โคเวิร์กกิ้ง – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 10 Aug 2024 00:41:15 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 โฉมใหม่ “Too Fast to Sleep” สาขาสามย่าน แปลงเป็นคอมฯ มอลล์ – ฮอลล์จัดอีเวนต์ https://positioningmag.com/1485929 Fri, 09 Aug 2024 16:34:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1485929 อดีตที่อ่านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดฮิตของเด็กจุฬาฯ “Too Fast to Sleep” สาขาสามย่าน กลับมาในโฉมใหม่ “Too Fast Infinity” แปลงเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ มีฮอลล์จัดอีเวนต์เป็นจุดขายใหม่ เป้าหมายกลับมาสร้างกำไร

ปี 2555 ร้านกาแฟ “Too Fast to Sleep” ถือกำเนิดขึ้นบริเวณข้างวัดหัวลำโพง ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากแนวคิดของ “อเนก จงเสถียร” นักธุรกิจเจ้าของบริษัทผลิตพลาสติกห่ออาหาร ที่เห็นว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา ควรจะได้มีที่อ่านหนังสือ-ติวหนังสือสาธารณะ

Too Fast to Sleep ฮิตติดลมบนอย่างรวดเร็ว จากคอนเซ็ปต์เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และจะนั่งนานเท่าไหร่ก็ได้ ในสมัยนั้นนับว่าเป็นคอนเซ็ปต์ ‘ใหม่มาก’ ในประเทศไทย

Too Fast to Sleep
บรรยากาศ Too Fast to Sleep ในอดีต

หลังจากนั้น Too Fast to Sleep ได้ขยายไปอีกหลายสาขา ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลมหาวิทยาลัยเหมือนสาขาแรกที่สามย่าน เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มเดียวกันคือนักเรียน-นักศึกษา รวมถึงมีการแตกแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครืออีกมากมาย เช่น ตาโต โอชา, เส้นทองเอก, Secret Chamber, ABBA Café เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม “กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Too Fast Infinity Group ยอมรับว่า Too Fast to Sleep ซึ่งเป็นร้านแรกในเครือและเป็นคอนเซ็ปต์ที่ทำเพื่อสังคมนั้น ‘แทบจะขาดทุนตลอด’ และเครือเคยใช้วิธีนำกำไรจากร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ มาอุดหนุนเพื่อทำให้คอนเซ็ปต์แบบ Too Fast to Sleep ยังยืนอยู่ได้

“กมนทรรศน์ เหล่าบุตรดีปฐพี” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Too Fast Infinity Group

จนกระทั่งเกิด “โควิด-19” จุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบ Too Fast to Sleep โดยตรง ทุกสาขาต้องปิดชั่วคราวทั้งหมด และเรียกรวมตัวพนักงาน 200 คนมาเปิดครัวกลางที่สามย่านทำอาหารกล่องเดลิเวอรีเพื่อประคองตัวผ่านวิกฤตกันไปก่อน

หลังโควิด-19 ผ่านพ้น กมนทรรศน์กล่าวว่า Too Fast Infinity Group จึงเริ่มต้นใหม่ ด้วยแนวคิดใหม่คือ “เราจะไม่กลับไปขาดทุนอีกแล้ว”  

 

สาขาหลัก “สามย่าน” เปลี่ยนเป็น “Too Fast Infinity”

กมนทรรศน์กล่าวว่า สำหรับสาขาแรกที่ “สามย่าน” ได้ปิดคอนเซ็ปต์เดิมถาวร ก่อนที่เครือจะใช้เงินลงทุน 15-20 ล้านบาท ซ่อมแซมปรับปรุงและดีไซน์หลายส่วนในอาคารใหม่ เพื่อกลับมาเปิดภายใต้ชื่อใหม่ “Too Fast Infinity” ในปีนี้

Too Fast Infinity
ภายนอกอาคารและด้านหน้ามีการปรับปรุงเปลี่ยนใหม่มาเป็นธีมสีขาว

คอนเซ็ปต์ใหม่ของ “Too Fast Infinity” เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ขนาดย่อมๆ บนพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฮอลล์จัดอีเวนต์, ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, ร้านขายเสื้อผ้า และในอนาคตจะมีร้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คลินิกความงาม ร้านขายดอกไม้

ในส่วน “ฮอลล์” จัดอีเวนต์ดีไซน์เป็นสไตล์กลาสเฮ้าส์ใต้หลังคา พื้นที่จุคนได้ 200 คน สามารถใช้จัดงานได้หลากหลาย เช่น งานเปิดตัวสินค้า นิทรรศการ งานแถลงข่าว งานเสวนา ปาร์ตี้ส่วนตัว งานแฟร์ขายสินค้า เป็นต้น

ฮอลล์จัดอีเวนต์ใน Too Fast Infinity

ส่วนร้านกาแฟด้านหน้าเป็นร้าน ABBA Café ที่เป็นร้านในเครือ เปิดตั้งแต่ 8:00 – 23:00 น. เป็นพื้นที่นั่งอ่านหนังสือ ทำงาน ประชุมงานกันได้

ด้านล่างเป็นร้าน Secret Chamber ร้านอาหารและบาร์ตกแต่งในสไตล์แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีดนตรีสดและบาร์ซิการ์ เหมาะกับการแฮงเอาต์สังสรรค์กับเพื่อนยามค่ำคืน

ABBA Café

นอกจากนี้ ยังปรับพื้นที่ให้มีที่จอดรถทั้งหมด 30 คันเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายลูกค้าใหม่ที่จะเป็นกลุ่มคนทำงานและวัยผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่นี่ไม่มีที่จอดรถเพราะมองว่านิสิตนักศึกษามักจะใช้รถสาธารณะมากกว่า

กมนทรรศน์มองว่า ฮอลล์จัดอีเวนต์จะเป็นหัวใจสำคัญของ Too Fast Infinity ใช้ในการดึงทราฟฟิกเข้าสู่พื้นที่ และ 70% ของรายได้สาขานี้น่าจะได้จากการเช่าพื้นที่ฮอลล์

 

