เศรษฐกิจจีน – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 10 Oct 2024 05:58:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘World Bank’ คาดศก. ‘จีน’ ปี 2025 โตเพียง 4.3% แม้ว่าเพิ่งออกมาตรการกระตุ้นก็ตาม https://positioningmag.com/1493763 Thu, 10 Oct 2024 04:45:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1493763 แม้ว่า จีน จะเพิ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก็ตาม แต่ ธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าในปีหน้า GDP ของประเทศจะเติบโตเพียง 4.3% ขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อาจต้องลดการพึ่งพาจีน

ตามรายงานของ ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2025 จะเติบโตเพียง 4.3% ซึ่งต่ำกว่าปี 2024 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.8% แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่งเปิดตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ตาม เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนที่อ่อนแอซึ่งเกิดจากความกังวลมากมาย นอกเหนือจากความท้าทายต่าง ๆ เช่น ความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์, ประชากรสูงอายุ และความตึงเครียดทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน ให้คํามั่นว่าจะดําเนินการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเร่งการออกพันธบัตรเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษให้กับรัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม Aaditya Mattoo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก มองว่า การกระตุ้นดังกล่าวไม่สามารถทดแทนการปฏิรูปโครงสร้างที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นที่จีนจะต้องยกระดับการเติบโตในระยะยาว

“คําถามคือ มาตรการกระตุ้นจะสามารถชดเชยความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับเงินเดือนที่ลดลง ความกังวลเกี่ยวกับรายได้ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง และความกลัวเกี่ยวกับการป่วย อายุมากขึ้น การว่างงานได้หรือไม่” Aaditya Mattoo กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก ประเมินว่า ส่วนที่เหลือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตที่ 4.7% ในปีนี้และเพิ่มขึ้นเป็น 4.9% ในปีหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและสภาพทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้จะต้องหาตัวขับเคลื่อนการเติบโตในประเทศมากขึ้น ไม่ใช่พึ่งพาแค่จีน เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลง

“เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่การเติบโตของจีนได้ส่งผลต่อการเติบโตในระดับภูมิภาค แต่ขนาดของแรงผลักดันนั้นกําลังลดลง”

Source

]]>
1493763
“Hilton” คว้าโอกาส “ออฟฟิศ” ในจีนล้นตลาด แปลงโฉมตึกร้างเป็น “โรงแรม” สนองดีมานด์ “จีนเที่ยวจีน” https://positioningmag.com/1488742 Wed, 04 Sep 2024 08:45:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1488742 สำนักข่าว Bloomberg รายงาน ตลาดอาคารสำนักงานในประเทศ “จีน” ล้นตลาดจนแลนด์ลอร์ดกุมขมับ แต่ล่าสุด “Hilton” เสนอทางออกแบบใหม่ให้เจ้าของตึกรีโนเวตเปลี่ยนการใช้งานเป็น “โรงแรม” ตอบรับดีมานด์คนจีนนิยมเที่ยวในประเทศสูงขึ้น

“แคลเรนซ์ แทน” รองประธานอาวุโส สายงานพัฒนาโครงการเอเชียแปซิฟิกของเครือโรงแรม “Hilton Worldwide Holdings” เจ้าของแบรนด์ดัง เช่น Conrad, Waldorf Astoria, Double Tree ฯลฯ  กล่าวว่า บริษัทกำลังขยายการทำตลาดใน “จีน” อย่างต่อเนื่อง โดยเครือมีโรงแรมเปิดในประเทศจีนครบ 700 แห่งเป็นที่เรียบร้อย พร้อมตั้งเป้าที่จะเพิ่มโรงแรมในประเทศจีนอีกประมาณ 100 แห่งภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ไฮไลต์ของแผนการเติบโตนี้คือ โรงแรมในเครือ Hilton ที่จะเปิดตัวในจีนภายใน 18 เดือนต่อจากนี้มีถึง 25% ที่พัฒนาโดยการแปลงโฉมตึก “ออฟฟิศ” ที่ยังว่างเปล่ามาใช้เป็น “โรงแรม”

ทาง Hilton ระบุว่าวิธีการ “ดัดแปลงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่” แบบนี้เติบโตสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัวในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19

แทนกล่าวว่า เหตุผลเพราะพื้นที่อาคารสำนักงานในจีนมีสภาวะล้นตลาด และฝั่งรีเทลก็ไม่ต่างกันมากนัก ทำให้เกิดโอกาสสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมขึ้น

ภาพจาก Unsplash

“แลนด์ลอร์ดจะบอกว่า ‘ถ้าฉันให้เช่าออฟฟิศไม่ได้ จะเอาที่ไปทำอะไรได้บ้าง?’ เจ้าของตึกส่วนใหญ่จึงให้ผู้ประกอบการเช่า และพวกเขาเลือกติดต่อ Hilton เพื่อไปแปลงตึกเป็นโรงแรม” แทนกล่าว

อัตราการเช่าออฟฟิศในจีนขณะนี้ถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ และทำให้ราคาค่าเช่าตกต่ำลงไปด้วย ข้อมูลจาก Colliers International Group ชี้ให้เห็นตัวอย่างจากเมืองเซี่ยงไฮ้ พบว่าอัตราการเช่าออฟฟิศระดับ  ไพรม์อยู่ที่ 85% เท่านั้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ส่วนข้อมูลจาก Cushman & Wakefield ก็คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเช่าคงยังต่ำในระดับนี้ไปอีกอย่างน้อยจนถึงเดือนมีนาคม 2025

 

“จีนเที่ยวจีน” บูมสุดขีด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมของจีนกลับ ‘บูม’ ต่อเนื่องในช่วงหลังโควิด-19 เพราะคนจีนเลือกที่จะท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่าออกต่างประเทศอย่างเคย

