ทิศทางเศรษฐกิจ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Sat, 29 Aug 2020 13:23:22 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 10 ประเทศที่ยังปลอด COVID-19 พวกเขาคือผู้ชนะท่ามกลางโรคระบาดหรือไม่? https://positioningmag.com/1294586 Sat, 29 Aug 2020 12:07:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1294586 COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ยกเว้น 10 ประเทศเหล่านี้ แต่พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้างในประเทศที่ “ปลอดเชื้อ” ไปฟังมุมมองที่ทั้งเหมือนและแตกต่างของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอย่าง ประเทศปาเลา หมู่เกาะมาร์แชล และวานูอาตู

The Palau เป็นโรงแรมที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1982 ก่อนที่ธุรกิจท่องเที่ยวของ ประเทศปาเลา จะได้รับความนิยม แต่ตั้งแต่นั้นมา ประเทศเล็กจิ๋วแต่แวดล้อมด้วยน้ำทะเลสีฟ้าใสของมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ ก็กลายเป็นจุดหมายยอดฮิตของนักเดินทาง

ในปี 2019 ประเทศปาเลามีนักท่องเที่ยวมาเยือนทั้งหมด 90,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรบนเกาะถึง 5 เท่า ข้อมูลจาก IMF ปี 2017 ยังพบว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของจีดีพีประเทศปาเลา

แต่นั่นคือภาพก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19 ขึ้น

ชายแดนประเทศปาเลาต้องปิดรับคนต่างชาติตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และกลายเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศของโลกที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโรคระบาด COVID-19 (นับเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิก UN และไม่นับประเทศเกาหลีเหนือกับเติร์กเมนิสถาน)

“10 ประเทศที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19”
  • ปาเลา
  • ไมโครนีเซีย
  • หมู่เกาะมาร์แชล
  • นาอูรู
  • คิริบาตี
  • หมู่เกาะโซโลมอน
  • ตูวาลู
  • ซามัว
  • วานูอาตู
  • ตองกา

เศรษฐกิจ “ปาเลา” กำลังนับถอยหลัง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว ไวรัสโคโรนาก็ยังทำลายประเทศนี้ในเชิงเศรษฐกิจ

โรงแรม The Palau ต้องปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม และไม่ใช่แค่โรงแรมนี้โรงแรมเดียวที่ต้องปิดชั่วคราว บรรดาร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ก็ต้องปิดเช่นกัน ส่วนแขกที่เข้าพักในโรงแรมก็เหลือแต่ประชาชนของปาเลาที่ใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัว

The Palau โรงแรมแห่งแรกของประเทศ กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต

“มหาสมุทรของที่นี่สวยกว่าที่อื่นในโลกมาก” ไบรอัน ลี ผู้จัดการและเจ้าของร่วมโรงแรม The Palau กล่าว ก่อนที่จะเกิดการระบาด โรงแรมขนาด 54 ห้องของเขามีอัตราเข้าพัก 70-80% แต่เมื่อประเทศถูกปิด เขาก็ไม่มีเบาะรองรับอื่นในการทำธุรกิจ

“ที่นี่เป็นประเทศเล็กๆ ดังนั้นคนท้องถิ่นจะไม่มาพักที่ The Palau หรอกครับ” ไบรอันกล่าว

เขามีพนักงานประมาณ 20 คนในโรงแรม และเขายังคงจ้างงานทุกคนแม้ว่าจะต้องลดชั่วโมงทำงานลง “ผมพยายามหางานให้พวกเขาทำ อย่างเช่นการซ่อมบำรุง รีโนเวต และอื่นๆ”

แต่โรงแรมที่ว่างเปล่าคงไม่สามารถรีโนเวตหรือซ่อมบำรุงอย่างเดียวไปตลอดกาลได้ “ผมอยู่อย่างนี้ได้อีกครึ่งปีเท่านั้น” ไบรอันกล่าว “หลังจากนั้นผมอาจจะต้องปิดโรงแรม”

หาดทรายขาวของปาเลา ประเทศทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ บัดนี้ร้างไร้ผู้คนเนื่องจาก COVID-19 (Photo : Shutterstock)

เขาไม่โทษรัฐบาลที่ทำให้เกิดสถานการณ์นี้ เพราะรัฐได้ให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกคน และสำคัญที่สุดก็คือ สามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในประเทศได้

