ซีรีส์วาย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 22 Mar 2022 06:07:55 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ความท้าทายของช่อง 3 กับการส่ง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ซีรีส์วายลงละครหลังข่าว https://positioningmag.com/1378419 Tue, 22 Mar 2022 05:47:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1378419 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ “ช่อง 3” กับการตัดสินใจส่งซีรีส์วายเรื่องใหม่อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ลงช่วงเวลาไพรม์ไทม์อย่างช่วงละครหลังข่าว วันศุกร์-อาทิตย์ ท่ามกลางกระแสตอบรับดราม่า หลายคนยังมองว่าไม่ควรส่งเสริมพฤติกรรมชายรักชายแก่เยาวชน ช่อง 3 ยืนยัน ละครเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว ไม่ได้มีแต่เรื่องความรักอย่างเดียว

ซีรีส์วายยังขายได้

ท่ามกลางพฤติกรรมคนไทยที่หลายคนมองว่าดูละครไทยน้อยลง แต่ยังมีอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ยังได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง ก็คือ “ซีรีส์วาย” หรือเป็นละครแนวๆ BL (Boys’ Love) คู่จิ้นชายรักชาย ละครแนวนี้เริ่มเป็นที่นิยมมา 2-3 ปีแล้ว ที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือจะเป็นเรื่องเพราะเราคู่กัน ส่งผลให้นักแสดงคู่จิ้น “ไบร์ท-วิน” ดังเป็นพลุแตก งานพรีเซ็นเตอร์จ่อคิวเพียบ

หลังจากนั้นหลายบรรดาสถานีโทรทัศน์ หรือค่ายละคร ผู้จัดต่างๆ ก็เริ่มเบนเข็มความสนใจมายังซีรีส์วายมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาของทุกวงการที่ต้องจับกระแสอะไรที่เป็นที่นิยม ความภาษาที่ว่าตีเหล็กต้องตีตอนร้อน โดยที่ค่ายใหญ่ๆ ต่างลงทุนซีรีส์วายกันหนักหน่วง หรือแม้แต่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเอง ก็ต้องดึงดูดด้วยซีรีส์วายด้วยเช่นกัน

นอกจากคู่จิ้นไบร์ท-วินแล้ว ซีรีส์วายยังแจ้งเเกิดคู่จิ้นอื่นๆ ทั้ง บิวกิ้น -พีพี, คริส–สิงโต, ออฟ–กัน, เต–นิว , มิว–กลัฟ, เดรก–แฟรงค์, หยิ่น–วอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย

ก่อนหน้านี้หลายคนจะคิดว่าซีรีส์วายมีคนดูเฉพาะกลุ่ม แต่ในช่วงหลังพบว่ามีความแมสมากขึ้น ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย วัยรุ่น วัยทำงาน ก็ดูซีรีส์วายกันมากขึ้น แต่ต้องบอกว่าผังรายการของซีรีส์วาย อาจจะไม่ได้อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์มากนัก เพราะด้วยเนื้อหาที่อาจจะมีความละเอียดอ่อนในสังคม มีเรื่องความรักของชาย-ชาย หลายช่องอาจจะจัดผังไปอยู่ในช่วงดึกๆ ไปเลย

ช่อง 3 จัดให้ วางซีรีส์วายลงละครหลังข่าว

กลายเป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อช่อง 3 ตัดสินใจที่จะส่งละคร “คุณหมีปาฏิหาริย์” หรือ The Miracle of Teddy Bear ลงผังในช่วงไพรม์ไทม์ละครหลังข่าววันศุกร์-อาทิตย์ เริ่มฉายวันที่ 27 มีนาคมนี้ เวลา 20.20 น. ถือว่าเป็นซีรีส์วายเรื่องแรกของช่อง 3 ที่ได้รับผังเวลาช่วงนี้

คุณหมีปาฏิหาริย์ เป็นบทประพันธ์ของ “ปราปต์” ที่มีกระแสแรงติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งตั้งแต่ยังเป็นนวนิยายในโลกออนไลน์ และยังถูกแปลไปหลายภาษา เช่น จีน ญี่ปุ่น จากนั้นช่อง 3 ได้หยิบนำมาทำเป็นซีรีส์

เรื่องราวของเรื่องจะเกี่ยวกับความรักโรแมนติกแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน และครอบครัว เป็นละคร BL (Boys’ Love) ที่มากกว่าละครสาย BL ทั่วไป เพราะเน้นในเรื่องราวที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว นำแสดงโดย อิน-สาริน รณเกียรติ และจ๊อบ-ธัชพล กู้วงศ์บัณฑิต กำกับการแสดง โดยป้าแจ๋ว ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ และเหมันต์ เชตมี จากค่าย ถนัดละคร

ก่อนหน้านี้ช่อง 3 ได้เลยชิมลางซีรีส์วายมาแล้วหลายเรื่อง เช่น Gen Y The Series วัยรุ่นวุ่น Y รัก เริ่มออกอากาศช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เวลา 22.50 น. หรืออย่างเรื่อง “นับสิบจะจูบ” ออกอากาศช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เวลา 22.50 น. และดูออนไลน์ Uncut Ver. ทาง WeTV เวลา 00.30 น. และอีกหลายๆ เรื่อง ได้แก่ ผมกับผีในห้อง, รักมันมหาศาล, แอบมองแอบจองรัก, ตัวร้ายเดอะซีรีส์

หลายคนมองว่าการที่ช่อง 3 นำละครเรื่อง คุณหมีปาฏิหาริย์ มาลงผังช่วงละครหลังข่าว เป็นการท้าทายอย่างมาก เพราะล่าสุดได้เจอกระแสดราม่าต่างๆ นานา ทั้งการส่งเสริมให้เด็กเป็น LGBT ส่งเสริมให้ชายรักชาย คอนเทนต์ไม่เหมาะสม กลัวเยาวชนเอาเยี่ยงอย่าง

แต่สำหรับแฟนๆ ซีรีส์วายมองว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ยังคงตั้งคำถามว่าทำไมซีรีส์วายต้องฉายๆ ดึกๆ ตลอด บอกว่ากลัวเยาวชนเลียนแบบ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่จะเลียนแบบกันง่ายๆ ขนาดนั้น

 

 

ทางช่อง 3 ได้ให้ความเห็นกับกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความรักอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว การที่พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก ส่งผลอย่างไรบ้าง การเลี้ยงดูต่างๆ มีผลต่อความคิดของลูก รวมไปถึงการดูแลลูกชายที่รักผู้ชายด้วยกันอย่างไร หวังให้สังคมเปิดใจมากขึ้น

 

ฉายคู่ขนาน Netflix

นอกจากการลงผังในช่วงละครหลังข่าวแล้ว ทางช่อง 3 ยังจัดเต็มด้วยการส่งละครเรื่องนี้เข้าฉายทาง Netflix แบบคู่ขนาน ด้วยโมเดล DOB (Date of Broadcast) โดยจะทำให้แฟนละครกว่า 25 ประเทศในเอเชียได้รับชมละครหลังจากที่ออกอากาศจบในประเทศไทยไม่ถึง 2 ชั่วโมง ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถติดตามได้ทางแพลตฟอร์ม U-Next

ซึ่งช่อง 3 หมายมั่นที่จะขยายฐานคนดูในภูมิภาคเอเชีย และตลาดต่างประเทศให้เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก เพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยต่อไป

โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาช่อง 3 ได้ร่วมมือกับ Netflix นำละครใหม่ของช่อง 3 ขึ้นสตรีมมิ่งไปแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ ให้รักพิพากษา (Dare to Love), ดวงตาที่ 3 (I See Dead People), เกมล่าทรชน (Game of Outlaws) และ Help Me คุณผีช่วยด้วย (Help Me! Oh My Ghost)

การที่ซีรีส์วายได้อยู่ในผังในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ เรียกได้ว่าเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดได้อย่างหนึ่ง เพราะผู้ชมคอนเทนต์ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป แต่มีความมหาชนมากๆ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการปลดล็อกให้ช่องอื่นๆ จัดผังให้ซีรีส์วายลงช่วงเวลาไพรม์ไทม์ด้วยเช่นกัน

]]>
1378419
เจาะลึกการสร้าง ‘Enjoyment Journey’ ในแบบ ‘LINE TV’ เพราะคอนเทนต์ไม่ใช่ดูแล้ว ‘จบ’ แต่ต้องดังมากกว่าเดิม https://positioningmag.com/1303654 Thu, 29 Oct 2020 12:49:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303654 เผลอแป๊บเดียว ‘LINE TV’ (ไลน์ ทีวี) หนึ่งในแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) ชื่อดังของไทยก็ให้บริการมาแล้วถึง 6 ปี ซึ่ง กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ก็ได้มาเปิดเผยถึงทิศทางอนาคตของธุรกิจ OTT และกลยุทธ์ใหม่ ๆ จากนี้ของ LINE TV

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย

3 ปียอดรับชม OTT จะเท่า TV

ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนชั่วโมงในการรับชมคอนเทนต์รวมกว่า 90,000 ชั่วโมง โดย 30% ดูผ่านออนไลน์ อีก 70% ผ่านทีวี แต่เพราะ COVID-19 ที่เป็นปัจจัยอัตราเร่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมารับชม OTT มากขึ้น อย่าง LINE TV เองมียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 43% และใช้เวลาดูนานขึ้นรวม 43% นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเป็นทางเลือกของผู้บริโภค อีกทั้งการรับชมไม่ได้จำกัดแค่บนสมาร์ทโฟน แต่สามารถรับชม OTT ผ่านจอทีวีได้ โดยปีนี้การรับชม LINE TV ผ่านทีวีเติบโตขึ้นถึง 55% ดังนั้นคาดว่าภายในปี 2567 จำนวนการรับชมคอนเทนต์ผ่าน OTT จะมีสัดส่วนเทียบเท่ากับการรับชมทีวี หรือ 50:50

“เมื่อก่อนคนอาจยังไม่ดูผ่านสมาร์ทโฟน เพราะข้อจำกัดเรื่องจอเล็ก ดูไม่ถนัด แต่ตอนนี้เขารับชมผ่านทีวีมากขึ้น ดังนั้น ต่อไปการรับชม OTT กับทีวีจะมีสัดส่วนเท่ากัน แต่อย่างประเทศจีนการรับชม OTT แซงทีวีไปแล้ว”

แน่นอนว่าอีกปัญหาที่ตามมาหากสัดส่วนการรับชมของ OTT เท่ากับหรือมากกว่าทีวีก็คือ ‘เม็ดเงินโฆษณา’ ที่ปัจจุบันแน่นอนว่าสัดส่วนเม็ดเงินที่ลงในอุตสาหกรรมทีวีจะยัง ‘มากกว่า’ ที่ลงกับแพลตฟอร์มอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ ‘กณพ’ เองก็ไม่กล้าที่จะตอบว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก

“คงประเมินได้ยากว่าเม็ดเงินโฆษณาของ OTT จะเท่ากับทีวีได้เมื่อไหร่ เพราะการย้ายเม็ดเงินโฆษณาน่าจะยังตามมาช้ากว่า เนื่องจากความคุ้นเคย การวัดผล และรูปแบบการขายโฆษณาที่วัดด้วยทีวีเรตติ้ง ดังนั้นการจะเปลี่ยนอาจจะช้านิดหนึ่ง ถ้าเทียบกับพฤติกรรมคนดู ยังไงคนก็เปลี่ยนเร็วกว่า”

การแข่งขันยังคง ‘ดุเดือด’

ไม่นานนี้มีข่าวลือว่า ‘Disney+’ กำลังสร้างทีมประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยกำลังจะมีผู้เล่นใหม่ใหญ่ระดับโลกเข้ามาทำตลาดอีกราย ขณะที่ปัจจุบันตลาด OTT ไทยมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท (รวมทั้งดูฟรีและ Subscription) โดยมีผู้เล่นทั้งระดับโลกและผู้เล่นโลคอลที่ทำตลาดอยู่ราว 10 ราย อาทิ Netflix, Viu, WeTV, Iqiyi, MonoMax, Doonee และอื่น ๆ อีกมาก แน่นอนว่าผู้เล่นระดับโลกยิ่งมีเงินทุนผลิตคอนเทนต์ ส่งผลให้ผู้เล่นรายเล็กจะยิ่งลำบาก

อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ไทยถือเป็นคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้ชมได้มากที่สุด แต่ด้วยจำนวนผู้ผลิตที่มีจำกัด ส่งผลให้คอนเทนต์ไทยมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นถึง 2 หลักต่อปี ทั้งนี้ LINE TV มีพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยกว่า 250 ราย

“ตอนนี้การแข่งขันสูง ดังนั้นผู้เล่นแต่ละรายจะต้องเริ่มหาจุดโฟกัสไม่ใช่หว่านดึงคอนเทนต์มาหมด ซึ่งหลายคนเริ่มเห็นทิศทางของตัวเองที่จะโฟกัสแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าอีก 2 ปีการแข่งขันจะคงที่ คือ มีทั้งคนที่หายไป และคนที่เห็นว่าทิศทางของเขาควรตอบโจทย์คนดูกลุ่มไหน”

เตรียมออก ‘วายแพ็กเกจ’ รับความแรงซีรีส์วาย

มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึง LINE TV ขณะที่ผู้ใช้กว่า 19 ล้านรายเคยรับชม ‘ซีรีส์วาย’ อย่างน้อย 1 ครั้ง นอกจากนี้ LINE TV ยังมีซีรีส์วายถึง 39 เรื่องมากที่สุดในไทย ส่งผลให้ LINE TV กลายเป็นจุดหมายของผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทนี้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามีชัดเจน ขณะที่แบรนด์เองก็เปิดใจการลงโฆษณากับซีรีส์วายมากขึ้นเพราะได้ผลชัดเจน ดังนั้น LINE TV มีแผนที่จะออก ‘วายแพ็กเกจ’ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเร็ว ๆ นี้

“ปีที่แล้วนักการตลาดที่จะลงการตลาดกับวายเขายังกังวล เพราะกลัวว่าจะเกิดภาพลบกับแบรนด์ แต่แค่ 1 ปีเราเห็นเทรนด์แล้วว่าเขาต้องไป ไม่เช่นนั้นจะตกรถไฟ เพราะด้วยจำนวนคนดูเยอะมากถึง 19 ล้านคน ดังนั้นนี่เป็นฐานที่ใหญ่มาก ประกอบกับผลศึกษาตัวล่าสุดที่ทำให้รู้ว่าซีรีส์วายไม่ใช่ข้อจำกัดในการลงโฆษณา”

อ่าน >>> เปิดคู่มือการใช้งาน ‘ซีรีส์วาย’ ที่แบรนด์ต้องรู้ หากอยากได้ใจ ‘สาววาย’ สายเปย์

 

‘As Seen On LINE TV’ เปิดขายของระหว่างชมซีรีส์ไปเลย

ปัจจุบันการรับชมคอนเทนต์มีรูปแบบที่เรียกว่า ‘Enjoyment Journey’ โดยการรับชมไม่ได้เกิดจากที่อยากกดดูคอนเทนต์ แต่ต้องมีการสร้างกระแสหรือสร้างความอยากดู ดังนั้นนี่เป็นเรื่องของ ‘อีโคซิสเต็มส์’ ที่จะทำให้คอนเทนต์เป็นมากกว่าการ ‘นั่งดู’ แต่ต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น สติกเกอร์และเสียงเรียกเข้าจากซีรีส์ที่ชอบ, การเปิด Open Chat ให้พูดคุยกันระหว่างการรับชม และล่าสุดกับฟีเจอร์ใหม่ ‘As Seen On LINE TV’ ที่เปิดให้แฟนซีรีส์สามารถซื้อสินค้าที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์ ผ่านไลน์ได้ทันที ซึ่งไม่ใช่แค่ตอบสนอง Enjoyment Journey แต่ยังเป็นการเป็นการต่อยอดช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์อีกด้วย

“ตลาด OTT กำลังโตขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ทำอย่างไรให้เราเป็นผู้ช่วยให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและช่วยขับเคลื่อนผู้ผลิตไทยสู่ดิจิทัล เพราะเราไม่ได้อยากให้ดูแล้วจบไป แต่คอนเทนต์มันต้องดังขึ้นเรื่อย ๆ”

]]>
1303654
เปิดเส้นทาง 11 ปี “นาดาวบางกอก” จากกำไร 26,000 บาท สู่โปรดักชั่นมือทองของ GDH https://positioningmag.com/1301319 Thu, 15 Oct 2020 17:15:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301319 เเม้ชื่อของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์” จะเป็นผู้กำกับชื่อดังที่เริ่มต้นได้สวยงาม จากหนังดังในตำนานอย่าง “แฟนฉัน” มาตั้งเเต่ปี 2546 เเต่เส้นทางการพลิกบทบาทสู่ผู้บริหาร ปลุกปั้น “นาดาวบางกอก” มากว่า 11 ปีนั้น ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก

จากผู้กำกับร่วมในเเฟนฉัน ลงสนามเป็นผู้กำกับเดี่ยวในภาพยนตร์เด็กหอ ตามมาด้วย 5 แพร่ง, ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และวัยรุ่นพันล้าน โกยความสำเร็จไปด้วยดี เเต่จากนั้นเขาตัดสินใจออกจาก Safe Zone ด้วยการมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ “นาดาวบางกอก” ซึ่ง ณ เวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทดูแลศิลปินในสังกัดของ GTH

ย้อนความหลัง : วันที่ “นาดาว” เกือบต้อง “ปิดบริษัท” 

ช่วง 3-4 ปีเเรกของนาดาว ลุ่มๆ ดอนๆ มาก ตอนนั้นจับทางไม่ได้ว่าการพัฒนาศิลปินเเล้วมาทำรายได้อย่างไร จนกระทั่งถึงตอนถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งตอนนั้นเกือบจะปิดกิจการบริษัทไปเเล้ว เพราะปีนั้นทำกำไรเเค่ 26,000 บาท

ย้งเล่าย้อนไปในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาของนาดาว ว่า ซีรีส์ “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ซีซัน 1 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ช่วย “กู้วิกฤต” ให้เขาไม่ต้องทำธุรกิจ “เจ๊ง” 

ช่วงเริ่มเเรก นาดาวบางกอก มีทีมงานเพียงแค่ 7-8 คนเท่านั้น โดยระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ฮอร์โมนส์ ซีซัน 1 นั้นถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ “คนทั้งออฟฟิศ” มาทำงานเดียว จนทำให้ไม่มีเวลาไปรับงานอื่น ไม่มีรายได้เข้ามา จึงทำให้ผลประกอบการของนาดาวในปีนั้นมีกำไรเพียงแค่ 26,000 บาท (เป็นตัวเลขที่พนักงานรุ่นเก่าจำได้ขึ้นใจ)

ตอนนั้นรู้สึกท้อ คิดว่ามันคงเป็นสิ่งที่เราทำไม่เป็นจริงๆ เเหละ…ทำใจเเล้ว ตอนฮอร์โมนส์ฯ ออกฉาย เราหา
สปอนเซอร์ได้เเค่เจ้าเดียว พอฉาย 2 ตอนเเรก กระเเสเริ่มมีบ้างประปราย ก็คิดว่าเราก็จะ “จบสวยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) พอฉายไปจนจบซีซัน กระเเสตอบรับดีเกินคาด ผู้ชมเเละสปอนเซอร์ถามหาเยอะ ตอนนั้นเเหละผมถึงมีความคิดว่าต้องไปต่อ ซึ่งซีซัน 2 ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทมีทุกวันนี้

จากซีรีส์ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น นาดาวบางกอก ขยับฝ่ายโปรดักชั่นไปต่อยอดทำออริจินัลคอนเทนต์ ให้กับ LINE TV เเละทำซีรีส์ที่เจาะตลาดคนทุกวัยอย่าง “เลือดข้นคนจาง” ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

ซีรีส์ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ซีซัน 1

รายได้ของ “นาดาว” มาจากอะไรบ้าง 

ปัจจุบันงานหลักๆ ของนาดาวบางกอก มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ ฝ่ายดูแลพัฒนาศิลปินนักแสดง ฝ่ายโปรดักชั่นผลิตซีรีส์คอนเทนต์ และค่ายเพลง Nadao Music

ด้วยความที่ธุรกิจของนาดาวขึ้นอยู่กับคนอื่นเยอะทั้งลูกค้าเเละสปอนเซอร์ พรีเซ็นเตอร์เเละอีเวนต์ต่างๆ จึงทำให้คาดการณ์รายได้ยากว่าในเเต่ละปีบริษัทจะโตเท่าไหร่ โดยรายได้ในปี 2019 อยู่ที่ราว 270 ล้านบาท

เเบ่งรายได้ของนาดาวง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ได้เเก่ ดูแลศิลปินและนักแสดง ราว 60% ส่วนอีก 40% มาจากการทำซีรีส์และคอนเทนต์ต่าง ๆ

ที่น่าสนใจคือกำไรที่ได้นั้นกลับสวนทางกัน โดยฝ่ายโปรดักชั่น เเม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า เเต่ทำกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายเเล้วได้ประมาณ 20-30% ขณะที่ส่วนดูเเลศิลปิน รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้จากค่าตัว มักจะถูกแบ่งให้กับศิลปินในสัดส่วนที่มากกว่า เเละเมื่อหักลบอะไรต่าง ๆ แล้ว จึงเหลือเป็นกำไรกลับมายังบริษัทเพียงแค่ประมาณ 8-15% ต่องานเท่านั้น

