สติกเกอร์ไลน์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 31 Aug 2021 06:55:05 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับ “นายต้นไม้” กับอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้หลักแสน! https://positioningmag.com/1348880 Mon, 30 Aug 2021 06:33:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1348880 เชื่อหรือไม่ว่า การออกแบบสติกเกอร์ไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตอนนี้ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่สามารถเป็นอาชีพหลักได้ด้วยรายได้หลักแสนต่อเดือน ทาง Positioning พาไปพูดคุยกับ “ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” ออกแบบสติกเกอร์ไลน์มาแล้วกว่า 30 ชุด

ยุคบุกเบิก Sticker Creator

ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชัน “LINE (ไลน์)” ได้กลายเป็นแอปฯ แชทที่มีอิทธิพลต่อคนไทยอย่างยาวนาน กลายเป็น Generic Name ในการส่งข้อความต่างๆ หนึ่งในฟีเจอร์ที่ถูกจริตคนไทยอย่างแรงกล้าก็คือ “สติกเกอร์ไลน์” นั่นเอง เรียกว่าถูกใจตั้งแต่กลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ

ในช่วงแรกทางไลน์ได้มีสติกเกอร์เซตทั้งแบบฟรี หรือเรียกว่า Official Account ทางสปอนเซอร์ผลิตสติกเกอร์ไลน์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค และเซตสติกเกอร์การ์ตูนทั่วไป มีทั้งคาแร็กเตอร์ไลน์ และคาแร็กเตอร์ลิขสิทธิ์ต่างๆ

ความนิยมของสติกเกอร์ไลน์สูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2557 ทางไลน์ได้เปิดตัวโครงการ Sticker Creator เปิดโอกาสให้ “คนทั่วไป” ส่งสติกเกอร์เข้าไปขายในแพลตฟอร์มไลน์ได้ เรียกว่าเป็นการบุกเบิกอาชีพ “นักออกแบบสติกเกอร์ไลน์” ในทันที บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่อหวังรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ บางคนส่งสติกเกอร์ไปเพื่ออยากใช้สติกเกอร์ที่ออกแบบเอง หรือบางคนรับจ้างออกแบบสติกเกอร์ไลน์เลยก็ยังมี

“ต้นไม้-มนันห์ตชัย ไพรสินธ์” เจ้าของคาแร็กเตอร์ “นายต้นไม้” เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบสติกเกอร์ หรือครีเอเตอร์ในยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้ ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดโครงการ ปัจจุบันได้ออกแบบสติกเกอร์ออกมาให้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 30 ชุด สร้างรายได้รวมถึงหลักล้านบาท สติกเกอร์ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้เขาอย่างมาก คือ สติกเกอร์ “นายต้นไม้ ver.2”

ต้นไม้ ครีเอเตอร์หนุ่มวัย 30 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก รักการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกต้นไม้อยากเรียนสายนิเทศศิลป์ แต่ด้วยทุนทรัพย์ที่ไม่พร้อมเท่าไหร่นัก จึงต้องเบนเข็มมาเรียนคณะ “จิตรกรรม” ม.ขอนแก่น

จุดเริ่มต้นของการวาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้นั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงตอนเรียนปี 3 ได้เริ่มทำเพจ นายต้นไม้ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านยูสเซอร์ ภายในเพจส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพวาดการ์ตูน พร้อมกับคอนเทนต์แนวคู่รัก รวมถึงคอนเทนต์ที่อิงกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ทำให้มีคนชื่นชอบ และแชร์กันเยอะ

จากนั้นก็เริ่มมีแฟนเพจเสนอความคิดเห็นว่าให้ทำสติกเกอร์ไลน์ได้ ประกอบกับเจอพี่ที่รู้จักคนหนึ่งก็ให้คำแนะนำเรื่องการทำสติกเกอร์ไลน์ จึงได้เริ่มทำอย่างจริงจัง ในตอนแรกนั้นยังไม่มีทีมงานในประเทศไทยในการอนุมัติสติกเกอร์ของคนไทยด้วยซ้ำ แต่ก็เริ่มมีกลุ่มไลน์ครีเอเตอร์ที่แลกเปลี่ยนความรู้กัน

