ที่ผ่านมามูลค่ารวมของตลาดเครื่องปรับอากาศในบ้านเรามีการเติบโตต่อเนื่อง โดย ปี 2567 มีมูลค่าราว 31,000 ล้านบาท โตจากปีก่อน 10% ส่วน ปี 2568 คาดการณ์มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท เติบโต 4.5% ซึ่งเป็นการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากปีนี้ไทยอากาศร้อนช้า บวกกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และภาระหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง
จากภาพรวมข้างต้น ผู้บริหารเครื่องปรับอากาศแบรนด์ฮิตาชิ ‘กวน ยู’ รองกรรมการและผู้จัดการทั่วไปสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ และ ‘วัฒกานต์ ชัยวีระพัฒนา’ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ แอร์คอนดิชั่นนิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพแนวโน้มการแข่งขันในไทยว่า
ปี 2568 การแข่งขันดุเดือดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสงครามราคาจาก ‘แบรนด์จีน’ ที่จะเห็นการดัมพ์ราคาลง 30-40% เพื่อช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์และขยายตลาดในไทยให้มากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่เครื่องปรับอากาศจากจีน ต้องการเพิ่มการเติบโตในไทย มาจากหลายปัจจัย ได้แก่
1.ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากจำนวนประชากร ประกอบภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง
โดยไทยได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตเครื่องปรับอากาศ ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 13.1 ล้านเครื่องในปี 2562 เป็น 19.0 ล้านเครื่องในปี 2566
2.ผลจากนโยบายใหม่ของจีนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและขยายฐานการผลิตมานอกประเทศให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อน GDP ของจีนให้เติบโต และเป็นการหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย เป็นภูมิภาคเป้าหมาย
3.ปีนี้ตลาดเครื่องปรับอากาศในจีนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปี 2567 รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายให้ส่วนลด 20% สำหรับการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศ ทำให้ชาวจีนจำนวนมากตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ปี 2568 มีดีมานด์ลดลง
จากภาพที่เกิดขึ้น ทางฮิตาชิ ซึ่งครองมาร์เก็ตแชร์อยู่อับดับ 7 ตลาดเครื่องปรับอากาศในไทย ต้องการหลีกเลี่ยงสงครามราคา จึงปรับกลยุทธ์การทำตลาดปี 2568 หันมาโฟกัสตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ หรือ HVAC (Heating Ventilation and Air Conditioning) สำหรับใช้ในอาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล ฯลฯ ในรูปแบบ B2B มากขึ้น
ตลาด HVAC น่าสนใจอย่างไร?
ทางผู้บริหารฮิตาชิอธิบายว่า HVAC เป็นตลาดที่มีทิศทางการเติบโตน่าสนใจ โดยปัจจัยมาจาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่สร้างดีมานด์ทั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน
ขณะเดียวกัน ยังมาจากการขยายตัวของ ‘ความเป็นเมือง’ (Urbanization) อย่างต่อเนื่องนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการชีวิตที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การเติบโตของระบบดิจิทัลทั่วโลกส่งผลให้มีการลงทุน Data Center ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ให้หลายประเทศต้องการระบบทำความเย็นประสิทธิภาพสูงและการบำรุงรักษาต่อเนื่อง รวมถึงประเทศต่างๆ เริ่มมีกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานแบบใหม่ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ที่ฮิตาชิจะใช้รุกตลาด HVAC ในไทย ประกอบด้วย
