สงคราม – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 22 Apr 2024 13:26:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ตึงเครียดทั่วโลก! งบ ‘การทหาร’ ทั่วโลกพุ่งทะลุ 2.44 ล้านล้านดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากภาวะสงคราม https://positioningmag.com/1470667 Mon, 22 Apr 2024 12:17:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1470667 จากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ตามด้วยความตึงเครียดแถบตะวันออกกลางของ อิสราเอล กับภัยคุกคาม ทั้งจาก กลุ่มฮามาส ฮิซบอลเลาะห์ อิหร่าน และในเขตเวสต์แบงก์ ยังไม่รวมความขัดแย้งของ จีน-สหรัฐฯ ที่พลอยทำให้ จีนกับไต้หวันเริ่มตึง ๆ ใส่กัน ดังนั้น การที่งบที่ใช้จ่ายกับการทหารทั่วโลกจะสูงขึ้น จึงไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจนัก

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา งบการลงทุนทางทหารทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 2.44 ล้านล้านดอลลาร์ +6.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 ที่มีรายงานเรื่องแนวโน้มการใช้จ่ายทางทหาร

“การใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นการตอบสนองโดยตรงต่อการเสื่อมถอยของสันติภาพและความมั่นคงทั่วโลก” หนาน เทียน นักวิจัยอาวุโสในโครงการการใช้จ่ายทางทหารและการผลิตอาวุธของ SIPRI กล่าว

รายงานระบุว่า รายจ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 9 และรายจ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นใน ตะวันออกกลาง

แน่นอนว่ายูเครนและรัสเซียซึ่งอยู่ในภาวะสงครามอย่างแข็งขัน ติดอันดับประเทศที่เพิ่มการใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดในปี 2566 อยู่ที่ 51% และ 24% ตามลำดับ โดยค่าใช้จ่ายทางการทหารตามจริงของ รัสเซีย ยังคงสูงกว่ายูเครนอยู่มาก โดยอยู่ที่ประมาณ 109,000 ล้านดอลลาร์ ส่วน ยูเครน อยู่ที่ 64,800 ล้านดอลลาร์

โดย รัสเซีย กลายเป็นรายจ่ายทางการทหารรายใหญ่ อันดับ 3 ของโลก ตามหลัง สหรัฐฯ ที่ใช้จ่าย 916,000 ล้านดอลลาร์ +2.3% และ จีน ใช้จ่าย 296,000 ล้านดอลลาร์ +6% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของ เยอรมนี และ สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น +9% และ +7.9% ตามลำดับ ส่วน อิสราเอล ซึ่งกำลังอยู่ในความขัดแย้งเช่นกัน ใช้จ่าย 27,500 ล้านดอลลาร์ +24%

“ค่าใช้จ่ายทางทหารรายเดือนของอิสราเอลเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มสงครามในฉนวนกาซา”

ในแถบเอเชีย ประเทศอย่าง ไต้หวัน ใช้จ่ายทางทหารที่ 16,600 ล้านดอลลาร์ +11% ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากไต้หวันก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากรัฐบาลจีน ส่วน เกาหลีใต้ ใช้ 47,900 ล้านดอลลาร์ +1.1%

ที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่น ที่ใช้มากถึง 50,200 ล้านดอลลาร์ +11% ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้น มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 และยังถือเป็นงบสร้างกองทัพที่มากที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับ ไทย มีการใช้จ่ายทางทหารอยู่อันดับที่ 38 ของโลก โดยมีงบประมาณอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนหน้า 6.5%

]]>
1470667
ประเมินราคา ‘น้ำมัน’ อาจทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากสงครามอิสราเอล-ฮามาสทวีความรุนแรง https://positioningmag.com/1450115 Tue, 31 Oct 2023 07:58:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450115 ดูเหมือนว่าหากสงคราม อิสราเอล-ฮามาส ยังยืดเยื้อจะไม่ใช่แค่ส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ทั่วโลกก็ได้ผลกระทบไปด้วย ที่เห็นชัดก็คือ ราคาน้ำมัน โดยธนาคารโลกมองว่าอาจทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสงครามยืดเยื้อ

ธนาคารโลก ออกมาเตือนว่า หากความขัดแย้งของสงคราม อิสราเอล-ฮามาส ขยายออกไปนอกพรมแดนของฉนวนกาซา จนเกิดการคว่ำบาตรน้ำมัน ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ ในเดือนกรกฎาคม 2008 ที่มีการซื้อขายสูงถึง 147.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามข้อมูลจาก LSEG

นอกจากนี้ เคยมีเหตุการณ์การคว่ำบาตรน้ำมันของอาหรับในปี 1973 ส่งผลให้อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะลดลง 6-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนั่นจะผลักดันราคาให้สูงขึ้น 56-75% หรือราว 140-157 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

