‘พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินว่าหลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอุปสงค์การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก
แนวโน้มนี้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งในปี 2567 มีรายได้รวม 26,041 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 20,638 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิ 3,798 ล้านบาท ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2567 เป็นจำนวน 5,454 ล้านบาท อัตราการทำกำไร (EBITDA Margin) อยู่ที่ 28% และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในปี 2567 ที่ 2.53 เท่า
สำหรับเป้าหมายดำเนินงานในปี 2568 ตั้งเป้ารายได้โต 8-9% และคาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,077 เที่ยวบิน, อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82%, ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคน และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 4,200 บาทต่อที่นั่ง
การสร้างการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมาย หนึ่งในนั้น คือ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการต่อยอดการขายเส้นทาง ‘สมุย’ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมาแรงขึ้นจากกระแสซีรีส์ White Lotus Season 3 โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม – กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14%
การขยายดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือกับเชนโรงแรมใหญ่ อาทิ โฟร์ ซีซั่น, อนันตรา ฯลฯ ทำแคมเปญจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ โฟกัสนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย
การเน้นตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน ขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้น เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่นเพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air
การขยายเส้นทางการบิน โดยวางแผนกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์
จากปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง แบ่งเป็น ‘ภายในประเทศ’ 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และ ‘ต่างประเทศ’ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง
เดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก
การบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำ และมีแผนจะปรับฝูงบิน (Re-fleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ มีกำหนดทยอยส่งมอบระหว่างปี 2569 – 2571
การลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ล่าสุดได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจและ ‘บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)’ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เบื้องต้นคาดการณ์เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท และจะเห็นความชัดเจนประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้
การพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน โดยมีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุยที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ ส่วนสนามบินตราดมีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัส 320 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ
]]>‘พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้อัปเดตภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกในปี 2567 ว่า มีแนวโน้มเติบโตขึ้น และจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 19.7% และการเดินทางระหว่างประเทศจากยุโรปสู่ทวีปเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงสุด 23.1%
ปัจจัยเหล่านี้ เป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจการบินของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยผลดำเนินงานของบางกอกแอร์เวย์สช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 เป็นไปในทิศทางที่ดี มีจำนวนผู้โดยสาร 3.31 ล้านคนเพิ่มขึ้น 10 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเป็นสัดส่วน 75 % ของช่วงก่อนโควิด
ส่วนอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 82 % ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 จุด สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 68% และมีรายได้ผู้โดยสาร 14,006 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26% หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% ของช่วงก่อนโควิด-19
จากผลดำเนินการช่วง 9 เดือนของปีนี้ บวกกับสถานการณ์ของธุรกิจการบินที่มีแนวโน้มดี ทำให้มั่นใจว่า บางกอกแอร์เวย์สจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อช่วงต้นปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน รายได้จากการขายตั๋ว 17,800 ล้านบาท มีราคาขายตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท
ขณะที่ปัญหา ‘ราคาตั๋วแพง’ ในช่วงเทศกาลหรือไฮซีซั่น ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทางพุฒิพงศ์ บอกว่า ราคาตั๋วเป็นเรื่องที่ต้องบาลานช์ระหว่างความเหมาะสมกับความอยู่รอด เพราะถ้าตั้งราคาแพงไป ตั๋วจะขายไม่ได้ สายการบินก็อยู่ไม่ได้
ในทางกลับกัน หากราคาถูกไปก็จะกระทบต่อความอยู่รอดของสายการบิน เนื่องจากตอนนี้มีต้นทุนการดำเนินการหลายอย่างขึ้นไปแล้ว ทั้งอุปกรณ์ ค่าซ่อมบำรุง และค่าอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง ทางบางกอกแอร์เวย์ส จะร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมที่ได้ขอความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ ให้เพิ่มเที่ยวบินและดูแลเรื่องราคาตั๋วแพง โดยจะลดราคาตั๋วลง 30% เริ่มให้จองตั้งแต่วันที่ 5-7 ธันวาคม 2567 และสามารถเดินทางได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึง 5 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องดังกล่าว
สำหรับปี 2568 ยังมองแนวโน้มทิศทางการท่องเที่ยวเป็นบวก จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าที่สะท้อนภาพรวมการท่องเที่ยวช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 นี้ ต่อเนื่องจนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ที่มีอัตราการจองเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการจองในเส้นทางสมุยเติบโตสูงสุดอยู่ที่ 25%
ในปีหน้าบางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้าการเติบโตของรายได้และจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10-12 % โดยจะมีการเช่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 320 และเอ 319 อีก 2 ลำ เพื่อขยายความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มขึ้นคาดว่าจะเริ่มนำเข้ามาในช่วงกลางปี 2568
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์มีเส้นทางการบิน 25 เส้นทาง แบ่งเป็นในประเทศ 17 เส้นทาง และต่างประเทศ 8 เส้นทาง ครอบคลุมจุดหมายปลายทางทั้งหมด 19 จุด แบ่งเป็นใน 11 จุด อีก 8 จุด เป็นต่างประเทศ ซึ่งมีแผนการเปิดเส้น ทางอื่นๆ ในอนาคต โดยได้มีการอยู่ศึกษาเส้นทางที่ศักยภาพและทยอยกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางที่เคยบินในช่วงก่อนโควิด -19
อย่างในปีนี้ได้มีการเปิดเส้นทางที่กลับมาบินใหม่ ได้แก่ เส้นทางเชียงใหม่และกระบี่ ที่เริ่มกลับมาบินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ส่วนเส้นทางที่จะกลับมาบินใหม่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2568 คือ เส้นทาง ‘สมุย-กัวลาลัมเปอร์’
ขณะที่อุตสาหกรรมการบินอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์การเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 17.2% ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และจากทิศทางดังกล่าว ในปี 2568 จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยคาดว่ามีการเติบโตสอดคล้องเป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในระดับภูมิภาค
]]>“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ทำรายได้รวม 21,732 ล้านบาท EBITDA ของบริษัทฯ เท่ากับ 4,782 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA Margin เท่ากับ 23% และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,108 ล้านบาท
ทั้งนี้ เฉพาะรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) อยู่ที่ 14,913 ล้านบาท เติบโต 76.5% จากปีก่อนหน้า สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปี 2566
รายละเอียดธุรกิจการบินของบางกอกแอร์เวย์สเมื่อปี 2566 มีผู้โดยสารสายการบิน 3.97 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 44,774 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) แตะ 79% และ Passenger Yield แตะ 6.00 บาท
ตัวเลขเหล่านี้เทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ยังต่ำกว่าในแง่ของจำนวนผู้โดยสารที่เคยทำได้ 5.86 ล้านคน และในแง่จำนวนเที่ยวบินที่เคยมี 70,810 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ปรับสูงกว่าคือ %Load Factor ที่เมื่อปี 2562 เคยมีเพียง 68% รวมถึง Passenger Yield เคยอยู่ที่ 4.30 บาท
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 2567 ตั้งเป้าการดำเนินงาน ดังนี้
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีการให้บริการเที่ยวบินใน 20 จุดหมายปลายทาง แบ่งเป็นในประเทศ 12 จุดหมาย เช่น กรุงเทพฯ เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และต่างประเทศ 8 จุดหมาย เช่น มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ในจำนวนนี้มี 2 เส้นทางบินล่าสุดที่บางกอกแอร์เวย์สเพิ่งกลับมาเปิดเส้นทางอีกครั้ง คือ “สมุย-ฉงชิ่ง” และ “สมุย-เฉิงตู” ทั้งนี้ ปี 2567 ยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางบินใหม่ แต่จะเน้นการเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีดีมานด์สูง
พุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าในไตรมาส 2 ปีนี้ถือว่าสูงกว่าปีก่อน 14% เป็นสัญญาณแนวโน้มที่ดี โดยมีเส้นทางบินที่มีการจองล่วงหน้าสูงขึ้นมาก คือ เส้นทางบินเกาะสมุย เส้นทางไปกลับกัมพูชา และเส้นทางหลวงพระบาง