“Too Fast to Sleep” เหลือ 3 สาขา – เตรียมเปิดใหม่ “คลองเตย”

ส่วนภาพรวม Too Fast Infinity Group กมนทรรศน์สรุปธุรกิจทั้งหมดที่มีปัจจุบัน ได้แก่

  • Too Fast to Sleep 3 สาขา – สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ, สาขา มศว ประสานมิตร และสาขาสยามสแควร์
  • ร้านอาหาร Secret Chamber 3 สาขา – สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ, สาขา MBK Center และสาขาสามย่าน
  • ร้านอาหาร เส้นทองเอก 2 สาขา – สาขา Silom Edge, สาขา MBK Center
  • ร้านอาหาร ตาโต โอชา 2 สาขา – สาขา Silom Edge, สาขา MBK Center
  • ร้านกาแฟ ABBA Café 1 สาขา – สาขาสามย่าน
Too Fast to Sleep สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ

กมนทรรศน์ยังกล่าวถึง Too Fast to Sleep ทั้ง 3 สาขาที่เหลืออยู่ด้วยว่า ปัจจุบันสามารถพลิกกลับมาทำกำไรด้วยตนเองหรือขาดทุนน้อยลงแล้วทุกสาขา เพราะมีการปรับเวลาให้บริการให้เหมาะสม คือ สาขา Charn Avenue แจ้งวัฒนะ บริการเวลา 10:00 – 01:00 น. สาขา มศว ประสานมิตร บริการเวลา 09:00 – 19:00 น. (ปิดวันอาทิตย์) และ สาขาสยามสแควร์ บริการเวลา 09:00 – 20:00 น. ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจาก “ค่าไฟฟ้า” ที่เป็นต้นทุนหลักลงได้มากเพราะไม่ได้เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนกับสาขาสามย่านในอดีต

ทั้งนี้ Too Fast to Sleep ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์เป็นที่อ่านหนังสือและนั่งทำงานโดยมีเครื่องดื่มและอาหารให้บริการ จะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาที่ MRT คลองเตย หลังจากเป็นผู้ชนะการประมูลพื้นที่ โดยจะเข้าพื้นที่เพื่อตกแต่งได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

กมนทรรศน์กล่าวว่าทั้งเครือ Too Fast Infinity Group ตั้งเป้ารายได้ที่ 30 ล้านบาทในปี 2568 ส่วนการขยายสาขาในกลุ่มร้านอาหารเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีแผนแล้วเป็นร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ “กมน” (Kamon) จะเปิดสาขาแรกในปีหน้า

]]>
1485929
“WeWork” พ้นสถานะ “ล้มละลาย” หลังปิดสาขาที่ไม่ทำเงิน 170 แห่ง – เจรจาค่าเช่าใหม่ 190 แห่ง https://positioningmag.com/1477833 Wed, 12 Jun 2024 14:20:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1477833 “WeWork” พ้นสถานะ “ล้มละลาย” แล้วเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2024 หลังจากปิดสาขาที่ไม่ทำเงินไป 170 แห่ง และขอเจรจาค่าเช่าใหม่ 190 แห่ง พร้อมกับการเริ่มต้นใหม่ บริษัทแจ้งเปลี่ยนซีอีโอคนที่ 4 ในรอบ 5 ปี

บริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซชื่อดัง “WeWork” ยื่นคำร้องขอเข้าสู่สถานะล้มละลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 เนื่องจากมีหนี้สินรวม 18,650 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีทรัพย์สินเพียง 15,060 เหรียญสหรัฐ

สถานการณ์ของบริษัทตกต่ำถึงขีดสุดหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ตกต่ำ แต่ถึงแม้โรคระบาดจะสงบลงในช่วง 2 ปีมานี้ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงการประเมินมูลค่าบริษัทเทคกลับตัวเป็นขาลง ส่งผลกระทบให้ WeWork ยังอยู่ในวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง

หลังการล้มละลายของ WeWork บริษัทเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจด้วยการปิดสาขาที่ไม่ทำเงินไป 170 แห่ง และเจรจาขอลดค่าเช่าตึกอีก 190 แห่ง จนทำให้ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ลดลงไปได้ปีละ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา WeWork แจ้งข่าวภายในว่าบริษัทมีการเจรจาสัญญาขอลดค่าเช่าตึกใน 6 เมืองแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำเร็จ ได้แก่ สิงคโปร์, กัวลาลัมเปอร์, กรุงเทพฯ, โฮจิมินห์ ซิตี้, จาการ์ตา และมะนิลา และทำให้บริษัทไม่ต้องปิดสาขาใดในตลาดเหล่านี้ (*ในไทยมี WeWork ตั้งอยู่ 3 สาขา ได้แก่ The PARQ พระราม 4, T-ONE ทองหล่อ และ Spring Tower พญาไท)

WeWork สาขา The PARQ พระราม 4 เปิดตัวในปี 2563

WeWork ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พอร์ตโฟลิโอใหม่ของบริษัทในปัจจุบันมีพื้นที่เช่าทั้งหมด 45 ล้านตารางฟุต จาก 600 สาขา ใน 37 ประเทศ

นอกจากการประกาศพ้นสถานะล้มละลายแล้ว WeWork ยังเปลี่ยนตัวซีอีโออีกครั้งโดยซีอีโอใหม่ “จอห์น ซานโตรา” ถือว่าเป็นซีอีโอคนที่ 4 ในรอบ 5 ปีของ WeWork นับตั้งแต่ปี 2019 ที่บริษัทพลาดการเปิดขายหุ้น IPO และเป็นจุดตั้งต้นความปั่นป่วนในองค์กร

ซานโตราจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก “เดวิด โทลเลย์” ซีอีโอที่เริ่มรับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 (นับรวมช่วงที่เป็นซีอีโอรักษาการณ์) โดยโทลเลย์ถือเป็นคนที่เข้ามาปรับโครงสร้างธุรกิจ นำการปิดสาขาและเจรจาสัญญาใหม่