“ผมคิดว่าพวกเขาทำได้ดีแล้ว” เขากล่าว แต่ถ้าโรงแรมแห่งนี้จะรอดจากสถานการณ์วิกฤตไปได้ ก็คงต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้

รัฐบาลปาเลาเพิ่งประกาศว่า เที่ยวบิน “ที่จำเป็น” จะสามารถบินเข้าออกประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ และมีข่าวลือว่ารัฐบาลกำลังหารือเปิด “ระเบียงทางอากาศ” กับไต้หวัน เพื่ออนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากไต้หวันเข้ามาท่องเที่ยว

สำหรับไบรอัน เขามองว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวควรเกิดขึ้นให้เร็วกว่านี้ “ผมคิดว่ารัฐต้องเริ่มเปิดประเทศอีกครั้งได้แล้ว อาจจะเริ่มจากมี Travel Bubble กับนิวซีแลนด์ หรือประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง” เขากล่าว “ไม่เช่นนั้น จะไม่มีใครรอดเลยในประเทศนี้”

 

ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยว การประมงก็ซบเซา

ห่างออกไปทางตะวันออกอีก 4,000 กิโลเมตร หมู่เกาะมาร์แชล ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่เพียงแต่ไร้ผู้ติดเชื้อเหมือนปาเลา แต่ยังเจอสถานการณ์เศรษฐกิจคล้ายๆ กัน

โรงแรม Robert Reimers ที่ตั้งอยู่บนหาดทะเลแหวก Majuro ฝั่งหนึ่งของโรงแรมเป็นสระน้ำใส อีกฝั่งหนึ่งคือมหาสมุทรก่อนเกิดโรคระบาด โรงแรมขนาด 37 ห้องนี้มีอัตราเข้าพัก 75-88% รับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จากทวีปเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อต้องปิดพรมแดนในช่วงต้นเดือนมีนาคม อัตราเข้าพักก็ร่วงลงเหลือ 3-5% เท่านั้น “เรามีนักท่องเที่ยวบ้างจากเกาะรอบนอก แต่ก็ไม่มากนัก” โซเฟีย ฟาวเลอร์ ผู้บริหารเครือโรงแรมนี้กล่าว

มหาสมุทรสีเขียวสดของหมู่เกาะมาร์แชล แหล่งดำน้ำ ตกปลา (Photo : hotelrobertreimers.com)

ในระดับประเทศ หมู่เกาะมาร์แชลคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานเพิ่ม 700 คนจากโรคระบาด เป็นวิกฤตตลาดงานที่หนักที่สุดนับจากครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ในจำนวนดังกล่าว 258 คนอยู่ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

สำหรับหมู่เกาะมาร์แชลนั้นพึ่งพิงนักท่องเที่ยวน้อยกว่าปาเลา ดังนั้นการปิดประเทศจะส่งผลมากกว่าแค่ธุรกิจท่องเที่ยว กลายเป็นว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยิ่งกว่าคืออุตสาหกรรมประมง

เนื่องจากรัฐต้องการทำให้ประเทศปลอดเชื้อ เรือลำใดที่เคยเดินทางไปยังประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจะถูกแบนห้ามกลับเข้าท่าหมู่เกาะมาร์แชล คำสั่งนี้รวมถึงเรือน้ำมันและเรือคอนเทนเนอร์ด้วย ทุกลำจะต้องลอยลำกลางทะเลไป 14 วันก่อนจะได้กลับเข้าเทียบท่า

หมู่เกาะมาร์แชลนั้นโดดเด่นมากใน ตลาดปลาสวยงาม โดยมีปลายอดนิยมคือ “ปลาเปลวไฟสินสมุทร” แต่เมื่อมีคำสั่งแบนเรือเมื่อจะกลับเข้าท่า ทำให้ยอดส่งออกปลาสวยงามตกลง 50% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มปลาทูน่าสำหรับทำปลาดิบ ยอดส่งออกตกลง 50% เช่นกัน ส่วนการประมงปลาประเภทอื่นๆ ตกลง 30%

โดยสรุปก็คือ ประเทศหนึ่งๆ อาจจะจำกัดไวรัสไม่ให้เข้าประเทศได้ แต่ถ้ายังเอาชนะไวรัสไม่ได้ ผลกระทบจาก COVID-19 จะส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