ในแง่กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้ได้ตามเป้า พุฒิพงศ์กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญคือ “ความร่วมมือกับพันธมิตรสายการบิน” โดยปัจจุบันมีสายการบินโค้ดแชร์อยู่ 28 สายการบิน มีสายการบิน Top 5 ที่สร้างรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์สมากที่สุด คือ การบินไทย, เอมิเรตส์, กาตาร์, อีวีเอ แอร์ และแควนตัส
ในปี 2567 บางกอกแอร์เวย์สมีแผนจะเพิ่มสายการบินพันธมิตรโค้ดแชร์อีก 2 สายการบิน (*ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด) ซึ่งจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารได้
ด้านการเพิ่มจำนวนเครื่องบินในฝูงบิน ณ สิ้นปี 2566 บางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินในฝูงบิน 24 ลำ ขณะที่ปี 2567 บริษัทคืนเครื่อง Airbus A320 ไป 1 ลำ และจะได้รับมอบเครื่องบินรุ่น Airbus A319 มาอีก 2 ลำในช่วงไตรมาส 3-4 นี้ ทำให้จนถึงสิ้นปี 2567 คาดฝูงบินจะมีเครื่องบินรวม 25 ลำ
ส่วนการขยายช่องทางการขาย “อมรรัตน์ คงสวัสดิ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Online Travel Agency (OTA), BSP Agent และสายการบินโค้ดแชร์ต่างๆ แล้ว ปีนี้บริษัทฯ ยังจะเพิ่มสำนักงานขาย GSA Office อีก 2 แห่งใน “ซาอุดิอาระเบีย” และ “ตุรกี” ด้วย หลังพบว่ามีดีมานด์สูงขึ้นในตลาดดังกล่าว
ด้านการตลาดก็ยังคงทำงานร่วมกับแบรนด์ แอมบาสเดอร์ “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจะมีการจัดกิจกรรม Pop-up Lounge ในปีนี้เพื่อโชว์งานบริการของบางกอกแอร์เวย์ส และโชว์เคสผลิตภัณฑ์ที่สายการบินได้ทำร่วมกับชุมชนด้วย
ด้านธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับสนามบินของบางกอกแอร์เวย์สในปี 2566 “อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้
อนวัชยังกล่าวถึงรายได้ต่อหน่วยจากการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue per ASK: RASK) อยู่ที่ 5.41 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 5.14 บาท จึงมีสัดส่วนกำไร เท่ากับ 0.27 บาท โดยฝั่งค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนถือว่าสูงจากปี 2562 ที่เคยอยู่ที่ 3.33 บาทมาก เนื่องจากการปรับขึ้นของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ค่าอะไหล่ซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้นราว 15% รวมถึงต้นทุนด้านอื่นๆ ล้วนปรับขึ้นทั้งหมด
ทิศทางการเติบโตของธุรกิจสายการบินในปี 2567 พุฒิพงศ์เชื่อว่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารบินภายในประเทศ (Domestic) ราว 205 ล้านคน และผู้โดยสารที่บินระหว่างประเทศ (International) ราว 35 ล้านคน โดย 4 อันดับแรกต่างชาติที่จะเข้าไทยมากที่สุดผ่านท่าอากาศยาน คือ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย (*ไม่รวมมาเลเซีย เนื่องจากชาวมาเลย์นิยมเดินทางผ่านชายแดนทางรถยนต์มากกว่า)
]]>ฮ่องกงเริ่มปลดล็อกมาตรการโควิด-19 แล้วเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้นักเดินทางเข้าสู่ประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวในโรงแรม แต่จะยังไม่สามารถเข้าร้านอาหารและบาร์ได้ใน 3 วันแรก
กระนั้นก็ตาม Dane Cheng ผู้อำนวยการบริหารคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกง ประกาศแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมดเกี่ยวกับผู้โดยสารขาเข้า คณะกรรมการฯ จะเริ่มประชาสัมพันธ์แคมเปญตั๋วเครื่องบินฟรีทันที
Cheng กล่าวว่า นโยบายแจกตั๋วเครื่องบินเหล่านี้จุดประสงค์หลักมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือสายการบินในฮ่องกง คาดว่าจะได้เริ่มแจกจริงในปี 2023 และให้ทั้งตั๋วขาเข้าและออกฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม สายการบินหลักยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้เต็มที่เหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด บางสายประกาศหยุดบินเข้าออกฮ่องกงไปแล้ว เช่น Virgin Atlantic สายการบินสัญชาติอังกฤษที่หยุดบินถาวรหลังจากที่ทำการบินเส้นทางลอนดอน-ฮ่องกงมานานถึง 30 ปี
เหตุที่ต้องหยุดบินถาวรเพราะมีปัญหาความซับซ้อนเรื่องน่านฟ้ารัสเซียหลังเกิดสงครามยูเครน สุดท้ายจึงยกเลิกการกลับมาบินใหม่ในเดือนมีนาคม 2023 ที่เคยวางแผนกันไว้ ทั้งนี้ Virgin Atlantic หยุดบินไปฮ่องกงชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021
ก่อนหน้านี้ฮ่องกงใช้กฎการป้องกันโรคระบาดแบบเดียวกับจีน ทำให้ทุกคนที่เข้าสู่ฮ่องกงจะต้องกักตัวในโรงแรม แต่เมื่อฮ่องกงประกาศยกเลิกการกักตัว ทำให้อัตราการจองตั๋วเข้าออกฮ่องกงพุ่งขึ้นทันที
Prudence Lai นักวิเคราะห์อาวุโสที่ Euromonitor International บริษัทวิจัยตลาด คาดว่า การให้ตั๋วเครื่องบินฟรีจะช่วยเร่งสปีดชื่อเสียงของฮ่องกงให้กลับมาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง
“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาได้เมื่อไหร่ เพราะชาวจีนแผ่นดินใหญ่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เข้าออกฮ่องกง รวมถึงยอดใช้จ่ายบนเกาะด้วย” Lai กล่าว