กลยุทธ์แรก : มุ่งปรับกลยุทธ์สู่ตลาด B2B เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมขยายฐานธุรกิจสู่ Commercial City แห่งใหม่อย่างภูเก็ตและเชียงใหม่
กลยุทธ์ที่ 2 : การเติบโตจากการค้า e-commerce และช่องทางออนไลน์ ด้วยการเพิ่มโฆษณาทางดิจิทัล การส่งเสริมการขายร่วมกันผ่านแคมเปญใหม่ ๆ และมีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับช่องทางออนไลน์
กลยุทธ์ที่ 3 : Dual brand อย่างที่ทราบกันว่า จอห์นสัน คอนโทรลส์-ฮิตาชิ เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องปรับอากาศทั้งฮิตาชิและยอร์ค จึงมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่หลากหลายและตอบโจทย์กับการใช้งานทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยพิจารณาตามเกณฑ์ของแต่ละโครงการที่กำหนด เช่น การรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยจากสภา อุตสหกรรม (Made in Thailand: MiT)
ขณะเดียวกัน ยังเน้นนำเสนอ Total solution ของระบบ HVAC ให้กับลูกค้าธุรกิจในการออกแบบระบบปรับอากาศที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ และเน้นการประหยัดพลังงาน ด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟสูงสุดเบอร์ 5 แบบ 5 ดาวที่ได้รับการการันตีจาก กฟผ. และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ตั้งแต่เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ ระบบ VRF ไปจนถึง Chiller
รวมถึงล่าสุดได้เปิดตัวแพ็กเกจโซลูชั่นสำหรับระบบปรับอากาศ Hitachi VRF ที่ชื่อว่า VSI (VRF Service Inclusive) ซึ่งเป็นบริการหลังการขายครบวงจรที่รวมบริการบำรุงรักษา ทำความสะอาด และบริการหลังการขายอื่น ๆ นาน 3 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปรับโฟกัสมาสู่ตลาด HVAC ทางผู้บริหารฮิตาชิบอกว่า มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีคู่แข่งที่ครองความเป็นผู้นำมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่เชื่อว่า เป็นอนาคตของการหาน่านน้ำใหม่ ไม่ต้องลงไปสู้ในสนาม ‘สงครามราคา’ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว และจะทำให้ธุรกิจของบริษัทฯในประเทศไทยเติบโตขึ้น 8%
]]>หน่วยธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของ “ฮิตาชิ” เฉพาะตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น ควบรวมกิจการกับ “อาร์เซลิก” ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าตุรกีสำเร็จเรียบร้อยเมื่อช่วงกลางปี 2564 กลายเป็นบริษัทใหม่คือ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์” โดยบริษัทนี้จะเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าฮิตาชิทุกชนิดใน 65 ประเทศนอกประเทศญี่ปุ่น (*ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ) และจะใช้แบรนด์เดิมต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนชื่อ
“ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทคู่พาร์ทเนอร์อยู่ระหว่างการ ‘synergy’ แผนการผลิตและการรวมองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นการพัฒนาที่มาจากการจอยต์เวนเจอร์ได้ตั้งแต่ปีนี้
โดยเป้าหมายของอาร์เซลิก ฮิตาชิ คือการขึ้นเป็น “Top 3” ของตลาด “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ในทุกๆ ประเทศที่มีการวางจำหน่าย ทั้งนี้ บริษัทไม่มีการวางกรอบกำหนดที่ชัดเจนว่าต้องทำเป้าให้ได้ภายในกี่ปี
ซาแฟร์กล่าวต่อว่า จากแผนที่จะขึ้นสู่ Top 3 ให้สำเร็จ บริษัทจะต้องผลิตสินค้าให้หลากหลายขึ้น เช่น มีไซส์ให้เลือกหลายแบบ มีฟีเจอร์ที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกรูปแบบ
