สายการบิน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 07 Aug 2024 08:11:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โลว์คอสต์อินเดีย “IndiGo” เปิดฟังก์ชันให้ผู้โดยสารหญิง “เลี่ยงจองที่นั่งติดกับผู้ชาย” ได้แล้ว https://positioningmag.com/1485414 Wed, 07 Aug 2024 06:17:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1485414 “IndiGo” สายการบินโลว์คอสต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย เปิดฟีเจอร์พิเศษให้ผู้โดยสารหญิงหลีกเลี่ยงการจองที่นั่งติดกับผู้โดยสารชายได้

ฟีเจอร์ลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในธุรกิจสายการบิน โดยวิธีการก็คือเมื่อไปถึงขั้นตอนการเลือกที่นั่ง ผู้โดย สารหญิงจะมองเห็นที่นั่งที่จองโดยผู้โดยสารหญิงเหมือนกันขึ้นเป็นสีชมพู ทำให้พวกเธอสามารถเลือกที่จะจองที่นั่งติดกับผู้หญิงด้วยกันได้ เลี่ยงการนั่งติดกับผู้โดยสารชาย

ส่วนผู้โดยสารชาย เมื่อเข้ามาถึงหน้าเลือกที่นั่งจะมองไม่เห็นฟีเจอร์นี้ เป็นการเลือกที่นั่งตามปกติ เนื่องจากผู้โดยสารบนสายการบิน IndiGo จะต้องระบุเพศของตนเมื่อจะจองที่นั่ง ทำให้สายการบินสามารถควบคุมฟีเจอร์นี้ได้

ทางสายการบิน IndiGo เริ่มทดลองการใช้งานฟังก์ชันนี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และเป็นการเปิดฟีเจอร์ให้ใช้ได้ทุกไฟลท์บิน

“Pieter Elbers” ซีอีโอของ IndiGo กล่าวกับสำนักข่าว CNBC ว่า ฟีเจอร์ใหม่นี้ “ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวก” บนโซเชียลมีเดีย และเป็นเสียงเชิงบวกทั้งลูกค้าในอินเดียและในระดับสากล

โดยผลตอบรับจากโซเชียลมีเดีย เช่น X และ Reddit ระบุไปในเชิงบวกว่าฟีเจอร์ของสายการบินนี้เป็น “ข่าวดี” ของผู้หญิง เพราะพวกเธอเคยประสบเหตุการณ์แย่ๆ มาแล้วจากการเดินทางคนเดียว เช่น ถูกลวนลามบนเครื่องบิน ผู้ชายชอบนั่งถ่างขาทำให้ผู้หญิงที่นั่งติดกันนั่งไม่สะดวกเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับเชิงลบก็มีเช่นกัน บางคนเห็นว่าการสร้างฟีเจอร์นี้เป็นการเหยียดเพศและกีดกันทางเพศ รวมถึงมีคนตั้งคำถามด้วยว่าสายการบินจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่มีผู้ชายที่ระบุตัวตนเป็นหญิงเพื่อตั้งใจเข้ามาจองที่นั่งติดกับผู้หญิงในระบบ

(Photo: Towfiqu barbhuiya / Pexels)

ทั้งนี้ คดีผู้ชายลวนลามหรือล่วงละเมิดผู้หญิงบนเครื่องบินนั้นตกเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2023 มีข่าวผู้โดยสารชายรายหนึ่งเมาหนักและปัสสาวะรดผู้โดยสายหญิงบนสายการบิน Air India ที่กำลังเดินทางจากนิวยอร์กไปยังนิวเดลี

ในปีเดียวกันยังมีข่าวผู้โดยสารชายแอบลวนลามผู้โดยสารหญิงบนเที่ยวบิน IndiGo จากมุมไบไปยังกูวาฮาติ โดยเขาใช้วิธียกที่พักแขนขึ้นเพื่อสัมผัสตัวเธอระหว่างที่เธอนอนหลับอยู่

ย้อนไปในปี 2019 ชายวัย 39 ปีซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดียและเป็นผู้พำนักถาวรในสิงคโปร์ถูกสั่งจำคุก 4 เดือน หลังลวนลามจับต้องเนื้อตัวของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงวัย 22 ปี ระหว่างเดินทางจากเมืองโคจิในอินเดียไปยังสิงคโปร์ ทางพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้การว่าผู้ชายคนนี้มีกลิ่นแอลกอฮอล์และขึ้นเครื่องโดยไม่ได้รูดซิปกางเกง

สำหรับ IndiGo เป็นสายการบินที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ทำการบินวันละกว่า 2,000 เที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนปริมาณนักท่องเที่ยวอินเดียก็น่าจะเติบโตขึ้นอย่างมาก จากการรายงานของ Booking.com และ McKinsey คาดว่านักท่องเที่ยวอินเดียจะมีการเดินทางปีละ 5,000  ล้านทริปในปี 2030 และ 99% จะเป็นการเที่ยวภายในประเทศอินเดียเอง

Source

]]>
1485414
Qantas ยอมจ่ายค่าปรับและเงินชดเชยให้ลูกค้า 87,000 ราย หลังเปิดขายตั๋วเที่ยวบินทิพย์ https://positioningmag.com/1472192 Mon, 06 May 2024 06:54:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1472192 แควนตัส (Qantas) สายการบินรายใหญ่ของออสเตรเลีย ได้ยอมที่จะจ่ายค่าปรับรวมถึงเงินชดเชยเยียวยาลูกค้ารวมกันถึง 120 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หลังจากที่สายการบินได้เปิดขายตั๋วเที่ยวบินที่ไม่มีจริง หรือเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกไปแล้วในช่วงปี 2021-2022 สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคมากถึง 87,000 ราย

