สินเชื่อ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 16 Jan 2024 00:00:33 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 Tisco ตั้งเป้าปี 67 ขยาย “สมหวัง เงินสั่งได้” อีก 200 สาขา เติมพอร์ตสินเชื่อผลตอบแทนสูง รุกลูกค้ากลุ่ม Wealth เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1458876 Mon, 15 Jan 2024 17:38:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458876 กลุ่มทิสโก้ (Tisco) ประกาศแผนธุรกิจในปี 2567 เน้นขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย โดยตั้งเป้าขยายสาขาของ “สมหวัง เงินสั่งได้” อีก 200 สาขา ซึ่งจะทำให้มีสาขารวมทั้งหมดมากถึง 850 สาขา แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของไทยจะมีความท้าทายในปีนี้ก็ตาม

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tisco ได้กล่าวถึงมุมมองของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้จะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 3-4% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกที่กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เร่งตัวขึ้น

อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tisco ยังมองว่ามีความท้าทายจาก เช่น ปัญหาภัยแล้ง ความเปราะบางของภาวะหนี้ครัวเรือนไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เป็นต้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจของ Tisco ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มมีรายได้รวม 19,046 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ 7.2% มีกำไรจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 7,303 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2567 นั้น ในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ คาดว่าจะสร้างการเติบโตในระดับเดียวกันกับเศรษฐกิจไทย (คิดเป็นราวๆ 3-4%) โดย Tisco มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุมและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด

ขณะที่กลุ่มสินเชื่อรายย่อยนั้นทาง Tisco ได้เตรียมแผนขยายสาขาของ สมหวัง เงินสั่งได้ ในปีนี้ถึง 200 สาขา คาดว่าจะทำให้มีสาขามากถึง 850 สาขา 

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (ภาพจาก Tisco)

นอกจากนี้ผู้บริหารของ Tisco ยังได้กล่าวถึงการปรับกระบวนการติดตามหนี้ และดูแลลูกค้า ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะไม่งั้นลูกค้าจะเสียเครดิต และมองว่าระยะยาวจะได้รอดไปด้วยกัน เพราะถ้ามีเรื่องการทำคดี หรือยึดรถ ก็เป็นภาระของ Tisco เช่นกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องมาจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการจัดการเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย

ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และพลังงานทางเลือก ทาง Tisco จะใช้จุดแข็งของการบริการแบบ Total Solution มาตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า เช่น การปรับหนี้ระยะสั้นของลูกค้าให้เป็นหนี้ระยะยาวจากทีมวาณิชธนกิจ เป็นต้น

ขณะที่ ธุรกิจนายหน้าประกันภัย ทางผู้บริหารของ Tisco กล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การวางแผนบริหารความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน โดยล่าสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเจนเนอราลี่ในการออกกรมธรรม์ให้เหมาะสม

ทางด้านธุรกิจ ธุรกิจธนบดีธนกิจและตลาดทุน เน้นให้บริการการให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญแบบองค์รวม โดยครอบคลุมด้านการวางแผนการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองด้านชีวิตและสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้เน้นในปีนี้คือ เงินฝาก กองทุนรวม หรือแม้แต่ประกันชีวิต

นอกจากนี้ Tisco ตั้งเป้าในการขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Wealth ไปยังกลุ่ม Mass Affluent ที่มีเงินฝากและหรือเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปด้วย

ในปี 2567 นี้ Tisco ได้ตั้งเป้า Loan Growth เติบโตในช่วง 0-10% โดยให้เหตุผลถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง

]]>
1458876
KBank แยก กสิกร อินเวสเจอร์ เป็นบริษัทใหม่ โฟกัสธุรกิจสินเชื่อกับลูกค้ารายย่อยที่แบงก์เข้าไม่ถึง https://positioningmag.com/1439582 Wed, 02 Aug 2023 09:15:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1439582 KBank ประกาศแยก “บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด” หรือ KIV เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการรุกธุรกิจให้บริการการเงินกับลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารเข้าไม่ถึง จากการร่วมทุนกับบริษัทต่างๆ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าวถึงการดำเนินการของธุรกิจธนาคารในปัจจุบันทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของบริการจ่ายเงิน บริการสินเชื่อทั้งลูกค้าบริษัทและลูกค้ารายบุคคล บริการด้านการลงทุนและประกัน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงการแยก บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV นั้นเพื่อสร้างรายได้บนความเสี่ยงที่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และมองว่าธุรกิจ KIV มีความคล้ายคลึงกับธุรกิจของธนาคารใน 4 ด้านในข้างต้น แต่ลูกค้าของ KIV แตกต่างกับธุรกิจของธนาคาร ซึ่งต้องใช้วิธีคิดที่แตกต่างไปจากเดิม

โดยเธอได้กล่าวว่าก่อนที่จะมีการเปิดตัว KIV ในวันนี้ได้มีการทดลอง แยกธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อประสบความสำเร็จจึงค่อยแยกตัวออกมา เธอยังได้กล่าวเสริมว่า KIV คือ Game Changer ของ KBank สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ และยังทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากกว่าเดิม

ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่น่าสนใจเช่น การลงทุนใน Grab ของธนาคาร การร่วมทุนกับ LINE ในชื่อ Kasikorn LINE ที่เป็นเจ้าของ LINE BK การร่วมทุนกับกลุ่มคาราบาวภายใต้ชื่อ KBao เป็นต้น

ข้อมูลจาก KBank

พัชร สมะลาภา Group Chairman ของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ได้กล่าวถึงปัญหาของลูกค้ารายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งเขาให้ข้อมูลว่า 60% ของผู้ขอสินเชื่อนั้นธนาคารไม่แน่ใจว่าจะกลับมาจ่ายเงินหรือไม่ ขณะเดียวกันทางธนาคารเองก็ต้องแบกรับความเสี่ยงจากปัญหาผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้จากการสำรองหนี้

เขาชี้ว่าเป้าหมายของ KIV คือ เพิ่มความสามารถในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ ต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน (Operating Cost) และลดต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินงานในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

นอกจากนี้ KIV ยังได้อาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรในแต่ละด้าน รวมกับการใช้โครงสร้างและทรัพยากรของธนาคารกสิกรไทยที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูล ระบบไอที เงินทุนซึ่งมีต้นทุนการเงินที่ถูกกว่า