“วิกฤตน้ำมันเมื่อ 50 ปีก่อนทําให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 4 เท่าหลังจากรัฐมนตรีพลังงานอาหรับสั่งห้ามส่งออกน้ำมัน   ของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การสนับสนุนอิสราเอลในสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 1973 ซึ่งเป็นที่รู้จักในอิสราเอลในชื่อสงครามยมคิปปูร์”

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการประเมินสถานการณ์แย่ที่สุด โดยธนาคารโลกได้ประเมินสถานการณ์ไว้ 3 ระดับ โดย กรณีที่ดีที่สุด คือ ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น 3-13% มาอยู่ที่ระดับ 93-102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์ หากอุปทานน้ำมันทั่วโลกลดลง 500,000 ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการลดลงที่เทียบได้กับช่วงสงครามกลาง เมืองลิเบียในปี 2011

รองลงมาคือ อุปทานลดลงตลาด 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจจะดันให้ราคาน้ำมันให้สูงขึ้นระหว่าง 109-121 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเทียบเท่ากับระดับที่ไปถึงในช่วงสงครามอิรักในปี 2003

ถึงแม้ว่าทั้งอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์จะไม่ใช่ผู้เล่นน้ำมันรายใหญ่ แต่ความขัดแย้งก็อยู่ในภูมิภาคการผลิต    น้ำมันที่สําคัญ

“หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับภาวะช็อกด้านพลังงานเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ เพราะไม่ใช่แค่จากสงครามในยูเครนเท่านั้น แต่ยังมาจากตะวันออกกลางด้วย”

Source

]]>
1450115
บริษัทยักษ์ใหญ่ของ ‘ญี่ปุ่น’ กว่า 20% ตัดสินใจหยุดทำธุรกิจใน ‘รัสเซีย’ https://positioningmag.com/1381182 Sun, 10 Apr 2022 09:46:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1381182 ผลสำรวจเผย บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในรัสเซียกว่า 20% ตัดสินใจยุติการดำเนินงานชั่วคราว หลังรัฐบาลรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน

Teikoku Databank สำรวจบริษัทใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น 168 แห่งที่ทำธุรกิจในรัสเซีย พบว่า 37 บริษัทได้หยุดทำธุรกิจในรัสเซีย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก เเละสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลงจากผลกระทบด้านระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก

ในจำนวนนี้ 28 แห่งเป็นบริษัทผู้ผลิตที่สำคัญ อย่างรถยนต์ เครื่องจักรหนัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดที่คิดถอนตัวออกจากตลาดรัสเซียอย่างถาวร

บริษัทชื่อดังของญี่ปุ่นบางแห่ง เช่น Toyota Motor Corp. และ Fast Retailing Co. ได้ร่วมกับบริษัทระดับโลกอย่าง McDonald’s Corp. และ Apple Inc. หยุดการดำเนินงานในรัสเซีย แต่บริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่ม 168 เเห่งนี้ ยังต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่เเน่นอน เพราะเเนวโน้มของสงครามยังไม่มีความชัดเจน 

โดยบริษัทต่างๆ จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง หากจะดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไปก็อาจจะถูกมองว่าสนับสนุนการรุกรานยูเครน ในขณะเดียวกันก็เผชิญกับภัยคุกคามจากรัฐบาลรัสเซียเพราะหากคิดจะถอนตัวออกจากตลาดก็เสี่ยงจะถูกยึดกิจการ

ทั้งนี้ บริษัท 37 แห่งที่หยุดการทำธุรกิจในรัสเซียไปเเล้ว มี 22 แห่งที่งดการทำธุรกรรม เช่น ขนส่งสินค้าเข้าไปในรัสเซีย เเละมี 7 แห่งที่งดการผลิตในรัสเซีย ขณะที่มี 4 แห่งที่หยุดการทำธุรกิจของสาขาในรัสเซีย

Toyota ได้หยุดดำเนินการที่โรงงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และสั่งให้พนักงานในรัสเซียกลับภูมิลำเนา ขณะที่ Fast Retailing กล่าวว่าจะปิดร้าน 50 แห่งในประเทศชั่วคราว

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ขอให้ญี่ปุ่นห้ามทำการค้ากับรัสเซีย เพื่อหยุดยั้งการรุกรานของรัสเซีย

Yale School of Management เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 600 แห่งทั่วโลกได้ประกาศถอนตัวออกจากตลาดรัสเซียหรือระงับการดำเนินงานในรัสเซียชั่วคราว

 

ที่มา : kyodonews 

]]>
1381182
รัฐบาลยูเครน ระดมทุนขาย ‘NFT’ ได้มากกว่า 6 แสนดอลลาร์ นำไปฟื้นฟูเมือง-พิพิธภัณฑ์ https://positioningmag.com/1380306 Mon, 04 Apr 2022 09:46:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1380306 รัฐบาลยูเครนระดมทุนได้มากกว่า 6 เเสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20 ล้านบาท) ผ่านการขาย Non-Fungible Token หรือ NFT โดยจะนำเงินเหล่านี้ไปฟื้นฟูเเละซ่อมเเซมพิพิธภัณฑ์ โรงละครเเละสถานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ถูกทำลายจากการรุกรานของรัสเซีย