Lodging Econometrics เปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันจีนยังมีโรงแรมอีก 3,815 แห่งอยู่ในไปป์ไลน์ บางส่วนอยู่ระหว่างก่อสร้างและบางส่วนอยู่ในแผนพัฒนา ด้วยจำนวนเท่านี้ทำให้โรงแรมที่จะเปิดใหม่ 1 ใน 4 ของโลกจะมา กระจุกตัวอยู่ในประเทศจีน เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น ทั้งนี้เมืองยอดฮิตที่จะมีการเปิดโรงแรมใหม่มากที่สุดคือ “เฉิงตู” และ “เซี่ยงไฮ้” เป็น 2 ใน 5 เมืองของโลกนี้ที่จะมีโรงแรมใหม่เปิดมากที่สุด

แทนแห่ง Hilton กล่าวว่า “ออฟฟิศ” บางส่วนที่ถูกเปลี่ยนการใช้งานจากสำนักงานเป็น “โรงแรม” นั้นมักจะเป็นออฟฟิศเกรด A- หรือเกรด B แปลว่าปกติพวกเขาก็อาจจะไม่ได้ค่าเช่าได้เท่ากับตึกระดับพรีเมียมอยู่แล้ว จึงทำให้การเจรจาต่อรองเพื่อมาเปลี่ยนเป็นโรงแรมง่ายขึ้น ส่วนใหญ่จะทำสัญญาเช่านาน 15 ปี พร้อมมีช่วงเวลาฟรีค่าเช่าระหว่างตกแต่งสถานที่ด้วย

ห้องพักที่ใช้ผนังน็อกดาวน์กั้นห้องใน Hilton Garden Inn Shanghai Lujiazui

ตัวอย่างโรงแรมที่เปลี่ยนมาจากอาคารสำนักงานและเปิดให้บริการแล้ว เช่น “Hilton Garden Inn Shanghai Lujiazui” ตั้งอยู่ในตึกความสูง 38 ชั้น ย่านผู่ตง เมืองเซี่ยงไฮ้ แต่เดิมเคยเป็นออฟฟิศมาก่อน ก่อนที่เจ้าของจะตัดสินใจเปลี่ยนบางส่วนของตึกเป็นโรงแรม หลังจากใช้เวลาดีไซน์และปรับปรุงใหม่ 6 เดือน โรงแรมขนาด 150 ห้องก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2023

แทนกล่าวว่า การเปลี่ยนการใช้งานทำเวลาก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วคืออีกข้อดีหนึ่ง เพราะการเปลี่ยนออฟฟิศมาเป็นโรงแรมจะใช้เพียงผนังน็อกดาวน์เพื่อกั้นห้อง ทำให้การก่อสร้างใช้เวลาไม่เกิน 18 เดือนก็พร้อมให้บริการได้ ต่างจากการสร้างตึกโรงแรมขึ้นมาใหม่ในจีนที่ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี

 

ความเสี่ยงคือ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ยังไม่มา

แม้ว่าการเปลี่ยนออฟฟิศเป็นโรงแรมดูจะทำให้เจ้าของตึกได้เข้าสู่ตลาดที่มีอนาคตกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีความเสี่ยงเสียทีเดียว

สภาการท่องเที่ยวและการเดินทางโลกประเมินว่า “จีนเที่ยวจีน” คนจีนเที่ยวในประเทศปี 2024 นี้จะเติบโตขึ้น 11% เทียบกับปี 2019 แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าจีนยังไม่กลับมาเติบโตมากนัก

Photo : Shutterstock

Hilton เองก็เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เพราะแม้ว่าอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) โดยรวมของเครือในเอเชียแปซิฟิกจะโตขึ้น 11% เมื่อช่วงไตรมาส 2/2024 แต่เฉพาะตลาดจีนกลับตกลงไป -5%

“การเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าจีนยังไม่มากพอ” คริสโตเฟอร์ นาสเซ็ตตา ซีอีโอ Hilton กล่าว “ยังมีไฟลท์บินจากยุโรป สหรัฐฯ และส่วนต่างๆ ของโลกเข้ามาประเทศจีนไม่เพียงพอ คงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก”

กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันจำนวนห้องพักโรงแรมต่อจำนวนประชากรของจีนก็ยังน้อยกว่าในสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า

“โอกาสลุ้นของจีนและเอเชียแปซิฟิกคือ การเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มที่เรายังเข้าไม่ถึงในการดึงเงินออกมาใช้จ่าย” แทนกล่าว “การแข่งขันตอนนี้คือการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากลูกค้ากลุ่มชนชั้นกลางมาให้ได้ ไม่ว่าจะในแง่การเป็นแบรนด์ในใจและการดึงเม็ดเงิน การเติบโตของกลุ่มนี้ในเอเชียถือว่ามหาศาลและซับซ้อน และเราต้องชนะการแข่งขันเท่านั้น” แทนกล่าวปิดท้าย

Source

]]>
1488742
IMF ปรับเป้า GDP จีนเติบโต 5% ในปีนี้ ให้เหตุผลตัวเลขเศรษฐกิจแดนมังกรออกมาดีกว่าคาด https://positioningmag.com/1475485 Wed, 29 May 2024 02:31:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1475485 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับเป้าตัวเลข GDP ของจีนในปี 2024 นี้คาดว่าจะเติบโตได้มากถึง 5% เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแข็งแกร่งกว่าคาด ขณะเดียวกันก็ยังมองว่าในระยะยาวเศรษฐกิจจีนกำลังจะชะลอตัวลงจากสังคมผู้สูงอายุ

IMF ได้ออกมาปรับคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2024 นี้ว่าจะเติบโตได้มากถึง 5% ซึ่งดีกว่าคาดการณ์เดิมเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ 4.6% อย่างไรก็ดีองค์กรดังกล่าวมองว่าเศรษฐกิจจีนในระยะยาวอาจชะลอตัวลงมากกว่าคาด และตัวเลขการเติบโตนั้นจะแตะเลข 3 ภายในไม่ถึง 10 ปี