“นายต้นไม้” คาแร็กเตอร์ผู้ชายธรรมดา

ต้นไม้ได้วาดคาแร็กเตอร์นายต้นไม้ที่สะท้อนตัวตนของตัวเอง เป็นเด็กผู้ชายผมตั้ง มีเครา ซึ่งตรงกับคาแร็กเตอร์ของตัวเขาเอง ต้นไม้บอกว่าตอนนั้นตั้งใจวาดการ์ตูนไปจีบสาว เลยทำเป็นคาแร็กเตอร์ตัวเอง

ถ้าถามว่าความนิยม หรือความสำเร็จอของคาแร็กเตอร์นี้เกิดจากอะไร ต้นไม้ตอบอย่างซื่อๆ ว่า “ความเป็นผู้ชายธรรมดา” นั่นเอง

ต้นไม้เริ่มเล่าถึงกระบวนการในการวาดสติกเกอร์ไลน์ในช่วงแรกว่า “หลังจากที่สมัครโครงการ ก็เริ่มวาดวันนั้นเลย ใช้เวลาวาด 2-3 สัปดาห์ ได้การ์ตูน 40 ตัว ชุดแรกชื่อว่านายต้นไม้กับนายโดโด้ คำว่าครีเอเตอร์จะต่างจากนักวาดรูป นักวาดรูปจะวาดอะไรก็ได้ แต่สติกเกอร์ต้องสื่อสาร มีความหมาย จะใช้คำไหนอะไรยังไง ตอนนั้นยังไม่มีอินไซต์อะไรด้วย ส่งไปตรวจครั้งแรกเกือบ10 เดือน แล้วโดนตีกลับมา พอแก้แล้วส่งไปใหม่ก็รออีก 5-6 เดือน จนได้วางขาย”

หลังจากที่วางขายเดือนแรกมียอดขาย 14,000 บาท จากนั้นเลยทำชุดที่ 2 คาแร็กเตอร์โดโด้ เดือนแรกมียอดขายแค่ 3,000 บาท จึงเกิดอาการท้อ ไม่อยากทำแล้ว จากนั้นก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ว่าสติกเกอร์ต้องมีอะไรบางอย่างที่แตกต่าง และเป็นตัวเอง

จากนั้นจึงได้ทำสติกเกอร์นายต้นไม้กับแฟน ซึ่งต้นไม้บอกว่าตอนนั้นถือเป็นคนแรกที่ทำสติกเกอร์คู่รัก พร้อมกับใส่ข้อความสำหรับคู่รัก เช่น “ยอมแล้วค้าบ” หรือง้อ งอน เป็นต้น ทำให้สติกเกอร์เป็นไวรัล มีดารานำมาใช้ คนแชร์ 60,000-70,000 ครั้ง

ส่วนชุดที่สร้างชื่อ และดังเปรี้ยงที่สุดก็คือ นายต้นไม้ Ver.2 มียอดขายขึ้นอันดับ 1 อยู่ 2 เดือน มีข้อความ คาแร็กเตอร์ที่ถูกจริตคนไทยมากขึ้น กล้าใส่แอคชั่นต่างๆ เช่น หอมแก้ม บีบแก้ม เขย่าตัว ทำให้คนใช้งานได้ในหลายโอกาส

“การวาดสติกเกอร์ไลน์มีความยากตรงที่ จะสร้างคาแร็กเตอร์ยังไงให้เป็นตัวเรามากที่สุด หลายคนเปลี่ยนแนวไปเรื่อย ต้องเกาะตามกระแส พอขายไม่ได้จะไปหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ บางคนก๊อบปี้เลย ทำให้คาแร็กเตอร์ไม่ชัด มันก็ขายยาก ถ้าเรามีคาแร็กเตอร์ชัดเจน แข็งแรง ยังไงคนก็จำได้ ขายได้”

ลงทุนหลักพัน รายได้หลักแสน!

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การที่จะออกแบบสติกเกอร์ไลน์ต้องลงทุนอะไรบ้าง แล้วต้องมีอุปกรณ์เยอะหรือไม่ ลงทุนแล้วคุ้มค่ามั้ย ต้นไม้บอกว่าแรกเริ่มเขาลงทุนซื้อแค่ “เมาส์ปากกา” ในงบ 2,000-3,000 บาท เท่านั้น แต่ถ้าใครมีงบขึ้นมาหน่อยก็ถอย iPad สักเครื่องก็ยังได้ แต่สำหรับต้นไม้นั้น การลงทุนหลักพัน แต่ได้ผลตอบแทนหลักแสนต่อเดือนทีเดียวเชียว!