สำหรับโปรเจกต์ MetaHistory NFT-Museum ของพิพิธภัณฑ์ยูเครน ได้เปิดระดมทุนผ่านการขายภาพ NFT ในโครงการ ‘MetaHistory’ ที่มีการบันทึกเเละถ่ายทอดเรื่องราวสงครามลงไปในงานศิลปะ ทั้งภาพถ่ายเเละภาพวาดซากปรักหักพัง ความเสียหายของเมือง การทำลายล้างของระเบิด ทหารยูเครน และธงชาติยูเครน

โดยสามารถจำหน่ายผลงานศิลปะได้ถึง 1,282 ชิ้นในการเปิดขายวันแรก เเละระดมทุนเป็นเหรียญดิจิทัล ‘Ethereum’ ได้ 190 เหรียญนับตั้งแต่เปิดตัวมา ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ

เเละขณะนี้ MetaHistory กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลผลงานรอบใหม่ หลังจากมีผู้คนจำนวนมากส่ง NFT เข้ามาให้จำนวนมาก

การจำหน่าย NFT ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่รัฐบาลยูเครนพยายามระดมทุนผ่านคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อนำเงินมาบูรณะเเละฟื้นฟูเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนรายย่อยเเละนักลงทุนมืออาชีพทั่วโลก

ทั้งนี้ ตลาดช่วงที่เกิดวิกฤตสงครามรัสเซียยูเครน ทางรัฐบาลยูเครนได้รับเงินบริจาคเป็นคริปโตเคอร์เรนซีสกุลต่างๆ จากทั่วโลกมากถึง 70.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบางส่วนได้ถูกนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร

 

ที่มา : Bloomberg 

]]>
1380306
อังกฤษ เตรียมจ่ายเงินหนุนประชาชน ‘เปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยยูเครน’ เดือนละ 350 ปอนด์/เดือน https://positioningmag.com/1377328 Sun, 13 Mar 2022 09:26:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377328 รัฐบาลอังกฤษ เตรียมจ่ายเงินพิเศษให้ผู้ที่เปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ผ่านโครงการ ‘Homes for Ukraine’ เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 350 ปอนด์ (ราว 1.5 หมื่นบาท) เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

Homes for Ukraine เป็นโครงการเปิดรับผู้อพยพที่หนีภัยสงครามหลังยูเครนถูกรัสเซียบุกโจมตี ให้เดินทางเข้าสู่ประเทศอังกฤษได้ แม้จะไม่ได้มีครอบครัวอาศัยอยู่ในอังกฤษก็ตาม โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้กับชาวอังกฤษที่เปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 350 ปอนด์ต่อเดือน ต่อเนื่องเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ประชาชนทั่วไป องค์กรการกุศล ภาคธุรกิจและกลุ่มประชาสังคม จะต้องยื่นเสนอที่พักพิงให้กับชาวยูเครนผ่านเว็บไซต์ของรัฐได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยผู้ที่เสนอที่พักพิงให้กับชาวยูเครนจะต้องผ่านมาตรฐาน และต้องเข้ารับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อน

ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ต่างพากันโจมตีรัฐบาลอังกฤษ ที่จะให้ชาวยูเครนจะต้องผ่านกระบวนการขอวีซ่าและตรวจยืนยันอัตลักษณ์บุคคลเเบบไบโอเมตริกซ์ก่อนจะเดินทางเข้ามายังอังกฤษ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการให้ความสำคัญกับระบบราชการมากกว่าสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยสงคราม

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเมินยอดผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครนว่าอาจเพิ่มจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน สูงกว่าการคาดการณ์ปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2 ล้านคนกว่าเท่าตัว

 

ที่มา : Reuters 

]]>
1377328
หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีนี้อาจพุ่งเกิน 4% สูงสุดในรอบ 14 ปี https://positioningmag.com/1376919 Wed, 09 Mar 2022 12:19:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376919 หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ไทยกระทบหลายด้าน ประเมินเงินเฟ้อปีนี้เกิน 4% สูงสุดในรอบ 14 ปี ของเเพง-ราคาน้ำมันพุ่ง การบริโภคชะลอตัว กดดันเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างชัดเจน

จากรายงาน “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” ของ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่กำลังกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและไทย โดยยังมีความไม่แน่นอนสูงมากและผลลัพธ์ของสงครามในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ 3 ทาง ได้เเก่

1) รัสเซียบุกเข้ายึดกรุงเคียฟและโค่นล้มรัฐบาลยูเครนสำเร็จจนบังคับให้ประเทศตะวันตกตัดการซื้อพลังงานจากรัสเซีย

2) การเจรจาหยุดยิงระหว่างยูเครนและรัสเซียประสบความสำเร็จ และไม่มีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตร

3) สงครามยืดเยื้อเป็นเวลานานและแผ่ในวงกว้าง

‘คว่ำบาตร’ เพียงพอหรือไม่ ? 