โซเฟียหวังว่าสิ่งต่างๆ จะกลับสู่วิถีชีวิตปกติภายในปีหน้า แต่ถ้าหากไม่เกิดขึ้นดังหวังล่ะ? “ถ้าเช่นนั้น ธุรกิจคงไม่คุ้มค่าการลงทุนสำหรับเรา” เธอกล่าว

 

ความปลอดภัยสำคัญกว่าเศรษฐกิจ

แม้ว่าการปิดชายแดนจะทำให้ประเทศยากจนลง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการให้กลับมาเปิดประเทศ

ดร.เลน ตาริวอนดา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขประเทศวานูอาตู ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 300,000 คน โดยเขามีพื้นเพเป็นชาวเกาะอัมเบทางเหนือของประเทศ “ถ้าคุณคุยกับคนที่อัมเบ คนส่วนใหญ่จะบอกว่าให้ปิดประเทศไปนานที่สุดเท่าที่จะทำได้” เขากล่าว “พวกเขาจะบอกว่า ‘เราไม่ต้องการความเจ็บป่วย ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราพังพินาศแน่'”

เนื่องจาก 80% ของประชากรวานูอาตูอาศัยอยู่นอกเมืองและห่างไกลจาก “ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ” นั่นเอง “จากการสังเกตของผมพบว่า พวกเขายังไม่รู้สึกถึงผลกระทบมาถึงตัว เพราะพวกเขาเป็นเกษตรกรพึ่งตนเอง พวกเขาผลิตอาหารเองได้ และยังพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น” ดร.ตาริวอนดากล่าว

80% ของชาววานูอาตูยังมีระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม พึ่งพิงตนเอง (Photo : vanuatu.travel)

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประเทศก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน โดย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าจีดีพีของวานูอาตูจะตกลงเกือบ 10% ในปีนี้ และเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับจากปี 1980 ปีที่ประเทศประกาศเอกราช ทั้งนี้ จีดีพีที่ตกต่ำของวานูอาตูไม่ได้เกิดจาก COVID-19 เท่านั้น เพราะเมื่อเดือนเมษายนเกิดพายุไซโคลนฮาโรลด์พัดผ่านประเทศ สร้างหายนะครั้งใหญ่ให้หมู่เกาะ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และประชากรมากกว่าครึ่งได้รับผลกระทบจากพายุ

ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลวานูอาตูประกาศแผนกลับมาเปิดชายแดนกับประเทศที่ปลอดภัย วันที่ 1 กันยายนนี้ แต่หลังจากทำแผน ประเทศใกล้เคียงอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับมีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง ทำให้แผนเปิดประเทศถูกเลื่อนไป

ดร.ตาริวอนดา หนึ่งในสมาชิกคณะทำงานด้านพรมแดนร่วมกับรัฐบาล การท่องเที่ยว และบริษัทสายการบินต่างๆ ยอมรับว่าการเลื่อนแผนทำให้ประเทศ “เกือบจะกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่” เพราะยังไม่มีกำหนดวันที่เปิดพรมแดนใหม่เลย

วานูอาตูพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วน 35% ของเศรษฐกิจประเทศ (photo : vanuatu.travel)

อย่างไรก็ตาม วานูอาตูก็มีโครงการเดินทางข้ามประเทศเพื่อช่วยเศรษฐกิจ โดยรัฐเพิ่งอนุญาตให้แรงงาน 172 คนเดินทางไปยังเขตนอร์ธ เทอริทอรีของออสเตรเลียเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อทำงานเก็บมะม่วงในสวน แรงงานเหล่านี้จะส่งเงินกลับบ้านเพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศไว้ แต่วานูอาตูที่พึ่งพิงเศรษฐกิจท่องเที่ยวประมาณ 35% ของจีดีพี เม็ดเงินจากแรงงานคงจะไม่เพียงพอ

แต่วานูอาตูก็ไม่คิดจะเร่งเปิดประเทศ โดยดร.ตาริวอนดาชี้ให้เห็นกรณีของประเทศปาปัวนิวกินีที่เกือบจะเป็นประเทศปลอดเชื้อ แต่กลับมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้เกิดข้อกังวลกับการเปิดประเทศอีกครั้ง

“ถ้ามีไวรัสหลุดเข้ามา มันจะกลายเป็นเหมือนไฟไหม้ป่า” ดร.ตาริวอนดากล่าว “เนื่องจากเรามีข้อจำกัดด้านสาธารณสุข บริบทของเราเองที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ทางเลือกที่ดีที่สุดของเราคือการป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าประเทศให้นานที่สุด”

 

Travel Bubble เป็นความหวังเดียว?

