การใช้จ่าย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Mon, 01 Nov 2021 22:40:16 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เทรนด์ Virtual Card มาเเรง กรุงศรี ส่ง ‘บัตร NOW’ จับใจคนรุ่นใหม่ กระตุ้นใช้จ่ายด้วย ‘เเคชเเบ็ก’ https://positioningmag.com/1359534 Mon, 01 Nov 2021 15:18:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1359534 ตลาดคนรุ่นใหม่ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล มีการใช้จ่ายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะสรรหาฟีเจอร์ต่างๆ มาตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้

ล่าสุดกับบัตรเครดิต Krungsri NOW’ บัตรดิจิทัลใบแรกจากเครือบัตรเครดิต กรุงศรี ที่ออกมาจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัย 21-35 ปี รายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 1.5-7 หมื่นบาทต่อเดือน เเละนิยมการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ

ความเคลื่อนไหวของกรุงศรีครั้งนี้ เป็นการปรับกลยุทธ์ครั้งสำคัญเพื่อหันมาเพิ่มสัดส่วนลูกค้า Millennials และ Gen Z ตามที่เห็นกันเเล้วว่าในช่วงหลังมานี้ว่ากรุงศรีมีการรีเเบรนด์บัตรต่างๆ ให้มีความทันสมัยเเละดูเด็กลงมากขึ้น

โดยหวังจะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ขึ้นเป็น 35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 25% ขณะที่ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี ยังเป็นกลุ่ม Gen X ที่ 45% เเละ Baby Boomer ที่ 27%

วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอลเป็นตัวเร่งให้เกิดการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิทัล ที่คุ้นชินกับความสะดวกสบายจากบริการออนไลน์ ทั้งช้อปปิ้ง สั่งอาหาร บริการสตรีมมิ่ง แม้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่บริการเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยม สมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าว

จากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต กรุงศรี (ณ เดือนกันยายน 64) พบว่า ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ในปีนี้เติบโตสูงขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

Virtual Card มาเเรง เมื่อคนไม่อยากพกบัตร

บัตรเครดิต กรุงศรี จึงทุ่มเงินกว่า 50 ล้านบาท เพื่อรุกขยายตลาดนี้ ผ่านการจับมือมาสเตอร์การ์ด เปิดตัวบัตร NOW” ซึ่งเป็น Virtual Credit Card ขึ้นมาตามเทรนด์ของผู้บริโภค โดยเชื่อมอยู่กับแอปพลิเคชัน UCHOOSE ที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบันถึง 6.5 ล้านบัตร

ผู้บริโภคทั้งในไทยและทั่วโลก เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมีมุมมองและความคาดหวังว่า มาตรฐานการบริการต่าง ๆ ควรจะเป็นดิจิทัลโดยอัตโนมัติ ผู้บริโภคแสวงหารูปแบบการชำระเงินใหม่ ๆ และต้องการประสบการณ์การใช้จ่ายแบบ Omnichannel ที่ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล

โดยข้อมูลจาก Mastercard New Payments Index 2021 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการชำระเงินและการซื้อขายผ่านทางออมนิแชนเนล พบว่า เกือบ 80% ของผู้บริโภคชาวไทย น่าจะใช้จ่ายด้วยเงินสดน้อยลงในปีหน้า อีกกว่า 59% บอกว่า จะหลีกเลี่ยงร้านค้าที่ไม่รับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ

คนรุ่นใหม่ชอบ Cash Back

จุดเด่นของ บัตรเครดิต Krungsri NOW จะเน้นให้สิทธิพิเศษตามพฤติกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยจากการศึกษากลุ่มลูกค้า พบว่า 72% อยากได้เงินคืนเข้าบัญชี หรือ Cash Back คืนไว คืนเยอะ เหล่านี้นำมาสู่แนวคิดบัตรเหนือ Norm ของคนยุค NOW” ดีไซน์ที่เรียบง่าย แฝงความสนุกของสีสัน สื่อถึงอิสระจากข้อจำกัด

โดยนำเสนอ Cash Back 5% สำหรับการใช้จ่ายออนไลน์ (ยกเว้นหมวดประกัน และหมวดท่องเที่ยว) ครอบคลุมทุกดิจิทัลไลฟ์สไตล์ แบบใช้ได้ทุกวัน โดยไม่ต้องรอดีลพิเศษ หรือวันพิเศษ และสามารถสะสมคะแนน 2 เท่าที่ร้านอาหารร่วมรายการ หรือรับพอยต์สะสม 1 พอยต์จากทุกการใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท พร้อมทางเลือกในการแบ่งชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน กับสินค้าและบริการที่ร่วมรายการ และไม่มีค่าธรรมเนียม

ตั้งเป้า 1 ปี ยอดสมัคร 3.6 หมื่นใบ

บริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปีหลังจากเปิดตัว ยอดสมัครบัตรเครดิต NOW จะมีมากกว่า 36,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาท และประเมินว่าจะเติบโต 10%ในปีต่อๆ ไป

“ในระยะยาว เราคาดว่าผลิตภัณฑ์บัตรใหม่นี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัท ด้วยการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง”