ในรายงานของ IMF หลังจากที่ทีมงานได้เข้าไปเยือนประเทศจีน ได้ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะอยู่ที่ 5% ในปี 2024 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ IMF ปรับตัวเลขคาดการณ์นั้นมาจาก GDP ในไตรมาส 1 ของปี 2024 นั้นอยู่ที่ 5.3% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดไว้ เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของจีนเติบโตได้ดี

IMF ยังชี้ถึงนโยบายในการรักษาเสถียรภาพของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และชี้ว่าขั้นตอนดังกล่าวถือมีความจำเป็นที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนนั้นก้าวไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปกป้องผู้ที่ซื้อบ้านที่กำลังจะซื้อโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ การเร่งระดมทรัพยากรเพื่อเร่งก่อสร้างโครงการอสังหาฯ ให้แล้วเสร็จ

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนถือว่าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของขนาดเศรษฐกิจจีน และปัญหาดังกล่าวยังสร้างผลกระทบต่อประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคในประเทศ

ไม่เพียงเท่านี้ IMF ยังมองว่าทางการจีนเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีการสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพลังงานสะอาด แม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะทำให้จีนสามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ได้

อย่างไรก็ดีในรายงานของ IMF ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง โดย GDP ในปี 2025 จะเติบโตแค่ 4.5% เท่านั้น และมองว่าภายในปี 2029 นั้นจีนอาจมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือแค่ 3.3% เท่านั้น เนื่องจากจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลทำให้ผลิตภาพทางการผลิตลดลง

ที่มา – CNBC, China Daily

]]>
1475485
จีนตั้งเป้า GDP ปีนี้โต 5% แม้จะเผชิญกับความยากลำบาก ผลักดันโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพมากขึ้น https://positioningmag.com/1465319 Wed, 06 Mar 2024 09:45:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1465319 รัฐบาลจีนตั้งเป้า GDP ปี 2024 นี้โต 5% แม้จะเผชิญกับความยากลำบากจากหลายปัจจัย ขณะเดียวกันก็ผลักดันโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพมากขึ้น ทางด้านวิเคราะห์มองว่าเป้าหมายดังกล่าวถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย แต่ก็ยังมองว่าในที่สุดนั้นจีนจะสามารถบรรลุเป้าได้

ในการประชุมประชุม 2 สภา รัฐบาลจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2024 ที่ 5% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเท่ากับปี 2023 ที่ผ่านมา และยอมรับถึงความยากลำบากในการผลักดันให้ได้ตามเป้า ขณะเดียวกันก็เตรียมที่ปรับการพัฒนาเศรษฐกิจของแดนมังกรให้มีคุณภาพมากขึ้น และยังได้เตือนถึงปัญหาของเศรษฐกิจจีนหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข

หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ยังได้กล่าวว่า ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของจีนนั้นเผชิญกับความยากลำบาก เขายังกล่าวเสริมว่าหลายสิ่งหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ควรมองข้ามสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด รวมถึงเสถียรภาพถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานทุกอย่าง

นายกรัฐมนตรีจีน ยังมองว่าเป้าหมาย GDP เติบโตที่ 5% นั้น รัฐบาลได้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มรายได้ และยังรวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ ทางเศรษฐกิจ และจีนจะผลักดันด้วยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับปรุงคุณภาพ และการปรับปรุงประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจีนได้กล่าวถึงการผลักดันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นไม่ได้มีการระบุระยะเวลาแต่อย่างใด

รัฐบาลจีนยังเตรียมผลักดันการวิจัยในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น AI เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงการประกาศมาตรการอื่นๆ อีกหลายชุดเพื่อช่วยรับมือกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิดซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะเดียวกันจีนยังตั้งเป้าที่จะเพิ่มตำแหน่งงาน 12 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง การเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมมากถึง 7.2% ของ GDP อย่างไรก็ดีจีนได้กำหนดเป้าหมายขาดดุลทางการคลังเพียงแค่ 3% ของ GDP เท่านั้น ลดลงจากปี 2023 ที่ขาดดุลทางการคลังถึง 3.8% ของ GDP

เศรษฐกิจจีนในปี 2023 ที่ผ่านมานั้นเติบโตที่ 5.2% ซึ่งถือว่าเติบโตตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ อย่างไรก็ดีการเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมา หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด และยังมีปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังกดดันเศรษฐกิจ รวมถึงประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอยเท่าที่ควร

Larry Hu นักวิเคราะห์จาก Macquarie สถาบันการเงินจากออสเตรเลียมองว่า เป้าหมายของ GDP จีนที่ 5% ในปีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เขามองว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ที่มา – BBC, China Daily, Reuters, CNN

]]>
1465319
“ถั่งผิง” ไลฟ์สไตล์ใหม่มาแรงในหมู่ “หนุ่มสาวชาวจีน” ที่รัฐบาลต้องการกำจัด https://positioningmag.com/1463059 Sat, 17 Feb 2024 08:05:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1463059 “ถั่งผิง” เป็นคำจีนที่แปลตรงตัวจะหมายถึง “การนอนแผ่” แต่ในภาษาสแลงคำนี้จะหมายถึงการทำตัวต่อต้านวัฒนธรรม “996” เทรนด์การทำงานหนักแบบจีนที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก

ไลฟ์สไตล์ทำตัวชิลๆ แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเอาเสียเลย ทำให้รัฐบาลจีนต้องการกำจัดไลฟ์สไตล์นี้ออกไปจากความคิดของคนหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ให้ได้

Positioning สรุปรวบรวมที่มาที่ไปของ “ถั่งผิง” การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของหนุ่มสาวจีน และความพยายามตีกรอบใหม่ของจีน ดังนี้

