อินโดนีเซีย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 30 Oct 2024 05:10:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 มองข้อจำกัดสกัด ‘อินโดนีเซีย’ ขึ้นเป็น ‘EV HUB’ แม้จะเป็นประเทศแรกของภูมิภาคที่มีโรงงานผลิตแบตฯ https://positioningmag.com/1496301 Tue, 29 Oct 2024 11:30:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1496301 ด้วยข้อได้เปรียบจากแร่ นิกเกิล ทำให้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอินโดฯ เชื่อว่าโรงงานผลิตแบตฯ จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการเป็น EV HUB ของภูมิภาค แต่ก็อาจไม่ง่ายขนาดนั้น

หลังจากได้รับเลือกจากบริษัทร่วมทุนระหว่าง ฮุนได (Hyundai) และ แอลจี (LG) ของเกาหลีใต้ให้สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถอีวีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีโรงงานผลิตแบตฯ โดยปัจจุบัน แบตเตอรี่จากโรงงานในอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังบริษัทในเครือ ฮุนได Hyundai ในเกาหลีใต้และอินเดีย

แน่นอนว่าอินโดนีเซียไม่คิดจะหยุดแค่นี้ โดยกำลังมองหาวิธีเพิ่มการลงทุนเพื่อให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยเริ่มออกมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า  ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษี โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามายังอินโดนีเซียจนถึงปี 2568 หากบริษัทต่าง ๆ มีการสร้างโรงงานผลิตและผลิตรถยนต์ในประเทศให้ได้จำนวนเท่ากับที่นำเข้าภายในสิ้นปี 2570 

ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ดึงให้แบรนด์รถอีวีหลายแบรนด์ตบเท้ากันเข้ามาในตลาดอินโดนีเซีย อาทิ BYD, VinFast และ Wuling ที่ประกาศแผนว่าจะผลิตแบตเตอรี่ ที่โรงงานในอินโดนีเซียภายในสิ้นปี 2024 และจากมาตรการทั้งหลาย ทำให้ยอดขายรถอีวีในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมปีนี้พุ่งเป็นกว่า 23,000 คัน จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 17,000 คัน ตามข้อมูลจากสมาคมยานยนต์อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโรงงานผลิตแบตฯ แห่งแรกของภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองนิกเกิลมากที่สุดในโลก แต่บรรดานักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ประเทศยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจาก ศักยภาพในการแปรรูปและการกลั่นที่ไม่ดี เนื่องจากขาดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้นิกเกิลต้องผ่านการแปรรูปจากเกาหลีใต้และจีนก่อน

อีกทั้งยังมีความกังวลด้าน สิ่งแวดล้อม โดยนักสิ่งแวดล้อมเตือนว่า การทำเหมืองนิกเกิลเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการ ตัดไม้ทำลายป่า ในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมไออนฟอสเฟต (LFP) ที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในจีน ก็อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการแบตฯ ที่อินโดนีเซียกำลังผลิตอยู่ด้วย

อีกสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การแข่งขัน โดยเฉพาะจาก ประเทศไทย ซึ่งไทยเองก็พยายามจะเป็น EV HUB โดยไทยเองก็สามารถดึงดูดให้หลายแบรนด์ตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดได้เปรียบ เพราะหากแบรนด์นั้น ๆ มีโรงงานในบางประเทศแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย

โดยข้อมูลของ ธนาคารกรุงศรีอยุทธยา พบว่า ในช่วงต้นปี 2566 ไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 8%

ก็ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียมีความได้เปรียบทั้งในแง่ประชากร และทรัพยากรที่หลายประเทศไม่มี แต่ประเทศอื่น ๆ ก็มีจุดแข็งของตัวเอง อาทิ ไทยเองก็มี Know how จากรถยนต์สันดาป และเข้าสู่ตลาดอีวีค่อนข้างเร็วกว่าหลายประเทศ ก็คงต้องรอดูกันว่าใครจะชิงความได้เปรียบจนขึ้นเป็น EV HUB ของภูมิภาคได้ 

Source

]]>
1496301
ผิดสัญญาก็ไม่ต้องขาย! ‘อินโดนีเซีย’ แบนห้ามขาย ‘iPhone 16’ หลัง ‘Apple’ ไม่ลงทุนครบตามที่ระบุ https://positioningmag.com/1495854 Mon, 28 Oct 2024 08:02:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1495854 เรียกว่างานเข้า Apple เลยทีเดียว หลังจากประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอย่าง อินโดนีเซีย สั่งห้ามไม่ให้นำเข้า iPhone 16 ทุกรุ่น รวมถึงสินค้าใหม่ ๆ ที่เพิ่งเปิดตัวมาจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากบริษัทลงทุนไม่ถึงตามที่สัญญาไว้

กระทรวงอุตสาหกรรมของ อินโดนีเซีย ได้สั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 Series รวมถึงสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง Apple Watch Series 10 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก Apple ยังลงทุนไม่ครบตามที่ได้ตกลงไว้

โดย Apple ได้ลงทุนไปเพียง 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งต่ำกว่าที่ตกลงไว้ว่าจะลงทุน 1.7 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถ้า Apple จะกลับมาขายสินค้าอีกครั้งก็ต่อเมื่อ Apple ลงทุนครบตามจำนวนที่เคยระบุไว้ ซึ่งรวมถึงการสร้างสถาบัน Apple Academy สำหรับวิจัยพัฒนา 

แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งแบนการขายในประเทศ แต่กรณีที่ iPhone 16 ถูกส่งมาจากต่างประเทศ จะไม่ถูกนับ เพราะไม่ได้เกิดการขายในประเทศ และในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มี iPhone 16 ก็ไม่ต้องกังวล โดยสามารถนำ iPhone 16 ที่เปิดการใช้งานแล้วเข้าประเทศได้ แต่ต้องไม่เกินคนละสองเครื่อง อย่างไรก็ตาม หากพบว่านำไปขายต่อ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายทันที อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี iPhone 16 ประมาณ 9,000 เครื่อง ได้เข้าสู่อินโดนีเซียแล้ว 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนประชากรมากถึง 270 ล้านคน มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ในขณะที่จำนวนสมาร์ทโฟนในประเทศมีสูงถึง 350 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศอย่างมาก

Source

]]>
1495854
อินโดนีเซีย ผุดนโยบาย เที่ยวแบบไม่ต้องขอวีซ่าสําหรับผู้อยู่อาศัยถาวร (PR) ในสิงคโปร์ เพื่อดึงดูดการลงทุน https://positioningmag.com/1493976 Thu, 10 Oct 2024 13:33:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1493976 อินโดนีเซีย เปิดตัวการเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าสําหรับนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่มาเยือนบินตัน บาตัม และหมู่เกาะคาริมุน โดยนโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการดึงดูดให้ชาวต่างชาติ ที่มีสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร (PR) ในสิงคโปร์ ให้เข้ามาท่องเที่ยวและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของประเทศอินโดนีเซีย แตกต่างจากการเข้าประเทศแบบไม่ต้องขอวีซ่าที่มีอยู่สําหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งใช้กับการท่องเที่ยวและการเข้าพักระยะสั้นในวงกว้าง

Silmy Karim อธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การให้ BVK (วีซ่าเข้าชมฟรี) สําหรับ ผู้ถือ PR ของสิงคโปร์ มาเยี่ยมชมบาตัม บินตัน และคาริมุน จะทําให้ผู้ถือ PR ของสิงคโปร์ต้องการใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์หรือท่องเที่ยวระยะสั้น เช่น เพลิดเพลินกับธรรมชาติ การท่องเที่ยวด้านการทําอาหาร หรือการช้อปปิ้ง ได้ง่ายขึ้น 

ทำให้ผู้ถือ PR ของสิงคโปร์จะสามารถอยู่ได้นานถึง 4 วัน และภายใต้กฎใหม่นี้ จะครอบคลุมการอยู่อาศัยในจุดท่าเรืออีกหลายแห่งในภูมิภาคริอู (Riau) โดยท่าเรือที่ให้บริการฟรีวีซ่าสําหรับผู้ถือ PR ของสิงคโปร์ ได้แก่ Nongsa Terminal Bahari, Marina Teluk Senimba, Batam Centre, Citra Tri Tunas, Sekupang, Sri Bintan Pura, Bandar Bentan Telani Lagoi และ Tanjung Balai Karimun

Silmy Karim ยังเน้นย้ำถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของหมู่เกาะริอูและเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งในพื้นที่ และสิ่งอํานวยความสะดวกที่จะทําให้ผู้ถือ PR ของสิงคโปร์ ที่สนใจธุรกิจหรือการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในบา ตัมง่ายขึ้น รวมถึงเขตเศรษฐกิจหนองสาในบาตัมและบินตันรีสอร์ท ซึ่งเป็นพื้นที่รวมสําหรับธุรกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยว

จากข้อมูลของกรมสถิติของสิงคโปร์ ระบุว่า สิงคโปร์มีชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้พํานักถาวรประมาณ 545,000 คน ทําให้สามารถพํานักในประเทศอย่างถาวร อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซีย ยังคงคัดเลือกชาวต่างชาติที่เข้ามาอย่างเหมาะสมเพื่อรักษากฎระเบียบ ความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยให้ดำเนินไปได้ด้วยดี 

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีโครงการดึงดูดการลงทุนในประเทศมาก่อนหน้าด้วยเช่นกัน อาทิ บ้านหลังที่สอง และวีซ่าทองคําสําหรับพลเมืองโลกที่มีกำลังทรัพย์รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ  

และเมื่อต้นปี 2024ประธานาธิบดี Joko Widodo ของอินโดนีเซีย ได้ประกาศรายชื่อล่าสุดของ 13 ประเทศและภูมิภาคที่มีสิทธิ์เข้าประเทศหมู่เกาะโดยไม่ต้องขอวีซ่า ตามรายงานของสื่อระดับภูมิภาค รวมถึงฮ่องกงที่เป็นหนึ่งในสามสถานที่นอกอาเซียนและติมอร์-เลสเตที่ได้รับการยกเว้น พร้อมกับสองประเทศในอเมริกาใต้ ได้แก่ ซูรินาเมและโคลอมเบีย ด้วยเช่นกัน