สำหรับกลยุทธ์การตลาดที่จะทำให้บัตรเครดิต NOW ทำยอดใช้จ่ายผ่านบัตรใหม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น ผู้บริหารบัตรเครดิต กรุงศรี ตอบว่า โดยพื้นฐานของฟีเจอร์ต่างๆ นั้นดึงดูดผู้ใช้คนรุ่นใหม่อยู่เเล้ว เเต่จะมีการทำการตลาดเพิ่มเติม เน้นไปที่ช่องทางสื่อสารออนไลน์ เเจกคูปองเเลกซื้อสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ เช่น จะมีการให้เล่นเกมสนุกๆ ผ่านเเอปฯ UCHOOSE ฯลฯ โดยผู้สมัครบัตรใหม่ ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564-31 ม.ค. 2565 จะรับเครดิตเงินคืนสูงสุดถึง 2,000 บาท

เเละเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่มากขึ้น บัตรเครดิต Krungsri NOW ได้ดึง กระทิง ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ นักแสดงรุ่นใหม่ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย โดยจะมีการสร้างการรับรู้เเละจดจำผ่านวิดีโอออนไลน์ที่นำเอาคาแร็กเตอร์ของ กระทิง มาสร้างเป็นแอนิเมชัน ถ่ายทอดเรื่องราวของบัตรเครดิต NOW รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องเต็มรูปแบบ

หวังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น ดันยอดใช้จ่ายโต 8%

โดยภาพรวมธุรกิจของบัตรเครดิต กรุงศรีในปีนี้ ประเมินว่า น่าจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา จากการเติบโตได้ดีในหลายหมวด เช่น ประกันภัย, ช้อปปิ้ง, ปั๊มน้ำมัน, เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงห้างสรรพสินค้า คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรรวม ตลอดปีนี้ที่ 180,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3% เทียบกับปีก่อน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีจะจบอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เติบโตราว 2-3% และมียอดบัตรใหม่อยู่ที่ 9 หมื่นใบ ซึ่งประเมินว่าสิ้นปีจะทำยอดได้ 1.4 แสนใบ ซึ่ง ‘ต่ำกว่าเป้าหมาย’ ที่วางไว้ หลังช่องทางการเข้าหาลูกค้าต่างๆ หยุดชะงักไปบ้างในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับต่ำที่ 1.17% ยังต่ำกว่าทั้งอุตสาหกรรมที่ 2.5-2.6%

“เเนวโน้มการใช้บัตรเครดิตนั้นขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว กำลังซื้อของประชาชนก็จะเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยการเปิดประเทศ ก็จะช่วยหนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น”

โดยภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2565 คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 7-8% เกี่ยวเนื่องกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าจะโตเฉลี่ยที่ 3-4%

ด้านเป้าหมายของบัตรใหม่ตั้งเป้าเติบโต 30% หรือราว 1.9 แสนใบเเละสิ้นปีหน้าฐานลูกค้าทั้งหมดจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.4 ล้านใบ จากยอดปีนี้ที่ 2.3 ล้านใบ

สำหรับการเเข่งขันในตลาดบัตรเครดิตในปีหน้า จะมีเเคมเปญดุเดือดในหมวดออนไลน์เเละการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศเเละต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยกรุงศรีก็เริ่มมีแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายใน 2 หมวดนี้ตั้งเเต่ช่วงปลายปีนี้ เเละมองว่าการพัฒนาระบบดิจิทัลของเเต่ละเเพลตฟอร์มจะมีการเเข่งขันกันมากขึ้น เพื่อดึงฐานลูกค้า

 

]]>
1359534
เปิดอินไซต์ พฤติกรรม ‘Contactless’ ของคนไทย ใช้จ่ายโดยไม่พึ่ง ‘เงินสด’ ได้นานถึง 8 วัน https://positioningmag.com/1324731 Thu, 25 Mar 2021 09:03:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1324731 วิกฤตโรคระบาด กระตุ้นให้ผู้คนปรับไลฟ์สไตล์เข้ากับดิจิทัลมากขึ้น หลายคนได้ทดลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดเเละมีทัศนคติในการชำระเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ผลสำรวจล่าสุดจากวีซ่า’ (VISA) ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society ได้ในปี 2026 หรือเพียง 4-5 ปี นับจากนี้ ถือว่าเร็วขึ้น’ จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลานานถึง 10 ปี หรือปี 2030

จากความเห็นของผู้บริโภคจำนวน 1,000 คน อายุระหว่าง 18-65 ปี รายได้ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน พบว่ากว่า 4 ใน 5 หรือประมาณ 82% ของกลุ่มตัวอย่างได้ทดลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด โดยเฉลี่ยคนไทยเห็นว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างไร้เงินสดได้นานถึง 8.1 วัน เพราะสามารถสั่งอาหารเเบบเดลิเวอรี่ รถเมล์เเละร้านสะดวกซื้อก็แตะบัตรจ่ายได้ 