========

“ถั่งผิง” วิถีชีวิตที่กลับด้านจาก “996”

  • หลายคนน่าจะเคยได้ยินวิถีการทำงานแบบ “996” ของจีนมาบ้าง สิ่งนี้หมายถึงการทำงานหนักตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ก่อนหน้านี้วิถี 996 ได้รับการยกย่องในสังคมจีนว่าเป็นการทำงานหนักที่ทำให้จีนสร้างชาติได้
  • ระหว่างการทำงานก็ไม่ใช่จะทำกันแบบสบายๆ ทุกนาทีต้องอุทิศให้งานเท่านั้น ตัวอย่างของเรื่องนี้ เช่น บริษัทจีน Wanda Group โพสต์รูปประจานพนักงานคนหนึ่งที่เล่นมือถือระหว่างพักกินข้าวเที่ยง สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจีนเข้มงวดกับพนักงานมากแค่ไหน
  • อย่างไรก็ตาม สังคมยุคใหม่เริ่มรู้สึกถึงความกดดันและไม่ยอมรับวัฒนธรรมนี้ เพราะ 996 ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาส่วนตัวเลย รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายให้ลูกจ้างจีนทำงานไม่เกิน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หากเกินเวลาต้องได้ค่าโอที) แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังให้พนักงานทำงานหนักแบบเดิม
  • ในที่สุด ความกดดันก็ปริแตกออกเมื่อคำว่า “ถั่งผิง” กลายเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมาในโลกโซเชียลจีนช่วงปี 2021 จากความรู้สึกร่วมของหนุ่มสาวจีนทั้งสังคมที่มีต่อวัฒนธรรมการทำงานสไตล์จีนดั้งเดิม

========

ทำไมต้องทนทรมานกับการทำงานหนัก

  • “ถั่งผิง” ความหมายตรงๆ ตัวคือการนอนแผ่ แต่คำนี้เป็นสแลงที่หมายถึง การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ไม่อยากสู้ชีวิตขวนขวายเหมือนคนจีนรุ่นก่อน
  • การทำตัว “ถั่งผิง” ทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่เรียนจบแล้วขออยู่แบบคนว่างงาน, เป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเป็นงานๆ ไปขอแค่พออยู่รอดได้ รวมถึงการทำตัวแบบ ‘ไม่เต็มร้อย’ ทำงานเช้าชามเย็นชามที่บริษัท
  • เหตุผลของคนหนุ่มสาวคือ ‘บริษัทให้พนักงานทำงานหนักมากแต่ให้ค่าตอบแทนต่ำ ทำแล้วบริษัทรวยขึ้นแต่พนักงานเก็บออมเงินไปดาวน์บ้านยังไม่ได้ด้วยซ้ำ’ เมื่อชีวิตหมดหวังที่จะรวยขึ้น ผลคือหนุ่มสาวขออยู่ไปวันๆ ดีกว่า
  • ปัญหาหลายอย่างที่ประดังเข้ามา ทั้งสภาพเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาตั้งแต่เผชิญโควิด-19 ผนวกกับการทำตัว ‘ปล่อยจอย’ มากขึ้นของคนหนุ่มสาว ทำให้อัตราการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาววัย 16-24 ปี พุ่งสูงเมื่อปี 2023 ค่าเฉลี่ยคือถ้าถามคนหนุ่มสาว 5 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่ไม่ได้ทำงาน

========

ไม่ทำงานบริษัทแล้วจะทำอะไร?

  • คำถามต่อมาคือหนุ่มสาวจะใช้ชีวิตรอดอย่างไร? คำตอบคือบางคนก็ใช้วิธีรับจ๊อบทำงานแค่พอประทังชีพ หรือบางคนก็เข้าบริษัทไปทำงานไปวันๆ
  • อีกเทรนด์หนึ่งที่ฮิตมากคือการประกาศตัว “ทำหน้าที่ลูกเป็นงานประจำ” หมายถึงการกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ ดูแลพ่อแม่ ทำความสะอาดบ้าน ทำกับข้าว ซื้อของ พาพ่อแม่เที่ยว ซึ่งพ่อแม่จีนบางคนก็รู้สึกดีที่ลูกหลานมาอยู่ด้วย เพราะชีวิตบั้นปลายย่อมต้องการคนดูแล
  • ส่วนคนที่มีลู่ทางประกอบอาชีพแบบ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ก็เลือกจะเป็น “ดิจิทัล โนแมด” เพื่อหลีกหนีวิถีชีวิต 996 ไปใช้ชีวิตต่างประเทศที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเมืองใหญ่ของจีน เช่น บาหลี, เวียดนาม หรืออาศัยอยู่ตามชนบทจีน ส่วนใหญ่คนที่ทำได้มักจะเป็นงานที่ทำออนไลน์ได้ 100% เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์, โปรแกรมเมอร์, นักเขียน, ครีเอทีฟ เป็นต้น

========

รัฐบาลจีนจะไม่ทน

  • เทรนด์การใช้ชีวิต “ถั่งผิง” เหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดียมากมายจนหนุ่มสาวอยากจะทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ
  • มีกิจกรรมหลายอย่างที่กลายเป็นคอนเทนต์ฮิตในโซเชียล เช่น การจัดปาร์ตี้ลาออกให้ตัวเอง (ยิ่งลาออกแบบ ‘ไม่มีงานรองรับ’ ยิ่งเจ๋ง) หรือ การเสี่ยงโชคซื้อลอตเตอรี ถึงขนาดว่ายอดขายลอตเตอรีของรัฐเมื่อเดือนเมษายนปี 2023 พุ่งสูงถึง 5 หมื่นล้านหยวน สูงขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า เพราะเทรนด์ ‘อยากรวยทางลัด’
  • หลังจากปล่อยให้โซเชียลโพสต์เรื่องเหล่านี้มานาน ในที่สุดเมื่อปลายปี 2023 รัฐบาลจีนก็เริ่มทนไม่ไหว และกำหนดให้ “คอนเทนต์มองโลกในแง่ร้าย” เป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ไม่เหมาะสมที่รัฐต้องการเซ็นเซอร์ (*คอนเทนต์ที่รัฐบาลจีนแบนอื่นๆ เช่น อวดรวย แฟนด้อมคลั่งดารา)
  • คอนเทนต์ที่สะท้อน ‘วัฒนธรรมการทำงานในแบบที่ผิด’ จะถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ เพราะรัฐจีนต้องการให้หนุ่มสาวเลิกมองโลกในแง่ร้าย และกลับมาสร้างประสิทธิผลให้กับชาติอีกครั้ง