สำหรับ จอห์น ซานโตรา เคยเป็นประธานกรรมการ Cushman & Wakefield บริษัทโบรกเกอร์และบริการที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ บริษัทที่เขาทำงานด้วยมานานถึง 40 ปี

WeWork เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดย “อดัม นิวแมน” และ “มิเกล แมคเคลวีย์” เมื่อปี 2010 นิวแมนเป็นผู้นำองค์กรในช่วงแรก ผ่านการระดมทุนครั้งใหญ่และการเติบโตระดับประวัติการณ์ จนกระทั่งตัวเขาเองถูกขับออกจากบริษัทเมื่อปี 2019 หลังแผนการเปิดขายหุ้น IPO ไม่สำเร็จ ต่อมาบริษัทได้เข้าตลาดหุ้นในปี 2021 แต่ใช้วิธีเข้าตลาดหุ้นด้วยบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Company)

Source

]]>
1477833
WeWork เตรียมออกจากการล้มละลายสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เจรจาสัญญาเช่าฉบับใหม่กับเจ้าของพื้นที่เพื่อลดค่าใช้จ่าย https://positioningmag.com/1468816 Wed, 03 Apr 2024 06:17:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1468816 WeWork เตรียมออกจากการล้มละลายสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากที่บริษัทได้เจรจาสัญญาเช่าฉบับใหม่กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ซึ่งคาดว่าค่าเช่านั้นลดลงมากกว่า 40% จากสัญญาฉบับเดิม

สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวว่า WeWork ผู้ให้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซนั้นเตรียมที่จะออกจากสภาวะล้มละลายภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้เจรจากับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่บริษัทได้เช่าอยู่เพื่อที่จะต่อรองค่าเช่า ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้

WeWork ได้เจรจากับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือแม้แต่ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผู้ให้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซได้กล่าวขอบคุณเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งถึงความร่วมมือดังกล่าว โดยบริษัทได้เจรจาและทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ไปแล้วถึง 150 แห่ง และบริษัทจะหาพื้นที่เช่าใหม่อีก 50 แห่งเพิ่มเติม

Peter Greenspan หัวหน้าฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของ WeWork ที่ดูแลเรื่องการเจรจาสัญญาเช่ากับผู้เช่าทั่วโลก ได้กล่าวว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเจรจากับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (CRE) ซึ่งการเจรจานั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งเจ้าของอสังหาฯ และผู้เช่า

การเจรจาดังกล่าวทำให้ WeWork สามารถลดค่าเช่าในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จากเดิมได้มากกว่า 40% เมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงมาได้

ผู้ให้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซรายดังกล่าวได้ยื่นล้มละลายในช่วงเดือนพฤศจิกายนในปี 2023 ที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนจากค่าเช่าที่บริษัทได้ทำสัญญาระยะยาวกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังรวมถึงรายได้ที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด

นอกจากนี้เทรนด์การทำงานที่บ้าน ยังส่งผลกระทบ WeWork เนื่องจากบริษัทหลายแห่งได้ลดการเช่าสำนักงาน หรือแม้แต่โคเวิร์คกิ้งสเปซลง แม้ว่าล่าสุดบริษัทหลายแห่งจะให้พนักงานกลับมาทำงานที่สำนักงานแล้วก็ตาม

ก่อนหน้านี้ WeWork เคยมีมูลค่ามากถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่ถูกจับตามองมากที่สุด ซึ่งมีผู้ลงทุนรายใหญ่อย่าง SoftBank Vision Fund เป็น 1 ในผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัท

]]>
1468816
ตลาด ‘อาคารสำนักงาน’ สหรัฐฯ เตรียมรับแรงกระแทกหลัง ‘WeWork’ ยื่นล้มละลาย ทำให้ต้องยุติสัญญาเช่าในหลายพื้นที่ https://positioningmag.com/1451024 Wed, 08 Nov 2023 09:51:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1451024 ดูเหมือนว่าตลาด อาคารสำนักงาน ในอเมริกามีสำนักงานว่างเหลือเฟืออยู่แล้ว หลังจากที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เทรนด์การทำงานไปสู่รูปแบบไฮบริดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ WeWork ยื่นล้มละลาย อาจยิ่งทำให้ตลาดอาคารสำนักงานเกิดผลกระทบ

เจ้าของอาคารพาณิชย์ ที่ปล่อยให้ บริษัทโคเวิร์กกิ้ง เช่าเป็นอาคารสำนักงานจำนวนมาก กำลังได้รับผลกระทบจากการที่ WeWork ยื่นล้มละลาย เนื่องจากบริษัทต้อง ยุติสัญญาเช่าอาคารในสหรัฐฯ บางส่วน ซึ่งปัจจุบัน  WeWork มีสาขามากกว่า 600 แห่งในเมืองใหญ่ ๆ

ลือ ‘WeWork’ เตรียมยื่น ‘ล้มละลาย’ ในสัปดาห์หน้า

JLL ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานมากกว่า 1 ใน 5 ทั่วสหรัฐฯ หรือกว่า 20% ยังคง ว่าง ดังนั้น การสูญเสีย WeWork จะทำให้มีการเช่าอาคารสำนักงานว่างเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ ค่าเช่าของผู้เช่าลดลง

ซึ่งหมายความว่าเจ้าของอาคารพาณิชย์บางรายอาจ ประสบปัญหาในการชำระหนี้ ในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจส่งผลให้เจ้าของอาคารพาณิชย์ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้หรือการจำนอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบธนาคาร

นอกจากนี้ การล้มละลายของ WeWork อาจส่งผลกระทบกระทบต่อธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางที่ถือครองหนี้ของเจ้าของอาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อแก่เจ้าของอาคารและธุรกิจ และทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของระบบการเงิน 