Qantas สายการบินรายใหญ่ของออสเตรเลีย ได้ยอมที่จะจ่ายค่าปรับรวมถึงเงินชดเชยเยียวยาลูกค้ารวมกันถึง 120 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หลังจากที่สายการบินได้เปิดขายตั๋วเที่ยวบินที่ไม่มีจริง หลังจากที่เป็นคดีความมาตั้งแต่ปี 2022

Gina Cass-Gottlieb ประธานคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์ว่า พฤติกรรมของ Qantas ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากวางแผนวันหยุด หรือเดินทางด้านธุรกิจ และการเดินทางดังกล่าวต้องยกเลิกลงหลังจากจองเที่ยวบินดังกล่าวเป็นเที่ยวบินที่ไม่มีจริง

เม็ดเงินที่ Qantas จะต้องจ่ายรวมกันนั้นสูงถึง 120 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 2,922 ล้านบาท ประกอบไปด้วยค่าปรับ 100 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอีก 20 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินชดเชยสำหรับเที่ยวบินในประเทศ 225 เหรียญออสเตรเลีย และ 445 เหรียญออสเตรเลียสำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ

Vanessa Hudson ซึ่งเป็น CEO ของสายการบินได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การจ่ายค่าปรับและเงินชดเชยนั้นเป็นสิ่งที่สายการบินให้ความสำคัญเนื่องจากต้องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้งในฐานะสายการบินประจำประเทศออสเตรเลีย

สำหรับเที่ยวบินที่ไม่มีจริงของ Qantas ได้มีการวางขายตั๋วบนเว็บไซต์ของสายการบินในช่วงปี 2021 และ 2022 ซึ่งเป็นปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 87,000 ราย

กรณีที่เกิดขึ้นยังทำให้กลุ่มเฝ้าระวังผู้บริโภคของออสเตรเลียรวมตัวกันฟ้องร้อง Qantas จากเหตุการณ์ดังกล่าว

หลังเหตุการณ์การฟ้องร้องของกลุ่มเฝ้าระวังผู้บริโภคของออสเตรเลียยังทำให้ CEO ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่าง Alan Joyce ยังต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งล่วงหน้า 2 เดือน และยังทำให้สายการบินรายใหญ่ได้ปรับปรุงการบริหารภายในชุดใหญ่ เช่น การตั้ง CEO คนใหม่เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น

ในปี 2023 ที่ผ่านมาสายการบินของออสเตรเลียรายนี้มีกำไรมากถึง 1,744 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 42,473 ล้านบาท แต่สายการบินรายนี้มีข้อวิจารณ์จากผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น การขึ้นราคาค่าตั๋วเครื่องบิน บริการลูกค้าที่ย่ำแย่ หรือแม้แต่กรณีการปลดพนักงาน 1,700 รายอย่างผิดกฎหมาย

ที่มา – BBC, Al Jazeera, ABC

]]>
1472192
“บางกอกแอร์เวย์ส” ตั้งเป้าปี 2567 โตฉ่ำ 20% ปรับราคาตั๋วขึ้นอีก 4% แนวโน้มดีมานด์ฟื้นใกล้ก่อนโควิด-19 https://positioningmag.com/1468394 Sat, 30 Mar 2024 05:06:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468394 สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ตั้งเป้าปี 2567 รายได้ผู้โดยสารแตะ 17,800 ล้านบาท เติบโต 20%ากปีก่อนหน้า ราคาตั๋วคาดปรับขึ้นได้อีก 4% หลังดีมานด์การท่องเที่ยวยังเติบโตจนใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 เตรียมผนึกสายการบินโค้ดแชร์เพิ่มอีก 2 สาย เพิ่มเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 2 ลำ

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ทำรายได้รวม 21,732 ล้านบาท EBITDA ของบริษัทฯ เท่ากับ 4,782 ล้านบาท คิดเป็น EBITDA Margin เท่ากับ 23% และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,108 ล้านบาท

ทั้งนี้ เฉพาะรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) อยู่ที่ 14,913 ล้านบาท เติบโต 76.5% จากปีก่อนหน้า สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในปี 2566

รายละเอียดธุรกิจการบินของบางกอกแอร์เวย์สเมื่อปี 2566 มีผู้โดยสารสายการบิน 3.97 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 44,774 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) แตะ 79% และ Passenger Yield แตะ 6.00 บาท

ตัวเลขเหล่านี้เทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ยังต่ำกว่าในแง่ของจำนวนผู้โดยสารที่เคยทำได้ 5.86 ล้านคน และในแง่จำนวนเที่ยวบินที่เคยมี 70,810 เที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ปรับสูงกว่าคือ %Load Factor ที่เมื่อปี 2562 เคยมีเพียง 68% รวมถึง Passenger Yield เคยอยู่ที่ 4.30 บาท

 

เป้าหมายปี 2567 รายได้ผู้โดยสารเติบโต 20%

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ปี 2567 ตั้งเป้าการดำเนินงาน ดังนี้

  • เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็น 48,000 เที่ยวบิน (+7% YoY)
  • อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) เพิ่มเป็น 85%
  • จำนวนผู้โดยสารแตะ 4.50 ล้านคน (+13% YoY)
  • ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,900 บาทต่อเที่ยวบิน (+4% YoY)
  • รวมรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท (+20% YoY)