พัชรยังชี้ว่ากระบวนการทำงานของ KIV ได้แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้พนักงานเข้ามาตรวจสอบลูกค้าว่ามีตัวตนจริงๆ ไม่ใช้เอกสารปลอม หรือแม้แต่กรณีการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้าที่หาเช้ากินค่ำนั้นก็ดูวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งผลที่ได้คือ NPL ของ KIV ลดลงมาต่ำแล้ว

ขณะเดียวกันในการร่วมทุนกับพันธมิตรนั้นก็ทำให้ KIV สามารถเก็บเงินจากลูกค้าที่เป็นหนี้เสียได้มากขึ้น ส่งผลทำให้ Credit Cost ลดลง

โดย KIV ตั้งเป้าว่าในปีนี้จะมีกำไรราวๆ 900-1,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายในปี 2026 จะมีมูลค่าของพอร์ตสินเชื่อ 75,000-80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าเมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อในปัจจุบัน และคาดว่าจะมีกำไรมากถึง 4,500-5,000 ล้านบาท

]]>
1439582
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไตรมาส 2 กลุ่มธนาคารไทยสินเชื่อเติบโตไม่ถึง 1% NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อย https://positioningmag.com/1438429 Thu, 20 Jul 2023 09:25:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1438429 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จะมีการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อนั้นจะอยู่ในช่วง 0.5-0.7% เท่านั้น ทางด้านของ NPL นั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ก็มองว่ามีโจทย์ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจกดดันอัตราการทำกำไรได้

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับกลุ่มธนาคารไทยที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งมองภาพรวมของอุตสาหกรรมธนาคารไทยที่กำลังจะมีประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2 นี้ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2 นี้กำไรรวมของกลุ่มธนาคารไทยจะอยู่ที่ 64,300-66,300 ล้านบาท และกำไรในช่วงครึ่งปีแรกนั้นอยู่ที่ 119,000-121,000 ล้านบาท

ในไตรมาส 2 นี้รายงานดังกล่าวยังชี้ถึงการเติบโตของสินเชื่อที่ขยายตัวช้าลงอยู่ที่ 0.5-0.7% เท่านั้น รวมถึงต้นทุนของธนาคารที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลทำให้รายได้ดอกเบี้ยและส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของกลุ่มธนาคารไทยขยับเพิ่มขึ้นได้ในกรอบจำกัด โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2.96-3.00% เท่านั้นในไตรมาส 2 นี้

ขณะที่เรื่องของหนี้เสีย (NPL) รายงานดังกล่าวชี้ว่า คุณภาพหนี้อาจด้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าเปราะบางและกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาเฉพาะ สาเหตุสำคัญคือเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และลูกค้าบางส่วนทยอยออกจาก มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร

บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังชี้ถึงอุปสรรคของกลุ่มธนาคารไทยครึ่งปีหลังไม่ว่าจะเป็น

  1. สภาวะเศรษฐกิจไทย ในรายงานชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ีฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนรายย่อยที่มีรายรับ ไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน
  2. กฏเกณฑ์ กติกา หรือมาตรการของทางการท่ีกาลังจะทยอยปรับเปลี่ยน อาจมีผลจำกัดการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การเข้ามาดูแลโครงสร้างของค่าธรรมเนียมต่างๆ

สำหรับในช่วงท่ีเหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแม้กำไรของกลุ่มธนาคารไทยจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว

]]>
1438429
MONIX เผยแผนธุรกิจ ปั้นแอปสินเชื่อ FINNIX สู่ Top 3 มองเป้าขยายธุรกิจไปยังอาเซียนหลังจากนี้ https://positioningmag.com/1411447 Wed, 07 Dec 2022 13:23:23 +0000 https://positioningmag.com/?p=1411447 มันนิกซ์ เผยแผนธุรกิจในปี 2023 ปั้นแอปฯ FINNIX สู่ผู้เล่น 1 ใน 3 ของตลาดนาโนไฟแนนซ์ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ รวมถึงแผนที่จะ IPO ภายในปี 2025 ด้วย

ถิรนันท์ อรุณวัฒนกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ได้กล่าวถึงตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังถือว่าเติบโต โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ราว 31,000 ล้านบาท และมีผู้เล่นในตลาด 52 ราย แต่ถิรนันท์ก็ได้ชี้ว่าแม้ว่าจะมีผู้เล่นมากขึ้น แต่ก็มีผู้เล่นรายเก่าที่ออกจากตลาดออกไปด้วย

สำหรับ MONIX ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน SCBX ถือหุ้น 60% และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีนถือหุ้น 40%

เธอได้กล่าวถึง ฟินนิกซ์ (FINNIX) แอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ของ MONIX นั้นปัจจุบันมีให้บริการผ่าน 3 แอปสโตร์แล้ว หลังจากเริ่มต้นธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 650,000 ราย เติบโตมากถึง 58% มีสินเชื่อรวมกว่า 15,000 ล้านบาทเติบโตมากถึง 117% จากปี 2021

บริการของ FINNIX นั้นได้แยกออกมาจากบริการสินเชื่อของ SCB โดยเธอได้กล่าวว่าแอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

กลุ่มลูกค้าสำคัญของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย ฐานลูกค้าคือรายได้เฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 10,000 บาท จุดเด่นของ FINNIX คือลูกค้าสามารถเลือกจ่ายหนี้เท่าไหร่ก็ได้ตามใจ และเป็นการลดต้นลดดอก ซึ่งแตกต่างกับสินเชื่อนอกระบบ ขณะเดียวกันถ้าหากสถานการณ์ของลูกค้าเปลี่ยนไป เช่น ลูกค้าอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนวงเงินหรือดอกเบี้ยได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ FINNIX ยังมีการนำระบบ AI มาใช้ในการอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ เช่น การดู SMS หรือสมุดโทรศัพท์ของลูกค้า โดยลูกค้าเป็นคนให้สิทธิ์มอบข้อมูลให้กับแอปพลิเคชัน ขณะเดียวกันทาง MONIX เองก็พยายามที่จะลดต้นทุนผ่านการใช้ระบบไอทีให้มากที่สุดรวมถึง

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ MONIX ยังกล่าวว่ามีกำไรตั้งแต่กลางปี 2021 และ NPL ยังถือว่าอยู่ในเป้าหมายของบริษัท