“การล้มละลายของ WeWork สร้างความตกใจครั้งใหญ่ให้กับตลาดอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดประสบปัญหาอย่างหนัก นี่เป็นอีกปัญหาใหญ่สำหรับตลาดนที่ต้องเผชิญ” Stijn Van Nieuwerburgh ศาสตราจารย์ด้านอสังหาริมทรัพย์ของ Columbia Business School กล่าว 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อาคารสำนักงานในเมืองที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ นิวยอร์กซิตี้ ซานฟรานซิสโก และบอสตัน โดย CoStar บริษัทเก็บข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ระบุว่า ประมาณ 42% ของอัตราการเข้าพักของ WeWork อยู่ใน 3 เมืองดังกล่าว และ WeWork มีแผนที่จะปิดพื้นที่ 1.9 ล้านตารางฟุตในตลาดทั้ง 3 แห่งนี้ หรือประมาณ 35% ของพื้นที่ทั้งหมด

Source

]]>
1451024
“เดอะ เกรท รูม” ขยายสาขา 2 ที่ “พาร์ค สีลม” ชูโมเดลธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ร่วมทุนเจ้าของอาคาร https://positioningmag.com/1450927 Tue, 07 Nov 2023 09:33:07 +0000 https://positioningmag.com/?p=1450927
  • “เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ขยายสาขาสองในไทยที่ “พาร์ค สีลม” โดยเป็นการร่วมทุนกับ “นายณ์ เอสเตท” และ “ไมเนอร์” บริษัทเจ้าของอาคาร ชูโมเดลธุรกิจนี้แข็งแรงและยั่งยืนกว่าในการพัฒนา “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”
  • ชี้โอกาสในตลาดไทยยังมีอีกมาก เพราะออฟฟิศแบบยืดหยุ่นยังมีเพียง 1.5% ของตลาดรวม
  • “เดอะ เกรท รูม” (The Great Room) ประกาศเปิดตัวสาขาที่สองในไทยที่อาคาร “พาร์ค สีลม” โดยใช้พื้นที่รวม 3,500 ตารางเมตรบนชั้น 29-30 ของอาคารพาร์ค สีลม เริ่มให้บริการเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากเปิดสาขาแรกที่อาคาร เกษร ทาวเวอร์ มาตั้งแต่ปี 2561

    แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งนี้ก่อตั้งครั้งแรกในสิงคโปร์ ก่อนที่บริษัท Industrious จากสหรัฐฯ (มีบริษัท CBRE เป็นผู้สนับสนุนการลงทุน) จะเข้าเทกโอเวอร์ เดอะ เกรท รูม ไปเมื่อปี 2565

    ปัจจุบันเดอะ เกรท รูม ขยายไป 10 สาขาใน 3 เขตการปกครอง ได้แก่ 6 สาขาในสิงคโปร์, 2 สาขาในฮ่องกง และ 2 สาขาในไทย และเตรียมเปิดตัวสาขาที่ 11 ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ภายในปี 2567 ตามแผนการขยายตัวในเอเชียแปซิฟิกของบริษัท

     

    “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ระดับพรีเมียม หรูสุดในตลาด

    เดอะ เกรท รูม
    บรรยากาศโซน The Drawing Room สามารถมานั่งจิบกาแฟพูดคุยธุรกิจกันได้

    ภายในตลาดที่แข่งขันสูงของธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เดอะ เกรท รูมวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองไว้ในกลุ่มพรีเมียม วัดได้จาก “ราคา” ที่สูงกว่าคู่แข่งมาก

    เปรียบเทียบราคา ‘Hot Desk’ หรือการสมัครสมาชิกเพื่อเข้ามาใช้งานส่วนตัวโดยไม่มีที่นั่งประจำ “เดอะ เกรท รูม” คิดราคา 8,000 บาทต่อเดือน เทียบกับ “จัสโค” คิดเพียง 5,200 บาทต่อเดือน หรือ “SPACES” ยิ่งถูกลงมาเหลือ 2,050 บาทต่อเดือนเท่านั้น

    เดอะ เกรท รูม

    “ซู แอน มี” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ The Great Room ชูจุดขายของแบรนด์ที่ทำให้พรีเมียมกว่า มาจากการเลือกโลเคชันใจกลางเมือง และเลือกอาคารเกรดเอเท่านั้น

    ตามด้วยการตกแต่งภายใน ดีไซน์แตกต่างจากที่อื่นด้วยสไตล์ลักชัวรี มีระดับ ให้ความเป็นผู้ใหญ่ ได้ฟีลลิ่งเหมือนเดินเข้ามาในเลาจน์ของโรงแรมระดับ 5 ดาว

    ปิดท้ายด้วยการบริการภายในด้วยฮอสพิทาลิตี้แบบโรงแรม และสำหรับสาขาใหม่นี้มีการดึง “Sarnies” คาเฟ่ชื่อดังเข้ามาเปิดสาขาบริการเครื่องดื่ม เบเกอรี และอาหารด้วย

    เดอะ เกรท รูม
    ห้องประชุมวิวตึกมหานคร

    “สิลีน เดมีร์” ผู้จัดการทั่วไป  เดอะ เกรท รูม กรุงเทพฯ ระบุว่าความแตกต่างในตลาดทำให้สาขาแรกที่เกษร ทาวเวอร์ ในส่วนพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัว (Dedicated Offices) มีอัตราการเช่า 90-92% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ผู้เช่าส่วนใหญ่จากกลุ่มแบรนด์สินค้าลักชัวรี และมีสมาชิก Hot Desk จากสาขานี้ 50 ราย

    ด้วยผลตอบรับที่ดีหลังผ่านช่วงโควิด-19 ทำให้บริษัทมองหาที่ตั้งสาขาต่อไป ก่อนจะมาจับมือเป็นพันธมิตรกับอาคารพาร์ค สีลม

    สิลีนกล่าวว่าเดอะ เกรท รูมสาขาใหม่ที่พาร์ค สีลม ปัจจุบันพื้นที่ออฟฟิศส่วนตัวมีการเช่าแล้ว 40% และวางเป้ามีอัตราเช่า 75% ภายในปี 2567 ส่วนใหญ่ในสาขานี้จะได้ผู้เช่าเป็นออฟฟิศ spin-off ของบริษัทใหญ่กลุ่มบริษัทยา, เวนเจอร์แคปปิตอล และเทคโนโลยี

     