8 เดือนแรกของปีนี้ ฮ่องกงมีคนเดินทางเข้าเพียงแค่ 184,000 คนเท่านั้น เทียบกับเมื่อปี 2019 (ก่อนโรคระบาด) เกาะฮ่องกงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 56 ล้านคนในปีเดียว
]]>สำนักข่าว Reuters รายงานคำเตือนจากหน่วยงาน Safe Airspace ของ “ยูเครน” ประกาศออกมาเมื่อเวลา 01.56 น. (GMT) ในวันที่ 24 ก.พ. 2022 และจะมีผลจนถึงเวลา 23.59 น. (GMT) นอกจากมีการยืดอายุการประกาศต่อไป โดยเพิ่มระดับความเสี่ยงการบินขึ้นมาเป็นระดับ “ห้ามบิน” ห้ามไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์บินผ่านน่านฟ้าเนื่องจากข้อจำกัดทางการทหาร
การประกาศนี้ทำให้เที่ยวบินที่อยู่ระหว่างเดินทางหลายลำต้องยูเทิร์นกลับกะทันหัน เช่น สายการบิน El Al ที่บินจากเทล อาวีฟ ไปยัง โทรอนโต หรือสายการบิน LOT ที่บินจากกรุงวอร์ซอว์ มุ่งหน้า กรุงเคียฟ ก็ต้องบินกลับเช่นกัน
Safe Airspace เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลความปลอดภัยและการปะทะทางอากาศสำหรับสายการบินต่างๆ หลังจากเคยมีเหตุสายการบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกในเขตตะวันออกของยูเครนมาแล้วเมื่อปี 2014
นอกจากการโจมตีทางทหารแล้ว ยังมีคำเตือนว่าระบบจัดจราจรการบินของยูเครนอาจจะถูกโจมตีทางไซเบอร์ด้วย ซึ่งทำให้ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นในการบินผ่านน่านฟ้า
ฝั่งรัสเซียเองก็มีการเตือนบุคลากรการบิน ไม่ให้บินผ่านน่านฟ้ารอยต่อพรมแดนรัสเซียกับยูเครน เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ยูเครนจะยกระดับคำเตือน หลายๆ ประเทศมีคำสั่งให้สายการบินของตน ‘หลีกเลี่ยง’ การบินผ่านน่านฟ้าบางส่วนของยูเครนอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ บริเวณตะวันออกของยูเครน และดินแดนไครเมีย ประเทศที่มีคำสั่งเหล่านี้ เช่น สหรัฐฯ อิตาลี แคนาดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ
บางสายการบินเริ่มมีประกาศหยุดบินเข้าออกประเทศยูเครนแล้ว เช่น KLM สายการบินดัตช์ และสายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี
ด้านสายการบินสัญชาติยูเครนเริ่มเผชิญปัญหาทางธุรกิจตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เนื่องจากไม่สามารถหาบริษัทรับทำประกันความปลอดภัยได้ในบางเที่ยวบิน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศแล้วว่า จะดำเนินการปฏิบัติการส่งทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วนี่เป็นการประกาศสงคราม ฝั่งยูเครนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วันไปแล้วก่อนหน้านี้
]]>หลังธุรกิจการบินในสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว ล่าสุดสายการบิน United Airlines สร้างความแตกต่าง ด้วยการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการแต่งกายของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน อนุญาตให้ลูกเรือ “ทุกเพศ” สามารถไว้ผมยาว แต่งหน้า ทาเล็บ และมีรอยสักได้แล้ว
แน่นอนว่าระเบียบใหม่จะยังมีขอบเขตอยู่บ้าง เช่น การแต่งหน้ายังต้องมีลักษณะที่ “ดูเป็นธรรมชาติ” ปล่อยผมได้หากยาวไม่เกินไหล่และต้องรักษาสภาพให้สะอาดเรียบร้อยเสมอ รอยสักนอกร่มผ้าต้องไม่ใหญ่ไปกว่าขนาดตราประจำตัวของลูกเรือ ไม่เป็นภาพหรือคำที่หยาบคาย/น่ารังเกียจ รวมถึงห้ามมีรอยสักบนใบหน้า ศีรษะ และมือ อนุญาตให้มีรอยสักได้ไม่เกิน 1 จุดต่อแขน 1 ข้าง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กฎใหม่นี้นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างเสรีภาพการแสดงออกทางเพศของลูกเรือมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ลูกเรือที่มีเพศกำเนิดเป็นชายจะไม่สามารถแต่งหน้า ทาเล็บ หรือไว้ผมยาวเกินปกคอเสื้อได้ รวมถึงก่อนหน้านี้ลูกเรือทุกเพศห้ามมีรอยสักนอกร่มผ้าเด็ดขาด
แถลงการณ์ของ United Airlines ระบุว่า การปรับเปลี่ยนระเบียบครั้งนี้เป็นไปเพื่อ “ส่งเสริมให้พนักงานนำเสนอตนเองในทางที่พวกเขารู้สึกมั่นใจมากที่สุด”
“ระเบียบการแต่งหน้าแต่งกายที่ปรับให้ทันสมัยของเรา จะสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างสภาวะแวดล้อมเชิงบวกให้กับพนักงานและลูกค้าของเราเช่นเดียวกัน” United Airlines แถลง
ไรอัน บริกส์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินรายหนึ่งของ United Airlines กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้แสดงออกถึงตัวตนของตนเองแบบเดียวกับที่เขาเป็นนอกเวลางาน บริกส์ซึ่งระบุตนเองเป็นเพศนอนไบนารี (ไม่ระบุว่าตนเป็นหญิงหรือชาย) เปิดเผยว่าเขามักจะทาเล็บและแต่งหน้าเป็นประจำนอกเวลางาน
นโยบายการสวมใส่ยูนิฟอร์มและการแต่งหน้าของกลุ่มอาชีพที่ยังต้องสวมชุดเครื่องแบบนั้นค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในห้วงเวลาที่ผ่านมา แต่มักจะปรับในฝั่งของพนักงานที่ระบุเพศของตนเป็นเพศหญิงมากกว่า เช่น หลายสายการบินอนุญาตให้เพศหญิงสวมกางเกงแทนกระโปรงได้ อนุญาตให้เพศหญิงไม่ต้องแต่งหน้าได้ แต่ฝั่งเพศชายมักจะยังใช้กฎระเบียบแบบเดิมๆ การปรับระเบียบของ United Airlines จึงเป็นก้าวที่สำคัญมาก เพราะสื่อถึงการยอมรับการแสดงออกของทุกเพศแบบเท่าเทียมกัน