สำหรับเป้าหมายของ MONIX ในปี 2023 ที่ตั้งเป้าไว้ เช่น

  • ยอดดาวน์โหลดแอป FINNIX 12 ล้านครั้ง
  • จำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ซึ่งมองลูกค้าในต่างจังหวัดไว้มากยิ่งขึ้น
  • มีบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยหรือวงเงินที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของลูกค้า
  • มีระบบการให้รางวัลกับลูกค้าถ้าหากเล่นเกมภายในแอปฯ หรือส่วนลดในการซื้อสินค้า
  • มีการขยายพันธมิตรใหม่ๆ หรือการเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้า เช่น การหางานใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เป็นต้น
  • การให้ความรู้ทางด้านการเงิน

เธอยังชี้ว่าตลาดนาโนไฟแนนซ์ของไทยนั้นมีโอกาสเติบโตแน่นอน อย่างไรก็ดีเธอชี้ว่าผู้ประกอบการกลับต้องระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า และมองว่าถ้าหากปัจจัยทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปก็อาจทำให้มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อได้

ถิรนันท์ ยังได้กล่าวว่าเป้าหมายของบริษัทหลังจากนี้คือเป็นผู้เล่น 1 ใน 3 ของตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่ลูกค้าคิดถึง นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่ามีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังต้องการที่จะ IPO ภายในปี 2025 อีกด้วย

]]>
1411447
AutoX เปิดตัว เงินไชโย ชูกลยุทธ์มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง เจาะกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน https://positioningmag.com/1407949 Fri, 11 Nov 2022 14:39:46 +0000 https://positioningmag.com/?p=1407949 AutoX ผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนเป็นหลักประกันและวงเงินหมุนเวียน ภายใต้กลุ่ม SCBX ประกาศเดินหน้าบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ เงินไชโย นอกจากนี้ยังชูกลยุทธ์ มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างความรับรู้ในตัวแบรนด์ รวมถึงการให้พนักงานแต่ละสาขาเข้าหาลูกค้าในแต่ละพื้นที่ด้วย

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด ได้กล่าวถึงการเปิดตัวแบรนด์ เงินไชโย ว่าปัจจุบันคนไทยกว่า 95% สามารถที่จะเข้าถึงบัญชีธนาคารได้ อย่างไรก็ดีกลับมีคนไทยราวๆ 36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 55% ของคนไทยไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ และปัญหายิ่งเพิ่มสูงขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้เกิดการเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนขึ้นมาในปี 2022 นี้ และเริ่มให้บริการแบบ Soft Launch ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยแบรนด์เงินไชโยได้จุดเด่นไม่ว่าจะเป็น

  • สามารถอนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง
  • สินเชื่อดังกล่าวไม่มีค่าธรรมเนียม วงเงินได้เต็มตามที่อนุมัติ แถมประกันฟรีในทุกสัญญา และไม่ต้องมีคนค้ำประกัน
  • บัตรเงินไชโย จ่ายต้นเท่าไหร่ กดได้เท่านั้น ไม่กดเงินใช้ไม่คิดดอกเบี้ย ไว้กดใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ ได้ แต่ถ้าไม่ชำระหนี้บัตรจะถูกปิดการใช้งาน และสามารถกดเงินได้ทุกตู้ ATM ไม่มีค่าธรรมเนียม
  • สาขาของเงินไชโย นั้นให้บริการวันเสาร์-อาทิตย์ หรือจะใช้บริการผ่าน Application รวมถึงแชตผ่าน Line หรือให้มาบริการถึงบ้านก็ได้

สำหรับระบบของสาขาเงินไชโยจะแยกออกจากระบบของธนาคารไทยพาณิชย์ และจะปล่อยสินเชื่อมูลค่า 50% ของมูลค่าหลักประกัน เช่น รถจักรยานยนต์มีมูลค่า 20,000 บาท ก็จะปล่อยสินเชื่อแค่ 10,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ผู้บริหารของเงินไชโยยังได้กล่าวว่าระบบของเงินไชโยสามารถที่จะผ่อนชำระเป็นรายวันได้อีกด้วย ซึ่งสามารถลดภาระหนี้ของลูกหนี้ลงได้ด้วย

นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ เงินไชโย ทาง AutoX ได้นำกลยุทธ์ มิวสิกมาร์เก็ตติ้ง มาใช้ โดยมีเพลงเพื่อสื่อถึงแบรนด์โดยใช้ภาษาง่ายๆ ดนตรีที่มีจังหวะสนุกครื้นเครงเพื่อที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเดินสายจัดงานคอนเสิร์ตตามจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ และยังรวมถึงการนำพนักงานที่มีในแต่ละสาขานั้นทำความรู้จักกับคนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

ปัจจุบันลูกค้าของเงินไชโยแบ่งเป็นสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 50% สินเชื่อรถยนต์ 25% และสินเชื่อรถเชิงพาณิชย์ 25%

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจหลังจากนี้นั้น ภายในปี 2022 นี้ตั้งเป้าที่จะมีสาขาให้ได้ 1,200 สาขา มียอดสินเชื่อคงค้าง 10,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2025 มีสาขาทั้งหมด 3,000 สาขา มียอดสินเชื่อคงค้าง 70,000 ล้านบาท และตั้งเป้าถึงการนำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2027 ด้วย

]]>
1407949
กลยุทธ์ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ เเข่งตลาดบัตรเครดิตดิจิทัล ลุยบริการ ‘ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง’ https://positioningmag.com/1377445 Tue, 15 Mar 2022 05:31:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1377445 เปิดกลยุทธ์ ‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรทะลุ 3.12 แสนล้าน โตกว่า 10% ในปีนี้ ปั๊มลูกค้าบัตรใหม่เเตะ 5 เเสนราย ออกบริการใหม่ “ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง” เอาใจสายช้อป เดินหน้าลุยสินเชื่อบุคคลดิจิทัลหลังได้ใบอนุญาตใหม่ เปิดรับพันธมิตรที่หลากหลาย เข้ารุกเวียดนาม ขยายตลาดอาเซียน 

2564 ปีเเห่งรถไฟเหาะของธุรกิจ

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัลเดอะวันและบัตรเครดิตโลตัสเล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปีที่ผ่านมาว่า เปรียบเสมือนการทำธุรกิจบนรถไฟเหาะ ที่สถานการณ์ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เเบรนด์ต้องเปลี่ยนเเปลงในทุกๆ ด้าน ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนยุคใหม่