เมื่อเจาะลึกลงไป เห็นได้ชัดว่าการมาของ COVID-19 มีผลต่อการใช้จ่ายอย่างมาก โดยสัดส่วนผู้ที่ใช้ชีวิตโดยไร้เงินสด 1 สัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 19% จากปีก่อนที่ 17% และเมื่อเพิ่มระยะเวลาเป็น 1 เดือนจะมีสัดส่วนที่ 4% จากปีก่อนหน้าที่ 3%

โดยมีคนไทยพกเงินสดน้อยลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 51% จากเดิมอยู่ที่ 30% เนื่องจากหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเห็นว่ามีความสะดวก ไม่ต้องต่อคิว เช็กความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ง่าย เเละที่สำคัญกว่า 61% มองว่าช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ด้วย


ไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของวีซ่า สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ระบุ

วีซ่าเป็นผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ ครอบคลุม 200 ประเทศทั่วโลก ที่มีฐานลูกค้า 3,500 ล้านบัญชี ทั้งบัตรเครดิต เดบิต และพรีเพด มีธนาคารพาณิชย์พันธมิตร 15,300 แห่ง ร้านค้า 70 ล้านร้านค้า จำนวนธุรกรรมกว่า 1 แสนล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่าย 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีจำนวนผู้ถือบัตรทั้งเครดิตเเละเดบิตกว่า 70-80 ล้านใบ และมีประชากรที่เข้าถึงบัญชีธนาคารสัดส่วนค่อนข้างสูงถึง 83% ทำให้สัดส่วนการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สูงตามไปด้วยที่ 72% และใช้เงินสดเพียง 28%

ปัจจัยที่สนับสนุนต่อ Cashless Society หลักๆ มาจากความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีเเละการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 78% มีสมาร์ทโฟน 134% และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก 79%

พร้อมๆ กับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระตุ้นการใช้ผ่านบริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อพร้อมเพย์ให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ผู้บริหารวีซ่า บอกว่า จุดเด่นการใช้จ่ายของคนไทย คือ ชื่นชอบการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากที่สุดถึง 94% ตามด้วยวิธีการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟน 92% และการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (Contactless) 89%

ส่วนในด้านของการใช้งานจริงนั้น 45% ของผู้ทำแบบสอบถามเลือกชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด ตามมาด้วยการสแกนชำระผ่านคิวอาร์โค้ด 42% และแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตร 41%

คนไทยคุ้นเคยกับการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด หรือโอนเงินเพื่อจ่าย มากกว่าในต่างประเทศที่นิยมแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตร เพราะคิดว่าการพกบัตรก็ไม่ได้ลำบากมากนัก ขณะเดียวกันช่วงอายุของลูกค้าก็มีผลต่อการเลือกใช้ โดยกลุ่มผู้ใหญ่ยังนิยมพกบัตร ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีก็จะถนัดจ่ายทางสมาร์ทโฟนมากกว่า

ส่วนในอนาคตนั้นมองว่า การชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน จะเข้ามาเเทนที่การใช้จ่ายผ่านบัตรในทึ่สุด เเต่ยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ โดยบัตรที่ทำจากพลาสติกจะยังคงมีต่อไปอีกสักระยะ เเต่จะค่อยๆ ลดลง ตามเจเนอเรชันที่เปลี่ยนไปของสังคม

Photo : Shutterstock

เตรียมบุก ‘เเตะเพื่อจ่าย’ ทางเรือ ส่วน MRT ยังต่อรอไปก่อน 

เหล่านี้ ทำให้กลยุทธ์ของวีซ่าในปี 2021 จะมุ่งไปที่การเพิ่มสัดส่วนธุรกรรมการจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลสเป็น 20% ของธุรกรรมทั้งหมด จากเดิมที่อยู่ราว 15% เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี จากก่อนหน้าที่มีแค่ 0.1% เท่านั้น

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนธุรกรรมนั้น มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนบัตรเดบิตเครดิตที่หมดอายุของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากบัตรรุ่นใหม่จะมีฟังก์ชันการใช้งานเเบบคอนแทคเลสได้ทันที รวมไปถึงความก้าวหน้าของเครื่องรับบัตร (EDC) ที่สามารถรับชำระได้ 4 in 1 ได้ โดยล่าสุดยอดการใช้ธุรกรรมการใช้ผ่านคอนแทคเลสในไทยมีมากกว่า 2 ล้านรายการต่อเดือน

นอกจากนี้ วีซ่าจะมีแคมเปญส่งเสริมการใช้จ่ายเเบบคอนแทคเลส โดยการร่วมมือกับพันธมิตรเช่น ผู้ให้บริการทางเรือและรถไฟฟ้าใต้ดิน เเละจับมือกับธุรกิจ e-Wallet รวมไปถึงการทำโปรเจกต์กับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะนำข้อมูล Big Data อย่างพฤติกรรมผู้บริโภค การใช้จ่ายต่างๆ มาพัฒนาร่วมกัน โดยจะเริ่มใน 2-3 เดือนนี้

บริการเเตะเพื่อจ่ายในบริการขนส่งทางเรือ คาดว่าจะได้เห็นในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ส่วนการเเตะเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ยังต้องรอการเจรจาจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐเเละเอกชน ซึ่งมีความพยายามจะทำมานานเเล้ว เเต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ว่าจะใช้ได้จริงเมื่อใด