United Airlines จะเริ่มใช้ระเบียบใหม่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้ เริ่มจากกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและกลุ่มกราวนด์สตาฟ ก่อนที่จะขยายไปถึงกลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น นักบิน ภายในสิ้นปีนี้
]]>“ทัวร์เอื้องหลวง” เอเจนซีทัวร์ในเครือ “การบินไทย” ออกโปรแกรมทัวร์มิติใหม่ “บินรับมงคลบนฟากฟ้า ผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย” โดยจะเป็นเที่ยวบินแบบ “บินวนไม่ลงจอด” ระยะเวลา 3 ชั่วโมง
ไฟลต์นี้จะขึ้นบินจากสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ วนลงใต้ผ่านทางชลบุรีสู่สุราษฎร์ธานี บินกลับขึ้นมาทางเพชรบุรี ไล่เรื่อยขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ สุโขทัย วนขวาผ่านเพชรบูรณ์ นครราชสีมา สระบุรี และกลับมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิเช่นเดิม รวมทั้งหมด 31 จังหวัด 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ระหว่างการบินไม่ใช่แค่บินเฉยๆ แต่จะมีการ “สวดมนต์บนฟ้า เทวดาอำนวยพร” ไปกับ อ.คฑา ชินบัญชร พร้อมรับของที่ระลึกเป็นหนังสือสวดมนต์ และพระพุทธปฏิมาสุวรรณภูมิสิริโชค ภปร. เนื้อผง เพื่อร่วมสวดมนต์ไปพร้อมๆ กัน รับบุญระหว่างบิน
ทัวร์เอื้องหลวงเปิดเส้นทางนี้เพียงไฟลต์เดียวคือ วันจันทร์ที่ 30 พ.ย. 63 เวลา 13.30 – 16.30 น. ราคาชั้นธุรกิจเริ่มต้นที่ 9,999 บาทต่อท่าน และราคาชั้นประหยัดเริ่มต้นที่ 5,999 บาทต่อท่าน จองได้ตั้งแต่วันที่ 1-25 พ.ย. 63 ผ่านเว็บไซต์ www.thaiairways.com หรือ Facebook @Royalorchidholidays หรือ โทร. 02-356-1515
ทั้งนี้ ยังไม่เปิดเผยข้อมูลว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านจะเป็นแห่งใดบ้าง รวมถึงรายละเอียดโมเดลเครื่องบินที่ใช้หรือจำนวนที่นั่งที่เปิดจอง สามารถตรวจสอบได้อีกครั้งหนึ่งวันที่ 1 พ.ย. นี้
]]>British Airways ระบุในเเถลงการณ์ว่า สายการบินจะปลดระวางเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 “จัมโบ้เจ็ต” ที่มีอยู่ทั้งหมด “ทันที” หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้ต้องระงับเส้นทางการบินระหว่างประเทศเกือบทั้งหมด
เเม้จะไม่ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันทางสายการบินมีเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 อยู่จำนวนเท่าใด เเต่ก็เป็นที่ทราบกันดีในวงการอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ว่า British Airways เป็นสายการบินที่ครอบครองเครื่องบินโดยสารตระกูล 747 มากที่สุด โดยสำนักข่าวบางสำนักรายงานว่าสายการบินมีจัมโบ้เจ็ตมีอยู่ประมาณ 24-28 ลำ
สำหรับ Boeing 747 เป็นตำนานจัมโบ้เจ็ตที่มีอายุนานกว่า 50 ปี รองรับผู้โดยสารได้ถึง 400 คน และครองตำแหน่งเจ้าการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ
ก่อนจะถูกซ้ำเติมด้วย COVID-19 เครื่องบิน Boeing 747 ก็เริ่มไม่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายสายการบิน เริ่มปลดระวางเเละนำไปใช้เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าหรือคาร์โกเเทน
Bloomberg รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า Boeing กำลังยุติสายการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่แบบ Boeing 747 ในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังความต้องการในลดฮวบลงอย่างมาก เพราะสายการบินส่วนใหญ่หันไปใช้เครื่องบินที่มีขนาดเล็กกว่าเเละประหยัดเชื้อเพลิงกว่าอย่าง Boeing 787 Dreamliner, Boeing 737 เเละ Airbus A350
ความเคลื่อนไหวของ British Airways เกิดขึ้นหลัง Boeing เปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า มีลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินโดยสาร 737 MAX ไปกว่า 60 ลำในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมการยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เป็นอย่างน้อย 355 ลำแล้ว นับตั้งแต่ต้นปีนี้ที่มีการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเดือนที่ผ่านมา Boeing ส่งมอบเครื่องบินให้ลูกค้าไปเพียง 10 ลำ เเละส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินคาร์โกและเครื่องบินทหาร
การระบาดใหญ่ทำให้ภาคการขนส่งทางอากาศซบเซา ล่าสุดสายการบินยักษ์ใหญ่เเห่งอเมริกาอย่าง United Airlines ก็เพิ่งปลดพนักงานไปมากถึง 36,000 คน ส่วนผลประกอบการของ British Airways ก็ขาดทุนขาดทุนสุทธิ 1.68 พันล้านยูโร (ราว 5.7 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 3 เดือนเเรกของปีนี้ พร้อมประกาศเเผนลดค่าใช้จ่ายเเละปลดพนักงานอีก 12,000 คน
ขณะที่ Boeing ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จากความต้องการเดินทางทางอากาศยังชะลอตัว โดยบริษัทได้ประกาศเเผนปรับโครงสร้างองค์กร เเละปรับลดพนักงานทั่วโลกลงกว่า 16,000 ตำแหน่ง
ที่มา : AFP , Bloomberg , Reuters
]]>
United Airlines แจ้งต่อพนักงานจำนวน 36,000 คนว่า พวกเขาอาจตกงาน หลังวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 45% ของพนักงานทั้งหมดที่ทำงานในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังไม่เเน่นอนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเเละจำนวนพนักงานที่ยอมรับข้อเสนออื่นๆ
ความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินในสหรัฐฯ ยังชะลอตัวเเละจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินลดฮวบลงถึง 75% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ปีที่เเล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งเเต่ต้นปีที่ผ่านมา
เเม้ดีมานด์จะกระเตื้องขึ้นในช่วงวันหยุดฉลองวันชาติสหรัฐฯ เเต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสยังพุ่งต่อเนื่อง อาจทำให้ยอดการจองตั๋วเครื่องบินลดลงอีก เเละการยกเลิกตั๋วก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ผู้บริหาร United Airlines ระบุว่า การระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสายการบิน โดยบริษัทมีแผนลดต้นทุนและระดมเงินทุนเพิ่ม เพื่อพยุงธุรกิจ ซึ่งทางสายการบินยังคงต้องเเบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เเละต้องสูญเงินถึง 40 ล้านเหรียญต่อวัน
ด้วยความจำเป็นจึงต้องมีการปลดพนักงานราว 36,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 15,000 ราย นักบิน 2,250 ราย พนักงานฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ดูแลลูกค้า 11,000 ราย และช่างซ่อมบำรุงอีก 5,500 ราย
ขณะที่เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวน 5,000 ล้านเหรียญ สำหรับจ่ายค่าจ้างภายใต้กฎหมาย CARES Act ก็กำลังจะหมดลงในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เช่นกัน โดยสายการบินต่างๆ และสหภาพแรงงาน กำลังขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มอีก 25,000 ล้านเหรียญ เพื่อป้องกันการปลดพนักงานเเละประคองธุรกิจสายการบิน
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางทางอากาศลดลงถึง 95% สายการบินทั่วโลก รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ทยอยปลดพนักงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หลายสายการบินถึงขั้นยื่นล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการในช่วงนี้
]]>
ผลกระทบของ COVID-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนเเปลงสังคม จนเกิดปรากฏการณ์ New Normal วิถีชีวิตเเบบใหม่ที่เห็นได้ชัดคือ การลดการสัมผัสระหว่างบุคคลและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างการซื้อของออนไลน์สั่งอาหารจากเดลิเวอรี่ หรือการต้อง Work from Home ประชุมออนไลน์ ไปจนถึงสวดมนต์ออนไลน์ ตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลชาติต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องงดการเดินทางทั้งในเเละนอกประเทศ
สายการบินต้องดิ้นรน “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่เเบบไม่เคยมีมาก่อน เพื่อต่อลมหายใจให้อยู่รอด เเม้ทางออกจะยังไม่ชัดเจนเเต่การได้กลับมาเริ่มบินอีกครั้ง เเม้จะต้องเปิดให้บริการเเค่ “บางเส้นทาง” เเต่ก็เป็น “โอกาสเดียว” ที่จะต้องคว้ามันไว้ให้ได้
เราจึงจะได้เห็นมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายการบินต่างๆ ข้อปฏิบัติใหม่ๆ ที่จะกลายเป็น New Normal ในอนาคต ซึ่งถ้าโชคดีก็เป็นเเบบชั่วคราว แต่ถ้าโชคร้ายการเดินทางของเราก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
การที่ธุรกิจสายการบินนำมาตรการ Social Distancing มาใช้นั้นทำให้ราคาตั๋วเครื่องบิน “เเพงขึ้น” อย่างเเน่นอน เมื่อต้องมีการ “เว้นที่นั่ง” ให้ผู้โดยสารนั่งโดยมีระยะห่างจากกันคงเหลือแต่ตั๋วสำหรับที่นั่งติดริมทางเดิน และที่นั่งริมหน้าต่างเท่านั้น
สายการบินต้นทุนต่ำหรือ Low-Cost Airlines ที่ต้องอาศัยการมีจำนวนผู้โดยสารเยอะ เพื่อให้ได้ขายตั๋วราคาถูก ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่นี้โดยตรง เพราะจำนวนที่นั่งของสายการบินต่างๆ จะหายไปราว 30-40% อย่างเช่น Jetstar Asia ที่กลับมาให้บริการอีกครั้งในบางเส้นทาง เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีผู้โดยสารไม่เกิน 112 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน หรือมีผู้โดยสารเพียง 60% อีกทั้งยังต้องหยุดบินในบางเส้นทางต่อไป
สำหรับในประเทศไทย ณ ตอนนี้ (12 พ.ค.) มีสายการบินกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางภายในประเทศเเล้วจำนวน 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท ทั้งหมดก็มีมาตรการ “เว้นที่นั่ง” เช่นกัน
ในเส้นทางการบินระยะใกล้ๆ สายการบินต้องดเสิร์ฟน้ำและอาหาร เพื่อให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ที่นั่งในส่วนท้ายจึงสงวนเอาไว้ เพื่อสร้างระยะห่างให้กับผู้โดยสารบางคนที่จำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อทานยาเพราะมีปัญหาสุขภาพ
เนื่องจากการปรับลดจำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทำให้ต้นทุนการขนส่งของสายการบินเพิ่มขึ้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จึงออกข้อกำหนดว่า หากสายการบินจะมีการปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารก็สามารถทำได้ แต่ปรับได้สูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กิโลเมตร ซึ่ง Low-Cost ส่วนใหญ่จำหน่ายบัตรโดยสารราคาต่ำ เพียง 4-5 บาท/กิโลเมตร เท่านั้น หมายถึงสามารถปรับขึ้นราคาได้ 100% หรือไม่เกินเพดาน 9.40 บาท แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากนัก เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางไม่มาก คนที่อาจจะได้รับผลกระทบจะเป็นเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเท่านั้น