 

#ถั่งผิง #เศรษฐกิจจีน #วัฒนธรรมจีน #positioningmag

ที่มา: Jing Daily, Yahoo
ภาพจาก: Shutterstock

อ่านบทความอื่นๆ

]]>
1463059
มหาวิทยาลัยจีนเผยดัชนีความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนในแดนมังกรลดลง ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ https://positioningmag.com/1462257 Sat, 10 Feb 2024 10:43:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462257 มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฉิงตู ได้จัดทำดัชนีความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนชาวจีน รวมถึงดัชนีหนี้ในครัวเรือน พบว่ารายได้และความมั่งคั่งของครัวเรือนในแดนมังกรลดลง และยังไม่กลับสู่สภาวะปกติแต่อย่างใด

ดัชนีความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือนชาวจีน มหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเฉิงตู เป็นผู้จัดทำ พบว่าดัชนีดังกล่าวในไตรมาส 4 ของปี 2023 ยังลดลงต่อจากไตรมาส 3 แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของชาวจีนยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ

โดยดัชนีดังกล่าวถ้าหากมีตัวเลขเกินกว่า 100 จะหมายถึงชาวจีนมีความมั่งคั่งและรายได้ครัวเรือนมากขึ้น อย่างไรก็ดีตัวเลขดัชนีในไตรมาส 4 สิ้นสุดเดือนธันวาคมอยู่ที่ 96.1 และ 94.1 ตามลำดับ ลดลงจากไตรมาส 3 ของปี 2023 ติดต่อกัน

ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 61% ยังชี้ว่ารายได้ของครอบครัวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่ประมาณ 10% รายงานว่ารายได้ลดลงอย่างมาก ในขณะที่อีก 10% กล่าวว่ามีรายได้ลดลงเล็กน้อย

ขณะที่ดัชนีหนี้ครัวเรือนที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำ โดยดัชนีดังกล่าวถ้าหากมีตัวเลขเกินกว่า 100 จะหมายถึงชาวจีนมีหนี้ครัวเรือนมากขึ้น โดยดัชนีดังกล่าวล่าสุดอยู่ที่ 103.4 ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2022 ซึ่งอยู่ที่ 113.7 แสดงให้เห็นว่าสภาวะหนี้ครัวเรือนถือว่าผ่อนคลายลงบ้าง ซึ่งถือเป็นข่าวดีเล็กๆ ของเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ดีผลสำรวจครัวเรือนโดยให้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยครัวเรือนที่มองว่าเศรษฐกิจดีขึ้นลดลงเหลือแค่ 22% เท่านั้น ลดลงจากผลสำรวจในไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 31.3%

ปัญหาด้านเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลกระทบจากอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลต่อชนชั้นกลางจีนที่มีอยู่มากกว่า 400 ล้านคนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่หดตัวลงไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาสติดต่อกัน หรือแม้แต่สินค้าฟุ่มเฟือยหลายชนิดที่ชนชั้นกลางจีนอย่างสินค้าหรู ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

ดัชนีสำรวจความมั่งคั่งและรายได้ครัวเรือนของมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ถือเป็นมาตรวัดที่ใช้เพื่อดูสภาวะชนชั้นกลางของจีนว่ามีความเป็นอยู่เช่นไร โดยครอบครัวที่ได้ทำแบบสอบถามนั้นจะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินและสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันโดยเฉลี่ย 1.49 ล้านหยวน ในขณะที่รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 159,000 หยวน

ในรายงานดังกล่าวยังชี้ว่า “ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและครัวเรือนที่มีประชากรวัยกลางคนมีความคาดหวังเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต่ำ และเป็นกลุ่มหลักที่ต้องการเพิ่มความเชื่อมั่นในอนาคต” ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลจีนที่จะต้องออกมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้

ที่มา – South China Morning Post

]]>
1462257
สื่อจีนชี้ “ชนชั้นกลางในประเทศมากกว่า 400 ล้านคนกำลังจะลดลง ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้” https://positioningmag.com/1459748 Wed, 24 Jan 2024 07:49:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1459748 แม้ว่าจีนจะรายงานตัวเลข GDP ของปีที่ผ่านมาเกิน 5% แต่ปัญหาใหญ่อีกเรื่องของเศรษฐกิจจีนคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะชนชั้นกลางจีน ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจจีนไม่น้อยนั้นกำลังมีความเสี่ยงที่จะลดลงในอนาคต ทำให้สื่อในประเทศจีนต้องออกมาเตือนถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว

South China Morning Post รายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจจีน โดยรายงานดังกล่าวยังได้อ้างอิงบทความของสื่อทางการจีน โดยชี้ว่าจีนถือเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางมากกว่า 400 ล้านคน ถ้าหากไม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งอาจส่งผลต่อชนชั้นกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้

โดยรายงานของสื่อรายดังกล่าวได้กล่าวถึงสภาวะความยากลำบากของชนชั้นกลางในประเทศจีนในปี 2023 ว่ามีความลำบากมากพอแล้ว และปี 2024 อาจเป็นอีกปีที่ความยากลำบากนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจจีนนั้นไม่ได้มีปัจจัยบวกให้เห็นมากเท่าไหร่นัก