ผลประกอบการในปี 2564 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ถือว่าเติบโตเป็นที่น่าพอใจท่ามกลางความเสี่ยงของวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2.85 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อใหม่ 7.65 หมื่นล้านบาท เเละยอดสินเชื่อคงค้าง 1.39 แสนล้านบาท

บริษัทได้มีบริหารเเละลดค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ควบคู่กับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุมและช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

เหล่านี้ ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในไตรมาสที่ 4/2564 อยู่ที่ระดับ 1.1% สำหรับบัตรเครดิต และ 2.8% สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระนับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจ

เศรษฐกิจเริมฟื้น เเข่งขัน ‘บัตรเครดิตดิจิทัล’ มากขึ้น 

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2565 พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเเละมีการกระจายวัคซีนเป็นวงกว้าง ข้อจำกัดการเดินทางลดลง ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีการเติบโตอยู่ที่ 12.3% เเละสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตมากว่า 8.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นเเนวโน้มเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้น 

“เเม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงบ้างจากการระบาดของโอมิครอนที่มีต่อเนื่อง รวมทั้งสภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น”

ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อในปีนี้ คาดว่าการแข่งขันจะสูงขึ้น เเละจะเห็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินกับธุรกิจต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ มากขึ้น และผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะนำเอาระบบดิจิทัลและข้อมูล มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตในรูปแบบดิจิทัล หรือการขอสินเชื่อแบบดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปิดรับเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เเม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นบ้างเเล้ว แต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะยังคงเกณฑ์การอนุมัติไว้ในระดับเดิม เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เข้าไปสู่ระดับก่อนโควิด และยังมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่องอย่างความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน เป็นต้น จึงยังคงต้องระมัดระวังอยู่

ใช้จ่ายช้อปออนไลน์ หมวดท่องเที่ยวคัมเเบ็ก 

หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด 10 อันดับ เรียงตามยอดใช้จ่าย ได้เเก่

  • ประกันภัย
  • ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
  • ไฮเปอร์มาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ต
  • ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน
  • ปั๊มน้ำมัน
  • โรงพยาบาล
  • ห้างสรรพสินค้า
  • ไอทีเเละสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
  • เครื่องเเต่งกายเเละเครื่องประดับ
  • อาหารเเละเครื่องดื่ม

ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (+55%)
  • ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+12%)
  • ปั๊มน้ำมัน (+11%)
  • ประกันภัย (+9%)
  • ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน (+8%)

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ยอดการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มสูงขึ้นถึง 55% เทียบกับปี 2563

“ยอดใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้ายังคงทรงตัว แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของหมวดห้างสรรพสินค้าเติบโตถึง 62% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ที่ให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการปรับรูปแบบเป็นการขายของแบบออมนิแชนเนล คือ ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน”

ทั้งนี้ การใช้จ่ายในหมวดการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะการจ่ายเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อท่องเที่ยวตามเมืองใหญ่ในช่วงเทศกาลต่างๆ

ชู 3 กลยุทธ์ปั้นธุรกิจให้โต double digit

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร ในปี 2565 อยู่ที่ 3.12 แสนล้านบาท จะเติบโตกว่า 10% เเละมียอดสินเชื่อใหม่ 8.46 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.49 แสนล้านบาท เติบโต 7% พร้อมปั้นยอดสมัครบัตรใหม่ที่ 5 แสนบัญชี จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ราว 3 แสนบัญชี

เพื่อให้ไปธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้วางกลยุทธ์ไว้อยู่ 3 เเนวทาง ได้เเก่

  • ใช้ระบบดิจิทัลและข้อมูลทำธุรกิจแห่งอนาคต

โดยจะมีการขยายแพลตฟอร์ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น บริการผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง (BNPL-Buy Now Pay Later) ผ่านแอปฯ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล การเปิดตัวบัตรเครดิตใหม่ๆ อย่าง บัตร XU digital Card หลังเปิดตัว ‘บัตร NOW’ บัตรเครดิตดิจิทัล เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปเมื่อไม่นานมานี้ เเละได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ซึ่งจะทยอยเปิดตัวภายในปีนี้

รวมถึงบริการใหม่ ๆ เช่น การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะเริ่มให้บริการในครึ่งปีหลังของปี 2565

พร้อมขยายจุดรับบริการยืนยันตัวตนในการสมัครบัตรในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เเละพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ใน  UCHOOSE  เช่น บริการสมัครบัตรใหม่ผ่านแอปฯ บริการ UCASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปฯ โดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร ที่ปัจจุบันมียอดการใช้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มียอดธุรกรรมกว่า 1.8 ล้านครั้งเเล้ว

นอกจากนี้ จะมุ่งเปิดบริการ ผ่อนก่อนจ่ายทีหลัง หรือ BNPL – Buy Now Pay Later ผ่านแอปฯ ซึ่งสามารถขอทำรายการผ่อนชำระสินค้าด้วยตนเอง รวมถึง การนำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ในการทำการตลาดเฉพาะบุคคล
นำเสนอผลิตภัณฑ์และโปรโมชันที่ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น

  • Krungsri One Retail ลุยจับมือพันธมิตร 

ผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจต่าง รวมทั้งการขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Krungsri One Retail ซึ่งจะผสานความร่วมมือระหว่างหลายกลุ่มธุรกิจในเครือกรุงศรี

“จะมีปรับโมเดลธุรกิจเพื่อแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น นำเสนอบริการ Call Center as a Service, Collection as a Service เพื่อให้บริการกับพันธมิตร รวมทั้งขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยสู่ภูมิภาคอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยประสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี ในภูมิภาค” 

  • พัฒนาศักยภาพองค์กร

ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกการเงินแห่งอนาคต

วันนี้ธุรกิจเราต้องปรับตัวอยู่ตลอด การมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดการพัฒนา ไม่หยุดนิ่ง ต้องยกระดับการให้บริการมากขึ้น พร้อมเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ มาทำงานร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด

]]>
1377445
LINE BK เเข่งตลาดสินเชื่อ ขยับหาลูกค้าทั่วประเทศ สร้างวลีติดหูผ่าน Music Marketing https://positioningmag.com/1374025 Tue, 15 Feb 2022 10:55:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1374025 LINE BK เดินเกมสู้ตลาดสินเชื่อเต็มรูปแบบ ขยับหาลูกค้าคนไทยทั่วประเทศ สร้างการรับรู้ พร้อมวลีติดหูผ่านกลยุทธ์ Music Marketing ดึงกลุ่มอาชีพอิสระเข้ามากู้ในระบบมากขึ้น 