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีการให้บริการเที่ยวบินใน 20 จุดหมายปลายทาง แบ่งเป็นในประเทศ 12 จุดหมาย เช่น กรุงเทพฯ เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และต่างประเทศ 8 จุดหมาย เช่น มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ในจำนวนนี้มี 2 เส้นทางบินล่าสุดที่บางกอกแอร์เวย์สเพิ่งกลับมาเปิดเส้นทางอีกครั้ง คือ “สมุย-ฉงชิ่ง” และ “สมุย-เฉิงตู”  ทั้งนี้ ปี 2567 ยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางบินใหม่ แต่จะเน้นการเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีดีมานด์สูง

สนามบินเกาะสมุย

พุฒิพงศ์กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าในไตรมาส 2 ปีนี้ถือว่าสูงกว่าปีก่อน 14% เป็นสัญญาณแนวโน้มที่ดี โดยมีเส้นทางบินที่มีการจองล่วงหน้าสูงขึ้นมาก คือ เส้นทางบินเกาะสมุย เส้นทางไปกลับกัมพูชา และเส้นทางหลวงพระบาง

 

เพิ่มโค้ดแชร์อีก 2 สายการบิน เพิ่มเครื่องบินอีก 2 ลำ

ในแง่กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้ได้ตามเป้า พุฒิพงศ์กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญคือ “ความร่วมมือกับพันธมิตรสายการบิน” โดยปัจจุบันมีสายการบินโค้ดแชร์อยู่ 28 สายการบิน มีสายการบิน Top 5 ที่สร้างรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์สมากที่สุด คือ การบินไทย, เอมิเรตส์, กาตาร์, อีวีเอ แอร์ และแควนตัส

ในปี 2567 บางกอกแอร์เวย์สมีแผนจะเพิ่มสายการบินพันธมิตรโค้ดแชร์อีก 2 สายการบิน (*ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด) ซึ่งจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารได้

ด้านการเพิ่มจำนวนเครื่องบินในฝูงบิน ณ สิ้นปี 2566 บางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินในฝูงบิน 24 ลำ ขณะที่ปี 2567 บริษัทคืนเครื่อง Airbus A320 ไป 1 ลำ และจะได้รับมอบเครื่องบินรุ่น Airbus A319 มาอีก 2 ลำในช่วงไตรมาส 3-4 นี้ ทำให้จนถึงสิ้นปี 2567 คาดฝูงบินจะมีเครื่องบินรวม 25 ลำ

บางกอกแอร์เวย์ส
“อมรรัตน์ คงสวัสดิ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ส่วนการขยายช่องทางการขาย “อมรรัตน์ คงสวัสดิ์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Online Travel Agency (OTA), BSP Agent และสายการบินโค้ดแชร์ต่างๆ แล้ว ปีนี้บริษัทฯ ยังจะเพิ่มสำนักงานขาย GSA Office อีก 2 แห่งใน “ซาอุดิอาระเบีย” และ “ตุรกี” ด้วย หลังพบว่ามีดีมานด์สูงขึ้นในตลาดดังกล่าว

ด้านการตลาดก็ยังคงทำงานร่วมกับแบรนด์ แอมบาสเดอร์ “ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และจะมีการจัดกิจกรรม Pop-up Lounge ในปีนี้เพื่อโชว์งานบริการของบางกอกแอร์เวย์ส และโชว์เคสผลิตภัณฑ์ที่สายการบินได้ทำร่วมกับชุมชนด้วย

บางกอกแอร์เวย์ส
“ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์” แบรนด์แอมบาสเดอร์ของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9

ธุรกิจ “คาร์โก้” โตแซงก่อนโควิด-19

ด้านธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับสนามบินของบางกอกแอร์เวย์สในปี 2566 “อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

  • บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) – จำนวนลูกค้า 23 สายการบิน ซึ่งยังน้อยกว่าปี 2562 อยู่ 3 สายการบิน และทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของปี 2562 โดยยังมีผลขาดทุนอยู่ 60 ล้านบาท
  • บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) – ให้บริการลูกค้า 90 สายการบิน รวมกว่า 65,000 กว่าเที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 82% ของที่เคยทำได้ในปี 2562 แต่เนื่องจากบริษัทฯ สามารถปรับค่าบริการได้ ทำให้มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 93% ของปี 2562 แล้ว และได้กำไรกว่า 500 ล้านบาท
  • บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) – ให้บริการลูกค้า 86 สายการบิน ปริมาณสินค้ารวม 4.37 แสนตัน มากกว่าปี 2562 อยู่ 7% และทำรายได้ 2,300 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2562 ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตมากขึ้น เพราะการขนส่งทางอากาศได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุคโควิด-19
“อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

อนวัชยังกล่าวถึงรายได้ต่อหน่วยจากการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue per ASK: RASK) อยู่ที่ 5.41 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 5.14 บาท จึงมีสัดส่วนกำไร เท่ากับ 0.27 บาท โดยฝั่งค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนถือว่าสูงจากปี 2562 ที่เคยอยู่ที่ 3.33 บาทมาก เนื่องจากการปรับขึ้นของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ค่าอะไหล่ซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้นราว 15% รวมถึงต้นทุนด้านอื่นๆ ล้วนปรับขึ้นทั้งหมด