ที่มา : CNA

]]>
1493976
มองเทรนด์ ‘การกิน’ ของ ‘อินโดนีเซีย’ ประเทศอุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของเอเชีย สำหรับ ‘ผู้ประกอบการไทย’ ที่กำลังหาโอกาสลุย https://positioningmag.com/1491349 Mon, 23 Sep 2024 06:18:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1491349 เชื่อว่าผู้ประกอบการด้านอาหารส่วนใหญ่จะต้องรู้จักกับงาน Food ingredients Asia งานแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เนื่องจากถูกจัดต่อเนื่องมาแล้ว 28 ปี โดยจะเป็นการจัดสลับระหว่างประเทศไทย และ อินโดนีเซีย ซึ่งในในปี 2024 นี้ ได้จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย โดย Positioning จะพาไปเจาะลึกถึงโอกาส ความน่าสนใจ และอะไรยังเป็นอุปสรรคใหญ่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะลุยอินโดนีเซีย

คนอินโดฯ กินหวาน แต่คนรุ่นใหม่เริ่มดูแลตัวเอง

อย่างที่รู้กันว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็น อันดับ 4 ของโลก ด้วยจำนวนกว่า 270.2 ล้านคน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหาก ตลาดอาหาร ในปี 2024 จะถูกคาดว่ามีมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงมีการเติบโตในอัตรา 6.12% ต่อปี (CAGR 2024-2028)

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน Food ingredients Asia เล่าว่า พฤติกรรมของคนอินโดนีเซียคือ ชอบทานอาหารนอกบ้าน และจะติดทานอาหาร รสหวาน มัน ซึ่งทางอินโดฯ ยังไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมน้ำตาลหรือการรณรงค์งดน้ำตาลจริงจังนัก เพราะพฤติกรรมที่ฝังรากของคนอินโดฯ

ในส่วนของประเภทอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เบเกอรี่ และซีเรียล โดยมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดคือ สแน็ค และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

“คนอินโดนีเซียชอบสแน็ค จะเห็นว่าเขาเคี้ยวแทบทั้งวัน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นี่ก็เยอะมาก ถ้าไปเดินในซูเปอร์มาร์เก็ตของอินโดนีเซียจะเห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นพัน ๆ แบรนด์ อีกอย่างที่คนอินโดฯ นิยมก็คือ ขนมปัง และที่สำคัญคือ เขาติดหวาน ดังนั้น ถ้าไทยจะเข้ามาเจาะตลาดอินโดฯ ก็ต้องปรับนิดหน่อย”

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

วัยรุ่นเริ่มหันมาดูแลตัวเอง

ที่น่าสนใจคือ ประชากรกว่า 50% ของอินโดนีเซียอายุต่ำกว่า 45 ปี ดังนั้น ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เริ่มมองหา อาหารเพื่อสุขภาพ (Health Ingredients) มากขึ้น โดยไทยเองก็มีจุดเด่นในเรื่องนวัตกรรมอาหาร ดังนั้น การส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดอาหารอินโดนีเซียถือเป็นอีกโอกาส จากปัจจุบันอินโดนีเซียนำเข้า น้ำตาล จากไทยมากที่สุด

อีกโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยก็คือ พริก เนื่องจากวัฒนธรรมอาหารอินโดฯ จะคล้าย ๆ กับไทยที่มี น้ำพริก ประจำบ้านที่เรียกว่า ซัมบัล บาจาค (Sambal Bajak) ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกวัตถุดิบที่ไทยอาจสามารถส่งออกมายังอินโดฯ ได้

อุปสรรคเดียวคือ กฎหมาย

แม้ว่าอินโดนีเซีย จะถือเป็นประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมอาหารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน แต่ที่ ผู้ประกอบการไทยเน้นการส่งออกไปที่ยุโรป รุ้งเพชร มองว่าเป็นเพราะ กฎหมาย ของอินโดนีเซียที่เป็น ข้อจำกัดเดียว ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ประกอบการไทยต้อง ทำกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับคนในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ

อีกข้อจำกัดสำคัญก็คือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็น มุสลิม ซึ่งจะมีกฎหมาย Halal Regulations ใหม่ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีป้าย Halal หรือ Non-Halal จากอินโดนีเซียกำกับเท่านั้น ดังนั้น ต้องให้มีสัญลักษณ์ฮาลาลของประเทศไทยก็ไม่สามารถนำเข้าได้ ซึ่งในส่วนนี้ ภาครัฐ ควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย

“ตลาดน่าสนใจ เพราะใกล้บ้านด้วย อีกทั้งคนอินโดฯ มองว่าสินค้าอาหารไทยว่ามีคุณภาพ ยอมจ่ายเงินซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทย แต่สิ่งสำคัญคือต้องตามเทรนด์และกฎหมายให้ทัน เพราะถ้าเข้าประเทศอินโดฯ ได้ก็ขายกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้

Future Food อีกเทรนด์ที่เป็นโอกาสของไทย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาในการเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของเอเชียของไทยก็คือกฎหมาย ดังนั้น รัฐบาลถือเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะรัฐบาลมีบทบาทในการเจรจาเรื่อง FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรี และการสร้างการรับรู้

อีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยคือ Future Food หรือ อาหารอนาคต เช่น แพลนต์เบส (Plant based) ที่กำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยไทยเองทั้งภาครัฐและเอกชนก็ได้ร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่ระดับงานวิจัยเพื่อหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อไปต่อยอด โดยในมุมการผลิต ไทยถือว่าเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก แต่แม้ไทยเป็นผู้ผลิตแต่ก็ยังขาด Food Ingredient (วัตถุดิบ) บางอย่าง ทำให้ในปัจจุบันไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท แต่ส่งออกวัตถุดิบเพียง 6.5 พันล้านบาท