หลายประเทศในตะวันตก ตอบโต้การบุกของรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตร โดยมาตรการในเบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่การอายัดทรัพย์สินของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรัสเซีย อายัดทรัพย์สินของธนาคารบางแห่ง ตัดสิทธิการซื้อขายตราสารหนี้ของธนาคารดังกล่าวในตลาดการเงินสหรัฐและยุโรป ตัดธนาคารบางแห่งออกจากระบบ SWIFT และตัดธนาคารกลางของรัสเซียไม่ให้ทำธุรกรรมสกุลเงินดอลลาร์ มาตรการคว่ำบาตรทำให้ค่าเงิน RUB อ่อนค่าอย่างรุนแรงและจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและอาจเจอความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและการผิดนัดชำระหนี้

“เศรษฐกิจประเทศตะวันตกพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมาก หากประเทศตะวันตกยังไม่กล้าหยุดซื้อพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของรัสเซีย จากความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศจะถูกกระทบรุนแรง มาตรการต่าง ๆ ในปัจจุบันจะยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการรุกรานจากรัสเซีย” 

การใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของประเทศตะวันตกในระยะถัดไป จะต้องพิจารณาถึง

  • ความเสี่ยงที่จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งแผ่ในวงกว้างและความรุนแรงของการรุกราน
  • ผลกระทบย้อนกลับต่อเศรษฐกิจของตนเอง
Oil pump cold winter and snow. Back light, white cloudy and blue sky background, sunlight

จับตาเเนวโน้มราคาพลังงานพุ่ง 

KKP Research มองว่า “มีความเป็นไปได้ที่ประเทศตะวันตกจะนำมาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานมาใช้ หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงจนเกิดความเสียหายอย่างล้นหลามสะท้อนจากท่าทีของเยอรมันที่เปลี่ยนไปที่วางแผนจะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย”

ซึ่งในกรณีที่มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางพลังงานจริง จะทำให้ราคาพลังงานทั้งในยุโรปและโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก หากรัสเซียตัดสินใจตอบโต้ด้วยการลดอุปทานของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

Bank of America ประเมินว่าทุก ๆ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันที่หายไปอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดังนั้น ถ้าหากน้ำมันดิบจากรัสเซียถูดตัดขาดจากตลาดโลก อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 100 ดอลลาร์เป็น 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะกลับมากระทบเศรษฐกิจโลกค่อนข้างรุนแรงจากทั้งปัจจัยด้านราคา และอาจเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบในระยะสั้นทำให้เกิดการหยุดชะงักของภาคการผลิตได้

หากสงครามยืดเยื้อ ดันเงินเฟ้อไทยเกิน 4%

KKP Research ประเมินว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี โดยผลกระทบจากสงครามจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ช่องทางหลัก

การส่งออกของไทย อาจขยายตัวได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ผลกระทบทางตรงที่ไทยจะได้รับคือผลจากการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยแม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนจะต่ำ คือ รวมกันประมาณ 0.7% ของการส่งออกทั้งหมด แต่การส่งออกไปยังยุโรปที่มีสัดส่วนกว่า 10% จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่น่ากังวลมากที่สุดจะเกิดจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการหยุดชะงักของการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบให้บางภาคการผลิตต้องหยุดกิจการ โดยกลุ่มสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ปุ๋ยเคมีและธัญพืช

อัตราเงินเฟ้อในปี 2022 อาจปรับตัวสูงขึ้นเกิน 4% ตามราคาน้ำมันดิบโลก ความขัดแย้งในครั้งนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

KKP Research ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะสูงขึ้นเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐ บนสมมุติฐานว่าประเทศตะวันตกจะมีการลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียลงบางส่วน

ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากที่เคยคาดไว้ที่ 85 และคาดว่ายังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะสูงเกิน 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

“ในสถานการณ์ที่สงครามมีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด KKP Research ประเมินว่าเมื่อนับรวมกับปัญหาราคาอาหารสดและอาหารนอกบ้านที่แพงขึ้นก่อนหน้านี้ จะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 ของไทย สูงขึ้นเกิน 4% สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2008 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และจะส่งผลกลับมากระทบการบริโภคให้ชะลอตัวลง” 

Photo : Shutterstock

เสี่ยงกระทบภาคท่องเที่ยว 

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเดินทางมาน้อยกว่าที่ประเมินไว้ เกิดจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะเดินทางมาได้น้อยลง โดยในช่วงที่ต้นปี 2022 นักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด คิดเป็นประมาณเกือบ 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการเดินทางระหว่างประเทศและทำให้อุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวลดลง

นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องและจะเป็นความท้าทายสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของไทย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีโอกาสขาดดุลอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและไทยนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนสูง ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้น้อยกว่าที่คาดไว้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสขาดดุลเพิ่มเติม

Photo : Shutterstock

ในขณะที่แม้เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงเล็กน้อย KKP Research ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะยังห่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญจะเกิดขึ้นต่อค่าเงินบาทที่อาจผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น