โดยที่ผ่านมา หลังจากมีบริการเเตะเพื่อจ่ายบนรถเมล์ในไทยกว่า 3,000 คันนั้น พบว่ามีกระเเสตอบรับที่ดี เเต่เมื่อต้องเจอกับการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้การเดินทางต้องมีช่วงหยุดชะงักชั่วคราว ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน เเต่ก็หวังว่าประชาชนจะกลับมาใช้เพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเเละมีการกระจายวัคซีนทั่วถึง

เเม้จะมีปัจจัยหนุนมากมายที่จะทำให้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้นตามยุคสมัย เเต่ในอีกมุมเมื่อถามว่าอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง สุริพงษ์มองว่าคือปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตก็ยิ่งมีผลต่อการใช้จ่ายของผู้คนด้วย

 

 

]]>
1324731
ส่องอินไซต์ลูกค้า “บัตรกรุงศรี” กลยุทธ์นำ Data มา “ทำมาหากิน” ใช้ AI ทำการตลาดเเบบใหม่ https://positioningmag.com/1264867 Wed, 19 Feb 2020 07:36:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264867 ส่องอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้ “บัตรเครดิตกรุงศรี” กลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ที่ประกาศจะนำ Data มา “ทำมาหากิน” พัฒนา AI ทำการตลาดเเบบใหม่ ต่อยอด Face Payment สู้คู่เเข่งทั้งวงการธนาคารเเละ Non-Bank  พร้อมเเผนขยายธุรกิจตีอาเซียน ในช่วงตลาดไทย “อิ่มตัว” รวมถึงโครงการปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในไทย 

จากผลการดำเนินงานของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ของปี 2562 มีการขยับขึ้นเล็กน้อย เเละมีเเนวโน้มขยับขึ้นอีกในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สู้ดีนัก

สำหรับปีนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปีนี้เพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่เเล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เเละตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% พร้อมตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

“ตั้งเเต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เรายังไม่มีข่าวดีต่อเศรษฐกิจไทยเลย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์” ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าว

จากแนวโน้มนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์จึงวางเป้าอนุมัติบัญชีใหม่ลดลง 10% มาอยู่ที่ 8.9 แสนบัญชี ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน และผู้ที่มีภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 70% จะเป็นกลุ่มเเรกที่ถูกปฏิเสธคำขออนุมัติบัญชีใหม่ออกไปก่อน

“ขณะที่รูปแบบธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต ส่วนรายได้ก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของภาครัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังสูง”

อย่างไรก็ตาม เเม้ปีนี้ต้องเผชิญเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มภาระหนี้สูงกำลังซื้อลดลงเเละไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เเต่กรุงศรี คอนซูมเมอร์ก็ตั้งเป้าที่จะเติบโตต่อเนื่อง ด้วย 5 กลยุทธ์ Game Changer ทั้งเดินหน้าลงทุนในอาเซียน ใช้ข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตมาต่อยอดพัฒนา AI เเละ Face Payment รวมถึงปั้นสตาร์ทอัพของไทยให้ไปสู่ระดับยูนิคอร์น

เรามาเจาะพฤติกรรมผู้ใช้ “บัตรกรุงศรี” เเละเเอปพลิเคชั่น UCHOOSE พร้อมเเผนกลยุทธ์ในปี 2563 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ต้องสู้กับทั้งภาวะเศรษฐกิจ การเเพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมไปถึงต้องเเข่งขันกับคู่เเข่งใหม่จากกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) ที่กำลังลงทุนเรื่องสินเชื่อออนไลน์อย่างหนัก

ปรับโฉมใหม่ UCHOOSE

ตั้งเเต่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ลูกค้าจะได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น UCHOOSE เวอร์ชั่นใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ฟีเจอร์ U manage ที่ผู้ใช้สามารถล็อกไม่ให้ใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศหรือซื้อของออนไลน์ได้ ฟีเจอร์ U insure สามารถเปรียบเทียบประกันได้บนแอป เเละฟีเจอร์ U card เปิดบัญชีธนาคารกรุงศรี ผ่านแอปได้เลย เป็นต้น

บัตรเครดิตกรุงศรีมีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานแอปพลิเคชั่น UCHOOSE 4.8 ล้านราย เเบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 50 % เเละต่างจังหวัด 50 % เป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android ราว 61% เเละระบบ iOS ราว 39% โดยปีนี้ตั้งเป้าจะดึงผู้ใช้ UCHOOSE ใหม่ให้ได้ 6 ล้านราย

ในสัดส่วนผู้ใช้ตามวัยต่าง ๆ เเบ่งเป็นอายุ 31-40 ปีราว 36% อายุ 41-50 ปี 24 % อายุต่ำกว่า 30 ปี 24 % เเละอายุเกิน 50 ปี 16 %

ด้านโครงสร้างฐานลูกค้าเเยกตามช่วงรายได้ เเบ่งเป็น ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท 32% รายได้ 2-3 หมื่นบาท 23% รายได้ 3-5 หมื่นบาท 21% รายได้ 5 หมื่น – 1 เเสนบาท 15% เเละมากกว่า 1 เเสนบาท 10%