    “ร่วมทุน” เพื่อให้ธุรกิจแข็งแรงกว่า

    สำหรับสาขาสองนี้ เดอะ เกรท รูม ใช้กลยุทธ์ร่วมทุนกับ “แลนด์ลอร์ด” เจ้าของอาคาร คือ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยไม่เปิดเผยอัตราส่วนการร่วมทุน

    ถือเป็นกลยุทธ์ที่ต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วไปที่มักจะทำสัญญาเช่าอาคารไปตามปกติ และนำมาปล่อยเช่าช่วงตามแนวทางธุรกิจของตนเอง แต่เดอะ เกรท รูม เลือกเฟ้นหาแลนด์ลอร์ดที่พร้อมจะร่วมลงทุน

    (จากซ้าย) สิลีน เดมีร์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ เกรท รูม กรุงเทพฯ, สุธี ลิมปนชัยพรกุล ประธานอำนวยการ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด และ ซู แอน มี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ The Great Room

    “กลยุทธ์นี้เราจะทำต่อในสาขาต่อๆ ไปด้วย เพราะเราต้องการให้เดอะ เกรท รูมเป็นบริการที่มีให้กับผู้เช่าทั้งตึก ไม่ใช่เฉพาะสมาชิกของเรา ดังนั้น เราต้องมีการทำงานร่วมกันกับแลนด์ลอร์ด มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน วิสัยทัศน์เดียวกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน” สิลีนกล่าว

    สิลีนยกตัวอย่างเดอะ เกรท รูมที่พาร์ค สีลม บนชั้น 29 จะถือเป็น ‘Amenities Floor’ สำหรับคนทั้งอาคาร เพราะผู้เช่าทุกรายในอาคารสามารถพาแขกของบริษัทมาแวะทานกาแฟที่ Sarnies พุดคุยธุรกิจในบรรยากาศสบายๆ หรือมาจองใช้ห้องประชุม/พื้นที่จัดอีเวนต์ที่รองรับได้สูงสุด 120 คน รวมถึงมาร่วมงานอีเวนต์ของทางเดอะ เกรท รูมได้

    การเปิดพื้นที่ของโคเวิร์กกิ้งสเปซให้คนทั้งอาคาร ไม่ใช่แค่ที่ปิดเฉพาะสมาชิก จะทำให้ผู้เช่าทั้งอาคารของแลนด์ลอร์ดได้ประโยชน์ในการใช้งาน และโคเวิร์กกิ้งสเปซก็ได้คุณค่ามากขึ้น เพราะเปิดให้การสร้างเครือข่าย (networking) กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานใกล้ชิดกับแลนด์ลอร์ด และดีที่สุดคือต้องร่วมทุนกันเพื่อแบ่งรายได้

    ตัวอย่างบรรยากาศอีเวนต์เวิร์กช็อประบายสีน้ำจากเดอะ เกรท รูมสาขาเกษร ทาวเวอร์

    ปัจจุบันเดอะ เกรท รูมในไทยกำลังมองหาทำเลสาขาต่อๆ ไปและมีการพูดคุยกับเจ้าของอาคารหลายราย

    “สมัยก่อนสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในตึกต่างๆ ก็มักจะเป็นฟิตเนสหรือสวนสาธารณะ แต่ในสมัยนี้เราต้องสื่อสารกับแลนด์ลอร์ดให้ได้ว่า เราก็เปรียบเหมือนสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารอย่างหนึ่ง และการมีเราจะช่วยให้มีจำนวนคนเข้าออก (footfall) เยอะขึ้น รวมถึงสตาร์ทอัพหรือบริษัทขนาดเล็กหลายรายมาเริ่มตั้งสำนักงานกับเรา แต่เมื่อเขาโตขึ้นจนต้องการออฟฟิศแบบดั้งเดิม เขาก็มักจะเลือกอยู่ในอาคารเดิมนี่แหละ ซึ่งแลนด์ลอร์ดจะได้ประโยชน์ในอนาคต” ซู แอน กล่าวเสริม

     

    “กรุงเทพฯ” ยังขยายได้อีกมาก

    ซู แอนกล่าวเพิ่มถึงภาพรวมในตลาด “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ในเอเชียแปซิฟิก (APAC) เธอระบุว่าเทรนด์ยังเป็นขาขึ้น เพราะในฝั่งดีมานด์นั้นมีบริษัทที่หันมาใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น (Flexible Offices) แล้ว 48% และมีบริษัท 52% ที่ต้องการจะเพิ่มปริมาณการใช้ออฟฟิศแบบยืดหยุ่น สะท้อนว่ายังมีความต้องการในอนาคต

    ส่วนฝั่งซัพพลายนั้น พบว่ามีเพียง 4% ในตลาดสำนักงานให้เช่าของ APAC ที่เป็นออฟฟิศแบบยืดหยุ่น เฉพาะของไทยยิ่งน้อยลงไปอีกเพราะมีเพียง 1.5%

    นั่นทำให้ซู แอนเชื่อว่า ตลาดไทยยังมีโอกาสอีกมาก เฉพาะแบรนด์เดอะ เกรท รูม เธอเชื่อว่าบริษัทสามารถขยายตัวในกรุงเทพฯ ได้อีกอย่างน้อย 10 สาขา!

    “จริงๆ แล้วโอกาสของโคเวิร์กกิ้งสเปซหลังผ่านโควิด-19 นั้นอยู่ในฝั่งเอเชียมากกว่า เพราะวัฒนธรรมบริษัทฝั่งเอเชียนิยมกลับเข้าออฟฟิศมากกว่าฝั่งตะวันตก” ซู แอนกล่าว “ในตะวันตกตอนนี้ยังเข้าออฟฟิศแค่ 50% ของชั่วโมงทำงาน แต่เอเชียเข้ากัน 65% ของชั่วโมงทำงาน และเราเชื่อว่าปี 2567 ตัวเลขของฝั่งเอเชียจะเพิ่มเป็น 75% และการใช้งานออฟฟิศที่สูงกว่าเป็นโอกาสของเดอะ เกรท รูมด้วยเช่นกัน”