แม้ว่าสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ยังมีหลายทางออกที่เป็นไปได้ KKP Research ประเมินว่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ที่สถานการณ์จะเข้าสู่กรณีที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยได้

“เหตุการณ์นี้นับเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะ Stagflation อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และสร้างความท้าทายสำคัญต่อนโยบายการเงินไทยในระยะต่อไปที่ต้องดูแลทั้งเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน”

]]>
1376919
ผู้คนทั่วโลก แห่จอง ‘Airbnb’ ในยูเครน เเต่ไม่ได้เข้าพักจริง ช่วยเหลือการเงินชาวยูเครน https://positioningmag.com/1376502 Sun, 06 Mar 2022 08:57:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376502 ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดเเย้งที่พัก Airbnb’ ในยูเครนถูกจองเต็มจากผู้คนทั่วโลกที่ไม่มีแผนจะไปเยือนอีกหนึ่งแคมเปญโซเชียลมีเดียสุดสร้างสรรค์ เพื่อระดมทุนให้ชาวยูเครน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม

หลังรัสเซียเริ่มเปิดฉากบุกยูเครน ได้มีการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก เพื่อระดมทุนช่วยให้ชาวยูเครนที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การจ่ายเงินเพื่อจองที่พัก Airbnb แต่ไม่ได้เข้าพักจริง

Airbnb เเพลตฟอร์มจองที่พักรายใหญ่ เปิดเผยว่า ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ผู้คนทั่วโลกได้แห่จองที่พักกว่า 61,000 คืนในยูเครน เพื่อสนับสนุนเงินให้เจ้าของที่พักมีรายได้ในยามวิกฤต ซึ่งยอดจองทั้งหมดมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65 ล้านบาท)

ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งถูกจองโดยชาวอเมริกัน โดยมีการจองห้องพักในยูเครนจากสหรัฐอเมริกากว่า 34,000 คืน จากสหราชอาณาจักรมากกว่า 8,000 คืน และเกือบ 3,000 คืนจองจากแคนาดา ที่เหลือจะเป็นจากออสเตรเลียเเละประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

โดยมีคำเเนะนำในการจองห้องพักเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครน อย่างเช่น ต้องจองให้ใกล้วันพักมากที่สุดเพื่อให้เจ้าของห้องได้รับเงินรวดเร็ว ซึ่งตามปกติเเล้ว Airbnb จะส่งเงินให้เจ้าของห้องภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่แขกเช็กอิน นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ ให้ทำการจองห้องพักกับเจ้าของที่เป็นประชาชนรายย่อยมากกว่าบริษัทใหญ่ๆ

ล่าสุดทาง Airbnb ออกนโยบายช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก สำหรับการจองในยูเครนชั่วคราว เพื่อให้เงินส่งถึงชาวยูเครนมากที่สุด

ก่อนหน้านี้ Airbnb.org องค์กรไม่แสวงหากำไร ได้จัดหาที่พักชั่วคราวฟรีสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนกว่า 100,000 คน ที่หลบหนีออกจากประเทศหลังการรุกรานของรัสเซีย อีกทั้งยังประกาศหยุดทำธุรกิจในรัสเซียและเบลารุสด้วย

อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนว่าในยามคับขันเช่นนี้ อาจมีกลุ่มมิจฉาชีพสร้างบัญชี Airbnb ปลอมในยูเครนขึ้นมา เพื่อหลอกลวงเอาเงินจากความเอื้ออาทรของชาวโลก จึงแนะนำให้ผู้จองห้องพักต้องตรวจสอบประวัติที่พักอย่างละเอียดและอ่านรีวิวต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าของที่พักนั้นๆ ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและเปิดดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

 

ที่มา :  CNN 

]]>
1376502
ส่อง 4 ผลกระทบด้าน ‘เศรษฐกิจ’ หลัง ‘รัสเซีย’ เปิดฉากโจมตี ‘ยูเครน’ https://positioningmag.com/1375298 Thu, 24 Feb 2022 13:42:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375298 วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน กำลังเกิดขึ้น แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินเชื่อมโยงถึงกัน อย่างที่การระบาดของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่ด้านหนึ่งของโลกสามารถทำให้เกิดแรงกระแทกในอีกด้านหนึ่งได้ ดังนั้นไปดูกันว่าผลกระทบที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนเกือบทั่วทั้งโลกมีอะไรบ้าง

ราคาน้ำมันก๊าซธรรมชาติพุ่ง

เนื่องจากรัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน โดยผลิตได้ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณดังกล่าวมากกว่าที่อิรักและแคนาดาผลิตได้รวมกันเสียอีก ดังนั้น เมื่อ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ส่งทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วนี่เป็นการประกาศสงคราม