ขณะที่ 5 จังหวัดที่มีการอนุมัติบัตรเครดิตมากที่สุด ได้เเก่ 1) กรุงเทพฯ 2) ชลบุรี 3) นนทบุรี 4) สมุทรปราการ เเละ 5) ปทุมธานี

โดย 12 อันดับภาคธุรกิจที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกรุงศรีมากที่สุด ได้เเก่ 
อันดับ 1 : ประกันภัย 134,000 ล้านบาท
อันดับ 2 : ซูเปอร์มาร์เก็ต 82,000 ล้านบาท
อันดับ 3 : น้ำมัน 71,000 ล้านบาท
อันดับ 4 : บ้าน 60,000 ล้านบาท
อันดับ 5 : หมวดเดินทางท่องเที่ยว 58,000 ล้านบาท
อันดับ 6 : ห้างสรรพสินค้า 44,000 ล้านบาท
อันดับ 7 : แฟชั่น 39,000 ล้านบาท
อันดับ 8 : ร้านอาหาร 36,000 ล้านบาท
อันดับ 9 : แกดเจ็ตไอที 32,000 ล้านบาท
อันดับ 10 : โรงพยาบาล 31,000 ล้านบาท
อันดับ 11 : ออนไลน์ช้อปปิ้ง 24,000 ล้านบาท
อันดับ 12 : รถยนต์ 23,000 ล้านบาท

“เรายังเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเเละคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ต่างมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน” ฐากรระบุ

ส่วนพฤติกรรมการใช้งาน UCHOOSE จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงต้นเดือนเเละปลายเดือน ซึ่งเป็น “วันเงินเดือนออก” ส่วนเวลาที่ใช้บ่อยที่สุดคือช่วง 11.00 น. เเละ 16.00 น.

สำหรับฟีเจอร์ที่ผู้ใช้เเอปชอบมากที่สุดคือ E- Coupon Redeemed ที่มีคนแลกคูปองไปแล้ว 9 แสนคูปอง รวมถึงฟีเจอร์แลกแต้มที่มีการแลกแต้มไปแล้วกว่า 300 ล้านแต้ม

นอกจากนี้ยังมีการขอเพิ่มวงเงินชั่วคราว (Temp Line request) ถึง 1.3 ล้านครั้ง ส่วนอัตราหนี้เสียจากแคมเปญผ่อน 0% หมวดรถยนต์เเละเครื่องประดับยนต์ ยังมีมากที่สุด

ด้านตั๋วชมภาพยนตร์ก็มีการเเลกเเต้มไปแล้วกว่า 2 เเสนเเต้ม โดย Avengers: Endgame ได้รับการเเลกเเต้มมากที่สุดที่ 10,778 ที่นั่ง ตามมาด้วย Spider-Man: Far From Home 5,913 ที่นั่งเเละตุ๊ดซี่ส์แอนด์เดอะเฟค ที่ 5,495 ที่นั่ง

“สินค้าที่ซื้อ หนังที่ดู อาหารที่กิน ทำให้เรารู้จักลูกค้ามากขึ้น นำไปสู่การออกโปรโมชั่น การนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะมีการสุ่มโทรไปหาลูกค้า โดยที่พวกเขาไม่อยากได้บริการเหล่านั้นเเละก็จะรู้สึกรำคาญ จึงเป็นที่มาของหลักมาร์เก็ตติ้งใหม่ที่เราใช้อย่าง Right Offer to the Right Customer at the Right Time though the Right Channel

การตลาดเเบบใหม่ นำ Data มา “ทำมาหากิน” 

กลยุทธ์ต่อไปคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้บัตรเครดิตกรุงศรี ที่มีฐานลูกค้าราว 6 ล้านบัญชี มีวงเงินพร้อมใช้ราว 500,000 ล้านบาท ในปี 2562

“เราจะทำ Data Monetization เรียกง่ายๆ ว่าเราจะทำมาหากินกับข้อมูลที่เรามีอยู่ นี่คือข้อได้เปรียบของเราเพราะข้อมูลบัตรเครดิตจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลูกค้า เราจะรู้จากการใช้จ่ายได้ว่าพวกเขาเข้าโรงพยาบาลหรือเปล่า ชอบสินค้าเเนวไหน ออกกำลังกายที่ไหน สั่งอาหารออนไลน์อะไรบ้าง ”

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือใน “เเคมเปญการตลาด” ซึ่งกรุงศรี คอนซูมเมอร์ได้แคมเปญไปมากกว่า 6,000 แคมเปญในปีที่ผ่านมา จากนี้ไปรูปแบบการทำการตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยแคมเปญการตลาดจะถูกสร้างขึ้นมา แล้วนำ AI มาวิเคราะห์ว่าข้อเสนอถัดไปที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าคืออะไร ซึ่งผู้บริหารกรุงศรีบอกว่า ระบบใช้เวลาคิดแคมเปญที่เร็วที่สุดเพียง 3 วินาทีเท่านั้น เมื่อลูกค้าอะไรสักอย่างในเเอปแล้ว AI จะมีข้อเสนอให้ว่าอะไรเป็น Next Best Offer” 