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจสายการบินในปี 2567 พุฒิพงศ์เชื่อว่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารบินภายในประเทศ (Domestic) ราว 205 ล้านคน และผู้โดยสารที่บินระหว่างประเทศ (International) ราว 35 ล้านคน โดย 4 อันดับแรกต่างชาติที่จะเข้าไทยมากที่สุดผ่านท่าอากาศยาน คือ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย (*ไม่รวมมาเลเซีย เนื่องจากชาวมาเลย์นิยมเดินทางผ่านชายแดนทางรถยนต์มากกว่า)

]]>
1468394
ตั๋วแพงยังคงอยู่! ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า “ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย” https://positioningmag.com/1463852 Fri, 23 Feb 2024 11:42:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463852 ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินมองว่า ปัญหา Supply Chain ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะคลี่คลาย เนื่องจากหลากหลายปัจจัย ปัญหาดังกล่าวยังทำให้สายการบินได้เครื่องบินล่าช้าลง ส่งผลทำให้ตั๋วยังมีราคาแพงอยู่

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องบินหลายราย กล่าวในงาน Singapore Airshow ซึ่งเป็นงานแสดงด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ว่าปัญหา Supply Chain ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินในช่วงเวลานี้ อาจต้องใช้เวลา 2 ปี สถานการณ์ดังกล่าวถึงจะคลี่คลายลงไปได้

Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินจากทวีปยุโรป ได้กล่าวว่าบริษัทต้องส่งวิศวกรระดับหลายสิบคนเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหา Supply Chain เกิดปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น ขณะที่ Boeing เองก็ต้องเร่งการผลิตเนื่องจากการส่งมอบล่าช้าไปถึง 9 เดือนนับจากเวลาในสัญญาส่งมอบ

บริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินหลายแห่ง ได้บอกกับสำนักข่าว Reuters ว่า ระยะเวลาในการจัดหาชิ้นส่วนต่างๆ เช่น โลหะบางชนิดและกระจกบังลมอาจนานขึ้น 2 ถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากการผลิตวัสดุการบินและอวกาศลดลง การสูญเสียกำลังคนที่มีทักษะในช่วงโควิด รวมถึงแหล่งผลิตชิ้นส่วนที่ลดลงจากการบุกยูเครนโดยรัสเซีย

ปัญหา Supply Chain ยังกระทบกับบริษัทซ่อมเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่าง Lufthansa Technik ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสายการบิน Lufthansa จากเยอรมัน ที่ต้องกักตุนอะไหล่ซ่อมเครื่องบินมากขึ้น เพื่อที่จะลดปัญหาการรออะไหล่ยาวนาน

Roberto Tonna ผู้บริหารจาก ALA บริษัทบริหารห่วงโซ่อุปทานด้านการบินกล่าวว่า โลหะไทเทเนียมเกรดการบินนั้นประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนักหลังการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งปกติชิ้นส่วนไว้ผลิตเครื่องบินนั้นบริษัทจะได้รับชิ้นส่วนไม่เกิน 40 สัปดาห์ แต่ตัวเลขล่าสุดนั้นยาวนานถึง 72 สัปดาห์

ผู้บริหารจาก ALA ยังมองว่ากว่าที่ Supply Chain จะกลับไปเป็นปกตินั้นอาจใช้เวลา 18-24 เดือนเป็นอย่างน้อย

ความต้องการการเดินทางหลังการแพร่ระบาดโควิดนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ต้องสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยายเครือข่ายและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งปกติแล้วเครื่องบินรุ่นใหม่จะมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพมากกว่ารุ่นเก่า

ความล่าช้ายังทำให้หลายสายการบินต้องจำใจหันกลับไปเช่าเครื่องบินรุ่นเก่ากว่า เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบินคาดว่าสถานการณ์เครื่องบินไม่เพียงพอจะคลี่คลายไปได้ต้องรออย่างน้อยถึงปี 2027

ผลที่เกิดขึ้นคือปริมาณเครื่องบินที่ผลิตไม่ทัน ขณะที่สายการบินแม้จะมีความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ ก็ไม่สามารถได้เครื่องบินที่เร็วตามความต้องการ ตรงข้ามกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการเดินทาง แน่นอนว่าราคาตั๋วของสายการบินนั้นราคาอาจยังคงสูงต่อไป

]]>
1463852
สายการบินกลับมาเช่าเครื่องบินรุ่นเก่าเพิ่มขึ้น ผลจาก Boeing และ Airbus ผลิตเครื่องบินไม่ทัน คาดปี 2027 สถานการณ์จะคลี่คลาย https://positioningmag.com/1461408 Sat, 03 Feb 2024 11:43:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1461408 สายการบินต่างๆ ทั่วโลก เริ่มหันมาเช่าเครื่องบินรุ่นเก่าเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก Boeing และ Airbus ผลิตเครื่องบินไม่ทัน โดยบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบินคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวต้องใช้เวลาถึงปี 2027 ถึงจะคลี่คลาย

สำนักข่าว Reuters รายงานสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบิน โดยเล่าถึงสายการบินหลายแห่งเริ่มหันมาเช่าเครื่องบินรุ่นเก่ารองจากรุ่นปัจจุบันมากขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Airbus หรือแม้แต่ Boeing ไม่สามารถที่จะผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่ได้ทันความต้องการ