ดังนั้น การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นอีกจุดที่สำคัญของไทย เพราะอาจมีบาง Know How หรือการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยยังไปไม่ถึง เพราะในแต่ละประเทศก็จะซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์นี้เท่านั้นก็มี ดังนั้น ถ้าดึงการลงทุนจากต่างประเทศมาได้ ไทยก็จะมีแหล่งวัตถุดิบที่จะใช้ปรุงแต่งอาหารได้มากขึ้น ในต้นทุนที่ถูกลง และจะช่วยการส่งออกได้ดีขึ้น

“ไทยยังต้องนำเข้าพวกสารสกัดจากพืช สมุนไพร สารปรุงแต่งกลิ่นรส และสานสกัดทางโภชนาการต่าง ๆ เช่น วิตามิน ไฟเบอร์ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะช่วยให้เราขายอาหารฟังก์ชันนอลได้เยอะขึ้น ซึ่งไทยเองก็มีโอกาสที่จะส่งออกวัตถุดิบท้องถิ่น แต่เพราะเราสกัดไม่เก่ง ดังนั้น ถ้าเราดึงการลงทุนจากต่างชาติมาสกัดจากวัตถุดิบไทย หาที่ไหนไม่ได้ นี่ก็จะเป็นโอกาสของไทย” วิศิษฐ์ ทิ้งท้าย

]]>
1491349
อินโดฯ เตรียมออกกฎห้ามสร้าง “โรงแรม” เพิ่มใน “บาหลี” หลังนักท่องเที่ยวล้นเมือง https://positioningmag.com/1489535 Tue, 10 Sep 2024 17:04:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489535 นักท่องเที่ยวแน่นเต็ม “บาหลี” จนอินโดฯ เตรียมออกกฎชั่วคราว ห้ามก่อสร้าง “โรงแรม วิลล่า และผับบาร์” เพิ่มในบาหลี โดยกำลังพิจารณาระยะเวลาการคุมเข้มซึ่งอาจจะยาวนานได้ถึง 10 ปี ทั้งหมดเพื่อปกป้องไม่ให้แหล่งท่องเที่ยวกินพื้นที่เกษตรกรรมมากไปกว่านี้ และดูแลให้บาหลีรับนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น

Luhut Pandjaitan รัฐมนตรีประสานงานกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุนของอินโดนีเซีย แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2024 ว่า รัฐบาลกำลังเตรียมจะออกกฎควบคุมมิให้มีการก่อสร้างโรงแรม วิลล่า ผับบาร์ เพิ่มขึ้นใน “บาหลี” ซึ่งกฎชั่วคราวนี้อาจจะมีกำหนดควบคุมเป็นระยะเวลา 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

ประเด็นการแถลงรับลูกของรัฐบาลเกิดขึ้นหลังจาก Sang Made Mahendra Jaya รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลี มีการออกแถลงข่าวต่อสื่อก่อนหน้านี้ว่า ทางจังหวัดบาหลีมีการยื่นรายงานข้อเสนอต่อรัฐบาลกลางอินโดนีเซียไปแล้วว่า จังหวัดต้องการจะป้องกันไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้นเพิ่มเติมใน 4 โซนหลักของจังหวัดที่ถือว่าเต็มแน่นไปด้วยสถานที่ด้านการท่องเที่ยวแล้ว ได้แก่ Denpasar, Badung, Gianyar และ Tabanan

(Photo : Shutterstock)

ทั้งนี้ ปี 2024 ถือเป็นปีที่นักท่องเที่ยวใน “บาหลี” พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพียง 7 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวไปเยือนบาหลีแล้ว 3.89 ล้านคน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนยังมีเพียงแค่ 2.9 ล้านคน และถ้าเทียบกับประชากรถาวรในบาหลีที่มี 4.4 ล้านคน ตัวเลขนักท่องเที่ยวนี้จึงสูงมากๆ

นักท่องเที่ยวที่ทะลักเข้ามาจำนวนมากยังก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา วัดได้จากคลิปไวรัลและพาดหัวข่าวที่ปลุกกระแสความไม่พอใจของคนท้องถิ่น และทำให้คนอินโดฯ รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว

ในเชิงสถิติก็สอดคล้องกัน เพราะเมื่อปี 2023 อินโดฯ มีการผลักดันชาวต่างชาติกลับประเทศไปถึง 340 คน เนื่องจากละเมิดกฎหมายต่างๆ ของอินโดฯ เช่น พำนักอยู่เกินกำหนดในวีซ่า, ทำงานผิดกฎหมาย, มีการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือก่ออาชญากรรม

Photo : Shutterstock

“เราและท่านประธานาธิบดีจะร่วมกันวางย่างก้าวที่มั่นคงให้กับการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างงานสร้างอาชีพ” Sandiaga Uno รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ด้าน Made Krisna Dinata ผู้อำนวยการบริหาร Walhi-Bali กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การหารือเพื่อหยุดการก่อสร้างโรงแรมและวิลล่าในบาหลีนั้นเป็นอะไรที่ควรจะเกิดขึ้นมานานแล้วด้วยซ้ำ