แล้วประเทศปลอดเชื้อเหล่านี้ทำอะไรอื่นไม่ได้เลยหรือ? จากสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ มีกลยุทธ์ระยะสั้นคือ จ่ายเงินอุดหนุนให้กับคนงานและธุรกิจ ส่วนกลยุทธ์ระยะยาวก็คือ…รอให้วัคซีนวิจัยสำเร็จ

จนกว่าจะมีวัคซีน ความหวังที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ Travel Bubble “ข้อตกลงเหล่านี้ต้องมีการตกลงเงื่อนไขกันก่อน อย่างข้อตกลงชุดตรวจมาตรฐานร่วมกัน การติดตามตัวบุคคล และสถานที่กักกันโรค ถ้าหากเกิดการระบาดขึ้นอีก ข้อตกลงเหล่านี้กำลังมีการเจรจากัน แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ อาจเป็นเพราะต้องสร้างขั้นตอนอย่างระมัดระวัง” รอมเมล ราบานาล จากธนาคาร ADB กล่าว

เมืองควีนส์ทาวน์ นิวซีแลนด์ (Photo : Pixabay)

แต่ในอีกมุมหนึ่ง โจนาธาน ไพรก์ ผู้อำนวยการโครงการหมู่เกาะแปซิฟิก สถาบัน Lowy ประเมินว่า Travel Bubble คงเป็นไปได้ยาก และถ้าเกิดขึ้นแล้วดีลยังล้มได้ง่ายมากด้วย

“ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์เป็นสองประเทศที่ระบุว่าจะทดลองโครงการนี้” ไพรก์กล่าว “แต่ก่อนจะมี Travel Bubble ได้ ทั้งสองประเทศต้องหยุดการติดเชื้อภายในประเทศให้ได้ก่อน ดังนั้น ผมมองว่าความหวังของการมี Travel Bubble เกิดขึ้นภายในปีนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก” (หมายเหตุ – โครงการ Travel Bubble ของออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ถูกเลื่อนออกไปก่อนตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม เพราะเกิดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในออสเตรเลีย)

ไพรก์กล่าวว่า กลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกกำลังหลังพิงฝาเข้าไปทุกที แต่ทางเลือกเดียวที่พวกเขามีก็ยังคงเป็นการปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเองจากสากลโลก “ต่อให้ประเทศหมู่เกาะเปิดพรมแดนอีกครั้ง ตลาดนักท่องเที่ยวหลักก็ยังเป็นชาวออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ และสองประเทศนี้ก็ยังล็อกพรมแดนตัวเองอยู่”

“ดังนั้นการเปิดประเทศอาจทำให้คุณต้องเผชิญสิ่งเลวร้ายที่สุดทั้งสองทาง คือทั้งวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจ ในอนาคตเราคงจะได้ศึกษากันอีกยาวว่าการตัดสินใจที่ถูกต้องคืออะไร” ไพรก์กล่าว “แต่มองย้อนกลับไปตอนนี้ ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยหรอกว่า การล็อกดาวน์ของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเหล่านี้เป็นการตัดสินใจที่ผิด”

Source

]]>
1294586
EIC ปรับคาดการณ์ “GDP ไทย” ปี 2563 หดตัวที่ -0.3% ไตรมาส 2 หนักสุด https://positioningmag.com/1268281 Sat, 14 Mar 2020 07:23:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1268281 EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลงมาเหลือเติบโต 1.8% จากเดิมคาดการณ์เติบโต 3.0% ขณะที่ GDP ไทยปี 2563 ปรับลดลงเป็นการหดตัวที่ -0.3% จากเดิมคาดขยายตัว 1.8% เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี

จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาด ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากจะกระทบกับเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.8% ในปี 2563 (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3%) รวมทั้งจะมีหลายประเทศที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮ่องกง เป็นต้น