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 4.73% สู่ระดับ 96.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 4.69% ที่ 101.93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผ่านระดับ 100 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2014 และแม้จะยังไม่มีความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันก็พุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ ยืนยันจะรักษาระดับการผลิตน้ำมันไว้ แต่พอเกิดสถานการณ์ดังกล่าวก็ยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ JPMorgan เตือนว่า หากกระแสน้ำมันของรัสเซียหยุดชะงักจากวิกฤตดังกล่าว ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในกรณีที่การส่งออกน้ำมันของรัสเซียลดลงครึ่งหนึ่ง ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเลยทีเดียว

เกิดภาวะเงินเฟ้อ

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อแย่ขึ้นไปอีก เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลไปถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ก็จะมี ‘ต้นทุน’ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น

นอกเหนือจากกลุ่มพลังงานแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาจประสบกับความผันผวนของราคา เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตโลหะรายใหญ่ อาทิ แร่แพลเลเดียม แพลตตินัม และนิกเกิล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตไมโครชิป ซึ่งอาจทำให้ราคารถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับราคาขึ้น อีกทั้ง รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออก ข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดด้วย ในขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดรายใหญ่ที่สุด ดังนั้น เป็นได้ที่ข้าวของจะแพงยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อน่าจะมากขึ้นสำหรับชาวยุโรป เนื่องจากอยู่ใกล้กับวิกฤตและการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย ขณะที่สหรัฐฯ เองปัญหาเงินเฟ้อถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญอยู่ โดยอัตราเงินเฟ้อแบบปีต่อปีอาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 10% จากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาไม่เคยเพิ่มขึ้นถึง 10% ตั้งแต่ปี 1981

ความปั่นป่วนของตลาดหุ้น

เห็นได้ชัดว่าการบุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้กระตุ้นให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างโกลาหล เนื่องจากนักลงทุนเห็นความเป็นไปได้ที่น้ำมันจะแพงขึ้น เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งได้ส่งผลให้ตลาดอาจอยู่ในภาวะตกต่ำเป็นเวลานานจนอาจทำให้ความมั่งคั่งในตลาดหุ้นและในบัญชีเกษียณอายุหายไปหมดสิ้น และความไม่แน่นอนของตลาดอาจสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและธุรกิจได้เช่นกัน

และเมื่อหลังจากมีข่าวการโจมตียูเครนของรัสเซีย ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง โดย

  • ตลาดหุ้นไทย SET ร่วงลงแล้วกว่า 27 จุด มาอยู่ที่ 1669 จุด
  • ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ร่วงลงกว่า 464.85 มาอยู่ที่ 33,131.76
  • ค่าเงินรูเบิลรัสเซีย (USD/RUB) อ่อนค่าลงอยู่ที่ 84.075 รูเบิลต่อดอลลาร์ ถือว่าลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2016
  • ด้านสกุลเงินดิจิทัลถูกเทขายอย่างรุนแรง Bitcoin ลดลงมาอยู่ที่ 35,034 ดอลลาร์
  • Ethereum ลดลงมาอยู่ที่ 2,350 ดอลลาร์
  • ทองคำ ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดพุ่งทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ +1,950.10 ดอลลาร์
Photo : Shutterstock

การโจมตีทางไซเบอร์และอื่น ๆ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตือนเมื่อวันอังคารถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะโจมตีผ่านโลกไซเบอร์ ตัวอย่างคือ การแฮกระบบโคโลเนียลไปป์ไลน์ ในปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าการโจมตีทางไซเบอร์สามารถก่อกวนโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างรุนแรง โดยการแฮกดังกล่าวได้ปิดท่อส่งก๊าซที่สำคัญที่สุดสายหนึ่งในอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีในระบบการเงินอีกด้วย

“หากรัสเซียโจมตีสหรัฐอเมริกาหรือพันธมิตรด้วยวิธีการที่ไม่สมดุล เช่น การโจมตีทางไซเบอร์กับบริษัทของเราหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เราก็พร้อมที่จะตอบโต้” ไบเดน กล่าว

การโจมตีทางไซเบอร์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนสามารถลุกลามไปสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างไร

“สงครามวิวัฒนาการไปในทางที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีใครควรทึกทักเอาเองว่าพวกเขาสามารถเห็นผลกระทบทั้งหมดของสงครามตั้งแต่เริ่มต้น” Kelly แห่ง JPMorgan กล่าว

CNN / cbsnews

]]>
1375298
“ยูเครน” ห้ามเที่ยวบินพาณิชย์ผ่านน่านฟ้า เสี่ยงถูกยิงตก-โจมตีไซเบอร์ระบบจราจรการบิน https://positioningmag.com/1375131 Thu, 24 Feb 2022 04:43:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375131 สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นทุกที ล่าสุด “ยูเครน” ประกาศห้ามเที่ยวบินพาณิชย์บินผ่านน่านฟ้า เนื่องจากมี “โอกาสเสี่ยงอันตราย” จากการถูกยิงตกโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบจัดจราจรการบินของประเทศยูเครน ส่งผลให้หลายสายการบินหันหัวกลับกะทันหัน และประกาศยกเลิกการบินเข้ายูเครนชั่วคราว

