตรที่บังคับใช้กับรัสเซีย จะเพิ่มโอกาสที่รัสเซียจะผิดนัดชำระหนี้ดอลลาร์และหนี้รัฐบาลในตลาดต่างประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ทำให้ก็ศักยภาพการเติบโตของ GDP ของรัสเซียอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด มีความเสี่ยงภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และยังมีโอกาสที่จะถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติมหากสถานการณ์รุนเเรงมากขึ้น

ด้านธนาคารกลางรัสเซีย ตอบโต้ด้วยคำสั่งให้ภาคเอกชนในรัสเซีย ขายสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองอยู่ในอัตราส่วน 80% ของรายได้ที่ได้จากการซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ เเละสั่งห้ามโบรกเกอร์ที่ขายหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศทำธุรกรรมทุกประเภทอย่างไม่มีกำหนด พร้อมประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเดียวสู่ระดับ 20% จากเดิม 9.5% เป็นกรณีฉุกเฉิน 

ทั้งนี้ FTSE Russell เเละ MSCI ประกาศถอดหุ้นรัสเซียออกจากออกจากการคำนวณดัชนีเเล้ว

 

ที่มา : Reuters , Bloomberg

]]>
1376261
บริษัท ‘ยานยนต์’ ทั่วโลกแห่ ‘คว่ำบาตรรัสเซีย’ สั่งเบรกส่งออก-หยุดสายการผลิต https://positioningmag.com/1376249 Thu, 03 Mar 2022 08:20:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376249 ดูเหมือนมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น เริ่มจากที่ชาติตะวันตกได้ปิดธนาคารรัสเซียบางแห่งจากเครือข่ายการเงินทั่วโลกของ SWIFT ทำให้บริษัทระดับโลกหลายสิบแห่งหยุดการส่งออกและหยุดการดำเนินงานในประเทศชั่วคราว ทุบค่าเงินรูเบิล และบังคับให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกก็เริ่มระงับการผลิตและส่งออกไปยังรัสเซียแล้ว

ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น เริ่มจาก โตโยต้า (Toyota) ได้ระงับสายการผลิตในรัสเซีย ส่วนหนึ่งมาจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกภายหลังการรุกรานยูเครน ทำให้กระทบต่อการขนส่งและตัดซัพพลายเชน โดยโตโยต้าระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทยังได้ระงับการส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซียอย่าง ไม่มีกำหนด เช่นเดียวกันกับ ฮอนด้า (Honda) และ มาสด้า (Mazda)

โตโยต้า ถือเป็นแบรนด์ชั้นนำของญี่ปุ่นในรัสเซีย โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 80,000 คันที่โรงงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมีพนักงานรวมกว่า 2,000 คน

ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์จากฝั่งยุโรป ก็มี Volvo ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์แรกที่ออกมาประกาศระงับการส่งออกไปยังรัสเซีย ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตามมาด้วย General Motors (GM), Mercedes-Benz, Ford และ BMW ก็หยุดการผลิตและส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซีย

สำหรับ Mercedes-Benz ไม่ใช่แค่ระงับการผลิตและส่งออก แต่ยังเตรียมขายหุ้น 15% ของบริษัท Kamaz ผู้ผลิตรถบรรทุกสัญชาติรัสเซียให้เร็วที่สุดอีกด้วย

แทบทุกอุตสาหกรรมร่วมคว่ำบาตร

เรียกได้ว่าตอนนี้แทบทุกอุตสาหกรรมกำลังคว่ำบาตรรัสเซีย อย่างฝั่งของโลจิสติกส์ก็มี MSC สายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Maersk ระงับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปและกลับจากประเทศรัสเซีย โดย Maersk ระบุว่า “การขนส่งอาหารและเวชภัณฑ์ไปยังรัสเซียมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือเน่าเสียเนื่องจากความล่าช้าที่สำคัญที่ท่าเรือและศุลกากร”

ส่วน Amazon.com ก็ได้เปิดเผยว่าบริษัทกำลังใช้ความสามารถด้านโลจิสติกส์เพื่อจัดหาสิ่งของให้กับผู้ที่ต้องการและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนยูเครน นอกจากนี้ Japan Airline และ ANA Holdings ซึ่งปกติใช้น่านฟ้ารัสเซียสำหรับเที่ยวบินยุโรปก็ได้ออกมายกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดไปและกลับจากยุโรป

ในส่วนของธุรกิจพลังงาน ก็มีบริษัทพลังงานสหรัฐฯ Exxon Mobil บริษัทพลังงานของอังกฤษ BP และ Shell ต่างก็ถอนการลงทุนในรัสเซีย

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ อาทิ Spotify ก็ได้ปิดสำนักงานในรัสเซียอย่างไม่มีกำหนด ส่วน Netflix ได้เบรกออริจินอลคอนเทนต์ 4 เรื่องที่ถ่ายทำในรัสเซีย ส่วนบริษัทด้านความบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Warner Bros. ได้ประกาศระงับการฉายภาพยนตร์ทุกเรื่องในรัสเซีย

บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อาทิ H&M บริษัทสินค้าแฟชั่นสัญชาติสวีเดน ได้หยุดการขายในรัสเซียชั่วคราว ส่วน Apple ก็หยุดการขาย iPhone และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในรัสเซียด้วย

Reuter / Japantoday / variety

]]>
1376249
ส่อง 21 บริษัทข้ามชาติใน ‘รัสเซีย’ ที่อาจ ‘ขาดทุน’ หนักจากวิกฤตสงคราม https://positioningmag.com/1375726 Mon, 28 Feb 2022 11:06:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375726 รัสเซีย กำลังถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดหุ้นและสกุลเงินของประเทศได้พังทลายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และแน่นอนว่า บริษัทระหว่างประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจในรัสเซีย ต้องติดร่างแห่ไปด้วย ดังนั้น ไปดูกันว่ามีบริษัทไหนบ้างที่มีสถานะสำคัญในตลาดรัสเซีย

1. CoCa-Cola

CoCa-Cola จดทะเบียนในลอนดอนเพื่อจำหน่ายสินค้าใน รัสเซีย ยูเครน และส่วนใหญ่ของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่ง รัสเซียเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุด ของบริษัทและมีพนักงานราว 7,000 คนในรัสเซีย

2. BASF

ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์สัญชาติเยอรมัน BASF (BASFY) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีบริษัท Wintershall Dea เป็นเจ้าของร่วมกับกลุ่มนักลงทุน LetterOne ของ Mikhail Fridman เศรษฐีชาวรัสเซีย และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนทางการเงินของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่ถูกระงับ

3. BP

บริษัทน้ำมันของอังกฤษ BP เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย โดยถือหุ้น 19.75% ใน Rosneft บริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศ นอกจากนี้ยังถือหุ้นในโครงการน้ำมันและก๊าซอื่น ๆ อีกหลายโครงการในรัสเซีย

4. Danone

Danone ผู้ผลิตโยเกิร์ตสัญชาติฝรั่งเศส และเป็นผู้ควบคุมแบรนด์ผลิตภัณฑ์นม Prostokvanhino ของรัสเซีย ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 6% จากประเทศรัสเซีย

5. Engie

บริษัทสาธารณูปโภคด้านก๊าซของฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผู้ร่วมลงทุนของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของ Gazprom

6. Metro

บริษัทค้าปลีกสัญชาติเยอรมัน ซึ่งมีพนักงานประมาณ 10,000 คนในรัสเซีย ปัจจุบันให้บริการลูกค้าประมาณ 2.5 ล้านคน

7. Nestle

เนสท์เล่ บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคของสวิส ปัจจุบันมี โรงงาน 6 แห่งในรัสเซีย ซึ่งรวมถึงโรงงานที่ทำขนมและเครื่องดื่ม ตามเว็บไซต์ของบริษัท ในปี 2020 ที่ผ่านมา เนสท์เล่มียอดขายจากรัสเซียประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์

8. Renault

เรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสถือหุ้น 69% ในบริษัทร่วมทุน Avtovaz ของรัสเซีย ซึ่งอยู่เบื้องหลังแบรนด์รถยนต์ Lada และจำหน่ายรถยนต์ได้มากกว่า 90% ในประเทศ