“บาหลีมีสิ่งก่อสร้างเยอะเกินไปแล้ว” Krisna กล่าวกับสื่อ South China Morning Post “การท่องเที่ยวได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับบาหลี ดัชนีชี้วัดที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้คือพื้นที่สีเขียวมากมายในบาหลีถูกเปลี่ยนเป็นอาคารไปหมดแล้ว”

นาข้าวในบาหลี อินโดนีเซีย

สถิติจากทางรัฐบาลอินโดฯ เองระบุว่าเมื่อปี 2023 บาหลีมีโรงแรมทั้งหมด 541 แห่ง เพิ่มขึ้นจากที่เคยมี 249 แห่งเมื่อทศวรรษที่แล้ว ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมวิลล่าผิดกฎหมายที่แอบสร้างขึ้นโดยไม่มีการขออนุญาตซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ

“ก่อนอื่นเลยเราจะต้องจัดการขั้นตอนการขอใบอนุญาตเพื่อให้แน่ใจว่านาข้าวของเราจะไม่ถูกเปลี่ยนเป็นวิลล่าไปเสียหมด” Mahendra รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลีกล่าว

Krisna ยังเสริมด้วยว่า การก่อตั้งโรงแรมยังกระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ด้วย เพราะการดำเนินธุรกิจโรงแรมมักจะบริโภคน้ำมากกว่าการอยู่อาศัยตามปกติ ดังนั้น จึงควรจะหยุดการก่อสร้างโรงแรมเพิ่มเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้

ขณะที่ Agung Wardana ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมจาก Gadjah Mada University แสดงความเห็นว่าการออกกฎหมายนี้อาจจะ “มาช้าไป” หรือไม่ เพราะปัจจุบันการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของบาหลีมักจะปลอมแปลงว่าเป็นการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยแทนการขอใบอนุญาตเป็นโรงแรม ซึ่งอาจจะหลบเลี่ยงการแบนการก่อสร้างเพื่อการท่องเที่ยวได้

แม้ว่าการแบนการก่อสร้างโรงแรมจะยังต้องรอประกาศจากรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอินโดฯ จะทำได้เลยทันทีคือ “เพิ่มความเข้มงวดด้านกฎหมาย” กับต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่ละเมิดกฎต่างๆ โดยรัฐมนตรี Luhut ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบาหลี

Source

]]>
1489535
ไปต่อไม่ไหว ‘Gojek’ ประกาศยุติบริการใน ‘เวียดนาม’ ขอกลับไปโฟกัสที่ตลาดบ้านเกิด https://positioningmag.com/1489043 Fri, 06 Sep 2024 09:07:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1489043 หากพูดถึงชื่อ Gojek เชื่อว่าลูกค้าบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยน่าจะยังพอจำกันได้ เพราะเพิ่งถอนตัวออกจากไทยไปได้ไม่นาน และล่าสุด บริษัทก็ถอนตัวออกจากประเทศ เวียดนาม หลังจากไม่สามารถฟาดฟันกับตลาดที่แข่งขันดุเดือดได้

Gojek สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นรายแรกของอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะไปไม่ค่อยรุ่งกับการรุกต่างประเทศสักเท่าไหร่ เพราะล่าสุด บริษัทแม่ได้ตัดสินใจที่จะ ยุติการให้บริการทั้งหมดในตลาดเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นบริการเรียกรถ  หรือส่งอาหาร ภายในวันที่ 16 ก.ย. นี้ เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ปิดฉากการให้บริการนาน 6 ปี 

ที่ผ่านมา Gojek มีส่วนแบ่งในตลาดเวียดนามเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่คู่แข่งอย่าง Grab สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 47% ตามด้วย Shopee Food ที่มีส่วนแบ่งตลาด 45% ดังนั้น การถอนตัวออกจากเวียดนามนี้ จะช่วยให้ GoTo Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Gojek ไปโฟกัสในประเทศหลักที่ยังสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งก็คือ ตลาดอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ 2 ประเทศที่บริษัทยังทำตลาดอยู่

อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากไตรมาส 2 รายได้ของ Gojek ในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน ไม่ถึง 1% ของผลประกอบการ ดังนั้น การถอนตัวออกจากตลาดเวียดนามจึง ไม่ส่งผลกับภาพรวมบริษัท ซึ่งหลักจากที่ Gojek ประกาศถอนตัว หุ้นของ GoTo Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Gojek พุ่งขึ้น +1.92% แตะ 53 รูเปียห์ แม้ว่าหุ้นของ GoTo จะพุ่งขึ้น แต่ก็ถือว่ายังคงต่ำกว่าราคา IPO ที่ระดับ 338 รูเปียห์ เป็นอย่างมาก ปัจจุบัน GoTo มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 62.47 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

สำหรับแพลตฟอร์ม Gojek ได้เข้าไปเปิดตลาดเวียดนามภายในชื่อ Go-Viet ในปี 2018 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ชื่อ Gojek ในปี 2020 และการถอนตัวออกจากตลาดเวียดนาม ถือเป็น ประเทศที่ 2 ที่ Gojek ถอนตัว โดยประเทศแรกที่ Gojek ยุติการให้บริการก็คือ ประเทศไทย ในปี 2021 โดยขายให้กับ AirAsia Super Apps ซึ่งปัจจุบัน ได้ยุติบริการไปแล้วเช่นกัน