ทำให้ปี 2566 นี้อาร์เซลิก ฮิตาชิมีแผนการเปิดตัวสินค้าใหม่รวม 361 SKUs ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนราว 10% ในจำนวนนี้จะมีสินค้าไฮไลต์คือ ตู้เย็นพรีเมียมแบบ 4 ประตู, ตู้เย็นฮิตาชิ คาร์บอน ไลน์, เครื่องซักผ้ารุ่น BD-D120XGV มีโปรแกรมกำจัดแบคทีเรียและทำความสะอาดถังซักอัตโนมัติ, เครื่องซักผ้ารุ่น BD-100XFVEADM มีเทคโนโลยีลดรอยยับให้เสื้อผ้า, เครื่องดูดฝุ่นรุ่น PV-XH3M น้ำหนักเบา 1.8 กิโลกรัม และเป็นครั้งแรกที่ฮิตาชิจะมี “เครื่องล้างจาน” ออกสู่ตลาดด้วย
ด้าน “คาซูชิ โคบายาชิ” ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เสริมว่า สำหรับตลาดประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของฮิตาชิหากไม่นับประเทศญี่ปุ่น โดยมีส่วนแบ่งในรายได้รวมบริษัทถึง 15% รวมถึงเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดด้วย
สินค้าเรือธงของอาร์เซลิก ฮิตาชิทั่วโลกจะเป็นกลุ่ม “ตู้เย็น” ซึ่งในไทยเองฮิตาชิถือเป็นแบรนด์ตู้เย็นในระดับ Top 3 เรียบร้อยแล้ว ทำให้หลังจากนี้บริษัทจะมีแผนทั้งการรักษาฐานในกลุ่มตู้เย็นไว้ให้ได้โดยมีเป้าจะเติบโตในกลุ่มนี้แบบ ‘ดับเบิล ดิจิต’ และจะสร้างโอกาสในสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่ม
ทางอาร์เซลิก ฮิตาชิขอไม่ระบุว่าสินค้าประเภทอื่นที่จะผลักดันคืออะไร แต่จากการไฮไลต์สินค้ากลุ่มเครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องล้างจาน ทำให้เห็นทิศทางว่าเป็นไปได้ที่สินค้าเหล่านี้คือตลาดที่ฮิตาชิต้องการเจาะเข้าไปให้ได้
สำหรับฐานผลิตของอาร์เซลิก ฮิตาชิ ปัจจุบันมีฐานใหญ่ 2 แห่ง คือ ไทย และ จีน ซึ่งกว่า 50% ของการผลิตสินค้าเกิดขึ้นที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ในไทยจะเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว
ซาแฟร์กล่าวตอบถึงคำถามเรื่องความท้าทายของนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่รัฐบาลไทยอาจมีการปรับขึ้นว่า ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาฐานผลิตในไทยของอาร์เซลิก ฮิตาชิ เพราะแรงงานไทยเป็นแรงงานทักษะสูง และไทยเป็นฐานตลาดใหญ่ด้วย บริษัทจึง “ไม่มี” แผนที่จะย้ายฐานผลิตออกจากไทย
“แรงงานนั้นถ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมในการทำงาน มีทักษะที่สูงขึ้น ทำงานโดยใช้เวลาน้อยลงได้ ค่าแรงปกติก็ต้องขึ้นตามประสิทธิภาพไปอัตโนมัติโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลปรับเพิ่ม” ซาแฟร์กล่าว
ปิดท้ายที่ภาพรวมตลาด “เครื่องใช้ไฟฟ้า” ไทยปี 2566 คาซูชิมองภาพใหญ่ว่าปีนี้ยังถือเป็นช่วง “ฟื้นตัว” ยกเว้นตลาดเครื่องปรับอากาศที่ขายดีมากเพราะเป็นปีที่อากาศร้อนจัดจนดีมานด์พุ่งสูง
ทั้งนี้ แบรนด์คู่แข่งอย่าง “โตชิบา” เคยให้ข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยมีมูลค่ารวม 45,000 ล้านบาท เติบโต 14% แต่ไส้ในของการเติบโตแทบจะมาจากเครื่องปรับอากาศทั้งหมด เพราะถ้าตัดหมวดแอร์ออกไป ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะติดลบเล็กน้อย -1%
]]>อาร์เซลิก นั้นเป็นบริษัทในเครือของ “คอช กรุ๊ป” ยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลายในประเทศตุรกี ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าของอาร์เซลิกมีตลาดอยู่ใน 45 ประเทศทั่วโลก แบรนด์ในเครือนี้ที่คนไทยพอจะคุ้นเคยคือ “เบโค” (Beko) เพราะเข้าทำตลาดไทยมาตั้งแต่ปี 2557
อาร์เซลิกมีนโยบายที่จะบุกตลาดเอเชียแปซิฟิกมานาน ทำให้การตั้งจอยต์เวนเจอร์กับฮิตาชิถือว่าเข้าเป้า เพราะแบรนด์ฮิตาชินับว่าแข็งแกร่งมากในตลาดแถบนี้ และมีการส่งออกไป 65 ประเทศ
การควบรวมครั้งนี้ทำให้บริษัทจอยต์เวนเจอร์เป็นเจ้าของแหล่งผลิต และมีสิทธิบริหารการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ฮิตาชินอกประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด (ยกเว้นเครื่องปรับอากาศซึ่งไม่ได้อยู่ในดีลนี้ ต้องเจรจาเป็นรายประเทศ ทั้งนี้ ในไทยยังเป็นสิทธิจัดจำหน่ายของอาร์เซลิก ฮิตาชิ)