ช่วงที่จัดอีเวนต์ไม่ได้ หายไปเลยกว่า 2 เดือนที่ล็อกดาวน์นั้น กระทบงานส่วนดูเเลศิลปินโดยตรง เพราะรายได้ศิลปินทั้งหมดมาจากงานอีเวนต์ราว 20% พรีเซ็นเตอร์ 70% เเละออนไลน์ 10%”

ยัง เล่าลึกลงไปถึงการลงทุนในโปรดักชั่นว่า ซีรีส์ส่วนใหญ่ของนาดาว มีต้นทุนต่อตอนราว 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าละครในช่วง Prime-Time ของทีวีช่องใหญ่ทั่วไป ที่มักจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4-1.5 ล้านบาท

การจะให้ลดต้นทุนโปรดักชั่นเพื่อเพิ่มกำไร ไม่ใช่ทางของนาดาว มันเป็นเรื่องของการรักษาคุณภาพ รายละเอียดของงาน เพราะคนทำงานก็มาจากคนทำหนัง พอลงมาทำสเกลเล็กกว่าอย่างซีรีส์ ค่าตัวของทีมงานก็ยังเหมือนเดิม มีซีนเยอะขึ้นก็มีค่าตัดต่อเพิ่มอีก เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในเเต่ละปี จึงได้ชมซีรีส์จากนาดาวเพียง 1-2 เรื่อง

โดยตอนนี้รายได้ของนาดาวบางกอก มาจากในประเทศ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นรายได้ที่มาจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่มาจากจีนที่ซื้อซีรีส์ไปฉาย)

ความท้าทายของธุรกิจ “ดูเเลศิลปิน” 

ตอนนี้นาดาวบางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 36 คน การทำงานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่มีความคิดความอ่านเเตกต่างกันตามเจเนอเรชันนั้น “ไม่ใช่งานง่ายๆ”

ทรงยศ บอกว่า นโยบายของนาดาวยังคงเหมือนเดิม คือ การพัฒนาคนขึ้นมาให้เป็นนักเเสดงเเละศิลปินที่ดีพอให้คนข้างนอกมาจ้าง อยากทำงานกับพวกเขา ไม่ใช่วนเล่นหนังให้กับ GDH หรือนาดาว

ถ้าเห็นน้องคนไหนไปทำงานข้างนอกเยอะๆ ไม่ได้ทำนาดาวเลย นั่นคือนักเเสดงที่เราภูมิใจนะ เราพยายามส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ มีความสามารถเพียงพอที่จะเอาตัวรอด ทำงานกับผู้จัดข้างนอกได้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าภูมิใจในสิ่งที่เราทำมา เเละน้องๆ ก็ได้ออกไปทำในสิ่งที่อยากทำด้วย

“เเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เเผนการตลาดเเละสื่อสารองค์กรของนาดาวบางกอก เสริมว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่ศิลปินอยู่กับเราตั้งเเต่เด็กจนโต ทำให้เห็นความเปลี่ยนเเปลง พอเป็นวัยรุ่นก็ต้องใช้เหตุผลคุยกัน มุมหนึ่งก็คุยกันง่ายขึ้น เเต่อีกมุมเขาก็เริ่มมีทัศนคติ มีเเนวคิดของตนเอง

อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้ศิลปินยังอยู่กับนาดาว” ?

ย้งตอบว่าผมไม่เคยถามน้องๆ นะ เเต่เดาว่า คงเป็นการที่เราอยู่เเบบพี่น้อง การทำสัญญากับนาดาวไม่มีการผูกมัด ถ้าศิลปินรู้สึกว่าวันหนึ่งไม่อยากทำเเล้ว อยากยกเลิกสัญญา ก็ทำ เมื่อไหร่ก็ได้ เเต่ต้องมาคุยกันก่อน มีเหตุผลที่เข้าใจได้เเละไม่มีอะไรค้างคา ทำงานเเบบรับผิดชอบต่อกัน เรื่องการบริหารคนก็มีปัญหาหยุมหยิมไปหมด เเต่ต้องคุยกันให้เข้าใจ ให้รู้สึกสบายใจ

ย้ง ทรงยศเเละเเท๊ด-รดีนภิส โกสิยะจินา สองผู้บริหารของนาดาวบางกอก

ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เฟ้นหาเด็กมา “ปั้นเป็นดารา” อย่างไร มองจากอะไร ?

ผมว่ามันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เวลาเเคสติ้งนักเเสดงมาเล่นหนังก็เจาะจงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องรสนิยมส่วนตัว เเต่เด็กที่ทำให้เราสนใจได้ ต้องมีคาเเร็กเตอร์บุคลิกเฉพาะตัวของเขา เช่น เดินมาเเล้วพูดอะไรบางอย่าง เเล้วเราจำเด็กคนนี้ได้ ไม่ใช่เเค่เรื่องหน้าตาเท่านั้น เเต่ชวนมอง มองได้ไม่เบื่อ

นาดาวบางกอก มีการเสริมทักษะให้ศิลปินต่างๆ เริ่มจากการให้เรียนการเเสดงก่อนจากนั้นค่อยๆ ให้เข้าสู่โปรเจกต์ที่ไม่ยากเกินตัว เวลาส่งศิลปินไปเเคสติ้งงาน ก็อยากรู้ฟีดเเบ็กจากลูกค้าว่าทำไมเลือกศิลปินเรา เเละทำไมไม่เลือก เพื่อนำมาปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป

ความเป็นเด็กนาดาว ทำให้มีภาษีกว่าที่อื่นไหม ?

ถ้าเป็นช่วงหลังๆ ก็อาจจะมีบ้าง มีข้อได้เปรียบว่ารุ่นพี่สร้างภาพจำที่ดีว่าสังกัดนี้ตั้งใจ รับผิดชอบเเละมีทักษะการ
เเสดงที่โอเคระดับหนึ่ง เเต่สุดท้ายเเล้วก็ขึ้นอยู่กับเเต่ละบุคคลว่าตัวเขาเองทำได้ดีเเค่ไหน

Nadao Music กับความฝัน T-POP ระดับเอเชีย

ย้งเล่าว่า การทำค่ายเพลงของนาดาว เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เเต่เกิดจากการที่มีกลุ่มศิลปินที่มีความสามารถด้านการร้องเพลง โดยสมัยก่อนจะให้ไปเซ็นสัญญากับที่อื่น เเต่พอมาคิดดูเเล้ว คงถึงเวลาเเล้วที่นาดาวจะต้องจะทำเองเพื่อซัพพอร์ตความสามารถของศิลปิน

เมื่อพอคิดจะมียูนิตนี้ อย่างไรก็ต้องทำให้เป็นธุรกิจให้ได้ ด้วยความบังเอิญที่ตอนนั้นซีรีส์รักสุดใจนายฉุกเฉิน เเล้วทำเพลงประกอบ “รักติดไซเรนเกิดกระเเสฮอตฮิตขึ้นมา จึงเป็นการปูทางให้บริษัทได้เรียนรู้การทำตลาดจากเพลงจริงจัง โดยตอนนี้มีเบลสุพล นักร้องชื่อดัง มานั่งแท่นเป็นหัวเรือใหญ่

ล่าสุดมีศิลปินในสังกัด 6 คน คือ เจเลอร์ กฤษณภูมิ , ไอซ์ พาริส , กัปตัน ชลธร , บิวกิ้น พุฒิพงศ์ , แพรวา ณิชาภัทร เเละนาน่า ศวรรยา โดยมีเเผนจะเพิ่มศิลปินในอนาคต เเต่ขอโฟกัสที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีก่อน

ถ้าถามว่านาดาว บางกอกมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ต้องขอบคุณซีรีส์ฮอร์โมนส์ฯ ถ้าถามว่าเกิด Nadao Music ได้ยังไง ก็ต้องขอบคุณเพลงรักติดไซเรน

ความคืบหน้าของ Nadao Music นั้น ย้งบอกว่า เพิ่งเปิดตัวเป็นปีเเรก…ต้องสู้กันอีกยาวยังยากลำบากเเละผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วง เเต่ไปต่อเเน่นอน

ผู้บริหารนาดาว มองว่า เเม้ธุรกิจค่ายเพลงจะอยู่ในช่วงขาลง เเต่วงการนี้ยังมี “ลู่ทาง” ที่จะไปต่อได้ เช่น การขยายฐานตลาดเเฟนเพลงออกไปยังต่างประเทศแทน เริ่มจากประเทศในอาเซียน ที่ตอนนี้นาดาวมีฐานแฟนอยู่ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีน อยู่แล้ว ถ้าเราอยากทำเพลงดี ลงทุนสูง ตลาดในบ้านเรา อาจจะไม่พอ

โดยตั้งเป้าจะเจาะตลาดเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศที่ฝันอยากจะไปให้ถึงก็คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น  เพราะทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมด้านบันเทิงที่แข็งเเกร่งมาก

ถ้าถามว่าเป้าหมายอยากทำ T-POP ให้โด่งดังในระดับเอเชียไหม คำตอบคืออยากมาก เเต่จะสำเร็จไหมก็ต้องดูกันยาวๆ”

ซีรีส์วาย ต้อง “หลากหลาย” ถ้าอยากไปต่อ

นาดาวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าเเรกๆ ที่ลงสนามมาทำ “ซีรีส์วาย” จนตอนนี้กลายเป็นกระเเสฮิตติดลมบนไปเเล้ว

“เรากำลังทำความเข้าใจเเละเรียนรู้ตลาดซีรีส์วายอยู่ตลอด เเต่ไม่ได้มองว่าพอตลาดมันฮิตเเล้วค่อยลงไปทำ เเต่เราทำเพราะทีมงานเราอยากทำ มาเสนอโปรเจกต์ที่เห็นว่าเหมาะสมกับช่วงเวลาเเละพอจะขายได้ เช่น แปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็เป็นการต่อยอดการเเสดงของ #พีพีบิวกิ้น จากบทหมอเต่าทิวเขาในละครรักฉุดใจนายฉุกเฉิน”

ผู้บริหารนาดาว มองว่า ตลาดซีรีส์วาย ถือว่าเติบโตเร็วเเละใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เเม้ทุกวันนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม เเต่เป็นกลุ่มที่กว้างมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้ สิ่งที่เป็น Niche Market จะกลายเป็นตลาดเเมส ไม่มีอะไรที่เเมสจริงๆ เเล้ว ซีรีส์วายก็จะเป็น Niche ที่เเมสไปอีกเเบบหนึ่ง

ผมว่าซีรีส์วาย ถ้าอยากจะไปต่อ เราต้องทำคอนเทนต์ให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ เเละมีมาตรฐานชัดเจน