สำนักข่าว Reuters รายงานคำเตือนจากหน่วยงาน Safe Airspace ของ “ยูเครน” ประกาศออกมาเมื่อเวลา 01.56 น. (GMT) ในวันที่ 24 ก.พ. 2022 และจะมีผลจนถึงเวลา 23.59 น. (GMT) นอกจากมีการยืดอายุการประกาศต่อไป โดยเพิ่มระดับความเสี่ยงการบินขึ้นมาเป็นระดับ “ห้ามบิน” ห้ามไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์บินผ่านน่านฟ้าเนื่องจากข้อจำกัดทางการทหาร

การประกาศนี้ทำให้เที่ยวบินที่อยู่ระหว่างเดินทางหลายลำต้องยูเทิร์นกลับกะทันหัน เช่น สายการบิน El Al ที่บินจากเทล อาวีฟ ไปยัง โทรอนโต หรือสายการบิน LOT ที่บินจากกรุงวอร์ซอว์ มุ่งหน้า กรุงเคียฟ ก็ต้องบินกลับเช่นกัน

Safe Airspace เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลความปลอดภัยและการปะทะทางอากาศสำหรับสายการบินต่างๆ หลังจากเคยมีเหตุสายการบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกในเขตตะวันออกของยูเครนมาแล้วเมื่อปี 2014

สายการบิน Ukraine International ในสนามบินบอริสปีล กรุงเคียฟ (Photo: Shutterstock)

นอกจากการโจมตีทางทหารแล้ว ยังมีคำเตือนว่าระบบจัดจราจรการบินของยูเครนอาจจะถูกโจมตีทางไซเบอร์ด้วย ซึ่งทำให้ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นในการบินผ่านน่านฟ้า

ฝั่งรัสเซียเองก็มีการเตือนบุคลากรการบิน ไม่ให้บินผ่านน่านฟ้ารอยต่อพรมแดนรัสเซียกับยูเครน เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ยูเครนจะยกระดับคำเตือน หลายๆ ประเทศมีคำสั่งให้สายการบินของตน ‘หลีกเลี่ยง’ การบินผ่านน่านฟ้าบางส่วนของยูเครนอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ บริเวณตะวันออกของยูเครน และดินแดนไครเมีย ประเทศที่มีคำสั่งเหล่านี้ เช่น สหรัฐฯ อิตาลี แคนาดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ

บางสายการบินเริ่มมีประกาศหยุดบินเข้าออกประเทศยูเครนแล้ว เช่น KLM สายการบินดัตช์ และสายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี

ด้านสายการบินสัญชาติยูเครนเริ่มเผชิญปัญหาทางธุรกิจตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เนื่องจากไม่สามารถหาบริษัทรับทำประกันความปลอดภัยได้ในบางเที่ยวบิน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศแล้วว่า จะดำเนินการปฏิบัติการส่งทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งโดยพฤตินัยแล้วนี่เป็นการประกาศสงคราม ฝั่งยูเครนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วันไปแล้วก่อนหน้านี้

Source

]]>
1375131
เปิด 6 ข้อวิเคราะห์ทิศทางตลาดเงิน-ตลาดทุน หลังเหตุสหรัฐฯ ลอบสังหารนายพลอิหร่าน https://positioningmag.com/1259367 Sat, 04 Jan 2020 12:22:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1259367 หลังสหรัฐอเมริกาเข้าโจมตีทางอากาศสังหาร “นายพลคาสเซม โซเลมานี” แห่งอิหร่านเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2020 สร้างแรงกระเพื่อมในตลาดเงินตลาดทุน โดยตลาดหุ้นโลกราคาตกฮวบ ขณะที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี รวมถึงราคาน้ำมันและพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเลือกหนีตลาดสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง และเกรงว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อซัพพลายน้ำมันระดับโลก

การโจมตีอิหร่านครั้งนี้เกิดขึ้นจากคำสั่งโดยตรงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยกล่าวว่าเป็นภารกิจเพื่อขัดขวางแผนการโจมตีในอนาคตของอิหร่าน ขณะที่ฝั่งอิหร่านตอบโต้กลับด้วยคำแถลงของ อายะตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำระดับสูงของอิหร่านว่า “การแก้แค้นอย่างรุนแรงกำลังรอสหรัฐฯ อยู่”

สำหรับตลาดเงินตลาดทุนจะเป็นอย่างไรหลังความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ติดตามได้จากบทวิเคราะห์จาก 6 แหล่งนี้

1.ทองคำจะเป็นที่ต้องการ

Oanda มองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งสูงขึ้นน่าจะทำให้ราคาหุ้นตกลงอีกในเดือนนี้ และส่งให้เงินลงทุนไหลสู่ตลาดสินทรัพย์ปลอดภัยจนกว่าความกลัวจะลดลง

Oanda กล่าวว่า การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ทำให้ภูมิภาคสั่นสะเทือน และการตายของโซเลมานีนั้นอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น “ภูมิภาคนี้ทั้งหมดกำลังอยู่ในช่วงอ่อนไหว และตลาดหุ้นอาจจะร่วงลงได้อีก” เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์อาวุโสกล่าว “ทองคำจะยังเป็นตลาดสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนชื่นชอบ”