จีนได้รายงานตัวเลข GDP ในปี 2023 ที่ผ่านมาเติบโต 5.2% ซึ่งมีหลายตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานของวัยรุ่นชาวจีนที่ยังสูงมากกว่า 13% แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาจากช่วงกลางปี 2023 ซึ่งเกิน 20% ก็ตาม และยังรวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อในจีนที่กลับกลายเป็นสภาวะเงินฝืดแทน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้กำหนดเกณฑ์สำหรับชนชั้นกลางในประเทศด้วยนิยามว่า “กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางนั้นถูกกำหนดว่าเป็นครัวเรือนสามคนที่มีรายได้ระหว่าง 100,000 หยวน ถึง 500,000 หยวนต่อปี”

ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนกำลังประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภค หรือแม้แต่ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบทวิเคราะห์จากสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งได้ชี้ตรงกันว่าชาวจีนได้สะสมความมั่งคั่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบกับชนชั้นกลางจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทวิเคราะห์จาก Oxford Economics ได้ชี้ว่าปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนที่กำลังสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจในเวลานี้ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 ปีในการแก้ไขปัญหา ถ้าหากไม่มีการเพิ่มจำนวนอสังหาริมทรัพย์เข้าไปในระบบ

ไม่ใช่แค่ภาคอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ความตกต่ำของตลาดหุ้นจีน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาดัชนีของตลาดหุ้นได้ตกลงตลอดทางยังส่งผลต่อความมั่งคั่งของชาวจีนมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากชาวจีนหลายคนได้ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Shadow Bank) เพื่อที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง

จะเห็นได้ว่าปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคกำลังบีบชนชั้นกลางชาวจีนเพิ่มด้วย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนพยายามจะหาทางแก้ไข แต่ความมั่นใจของชนชั้นกลางชาวจีนก็ยังไม่กลับมา สอดคล้องกับข้อมูลจาก Macquarie ที่อ้างอิงข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนชี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคชาวจีนล่าสุดอยู่ที่ราวๆ 85 จุด และยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ราวๆ 115 จุดด้วยซ้ำ

ปัญหาความเชื่อมั่นของชนชั้นกลางกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจจีน – ภาพจาก Unsplash

รายงานดังกล่าวยังอ้างสื่อทางการจีนอย่าง Economic Times ที่ได้ออกบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมปี 2023 ที่ผ่านมา โดยเตือนถึงปริมาณชนชั้นกลางในประเทศจีนนั้นกำลังจะลดลงและเรียกร้องให้รัฐบาลจีนมีมาตรการอย่างเร่งด่วนในการส่งเสริมการเติบโตของชนชั้นกลางให้ได้

บทบรรณาธิการดังกล่าวได้ชี้ว่า “กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางสังคม และการรับมือกับความท้าทายจากภายนอก” และยังได้ชี้ว่ากลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจีนกำลังเผชิญปัญหาจากงานที่ไม่มั่นคง “และมีความเสี่ยงที่จะไม่ใช่ชนชั้นกลางอีกต่อไป”

ในรายงานของ South China Morning Post ยังได้สัมภาษณ์ชายชื่อ Li ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง และโดนปลดออกจากงานในช่วงอายุราวๆ 40 เขากล่าวว่าการที่จะพัฒนาความสามารถในการหางานใหม่ถือเป็นเรื่องยาก และยังต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของครอบครัวด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ สถานีโทรทัศน์ CCTV ได้สัมภาษณ์อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งสภาแห่งรัฐ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เขาได้กล่าวว่า “กลุ่มคนที่เพิ่งเปลี่ยนเป็นชนชั้นกลางเมื่อไม่นานมานี้กำลังพบกับความเสี่ยงมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด ที่อาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานและรายได้”

อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งสภาแห่งรัฐ ยังกล่าวเสริมว่า “ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าดูแลบุพการี หรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้กลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องเก็บออมเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่กล้าใช้จ่าย”

จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสื่อทางการจีนที่ได้รายงานปัญหาเศรษฐกิจในประเทศถือว่าเป็นเรื่องที่เห็นไม่บ่อยนัก

การลดจำนวนของชนชั้นกลางยังส่งผลทำให้แผนความมั่งคั่งร่วมกัน หรือ Common Prosperity ของ สี จิ้นผิง ที่ต้องการจะเพิ่มจำนวนของชั้นกลางให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นภายในปี 2035 อาจไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลยด้วยซ้ำ

และปัญหาชนชั้นกลางในประเทศจีนกับความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยนั้นอาจกระทบกับประเทศไทยได้หลังจากนี้ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทย หรือแม้แต่กลุ่มสินค้าต่างๆ ที่ไทยส่งออกไปยังจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองไม่น้อย

]]>
1459748
GDP จีนปี 2023 เติบโต 5.2% ตามเป้ารัฐบาลวางไว้ แม้หลายปัญหากำลังรุมเร้าเศรษฐกิจแดนมังกรก็ตาม https://positioningmag.com/1459135 Wed, 17 Jan 2024 05:03:32 +0000 https://positioningmag.com/?p=1459135 จีนได้รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา GDP จีนเติบโต 5.2% ซึ่งตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่วางตัวเลขไว้ราวๆ 5% อย่างไรก็ดีในปี 2024 นี้เศรษฐกิจแดนมังกรเองยังต้องพบกับความท้าทายหลายประการ

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบปี 2023 ที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจแดนมังกรถือว่ามีความท้าทายอย่างมากหลังจากจีนได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงปลายปี 2022 และเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้ฟื้นตัวอีกครั้ง