นอกจากนี้ EIC ประเมินว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Fed ที่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 75-100 bps มาอยู่ที่กรอบ 0-0.25% ในปีนี้ ECB ที่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย deposit facility rate ลงอีก 10 bps มาอยู่ที่ -0.6% และ BOJ ที่อาจเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETF และปรับให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อมากขึ้น รวมถึง กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25 bps) ในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2563 นี้

สำหรับเศรษฐกิจไทย COVID-19 จะกระทบผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ

GDP ไทย

EIC ประเมินสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในกรณีฐาน (Base case scenario) โดยมีสมมติฐานว่า สำหรับการระบาดในจีน การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมีจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ และจะถูกควบคุมได้ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่สถานการณ์การระบาดนอกประเทศจีน (รวมถึงไทย) จะมีความรุนแรงมากสุดในช่วงต้นไตรมาส 2 และจะถูกควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยที่ในกรณีของไทย มีข้อสมมติฐานเพิ่มเติมว่า ไม่มีการ lockdown ในวงกว้าง ภายใต้กรณีฐานดังกล่าว EIC ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้ 

GDP ไทย

การท่องเที่ยวหดตัว – EIC คาดนักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 27.7 ล้านคน (-30.5%YOY) โดยจะมีการหดตัวมากสุดประมาณ -75%YOY ในช่วงเดือนเมษายน และจะปรับดีขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากนั้นจนกลับสู่ระดับเทียบเท่าปี 2562 (0%YOY) ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้าด้วย ตามราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ซบเซา

GDP ไทย

การส่งออกหดตัว – มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับลดลง 5.8% จากปีก่อนหน้า จากผลกระทบของ COVID-19 ผ่านช่องทางรายได้ของลูกค้าที่ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลงมากซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกในหมวดน้ำมันและปิโตรเคมีลดลงตาม และปัญหาการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าในประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต มีผลต่อการส่งออกวัตถุดิบขั้นกลางของไทย เช่น ไม้ เหล็ก สินค้าเกษตร และสินค้าส่งออกของไทยที่ขาดแคลนวัตถุดิบขั้นกลางมาใช้ผลิต เช่น รถยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์

การใช้จ่ายในประเทศลดลง – นอกเหนือจากรายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่โน้มลดลงจากผลของ COVID-19 การใช้จ่ายในประเทศจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความกังวลและตื่นกลัวกับสถานการณ์แพร่ระบาด นำไปสู่การลดการเดินทางท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชน รวมถึงมีการลดหรือเลื่อนกิจกรรมงานสังสรรค์และงานนิทรรศการต่างๆ แม้ตัวเลขการใช้จ่ายผ่านช่องทาง online จะโน้มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายที่ลดลงได้ทั้งหมด

GDP ไทย

ปัจจัยการหดตัวของนักท่องเที่ยวและภาคส่งออก รวมถึงปัจจัยลบเดิมคือภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปกติ การอนุมัติงบประมาณภาครัฐล่าช้า ทำให้โดยรวม EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% ในกรณีฐาน (จากประมาณการเดิมที่ 1.8%) และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด technical recession ในช่วงครึ่งแรกของปี

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป การเบิกจ่ายของภาครัฐจะเริ่มเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ บวกกับปลายไตรมาส 3 หากการระบาดดีขึ้นตามสมมติฐานน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้าประเทศ ทำให้มองว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโต

ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 การประคับประคองเศรษฐกิจระยะสั้น และการวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หากการแพร่ระบาดทั้งในไทยและต่างประเทศถูกควบคุมได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเร็วกว่ากรณีฐาน ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกของไทยปรับดีขึ้นมากกว่ากรณีฐานได้เช่นกัน

— ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ : ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

]]>
1268281
พิษไวรัส EIC หั่นเป้าจีดีพีไทยเหลือ 1.8% หลายภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” https://positioningmag.com/1264831 Tue, 18 Feb 2020 07:53:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264831 ไวรัสโคโรนาทำพิษเศรษฐกิจ EIC ปรับลดจีดีพีไทยเหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% นักท่องเที่ยวหาย ฟื้นตัวช้า หลายภาคธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค คาดปีนี้ กนง.ยังคงดอกเบี้ย 1% เเต่มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอีก มองต้นปี 2020 เงินบาทยังผันผวน-อ่อนค่า 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เหลือเติบโต 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีแนวโน้มรุนแรงและน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาด

จากปัจจัยต่างๆ ทั้งการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่ลดลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่อง Supply chain disruption ที่อาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของการส่งออกไทยด้วย

โดยวานนี้ (17 ก.พ.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 4/62 ขยายตัวที่ 1.6% ชะลอลงจาก 2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 62 ของไทยขยายตัวที่ 2.4% นับว่าเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี เเละมองว่า GDP ปี 2563 จะเหลือเพียง 1.5-2.5% เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : สภาพัฒน์ หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.5-2.5% จ่อโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

หลายภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” เเล้ว

“ตัวเลข GDP ล่าสุดบ่งชี้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น โดยแม้ในภาพรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ techinical recession แต่มีหลายภาคเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว” EIC ระบุ

แม้ว่าในภาพรวม GDP จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) แต่ก็ถือว่ามีอัตราเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว (QOQ sa) ที่ต่ำมาก โดยขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปี 2562

และหากพิจารณาในรายภาคเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีหลายสาขาการผลิตที่เข้าสู่ภาวะ technical recession แล้ว ได้แก่ ภาคการส่งออกสินค้า การลงทุนภาครัฐทั้งในส่วนของการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคสินค้ายานยนต์ ในส่วนของเศรษฐกิจด้านการใช้จ่าย

ขณะที่ด้านการผลิต สาขาที่เข้าสู่ technical recession แล้ว คือการก่อสร้าง และการเกษตร ในส่วนของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามีการพ้นภาวะ technical recession แล้วหลังจากมี %QOQ sa ติดลบติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแรก แต่อัตราขยายตัวยังคงเปราะบาง โดยมีการขยายตัวเพียง 0.1% QOQ sa

นักท่องเที่ยวลดฮวบ ฟื้นตัวช้า 

สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากการประเมินของ EIC ในกรณีฐาน คาดว่าสถานการณ์นี้จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะกลับมาเป็นปกติในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งผลกระทบจะมีมากสุดในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีนในการควบคุมโรคที่ส่งผลต่อการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการผลิตและการขนส่งสินค้าของจีน

นอกจากนี้ จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ (ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63) ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรก จึงทำให้คาดว่า GDP ไทยไตรมาสแรกจะชะลอลงมากสุดก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในระยะถัดไป

จากตัวเลขเร็ว (High frequecy data) ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศรายวันล่าสุดที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 63 เหลือ 1.8% จากเดิมคาดที่ 2.1%

จากการติดตามจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยผ่าน 5 สนามบินหลัก พบว่าในช่วงวันที่ 1-13 ก.พ. 63 นักท่องเที่ยวหดตัวไปแล้วกว่า -45%YOY ซึ่งลดลงมากกว่าคาดการณ์เดิมของทาง EIC ที่ -30.8%YOY จึงมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงในเดือน ก.พ. (lowest draw-down)

นอกจากนี้ ยังคาดว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากลักษณะของ COVID-19 ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่าย สะท้อนจากผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการกลับมาเดินทางอีกครั้ง

 EIC จึงปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 เหลือประมาณ 37 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -7.1%YOY จากประมาณการเดิมที่ประมาณ 38 ล้านคน (-4.6%YOY) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 1.8% จากเดิมที่ 2.1%

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในปี 63 ซึ่งจะต้องติดตามลักษณะและขนาดของมาตรการอย่างใกล้ชิดต่อไป

คาดกนง.ยังคงดอกเบี้ย 1 % เเต่มีโอกาสสูงที่จะปรับลด 

EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2563 “การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถผลักดันให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นได้มากนัก จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีอยู่มาก”

อย่างไรก็ดี มีโอกาสสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ปรับแย่ลงรุนแรง

“หากการระบาดของ COVID-19 ยาวนานกว่าที่คาดและส่งผลยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลต่อภาคการเกษตรและการจ้างงานเป็นวงกว้าง ก็อาจทำให้ กนง. ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้”

ต้นปี 2020 เงินบาทยังผันผวน-อ่อนค่า 

ด้านค่าเงินบาท EIC คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้เดิมและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลก ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเกินดุลน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม

สำหรับในระยะสั้น (2 ไตรมาสแรกของปี 2020) EIC มองว่า เงินบาทจะยังเคลื่อนไหวผันผวนและยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่าในกรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีการปรับประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 63 เป็นเกินดุลราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.7% ต่อ GDP (ลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 6.1% ต่อ GDP) ความต้องการเงินบาทจึงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อน โดยการศึกษาพบว่าในช่วงที่มูลค่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปรับลดลงอย่างมีนัย การแข็งค่าของเงินบาทมักชะลอลงหรือปรับอ่อนค่าได้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ดุลบัญชีสะพัดไทยยังคงเกินดุลอยู่ค่อนข้างสูง แม้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากนั้น เนื่องจากการเกินดุลการค้ายังอยู่ในระดับสูง (มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก เนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าสินค้าพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนลดลงความต้องการภาคเอกชนภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมถึงการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบที่ลดลงตามการชะลอตัวของการส่งออก)

 

]]>
1264831
“กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์” คาดเศรษฐกิจโลกถึงจุดต่ำสุด! พร้อมเปิด 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุน https://positioningmag.com/1257902 Fri, 20 Dec 2019 08:00:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257902
  • สรุปปี 2562 จีดีพีโลกโต 3% ตลาดหุ้นโลกผลตอบแทนเฉลี่ย 23% Kbank เชื่อเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้ว
  • ปี 2563 คาดการณ์จีดีพีโลกโต 3.3% กระเตื้องขึ้นจากปีนี้ แต่ปัจจัยเสี่ยงคงเดิมคือ สงครามการค้าและ Brexit
  • ตลาดหุ้นปีหน้าคาดว่าให้ผลตอบแทน “Single Digit” หลังปีนี้น่าจะปิดปีด้วยกราฟสูง
  • กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุน ระมัดระวังหุ้น กระจายลงทุนสินทรัพย์ที่ให้รายได้ประจำ เพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต
  • ผลดำเนินงานกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ ลูกค้าเพิ่ม 4% AUM ลดลง แต่ลูกค้าเลือกลงทุนที่ไม่ใช่เงินฝากมากขึ้น
  • อีกหนึ่งปีเวียนมา “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ฉายภาพรีรันกันอีกครั้งว่าปี 2562 เกิดอะไรขึ้นบ้าง เริ่มต้นที่คาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้น่าจะปิดที่ +3% โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งโลก คือ สงครามการค้า Brexit และ การเปลี่ยนตัวประธานเฟดเป็น Jerome Powell นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ย

    จิรวัฒน์กล่าวว่า สองประการแรกคือปัจจัยลบที่ทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับลดเฉลี่ย 15% ในช่วง 3 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้ปีนี้ตลาดหุ้นเปิดมาแบบไม่ค่อยสดใส แต่หลังจากเฟดเริ่มปรับลดดอกเบี้ยทำให้หลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยตาม ตลาดหุ้นจึงฟื้นตัว

    ผลตอบแทน YTD ของตลาดหุ้นโลกปี 2562 จึงขึ้นมา +23% มีกลุ่มตลาดเด่นคือ ตลาดหุ้นจีน +33% ตลาดหุ้นสหรัฐฯ +28% ตลาดหุ้นยุโรป +25% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปีนี้ +2% เท่านั้น ดังนั้นหากใครจัดพอร์ตลงทุนในไทยเป็นหลักในช่วงปีนี้อาจเห็นพอร์ตอยู่ในแดนลบได้ แต่โดยรวมการลงทุนของปี 2562 เป็นปีที่ดีเมื่อเทียบกับ 2561

    ปี 2563 เศรษฐกิจดีขึ้น หลังสงครามการค้าผ่อนแรงกดดัน

    ไปต่อกันที่ปีหน้า Kbank คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก “ถึงจุดต่ำสุดแล้ว” ดังนั้นปี 2563 จีดีพีน่าจะโต 3.3% เติบโตมากกว่าปีนี้ และถ้าหากปัจจัยลบอื่นๆ ไม่เกิดขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น เกิด No-Deal Brexit หรือจีนกับสหรัฐฯ กลับมาตั้งกำแพงภาษี) โอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะยังเป็นศูนย์