ซีรีส์วายเรื่องใหม่ของนาดาวบางกอก -แปลรักฉันด้วยใจเธอ

ศิลปินคอนเทนต์กับวิกฤต COVID-19

ทรงยศ กล่าวถึงการปรับตัวของนาดาวบางกอก ในสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 ให้ฟังว่า ตอนเเรกก็ตั้งตัวไม่ทัน ต้องเเก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเเทบทุกอย่าง เพราะตอนนั้นถึงเวลาเปิดกล้องถ่ายทำละครแปลรักฉันด้วยใจเธอเเต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ออกไปถ่ายทำไม่ได้ ต้องมีการประเมินสถานการณ์เเบบวีคต่อวีค

ส่วนมากต้องเจรจากับลูกค้า เพราะการเลื่อนถ่ายทำคือการเลื่อนฉาย เเต่จะเลื่อนไปได้ถึงไหน ตอนนั้นยังไม่รู้ เเต่หลังเราชนฝาได้เพียงสิ้นปี จะข้ามปีไม่ได้ ทั้งปัญหางบประมาณเเละคิวนักเเสดง จากใบเสนอราคาที่เคยเข้าบริษัทเดือนละ 30 ใบ ตอนนั้นเข้าเเค่ 6 ใบ” 

ส่วนธุรกิจดูเเลศิลปินนั้น ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะงานอีเวนต์ต่างๆ ที่บริษัทรับไว้ถูกยกเลิกเพราะสุ่มเสี่ยงเกินไป เหล่าสปอนเซอร์ที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ได้รับผลกระทบหมด เพราะขายของไม่ได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในงบที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนซีรีส์สักเรื่องมีทั้งเจ้าที่ยกเลิกเเละระงับโปรเจกต์ไปก่อน

ช่วง COVID-19 ดูเหมือนนาดาวจะเงียบๆ ไม่มีงาน เเต่งานหลักของเราคือการเเก้ปัญหาความวุ่นวายหลังบ้าน เช่น ลูกค้าที่ซื้อพรีเซ็นเตอร์ศิลปินเรา ถ่ายโฆษณาไม่ได้ ออกอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ทำอะไรทดเเทนได้บ้าง

เเบรนด์ต่างๆ ก็ปรับตัวเร็ว อย่างการเปลี่ยนให้ศิลปินไลฟ์เองจากที่บ้าน โพสต์รูปกักตัวอยู่บ้านในอินสตาเเกรมเเละทวิตเตอร์ รวมไปถึงให้ศิลปินช่วยไลฟ์ในเเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กระตุ้นขายของ ซึ่งต่อไปการจัดอีเวนต์หรือโปรโมตสินค้า ก็คงต้องเป็นรูปแบบผสมออฟไลน์ออนไลน์

ศิลปินก็ต้องปรับตัว ทำคอนเทนต์กึ่งๆ โฆษณาจากที่บ้านเอง เเต่งหน้าเองเพราะไม่มีกองถ่ายไปดูเเล พวกเขาต้องถ่ายเอง ลองผิดลองถูก มีการทำคอนเทนต์กักตัวเดอะซีรีส์ ทุกอย่างโปรโมตผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เข้าใจการใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ของศิลปินในยุค New Normal”

หลังคลายล็อกดาวน์ ทีมงานสามารถกลับมาทำงานโปรดักชั่นได้เต็มรูปแบบเเล้ว เดินหน้ากองละครต่อเนื่องได้ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคม ตอนนี้ก็ถือว่ากลับเข้าสู่โหมดปกติศิลปินเริ่มมีงานอีเวนต์เเละลูกค้าหลายๆ เจ้าก็พร้อมเตรียมลุยงานปีหน้าเเล้ว

ใจเราก็อยากโตทุกปี ไม่เคยมีเป้าตัวเลขชัดเจน ขอเเค่ไม่ต่ำกว่าเดิม ปีที่เเล้วเราจบที่ 270 ล้านบาท เเต่เมื่อเจอโรคระบาด ปีนี้ก็คงไม่โตเเน่นอน ต้องลุ้นกันว่าจะไปได้ถึงจุดไหนมากกว่า คาดว่าสินปีนาดาวคงทำรายได้ไม่เกินที่ 230 ล้าน

ผู้กำกับสู่ผู้บริหาร : มุมมองที่เปลี่ยนไป

จริงๆ ผมก็อยากกลับไปเป็นผู้กำกับนะ เเต่ก็ได้เรียนรู้จากการเป็นผู้บริหารเยอะมาก เรานิ่งขึ้น ได้ใช้สกิลหลายๆ อย่างไปจัดการงานในเชิงสร้างสรรค์

ไม่ได้ชอบงานบริหาร ไม่ได้อินขนาดนั้น เเต่ถามว่าสนุกไหม ก็สนุกมาก ตลอด 11 ปีที่ผ่านมามีช่วงเครียด มีปัญหารุมเร้า เเต่เพราะได้ทำงานที่เราชอบ กับคนที่เราอยากทำงานด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายเวลาต้องลงไปเเก้ปัญหา ด้วยความที่เราเป็นผู้กำกับก็ทำให้เห็นภาพรวม ก็เลยช่วยให้ทำงานบริหารได้

เเม้กลุ่มผู้ชมของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นมัธยมมหาลัยเเต่เวลาทำงานคอนเทนต์จะต้องมองให้ครบทุกเจเนอเรชัน ผลักดันให้ไปถึงทุกกลุ่ม อย่างเช่น ตอนทำละครเลือดข้นคนจางเเรกๆ จะดันศิลปิน 9by9 เเต่เราก็ต้องเล่าเรื่องให้คนเข้าถึงเยอะที่สุดเเต่ก่อนเราทำหนังทำซีรีส์มา เเม่เราไม่เคยได้ดูเลย เราก็เลยอยากทำเลือดข้นฯ ให้เเม่ดูบ้าง

โดยได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ชมในทุกช่องทาง เช่นการอ่านคอมเมนต์ใน “ทวิตเตอร์” ซึ่งเขามองว่าเป็นฟีดเเบ็กที่สดเเละจริง เพราะคนดูเเล้วรู้สึกอย่างไรก็ทวีตออกมาเลย

“ผมสนใจคำติมากกว่าคำชมด้วยซ้ำ เพราะเราจะได้รู้ทิศทางว่าควรพัฒนางานเราต่อไปยังไง” 

ในวันที่ “ย้ง-ทรงยศ” ขยับจากผู้กำกับมาเป็นผู้บริหาร เเละนาดาวประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เขาก็เริ่มภารกิจ
“ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่อย่าง พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับละคร ฉลาดเกมส์โกง เเละ บอสนฤเบศ กูโน ผู้กำกับ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน, Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ เเละแปลรักฉันด้วยใจเธอ

“การปั้นคนทำงานยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมาถึงวันที่นาดาวมีพนักงาน 50 คน จากจุดเริ่มต้น 7-8 คน ตอนนี้มองว่าการที่เราจะไปต่อได้ไกลๆ ยังไงก็ต้องสร้างคนทำงาน จะสร้างเเค่ศิลปินไม่ได้ นาดาวจะพยายามเดินไปในเส้นทางที่ทำงานในปริมาณที่เราทำได้ดี อยู่มือเเละควบคุมภาพได้ต่อไป

 

 

]]>
1301319
เปิดคู่มือการใช้งาน ‘ซีรีส์วาย’ ที่แบรนด์ต้องรู้ หากอยากได้ใจ ‘สาววาย’ สายเปย์ https://positioningmag.com/1301473 Wed, 14 Oct 2020 14:55:10 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301473 คงไม่ต้องอธิบายถึงกระแส ‘ซีรีส์วาย’ ในไทยว่าเติบโตแค่ไหน เพราะจะเห็นว่าค่ายต่าง ๆ พร้อมใจกันผลิตซีรีส์วายป้อนตลาดกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ธันเดอร์ ที่ประกาศชัดว่าจะเน้นผลิตซีรีส์วายให้เเพลตฟอร์ม OTT หรืออย่าง WeTV ก็ตั้งเป้าจะเสริมทัพวายซีรีส์ในปีนี้อีก 6-8 เรื่อง ขณะที่ LINE TV เองที่มีซีรีส์วายมากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง ก็เตรียมส่งซีรีส์วายชุดใหม่กว่า 10 เรื่องลงจอในครึ่งปีหลังนี้ ดังนั้น ถึงเวลาที่ ‘นักการตลาด’ จะต้องศึกษา Insight เหล่า Y-economic ว่าจะเป็นกำลังอย่างไรให้กับ ‘แบรนด์’ ได้บ้าง

ลำดับขั้น Boys Love

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE Insight ได้ทำการศึกษา Y-economic ในไทย โดยพบว่า 80% ของผู้ชมซีรีส์วายหรือ ‘Boys Love’ ในไทยรับชมผ่าน LINE TV หรือคิดเป็น 18.9 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 18-25 ปี รองลงมาเป็น 25-34 ปี และในจำนวนดังกล่าวสามารถแยกเหล่า Boys Love ได้เป็นลำดับขั้น ดังนี้

New Adopters : กลุ่มที่เพิ่งเข้ามาดูแค่เรื่องแรกเรื่องเดียวแล้วจบไป

Core watchers : กลุ่มที่เริ่มติดหลังจากรับชมเรื่องแรกไป และเริ่มมีการจับกลุ่มคุยกับเพื่อน ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีปริมาณใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

Fandom : กลุ่มที่ดูแล้วชอบมาก พร้อมกับมี Activity มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกลุ่มนี้น่าสนใจมาก เพราะพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ซีรีส์และนักแสดงที่เขารัก ‘ดัง’ ไม่ว่าจะการปั่นยอดวิวด้วยการเปิดทิ้งไว้, การซื้อสื่อ Out of Home เพื่อโปรโมตศิลปินให้เป็นที่รู้จัก, พร้อมตามไปสนับสนุนในงานอีเวนต์ และพร้อม ‘เปย์’ สินค้าที่ศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ เหล่า Fandom ยังมีอิทธิพลมากบนโซเชียลมีเดียด้วย

“เจอศิลปินยังไงก็ต้องให้ของนะ แม้เราไม่มีจะกิน นี่คือ Passion ของ Fandom”

ซีรีส์วายมีเยอะ แต่เลือกดูจากอะไร

เพราะตลาดซีรีส์วายที่มาแรงแบบไม่มีอะไรมาหยุด แน่นอนว่าเหล่าค่ายผู้ผลิตจึงสร้างซีรีส์วายออกมาเต็มไปหมด แต่ไม่ใช่ว่าเหล่า Boys Love จะดูทุกเรื่อง แต่มีปัจจัยในการเลือกชมดังนี้

1.Main Actor นักแสดงที่แสดงด้วยกันมีเคมีเข้ากันแค่ไหน

2.Story and Plot เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจหรือไม่

3.Producer / Trailer ความน่าสนใจของโปรดิวเซอร์และตัวอย่างของซีรีส์ที่ปล่อยออกมา

4.Novel เพราะ 80% ของซีรีส์สร้างมาจากนิยาย ดังนั้นเขาจะเลือกว่าเคยอ่านหรือไม่

“ส่วนใหญ่ New Adopters และ Core watchers จะรู้จักซีรีส์ผ่าน Social Media โดยคอนเทนต์จะถูกสร้างและช่วยสร้างจาก Fandom เพราะเมื่อเขาเลือกแล้วเขาจะช่วยโปรโมตให้”