ปัจจุบันต้นไม้มีสติกเกอร์วางขายทั้งหมด 30-40 ชุด รายได้เฉลี่ย 100,000-200,000/เดือน เซตนายต้นไม้ Ver.2 ยังคงติดท็อปอยู่ ต่อไปตั้งเป้าว่าจะออกสติกเกอร์นายต้นไม้ปีละ 1 เซต

“แต่การวาดสติกเกอร์ก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกัน บางชุดบทจะมาก็มา บทจะไม่มาก็ไม่มา ต้องรู้คำในกระแส บางทีนึกคำอะไรได้จะพิมใส่โน้ตไว้ก่อน หรือจะใช้วิธีตั้งโพสต์ถามแฟนเพจ”

ไม่ใช่งานอดิเรก แต่คืออาชีพหลัก

ในตอนนี้ต้นไม้พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า การเป็นนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ เป็นอาชีพหลักที่ใช้เลี้ยงชีพ และเลี้ยงครอบครัว ไม่ได้เป็นแค่งานอดิเรก หรืองานเสริมอีกต่อไป

แต่เดิมต้นไม้ค่อนข้างมีฐานะยากจน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีไปนั่งสเก็ตช์รูปตามถนนคนเดินเพื่อหารายได้เสริม และเป็นนักดนตรีกลางคืนได้รายได้ชั่วโมงละ 300 บาท พอเล่นดนตรีเสร็จก็กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อ จนถึงตอนนี้ได้เลิกเล่นดนตรีมา 4 ปีแล้ว

“แต่ก่อนผมเล่นดนตรีกลางคืนได้ชั่วโมงละ 300 บาท เล่นเสร็จตี 2 กลับมาวาดสติกเกอร์ต่อถึง 6 โมงเช้า ถ้าคนอื่นเดิน ผมจะวิ่ง ไม่เคยทิ้งอะไรเลย ดนตรีก็ไม่ทิ้ง วาดสติกเกอร์ก็ไม่ทิ้ง จนตอนนี้เลิกเล่นดนตรีได้ 4 ปี เพราะมีครอบครัว”

แต่ช่วงของวิกฤต COVID-19 ที่กระทบไปทุกอาชีพ ทุกสายงาน ต้นไม้ที่ทำอาชีพหลักคือนักออกแบบสติกเกอร์ไลน์ ก็ทำอาชีพเสริมด้วยการขายอาหาร ต้นไม้บอกว่า ถ้าไม่ได้วาดสติกเกอร์ ตอนนี้คงเป็น “พ่อครัว” อยู่

“ครีเอเตอร์เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ขอแค่ทำให้สำเร็จ ต้องสม่ำเสมอ อาจจะยากในช่วงชุดแรก เราทุกคนหวังที่จะดังในชุดแรกเสมอ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วอย่าท้อ จริงๆ อาชีพนักวาดในเมืองไทยมันไม่ค่อยรุ่งเท่าไหร่ด้วยซ้ำ เพราะคนไทยไม่ค่อยเสพงานศิลปะ มันไม่เห็นทาง แต่ครีเอเตอร์เป็นช่องทางสำคัญสร้างรายได้ให้คนออกแบบ คงไม่รวยใน 1-2 ชุด แต่เป็นค่าขนมได้”

สุดท้ายต้นไม้ได้ฝากถึงคนที่อยากเป็นครีเอเตอร์ อยากให้ลงมือทำเลย อย่ากลัว ไม่มีอะไรน่ากลัว ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ทำ กับตัวเอง ทำมันถึงที่สุด วันนึงผลผลิตดอกไม้จะเบ่งบาน ทำจนกว่างานจะไม่ต้องการเราแล้ว วาดจนกว่าร่างกายจะบอกว่าไม่ไหว เกาะกระแสในบางคำ ตามคีย์เวิร์ดให้ทัน ใช้คำที่ใช้ได้ ต้องวางแผนให้ดีด้วย รวมถึงคำนึงเรื่องวัฒนธรรมแต่ละประเทศ อย่างคำว่าอ้วน คนไทยจะชอบ ดูน่ารัก แต่ในต่างประเทศจะไม่ค่อยชอบกัน

]]>
1348880
ไม่ต้องตกใจ! ปี 2018 คนไทยส่งสติกเกอร์ไลน์กว่า 11,000 ล้านครั้ง https://positioningmag.com/1210200 Thu, 24 Jan 2019 23:07:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1210200 Thanatkit