ปัจจุบัน ตลาดบริการเรียกรถโดยสารของเวียดนามคาดว่าจะมีมูลค่า 880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และคาดว่าจะสามารถเติบโตเป็น 2,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2029

Source

]]>
1489043
อินโดนีเซียอยู่ระหว่างสอบสวน Shopee และ Lazada อาจมีพฤติกรรมผูกขาด เน้นใช้บริการขนส่งของตัวเองเป็นหลัก https://positioningmag.com/1475286 Tue, 28 May 2024 02:11:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475286 หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซียอยู่ระหว่างสอบสวน Shopee และ Lazada อาจมีพฤติกรรมว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีในการใช้บริษัทขนส่งของตัวเองนั้นอาจทำให้ผู้บริโภคนั้นไม่สามารถเลือกบริษัทขนส่งได้อย่างอิสระ

หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซีย (KKPU) กำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน 2 ผู้เล่น E-commerce รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Shopee รวมถึง Lazada ว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน ซึ่งถ้าหากมีผู้เล่นรายใดรายหนึ่งทำผิดจริง อาจต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมาก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้นมีการสอบสวนในฝั่งของ Shopee ในวันนี้ (อังคารที่ 28 พฤษภาคม) ว่าอาจมีการละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน ขณะที่ฝั่งของ Lazada นั้นหน่วยงานพบว่ามีเหตุต้องสงสัยว่าอาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎต่อต้านการแข่งขัน

รายงานของ DealStreetAsia ได้ชี้ว่า Shopee มีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจขนส่งสินค้าของตัวเองอย่าง SPX ซึ่งถือเป็นการกีดกันไม่ให้บริษัทขนส่งรายอื่นเข้ามาทำธุรกิจ เพิ่มปริมาณการจัดส่งสินค้าให้กับบริษัทตัวเอง และยังเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค

M. Fanshurullah Asa ประธานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอินโดนีเซีย ได้กล่าวว่า Shopee และ Lazada มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกันในเรื่องดังกล่าว แต่เขาไม่ได้กล่าวในรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

ประเทศอินโดนีเซียนั้นตลาดในการขนส่งสินค้าถือว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีการแข่งขันสูง และมีผู้เล่นหลายรายทั้งผู้เล่นภายในประเทศอย่าง เช่น GoTo หรือแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab หรือแม้แต่ J&T Express

นอกจากนี้อินโดนีเซียเองยังเป็นประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมามีบริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น TikTok หรือแม้แต่ Meta นั้นถูกการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว

ถ้าหาก 2 ผู้เล่นรายใหญ่ของ E-commerce รายดังกล่าวถูกตัดสินคดีว่ามีความผิดจริง โทษปรับที่บริษัทจะโดนคือปรับกำไร 50% หรือรายได้จากยอดขาย 10% ในช่วงเวลาที่เกิดการกระทำผิด

ที่มา – Reuters, Inquirer

]]>
1475286
“อินเดีย” – “อินโดนีเซีย” มาแรงในหมู่นักลงทุน หลังปัจจัย “โครงสร้างประชากร” มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ https://positioningmag.com/1475280 Mon, 27 May 2024 12:27:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475280 สองประเทศในเอเชียอย่าง “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” กำลังเนื้อหอม! หลังจากนักลงทุนหันมามองปัจจัยด้าน “โครงสร้างประชากร” เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจลงทุน

ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง “อินเดีย” และ “อินโดนีเซีย” ที่มีจำนวนประชากรเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะได้ประโยชน์จากการตัดสินใจของนักลงทุน เนื่องจากปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจ ตามข้อมูลจาก Fidelity International และ BlackRock Investment Institute

นักลงทุนกำลังมุ่งลงทุนไปที่สองประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคาดว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งอินเดียและอินโดนีเซียบังเอิญมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในปีนี้ และรัฐบาลใหม่ของทั้งสองประเทศแสดงจุดยืนว่ามีความทะเยอทะยานที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็น “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” โดยมีโครงสร้างประชากรคนหนุ่มสาวเป็นจุดแข็งหลัก

ภาพจาก Unsplash

สองประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่โดดเด่นขึ้นมาในห้วงเวลาที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงประเทศ “จีน” ด้วย

อินเดีย กลายเป็นประเทศที่เอาชนะจีนได้ในเรื่องจำนวนประชากรมาตั้งแต่กลางปี 2023 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์

ขณะที่การวิเคราะห์ของ BlackRock ฉายภาพให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกันในทางบวกระหว่างจำนวนประชากรวัยทำงานที่เติบโตขึ้นของประเทศหนึ่งกับการเติบโตของราคาหุ้นในตลาดหุ้น ส่วน Fidelity มองว่าภาคธุรกิจการเงินจะเป็นธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประชากร เพราะทุกคนต้องการผลิตภัณฑ์การเงินไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือผู้บริโภคทั่วไปก็ตาม