ตัวเลข GDP จีนในปี 2023 ตามหลังมาจากการประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 5.2% ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่สำนักข่าว Reuters ได้จัดทำไว้ คาดว่าจะอยู่ที่ 5.3% ขณะที่ผลสำรวจของสำนักข่าว AFP คาดว่าจะเติบโตที่ 5.2%

ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่สำคัญในปี 2023 ที่ผ่านมา

  • การผลิตภาคการของจีนเติบโต 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2022
  • การค้าปลีกของจีนเติบโตอยู่ที่ 7.2% เมื่อเทียบกับปี 2022
  • อัตราการว่างงานรวมของจีนล่าสุดอยู่ที่ 5.1% เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนเล็กน้อย
  • อัตราการว่างงานของวัยรุ่นอยู่ที่ 14.9% ลดลงจากเดือนกรกฎาคมซึ่งทำสถิติสูงสุดที่ 21.3%
  • ราคาบ้านในประเทศจีนลดลงไวเป็นสถิติมากสุดนับตั้งแต่ปี 2015 ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาต้องประสบความมท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงปัญหาอัตราการว่างงานของวัยรุ่น ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นก็กดดันรัฐบาลจีนในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

ขณะเดียวกันปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรเองก็กำลังกดดันจีนเช่นกัน ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานตัวเลขประชากรจีนมีทั้งหมด 1,409 ล้านคน ลดลงจากปี 2022 ที่ผ่านมา 2.75 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงติดต่อกัน 2 ปีติดแล้ว และยังเป็นอัตราประชากรที่ต่ำลงไวที่สุดด้วย

นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุด ยังมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีปะปนกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะปัจจัยเชิงบวกอย่างภาคการส่งออกที่เติบโตเล็กน้อยก็ตาม ทำให้นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันการเงินนั้นค่อนข้างกังวลกับเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกในเวลานี้ไม่น้อย

ในบทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ได้มองว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2024 นี้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินรายนี้กลับมองว่ามาตรการหลายอย่างนั้นไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ปีนี้คาดว่า GDP จะเติบโตได้ 4.8% เท่านั้น

ที่มา – Reuters, China Daily

]]>
1459135
เศรษฐกิจ ‘จีน’ ปี 66 เติบโตต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากวิกฤต ‘อสังหาฯ’ และ ‘การว่างงาน’ https://positioningmag.com/1458901 Tue, 16 Jan 2024 06:45:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1458901 เศรษฐกิจของจีนปี 2566 ที่ผ่านมามีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่อ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 30 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคที่ซบเซา และความไม่แน่นอนทั่วโลก โดยแนวโน้มดังกล่าวจะยังส่งผลถึงปีนี้ด้วย

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิบคนให้สัมภาษณ์กับ AFP โดยคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะขยายตัว 5.2% ซึ่งจะแสดงถึงอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 หากไม่นับช่วงที่ COVID-19 ระบาด โดยในปี 2022 GDP ของจีนเติบโตได้เพียง 3% เนื่องจากยังมีมาตรการควบคุมการระบาด

แม้ว่าในปี 2023 ที่จีนได้ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ และการกลับมาของชีวิตปกติของประชาชนจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ แต่จาก วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การว่างงานของเยาวชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการชะลอตัวทั่วโลกกําลังขัดขวางกลไกการเติบโตของจีน

โดยภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จากปัญหาทางการเงินในบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Evergrande และ Country Garden ส่งผลต่อความไม่ไว้วางใจของผู้ซื้อ ท่ามกลางปัญหาของการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยังไม่เสร็จและราคาที่ลดลง

“ความท้าทายหลักสําหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์” Jing Liu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Greater China ที่ HSBC กล่าว

ด้าน แฮร์รี่ เมอร์ฟี ครูซ นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานจัดอันดับของมูดี้ส์ มองว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่อยู่อาศัย และยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่จะลดลงตลอดปี 2024 ก่อนที่จะกลับมาเติบโตเล็กน้อยในปี 2025 ส่วน เฮเลน เฉียว หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของ Bank of America กล่าวว่า วิกฤตดังกล่าวเกิดควบคู่ไปกับ สภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา ซึ่งกําลังลดทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เยาวชนอายุระหว่าง 16-14 ปี ประมาณ 1 ใน 5 อยู่ในภาวะว่างงาน นอกจากนี้ ระดับการใช้จ่ายยังต่ำกว่าปี 2019 หรือก่อนที่การระบาดใหญ่จะเกิดขึ้น

ในส่วนของ ภาคอุตสาหกรรม ก็กำลังอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกา และความพยายามของบางประเทศตะวันตก ที่ต้องการกระจายซัพพลายเชน เพื่อลดการพึ่งพาจีน โดย Teeuwe Mevissen นักวิเคราะห์ของ Rabobank กล่าวว่า บริษัทตะวันตกจํานวนมากขึ้น กําลังลดหรือรักษาระดับการลงทุนในปัจจุบันในประเทศจีน แต่กระจายความเสี่ยงไปยังที่อื่น

แสงสว่างเดียวของเศรษฐกิจจีนมาจาก ภาคยานยนต์ โดยสามารถผลิตรถยนต์ได้เกิน 30.16 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 11.6% และยอดขายในประเทศเกิน 21.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.2% ด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านคัน เติบโต 63.7% 

Teeuwe ย้ำว่า ความท้าทายทั้งหมดเหล่านี้ จะยังคงมีบทบาทสําคัญต่อไปในปี 2024 โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 4.5% ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก ขณะที่การคาดการณ์เฉลี่ยโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ AFP คือ 4.7%

Source

]]>
1458901
ฉากหน้าสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” อาจดูลดลง แต่ไส้ใน “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงลำบาก https://positioningmag.com/1457143 Mon, 25 Dec 2023 08:56:02 +0000 https://positioningmag.com/?p=1457143 หลายเดือนที่ผ่านมาสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” ดูลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียดจะพบว่า “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงเผชิญความยากลำบาก และยังขอให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง

South China Morning Post รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนปี 2023 ว่าเป็นปีที่น่าผิดหวัง เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมีผลต่อสภาวะการจ้างงานภายในประเทศ สั่นสะเทือนการทำงานของรัฐบาลที่มีภาระหน้าที่หลักคือการสร้างงานสร้างอาชีพให้เพียงพอเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมจีนเอง

ข้อมูลทางการจากรัฐบาลจีนระบุว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “อัตราว่างงาน” ในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 5% มาต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการควบคุมให้ไม่เกิน 5.5% จึงถือว่าน่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าลงลึกถึงไส้ในของตัวเลขนี้ มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีคงสถานะจ้างงานลูกจ้างไว้ แต่ขอให้ลูกจ้าง “หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง” หรือจ่ายน้อยกว่าปกติ เช่น จ่ายเพียง 80% ของเงินเดือนขั้นต่ำ

สถานการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในโรงงาน/ภาคการผลิตเป็นหลัก ที่ผ่านมามีรายงานจากทางการนครฝัวซาน มณฑลกวางตุ้ง พบว่าความต้องการแรงงานจากกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตเริ่มจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 แต่ก็ยังถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าภาคธุรกิจบริการ

การลงทุนภาคเอกชนนั้นถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและเป็นผู้จ้างงานหลัก แต่ธุรกิจเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่ โดยมีการลงทุนเติบโตเพียง 0.5% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เปรียบเทียบกับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 6.5% เห็นได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้หัวจักรภาครัฐในการขับเคลื่อนไปก่อน

 

“อสังหาฯ” จีนทรุดตัว ส่งผลซึมลึก

South China Morning Post ยกตัวอย่างสินค้าประเภทหนึ่งที่เคยมีดีมานด์สูงมากนั่นคือ “อะลูมิเนียม” สินค้ากลุ่มนี้เคยเฟื่องฟูมากจนโรงงานมีการจ้างงานพนักงานให้ทำงานถึงสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง แต่บัดนี้คำสั่งซื้อหดตัวลงจนโรงงานเองต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้ขาดทุน

“ในยุคที่อสังหาริมทรัพย์คืออุตสาหกรรมที่ทำกำไรดีที่สุดในประเทศจีน สินค้าอะลูมิเนียมจึงเป็นที่ต้องการทุกที่ในประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย” Tong พนักงานคนหนึ่งของโรงงาน Golden World Innovation Aluminum กล่าวกับสำนักข่าว “อย่างไรก็ตาม วิกฤตอสังหาฯ ยังหนักหนาอยู่ในปีนี้ ทำให้โรงงานต้องการแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ”

11 เดือนแรกของปี 2023 การลงทุนของภาคธุรกิจอสังหาฯ ในจีนหดตัวลง -9.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาแล้วก็ตาม แต่ตลาดอสังหาฯ จีนที่ทรุดลงสร้างรอยแผลให้กับเศรษฐกิจจีนในหลายภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ใช่แค่อะลูมิเนียม

มีรายงานจากพนักงานในโรงงาน Yaxin Iron และ Steel Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กในมณฑลเหอหนาน ระบุว่าโรงงานหยุดผลิตเหล็กไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะหยุดยาวไปจนกว่าจะพ้นเทศกาลไหว้พระจันทร์ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ขณะที่ Raymond Zheng เจ้าของบริษัทขนาดเล็กที่เป็นผู้รับเหมาขุดเจาะและถมที่ในมณฑลกวางตุ้ง ก็ต้องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว

นอกจากธุรกิจสินค้าหนักและบริการด้านก่อสร้างแล้ว ธุรกิจที่รับผลกระทบแรงในจีน ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก และ กระดาษและงานพิมพ์

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Simatelex ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง ตัดสินใจปิดโรงงานในเสิ่นเจิ้นหลังก่อตั้งมานานถึง 38 ปี ทำให้พนักงานโรงงานหลายร้อยคนต้องถูกเลย์ออฟ

Shenli, Forward และ Good Printing ซึ่งทำธุรกิจด้านพลาสติกและกระดาษ ก็ตัดสินใจปิดโรงงานเสิ่นเจิ้นเช่นกัน รวมกันแล้วมีพนักงานถูกปลดไปหลายพันคน

การปิดโรงงานเหล่านี้จะมีผลต่อระบบนิเวศธุรกิจที่แวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หอพัก โรงแรม ที่มีแหล่งรายได้หลักคือพนักงานโรงงาน ธุรกิจเหล่านี้จะต้องขาดรายได้ กลายเป็นลูกโซ่กระทบต่อเนื่อง

 

ปี 2024 ยังต้องแก้ปัญหาอีกเพียบ

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจเหล่านี้ มุมมองของกลุ่มนำทางเศรษฐกิจจีนมองว่า ปี 2024 จะต้องมีการพัฒนา โดยจีนต้องมีนโยบายเพื่อให้การจ้างงานมีความมั่นคงมากกว่านี้ มีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน และสนับสนุนให้มีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น

ความท้าทายของจีนในปี 2024 ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความคาดหวังทางธุรกิจที่อ่อนแอลง การส่งออกลดลง การฟื้นตัวในภาคการผลิตที่เชื่องช้ามาก และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่พุ่งสูงขึ้น

Natixis วาณิชธนกิจจากปารีส วิเคราะห์ว่าประเทศจีนยังหาอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งมากพอเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่ได้

“หากความมั่นใจยังไม่ฟื้นคืนกลับมา ผู้ประกอบการภาคเอกชนน่าจะยังรอดูท่าทีทางเศรษฐกิจต่อไปก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นข้อสรุปจากรายงานวิเคราะห์โดย Guangzhou Institute of Greater Bay Area

Source

]]>
1457143