ภาพลักษณ์และผลลัพธ์เมื่อแบรนด์ใช้ ‘ซีรีส์วาย’

เมื่อก่อนสปอนเซอร์จะเข้าซีรีส์วายยากมาก แต่ก็มีแบรนด์ที่กล้าจะลองทำตลาด ซึ่งภาพลักษณ์ที่ผู้ชมซีรีส์วายรู้สึกต่อแบรนด์คือ trendy, cheerful, new lifestyle, popular และ Brave แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แบรนด์ ‘Over Use Actor’ หรือบังคับให้ขายของจนเกินไป เหล่า ‘Fandom’ จะรู้สึกว่า ‘Fake’ ดังนั้น ถ้าจะทำตลาดกับเซ็กเมนต์นี้ต้องระวังส่วนนี้ให้ดี เพราะอย่าลืมว่า Fandom มีอิทธิพลด้าน Social Media

และเมื่อเทียบสินค้าที่มีคุณภาพเหมือนกัน ถ้าสินค้าหนึ่งมีวายแอคเตอร์เป็นพรีเซ็นเตอร์ กลุ่ม Boys Love จะตัดสินใจซื้อโดยทันที หรือถ้าใช้อีกแบรนด์หนึ่งอยู่ก็จะเปลี่ยนแบรนด์ทันที หรือถ้าไม่เคยก็พร้อมที่จะลอง

“ทุกคนตอบเหมือนกันหมด โดยไม่ต้องคิด คือ ใช่ – ซื้อ ไม่มีการคิด มีพาวเวอร์ขนาดนั้น”

ไทอิน ยังไงให้เวิร์ก

การไทอิน (tie-in) หรือการนำสินค้าเข้าไปในฉาก ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการใช้เยอะมากในซีรีส์วาย แต่การไทอินนั้นมีหลายแบบ แต่แบบที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จที่สุดคือ 1.Product Movement หรือมีการจับ ขยับ เคลื่อนไหวไปมา ต่อมา 2.Product Experience หรือมีการดื่ม กิน ใช้งาน และ 3.Special Scene หรือซีนพิเศษ แต่ Product Placement หรือวางสินค้าเฉย ๆ ไม่มีใครจำได้

อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีนั้นมีความเสี่ยง เพราะถ้ายัดเยียดมากไปจะทำให้เกิดภาพลบ ขณะที่ Special Scene ยังไม่เห็นผลใน แง่ลบ เพราะมันคือการเขียนบทใหม่ขึ้นมาจากสิ่งที่ Y-Watchers อยากดู เช่น ฉากที่กุ๊กกิ๊กกัน ซึ่งที่ไม่มีผลในแง่ลบเพราะแบรนด์ endorse ให้ Y-Watchers ได้ดู แต่ไม่มีให้ดูในเนื้อเรื่องหลัก

เมื่อดูจากพฤติกรรมจากพฤติกรรมและตัวเลขการเติบโต และไม่ใช่แค่ในไทยแต่เป็นกระแสของเอเชีย ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ต้องลอง เปิดรับ เอาซีรีส์วายมาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาด เพราะหากทำสำเร็จเหล่า Fandom ไม่ใช่แค่พร้อมเปย์และสนับสนุนทั้งศิลปินและแบรนด์ไปจนสุดทาง

]]>
1301473
อานิสงส์ล็อกดาวน์! ดัน JKN ขายคอนเทนต์มากขึ้น เตรียมอิมพอร์ตซีรีส์วาย-จีนเสริมทัพ https://positioningmag.com/1300078 Mon, 05 Oct 2020 17:00:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300078 ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังได้เห็นธุรกิจขายคอนเทนต์ไปได้สวย เพราะผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ถ่ายทำไม่ได้ จำเป็นต้องใช้คอนเทนต์สำเร็จรูป ดันยอด JKN เติบโต เตรียมขนซีรีส์จีน ซีรีส์วายเสริมทัพซีรีส์อินเดียที่เคยเป็นกระแสฟีเวอร์อยู่พักใหญ่

เพิ่มดีมานด์หาคอนเทนต์ ทีวีจะจอดำไม่ได้!

แม้ในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะกระทบหลากหลายธุรกิจ ในวงการทีวีดิจิทัลเองก็มีปัญหาซบเซามาสักพักใหญ่ เพราะเม็ดเงินโฆษณาลดลง ยิ่งมีไวรัสเข้ามายิ่งซ้ำเติมรายได้หนักเข้าไปอีก แต่ทางผู้ประกอบการเองก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะจะปล่อยให้จอดำไม่ได้เป็นอันขาด

แต่วิกฤตก็มีโอกาสให้เห็น เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ คนไทยอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การดูทีวี เสพคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็ต้องหาคอนเทนต์มาป้อนให้กับสถานีอยู่ตลอด เมื่อดีมานด์การดูคอนเทนต์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการต้องเจอคือไม่สามารถเปิดกองถ่ายได้ บางเจ้าต้องใช้มุกละครรีรัน เพื่อหล่อเลี้ยงเรตติ้งให้ไม่ตกลงมากกว่านี้

ทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดคือการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูปนั่นเอง จึงทำให้ JKN ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศยังสามารถเติบโตได้ เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการลูกหนี้ให้เหมาะสม

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เล่าว่า

“แนวโน้มอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์คอนเทนต์ หลังวิกฤติ COVID-19 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ต่างชะลอการผลิตคอนเทนต์แล้วหันมาซื้อลิขสิทธิ์สำเร็จรูปเพื่อนำไปออกอากาศแทนการผลิตรายการเอง จึงเป็นโอกาสทองของ JKN ในการทำตลาดเพื่อจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น จึงถือได้ว่าเป็นปีที่ดีของ JKN ในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด”

แอน จักรพงษ์ หรือสาวข้ามเพศสุดฮอตที่สุดในยุคนี้ ได้เสริมเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ธุรกิจขายคอนเทนต์ยังไปได้ดี เพราะหลังจากช่วงล็อกดาวน์คนอยู่บ้านมากขึ้น ดูทีวีมากขึ้น สถานีต้องเลือกที่จะซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป เพราะถ่ายทำรายการไม่ได้ และเปิดกองถ่ายไม่ได้

“ตอนนี้คนทำคอนเทนต์สำเร็จรูปรวยทุกคน เพราะสถานีไม่ผลิตเองได้ แค่สถานีในไทยจองคอนเทนต์มายอด 500 ล้านบาท ตอนนี้มียอดขายเกิน 2,000 ล้านแล้ว แต่ต้องสร้างสมดุลให้ดี ต้องมีวิธีเก็บเงินจากลูกค้า ข้อดีของการซื้อคอนเทนต์สำเร็จรูป ทางช่องไม่ต้องซื้อเองจากต่างประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ปิดสัญญา ถ้าซื้อกับเราพร้อมใช้งาน”  

ซีรีส์อินเดียยังไปได้สวย เสริมทัพซีรีส์จีน-ซีรีส์วาย

ในส่วนของตัวคอนเทนต์ JKN เคยสร้างปรากฏการณ์ “ซีรีส์อินเดีย” ฟีเวอร์มาแล้วเมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว JKN เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายใหญ่ ทำให้ทีวีดิจิทัลต่างซื้อคอนเทนต์ไปเติมสล็อตเพื่อจับกระแส บางช่องสามารถสร้างเรตติ้งสูงที่สุดอีกด้วย

จากซีรีส์อินเดียในวันนั้นจนถึงตอนนี้ ก็ถือว่ากระแสแผ่วลงไปจนอยู่ในสภาวะปกติ แต่ก็ยังมีบางช่องที่ยังมีฉายอยู่ราวๆ 4 ช่อง แต่มีการขยายไปยังต่างประเทศมากขึ้น

ธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงิน และบัญชี JKN บอกว่า

“ซีรีส์อินเดียในประเทศไทยแม้จะซาลง แต่ยังไปได้เรื่อยๆ ยังมีทีวีดิจิทัลซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายอยู่ เพียงแค่ไม่พีคในระดับนั้น จะไปเติบโตในต่างประเทศมากกว่า ทางเราได้เติมคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาเสริม จะมีซีรีส์จีน ซีรีส์วาย และฮอลลีวูด”

รูปแบบการเลือกคอนเทนต์ของ JKN จะเน้นซีรีส์เน้นแอคชั่น ดราม่า วัฒนธรรมของเอเชีย เพราะในตลาดต่างประเทศมีความเกี่ยวโยงกันด้านวัฒนธรรม ทำให้คอนเทนต์ขายได้ดี รวมถึงคอนเทนต์สารคดีก็มีมากขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน JKN มีปริมาณคอนเทนต์ในมือรวม 3,000 กว่าเรื่อง รวมเวลาทั้งหมด 20,000 ชั่วโมง ในปีนี้ได้ใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์ 1,500-1,800 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าปกติที่ลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น

โดยที่สัดส่วนรายได้ของ JKN อยู่ที่ขายคอนเทนต์ 90% และโปรดักชั่น 10%

ถ้าถามถึง “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเป็นที่นิยมในไทย จักรพงษ์บอกว่า เราต้องมีทุกรูปแบบ จะมีเอาเข้ามาอยู่แล้ว โดยจะมีเปิดผังครั้งใหญ่ และพันธมิตรในวันที่ 3 พ.ย. นี้

สำหรับในครึ่งปีหลัง JKN ยังรุกขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3 สามารถขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์อินเดีย และฟิลิปปินส์ ให้แก่ มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น รวมถึงทยอยส่งมอบคอนเทนต์ซีรีส์ละครไทยจากช่อง 3 ให้แก่ TV5 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดรายการฟรีทีวีช่องหลักของประเทศฟิลิปปินส์

ไตรมาสสุดท้ายมีการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมทั้งในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา บรูไน ไต้หวัน ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาณ

จากการขยายตลาดต่างประเทศจะช่วยให้ JKN มีการเติบโต 10-15% คาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งเป้าว่ามีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 50% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีอยู่ 30%

]]>
1300078
ฉากต่อไป “ทีวี ธันเดอร์” ยุคเจน 2 ต้องเด็กลง! ขอปรับภาพเกมโชว์ จับตลาด “ซีรีส์วาย” https://positioningmag.com/1297387 Thu, 17 Sep 2020 14:26:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297387 อานิสงส์คนอยู่บ้านเเละต้อง Work from Home ในช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ตลาดคอนเทนต์เติบโตขึ้นอย่างน่าจับตามอง