ความยุ่งยากในการเข้าถึงสินเชื่อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ประจำและคนทำงานอาชีพอิสระไม่ได้รับโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อมากนัก ผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้น จำใจต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงเเละไม่ปลอดภัย

นี่เป็นหนึ่งในภารกิจของ ‘LINE BK’ ผู้ให้บริการ Social Banking รายแรกของไทย ที่พยายามจะเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ด้วยบริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งเป็นเเอปฯ ยอดนิยมที่คนไทยกว่า 2 ในใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีสาขา ไม่ต้องไปธนาคาร

ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยเเละเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ผู้คนต้องการเงินทุนไปทำธุรกิจ

นั่นก็ทำให้การเเข่งขันในตลาดสินเชื่อดุเดือดตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งผู้เล่นรายเล็กรายใหญ่ รวมไปถึงเเพลตฟอร์มอื่นๆ จากต่างประเทศ

บุกตลาดทั่วประเทศ เน้นกลุ่มอาชีพอิสระ 

สำหรับบริการสินเชื่อของ LINE BK ขณะนี้ มีอยู่ 2 ประเภทได้เเก่

  • วงเงินให้ยืม (Credit Line) – สินเชื่อส่วนบุคคล
  • วงเงินให้ยืมนาโน (Nano Credit Line) – สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ

หลังเปิดตัวมาได้ เพียง 15 เดือน LINE BK มีจำนวนผู้ใช้บริการ 4 ล้านราย บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 4.8 ล้านบัญชี เเละมีจำนวนบัตรเดบิต 2.2 บัตร

โดยมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 5.4 แสนบัญชี ยอดปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อส่วนบุคคลอนุมัติเฉลี่ย 3.5 หมื่นบาทต่อราย เเละยอดสินเชื่อนาโนเฉลี่ย 1.1 หมื่นบาทต่อราย

ขณะที่ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ราว 4% ซึ่งเขามองว่า อยู่ระดับที่บริหารจัดการได้ ไม่สามารถเทียบได้ว่าสูงหรือน้อยกว่าในอุตสาหกรรม เพราะ LINE BK ยังคงเป็นผู้บริการสินเชื่อน้องใหม่ในตลาด

ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของลูกค้า LINE BK เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเกือบ 80% มีรายได้ขั้นต่ำ 5,000 บาทขึ้นไป

ดังนั้น เป้าหมายหลักของ LINE BK ในปี 2565 จึงเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นและครอบคลุมทั่วประเทศทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด เน้นเจาะกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ประจำเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการเข้าแหล่งเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างโตกว่า 20,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากยอดคงค้างในปีก่อนที่ 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่ LINE BK มีอัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 10% นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ที่จะต้องเฟ้น หากลุ่มลูกค้าเครดิตดีในกลุ่มเป้าหมายตลาดเเมสให้เจอ ผ่านการเข้าถึงที่เพิ่มขึ้น เป็นธุรกิจการเงินที่กระจายไปทั่วประเทศ เพราะตอนนี้คนไทยยังรู้จักเเอปพลิเคชัน LINE มากกว่า Social Banking อย่าง LINE BK เเละเมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็หวังว่าอัตราอนุมัติสินเชื่อจะอยู่ที่ราว 20%

โดยในช่วงต้นปีนี้ อาจยังต้องใช้ความระมัดระวังและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้าง เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่แน่นอน

-ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK

Music Marketing : สร้างวลีติดหู ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า’ 

ล่าสุด LINE BK นำกลยุทธ์ ‘Music Marketing’ มาใช้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงคนไทยในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เน้นไปที่ความสนุกสนาน จดจำง่ายเเละการมีส่วนร่วมในโลกโซเชียล

แคมเปญการตลาดผ่านเพลงที่พึ่งทางไลน์ เป็นความร่วมมือกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ RSIAM ในเครือ RS GROUP โดยได้ดึงนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอย่าง ใบเตย อาร์สยาม และ URBOYTJ แร็ปเปอร์ขวัญใจวัยรุ่น มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงในรูปแบบลูกทุ่งผสมแร็ป

ธนา บอกว่า เพลงนี้ตั้งใจจะสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ฟังง่าย ติดหู สนุกสนาน และเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย โดยได้หยิบเอา ‘Pain Point’ จากปัญหาเรื่องเงินของคนไทยมาผสมกับกลิ่นอายของเพลงลูกทุ่งและแร็ป เน้นด้วยคำติดหูอย่างไม่ไหวไลน์มา หรือ ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืมไลน์ง่ายกว่า

โดยที่ผ่านมา ปัญหาที่ผู้คนอาจเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท มีความซับซ้อน เข้าถึงยาก จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจว่าแต่ละผลิตภัณฑ์เหมาะกับใครและตัวเขาเองนั้นเหมาะกับผลิตภัณฑ์ไหน

ดังนั้นการทำการตลาดให้ติดหูมีท่อนฮิตหรือวลีเด็ดติดปาก พยายามหาคำกลางๆ ที่ไม่ได้ใส่ชื่อแบรนด์หรือทำให้ดูขายมากจนไป รวมถึงมีท่าเต้นติดตาเป็นที่จดจำ ก็เป็นเหมือนการเชื้อเชิญให้ลูกค้าอยากทำความรู้จักกับเเบรนด์มากขึ้น ซึ่งจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์เเละบริการอื่นๆ ได้

ด้านกระเเสตอบรับ Brand Awareness หลังปล่อยเพลงที่พึ่งทางไลน์ออกมาได้ 2 สัปดาห์ ผู้บริหาร LINE BK มองว่าน่าพึงพอใจเเละถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

โดยมียอดการรับชมเอ็มวีบนยูทูปอยู่ที่ราว 5 ล้านวิว เเละมีแคมเปญบน TikTok เพื่อให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นผ่าน #ที่พึ่งทางไลน์Dance ซึ่งมียอดเข้าชมวิดีโอที่ร่วมแคมเปญรวมกว่า 375 ล้านวิว