ยกตัวอย่าง ในกรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าจองที่พัก AI ก็จะประมวลผลและส่งข้อเสนอประกันการเดินทางมาให้กับลูกค้าภายใน 3 วินาที นอกจากนี้ยังมีการโปรโมตผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ด้วย

ต่อยอด Face Payment

กลยุทธ์ที่สำคัญอีกอย่างของกรุงศรี คอนซูมเมอร์  คือการนำ ใช้ A.I. Manow (มะนาว) มายกระดับการให้บริการเป็น ผู้ช่วยส่วนตัว (personal assistance) ให้กับผู้ใช้ สามารถโทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อเสนอวงเงินเพิ่ม ช่วยจองตั๋วหนัง หรือเตือนการชำระเงินให้ลูกค้า รวมถึงจะพัฒนาให้จำเสียงลูกค้าได้

โดยปีที่ผ่านมา A.I. Manow ให้บริการลูกค้าผ่านระบบ Call Center ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ไปเเล้ว 1.3 ล้านครั้ง ช่วยลดระยะเวลาคุยลงได้ 60% เเละสามารถตอบคำถามลูกค้าได้เองโดยไม่ต้องโอนสายไปให้เจ้าหน้าที่ถึง 22% ซึ่งทางบริษัทกำลังวางเเผนจะนำ  A.I. Manow ไปใช้กับระบบ Call Center หลักของธนาคารกรุงศรีด้วย

ขณะเดียวกันยังต่อยอดเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า หรือ Face Payment ซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนาระบบ และจะเริ่มทดสอบได้ในไตรมาส 3 เเต่จะใช้จ่ายเงินได้เฉพาะกับพาร์ตเนอร์บางราย เช่น โฮมโปร ก่อน

ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ในอาเซียน

ในขณะที่ตลาดในเมืองไทยอิ่มตัวเเล้ว เเต่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นเหมือน “ขุมทรัพย์” กรุงศรี คอนซูมเมอร์ จึงกำลังการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่

ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูเมอร์ ได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในลาว (asset รวมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท) เเละและธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา (asset รวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท) โดยในไตรมาส 2/63 บริษัทจะเข้าไปขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อส่วนบุคคล ประกันชีวิต และบัตรเครดิตในประเทศฟิลิปปินส์ ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) นอกจากนี้กำลังศึกษาโอกาสในการขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา และอินโดนีเซีย

“เราตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จากตลาดต่างประเทศเป็นสัดส่วนราว 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่ถึง 5% เท่านั้น” 

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์

ปั้นสตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” ในไทย 

กรุงศรี เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ลงทุนกับโปรเจกต์ “ปั้นสตาร์ทอัพ” สัญชาติไทยให้เป็นระดับยูนิคอร์น (มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญขึ้นไป)

ฐากร เปิดเผยว่า เบื้องต้นวางงบไว้ที่ 20 ล้านบาท เพื่อคัดเลือก 8 ทีม (ทีมละ 3 คน) เฉลี่ยให้ทุนทีมละ 3 ล้านบาทในการพัฒนาโปรเจกต์ มีที่ปรึกษาเเละโค้ชคอยให้คำเเนะนำ ซึ่งจะให้โอกาสกับ “พนักงานของกรุงศรีฯ” สมัครมาก่อน ตอนนี้มียอดสมัครมาเเล้วถึง 600-700 คน ส่วนใหญ่เป็นไอเดียการทำแอปพลิเคชั่น

สำหรับโครงการนี้ จะเเบ่งเป็น 3 ช่วง คือ Pony ในระยะ 4 เดือนเเรก เป็นการนำเสนอไอเดีย ถ้าผ่านการตัดเลือกมา 8 ทีม จะเข้าช่วง Centaur ในระยะ 8-12 เดือนถัดมา เพื่อเริ่มพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจ มีการนำไปขายงานจริง

“หากสตาร์ทอัพรายไหนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นบริษัทได้ก็จะแยกออกมา มีเจ้าของไอเดียเป็นซีอีโอ ส่วนกรุงศรีเป็นผู้ถือหุ้น หรือถ้าโปรดักต์นั้นเกี่ยวข้องกับกรุงศรีก็สามารถตั้งเป็นเเผนกใหม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ “

นี่คือก้าวสำคัญของธุรกิจ “เเบงก์” ที่จะไม่ได้เป็นเพียงธนาคารอีกต่อไป ด้วยต้องก้าวทันเทคโนโลยี ต่อสู้คู่เเข่ง ตอบสนองผู้บริโภค รวมถึงสู้กับพิษเศรษฐกิจด้วย

อ่านเพิ่มเติม : กางเเผน 2563 “กรุงศรี” เจาะลูกค้าด้วยดิจิทัล จ่อหั่นเป้าสินเชื่อ พิษไวรัสฉุด GDP ไม่ถึง 2.5%