9. Rolls-Royce

โรลส์-รอยซ์ ถือเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้กับเครื่องบิน แม้จะระบุว่าตลาดรัสเซียมีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 2% จากรายได้รวมทั้งหมด แต่ 20% ของการนำเข้าไททาเนียมซึ่งใช้ทำชิ้นส่วนเครื่องยนต์และล้อลงจอดสำหรับเครื่องบินโดยสารระยะไกลมาจากประเทศรัสเซีย

10. Shell

บริษัทน้ำมันของเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของ 27.5% ของโครงการก๊าซธรรมชาติ Sakhali-2 ซึ่งมีกำลังการผลิต 10.9 ล้านตันต่อปีและดำเนินการโดย Gazprom นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 5 ผู้ร่วมทุนของ Nord Stream 2

11. Safran

บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นของฝรั่งเศส ซึ่ง มีรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์ไทเทเนียมรายเดียวที่ใหญ่ที่สุด ของบริษัท แม้ว่าบริษัทในฝรั่งเศสจะระบุว่า รัสเซียนั้นจัดหาซัพพลายให้น้อยกว่าครึ่งของความต้องการทั้งหมด

12. TotalEnergies

บริษัทน้ำมันของฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย โดยถือหุ้น 19.4% ใน Novatek ของรัสเซีย ดอกเบี้ย 20% ในการร่วมทุน Yamal LNG, 21.6% ของ Arctic LNG 2 ถือหุ้น 20% ในแหล่งน้ำมัน Kharyaga และการถือครองต่าง ๆ ในภาคธุรกิจหมุนเวียน การกลั่น และเคมีภัณฑ์ของประเทศ

13. Uniper

โครงการสาธารณูปโภคของเยอรมันได้รับเงินลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์จาก Nord Stream 2 พร้อมด้วยโรงไฟฟ้า 5 แห่งในรัสเซียซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 11.2 กิกะวัตต์ ซึ่งให้พลังงานประมาณ 5% ของความต้องการพลังงานทั้งหมดของรัสเซีย นอกจากนี้ยัง นำเข้าก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป

St. Petersburg, Russia – Shell Oil Truck

14. McDonald’s

แมคโดนัลด์ เครือร้านเบอร์เกอร์ได้จัดให้ประเทศรัสเซียเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงและยังคงเปิดสาขาที่นั่นตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา

15. Mondelez

มอนเดลีซ ผู้ผลิตขนม โอริโอ้ และเจ้าของ Cadbury กลายเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตชั้นนำในรัสเซียตั้งแต่ปี 2018

16. ExxonMobil

เอ็กซอนโมบิล ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของอเมริกามีพนักงานมากกว่า 1,000 คนในรัสเซีย และอยู่ในประเทศนี้มากว่า 25 ปี บริษัทในเครือ Exxon Neftegas Limited (ENL) ถือหุ้น 30% ใน Sakhalin-1 ซึ่งเป็นโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเกาะ Sakhalin ใน Russian Far East ซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2538

17. Toyota

โตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกมีโรงงานในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย โดยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ Camry และ Rav4 นอกจากนี้ยังมีสำนักงานขายในกรุงมอสโก มีพนักงานประมาณ 2,600 คน รวมทั้งชาวญี่ปุ่น 26 คนในสำนักงานเหล่านั้น

18. Mitsubishi

มิตซูบิชิ บริษัทจัดจำหน่ายรถยนต์ผ่านตัวแทนจำหน่าย 141 แห่งในรัสเซีย และถือหุ้นในโครงการพัฒนาก๊าซและน้ำมัน Sakhalin 2 ซึ่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้ญี่ปุ่นและซื้อขายถ่านหิน อะลูมิเนียม นิกเกิล ถ่านหิน เมทานอล พลาสติก และวัสดุอื่น ๆ นอกจากนี้ยังจัดหาอุปกรณ์โรงไฟฟ้าและเครื่องจักรอื่น ๆ ให้กับรัสเซียอีกด้วย