นอกจากการทำเพลงเเละเอ็มวีที่พึ่งทางไลน์” เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดรูปแบบใหม่ แล้ว LINE BK ยังมีแผนการทำตลาดที่จะมาช่วยตอกย้ำภาพ ‘ร้อนเงินเมื่อไหร่ ยืม LINE ง่ายกว่า’ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่าง LINE MELODY เเละสติกเกอร์ LINE ที่เป็นคาแร็กเตอร์เฉพาะของ LINE BK 

ขณะเดียวกัน LINE BK จะเดินหน้าจับมือกับพาร์ทเนอร์รอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากอีโคซีสเต็มภายในก่อน ค่อยขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ โดยจะเน้นหาพันธมิตรในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากต้องการจะจับตลาดคนไทยให้ได้มากที่สุด

โดยปีที่ผ่านมา ได้จับมือกับ DTAC เปิดให้บริการ “ใจดี มีวงเงินให้ยืม” เเละมีลูกค้าประมาณ 10,000 ราย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่อไป

เราจะเจาะตลาดไปทางสื่อต่างๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้เกิดการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแบบครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

 

]]>
1374025
ดีล 1.2 เเสนล้านกับทิศทางธุรกิจรายย่อย ‘ซิตี้กรุ๊ป’ ในมือ UOB ต่อยอดลูกค้า ‘เครดิตดี’ https://positioningmag.com/1370465 Fri, 14 Jan 2022 11:54:12 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370465 ดีลใหญ่วงการธนาคารในตลาดอาเซียน เมื่อยูโอบี (UOB) เร่งสปีดโค้งสุดท้ายคว้าดีลซื้อธุรกิจรายย่อยซิตี้กรุ๊ป’ (Citigroup) ในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียเเละเวียดนาม ด้วยมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท

ย้อนไปเมื่อช่วงต้นปี 2564 “ซิตี้กรุ๊ปประกาศขายกิจการลูกค้ารายย่อยใน 13 ประเทศทวีปเอเชียและยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศไทย จากแรงกดดันของนักลงทุนที่ต้องการให้ธนาคารลดต้นทุน โดยธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อเงินฝาก จะถูกขายออกทั้งหมด ซึ่งทางซิตี้จะหันไปมุ่งเน้นธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเเละธุรกิจลูกค้าสถาบันเเทน

จากนั้นมาก็มีกระเเสข่าวต่างๆ เกี่ยวกับการเเข่งขันเข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของไทยนั้นก็มีตัวเต็งที่มาในช่วงเเรกๆ อย่างธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงศรีฯ เเต่ในท้ายที่สุดธนาคารยูโอบีก็ชนะดีลนี้ไปได้

การตัดสินใจเข้าซื้อครั้งนี้ หลักๆ มาจากตลาดในประเทศไทยเเละเป็นราคาที่เหมาะสมผู้บริหารกลุ่มธนาคารยูโอบีกล่าว โดยขอให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะมีการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ไม่บกพร่องเเละไม่มีอะไรหยุดชะงัก

ทุ่มซื้อ 1.2 เเสนล้าน 

กลุ่มธนาคารยูโอบี ได้ทำข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ซึ่งรวมถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย (ธุรกิจลูกค้ารายย่อย) ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม (การเสนอซื้อกิจการ) และรวมไปถึงพนักงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป

การพิจารณาข้อเสนอเงินสดสำหรับการเสนอซื้อกิจการนี้ จะคำนวณจากค่าพรีเมียมรวม 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.25 หมื่นล้านบาท) บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9.86 หมื่นล้านบาท) ทำให้เกิดมูลค่าในซื้อกิจการครั้งนี้ อยู่ที่เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.2 แสนล้านบาท 

คาดว่าจะลดอัตราส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Common Equity Tier 1 หรือ CET1) ของธนาคารลง 0.7% เป็น 12.8% ตามสถานะเงินทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2021 ผลกระทบต่ออัตราส่วน CET1 คาดว่าจะมีไม่มากและจะยังอยู่ภายในข้อกำหนดด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล

นับเป็นทิศทางการขยายขอบเขตธุรกิจครั้งใหญ่ของยูโอบี เพื่อเจาะฐานลูกค้าผู้มีกำลังซื้อในอาเซียน และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การเติบโตในกลุ่มลูกค้าส่วนบุคคล เพิ่มเป็น 2 เท่าได้ภายใน 5 ปี

เพิ่มฐานลูกค้าอาเซียนเป็น 2 เท่า 

ปัจจุบันธุรกิจลูกค้ารายย่อยหรือ Retail Banking ของซิตี้กรุ๊ป มีสินทรัพย์สุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 9.9 หมื่นล้านบาท) และฐานลูกค้าราว 2.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2021 และมีรายได้ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564

ส่วนธุรกิจ Retail Banking ของ UOB ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีฐานลูกค้าจำนวน 2.89 ล้านราย ดังนั้น เมื่อเข้าทำการซื้อกิจการรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปแล้ว จะทำให้ฐานลูกค้ายูโอบีเพิ่มเป็น 5.29 ล้านราย

โดยเเบ่งเป็นในไทยราว 2.4 ล้านราย มาเลเซียราว 1.5 ล้านราย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลูกค้ารวม 1.2 ล้านราย เเละเวียดนามอีกเกือบ 2 เเสนราย ซึ่งในเวียดนามส่วนใหญ่จะเป็นฐานลูกค้าของซิตี้ ทำให้ยูโอบีสามารถเจาะตลาดที่กำลังเติบโตสูงได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการซื้อธุรกิจครั้งนี้

หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมนี้ในครั้งเดียว การเสนอซื้อกิจการนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของธนาคาร และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของธนาคารยูโอบีได้ทันที

ยูโอบีคาดว่าส่วน ROE จะเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในปี 2566 จากปีนี้ที่อยู่เฉลี่ยราว 10% เเละประเมินว่ารายได้จากการขยายกิจการครั้งนี้น่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.4 เท่า ซึ่งจะมีรายได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2567-2569 

คาดเเล้วเสร็จ กลางปี 65 ถึงต้นปี 67

การเข้าซื้อกิจการในแต่ละประเทศ จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างกลางปี 2565 ถึงต้นปี 2567 ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าและผลของกระบวนการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคาร

ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ธนาคารจะเข้าไปดำเนินการควบรวมกิจการในส่วนของประเทศไทยและมาเลเซียก่อน จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี จะเข้าไปดำเนินการในส่วนของอินโดนีเซีย และเวียดนาม