นอกจากนี้ ตลาดสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ เช่น สกุลเงินดอลลาร์ และ สกุลเงินเยน น่าจะเป็นจุดพักเงินลงทุนสูงขึ้น “แต่ทองคำจะยังเป็นราชาของกลุ่มนี้” โมยากล่าวเสริม และเชื่อว่าราคาทองคำจะพุ่งขึ้นจากปี 2019 ไปแตะ 1,600 เหรียญต่อออนซ์ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

2.ใช้โอกาสตลาดขาลงเร่งช้อนซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ

Wedbush มองว่า ราคาหุ้นสหรัฐฯ ที่ทรุดลงเป็น “โอกาสทองในการช้อนซื้อ” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะซื้อ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เพราะราคาถูกลงแล้วในขณะนี้ หลังจากปี 2019 ราคาหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบทศวรรษ

ที่แนะนำหุ้นกลุ่มเทคฯ เพราะ Wedbush มองว่าหุ้นกลุ่มนี้จะเติบโตได้อีกในปี 2020 แม้ว่าจะสะดุดไปบ้างจากเหตุการณ์โจมตีอิหร่าน ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสช้อนซื้อหุ้นเทคฯ เด่นๆ เช่น Microsoft, Apple, Nuance, CyberArk, Fortinet, Varonis, SailPoint, Zscaler 

3.การโจมตีครั้งนี้จะเพิ่มโอกาสเกิดสงคราม

ด้าน Capital Economics กล่าวว่า การลอบสังหารโซเลมานีจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดความขัดแย้งโดยสมบูรณ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน และหากเกิดสงครามขึ้นจริงจะกระทบกับจีดีพีโลกโดยตรงประมาณ 0.3% เนื่องจากเศรษฐกิจอิหร่านจะพังทลาย นอกจากนี้ยังต้องจับตามองว่าสงครามที่อาจเกิดขึ้นจะกระทบกับประเทศในเขตตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือมากน้อยแค่ไหน

Capital Economics ยังกล่าวด้วยว่า อิหร่านอาจโต้กลับด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อส่งให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นทั่วโลก ประเทศพัฒนาแล้วน่าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปอย่างยากลำบาก ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

4.นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป

บริษัทบริหารจัดการการลงทุนส่วนบุคคล CIBC มองว่า อิหร่านมักจะตอบโต้กลับ แต่บริษัทยังคงความเห็นเหมือนเดิมว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปีนี้จะเป็นตลาดกระทิง (ตลาดขาขึ้น) แม้ว่าจะต้องระมัดระวังคอยจับตาดูสถานการณ์ในอิหร่าน แต่นักลงทุนไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

CIBC ยังชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อและรายได้ขององค์กรขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์เศรษฐกิจสุขภาพดี และดีลการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังจะเซ็นสัญญากันนั้นจะยิ่งส่งเสริมให้ตลาดหุ้นเติบโต

5.แนะนำให้ “มองผลกำไรระยะยาว”

ธนาคาร UBS เชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองอาจทำให้ตลาดเหวี่ยงลงอย่างกะทันหันแต่น่าจะเป็นไปในระยะสั้นเท่านั้น นักลงทุนควรจะ “นิ่งไว้ก่อน” และยังไม่ควรปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ตามสถานการณ์โจมตีอิหร่าน

“ความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศยังไม่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดตลาดขาลง นักลงทุนควรจะมองผลตอบแทนในระยะยาวต่อไป” Mark Haefele ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนระดับโลกของ UBS กล่าว เขายังแนะนำลูกค้าด้วยว่า “ไม่ควรคาดหวังการแข่งขันด้านราคาน้ำมัน” และ “ทองคำจะเป็นแหล่งพักเงินที่ดีระหว่างที่การเมืองยังไม่นิ่ง”

6.อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยปฏิบัติการขนาดเล็กมากกว่าสงคราม

ปิดท้ายที่ Pantheon วิเคราะห์ว่า อิหร่านจะตอบโต้กลับการโจมตีของสหรัฐฯ แต่ไม่น่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบขึ้น (แต่ยังคงไม่ตัดความเป็นไปได้ทิ้ง) เนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลกระทบหนักกับประเทศอยู่แล้ว อิหร่านจึงไม่น่าจะต้องการก่อให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบขึ้น

อิหร่านจึงน่าจะหันไปใช้โครงสร้างพื้นฐานคือ “น้ำมัน” ในการตอบโต้ ส่วนในทางการศึก อิหร่านอาจจะใช้ปฏิบัติการขนาดเล็ก เช่น การลักพาตัว ลอบสังหาร เพื่อเพิ่มความตึงเครียด เพราะความกลัวว่าจะเกิดสงครามนี้เองที่จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อยใน 2-3 เดือนข้างหน้า

Source

]]>
1259367