Photo : Shutterstock

“แรงงานของอินเดียกับอินโดนีเซียยังเป็นหนุ่มสาว โครงสร้างประชากรของทั้งสองประเทศนี้โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด” เอียน แซมสัน ผู้จัดการกองทุนของ Fidelity ในสิงคโปร์กล่าว “ทุกบริษัทไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็ต้องการบริการทางการเงิน นี่คือเหตุว่าทำไมราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารถึงมักจะโตสอดคล้องไปกับจีดีพีประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”

จำนวนประชากรในอินเดียและอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 10% นับจากปีนี้ไปจนถึงปี 2040 ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) แตกต่างจากจีนที่คาดว่าจำนวนประชากรจะลดลงเกือบ 4%

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวน คือการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรในกลุ่มวัยทำงานซึ่งหมายถึงคนวัย 15-64 ปี ในกรณีนี้จีนมีโครงสร้างประชากรวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีคนหนุ่มสาวมากที่สุดในหมู่ประเทศที่เป็นประเทศหลักทางเศรษฐกิจ

ฌอน บัววีน ผู้นำกลุ่มนักวางกลยุทธ์จาก BlackRock Investment Institute วิเคราะห์ว่า การเพิ่มสัดส่วนกลุ่มคนวัยทำงานที่เร็วขึ้นมักจะสอดคล้องกับการเติบโตของผลกำไรบริษัทในอนาคต และเสริมด้วยว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผล ได้แก่ การย้ายถิ่นของแรงงาน การมีส่วนร่วมของแรงงานมากขึ้น และระบบออโตเมชัน

ภาพจาก Unsplash

ปัจจุบันดัชนี Nifty 50 (ดัชนีรวมหุ้น 50 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นอินเดีย) มีการซื้อขายกันในเป็นสถิติใหม่ และเตรียมจะเข้าสู่ช่วงการเติบโตต่อเนื่อง 9 ปีหากเทรนด์การซื้อขายยังรักษาระดับไว้ได้แบบนี้ ส่วนดัชนี Jakarta Composite Index (JCI) ของอินโดนีเซียก็เพิ่งจะทำราคาแตะสถิติสูงสุดไปเมื่อเดือนมีนาคม 2024

นักวิเคราะห์ยังบอกด้วยว่า หลังจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีงานที่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ โดยการลดความยุ่งยากในการกำกับควบคุมโดยรัฐ กระตุ้นให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดงาน และอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนจากต่างประเทศ ถึงจะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับแรงส่งจากโครงสร้างประชากรที่ดีของตนเอง

นักวิเคราะห์มองว่า มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นบ้างแล้วในการสร้างเสริมเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีอะไรต้องทำอีกมาก

ปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอินโดนีเซีย และจะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ ประกาศว่า ตนตั้งเป้าจะทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตปีละ 8% แม้ว่าสถิติที่ผ่านมาของประเทศจะต่ำกว่านั้นมากก็ตาม

ส่วนในอินเดียนั้นยังอยู่ระหว่างเลือกตั้งที่จะไปสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งต้องจับตาดูว่า นเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 หรือไม่และชนะด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะหากชนะด้วยสัดส่วนที่เฉียดฉิวอาจจะทำให้แผนปฏิรูปประเทศของเขาเผชิญกับความยุ่งยากและไม่เป็นผลดีต่อตลาดเงินตลาดทุน

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศหนึ่งๆ จะมีผลต่อต้นทุนการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลและเกษียณอายุ โดยในประเทศพัฒนาแล้วมักจะมีต้นทุนเรื่องสวัสดิการสังคมเหล่านี้สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา” ซานเจย์ ชาห์ ผู้อำนวยการแผนกตราสารหนี้ที่ HSBC Global Asset Management กล่าว “ในประเทศกำลังพัฒนา ภาระการจ่ายเงินเกษียณอายุให้ประชาชนมักจะต่ำกว่าและมีสิทธิประโยชน์ให้น้อยกว่า ซึ่งแปลว่าภาระต่อการใช้งบประมาณประเทศในส่วนนี้ก็จะน้อยกว่าเช่นกัน” ชาห์กล่าว

Source

]]>
1475280
Apple และบริษัทอื่นๆ ทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณามาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้า เน้นผลิตในประเทศ https://positioningmag.com/1469253 Fri, 05 Apr 2024 08:43:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1469253 บริษัทหลายแห่งทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณามาตรการจำกันการนำเข้าสินค้า 4,000 รายการ ซึ่งกระทบกับบริษัทต่างชาติไม่ว่าจะเป็น Apple คาดว่า MacBook Pro ที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียนั้นสินค้าจะหมดสต๊อกภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ หรือแม้แต่ผู้ผลิตยางรถยนต์อย่าง Michelin ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่าหลายบริษัททั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Apple ไปจนถึง Michelin ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณามาตรการจำกันการนำเข้าสินค้า เนื่องจากเป้าหมายรัฐบาลต้องการให้มีการผลิตสินค้าในประเทศแทนการนำเข้า

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้า 4,000 รายการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมานั้นต้องการที่จะทำให้บริษัทต่างๆ มาตั้งฐานการผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

ถ้าหากบริษัทไหนต้องการที่จะนำเข้าสินค้าใน 4,000 รายการดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ และในการขออนุญาตจะต้องส่งคาดการณ์เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเหล่านี้

ประเด็นดังกล่าวนั้นยังรวมถึงรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสน กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลกถึงมาตรการดังกล่าว เนื่องจากบริษัทต่างชาติจะต้องมีการวางแผนในด้านธุรกิจตลอดเวลา