โดยในไทยเเละมาเลเซีย คาดว่าจะควบรวมต่างๆ ทั้งด้านระบบเเละพนักงานเเล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566  อินโดนีเซียในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 เเละเวียดนามในช่วงไตรมาส 1 ปี 2667”

ในระหว่างนี้ จะยังคงใช้ชื่อ Citi ไปก่อน เเละจะมีการเปลี่ยนให้ลูกค้ามาอยู่ภายใต้ยูโอบีทั้งหมดในช่วงปลายปี 2565 

ตลาดไทยหอมหวาน ลูกค้าเครดิตดี 

วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี (UOB) กล่าวว่า ลูกค้ารายย่อยในไทย เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับดีเเละจัดการได้ เเละลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมีกำลังซื้อ จึงมองว่าจะเอื้อต่อการเติบโตของยูโอบีได้

การตัดสินใจเข้าซื้อครั้งนี้ หลักๆ มาจากตลาดในประเทศไทย

ประเมินว่า ยูโอบีจะมีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจรายย่อยของไทย อยู่ที่อันดับ 6 ขยับขึ้นมาจากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 7 ขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิต ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 จากอันดับ 8 และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น เป็น 2.4 ล้านราย จากปัจจุบันที่ 1.3 ล้านราย

ผู้บริหารยูโอบี มองว่า การซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปใน 4 ประเทศ นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่มาถึงในเวลาที่เหมาะสม เเละเป็นการเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสมเพื่อขยายฐานลูกค้าได้ถึงสองเท่า เพิ่มความเเข็งเเกร่งด้านพันธมิตร เเละการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน

เรามุ่งหวังที่จะโอนย้ายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจที่มีคุณภาพของซิตี้กรุ๊ป และเตรียมต้อนรับทีมงาน สร้างคุณค่าให้กับฐานลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ของเราที่ขยายใหญ่ขึ้น

พร้อมยืนยันว่าพนักงานกว่า 5,000 รายในธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป จากทั้ง 4 ประเทศ จะยังได้ทำงานเช่นเดิม หลังกระบวนการเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้น โดยไม่มีแผนปลดพนักงานเพราะถือเป็นทีมที่มีคุณภาพ

เน้นดิจิทัล Cross sale ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ 

สำหรับกลยุทธ์ธุรกิจรายย่อยของธนาคารยูโอบี จะมุ่งเน้นไปที่การเจาะกลุ่มลูกค้ามั่งคั่งกำลังซื้อสูง ที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นจุดเด่นของซิตี้กรุ๊ปจะยังมีการสานต่อเเละขยายความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น ฟีเจอร์ไหนที่ลูกค้าสนใจ ก็จะมีการสื่อสารกับลูกค้าทันที พร้อมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย Cross sale ระหว่าง 2 ธนาคารเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป

นอกจากนี้ จะมุ่งการเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่าน UOB TMRW แพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคาร และให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) เเละใช้ AI มาช่วยพัฒนาธุรกิจเเละบริการลูกค้าซึ่งความท้าทายของการโอนย้ายธุรกิจครั้งนี้ก็คือการรวมระบบเน็ตเวิร์กให้มาใช้เเพลตฟอร์มเดียวกัน

การเสนอซื้อกิจการนี้จะขยายเครือข่ายพันธมิตรของยูโอบี และเพิ่มขนาดธุรกิจลูกค้ารายย่อยในทั้ง 4 ประเทศขึ้นเป็นสองเท่า เร่งให้บรรลุเป้าขยายฐานลูกค้าในภูมิภาคเร็วขึ้นถึง 5 ปี

ด้าน ทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Citi ประเทศไทย เผยว่า ธุรกรรมนี้เป็นผลดีต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และองค์กรของเรา Citi มุ่งมั่นที่จะทำให้ธุรกรรมนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการให้บริการแก่ลูกค้าธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้ากลุ่มบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ของเรา

ต้องติดตามต่อไปว่า Retail Banking ซิตี้โฉมใหม่ภายใต้บ้านยูโอบีจะเป็นไปในทิศทางใด

]]>
1370465
เปิดเเผน ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ สู่ Tech Leasing ดันสินเชื่อเเตะหมื่นล้าน เข้าตลาดหุ้นปี 65 https://positioningmag.com/1370137 Thu, 13 Jan 2022 06:56:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1370137 เปิดเเผน ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ กับหมุดหมายการเป็น Tech Leasing ดันยอดสินเชื่อเเตะหมื่นล้าน โตไม่น้อยกว่า 60% พร้อมเข้าจดทะเบียนตลาดฯ ในปี 65 เร็วกว่าที่คาด

ในวิกฤตโรระบาด ความต้องการ ‘สินเชื่อ’ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานะเงินตึงตัวมากขึ้นของประชาชน ทำให้ธุรกิจ ‘Non-Bank’ เติบโต ด้วยความที่เน้นปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กเจาะรายย่อย มีความคล่องตัว เเละมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาสินเชื่อมากกว่าธนาคารพาณิชย์

หนึ่งในนั้นคือ ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ หรือ SCAP บริษัทลูกสายตรงของ ‘ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น’ (SAWAD) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ 65%

หลักๆ เเล้ว SCAP ให้บริการด้านสินเชื่อกับ ‘ลูกค้ารายย่อย’ ทั้งลูกค้าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เปิดให้บริการเข้าสู่ปีที่ 3 ปัจจุบันให้บริการด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ป้ายแดงในสัดส่วนถึง 70% และส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

วิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บจก. ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเเห่งการ ช่วง ’ขยายกิจการ’ เพิ่มช่องทางการเข้าถึงของลูกค้า เเละเพิ่มจำนวนพนักงานสินเชื่อ หรือตัวเเทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ทุ่มลงทุนในเทคโนโลยี ปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อปูทางไปสู่การเป็น Tech Leasing เต็มตัว

สำหรับในปี 2565 มองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น จากการคลายล็อกดาวน์เเละความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว เอกชนกล้าลงทุนเเละประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ขยับสู่ชุมชน ปรับนโยบายปล่อยสินเชื่อ 

โดยเเผนกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อของปีนี้ จะเน้นไปที่การเข้าถึงชุมชนให้ได้มากที่สุด จากระดับจังหวัดสู่ระดับอำเภอ

ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ป้ายแดง จะมีการเพิ่มพนักงานขายในท้องถิ่น เพิ่มจำนวนดีลเลอร์ สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้วยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ตั้งเเต่ต้นจบ ทั้งการยื่นขอสินเชื่อ ส่งเอกสาร วิเคราะห์สินเชื่อเเละการอนุมัติ ชำระเงิน และการติดตามหนี้

“เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย นอกจากจะช่วยในการยื่นและอนุมัติสินเชื่อได้ได้รวดเร็วเเล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มผลประกอบการที่ดีให้บริษัท”

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล จะใช้กลยุทธ์เพิ่มจำนวนพนักงานขาย ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เเละเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายสินเชื่อให้สอดรับกับลูกค้าหลายกลุ่ม

จากเดิม SCAP จะเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือน จึงจะมีขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเเละมีความสามารถในการกู้เพิ่มขึ้น อย่างกลุ่ม SMEs

วางเป้าปี 65 ยอดสินเชื่อเเตะ 1 หมื่นล้าน 

ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ เติบโต 60% จากปีก่อนที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ไป 5 พันกว่าล้านบาท หรือเติบโต 150% ในปี 2564 ซึ่งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างในพอร์ตจะแตะ 10,000 ล้านบาทในปี 2565

โดยมองการเเข่งขันในตลาดนี้สูงมาก ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลให้วงเงินที่สูงขึ้น-ดาวน์น้อยลง มีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งก็จะมีการปรับเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อให้ง่าย เพื่อให้ดีลเลอร์ขายรถได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ SCAP อยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 2%  ซึ่งบริษัทมองว่ายังต่ำ และประเมินว่าในปีนี้น่าจะที่ไม่เกิน 2.5%

Photo : Shutterstock

ปูทาง Tech Leasing เตรียมพร้อมเข้าตลาดหุ้น 

สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ Tech Leasing Company นั้น บริษัทเริ่มทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อย่างเช่น การวิเคราะห์การให้สินเชื่อเเบบ ‘Credit Scoring’ ซึ่งจะช่วยการอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว เเละแม่นยำขึ้น ลดภาระให้พนักงานขาย ดีลเลอร์ก็มีความพึงพอใจ

การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร ผ่านระบบ e-Consent ที่ทำงานร่วมกับกรมการปกครอง และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ ‘SFast’ อนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 15 นาที ช่วยให้ดีลเลอร์ได้รับค่ารถภายใน 1 วัน และระบบ Field collector ที่ดูแลเรื่องการติดตามทวงหนี้ เเละกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเเนวทางการใช้ระบบบล็อกเชนเเละสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคตด้วย

สุดท้ายกับ อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ในปี 2565 ของ SCAP คือการเข้าจดทะเบียนเข้าสู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมวางเป้าหมายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงปี 2566-2567 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เเละบริษัทก็มีอัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้รองรับการปล่อยสินเชื่อ การขยายธุรกิจ และการพัฒนางานบริการด้านดิจิทัล

]]>
1370137
จับตา KASHJOY สินเชื่อน้องใหม่จาก KB J Capital เกาหลีใต้ บุกสินเชื่อ Non-bank ไทย https://positioningmag.com/1368891 Mon, 27 Dec 2021 08:17:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368891 ตลาดสินเชื่อ Non-bank หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารกำลังเติบโตสูง ล่าสุดมีน้องใหม่ Kashjoy โดย KB J Capital จากประเทศเกาหลีใต้ ผนึกกำลังกับกลุ่ม JAYMART ตีตลาดสินเชื่อในไทย

Kashjoy แบรนด์สินเชื่อใหม่โดย เคบี เจ แคปปิตอล ก่อตั้งโดย KB Kookmin Card บริษัทบัตรเครดิตยักษ์ใหญ่แห่งเกาหลีใต้ และ JAYMART ทุ่มงบ 650 ล้านบาท หวังรุกตลาดสินเชื่อไทย ครองใจคนทำงานด้วยบริการสินเชื่อที่สะดวกสบาย และรวดเร็วแบบ Non-banking Loan โดยดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยผ่านกลุ่มบริษัทเจมาร์ท

วอนซอค จ็อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า

“เคบี เจ แคปปิตอล พร้อมให้บริการสินเชื่อหลากรูปแบบแก่ลูกค้าในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตยุคใหม่ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น ผ่านการผสานจุดแข็งทางการเงินของ KB Kookmin Card ผู้ดำเนินธุรกิจเครดิตการ์ดชั้นนำในเกาหลีใต้มานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และมีฐานการดำเนินงานทั้งในเกาหลีใต้ กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมา มีความมั่นคงสูงด้วยทรัพย์สินรวมมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดในเกาหลีใต้ ส่วนกลุ่มบริษัท Jaymart ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีฐานการดำเนินงานในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยในฐานะผู้จัดจำหน่ายสินค้าสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ Jaymart Mobile และผู้ให้บริการสินเชื่อในนาม JMT”

“Kashjoy” โดยบริษัทเคบี เจ แคปปิตอล นำเสนอบริการสินเชื่อหลัก 4 รูปแบบ ได้แก่

  • บัตรกดเงินสดแคชจอย อีซี่
  • สินเชื่อส่วนบุคคลแคชจอย
  • สินเชื่อรถยนต์แคชจอย
  • สินเชื่อผ่อนมือถือแคชจอย

ทั้งหมดถือเป็นกลุ่มบริการสินเชื่อซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้าในปัจจุบันอย่างมาก และเมื่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลง เคบี เจ แคปปิตอล จึงได้พัฒนาการให้บริการสินเชื่อ ได้แก่ บัตรกดเงินสดแคชจอย อีซี่ วงเงินพร้อมใช้ เพื่อมอบประโยชน์ที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% ใน 30 วันแรกหลังอนุมัติ ปลอดค่าสมาชิกและค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย

“ตลาดสินเชื่อผู้บริโภคในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยเฉพาะตลาดกลุ่มนอนแบงก์ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่า 10% ด้วยมูลค่าตลาดปัจจุบันราว 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่ามีอัตราการเติบโตสูงกว่าในเกาหลีใต้ และด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราคิดค้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าชาวไทยได้อย่างตรงจุด ทำให้เรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมทั้งจากกลุ่มนักลงทุนและลูกค้าทั่วไป โดยบริษัทฯ จะมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อไทยในอนาคต”

]]>
1368891