19. Japan Tobacco

JTI ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบระหว่างประเทศชั้นนำของญี่ปุ่นเจ้าของบุหรี่ Winston มีพนักงานประมาณ 4,000 คนในโรงงานที่รัสเซีย โดยในปี 2020 บริษัทได้ชำระภาษีคิดเป็น 1.4% ของงบประมาณของรัฐสหพันธรัฐรัสเซีย โดยปริมาณกำไรประมาณ 1 ใน 5 ของบริษัทมาจากเครือจักรภพแห่งรัฐอิสระรวมถึงรัสเซียและเบลารุส

20. Marubeni

เทรดดิ้งเฮาส์สัญชาติญี่ปุ่นมีสำนักงาน 4 แห่งในรัสเซีย ซึ่งขายยางล้อสำหรับอุปกรณ์ขุดและบริหารจัดการศูนย์ตรวจสุขภาพ

21. SBI Holdings

SBI Bank ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว โดยให้บริการสินเชื่อแก่บริษัทญี่ปุ่นที่กำลังขยายการดำเนินงานในรัสเซีย

Source

]]>
1375726
‘หัวเว่ย’ รับ จะกลับขึ้นเบอร์ 1 ธุรกิจ ‘สมาร์ทโฟน’ เป็นเรื่องยาก หลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร https://positioningmag.com/1326090 Thu, 01 Apr 2021 08:40:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1326090 เพียง 8 เดือนเท่านั้นที่ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ต้องร่วงจากตำแหน่ง ‘เบอร์ 1’ ที่ขับเคี่ยวมากับ ‘ซัมซุง’ แถมตอนนี้ไม่ได้อยู่ใน 3 อันดับแรกด้วยซ้ำ ซึ่ง Ken Hu ประธานของหัวเว่ยก็ยอมรับว่าธุรกิจสมาร์ทโฟนของบริษัทกำลังเผชิญปัญหาใหญ่และคงจะกลับไปยืนอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่ได้ง่าย ๆ เพราะตามข้อมูลจาก Gartner และ Counterpoint ระบุว่าหัวเว่ยไม่ได้เป็นผู้นำตลาดในประเทศจีนอีกต่อไป ดังนั้นตลาดโลกก็ยิ่งยาก

เคน หู (Ken Hu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้ยอมรับว่าธุรกิจ ‘สมาร์ทโฟน’ ของตนกำลังประสบปัญหาเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เป็นปัญหาต่อการเติบโต เนื่องจากทำให้บริษัทไม่สามารถจัดหาชิ้นส่วนเพื่อมาผลิตสมาร์ทโฟนได้ และสั่งห้ามไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิล (Google) ในโทรศัพท์มือถือ

สรุปทุกปัญหาที่รุมเร้าจน ‘หัวเว่ย’ ย้ำเป้าหมายจากนี้ ‘ต้องเอาชีวิตรอด’

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคู่แข่งร่วมประเทศอย่าง Oppo และ Xiaomi ได้แซงหน้าหัวเว่ยทั้งในประเทศจีนและในตลาดโลก อีกทั้ง หัวเว่ยเพิ่งขายแบรนด์ลูกอย่าง ‘Honor’ ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดซึ่งสร้างยอดขายให้หัวเว่ยมากถึง 40% โดยผู้บริหาร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสมาร์ทโฟนทำให้ยากมากที่จะคาดการณ์การอนาคตของธุรกิจสมาร์ทโฟน

“เนื่องจากการคว่ำบาตรที่ไม่เป็นธรรมของเราในสหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเรามีรายได้ลดลง” Ken Hu ประธานของ Huawei กล่าว

เคน หู (Ken Hu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย

ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยมีรายได้ 891,400 ล้านหยวน (4.25 ล้านล้านบาท) เติบโต 3.8% ขณะที่กำไรเติบโต 3.2% เป็น 64,600 ล้านหยวน (3.08 แสนล้านบาท) ถึงแม้ว่ารายได้และกำไรจะเติบโต แต่ถ้าเทียบกับการเติบโตในอดีตที่อยู่ประมาณ 30% ต่อปี ก็ถือว่าลดลงอย่างมาก โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาแม้การเติบโตจะลดลงแต่ก็สามารถเติบโตได้ 19%