    ]]>
    1450927
    WeWork ส่อแววไม่รอดสูง บริษัทกังวลความสามารถในการดำเนินธุรกิจหลังขาดทุน สภาพคล่องแทบไม่มี https://positioningmag.com/1440316 Wed, 09 Aug 2023 04:54:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1440316 ผู้ให้บริการ Co Working Space อย่าง WeWork ล่าสุดสถานการณ์บริษัทส่อแววไม่รอดสูง หลังจากบริษัทรายงานผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องลดลงอย่างหนัก และบริษัทเองยังกังวลความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้วย

    WeWork ผู้ให้บริการเช่าพื้นที่ทำงาน (Co Working Space) ได้รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของบริษัทว่า “กังวลความสามารถในการดำเนินธุรกิจ” ซึ่งบริษัทได้รายงานผลขาดทุนจากการดำเนินงานมากถึง 396 ล้านเหรียญสหรัฐ

    รายงานผลประกอบการ บริษัทกล่าวว่า “มีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” บริษัทยังชี้แจงถึงความสามารถของบริษัทในการดำเนินกิจการได้นั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินการตามแผนในการปรับปรุงสภาพคล่องและความสามารถในการทำกำไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้าว่าขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงานของผู้บริหารหลังจากนี้

    ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 นั้น WeWork มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,693 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดทุนทั้งสิ้น 696 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่เพียงเท่านี้บริษัทมีสภาพคล่องเหลือแค่ 680 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

    แผนการของ WeWork ที่จะกู้ธุรกิจให้กลับมาอยู่รอดประกอบไปด้วย

    • การลดค่าเช่าและการเช่าโดยการดำเนินการปรับโครงสร้างและการเจรจาเงื่อนไขการเช่าที่ดีขึ้น
    • เพิ่มรายได้โดยการหาลูกค้าเพิ่มเติม
    • ควบคุมค่าใช้จ่าย
    • หาเงินทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นกู้ หรือหุ้นเพิ่มทุน ไปจนถึงมาตรการขายสินทรัพย์ของบริษัท

    หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทเชื่อว่าจะมีลูกค้าใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น การไล่ปิดสาขา ปลดพนักงานมาเป็นระยะๆ รวมแล้วหลายพันคน แต่ก็ยังไม่ทำให้สถานการณ์ของบริษัทดูดีขึ้นเท่าไหร่นัก 

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา WeWork เป็นหนึ่งในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีบริษัทร่วมลงทุน หลายรายได้ลงทุนในระดับหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หรือแม้แต่กองทุนยักษ์ใหญ่อย่าง Vision Fund ของ SoftBank ก็ได้ลงทุนกับผู้ให้บริการ Co Working Space รายนี้ด้วย

    มูลค่าบริษัทของ WeWork นั้นเคยสูงสุดมากถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่ Adam Neumann ผู้ร่วมก่อตั้ง WeWork ต้องถูกบีบลาออกจากตำแหน่งหลังจากถูกวิจารณ์ว่าใช้อิทธิพลนำเพื่อนฝูงรวมถึงคนในครอบครัวมาปักหลักทำงานในบริษัท และยังมีข้อครหาในการนำอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองมาปล่อยเช่าให้กับบริษัทด้วย

    ผลจากการบริหารของ Adam Neumann ทำให้บริษัทมูลค่าตกลงก่อนการเข้าตลาดหุ้น จนท้ายที่สุดต้องมีการล้างบางผู้บริหารแทบทั้งหมด เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจให้กับนักลงทุน แต่ราคาหุ้นหลังจาก IPO ไม่ได้กลับเพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ

    ปัจจุบันราคาหุ้นของ WeWork ลดลงมาแล้วมากถึง 85% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงภาพรวมบริษัทที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

    นอกจากนี้ (อดีต) CEO อย่าง Sandeep Mathrani ที่ได้เข้ารับเผือกร้อนในการฟื้นฟูกิจการในปี 2020 ที่ผ่านมา ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีรักษาการ CEO เท่านั้น ยังไม่มีการหาหัวเรือใหญ่รายใหม่เข้ามาทดแทนแต่อย่างใด

    ]]>
    1440316
    กลยุทธ์ตึกออฟฟิศ “เฟรเซอร์ส” จัดสัดส่วน Core & Flex รับเทรนด์ “สำนักงาน” ยืดหยุ่นสูง https://positioningmag.com/1320981 Thu, 25 Feb 2021 12:51:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320981 “เฟรเซอร์ส” อสังหาฯ ในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดกลยุทธ์ใหม่จัดสัดส่วนออฟฟิศแบบ Core & Flex สำนักงานรูปแบบดั้งเดิมผสมผสานกับพื้นที่ออฟฟิศแบบส่วนกลาง รองรับเทรนด์อนาคตเมื่อบริษัทหลายแห่งต้องการความยืดหยุ่นสูง มีโคเวิร์กกิ้งสเปซรองรับการเพิ่มและลดทีมได้เร็ว 

    “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เป็นรูปแบบออฟฟิศที่อยู่ในไทยมาแล้วหลายปี ดีมานด์ในระยะแรกๆ อาจมาจากกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นหลัก แต่ปัจจุบันบรรษัทขนาดใหญ่ก็ต้องการออฟฟิศรูปแบบนี้แล้วเช่นกัน ทำให้แลนด์ลอร์ดเจ้าของอาคารสำนักงานต้องพิจารณากลยุทธ์การจัดสรรพื้นที่กันใหม่ให้ตอบสนองความต้องการลูกค้า

    รวมถึง “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย” เจ้าของตึกสำนักงาน 5 แห่ง พื้นที่รวม 209,000 ตร.ม. ได้แก่ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์, เอฟวายไอ เซ็นเตอร์, อาคารโกลเด้นแลนด์, สาทรสแควร์ และ ปาร์คเวนเชอร์ (*สองตึกหลังอยู่ภายใต้กองรีท GVREIT) มีการปักหมุดกลยุทธ์ใหม่ซึ่งจะทยอยปรับเปลี่ยนภายใน 3 ปีข้างหน้า