ปัจจุบันฮิตาชิมีแหล่งผลิต 2 แห่ง คือ ไทย และ จีน ซึ่งสินค้าเกินกว่า 50% ผลิตในไทยนี้เอง เป็นสินค้าประเภทเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว ส่วนสำนักงานใหญ่มีทั้งหมด 8 ประเทศ แต่ตลาดใหญ่ที่สุดคือ ไทย และ จีน หากไม่นับประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลเดิม เมื่อปี 2561 ฮิตาชิเคยทำรายได้ในไทย 5,000 ล้านบาท และเป็นผู้นำอันดับ 1 ในกลุ่ม “ตู้เย็น” มีมาร์เก็ตแชร์ 20% ส่วนตลาด “เครื่องซักผ้า” อยู่ในอันดับ 3 ถือเป็นสองสินค้าชูโรงของแบรนด์ นอกจากนี้จะมี “หม้อหุงข้าว” ที่ขายดีในตลาด โดยตัวแบรนด์จัดอยู่ในกลุ่มแบรนด์พรีเมียม ราคาเป็นตลาดกลางถึงสูง
หลังกระบวนการควบรวมกิจการเสร็จเรียบร้อยช่วงกลางปี 2564 ทำให้ขณะนี้ อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ พร้อมจะเปิดแผนกลยุทธ์หลังการควบรวมว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนไป และอะไรที่คงเดิมบ้าง
“ซาแฟร์ อัสทูเนอร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด เปิดเผยถึงอนาคตของบริษัทนี้ว่า บริษัทจะยังใช้ไทยเป็นฐานผลิตเช่นเดิมเพราะมีฐานผลิตขนาดใหญ่ใน จ.ปราจีนบุรี แรงงานไทยมีคุณภาพ และตลาดประเทศไทยก็ยังเติบโตได้เมื่อมองในระยะยาว แม้ว่าระยะสั้นยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็ตาม
รวมถึงแบรนด์ “ฮิตาชิ” ก็จะยังใช้แบรนด์เดิมต่อไป ไม่ได้รวมชื่อแบรนด์อาร์เซลิกเข้าไปด้วย เพราะฮิตาชิเป็นชื่อที่คุ้นหูและแข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำให้แบรนด์กลับมา “มีพลัง” มีการตอกย้ำแบรนด์บ่อยครั้ง
ขณะที่สินค้าชูโรงก็จะยังคงเป็น “ตู้เย็น” เพราะสินค้านี้ได้รับความเชื่อถือสูงมากในตลาด และจะยังระดับแบรนด์เกาะกลุ่มตลาดพรีเมียมต่อเนื่อง เหล่านี้คือสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนไปของฮิตาชิ
ในทางกลับกัน ซาแฟร์กล่าวว่า สิ่งที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้พัฒนามากขึ้นคือ “การเพิ่มจำนวนสินค้า” และ “พัฒนานวัตกรรม-ดีไซน์” ให้ดีกว่าเดิม
หลังจากนี้จะได้เห็นฮิตาชิออกสินค้ารุ่นใหม่ถี่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อช่วงชิงตลาด ยกตัวอย่างปีนี้เพิ่งออก “เครื่องดูดฝุ่นไร้สาย” น้ำหนักเบาเพียง 1.5 กิโลกรัม มีไฟส่องฝุ่น นอนราบได้ 180 องศา กระบอกเก็บฝุ่นที่เปิดทิ้งฝุ่นได้แบบไม่ต้องใช้มือสัมผัส เรียกว่าออกมาชนกับ ‘Dyson’ ในราคาที่ถูกกว่า เพราะขายในราคา 9,990 บาท
ในไลน์อัปสินค้าที่จัดแสดง ยังจะมี “เครื่องล้างจาน” และ “เครื่องซักผ้า-เครื่องอบผ้าแบบฝาหน้า” ที่เตรียมออกจำหน่ายเร็วๆ นี้ และซาแฟร์ยังแย้มว่าฮิตาชิจะมีสินค้าหลายประเภทกว่าเดิมนับตั้งแต่ปี 2566 เพราะสมัยนี้พฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย เป็นโอกาสของแบรนด์
สินค้าที่จะออกมามากขึ้น แน่นอนว่ามาจากการรวมทีมทั้งฝั่งญี่ปุ่นและตุรกี ซึ่งทำให้เทคโนโลยีและงานดีไซน์มีหลากหลายให้หยิบใช้กว่าเดิม จึงออกโปรดักส์ใหม่ได้เร็วกว่า
อีกส่วนที่อาร์เซลิก ฮิตาชิจะเน้นมากขึ้นคือ “นวัตกรรม” และหลายนวัตกรรมจะชูโรงเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่มีในผลิตภัณฑ์แล้วและที่กำลังทดลอง เช่น
ซาแฟร์ยังกล่าวถึง “ดีไซน์” ที่มองว่าควรจะเพิ่มความทันสมัยมากขึ้น เพราะอย่างไรงานดีไซน์สวยงามก็เป็นสิ่งแรกที่ทำให้ลูกค้าสนใจ ลองหยิบจับ เปิดดูแล้วรู้สึกสะดวกในการใช้งาน ก่อนที่จะเข้าถึงเรื่องเทคนิคของเครื่องใช้ไฟฟ้า
บริษัทยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงตัวเลข แต่ความเปลี่ยนแปลงจากการควบรวมทำให้เห็นว่าบริษัทจะ ‘รุกหนัก’ แน่นอน!