คนไทยชอบใช้สติกเกอร์ไลน์ขนาดไหน? ดูได้จากสถิติที่ไลน์เผยออกมา ตลอดทั้งปี 2018 มีคนไทยส่งสติกเกอร์รวมกันกว่า 11,000 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ใช้ไลน์ทั้งหมด 44 ล้านบัญชี โดยเป็นยอดการส่งจากสติกเกอร์ที่เสียเงินซื้ออย่างเดียว ไม่ได้รวมกับแจกฟรี

กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย บอกว่า ไฮไลต์ของกลุ่มธุรกิจไลน์สติกเกอร์ซึ่งติด Top 3 ธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดร่วมกับโฆษณาและออฟฟิเชียล แอคเคาท์ ให้กับไลน์ ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีด้วยกัน 2 ข้อคือ

  1. เติบโตเป็นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศผู้ใช้งานสติกเกอร์ไลน์สูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย โดยจำนวนผู้ซื้อสติกเกอร์สูงขึ้นกว่า 28%
  2. สัดส่วนยอดขายระหว่างออฟฟิเชียลสติกเกอร์ และครีเอเตอร์สติกเกอร์ ได้ปรับใหม่จาก 60:40 เป็น 50:50 โดยยอดขายจากครีเอเตอร์สติกเกอร์เติบโต 40%

ชื่อเล่นคำตัวใหม่คนดัง” 4 เทรนด์ที่คนใช้ชอบ

การเติบโตของไลน์สติกเกอร์ในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งในเรื่องของตัวคอนเทนต์เอง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นของสติกเกอร์

โดย 4 เทรนด์สติกเกอร์ที่คนไทยนิยมใช้ในปีที่ผ่านมาคือสติกเกอร์ชื่อ นิยมอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก กระตุ้นให้คนที่ไม่เคยซื้อสติกเกอร์หันมาซื้อ เพราะอยากมีไว้โต้ตอบคนคนอื่นๆ สติกเกอร์เล่นคำเป็นไปตามพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบคำกวนๆ หรือการใช้สติกเกอร์ที่ทำเป็นโจทย์ออกมาให้หาคำตอบ

สติกเกอร์ตัวอักษรใหญ่ใช้ง่ายไม่ต้องคิดเยอะ และสติกเกอร์คนดังอย่างตอนต้นปีสติกเกอร์บุพเพสันนิวาส และ BNK48 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยอดขายหลักๆ จะอยู่ในกลุ่มแฟนคลับที่ซื้อ เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบและสนับสนุนศิลปิน ซึ่งบางรายออกมาเจาะเฉพาะแฟนคลับเลยก็มี

ความชื่นชอบในศิลปินของแฟนคลับทำให้ไลน์สามารถเพิ่มยอดขายให้กับธีมมากขึ้นด้วยนอกเหนือจากการออกธีมที่มีราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท จากปรกติเริ่มต้นที่ 90 บาทแล้ว ไลน์ยังผลักดันให้กลุ่มศิลปินออกธีมมากขึ้น โดยพบว่า 1 ใน 4 ของคนที่ซื่อสติกเกอร์ศิลปินจะซื้อธีมด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือการทำ Collaboration Stickers หรือการออกสติกเกอร์ที่เป็นคอนเทนต์จากค่ายผู้ผลิต ที่ออกแบบโดยครีเอเตอร์ชื่อ เช่น Jay the Rabbit X Shewsheep Happy Duo และ Jumbooks X GMM Music วิธีนี้ไลน์เชื่อว่าจะทำให้ได้ฐานแฟนคลับของทั้งคู่รวมกันซื้อ

ผู้ชายซื้อเยอะขึ้น

หนึ่งในพฤติกรรมผู้ใช้ที่ไลน์พบในปีที่ผ่านมาคือ ผู้ชายหันมาซื้อสติกเกอร์เยอะขึ้นจากสัดส่วน 30% เป็น 40% “กณพอธิบายว่า มาจากสติกเกอร์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่การที่จะออกมาเพื่อให้ผู้ขายโดยเฉพาะอาจไม่ถูกซื้อ

จำนวนของครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นเฉพาะปี 2018 ปีมีครีเอเตอร์หน้าใหม่ลงทะเบียนกว่า 420,000 คน เติบโต 75% ทำให้มีสติกเกอร์จากครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว วางขายกว่า 1.4 ล้านเซต