สายการบินหลายแห่งเริ่มกลับมาเช่าเครื่องบินที่มีอยู่ในท้องตลาด อย่างเช่น สายการบินราคาประหยัด อาจเช่าเครื่องบินของ Boeing 737-800 ซึ่งมีอายุมากกว่า 10 ปี แต่เป็นรุ่นรองล่าสุดจาก 737 MAX โดยราคาเช่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวอยู่ที่ 220,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดเพียงแค่ 5% เท่านั้น

สาเหตุสำคัญคือ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกาหรือ FAA ชะลอไม่ให้ Boeing เพิ่มกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่อย่าง 737 MAX เนื่องจากปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพในการผลิต หลังจากเกิดกรณีที่เครื่องบินของสายการบิน Alaska มีชิ้นส่วนหลุดระหว่างทำการบิน

ขณะเดียวกันคู่แข่งอย่าง Airbus เองก็มีกำลังการผลิตเต็มที่ ส่งผลทำให้สายการบินไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องหันกลับมาเช่าเครื่องบินรุ่นเก่าแทน สอดคล้องกับผู้บริหารของ Aercap หนึ่งในบริษัทเช่าเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้เคยกล่าวเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปี 2023 ว่า สายการบินต้องการเครื่องบินจำนวนมาก แต่ปัญหาคือผู้ผลิตนั้นผลิตได้ไม่ทัน

นอกจากนี้สถานการณ์ Supply Chain ที่ไม่กลับมาเป็นปกติ กระทบกับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับประกอบเครื่องบิน  ทั่วโลก ประเด็นดังกล่าวก็เป็นที่พูดถึงในการประชุมระหว่างบริษัทให้เช่าเครื่องบินที่ประเทศไอร์แลนด์เช่นกัน

บริษัทให้เช่าเครื่องบินอย่าง Avolon ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินยังมีเครื่องบินขาดแคลนมากถึง 3,000 ลำ  เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่าในปี 2024 นี้สายการบินทั่วโลกจะต้องรับมือกับผู้โดยสารมากถึง 4,700 ล้านคน

สถานการณ์ดังกล่าว Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบินคาดว่าสถานการณ์เครื่องบินไม่เพียงพอจะคลี่คลายไปได้ต้องรออย่างน้อยถึงปี 2027

สิ่งที่เกิดขึ้นคาดว่าในปี 2024 ค่าเฉลี่ยอายุเครื่องบินที่สายการบินทั่วโลกใช้งานอยู่ที่ 16 ปี มากกว่าในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 14 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ดีเครื่องบินส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานที่ 25 ปี หรือมากกว่านั้นถ้าหากมีการบำรุงรักษาอย่างดี และสายการบินหรือแม้แต่บริษัทให้เช่าเครื่องบินต่างเตรียมยืดอายุการใช้งานเครื่องบินเหล่านี้ต่อ

]]>
1461408
ประธานของ Emirates มองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ทั่วโลกมีแค่ 2 ราย ทำให้สายการบินไม่มีทางเลือกอื่น https://positioningmag.com/1458182 Tue, 09 Jan 2024 15:08:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458182 Tim Clark ประธานสายการบิน Emirates ได้ให้ความเห็นถึงอุตสาหกรรมการบินหลากหลายมิติ โดยประเด็นหลักในช่วงเวลานี้ก็คือปัญหาของเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ของสายการบิน Alaska ที่มีชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ และยังรวมถึงกรณีผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ทั่วโลกมีแค่ 2 ราย ทำให้สายการบินไม่มีทางเลือกอื่น

สำนักข่าว Bloomberg ได้สัมภาษณ์พิเศษ Tim Clark ประธานสายการบิน Emirates โดยเขาได้ให้ความเห็นถึงอุตสาหกรรมการบินหลากหลายมิติ โดยประเด็นหลักในช่วงเวลานี้ก็คือปัญหาของเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ของสายการบิน Alaska ที่มีชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ

ประธานของ Emirates มองว่าการที่อุตสาหกรรมการบินนั้นมีผู้ผลิตเครื่องบินเพียงแค่ 2 รายใหญ่ๆ ได้แก่ Boeing จากสหรัฐอเมริกา กับ Airbus จากทวีปยุโรป ทำให้สายการบินนั้นไม่มีตัวเลือกที่ดีไปมากกว่านี้ นอกจากนี้แม้ว่าจะมีผู้เล่นรายใหญ่ซึ่งเป็นรายที่ 3 เข้ามา ก็ถือว่าต้องใช้เวลายาวนานในการไล่ตามผู้ผลิต เจ้าใหญ่ 2 รายนี้ได้

ในขณะที่กรณีเครื่องบินของสายการบิน Alaska ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ต้องระงับการบินโดยเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 เพื่อที่จะตรวจสอบหาปัญหา และทำให้สายการบินหลายแห่งทั่วโลก เช่น Turkish Airlines จากตุรกี สายการบินจากปานามา Copa Airlines หรือแม้แต่สายการบินในเม็กซิโกอย่าง Aeromexico ก็ได้งดใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเช่นกัน

Tim Clark กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของมาจากการตรวจสอบคุณภาพของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากสหรัฐอเมริการายนี้มีปัญหามานานแล้ว แม้ว่าบริษัทจะพยายามร่วมมือแก้ปัญหาในตอนนี้ก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ไม่เพียงเท่านี้เขามองว่าในอดีต Boeing ได้ผลิตเครื่องบินที่มีคุณภาพดีมากมาโดยตลอด แต่เขามองว่าบริษัทได้สูญเสียสิ่งดังกล่าวจากฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัท หรือแม้แต่การพึ่งพาวัสดุในการผลิตเครื่องบินจากทั่วโลก