]]>โซลูชัน Smart Building บริหารจัดการอัจฉริยะ เป็นระบบที่ถูกพูดถึงมาแล้วระยะหนึ่งในไทย และจะเห็นว่าหลายอาคารเริ่มนำมาใช้งานจริง มีผู้เล่นในตลาดหลายราย แต่ละรายก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป เมื่อตลาดเปิดเต็มที่ ทำให้อีกหนึ่งกลุ่มทุนใหญ่ขยับ
“ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์” (ประเทศไทย) เป็นบริษัทจำหน่าย-ติดตั้ง ลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อน โดยร่วมทุนกันระหว่าง ฮิตาชิ จากญี่ปุ่น และกลุ่ม “สยามกลการ” ล่าสุด “ประกาสิทธิ์ พรประภา” กรรมการบริหาร บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความเคลื่อนไหวของบริษัท นำเข้าโซลูชัน Smart Building จากญี่ปุ่นเข้ามาให้บริการในไทย เป็นธุรกิจต่อยอดให้ลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น
เทคโนโลยีนี้ในญี่ปุ่นใช้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี รวมถึงในระดับโลกมีการประเมินว่าธุรกิจประเภทนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ระหว่างปี 2562-2567 ประกาสิทธิ์กล่าวว่า ในไทยยังไม่มีการประเมินมูลค่าตลาดอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าจะโตได้ไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้า เริ่มมีความสนใจเทคโนโลยีนี้สูงขึ้น เนื่องจากลูกค้ามองว่าจะช่วยทำให้อาคารของตนแตกต่างจากคู่แข่ง ดึงดูดผู้เช่าได้ดีขึ้น
“เซอิจิโร่ อิชิซึ” ผู้จัดการทั่วไป แผนก Social Innovation Business บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงโซลูชันของบริษัทมี 2 ฟังก์ชันหลักที่บริการได้ คือ
อิชิซึกล่าวต่อว่า คู่แข่งในประเทศไทยในตลาดนี้มีอยู่หลายราย แต่ส่วนใหญ่เจ้าอื่นๆ จะบริการฟังก์ชันใดฟังก์ชันหนึ่ง คือเป็นผู้บริการด้านความปลอดภัย หรือบริการด้านแอปพลิเคชัน แต่ฮิตาชิมองว่าตนเองจะเป็นเจ้าแรกในไทยที่สามารถรวมทั้งสองฟังก์ชันเข้าด้วยกัน
“กิติสร ปุณณะหิตานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปกติการติดตั้งลิฟต์ บริษัทจะเป็นพาร์ตเนอร์ที่ต้องเชื่อมโยงเข้ากับบริการจัดการอาคารอัจฉริยะของอีกบริษัทหนึ่งอยู่แล้ว ขณะที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นสามารถให้บริการนี้ได้ จึงมองว่าเป็นโอกาสธุรกิจที่จะนำเข้ามาเสนอให้ลูกค้าติดตั้งลิฟต์ได้ครบวงจร รวมถึงให้บริการแยกกับลิฟต์ของแบรนด์อื่นได้เช่นกัน
ปัจจุบัน ตลาดลิฟต์ประเทศไทยมีการติดตั้งประมาณปีละ 5,000-6,000 ตัว โดยกิติสรประเมินว่า ฮิตาชิครองตลาดอยู่ในกลุ่ม Top 3 จึงมีฐานตลาดที่จะต่อยอด โดยขณะนี้มีลูกค้าติดตั้งแล้ว 3-4 ราย ไม่รวมที่กำลังติดตั้งในอาคาร “สยามปทุมวันเฮ้าส์” ของสยามกลการ
ประกาสิทธิ์กล่าวในส่วนนี้ว่า อาคารสยามปทุมวันเฮ้าส์ ตึกออฟฟิศสูง 32 ชั้นที่จะก่อสร้างเสร็จไตรมาส 1/2566 บริเวณโชว์รูมฮอนด้าเก่า ใกล้กับหอศิลป์ กทม. พื้นที่เช่า 50,000 ตร.ม. จะเป็นโชว์เคสที่ติดตั้งระบบทั้งหมดในเครือสยามกลการ ไม่ว่าจะเป็นแอร์ไดกิ้น ลิฟต์ฮิตาชิ และใช้โซลูชัน Smart Building ของฮิตาชิแบบครบวงจร
“โซลูชันแบบนี้จะสร้างคุณค่าเพิ่ม (value added) ให้กับเจ้าของตึก เพราะผู้เช่ายุคนี้ต้องการความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และต้องการไลฟ์สไตล์การเชื่อมโยงกันในชุมชน” ประกาสิทธิ์กล่าว “ออฟฟิศในอนาคต จากการทำงานแบบไฮบริด ทำให้อาคารสำนักงานยุคใหม่จะมีห้องประชุมส่วนกลางให้บริษัทในอาคารจองใช้ได้ ดังนั้น จึงต้องมีแอปฯ ไว้สำหรับจองใช้พื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้”