และมาตรการดังกล่าวยังสวนทางกับนโยบายของอดีตประธานาธิบดี โจโก วีโดโด ซึ่งพยายามที่จะเป็นมิตรต่อบริษัทต่างชาติ และต้องการให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งเขาได้ชักชวนบริษัทดังๆ เช่น Tesla และ SpaceX ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายแห่ง หรือแม้แต่บริษัทอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สินค้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าที่หลายบริษัทต่างชาติได้รับผลกระทบถ้วนหน้ามีตั้งแต่ การห้ามนำเข้า Laptop ซึ่งกระทบกับ Apple และบริษัทรายอื่น โดยคาดว่า MacBook Pro ที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียนั้นสินค้าจะหมดสต๊อกภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้

ขณะที่สินค้าประเภทเคมีภัณฑ์กระทบกับ Michelin ผู้ผลิตยางรถยนต์นั้นวัสดุเคมีภัณฑ์ที่นำเข้าจากทวีปยุโรปในช่วงเดือนมีนาคมนั้นคาดว่าวัสดุดังกล่าวจะหมดสต๊อกภายในระยะเวลา 2-3 เดือนหลังจากนี้

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น Michelin ได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเพื่อจะแก้ปัญหา และมองโลกในแง่ดีว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะแก้ปัญหานี้ได้ และหลายบริษัทเตรียมพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลอินโดนีเซียในปัญหาดังกล่าวแล้ว

]]>
1469253
Hyundai ตั้งเป้ารุกตลาดอาเซียน มองอินโดนีเซียเป็นฮับ EV ของบริษัทในภูมิภาคนี้ แม้รถญี่ปุ่นจะครองตลาดก็ตาม https://positioningmag.com/1457269 Wed, 27 Dec 2023 03:30:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457269 ฮุนได ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากเกาหลีใต้ ตั้งเป้ารุกตลาดในอาเซียนมากขึ้น โดยมองถึงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อย่างประเทศไทย หรือมาเลเซีย ที่เป็นผู้นำเทรนด์ในละแวกนี้ ขณะเดียวกันก็มองประเทศใหญ่อย่างอินโดนีเซียเป็นฮับสำคัญของบริษัท และยังรวมถึงประเทศอย่างอินเดียด้วย

Korea Herald รายงานข่าวว่า ฮุนได (Hyundai) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากเกาหลีใต้ ตั้งเป้ารุกตลาดในอาเซียนมากขึ้น โดยมองถึงการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็มองประเทศใหญ่อย่างอินโดนีเซียเป็นฮับสำคัญของบริษัท

ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ Hyundai ต้องหันมามองตลาดในอาเซียนคือ ไทย และ มาเลเซีย ถือเป็น 2 ประเทศที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันอินโดนีเซียและเวียดนามเองก็ไล่หลังตามมาติดๆ เช่นกัน

ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดสำคัญนั้น Hyundai ได้จับมือกับ LG Energy Solution ในการวางเครือข่ายสถานีชาร์จ อย่างไรก็ดีการรุกตลาดอินโดนีเซียถือว่ามีอุปสรรคไม่น้อยเนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดคือผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Hyundai ต้องกลับมามองตลาดอาเซียน คือ การพึ่งพาตลาดรถยนต์ในประเทศจีนมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อบริษัทมหาศาลนับตั้งแต่ปี 2017 หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับจีนลดระดับลงจากปัญหาที่เกาหลีใต้ได้ติดตั้งระบบป้องกันภัยขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ของ Hyundai ในจีนลดลง จนทำให้ปัจจุบันบริษัทเหลือโรงงานผลิตเพียงไม่กี่โรงงานเท่านั้น และบริษัทเองยังพร้อมที่จะขายโรงงานที่มีอยู่ในประเทศจีนให้กับผู้ที่สนใจด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ตลาดรัสเซียซึ่ง Hyundai เป็นผู้เล่นรายใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดราวๆ 25% ก็พบกับปัญหาเนื่องจากรัสเซียได้บุกยูเครน ทำให้เกิดมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศ ทำให้ท้ายที่สุดบริษัทต้องตัดสินใจขายโรงงานในแดนหมีขาวซึ่งสามารถผลิตรถยนต์ได้ราวๆ 230,000 คันต่อปี ซึ่งโรงงานดังกล่าวเริ่มดำเนินกิจการในปี 2011

ความล้มเหลวใน 2 ประเทศดังกล่าว Korea Herald ได้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในแวดวงยานยนต์เกาหลีได้ชี้ว่าปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวนั้นอยู่เหนือการควบคุมของ Hyundai และทำให้ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยานยนต์จากเกาหลีเองจะต้องหาตลาดใหม่ๆ ทดแทน

นอกจากอาเซียนแล้ว Hyundai ยังเตรียมรุกตลาดในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นด้วย โดยเตรียมส่งรถยนต์หลายรุ่นเข้าสู่ตลาด เนื่องจากจำนวนประชากรที่มากถึง 1,400 ล้านคน ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งปัจจุบันบริษัทครองตำแหน่งเบอร์ 2 ของตลาด รองจากทาทา ซึ่งเป็นแบรนด์อินเดีย

]]>
1457269