อย่างไรก็ดีเขายังคงมีความเชื่อมั่นใน Boeing และความสามารถในการเอาชนะปัญหาต่างๆ โดยให้ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหา โดยเขากล่าวว่าปัญหาดังกล่าวนั้นแก้ไขได้ และกอบกู้ได้

กรณีเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ของสายการบิน Alaska นั้นในท้ายที่สุดประธานของ Emirates มองว่าจะมีการคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เขายังมองว่าปัญหาดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว และการกำหนดบทบาท รวมถึงความสามารถของบริษัทในการแก้ไขปัญหา

]]>
1458182
สายการบินหลายแห่งระงับบิน Boeing 737 MAX 9 เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หลังชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ https://positioningmag.com/1457879 Mon, 08 Jan 2024 04:31:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457879 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ประกาศให้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ระงับบินเป็นการชั่วคราว หลังจากที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของ Alaska Airlines มีชิ้นส่วนหลุดกลางอากาศ ปัญหาดังกล่าวนั้นทำให้ CEO ของ Boeing ต้องเตรียมเรียกความมั่นใจกลับมา

สายการบินทั้งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในต่างประเทศ ต่างระงับบินเครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 เป็นการชั่วคราว หลังจากเครื่องบินของ Alaska Airlines นั้นมีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับ Boeing อย่างหนัก นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 ถูกระงับบินคือ เครื่องบินของ Alaska Airlines เที่ยวบินที่ 1282 ที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นหลัก มีชิ้นส่วนหลุดระหว่างการเดินทาง บนความสูง 16,000 ฟุต ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญคือประตูฉุกเฉินบริเวณท้ายเครื่องบิน จนทำให้เครื่องบินต้องขอบินกลับสนามบินต้นทาง

เหตุดังกล่าวทำให้ FAA ต้องประกาศมาตรการตรวจสอบเครื่องบินรุ่นดังกล่าวทันที ซึ่งแถลงการณ์ของ FAA เมื่อวันอาทิตย์ (7 มกราคม) กล่าวว่า “เราได้สั่งระงับเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบ และเครื่องบินเหล่านี้จะยังคงถูกระงับจนกว่า FAA จะพอใจได้ว่าเครื่องบินเหล่านี้มีความปลอดภัย”

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังค้นหาประตูฉุกเฉินบริเวณท้ายเครื่องบินที่หลุดออกมา เพื่อที่จะนำมาตรวจสอบถึงปัญหาดังกล่าวด้วย

ในสหรัฐอเมริกา สายการบินที่ใช้เครื่องบิน Boeing 737 MAX 9 เป็นหลักได้แก่ Alaska Airlines รวมถึง United Airlines ได้นำเครื่องจอดไว้ตามสนามบินต่างๆ เพื่อตรวจสอบ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวต่อเที่ยวบินของ 2 สายการบินมีมากถึง 600 เที่ยวบิน และยังทำให้ผู้โดยสารมากถึง 25,000 รายได้รับผลกระทบตามไปด้วย

สายการบินอื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกาที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าว เช่น Turkish Airlines จากตุรกี สายการบินจากปานามา Copa Airlines หรือแม้แต่สายการบินในเม็กซิโกอย่าง Aeromexico ได้งดใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเพื่อทำการตรวจสอบเครื่องบินเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุดจาก Flightradar24 ไม่มีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวใช้งานในประเทศไทยแต่อย่างใด

ทางด้านฝั่งของ David Calhoun ซึ่งเป็น CEO ของ Boeing จากเดิมที่ต้องไปเข้าร่วมงานสัมมนาด้านผู้นำ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหารสูงสุดของผู้ผลิตเครื่องบินรายดังกล่าว ต้องเตรียมที่จะแถลงข่าวในเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่เป็นสายการบิน หรือแม้แต่ผู้ใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว

โดย CEO รายดังกล่าวต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่า Boeing สัญญาที่จะผลิตเครื่องบินที่มีความปลอดภัย คุณภาพ หรือแม้แต่ความโปร่งใส ตรงไปตรงมา

เครื่องบินรุ่น 737 MAX ได้มีการนำกลับมาใช้งานอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 2020 หลังจากการตรวจสอบด้านความปลอดภัย และเครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้มีการอัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุตก 2 ครั้งในรอบ 5 เดือน

Boeing ได้คาดหวังกับเครื่องบิน Boeing 737 MAX ว่าจะเป็นเครื่องบินรุ่นที่สร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ดีกลับกลายเป็นว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวได้สร้างปัญหาให้กับ Boeing เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นจากลูกค้าสายการบิน หรือแม้แต่ผู้โดยสาร 

ที่มา – BBC, NPR, Fox Business [1], [2]

 

]]>
1457879
“ANA” อันดับ 1 สายการบิน “ตรงเวลา” ที่สุดในเอเชีย ปี 2023 “ไทยแอร์เอเชีย” ติดอันดับ 3 https://positioningmag.com/1457839 Fri, 05 Jan 2024 10:15:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457839 Cirium ประกาศผลการสำรวจสายการบินที่ “ตรงเวลา” ที่สุดในปี 2023 แชมป์ระดับโลกตกเป็นของ “Avianca” สายการบินประจำชาติโคลอมเบีย ส่วนแชมป์ในทวีปเอเชียคือ “ANA” จากญี่ปุ่น ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” ติดอันดับ 3 หนึ่งเดียวจากไทยที่ติดโผ