เมื่อผู้คนอยู่หน้าจอกันมากขึ้น เสพสื่อหลากหลาย ผ่านทั้งช่องทีวีดั้งเดิม แพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติ เเละโซเชียลมีเดีย การเเข่งขันของรายการทีวี วาไรตี้ เเละตลาดใหญ่อย่างซีรีส์ดุเดือดมากขึ้น ผลักดันให้เหล่าผู้ผลิตต้องคิดหาของใหม่เร่งทำผลงานให้เข้าตาเเละเข้าใจผู้ชมยุค New Normal

ที่ผ่านมา เราคงคุ้นเคยกับชื่อของทีวี ธันเดอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่คร่ำหวอดมายาวนานในวงการบันเทิงไทยเกือบ 3 ทศวรรษ มีรายการในตำนานอย่างมาสเตอร์คีย์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทั้งปัญหาเล็กใหญ่ ครั้งนี้ถึงกับยอมรับว่าการมาของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่หนักหนาที่สุด

ท่ามกลางความท้าทายนี้ทีวี ธันเดอร์มองทิศทางต่อไปที่จะปรับภาพลักษณ์จากผู้ผลิตรายการเกมโชว์ วาไรตี้ ละคร ส่งลงตามช่องทีวี หันไปเน้นผลิตซีรีส์ ป้อนให้ OTT มากขึ้น โดยเฉพาะตลาด “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเนื้อหอมพร้อมๆ กับการปั้นนักเเสดง ให้มีเเฟนคลับต่างชาติที่มีกำลังซื้อหนา อย่างจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย

จับกระเเสใหม่ ปั้น “ซีรีส์วาย” บุกเเพลตฟอร์ม OTT

ณฐกฤต วรรณภิญโญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจ เล่าให้ Positioning ฟังว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ทีวี ธันเดอร์รับรู้รายได้ Black log 150 ล้านบาท จากการผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มต่างๆ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการ “ผลิตซีรีส์”

เดิมทีภาพลักษณ์ของทีวี ธันเดอร์ จะถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทรายการโทรทัศน์ป้อนทีวีสถานีต่างๆ อย่าง ช่อง 3 , ช่อง 8 , PPTV , ไทยรัฐทีวีเเละ True4U เเต่เมื่อมีกระเเสความนิยมการดูวาไรตี้เเละซีรีส์ผ่านเเพลตฟอร์ม OTT ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็น “โอกาสทอง” ที่จะขยายไปเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้

โดยบริษัทเริ่มความสำคัญต่อช่องทาง OTT ตั้งแต่ 3 ปีก่อน เริ่มจาก AIS play และ LINE TV ปัจจุบันได้ขยายไปในหลายแพลตฟอร์มอย่าง WeTV, NetFlix, POPS และ Viu ยิ่งในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เร่งให้ OTT ในไทยเติบโตได้เร็วขึ้น “ผลงานของคนไทย” จึงเป็นที่ต้องการของตลาดนี้มากขึ้น

“ทีวีธันเดอร์เป็นเบอร์แรกๆ ที่กลุ่ม OTT ต่างชาติเข้ามาเจรจาพูดคุยให้ผลิตคอนเทนต์ให้ โดยเฉพาะประเภทซีรีส์” ณฐกฤต กล่าว

ณฐกฤต วรรณภิญโญ เเละ ภัทรภร วรรณภิญโญ สองผู้บริหารทีวี ธันเดอร์

ทีวี ธันเดอร์ จึงปรับรับด้วยการตั้งทีมงานใหม่ที่โฟกัสกลุ่มซีรีส์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเทรนด์ซีรีส์วายที่กำลังเติบโตดังนั้นในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า บริษัทจะเน้นผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ให้เเพลตฟอร์ม OTT เป็นหลัก เช่น Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งเป็นซีรีส์สายวายที่จะทำป้อนให้กับทาง WeTV

“เรามองว่ากลุ่มผู้ชมซีรีส์สายวายมีการเติบโตขึ้น ไม่จำกัดเเค่กลุ่มผู้หญิง เเต่มีกลุ่มผู้ชายเเละหลากหลายช่วงวัย ด้วยความที่ตลาดนี้เริ่มมีผู้เล่นเข้ามาเยอะ ผู้ผลิตหลายเจ้าหันมาจับกระเเสนี้ เราจึงพยายามจะทำคอนเทนต์ให้เเตกต่าง อาจจะทำเป็นซีรีส์วายที่ไม่เน้นความโรเเมนติกจ๋ามาก เเต่หันไปเน้นพล็อตเรื่องที่ซับซ้อน เป็นเรื่องราวการสืบสวน สอบสวน” 

ก่อนหน้านี้ ทีวี ธันเดอร์ เคยประสบความสำเร็จจากซีรีส์วายที่ฉายบน LINE TV อย่าง “Together With Me อกหักมารักกับผม” เกิดกระเเสคู่จิ้น “แม็กซ์-ตุลย์” หรือ แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ เเละตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย สองนักเเสดงนำที่ตอนนี้มีเเฟนคลับกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นเเนวทางให้ บริษัทบุกเเผน “ปั้นนักเเสดงหน้าใหม่” ออกมาอีกในช่วงต่อไป

“แม็กซ์-ตุลย์” จากซีรีส์ Together With Me อกหักมารักกับผม

“ภาพรวมของการลงทุนการผลิตคอนเทนต์จากนี้ไปจนถึงปีหน้า อาจจะต้องใช้มากขึ้นราว 20% ถือว่าเป็นปีที่กลับมาลงทุนสูงอีกครั้ง จากปกติที่มีการลงทุนราว 300 ล้านบาทต่อปี” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทีวี ธันเดอร์ ทำคอนเทนต์ป้อนเเพลตฟอร์ม OTT ในสัดส่วน 50% เท่าๆ กับช่องทางทีวี ซึ่งเเผนต่อไปจะขยายทำส่ง OTT มากขึ้น ตามความนิยมของตลาดคนดู

โดยล่าสุด บริษัทมีการผลิตคอนเทนต์ทั้งหมด 5 รายการ ซีรีส์เเละละคร 7 เรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น มาสเตอร์คีย์ , Take Me Out Thailand , ใครเบอร์หนึ่ง Who is No. 1 , Show Me The Money thailand ซีซั่น 2 , ละคร หลวงตามหาชน , ละคร คุณแจ๋วกะเพราไก่คุณชายไข่ดาว , ซีรีส์ เสน่หาสตอรี่ , ซีรีส์ Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย , Take Me Out Reality , ราคาพารวย the Price is Right Thailand เเละ Take Guy Out Thailand

ตลาดทีวีไทย วาไรตี้…ยังขายได้ 

เเม้ทิศทางของทีวี ธันเดอร์ จะมุ่งไปเน้นการทำซีรีส์ป้อน OTT เเต่ก็ยังย้ำว่า “จะไม่ทิ้งทีวี” เพราะมีฐานผู้ชมเหนียวเเน่นมายาวนาน รายการวาไรตี้เเละรายการบันเทิงในตลาดทีวีไทยก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องเเละเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้ากำลังเจรจากับทางช่องต่างๆ อยู่ คาดว่าจะมีออกมาอย่างน้อย 2 รายการ

โดยคอนเทนต์ฮีโร่ของทีวี ธันเดอร์ ได้เเก่ Take Me Out Thailand , Show Me The Money thailand เเละ ซีรีส์ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย

ณฐกฤต เล่าเกร็ดเล็กๆ ให้ฟังว่า ปกติเเลัวอายุของรายการทีวีที่มีกระเเสดีมากๆ จะอยู่ราว 3-4 ปี เพื่อไม่ให้คอนเทนต์ซ้ำเเละคนดูยังไม่เบื่อเกินไป เเต่ Take Me Out Thailand อยู่มาเเล้ว 7 ปีก็ถือว่ามาไกลกว่าที่คิดไว้มาก “อนาคตของ Take Me Out Thailand ก็คงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เเต่เราจะไปเน้นที่การรักษาคุณภาพ รักษาระดับที่เคยทำไว้ให้ดีเท่าเดิมมากกว่า” 

Photo : facebook /takemeoutthailand

เเม้ตลาดคอนเทนต์จะเติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก ผู้บริหารทีวี ธันเดอร์มองว่า สิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้อง ตามให้ทัน คือ “รสนิยมของผู้ชม” ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความหลากหลาย ทำให้ต้องทำการบ้านกันเยอะขึ้น อีกทั้งการทำคอนเทนต์ส่งลงช่องทางต่างๆ ก็จะทำการตลาดที่ไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนดูทีวี ส่วนใหญ่จะอายุ 35 ปีขึ้นไป ชอบดูอะไรที่คุ้นเคย เข้าใจง่าย ไม่ชอบดูอะไรที่ซับซ้อนมาก ส่วนกลุ่มผู้ชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT ส่วนใหญ่จะอายุต่ำกว่า 25 ปี ต้องการความเเปลกใหม่ ไม่ซ้ำซาก ไม่ยืดยาว มีความเปิดกว้างกว่า 

“ละครผ่านทีวีจะเน้นเป็นบทประพันธ์นักเขียนรุ่นเก่า เเต่ซีรีส์ผ่าน OTT จะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ทำผลงานโด่งดังในโลกโซเชียล ซึ่งทีวี ธันเดอร์ กำลังมองหาบทซีรีส์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งตอนนี้เราก็มีทีมงานคอยเสาะหานักเขียนใหม่ๆ บทใหม่ๆ ตามเเพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ตลอด” 

หารายได้จาก “โซเชียล” ฝ่าพิษ COVID-19 

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าปีนี้ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดของวงการนี้ โดยผู้บริหารรุ่นก่อตั้งอย่าง “ภัทรภร วรรณภิญโญ” ซีอีโอของทีวี ธันเดอร์ เปิดเผยว่า ตั้งเเต่เดือนมี.ค.ช่วงนั้นแทบไม่ได้ออกไปถ่ายทำรายการหรือซีรีส์ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ทำให้รายได้รวมในครึ่งปีนี้ติดลบ 20% เป็นปีแรก ขณะที่ตลาดรวมติดลบไป 30%

“คาดว่ารายได้ในปีนี้ไม่ได้โตไปกว่าปีก่อน และคิดว่าจะลดลงราว 10%” 

สัดส่วนรายได้ของบริษัท หลักๆ มาจากการรับจ้างผลิตคอนเทนต์ 60% โฆษณา 35% เเละอื่นๆ 5% โดยในส่วนอื่นๆ นี้ เเบ่งเป็นการจัดอีเวนต์ การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งให้เเบรนด์ต่างๆ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากช่องทางโซเชียลมีเดียของทั้งบริษัท