ไม่มีใครตอบได้ว่าผู้ใช้ชอบสติกเกอร์แบบไหนกันแน่ สิ่งที่ไลน์ทำได้คือการผลักดันครีเอเตอร์ ให้ทำผลงานออกมาให้มากที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้และเป็นการขยายฐานผู้ใช้งานไปในตัว

กณพแนะนะข้อควรระวังสำหรับครีเอเตอร์ที่อยากทำสติกเกอร์ ต้องเป็นคอนเทนต์ไม่รุนแรง หยาบคาย สื่อความหมายทางเพศ กระทบกับศาสนา ซึ่งแม้ไลน์จะเปิดโอกาสให้เครีเอเตอร์เลือกจำหน่ายในระบบกว่า 220 ประเทศ แต่บางประเทศก็จะมีกฎที่เข้มงวด เช่น อินโดนีเซีย การ์ตูนผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย หรือไม่มีผ้าคลุมศีรษะ จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ออกจำหน่าย

จับมือ ยูทูบเบอร์” ขยายฐานสติกเกอร์

ช่วงกลางปี 2019 ไลน์เตรียมเปิดตัวสติกเกอร์ใหม่ๆ หนึ่งในนั้นผลักดันให้ยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ มาทำเป็นออฟฟิเชียลสติกเกอร์ ซึ่งหลักๆ ไลน์จะวัดจากจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งแม้จะมีฐานแฟนคลับที่ไม่มากเท่ากับศิลปิน แต่กลุ่มนี้กลับมีเอ็นเกจเมนต์มีมากกว่า

โดยไลน์มีสล็อตเวลาที่ชัดเจนสำหรับเปิดตัวออฟฟิเชียลสติกเกอร์ คือทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี จำกัดวันละไม่เกิน 3 ชุด เพราะไม่อย่างนั้นจะมีการดึงความสนใจของกันเอง และอาจจะทำให้มีผลต่อการขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตารางขาย

ไลน์เชื่อว่าเมื่อเทียบอัตราการเข้าถึงสติกเกอร์ในเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อีก ในปีนี้ไลน์จึงเตรียมใช้ระบบ BCRM (Business Connect for CRM) เข้ามาช่วยโปรโมตผ่าน ออฟฟิเชียล แอคเคาท์ของไลน์สติกเกอร์ที่มีสมาชิกกว่า 30 ล้านคน

ระบบ BCRM ช่วยให้ไลน์เลือกกลุ่มเป้าหมายได้ แรกๆ จะเป็นการยิงโฆษณากว้างๆ ระหว่างชายและหญิง แต่ต่อไปอาจขึ้นขั้นออกโปรโปรชั่นเฉพาะบุคคลได้

ความท้าทายอยู่ที่ขยายช่องทางชำระเงิน

สิ่งที่เป็นความท้าทายของไลน์ที่สุดเวลานี้อยู่ที่ช่องทางการซื้อยังไม่ครอบคลุม โดยเมื่อ 2 ปีก่อน 39% ของกลุ่มผู้ใช้ไลน์ไม่รู้วิธีในการซื้อสติกเกอร์ และต้องจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตปลายปี 2017 จึงเพิ่มช่องทางการซื้อผ่านตู้เติมเงินบุญเติมและเติมสบายพลัส รวมกัน 170,000 ตู้ ปีที่ผ่านมามีผู้ที่ซื้อผ่านช่องกว่านี้กว่า 1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 60-70% เป็นลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยซื้อมาก่อน

ในปี 2019 ไลน์จะเพิ่มการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ในไตรมาส 2 กณพ มองว่าเมื่อรวบทุกธนาคารรวมกันจะมียอดผู้ใช้ที่แอคทีฟเกิน 10 ล้านบัญชี ไลน์เชื่อว่าช่องทางนี้จะเพิ่มยอดชำระเงินจากผู้ใช้ใหม่อีก 30% รายได้และกำไรที่อาจเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า 30% ให้กับเจ้าของระบบปฏิบัติการอีกต่อไป

ส่วนในช่องทางเติมอย่างตู้เติมเงินไลน์เตรียมทำกิจกรรมเข้าหาผู้ใช้มากขึ้น เช่นกลุ่มของสติกเกอร์ลูกทุ่ง เช่น ต่าย อรทัย, เปาวลี และ เต๋า ภูศิลป์ ต่อไป ศิลปินที่มีงานโชว์ตัวหรือคอนเสิร์ต ไลน์จะนำตู้ไปจัดกิจกรรมด้วย.