จากการสำรวจราคาตั๋วเที่ยวบินในประเทศไทยที่เริ่มเปิดบินตั้งเเต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เส้นทางอุบลราชธานี-ดอนเมือง ราคาตั๋วเฉลี่ยของสายการบินต่างๆ จะอยู่ที่ราว 1,400 – 2,500 บาท (ตามระยะการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์) เเพงขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ตอนนั้นเเข่งราคากันอย่างมาก ซึ่งจะมีตั๋วโปรโมชันออกมาในราคาเริ่มต้นเเค่ 500-800 บาท หรือตั๋วปกติจะอยู่ที่ราว 1,000 -1,300 บาท
นอกจากนี้ ทางท่าอากาศยานจะมีการออกกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพิ่มระเบียบในการบริหารการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยมากขึ้นซึ่งอาจจะยังถูกบังคับใช้เเม้จะผ่านพ้นช่วงการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไปเเล้วก็ตาม เช่น
อ่านเพิ่มเติม : เช็กให้ชัวร์ ! เตรียมตัวอย่างไร…ก่อนขึ้นเครื่องบินในประเทศ ช่วง COVID-19
ความหวังของสายการบิน Low-Cost ยังมีอยู่ เพราะมาตรการเว้นระยะห่างของที่นั่ง จะไม่ได้คงอยู่ตลอดไปในประเทศที่ควบคุมการเเพร่ระบาดได้ดีอย่างเช่นเวียดนาม ล่าสุดสายการบินต่างๆ ของเวียดนามได้รับอนุญาตให้ยกเลิกมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมบนเครื่องบินและการจำกัดจำนวนผู้โดยสารโดย มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เเม้จะไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างของที่นั่งเเล้ว เเต่จำนวนผู้โดยสารก็ไม่อาจฟื้นคืนมาได้ในระดับปกติ เป็นความท้าทายหลังวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มักจะมี “รายได้พิเศษ” จากบริการอื่นร่วมด้วย อย่างค่าโหลดกระเป๋า ค่าที่นั่งพิเศษ อีกทั้งจากเดิมก็มักจะใช้รันเวย์ไกลจากตัวอาคารเพราะค่าเช่าถูกกว่า เเละจัดสรรรถบัสเวียนรับผู้โดยสาร ต่อไปก็จะต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสาร การขนย้ายคนนานขึ้นก็ทำให้ต้องจอดบนรันเวย์นานขึ้นนั่นเอง
ชุดเเอร์โฮสเตสสวยงามที่เราคุ้นเคย ไม่เหมือนเดิมเเล้วในยามที่ไวรัส COVID-19 ระบาด บรรดาสายการบินต่างๆ ต้องจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันไวรัสให้เหล่าลูกเรือสวมใส่ ขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องใกล้ชิดกับผู้โดยสารจำนวนมาก
เเละก็สร้างความฮือฮาไม่น้อย เมื่อ AirAsia ในฟิลิปปินส์เปิดตัว “ยูนิฟอร์มใหม่” เป็น “ชุดกันไวรัส” สำหรับลูกเรือที่จะให้บริการผู้โดยสารในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (ชุด PPE) ดีไซน์โดยนักออกเเบบชื่อดังชาวฟิลิปปินส์ Puey Quiñones เน้นความทันสมัย มีสไตล์เข้ากับเเบรนด์ รักษาความปลอดภัยของลูกค้าและลูกเรือ เเละยังต้องใช้งานสะดวกเมื่อลูกเรือต้องเคลื่อนที่อยู่บนเครื่องบินตลอด
ขณะนี้เริ่มใช้แล้วกับ AirAsia ฟิลิปปินส์ ซึ่งคาดว่าต่อไปจะกำหนดให้ลูกเรือของสายการบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และเที่ยวบินระหว่างประเทศสวมใส่ชุดป้องกันดังกล่าว รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการบินอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
“เราได้ทำการทดสอบความเครียดของผู้สวมใส่ชุด PPE นี้ด้วย โดยถูกออกเเบบมาให้รู้สึกสบาย ไม่หนาเกินไปเเละไม่หนักมาก ฉันชอบที่มันมีความชิคเเละสปอร์ตอยู่ด้วยกัน คล้ายกับชุดนักเเข่งรถ F1 เป็นการผสมผสานระหว่างแฟชั่นและความปลอดภัย ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานสำหรับสายการบินต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้” ผู้บริหาร AirAsia ฟิลิปปินส์กล่าว
เเม้ตอนนี้ในหลายสายการบินที่เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง จะยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนยูนิฟอร์มของลูกเรือให้เป็นชุด PPE เเต่ก็มีอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย Face Shield ถุงมือ ฯลฯ รวมไปถึงการทำความสะอาดเครื่องบินด้วยการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด สิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็น New Normal ของทั้งผู้ปฏิบัติงานเเละผู้โดยสาร เเละอาจจะต้องคงมาตรการนี้ไว้เเม้จะผ่านพ้นวิกฤตไวรัสไปเเล้วก็ตาม
การตรวจวัดไข้ก่อนขึ้นเครื่องดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไป เมื่อสายการบินยักษ์ใหญ่อย่าง Emirates เป็นสายการบินแรกในโลกที่ทำการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีตรวจเร็วหรือ Rapid Test รู้ผลภายใน 10 นาที ให้กับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ซึ่งเริ่มทำครั้งเเรกในเที่ยวบินระหว่างดูไบ-ตูนีเซียเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทย ให้ความเห็นว่า ชุดตรวจ Rapid Test เป็น “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5–7 วัน