หัวเว่ยเปิดเผยว่า แผนกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค (คอนซูเมอร์) อาทิ สมาร์ทโฟน, โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์อื่นนั้นคิดเป็นกว่า 50% ของรายได้รวมบริษัท โดยมีรายได้ 482,900 ล้านหยวน เติบโต 3.3% อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยปฏิเสธว่ารายได้ของสมาร์ทโฟนลดลงเท่าใด เพียงเเต่ระบุว่ารายได้จาก สมาร์ทดีไวซ์ อาทิ สมาร์ทวอตช์ แล็ปท็อป และอุปกรณ์อื่น ๆ มาชดเชยแทน ซึ่งการเติบโตของสินค้ากลุ่มนี้สูงถึง 65%

ในส่วนของรายได้จากฝั่งลูกค้าองค์กรเติบโตขึ้น 23% โดยมีรายได้ราว 100,300 ล้านหยวน ส่วนธุรกิจผู้ให้บริการด้านโครงข่ายโทรคมนาคม รวมถึงอุปกรณ์เครือข่าย 5G บริษัทมีรายได้ 302,600 ล้านหยวน เติบโตเพียง 0.2% ในปีที่แล้ว เนื่องจากหลายประเทศแบนการใช้งานอุปกรณ์ของหัวเว่ยตามสหรัฐฯ แต่ที่เติบโตได้เป็นเพราะแรงหนุนจากตลาดในประเทศจีน

ทั้งนี้ รายได้จากฝั่งยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของหัวเว่ยลดลง 12.2% เหลือ 180,800 ล้านหยวน ส่วนในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน) ลดลง 8.7% เหลือ 64,400 ล้านหยวน ส่วนในอเมริกาลดลง 24.5% เหลือ 39,600 ล้านหยวน

“เรายอมรับที่จะบอกว่าในปีที่ผ่านมา การเติบโตของเราชะลอตัวลงมาก และยอมรับว่ามันเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับเรา”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าหากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังไม่ถูกยกเลิก การที่หัวเว่ยจะ ‘คืนชีพ’ ให้ตลาดสมาร์ทโฟนก็เป็นเรื่องยาก ขณะที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของหัวเว่ยหรือไม่

Source

]]>
1326090
อังกฤษคว่ำบาตร “พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย” พ่วง 5 นายพลเอี่ยวรัฐประหาร ห้ามเข้าประเทศ https://positioningmag.com/1321166 Fri, 26 Feb 2021 14:34:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1321166 อังกฤษกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับสมาชิกของรัฐบาลทหารพม่าเพิ่มอีก 6 นาย รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

รัฐบาลอังกฤษระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากบทบาทของพวกเขาในการกำกับควบคุมการละเมิดสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่พวกเขาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้ทั้ง 6 คน ไม่สามารถเดินทางไปอังกฤษได้ และห้ามธุรกิจและสถาบันต่างๆ ของอังกฤษทำการค้าข้อตกลงกับคนเหล่านี้ ส่วนความช่วยเหลือของอังกฤษที่อาจถูกนำไปใช้สนับสนุนรัฐบาลทหารทางอ้อมก็ถูกระงับลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ อังกฤษได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกันนี้มาแล้วกับเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นๆ 19 นาย

โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนถึงรัฐบาลทหารในพม่า ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนการควบคุมให้แก่รัฐบาลพลเรือน

มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้ หมายความว่าสมาชิกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ทุกคนถูกคว่ำบาตร

กระทรวงการต่างประเทศ และการพัฒนาของอังกฤษระบุว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้ควบคุม และสั่งการการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังมีการชุมนุมประท้วงจากผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

ส่วนนายพลอีก 5 นาย ที่ถูกคว่ำบาตรพร้อม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกอบด้วย พล.ท.อ่อง ลิน ดวย เลขานุการ SAC, พล.ท.แย วิน อู เลขานุการร่วม, พล.อ.ติน อ่อง ซาน, พล.อ.หม่อง หม่อง จ่อ, พล.ท.โม มี้น ตุน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน

ปัจจุบันอังกฤษเป็นประธานหมุนเวียนการประชุม G7 ได้เข้าร่วมกับประเทศต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์นายพลพม่า และเรียกร้องการปล่อยตัวผู้นำพลเรือน ที่รวมถึงอองซานซูจี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

Source

]]>
1321166