    5 อาคารสำนักงานในพอร์ตของเฟรเซอร์สฯ คอมเมอร์เชียลฯ

    “วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์สฯ คอมเมอร์เชียลฯ เปิดเผยว่า กลยุทธ์ใหม่นี้คือการจัดสรรพื้นที่ Core & Flex ให้สมดุลกันในอาคารเดียว

    โดยพื้นที่แบบ Core คือ พื้นที่สำนักงานแบบดั้งเดิม ส่งมอบพื้นที่เปล่าให้ผู้เช่าตกแต่งเอง คิดราคาตามตร.ม. และมีระยะสัญญาเช่ายาวอย่างน้อย 3 ปี ส่วนพื้นที่ Flex คือ พื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกับบริษัทอื่น เช่น โคเวิร์กกิ้งสเปซ ห้องประชุมส่วนกลาง ซึ่งปกติจะคิดราคาตามจำนวนคนที่ใช้งาน และมีระยะสัญญาสั้นต่ำสุดคือ 1 เดือน

    ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติการจัดสำนักงานแบบ Core & Flex (Photo : เฟรเซอร์สฯ)

    เฟรเซอร์สฯ มองเทรนด์ของผู้เช่าทั่วโลกและในประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้สำนักงานแบบผสมผสานทั้ง Core และ Flex กำลังทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่เริ่มวางนโยบายสำนักงานแบบยืดหยุ่น คือมีทั้งพื้นที่ Core ไว้เป็นแกนหลัก สำหรับกิจกรรมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และมีพื้นที่ Flex ในกรณีที่จะขยายทีมเร็ว หรือมีการตั้งโครงการระยะสั้น โดยสัดส่วนต่างกันไปแล้วแต่นโยบาย เช่น แบ่งแบบ 50:50 หรือ 80:20

    เมื่อเป็นเช่นนี้ เฟรเซอร์สฯ ในฐานะเจ้าของอาคารจึงต้องจัดสรรพื้นที่ในอาคารให้มีโคเวิร์กกิ้งสเปซร่วมด้วย เพราะหากอนาคตลูกค้าต้องการลดพื้นที่ Core ไปเพิ่มส่วน Flex อาคารก็มีพื้นที่ไว้ตอบสนองทันที และอาจจะมีการทำโปรโมชันแพ็กเกจ เช่าทั้งพื้นที่ Core และ Flex กับเฟรเซอร์สฯ ได้ราคาที่ถูกลง

    “เรื่องการทำรายได้ของบริษัทจะยังเท่าเดิม แต่ประเด็นคือเราต้องเก็บรักษาลูกค้าไว้กับเราให้ได้” วิทวัสกล่าว

     

    เปิดกว้างเจรจาทุกแบรนด์ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ”

    ปัจจุบันในอาคารสำนักงาน 5 แห่งของเฟรเซอร์สฯ ที่มีการจัดสมดุลแล้วคือ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ แบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าแบบ Core 70% และพื้นที่ทำเป็นสำนักงานแบบ Flex 30% ซึ่งพื้นที่ Flex ในอาคารนี้ก็คือโคเวิร์กกิ้งสเปซ “JustCo” กับพื้นที่ห้องจัดประชุมสัมมนา Victor Club ซึ่งทั้งสองแบรนด์อยู่ในเครือเฟรเซอร์สฯ

    JustCo สามย่าน มิตรทาวน์ (Photo : FB@justcoglobal)

    วิทวัสกล่าวว่า อาคารสำนักงานอีก 4 แห่งจะทยอยปรับให้มีพื้นที่ Flex ในอาคารเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าไม่เกิน 30% โดยไม่ได้ปิดกั้นพันธมิตร ไม่จำเป็นต้องลงแบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็น JustCo สามารถพูดคุยกับแบรนด์อื่นได้ทุกเจ้า อย่างในอาคารสาทรสแควร์จะมี Regus เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซอยู่แล้ว แต่ต้องการจะให้มีเพิ่มขึ้นอีก

    ความเร็วในการปรับเปลี่ยนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการคืนพื้นที่ของลูกค้าที่เช่าอยู่ปัจจุบัน หากมีการคืนพื้นที่ไม่ต่อสัญญา บริษัทก็พร้อมจะปรับเป็นพื้นที่แบบ Flex ได้ตามกลยุทธ์

     

    ปี’63 ตลาดออฟฟิศสาหัส ลุ้นเศรษฐกิจฟื้น

    สำหรับภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานกรุงเทพฯ ปี 2563 วิทวัสระบุว่า ความต้องการเช่าพื้นที่ใหม่ลดลงถึง 50% จากปีก่อนหน้า โดยปี 2562 มีการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มมากกว่า 100,000 ตร.ม. แต่ปี 2563 ลดเหลือประมาณ 50,000 ตร.ม. เท่านั้น เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์และเศรษฐกิจตกต่ำ (อ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดออฟฟิศปี 2563-64 จากไนท์แฟรงค์ คลิกที่นี่)

    สืบเนื่องถึงปี 2564 ขณะนี้ผู้สนใจเช่าใหม่หลายรายก็ยังชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ทำให้ประเมินภาพตลอดปียาก เพราะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยกเว้นบางอุตสาหกรรมที่มาแรงสวนกระแส ได้แก่ ไอที อีคอมเมิร์ซ การเงิน และ สุขภาพ

    “วิทวัส คุตตะเทพ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย

    ด้านผู้เช่าเดิมนั้น วิทวัสกล่าวว่ามีบางส่วนที่ไม่ต่อสัญญาเช่าหรือลดขนาดองค์กรเพราะพิษเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่แล้วยังต่อสัญญาตามปกติ ทำให้อาคารสำนักงานในเครือมีอัตราการเช่าเฉลี่ย 90% และบริษัทตั้งเป้าปีนี้จะรักษาอัตราการเช่าคงเดิมให้ได้