]]>
1264867
มองเศรษฐกิจรอบด้าน เปิดวิเคราะห์ SCB EIC ครัวเรือนไทยรายได้-ใช้จ่ายลดในรอบ 10 ปี หนี้สูง https://positioningmag.com/1261075 Fri, 17 Jan 2020 11:32:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1261075 EIC ปรับลด GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7% คาดส่งออกฟื้นเพียงแค่ 0.2% เงินบาทยังเเข็งค่าต่อ มองเจรจาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เฟส 2 มีแนวโน้มลงเอยค่อนข้างยาก การลงทุนภาคเอกชนในไทยยังชะลอตามกำลังซื้อ ภาครัฐจะประคับประคองเศรษฐกิจมากขึ้น คาดประมูล 5G กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนภาคครัวเรือนไทย รายได้-การใช้จ่ายลดลงครั้งเเรกในรอบ 10 ปี หนี้สูง การเงินเปราะบาง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ว่าจะเติบโตที่ 2.7% จากเดิมที่ 2.8% ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปี 2019 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ตามภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง
เเต่ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่กดดันผู้ส่งออกเเละการท่องเที่ยวไทยอยู่

“เงินบาทที่แข็งค่าสะสมกว่า 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่องจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย

รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน

“คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 41.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.7% เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 4.3%”

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า การส่งออกไทยในปีนี้ จะเป็นบวกได้เล็กน้อยที่ 0.2% (ปีก่อนติดลบที่ -3.3%) เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เเละสหรัฐฯ และจีนสามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ในเฟสแรก ทำให้คลายความกังวลเรื่องสงครามการค้าลงไปได้ แต่การส่งออกที่แม้จะฟื้นตัว เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดจากเงินบาทที่ยังแข็งค่าในปีนี้

มองเศรษฐกิจโลก

ประเด็นสงครามการค้า มองว่าการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน เฟส 1 ที่จะนำไปสู่การยกเลิกและลดภาษีสินค้านำเข้าบางส่วนที่ขึ้นไปก่อนหน้า รวมถึงแนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่แม้จะบรรลุข้อตกลงระยะแรกได้ แต่ต้องติดตมการปฎิบัติตามข้อตกลง รวมทั้งยังมีข้อขัดแย้งพื้นฐานในหลายมิติที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเสี่ยงที่จะกลับมาปะทุได้อีก

EIC คาดว่าภายในปี 2020 ข้อตกลงจะบรรลุได้เพียงเฟส เพราะการเจรจา เฟส 2 มีแนวโน้มลงเอยค่อนข้างยาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนในประเด็นโครงสร้าง เศรษฐกิจเชิงลึกของจีนที่ต่างกัน เช่น 1) นโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2) นโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ และ 3) เงื่อนไขการยกเลิกภาษีในช่วงก่อนหน้า

โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะส่งสัญญาณดีขึ้นจากกการส่งออกและดัชนี PMI ภาคการผลิตที่เริ่มพ้นจุดต่ำสุดในหลายประเทศ จากอานิสงส์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า

ขณะที่ผลสำรวจความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในอีก 12 เดือนข้างหน้าของ McKinsey ที่สอบถามผู้บริหารทั่วโลก 1,881 ราย เห็นว่าความเสี่ยงที่น่าจับตามองที่สุดคือ

อันดับ 1 ความตึงเครียดทางการค้า 65%
อันดับ 2 ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ 54%
อันดับ 3 การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า 35%
อันดับ 4 การประท้วง 20%
อันดับ 5 การเปลี่ยนผ่านผู้นำทางการเมือง 17%

ด้านเศรษฐกิจจีน ในปีนี้คาดว่าโตต่ำกว่า 6% ซึ่งโตต่ำสุดตั้งแต่ปี 1990 จากปัจจัยนโยบายในประเทศเเละสงครามการค้า ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets : EM) อย่างลาตินอเมริกา แอฟริกา จะเติบโตได้ดี

ในภาพรวม สัดส่วนการค้าโลกที่เผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีการใช้มาตรการทางการค้าสำหรับคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ สินค้าไทยที่โดนตัดสิทธิ GSP คิดเป็น 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สุขภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหาร และเครื่องประดับ

ความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน หากรุนเเรงเเละขยายวงกว้างมากขึ้นอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ผ่านช่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การผันผวนในตลาดเงิน และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่จะปรับแย่ลง

“ในปี 2020 EIC คาดว่าน้ำมันเฉลี่ยจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน จากภาวะตลาดที่ค่อนข้างสมดุล แต่มีความเสี่ยงสูงจากประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน”

การเงินในไทย : ค่าเงินบาทเเข็งค่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำตลอดปี

ค่าเงินบาท

มีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ ตามแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังจะเกินดุลในระดับสูง

“เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในปีนี้ ด้วยแรงกดดันต่อเนื่อง อีกทั้งไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ประกอบกับเมื่อเวลาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าเพราะความต้องการดอลลาร์ลดลงนอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเงินของทุนไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นด้วย” ยรรยงระบุ

เงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว

อัตราดอกเบี้ย 

SCBEIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดย กนง.มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตลอดทั้งปี 2563 และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด

“เชื่อว่าธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันน่าจะต่ำเพียงพอแล้ว หากลดดอกเบี้ยลงไปมากกว่านี้ อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินต่างๆ แต่ก็ยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลงได้ หากเศรษฐกิจแย่กว่าคาด”