นอกจากอาคารสำนักงานและมิกซ์ยูสที่เป็นเป้าหมายแรกแล้ว ตลาดอื่นๆ ก็มีความสนใจจะรุกตลาดถัดไป เช่น ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม โรงงาน แต่แต่ละตลาดก็มีความต้องการต่างกันไป ทำให้ต้องใช้เวลาศึกษา
กิติสรกล่าวต่อถึงธุรกิจหลักของฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ คือ “ลิฟต์” ตลาดนี้จะแปรผันตามโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบบ้าง เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กชะลอการพัฒนาโครงการ ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเดินหน้าต่อ
ส่วนของฮิตาชิเอง ตลาดใหญ่จะเป็นกลุ่มอาคารสำนักงาน คอนโดฯ โรงแรม ศูนย์การค้า โรงพยาบาล แต่เมื่อตลาดหลักเริ่มฝืด ทำให้บริษัทมีการหาตลาดใหม่ๆ ที่บูมขึ้นมากในช่วงนี้คือ บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี และอาคารตึกเตี้ย ที่มีการติดตั้งลิฟต์ในตัวสูงขึ้น จากกระแสสังคมสูงวัย ผู้อยู่อาศัยจำเป็นต้องมีลิฟต์เพื่อความสะดวกสบาย
การแข่งขันในตลาดลิฟต์คุณภาพสูง ยังคงแข่งขันกันที่คุณภาพลิฟต์ ปลอดภัย เสียน้อยครั้ง หากเสียหายมีบริการซ่อมแซมที่รวดเร็ว ทำให้ปีนี้ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์จะเพิ่มหน่วยบริการหลังการขายครอบคลุมมากขึ้น มีขยายไปยังหัวเมืองหลักเพิ่ม เพราะในต่างจังหวัดก็มีตึกสูงเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มตึกคอนโดฯ และโรงแรม
]]>ด้วยนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้ ‘ฮิตาชิ’ (Hitachi) ประกาศยกเลิกใช้ฮันโกะหรือตราประทับ ภายในเดือนมีนาคมปี 2565 และตั้งเป้าลดใช้เอกสารกระดาษให้ได้ 70% ภายในปีหน้าเพื่อส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในบริษัท โดยปีที่ผ่านมา ฮิตาชิสามารถจะลดจำนวนกระดาษขนาด A4 ที่ใช้ในบริษัทในปีงบประมาณ 2563 ได้ถึง 700 ล้านแผ่น และจากนี้จะดูว่าสามารถใช้ระบบออนไลน์กับพันธมิตรทางธุรกิจนอกกลุ่มบริษัทได้หรือไม่
ไม่ใช่แค่ฮิตาชิ แต่องค์กรในญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มที่จะเลิกใช้งานฮังโกะแล้ว เนื่องจากประเพณีดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 โดยที่ผ่านมา Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. หรือ MUFG สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นได้เปิดให้บริการบัญชีแบบไม่ต้องใช้ฮังโกะหรือสมุดบัญชีแล้ว นอกจากนี้ยังเริ่มปรับปรุงเครือข่ายสาขาเพื่อนำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและวิดีโอมาแทนที่พนักงานฝากถอน
]]>สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ กับอากาศที่ไม่ร้อนอย่างที่คิด เครื่องปรับอากาศที่ควรขายดีในหน้าร้อน ต่างขายไม่ออกกันเป็นทิวแถว ส่งผลให้ยอดขายปี 2018 ของ “ฮิตาชิ” แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าแดนอาทิตย์อุทัย ทำได้ราว 5,500 ล้านบาท อยู่ในระดับ “ทรงตัว” ไม่เติบโตหรือติดลบ แม้ “โชคดี” รักษาส่วนแบ่งไว้ได้ก็ตาม