“ตรงเวลา” คือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผู้โดยสารคำนึงถึงเมื่อจะเลือกซื้อตั๋วสายการบินใดๆ ทำให้ทุกสายการบินต่างพยายามแข่งขันพัฒนาให้เที่ยวบินตรงเวลามากขึ้นทุกปี

ล่าสุด “Cirium” บริษัทวิเคราะห์ด้านธุรกิจการบิน เปิดผลการสำรวจสายการบินที่ตรงเวลามากที่สุดปี 2023 โดยเที่ยวบินที่ถือว่าตรงเวลาจะต้องลงจอดภายในเวลาไม่เกิน 15 นาทีจากที่ระบุในตารางการบิน จากนั้นจะคำนวณเป็นสัดส่วนว่าแต่ละปีสายการบินนั้นๆ มีเที่ยวบินตรงเวลากี่เปอร์เซ็นต์

5 สายการบินที่ “ตรงเวลา” มากที่สุดในโลกปี 2023 ได้แก่

1.Avianca Airlines (AV) อาเบียงกาเป็นสายการบินประจำชาติโคลัมเบีย และเป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา อัตราตรงเวลา 85.73%

2.Azul Airlines (AD) อาซูลเป็นสายการบินประจำชาติบราซิล บริการเที่ยวบินในทวีปอเมริกาและยุโรป อัตราตรงเวลา 85.51%

3.Qatar Airways (QR) สายการบินประจำชาติกาตาร์ อัตราตรงเวลา 85.11%

4.Delta Air Lines (DL) สายการบินสัญชาติอเมริกัน มีสำนักงานใหญ่ในเมืองแอตแลนตา อัตราตรงเวลา 84.72%

5.Iberia (IL) สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในสเปน อัตราตรงเวลา 84.38%

 

ในการจัดอันดับนี้ยังมีการแยกจัดอันดับเป็นรายทวีปอีกด้วย โดยแยกเป็นกลุ่มทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปละตินอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปเอเชียแปซิฟิก และทวีปตะวันออกกลาง-แอฟริกา

ภาพจาก Shutterstock
5 สายการบินที่ “ตรงเวลา” ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 2023 ดังนี้

1.All Nippon Airways (NH) สายการบินสัญชาติญี่ปุ่น อัตราตรงเวลา 82.75%

2.Japan Airlines (JL) สายการบินสัญชาติญี่ปุ่น อัตราตรงเวลา 82.58%

3.ไทยแอร์เอเชีย (FD) สายการบินโลว์คอสต์ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในไทย อัตราตรงเวลา 82.52%

4.IndiGo (6E) สายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียหากวัดจากจำนวนผู้โดยสาร อัตราตรงเวลา 82.12%

5.Air New Zealand (NZ) สายการบินประจำชาตินิวซีแลนด์ อัตราตรงเวลา 79.68%

 

นอกจากจัดอันดับสายการบินแล้ว การทำให้เที่ยวบินตรงเวลายังขึ้นอยู่กับฝั่ง “สนามบิน” ด้วย ทำให้ Cirium มีการจัด 5 อันดับแรกสนามบินที่จัดการจราจรให้เที่ยวบินตรงเวลาได้มากที่สุด ปี 2023 ดังนี้

1.สนามบินนานาชาติ มินนิอาโปลิส-เซนต์ พอล (MSP) ตั้งอยู่ในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐฯ อัตราตรงเวลา 84.44%

2.สนามบินนานาชาติ ราชีพ คานธี (HYD) ตั้งอยู่ในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย อัตราตรงเวลา 84.42%

3.สนามบินนานาชาติ เกมเปโควทา (BLR) ตั้งอยู่ในเมืองเบงกาลูรู ประเทศอินเดีย อัตราตรงเวลา 84.08%

4.สนามบินนานาชาติ เอลโดราโด (BOG) ตั้งอยู่ในเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย อัตราตรงเวลา 84.01%

5.สนามบินนานาชาติ ซอลต์เลกซิตี้ (SLC) ตั้งอยู่ในเมืองซอลต์เลกซิตี้ รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐฯ อัตราตรงเวลา 83.99%

ดูรายชื่อสายการบินตรงเวลาในทวีปอื่นๆ ที่นี่

 

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

]]>
1457839
“Virgin Atlantic” สายการบินแรกที่จะบินข้ามแอตแลนติกด้วย “น้ำมัน SAF” 100% https://positioningmag.com/1453619 Tue, 28 Nov 2023 04:36:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1453619 “Virgin Atlantic” เตรียมตัวเป็นสายการบินแรกของโลกที่จะบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยใช้ “น้ำมัน SAF” เป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องยนต์ 100%

เที่ยวบินนี้จะออกจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปยังสนามบิน JFK นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เวลา 11:30 GMT ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2023 (ตรงกับเวลา 18:30 น. ในไทย)

น้ำมัน “SAF” หรือ Sustainable Aviation Fuels เป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อหาสิ่งทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอนสูง น้ำมัน SAF จะผลิตจากสิ่งเหลือใช้ เช่น น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว เศษอาหาร เศษพืช ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ 80% จากน้ำมันฟอสซิลปกติในขั้นตอนการผลิตน้ำมัน

สำหรับไฟลท์ทดลองนี้จะบินโดยเครื่องบิน Boeing 787 บรรทุกน้ำมัน SAF 50 ตัน โดยส่วนผสมที่ใช้ 88% มาจากขยะไขมัน อีก 12% มาจากเศษข้าวโพดที่เหลือทิ้งในภาคการผลิตของสหรัฐฯ