โดยทีวี ธันเดอร์ มีช่องทางออนไลน์ของตัวเองที่สามารถนำมาต่อยอดทำรายได้ เพื่อพยุงรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการพีอาร์นักเเสดง การรับเเอดโฆษณา รายได้ค่าวิดีโอจากเเพลตฟอร์ม อย่าง Youtube เเละ Facebook ซึ่งปัจจุบันช่องทาง Youtube มีตัวเลขผู้ติดตามอยู่ที่ 5.79 ล้านคน ทาง Facebook ของเพจ TV Thunder มีผู้ติดตาม 2.2 ล้านคน Twitter 4,600 คน ยอดผู้ติดตามใน Instagram 92,000 คน และเพจรายการ Take Me Out Thailand มีผู้ติดตามมากที่สุดในเครือที่ 7.8 ล้านคน

“เรามีการหารายได้อื่นๆ พยายามจะเป็น One Stop Service ทั้งผลิตคอนเทนต์ให้ โปรโมตทำมาร์เก็ตติ้งให้ได้ จัดอีเวนต์ได้ มีฐานโซเชียลที่เเข็งเเกร่ง” 

ภัทรภร ทิ้งทายว่า สิ่งที่ทำให้ทีวี ธันเดอร์ ยังอยู่ได้มาเกือบ 3 ทศวรรษ ผ่านมรสุมมามากมายทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง การปฎิวัติ น้ำท่วมใหญ่เเละตอนนี้คือ COVID-19 นั้นก็คือ “การปรับตัวอยู่เสมอ” การที่ตลาดคอนเทนต์โตในช่วงนี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เเละเชื่อว่าธุรกิจจะผ่านวิกฤตไปได้

]]> 1297387 ‘WeTV’ ร่วมวงจับตลาด ‘ซีรีส์วาย’ ผนึก 3 ค่ายใหญ่เปิดโปรเจกต์ ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’ https://positioningmag.com/1285271 Fri, 26 Jun 2020 07:56:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285271 อย่างที่รู้ ๆ กันว่ากระแส ‘ซีรีส์วาย’ กำลังมาแรงมาก ๆ ในปีนี้ เนื่องจากการที่มีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย ประกอบกับนิยายหรือการ์ตูนวายที่แพร่หลายมาในกลุ่มแฟนคลับนักอ่านที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ ไม่ใช่คอนเทนต์เฉพาะกลุ่มอย่างในอดีตอีกต่อไป

อ่าน >>> จับตากระแส ‘ซีรีส์วาย’ หลังจาก #คั่นกู ดังกระจาย โกยยอดวิวกว่า ‘480 ล้านวิว’

แน่นอนว่ากระแสที่มาแรงดังกล่าว ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่สามารถที่จะนั่งอยู่เฉย ๆ ดูคู่แข่งแย่งผู้ชมไปได้ อย่างเช่น ‘ไลน์ทีวี’ (LINETV) ก็เตรียมเข็น 3 ออริจินัลซีรีส์วายลงแพลตฟอร์มในครึ่งปีหลังเช่นกัน ดังนั้นมีหรือที่ ‘วีทีวี’ (WeTV) ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งของบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด จะอยู่เฉย เพราะด้วยจุดแข็งที่มีออริจินัลคอนเทนต์จากเทนเซ็นต์ พิคเจอร์ส ซึ่งหลายเรื่องก็โดนใจแฟนคลับสายวายชาวไทยไม่ใช่น้อย อย่างเช่น ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ก็ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งแฟนซีรีส์จีนกำลังภายในและสายวาย ดังนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่ปีนี้จะโหมบุกตลาดวายบ้าง

ล่าสุด WeTV ได้เปิดโปรเจกต์ ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’ โดยจับมือ 3 พันธมิตรผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ ‘จีเอ็มเอ็ม ทีวี’ ‘ทีวี ธันเดอร์’ และ ‘สตูดิโอ วาบิ ซาบิ’ ปั้นออริจินัล ซีรีส์วายไทย 3 เรื่อง ประกอบด้วย ‘เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น’ ที่จากนิยายชื่อดังบนโลกออนไลน์ ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ซีรีส์วายแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องแรกของไทย และ ‘เชือกป่าน’ เรื่องราวคู่ขนานของซีรีส์เรื่อง ‘ด้ายแดง’ ที่ประสบความสำเร็จในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยซีรีส์ทั้งสามเรื่องจะทยอยออกอากาศตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

“เราเห็นโอกาสการเติบโตของแพลตฟอร์มกับตลาดวาย จึงวางแผนเพิ่มไลน์อัพสร้างความแตกต่างในตลาด เสริมทัพทั้งส่วนที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์ไทยและเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ไทยและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าในปีนี้ 6-8 เรื่อง เล็งเจาะกลุ่มผู้หญิง อายุ 13 – 34 ปี รวมถึงการขยายไปยังกลุ่มผู้ชมใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเปิดรับคอนเทนต์วายมากขึ้น” คุณกนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager, WeTV Thailand (ผู้จัดการประจำประเทศไทย) บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager, WeTV Thailand (ผู้จัดการประจำประเทศไทย) บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ WeTV ตั้งเป้าขยายฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในสิ้นปี ดังนั้นไม่ใช่แค่ใช้คอนเทนต์เป็นตัวดึงดูดแล้วจะจบ แต่การสร้างคอมมูนิตี้และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างเอนเกจเมนต์ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ โดยที่ผ่านมา WeTV มีฟีเจอร์ Flying Comment ที่เปิดให้ผู้ชมได้แลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มแฟนซีรีส์ด้วยกันเอง โดยสามารถร่วมคอมเมนต์สด และเห็นคอมเมนต์ของตัวเองวิ่งบนหน้าจอซึ่งปัจจุบันมีการใช้ฟีเจอร์นี้มากกว่า 4 ล้านครั้ง และในครึ่งปีหลังนี้ WeTV ได้เตรียมจัดกิจกรรมบนออนไลน์ อาทิ Live Chat, Online Fan Meeting ให้กับแฟน ๆ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’ ในครั้งนี้อีกด้วย

ปัจจุบัน สัดส่วนคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของ WeTV แบ่งเป็นออริจินัลคอนเทนต์ 70% และเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ คิดเป็น 30% ของคอนเทนต์ทั้งหมด

อ่าน >>> ทุกคนรู้ แบรนด์รู้ ‘ซีรีส์วาย แมสแล้ว’ แต่จะใช้ทำ ‘Marketing’ อย่างไรให้ปังเหมือนซีรีส์

จากนี้คงต้องดูกันไปยาว ๆ ว่ากระเเส ‘ซีรีส์วาย’ จะไปได้ไกลเเค่ไหน จะแมสจริงหรือไม่ และจะมีผู้เล่นรายไหนเข้ามาจับตลาดนี้อีกบ้าง เพราะไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้เล่นในตลาดสตรีมมิ่งจำนวนมาก แต่ที่แน่ ๆ สิ่งนี้เป็นผลดีต่อผู้ผลิตคอนเทนต์แน่นอน เพราะอย่างน้อยก็การันตีถึง ‘เม็ดเงินลงทุน’ ที่มีเข้ามาหล่อเลี้ยงบริษัท

]]>
1285271
ทุกคนรู้ แบรนด์รู้ ‘ซีรีส์วาย แมสแล้ว’ แต่จะใช้ทำ ‘Marketing’ อย่างไรให้ปังเหมือนซีรีส์ https://positioningmag.com/1280685 Tue, 26 May 2020 10:48:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280685 ถ้าพูดถึงกระแสคอนเทนต์ที่มาแรงแซงหน้าทุกอย่างในตอนนี้คงหนีไม่พ้น ‘ซีรีส์วาย’ แม้จะดูเป็นกระแสใหม่ ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคอนเทนต์ประเภทนี้มีมาเป็นสิบปีแล้ว ส่วนกระแสคู่จิ้นก็ไม่ได้มีแค่ในซีรีส์ แต่เหล่าสาววายสามารถจับคู่มาจิ้นได้หมด อย่างสมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลีก็ถูกจับคู่มาจิ้นกันบ่อย ๆ แต่อะไรที่ทำให้กระแสถึงมาปังเอาตอนนี้ และแบรนด์เองจะใช้ประโยชน์จากกระแสนี้ได้อย่างไร คุณ กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย จะมาไขข้อข้องใจให้ฟัง

กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย

เติบโต 4 เท่าในปีเดียว

จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายในตอนแรกนั้นอาจมาจากคู่รองที่เป็นชาย-ชาย แต่ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมาความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น จากการที่มีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย ประกอบกับนิยายหรือการ์ตูนวายที่แพร่หลายมาในกลุ่มแฟนคลับนักอ่านทีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ หรือความนิยมกระแสหลักจนมาถึงทุกวันนี้

ในปี 2016 ยอดวิวของซีรีส์วายคิดเป็น 2% ของยอดวิวทั้งหมด แต่ในปี 2018 เติบโตเป็น 5% และปัจจุบันมียอดวิวถึง 20% จากจำนวนยอดวิว 6,000 ล้านวิว หรือเติบโตถึง 4 เท่า โดยปัจจุบัน LINE TV มีคอนเทนต์วายมากที่สุดในไทยถึง 33 เรื่อง โดย 29 เรื่องร่วมกับพาร์ตเนอร์ อีก 4 เรื่องออริจินอล

“แค่ซีรีส์วาย 3 เรื่อง ได้แก่ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, En of Love และ Why R U The Series ก็สามารถเพิ่มยอดการรับชมถึง 20% ยิ่งช่วงล็อกดาวน์เติบโต 45% มียอดวิวกว่า 350 ล้านวิว”

ฐานผู้ชมขยาย 365% แม้อายุ 65 ปีก็โดนตก

ความเข้าใจแรกของผู้ดูซีรีส์วายจะต้องเป็น LGBT แต่ความจริงแล้วกลุ่มผู้ชมหลักเป็นผู้หญิงอายุ 18-25 ปี รองลงมาเป็น 25-34 ปี แต่ในช่วงล็อกดาวน์นี้ ผู้ชมอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราเติบโตสูงสุด โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการรับชมผ่าน ‘จอทีวี’ ของวัยรุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ดูคอนเทนต์กับครอบครัว จากเดิมที่วัยรุ่นจะชมผ่านสมาร์ทโฟน

“เมื่อก่อนวัยรุ่นดู แต่จะดูผ่านมือถือ เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านรู้ แต่ตอนนี้คนอยู่บ้านมากขึ้น มีการรับชมผ่านทีวี ดังนั้นจึงเปลี่ยนจากดูคนเดียวเป็นดูกับครอบครัว เพราะเขาคิดว่ามันเปิดกว้างแล้ว และชวนผู้ใหญ่ดูและผู้ใหญ่ชอบ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่คอนเทนต์ที่ต้องแอบดู แต่เป็นกระแสหลักแล้ว”