ถ้าแบ่งตามยอดขายของ “ฮิตาชิ” รายได้หลัก 45% มาจาก “ตู้เย็น” ทำส่วนแบ่งประมาณ 20% จากมูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท รองลงมา “เครื่องซักผ้า” 25% มีส่วนแบ่งราว 10% ในตลาดมูลค่า 14,000 ล้านบาท และ 10-15% จาก “เครื่องปรับอากาศ” ครองเบอร์ 6 ในตลาดมูลค่า 25,000 ล้านบาท ที่เหลือมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก เช่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น
แม้ยอดขายปีก่อนหน้าจะ “เสมอตัว” ทว่าในปี 2019 นี้ฮิตาชิหวังว่าจะทำยอดขาย 6,200 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% โดยวางตัวเองอยู่ในเซ็กเมนต์ “พรีเมียม” ราคาสินค้าเฉลี่ยแล้วแพงกว่าแบรนด์อื่นๆ ถึง 20% ความท้าทายจึงมีอยู่มาก
บุญชัยพุทธา โกฐิรัตน์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย, รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการ บริษัท ฮิตาชิเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า เศรษฐกิจจะโดดขึ้นมาดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะความแน่นอนในเรื่องเลือกตั้ง และอากาศที่เชื่อว่าจะกลับมา “ร้อน” ในปีนี้ เพราะข้อมูลที่ฮิตาชิเก็บพบว่าทุกๆ 3 ปีอากาศจะกลับมาร้อน ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอากาศไม่ร้อน
ฮิตาชิจึงวางแผนไว้ล่วงหน้าโดยปรับไทม์ไลน์การเปิดสินค้าใหม่จากเดิมทยอยเป็นแต่ละไตรมาสมาเปิดตัวตูมตั้งแต่ปลายปีก่อน ทั้งตู้เย็น 30 โมเดล, เครื่องซักผ้าฝาบนขนาด 13-17 กิโลกรัม รุ่นยกเครื่องใหม่หมดจด และเครื่องปรับอากาศที่กำลังจะวางในปลายเดือนมกราคมนี้อีก 15 โมเดล เรียกได้ว่าเปิดปีมาก็มีสินค้าพร้อมขายทันที
นอกจากนั้นช่วง 2-3 ปีมานี้ ฮิตาชิยังได้ปรับกลยุทธ์ช่องทางการขาย ไม่ได้มุ่งไปที่ “ทุกช่องทาง” เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ โดยโฟกัสเฉพาะช่องทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถสื่อคุณภาพของสินค้าได้เป็นอย่างดี ในปีนี้จึงได้ตั้ง “ฮิตาชิ แล็บ” ปั้นคนฝ่ายขายโดยเฉพาะ
แต่ทั้งหมดทั้งมวล “หมัดเด็ด” ที่ฮิตาชิตั้งความหวังและให้ความสำคัญไว้มากที่สุด คือการพลิกกลับมามี “พรีเซ็นเตอร์” อีกครั้งในรอบ 15 ปี โดยฮิตาชิเลือก “เบลล่า” ราณี แคมเปน เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์รักสุขภาพ ดูแลตัวเองสม่ำเสมอ สอดคล้องไปกับฟังก์ชันที่ฮิตาชิต้องการสื่อ และยังครบรอบ 50 ปีของฮิตาชิในเมืองไทยอีกด้วย
การตั้งพรีเซ็นเตอร์ของฮิตาชิเรียกได้ว่าเดินตามสูตรที่ “ต้องทำ” ไปเสียแล้วสำหรับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะการแข่งขันในวันนี้ฟังก์ชันของแต่ละแบรนด์เหมือนๆ กันไปหมดจนผู้บริโภคแยกไม่ออก การจะชักจูงให้ผู้บริโภคมา “ซื้อสินค้า” ก็ต้องมีตัวช่วยมาเป็นแม่เหล็กดึงดูด ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็มักจะเลือกดาราดังมาทำหน้าที่นี้
ที่ผ่านมาก่อนจะมาตั้งพรีเซ็นเตอร์ฮิตาชิเลือกที่จะทำแคมเปญสื่อสารโดยเน้นไปที่สินค้าเป็นหลัก ซึ่งแม้จะสร้างการรับรู้ก็จริงแต่ผู้บริโภคจำแบรนด์ไม่ได้ งานนี้ฮิตาชิถึงกับทุ่มงบการตลาดจาก 800 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ “เบลล่า” มาปิดจุดอ่อนในเรื่องนี้