โครงการทดลองนี้มีอีกหลายฝ่ายเข้ามาร่วมสนับสนุน ได้แก่ “Rolls-Royce” ผู้ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน และ “BP” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งจากการทดสอบและวิเคราะห์หลายครั้ง ในที่สุด Virgin Atlantic ก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหราชอาณาจักรให้ขึ้นบินได้เมื่อต้นเดือนนี้เอง

ที่ผ่านมาน้ำมัน SAF เริ่มมีการใช้งานในเครื่องบินต่างๆ บ้างแล้ว แต่มักจะเป็นการผสมปริมาณน้อยเข้ากับน้ำมันฟอสซิลปกติมากกว่า ทำให้เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว วงการการบินยังใช้น้ำมัน SAF แค่เพียง 1% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด

เหตุที่ยังมีการใช้น้อยเพราะ “ราคา” ยังสูงกว่าน้ำมันฟอสซิลมากเนื่องจากผลิตได้น้อย และองค์กรกำกับการบินทั่วโลกมักจะอนุญาตให้ผสมเข้ากับน้ำมันฟอสซิลในสัดส่วนไม่เกิน 50% ด้วยเหตุนี้เราคงยังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนมาใช้ SAF แทนน้ำมันปกติได้เร็วนัก

ในประเทศไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวด้านน้ำมัน SAF โดยบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพิ่งจะลงนามเอ็มโอยูกับ “การบินไทย” เพื่อนำน้ำมัน SAF ไปใช้ในเที่ยวบินนำร่องของการบินไทยด้วย

Source

อ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1453619
Asiana Airlines เตรียมขายธุรกิจ Cargo ส่งสัญญาณอาจควบรวมกิจการกับ Korean Air ได้หลังจากนี้ https://positioningmag.com/1450707 Sun, 05 Nov 2023 12:38:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450707 Asiana Airlines เตรียมขายธุรกิจ Cargo โดยคาดว่ามูลค่าจะสูงถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งสัญญาณอาจควบรวมกิจการกับ Korean Air ได้หลังจากนี้ หลังจากคณะกรรมาธิการของยุโรปยังไม่ไฟเขียวให้กับดีลดังกล่าว

สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้อย่าง Asiana Airlines ได้เตรียมที่จะขายธุรกิจ Cargo ของสายการบิน หลังจากที่บอร์ดของสายการบินได้ไฟเขียวให้ขายธุรกิจดังกล่าว ซึ่งจะปูทางให้มีการควบรวมกิจการกับ Korean Air ได้ในหลังจากนี้

คาดว่ามูลค่ากิจการธุรกิจ Cargo ของ Asiana Airlines จะอยู่ที่ราวๆ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยธุรกิจดังกล่าวถือเป็นตัวสร้างกระแสเงินสดให้กับสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้

สาเหตุที่ 2 สายการบินต้องการที่จะควบรวมกิจการก็คือในช่วงปี 2020 สายการบินของทั้ง 2 ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการควบรวมกิจการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งถ้าหากมีการควบรวมกิจการแล้วเสร็จจะทำให้สายการบินใหม่กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมทันที

อย่างไรก็ดีการควบรวมกิจการดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับคณะกรรมาธิการของยุโรป เนื่องจากถ้า 2 สายการบินควบรวมกิจการกันแล้วก็อาจทำให้มีการผูกขาดเส้นทางการส่งสินค้าจากยุโรปไปเกาหลีใต้ ทำให้บอร์ดของ Asiana ได้ไฟเขียวให้มีการขายธุรกิจ Cargo ดังกล่าว

นอกจากการขายธุรกิจ Cargo ของ Asiana Airlines แล้ว สายการบินยังเตรียมยกเลิกเส้นทางบินบางเส้นทางไปยังทวีปยุโรป เพื่อที่คณะกรรมาธิการของยุโรปไฟเขียวให้ดีลดังกล่าวผ่านได้

อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์มองว่าการตั้งราคาของธุรกิจ Cargo อาจมีราคาแพงเกินไป และอาจทำให้ไม่มีผู้สนใจในการซื้อกิจการซึ่งอาจทำให้การควบรวมกิจการของทั้ง 2 สายการบินในเกาหลีใต้ใช้ระยะเวลานานออกไปอีก

ดีลการควบรวมกิจการดังกล่าวนั้นได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานใน 11 ประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น อังกฤษ รวมถึงจีน

นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว ยังเหลือหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่กำลังพิจารณาในเรื่องการควบรวมกิจการดังกล่าว เพราะถ้าหากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศใดประเทศหนึ่งขวางไม่ให้ดีลนี้ผ่าน ก็อาจทำให้การควบรวมกิจการไม่สำเร็จได้

ในช่วงที่ผ่านมาสายการบินหลายแห่งได้มีการควบรวมกิจการกัน หรือแม้แต่ซื้อหุ้นของกิจการ โดยเฉพาะสายการบินบนภาคพื้นยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Lufthansa ซื้อหุ้น 41% ใน ITA Airways ของอิตาลี หรือแม้แต่การซื้อหุ้นของ Air Europa โดย IAG เพื่อที่จะรวมสายการบินต่างๆ เข้ามาไว้ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในกลุ่ม

ที่มา – Reuters, Simply Flying, Korea JoongAng Daily

]]>
1450707