ขณะที่ธนาคารกลางที่สำคัญของโลก อย่างธนาคากลางสหรัฐฯ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไว้ แต่ก็พร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้

 

อุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชน

มีแนวโน้มขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยแม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องตามหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่าต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว

ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป

“กรมอุตุฯ พยากรณ์ปริมาณฝนใน Q1 ลดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งภัยเเล้งปีนี้จะกระทบเกษตรภาคกลางมากที่สุด คาดการณ์ผลผลิตรายสินค้าในปี 2020 ว่าอ้อยจะ -16% เเละข้าวเปลือก -10% ” 

การลงทุนภาคเอกชน

นอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกาลังซื้อในประเทศแล้วอัตราการใช้กาลังการผลิต (CapU) ที่อยู่ในระดับต่ำและระดับสินค้าคงคลัง (inventory) ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
รวมถึงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในช่วงก่อนหน้าก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันภาคอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป

ภาครัฐจะมีบทบาทประคองเศรษฐกิจปี 2020 มากขึ้น

โดยจะมีส่วนในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน (Enabler) โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทางบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2019 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2020

“การประมูล 5G ในเดือนหน้าคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 93,000 ล้านบาท รวม 4 ปี น่าจะได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้” 

ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้

มี 3 ปัจจัยหลัก ได้เเก่

  • ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ
  • ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ
    การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว
    ของเศรษฐกิจโลก
  • ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ครัวเรือนไทย : รายได้ – การใช้จ่ายลดลงครั้งเเรกในรอบ 10 ปี หนี้สูง การเงินเปราะบาง

ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2017 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง

ทั้งนี้การลดลงของการใช้จ่ายยังอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด

ครัวเรือนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ (46.3% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือนในครึ่งแรกของปี 2019 หรือเพิ่มขึ้น2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% จากการที่หนี้ยังเติบโตสูงกว่ารายได้

ทั้งนี้สัดส่วนหนี้ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 และถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ต่างจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีการลดลง (deleverage) ในช่วงปี 2015 ถึงปี 2017 แล้วจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังจากนั้น

สาเหตุหลักเป็นเพราะในช่วงดังกล่าวสัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ขณะที่สัดส่วนของกำไรภาคธุรกิจ (ซึ่งส่วนมากน่าจะมาจากกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่) ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น

ครัวเรือนไทยก่อหนี้เพิ่มในด้านที่อยู่อาศัย การบริโภค และการเกษตร แต่ลดการก่อหนี้ธุรกิจนอกภาคเกษตรลง เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในด้านการก่อหนี้ในครึ่งแรกปี 2019 เทียบกับปี 2017 พบว่า

การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 135,312 บาท ต่อครัวเรือนในช่วงเเรกของปี 2019 หรือเพิ่มขึ้น 5.5% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก36.3% มาเป็น 37.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009

หนี้เพื่อการบริโภคเพิ่ม ในส่วนของหนี้เพื่อการบริโภค (รวมหนี้รถยนต์) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของครัวเรือนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือนในครึ่งแรกของปี 2019 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับหนี้เพื่อการบริโภคนี้ถือเป็นหนี้ที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
โดยเติบโตเฉลี่ย 7.0% ต่อปี ขณะที่หนี้ส่วนอื่น ๆ เติบโตเฉลี่ยเพียง 3.7% ต่อปี ทำให้หนี้เพื่อการบริโภค
มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30.8% ในปี 2009 มาเป็นที่ 38.4% ในปัจจุบัน (2019)

การก่อหนี้เพื่อทำกิจการเกษตร ยังคงเพิ่มขึ้น จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 มาอยู่ที่
51,574 บาทต่อครัวเรือนคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 4.7% ทั้ง ๆ ที่กำไรจากกิจการการเกษตรลดลงในช่วงเดียวกัน คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการก่อหนี้เพื่อ ประคับประคองธุรกิจและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในช่วงที่ต้องเผชิญปัจจัยลบ รวมถึงอาจมีผลส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจนอกภาคเกษตรลดลง จาก 30,120 บาทต่อครัวเรือนในปี 2017 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน คิดเป็นการลดลง -2.1% สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกำไรกิจการนอกภาคเกษตร

ทั้งนี้ หนี้ในส่วนนี้มีสัดส่วนมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเคยมีสัดส่วนสูงถึง 16.3% ในปี 2009 ลดลงมาเหลือเพียง 8.1% ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่จนวนครัวเรือนที่ทำกิจการ นอกภาคเกษตรลดลงจาก 30.5% ในปี 2009 มาอยู่ที่ 25.2% ในปัจจุบัน อีกทั้งในบรรดาครัวเรือนที่ทำธุรกิจนอกภาคเกษตร สัดส่วนครัวเรือนที่กู้ก็ลดน้อยลงเช่นกันจาก 14.2% ในปี 2009 มาอยู่ที่ 10.0% ในปัจจุบัน

ดาวน์โหลด Outlook ไตรมาส 1/2020 ฉบับเต็ม ได้ที่ : SCB EIC 

]]>
1261075