สาเหตุที่เลือก “เบลล่า” นั้น “บุญชัย” บอกว่า มีตัวเลือกในมือ 4-5 ข้อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ที่เลือกเป็นผู้หญิงเพราะสินค้าที่วางขายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทั้งนั้น การให้ผู้หญิงมาสื่อสารน่าจะเหมาะกว่า อีกทั้งพวกเธอยังเป็นคนที่มีอำนาจซื้อมากกว่า ซึ่งพรีเซ็นเตอร์ก่อนหน้านี้ของฮิตาชิ ก็เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน คือ “ป๊อป อารียา” ที่มาพร้อมประโยคคิดปาก ที่ยังเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ “ป๊อปเลือกฮิตาชิ”
“ฮิตาชิไม่ได้หวังให้เบลล่ามาเพิ่มการจดจำแบรนด์เท่านั้น แต่ยังต้องสร้างการรับรู้ถึงระยะเวลาการรับประกันที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีเป็น 3 ปี เพียงซื้อสินค้ามากกว่า 3,000 บาท ถือเป็นจุดต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่ปรกติแล้วเวลา 3 ปีจะให้กับเซ็กเมนต์บนๆ เท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ของ “ฮิตาชิ” ในครั้งนี้ได้วางแผนทำต่อเนื่อง 3-5 ปี แต่ถ้าปีหน้าจะยังคงเป็น “เบลล่า” หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอดูผลลัพธ์กันปีต่อปี.
]]>เจ้าหน้าที่ของฮิตาชิเชื่อว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทถูกโจมตีด้วยซอฟต์แวร์ “เรียกค่าไถ่” แบบเดียวกันกับที่ปิดกั้นข้อมูลของคอมพิวเตอร์ทั่วโลก และขณะนี้กำลังพยายามกู้ระบบให้ได้เร็วที่สุด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า นอกจากฮิตาชิแล้ว ยังมีเหยื่ออีก 2 กรณีที่ถูกมัลแวร์เรียกค่าไถ่นี้โจมตี โดยเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และของพนักงานบริษัทรถไฟเจอาร์อีสต์อีกรายหนึ่ง แต่ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นจึงแนะนำให้หน่วยงานต่างๆ อัพเดตระบบป้องกันคอมพิวเตอร์ และสำรองข้อมูลสำคัญ
นอกจากนี้ นิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นก็ระบุว่า ระบบคอมพิวเตอร์ในโรงงานที่เมืองซันเดอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ก็เป็นเหยื่อที่ถูกโจมตีเช่นกัน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบที่เชื่อมโยงกับประเทศญี่ปุ่นและที่อื่นๆ
นายร็อบ เวนไรต์ ผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจแห่งสหภาพยุโรปหรือ ยูโรโพล กล่าวว่า มีผู้ตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลกมากถึง 200,000 รายในอย่างน้อย 150 ประเทศ เป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีขอบเขตกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศสต้องระงับการผลิตที่โรงงานในเมืองดูเอ โรงงานใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเรโนลต์ในฝรั่งเศส เนื่องจากพบว่าโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์
เรโนลต์ยังได้หยุดการผลิตที่โรงงานใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเลออาฟวร์ ทางเหนือของฝรั่งเศส และที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทลูกในสโลวีเนียด้วย
มัลแวร์ที่โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกนี้ จะปรากฏข้อความเรียกเงินจำนวน 300 ดอลลาร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ระบุว่า ถึงแม้จะจ่ายเงินไปก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า ระบบคอมพิวเตอร์จะกลับมาอยู่ในสภาพเดิม.
ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9600000049211
]]>