    ในแง่ราคาเช่าออฟฟิศเฉลี่ยทั้งเครือเฟรเซอร์สอยู่ที่ 900 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ปีก่อนมีการลดราคาพิเศษระยะสั้น 5-10% ให้ผู้เช่าเพื่อบรรเทาภาระในช่วงล็อกดาวน์ แต่ปีนี้ปรับลดให้เฉพาะบางบริษัทที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนการต่อสัญญาใหม่ยังไม่มีการปรับราคาขึ้น แต่จะปรับลงหรือไม่นั้น บริษัทหวังว่าทั้งตลาดจะยังตรึงราคาไว้ ขึ้นอยู่กลไกดีมานด์-ซัพพลายของปีนี้

    อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตาคือ อาคารโกลเด้นแลนด์ ทำเลซอยมหาดเล็กหลวง 1 ของบริษัทซึ่งมีพื้นที่เช่าประมาณ 10,000 ตร.ม. กำลังจะหมดสัญญาเช่าระยะ 30 ปีในเดือนสิงหาคม 2565 โดยเจ้าของที่ดินคือ “สำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สินวชิราวุธวิทยาลัย” ไม่อนุมัติต่อสัญญา จึงเป็นไปได้ที่เฟรเซอร์สฯ จะมีการลงทุนเทกโอเวอร์หรือก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นมาเติมเต็มพอร์ตส่วนนี้

    ]]>
    1320981
    เจาะกลยุทธ์โคเวิร์กกิ้ง “จัสโค” คิดแบบ “ท้องถิ่น” ลงมือทำแบบ “สากล” https://positioningmag.com/1241285 Sun, 04 Aug 2019 01:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1241285 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประชากรกว่า 60% ของประชากรโลก มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ภาษา และเศรษฐกิจสังคม ดังนั้นการทำธุรกิจในแต่ละภูมิภาคจึงต้องมองความแตกต่างเชิงประชากรเป็นสำคัญ การใช้ “ไมตรีจิตแบบท้องถิ่น” ในธุรกิจจึงเป็นกุญแจสำคัญ ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคในแต่ละตลาด

    คง วัน ซิง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสโค โคเวิร์กกิ้ง จากสิงคโปร์ กล่าวว่าแนวคิดนี้ใช้ได้จริงกับธุรกิจในหลากหลายสาขา และที่ “จัสโค” ซึ่งผู้ให้บริการพื้นที่ทำงานแบบยืดหยุ่นในตลาดเอเชีย ได้สอดแทรกความเป็นท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ที่ถือเป็นหัวใจของ “ฮาร์ดแวร์” เข้าไปในโคเวิร์คกิ้งสเปซ

    ตั้งแต่การดีไซน์พื้นที่รวมไปถึงการตกแต่งสาขาทั้ง 35 แห่งใน 8 เมือง ครอบคลุมไปถึง “ซอฟต์แวร์” เพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานให้กับผู้ใช้บริการ ผ่านการจัดอีเวนต์และเวิร์คช็อปต่างๆ ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของจัสโคในแต่ละสาขาจึงมีเอกลักษณ์ของเมืองนั้นๆ

    คง วัน ซิง

    ดีไซน์ “ฮาร์ดแวร์” ที่แตกต่าง

    ทุกคนต้องใช้เวลาอยู่ “ที่ทำงาน” กว่าหนึ่งในสามของชีวิต ดังนั้นพื้นที่ทำงานควรจะเอื้อให้เกิดการทำงาน รู้สึกสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจ พื้นที่ของ “จัสโค” ที่เปรียบเป็นฮาร์ดแวร์ จึงเน้นสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานและการเดินทาง เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และสไตล์การตกแต่งที่แฝงเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง

    ตัวอย่าง สาขาของจัสโคในไต้หวัน ซึ่งเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปีนี้ ออกแบบหรือใช้วัสดุที่พบได้ในงานออกแบบสถาปนิกของไต้หวัน เช่น ไม้ไผ่ และเทคนิคความโค้งมนต่างๆ นอกจากนี้ยังนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่ง เพื่อสนับสนุนการยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกาะไต้หวัน

    ส่วนทั้ง 3 สาขาในอินโดนีเซีย มีองค์ประกอบในการตกแต่งพื้นที่ทำงานจากวัสดุธรรมชาติอย่างตะกร้าหวายและชิงช้าสาน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปจากงานหัตถกรรมพื้นบ้านของอินโดนีเซีย

    ในออสเตรเลีย ที่ผู้คนชอบดื่มกาแฟและการประชุมปรึกษาหารือ มักจะเกิดขึ้นในช่วงพักดื่มกาแฟ ดังนั้นสาขาทั้ง 4 แห่งของจัสโคในซิดนีย์และเมลเบิร์น จึงมีร้านกาแฟในพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง เพื่อเอาใจสมาชิกที่เป็นคอกาแฟในระหว่างทำงาน

    JustCo Sydney Australia

    “พื้นที่ส่วนกลาง” หัวใจสำคัญ โคเวิร์กกิ้ง 

    ในธุรกิจ โคเวิร์กกิ้งสเปซ “พื้นที่ส่วนกลาง” ถือเป็นหัวใจ โดย “จัสโค” ทุกสาขาจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไว้ถึง 30 – 40% เพื่อให้สมาชิกสามารถพักจากเรื่องงาน และมาพบปะติดต่อกับสมาชิกคนอื่นๆ หรือหามุมสงบ

    ในสิงคโปร์ สาขาของจัสโค จะมีพื้นที่สำหรับสันทนาการ ซึ่งรวมถึงมุมนอนพัก ห้องนั่งสมาธิ โต๊ะฟุตบอล มินิกอล์ฟ และมุมปาเป้า เพื่อความต้องการของสมาชิกที่หลากหลาย

    JustCo Marina Square

    นอกจากได้เปิดตัว “จัสโคแล็บ” ที่อาคารมารีน่าสแควร์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้าสายสตาร์ทอัพโดยออกแบบโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น ให้ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของจัสโค รวมไปถึงกิจกรรม แฮคกะธอน มาสเตอร์คลาส และโอกาสในการเข้าถึง mentors ที่กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จัก

    ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำแพงการแบ่งแยกตามภูมิศาสตร์ได้พังทลายลง “การคิดแบบท้องถิ่น” แต่ “ลงมือทำแบบสากล” ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน.

    ]]>
    1241285