ชอบดูวน ดูซ้ำ และชอบเปย์

อีกพฤติกรรมที่สำคัญ คือ การดูคอนเทนต์ไม่ใช่ดูจบแล้วจบ แต่เป็นการดูแล้วดูอีก ส่งผลให้การรับชมในวันธรรมดาเพิ่มขึ้น 32% และผู้ชมใช้เวลาดูในหมวดนี้มากขึ้น 34% เนื่องจากการดูแบบออนไลน์ทำให้มีเอ็นเกจเมนต์ มีการแชร์ ส่งผลให้สามารถดึงคนดูกลุ่มใหม่ ๆ ให้มารับชม ให้มาเข้าคอมมูนิตี้ ดังนั้นซีรีส์วายยังสามารถเติบโตได้อีกนาน

และด้วยอีโคซิสเต็มส์ที่ LINE TV มี จึงได้ต่อยอดซีรีส์สู่ ‘Line Sticker’ และ ‘LINE Melody’ ซึ่งยอดขายสติกเกอร์ของซีรีส์วายนั้น ขายดีกว่าค่าเฉลี่ย 10 เท่า โดยสามารถขึ้นอันดับ 1 ใน 15 นาที ส่วนยอดขาย LINE Melody ในหมวด Melody The Series ที่นำบทพูดตัวละครมาทำเป็นเสียงรอสายก็เติบโตถึง 400%

5 ปัจจัยดันให้ซีรีส์วายกลายเป็นกระแส

หากพิจารณาจากทุกองค์ประกอบที่กล่าวมาจะพบว่า ซีรีส์วายยอดฮิตเป็นปรากฏการณ์ในหลาย ๆ เรื่อง มีองค์ประกอบร่วมกันอยู่ประมาณ 5 ข้อ ได้แก่

1.นักแสดงหน้าตาดี มีเคมีที่เข้ากัน และการเซอร์วิสของนักแสดงที่เซอร์วิสให้เหล่าแฟนคลับ

2.บรรยากาศที่เข้าถึงผู้ชม บรรยากาศของซีรีส์ที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของผู้ชม โดยเฉพาะบรรยากาศของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

3.โครงเรื่องที่เติมเต็มจินตนาการของผู้หญิง

4.จุดกระแสด้วยออนไลน์ การสร้าง Virtual Community ถือเป็นตัวจุดกระแสและสร้างกระแสได้ดี เพราะแฟนคลับไม่ได้แค่ต้องการสนุกกับคอนเทนต์ แต่ต้องการมีส่วนร่วม เพราะดูคนเดียวเขาไม่สนุก แต่ต้องดูกับคอมมูนิตี้ มีการคอมเมนต์ มีการสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ ดังนั้นจะเห็นว่าแฮชแท็กจะขึ้นอันดับหนึ่งได้ง่าย ๆ

5.อย่าให้กระแสจบไปพร้อมคอนเทนต์ มีการทำกิจกรรมออนไลน์-ออฟไลน์ โดยเสริมความแข็งแรงด้วยกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งสามารถต่อยอดไปต่างประเทศได้ด้วย เช่น จัดการแฟนมีท เป็นต้น

“ด้วยอีโคซิสเต็มส์ LINE ที่จะสร้างประสบการณ์การเข้าชม โดยสามารถใช้ได้เพื่อส่งเสริมการตลาดให้การรับชมได้แบบ 360 องศามากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแคมเปญทั้งการไลฟ์กิจกรรมผ่าน LINE TV โดยการไลฟ์สดมีอัตราการเติบโตถึง 600% เมื่อเทียบกับการไลฟ์งานกิจกรรมอื่น ๆ มีเอ็นเกจเมนต์เพิ่มขึ้น 1,400%”

 

แบรนด์รู้ แต่ไม่กล้าใช้ทำ Marketing

จากพฤติกรรมและตัวเลขการเติบโต คงถึงเวลาที่นักการตลาดต้องเริ่มกลับมามองแล้วว่าจะจับเทรนด์ตรงนี้อย่างไร ต้องมาดูว่าสินค้าของแบรนด์สามารถเข้าไปอยู่ในคอนเทนต์ที่คนกลุ่มนี้ดูได้หรือเปล่า อย่างตอนนี้มีทั้งพวก FMCG เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลความงาม, ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ที่ลงมาทำตลาดแล้ว ขณะที่สินค้าประเภท Tech & Gadget ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสำหรับการลงโฆษณาในคอนเทนต์ประเภทนี้

แม้ปัจจุบัน ซีรีส์วายถือเป็น top 10 คอนเทนต์สร้างรายได้จากโฆษณาได้สูงสุดใน LINE TV แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เปิดรับ ยังมีลูกค้าที่ยังกังวล รู้ว่ามีกระแส แต่กลัวกระทบกับแบรนด์ ดังนั้น นี่คือ การบ้านของ LINE ที่จะต้องทำให้แบรนด์และเอเจนซี่เข้าใจว่า ซีรีส์วายในปัจจุบันภาพเป็นบวก นอกจากนี้ LINE TV ก็มีแผนจะเพิ่มคอนเทนต์วายให้มากขึ้น โดยปีนี้เตรียมปล่อยออริจินอลซีรีส์อีก 1 เรื่อง และมีการพูดคุยกับเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ในการนำคอนเทนต์วายในประเทศนั้น ๆ มาลงใน LINE TV

“ไลน์เองที่มีรายได้จาก Advertising base ดังนั้นการบ้าน คือ ทำอย่างไรให้เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดเข้าใจพฤติกรรมซีรีส์วายมากขึ้น ทำยังไงให้รู้ว่าซีรีส์วายเป็นกระแสบวก คนยอมรับ มีความรู้สึกเกี่ยวพัน มีรอยัลตี้กับคอนเทนต์ นักแสดง เนื้อเรื่อง และแบรนด์สินค้า เราต้องแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่จุดเล็ก ๆ แต่เป็นกระแสหลัก และเป็นภาพบวก”

]]>
1280685
จับตากระแส ‘ซีรีส์วาย’ หลังจาก #คั่นกู ดังกระจาย โกยยอดวิวกว่า ‘480 ล้านวิว’ https://positioningmag.com/1279930 Thu, 21 May 2020 11:45:37 +0000 https://positioningmag.com/?p=1279930 ในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวโซเชียลคงได้เห็นแฮชแท็ก #คั่นกู ผ่านตากันมาบ้างแน่ ๆ ยิ่ง #คั่นกูตอนจบ ที่มีการทวิตกว่า 4.8 ล้านทวิต ขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 ของโลกในเวลานั้นเลยทีเดียว แต่หลายคนคงจะสงสัย ว่าเจ้าแฮชแท็กนี้มันคืออะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมาจากคำผวนชื่อ ‘ซีรีส์วาย’ ยอดฮิต ‘เพราะเราคู่กัน’ (2 gether The Series) ที่มียอดวิวมียอดวิวรวม มากกว่า 480 ล้านวิว ทั้งไทยและต่างประเทศยันฝั่งยุโรปเลยทีเดียว ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า ซีรีส์วายยัง Niche อยู่ไหม หรือ Mass นานแล้ว

เมื่อก่อน Niche เดี๋ยวนี้ Mass

สำหรับคำว่า ‘วาย’ มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า ‘Yaoi’ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเรื่องรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (Boy’s love) โดยหนัง-ซีรีส์วายนั้นมีมาเป็น 10 ปีมาแล้ว เพียงแต่เดิมได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มยังไม่แพร่หลาย แต่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ความนิยมดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มวีดีโอคอนเทนต์เพิ่มขึ้นมากมาย

LINE TV ได้ให้ความเห็นเสริมว่า คอนเทนต์ประเภทสายวายชวนจิ้น ถือเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ดังนั้นผู้ผลิตที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงได้ผลิตซีรีส์วาย ประกอบมิติเชิงสังคมที่มีการเปิดกว้างและรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้คอนเทนต์ซีรีส์วายกลายเป็นอีกหนึ่ง ‘ความแมส’ หรือความนิยมกระแสหลักจนมาถึงทุกวันนี้ อย่างใน ‘LINE TV’ ซีรีส์วายถือเป็นกลุ่มคนดูที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่าง En of Love สามารถสร้างยอดชมเพิ่มสูงถึง 142%

ผู้ชมหลักไม่ใช่ LGBT แต่เป็น ผู้หญิง แถมยัง เปย์หนัก

จริง ๆ แล้ว LINE TV พบว่ากลุ่มผู้ชมแมส มีความหลากหลาย ทุกเพศทุกวัย แต่ที่มากที่สุดคือ ฐานผู้ชม เพศหญิงอายุ 18 – 25 ปี อย่าง En of Love สามารถขยายฐานไปถึงกลุ่มคนดูอายุ 65 ปีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นจะเห็นว่าซีรีส์วายมาพร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตอาจไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBT หรือสาววายเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ สาวกซีรีส์วายนั้นคล้าย ๆ เหล่า ‘โอตะ’ คือ ‘พร้อมเปย์’ มาก เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นคอมมูนิตี้ และพร้อมที่จะสนับสนุน ‘คู่จิ้น’ หรือ ‘ศิลปิน’ แถมยังมี Loyalty สูงมาก และถ้าหากดูจากอายุกลุ่มผู้ชมแล้วจะเห็นว่าเป็นนักเรียนนักศึกษา ดังนั้นยังไม่มีภาระอะไร จึงพร้อมเปย์แน่นอน

ถ้าปังก็ไปไกลหลายประเทศ เพราะ คอนเทนต์หายาก

แม้จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น กลุ่มผู้ชมก็กว้างขึ้น แต่คอนเทนต์ยังไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น โดยแต่ละค่ายสามารถผลิตได้อย่างน้อย 1-2 เรื่อง/ปี นอกนั้นเป็นซีรีส์ทั่วไป อย่าง LINE TV ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มที่รวมซีรีส์วายไว้มากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง ยังผลิตซีรีส์วายของตัวเองเพียงเรื่องเดียว คือ BKPP The Series

ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน กลุ่มคนที่สนใจก็จะติดตาม ดังนั้นจึงเห็นกระแสคนไทยที่ดูซีรีส์วายของต่างประเทศ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ดูคอนเทนต์ไทย ดังนั้นภาพรวมของซีรีส์วายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดนั้นค่อนข้างใหญ่ เพราะดังไกลข้ามประเทศ อย่างประเทศจีนเป็นอีกประเทศที่มีฐานผู้ชมซีรีส์วายใหญ่มากอย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีฐานแฟนคลับติดตามดาราคู่จิ้นจำนวนมาก และในแง่ของผู้ผลิต ประเทศไทยถือเป็นเบอร์ต้น ๆ ของภูมิภาค

จากนี้คงต้องจับตาว่ากระแสซีรีส์วายจะไปได้ไกลแค่ไหน ในเมื่อสังคมในปัจจุบันเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตละครไทยอาจจะมีตัวละคร ชายจิ้นชาย หรือ หญิงจิ้นหญิง ถูกใส่ไปเป็นเรื่องปกติเพื่อเรียกกระแสนิยมก็เป็นไปได้

]]>
1279930