]]>
1210200
คนไทยส่งความสุขผ่านสติกเกอร์ไลน์ สูงกว่า 252 ล้านครั้ง ช่วงเทศกาลปีใหม่ เฉลี่ยสูงถึงชั่วโมงละ 6.5 ล้านครั้ง ผู้หญิงอายุ 25-29 ปีใช้งานสูงสุด https://positioningmag.com/1206688 Sat, 05 Jan 2019 04:57:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1206688 LINE ประเทศไทย เผยสถิติการส่งสติกเกอร์ช่วงเทศกาลปีใหม่ มียอดการส่งสติกเกอร์ทั้งในรูปแบบที่มีการจำหน่าย และแจกฟรีโดยแบรนด์ต่างๆ รวม 2 วัน ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2018 – 1 มกราคม 2562 สูงกว่า 252 ล้านครั้ง โดยเฉพาะวันที่ 1 มกราคม 2561 มีการส่งตลอด 24 ชั่วโมงกว่า 157 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6.5 ล้านครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 51%

โดยเซตสติกเกอร์สำหรับจำหน่ายที่ถูกส่งสูงสุดในช่วงรอยต่อปีใหม่ 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. X’Mas and New Year: Colorful Blessings: สวี้ตเกิร์ล: อวยพรสดใส X’Masและปีใหม่ (1.38 ล้านครั้ง)
  2. [Big Stickers] TuaGom : [บิ๊กสติกเกอร์] ตัวกลม น้องแว่นแสนซน (1.31 ล้านครั้ง)
  3. Hello Pig Year: สวัสดีปีหมู (1.12 ล้านครั้ง)
  4. Jumbooka Celebration Edition : จั๊มบุกก้า: ฉลองเทศกาลพิเศษ (7.6 แสนครั้ง)
  5. [Big Stickers] BROWN & FRIENDS : [บิ๊กสติกเกอร์] BROWN & FRIENDS (6.9 แสนครั้ง)

นอกจากนี้ ฝั่งสติกเกอร์แบรนด์ที่ให้ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดไปใช้ฟรี ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยสติกเกอร์จากแบรนด์ 5 อันดับแรกที่ถูกส่งในช่วงเทศกาลปีใหม่สูงสุด ได้แก่

  1. The Knight Family จาก Krungthai-AXA (9.7 ล้านครั้ง)
  2. Celebrate with the Rakyim Family จาก MuangThai Life (8.3 ล้านครั้ง)
  3. Krungsri Bear: Happy New Year 2019 จาก Krungsri (6.6 ล้านครั้ง)
  4. H-MAN: More Fun & Playful จาก Truemove H (5.2 ล้านครั้ง)
  5. TQM Blue Beary 4 จาก TQM (4.7 ล้านครั้ง)

จากข้อมูลดังกล่าว ถือเป็นการตอกย้ำพฤติกรรมคนไทยที่ชอบส่งสติกเกอร์เพื่อสร้างสีสันในการสื่อสารให้สนุกยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาถือว่ามีการใช้สติกเกอร์มากกว่าเดิม ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดแซงหน้าประเทศญี่ปุ่น โดย 69% ของผู้ซื้อสติกเกอร์เป็นผู้หญิง โดยเป็นกลุ่มอายุระหว่าง 25-29 ปี สูงถึง 22%

นอกจากนี้เพื่อตอบรับกับความต้องการของคนไทยในเรื่องของความเป็นมงคลต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ LINE STICKERS ได้เปิดตัวคอนเทนต์ประเภทใหม่ “ดวงชะตาราศี (Horoscpope) ประเดิมด้วยสติกเกอร์และธีมที่ออกแบบโดยหมอช้าง (ทศพร ศรีตุลา) สำหรับทั้ง 12 นักษัตร มีการออกแบบโดยคำนึงถึงแต่ละนักษัตร เช่น รูปแบบการแก้ไขปีชง สีมงคลที่ส่งเสริม เพื่อความเป็นมงคลทุกครั้งที่เปิดใช้งานไลน์ ซึ่งแคมเปญดังกล่าวก็ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ไลน์เป็นอย่างดี โดยธีมนักษัตรที่ถูกดาวน์โหลดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปีกุน ปีวอก และปีมะโรง ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้งานธีมมงคลที่เป็นผู้หญิงสูงถึง 80%.

]]>
1206688