ดังนั้นการตรวจ Rapid Test จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 -10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ที่สำคัญหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ โดยวิธีการตรวจที่ใช้เป็นมาตรการทางการแพทย์ทั่วโลก รวมถึงในไทยใช้อยู่ที่ได้ผลดีที่สุด และองค์การอนามัยโลกแนะนำ คือวิธีตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง โดยวิธีการตรวจที่ไวที่สุดคือ “การตรวจสารพันธุกรรม”
เเม้ชุดตรวจ Rapid Test จะไม่ได้เเม่นยำ 100% เเต่ก็สร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงนี้อยู่ไม่น้อย การที่สายการบิน Emirates ลงทุนในมาตรการนี้จึงมีเเต่ได้กับได้ ทั้งการรักษาความปลอดภัย ดึงดูดผู้โดยสาร สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เเละสร้างความภักดีในเเบรนด์ช่วงวิกฤต
Emirates Airlines เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงมีผลประกอบการดีเเละมีกำไรต่อเนื่อง เเต่คาดว่าผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานในปีนี้อย่างแน่นอน โดย Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum ประธานเเละซีอีโอของบริษัท ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือนในการฟื้นตัว
ธุรกิจการบินทั่วโลกกำลังเสี่ยง “ล้มละลาย” เมื่อการท่องเที่ยวเเละการเดินทางต้องหยุดชะงักจากการเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เเม้สายการบินหลายเจ้าจะประสบปัญหาการเงินมาก่อนหน้านี้เเล้ว เเต่เมื่อต้องเจอมรสุมอันหนักหน่วงนี้เข้าไป จุดที่ “ยื้อต่อไม่ไหว” ก็มาถึง
เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์การบินในรอบ 100 ปี เมื่อ Avianca สายการบินของโคลอมเบีย ซึ่งเป็นสายการบินเก่าแก่อันดับ 2 ของโลกที่ก่อตั้งมาตั้งเเต่ปี 1919 ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในลาตินอเมริกา ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะ “ล้มละลาย” (Chapter 11) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา
การยื่นล้มละลายของ Avianca Airlines ครั้งนี้ เเม้จะมีปัญหาสะสมยาวนาน เเต่ก็สะท้อนถึงความท้าทายของธุรกิจสายการบินที่ไม่สามารถพึ่งพาการช่วยเหลือของรัฐหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เร็วพอ อย่างไรก็ตาม ทางสายการบินยังคงหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ
เช่นเดียวกับ สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลียอย่าง Virgin Australia ที่กลายเป็นสายการบินแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-เเปซิฟิก ที่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้พนักงานกว่าหมื่นคนเสี่ยงตกงานกะทันหัน
Virgin Australia พยายามยื่นขอให้รัฐบาลจัดหาเงินกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ ในวงเงิน 888 ล้านเหรียญสหรัฐ เเต่รัฐบาลออสเตรเลีย “ปฏิเสธ” ด้วยเหตุผลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Virgin Australia เป็นสายการบินต่างชาติ
ตัวเเทนของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาเตือนว่า การล้มละลายของ Virgin Australia เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของวิกฤต ต่อจากนี้ 2-3 เดือน จะมีสายการบินล้มละลายอีกจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน มีหลายสายการบินที่ได้รับการ “อุ้ม” จากภาครัฐเพื่อต่อลมหายใจไปได้ อย่างเช่น Qantas สายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 715 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
รวมถึง “Air France” สายการบินเเห่งชาติ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติเงินกู้ 7,000 ล้านยูโร ช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายใต้เงื่อนไขให้สายการบินปรับลดเที่ยวบินในประเทศลงบางส่วน ก่อนหน้านี้ บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านยูโรด้วย
ด้านสายการบินเเห่งชาติของไทยอย่าง “การบินไทย” ก็กำลังเป็นประเด็นการถกเถียงในสังคม มีการเเสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลอย่างดุเดือด ว่ารัฐควรเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ ขณะที่ปฏิบัติการกู้ชีพการบินไทย เริ่มเห็นรูปเห็นร่างกันบ้างแล้ว เมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติหลังการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบ “แผน” แก้ไขปัญหาการบินไทยทั้งระยะสั้น และระยะยาว
อ่านรายละเอียด : เปิดปฏิบัติการกู้ชีพ “การบินไทย” ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย ทุ่มหมื่นล้านลดพนักงาน 6,000 คน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า ธุรกิจการบินทั่วโลกจะติดลบ 55% จากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ขณะที่ยอดผู้โดยสายจะลดลงกว่า 48% ขณะที่รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเส้นทางระหว่างประเทศ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงกว่า 67% เหลือเพียง 13.1 ล้านคน
สายการบินไหนจะรอดหรือจะร่วง ต้องวัดใจกันในมหาสงคราม COVID-19 …เเละเเม้จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ศึกใหม่อย่างการปรับตัวรับ New Normal ของการเดินทางที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็ท้าทายไม่เเพ้กัน
]]>