    สาเหตุที่ Kbank มองบวก มาจากเห็นสัญญาณดีของสงครามการค้าซึ่งขณะนี้จีนกับสหรัฐฯ อยู่ในช่วงสงบศึก โดยหยุดการขึ้นกำแพงภาษีรอบวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา แม้ว่ากำแพงภาษีที่เคยจัดเก็บจะลดลงเพียงบางส่วน แต่ไม่มีการขึ้นภาษีรอบใหม่ ซึ่งผลของการผ่อนคลายน่าจะมาจาก Donald Trump กำลังเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2563 ทำให้ต้องมีผลงานที่ดีในช่วงหาเสียง รวมถึงเศรษฐกิจฝั่งจีนเองแม้จะยังโตแต่ชะลอลงทำให้จีนต้องดูแลเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น

    ดังนั้น จิรวัฒน์สรุป ปัจจัยหลักที่ต้องจับตาปีหน้า คือ สงครามการค้า และ เลือกตั้งสหรัฐฯ โดยมองว่าแนวโน้มที่ Trump จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองมีสูง เนื่องจากมีผลงานเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากพรรคเดโมแครตซึ่งนำโดย Michael Bloomberg ชนะเลือกตั้งก็เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปเพียงแต่อาจเปลี่ยนวิธีการเท่านั้น

    เปิด 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนปีหน้า

    ด้านตลาดหุ้น นั้น จิรวัฒน์กล่าวว่าน่าจะเติบโตได้ Single Digit หรือสูงสุดไม่เกิน 9% เนื่องจากปีนี้ปิดปีด้วยฐานสูง แนะให้ระมัดระวังช่วงต้นปีซึ่งอาจมีปัจจัยลบกระทบจากสงครามการค้าหรือ Brexit ซึ่งตลาดอยู่ในช่วงพร้อมเทขายหุ้น

    อาจจะเป็นปีที่ดีสำหรับตลาดหุ้นปี 2562 แต่ปีหน้านั้น Kbank มองว่าตลาดน่าจะโตแบบ Single Digit โดยแนะลงทุนในกลุ่มเฮลท์แคร์ เทคโนโลยี และพลังงาน รวมถึงตลาดเกิดใหม่บางประเทศ

    ดังนั้น สำหรับปีหน้า กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ มีคำแนะนำ 5 กลยุทธ์ให้กับนักลงทุนในการจัดพอร์ต คือ

    1. กระจายความเสี่ยงและเพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต ไม่ควรลงทุนทิ้งระยะยาว
    2. ป้องกันพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedged Fund ที่ใช้กลยุทธ์การ Long และ Short หุ้นพร้อมๆ กัน
    3. เน้นกลยุทธ์ Carry ในกลุ่ม High Yield ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าจากการให้รายได้ประจำ เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์
    4. ระมัดระวังกับการลงทุนในหุ้น โดยควรเลือกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดี เช่น หุ้นในกลุ่มเฮลท์แคร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ไปจนถึง หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศยังน่าสนใจ
    5. สร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ทางเลือก อย่างอสังหาริมทรัพย์ หุ้นนอกตลาด และโครงสร้างพื้นฐานที่อาจมีความผันผวนทางด้านราคาตามตลาดน้อยกว่า แต่เหมาะสำหรับก้อนเงินลงทุนที่สามารถทิ้งไว้ได้ระยะยาว5 ปีขึ้นไป โดยลงทุนเป็นส่วนน้อยของพอร์ตเท่านั้น

    “ไพรเวทแบงก์” เน้นดึงลูกค้าลงทุนส่วนที่ไม่ใช่เงินฝาก

    สำหรับผลดำเนินงานของ กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ เองนั้น จิรวัฒน์เปิดเผยตัวเลขฐานลูกค้าทั้งหมด 11,611 ราย เติบโต 4% จากปีก่อน โดยลูกค้ามีเงินฝากเฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อราย มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 7.5 แสนล้านบาท ลดลง 0.2% อย่างไรก็ตาม จิรวัฒน์ชี้ว่า ใน AUM ทั้งหมด มีส่วนที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนอยู่ 4.55 แสนล้านบาท เติบโต 7% หากนับเฉพาะที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนซับซ้อน มีอยู่ 1.06 แสนล้านบาท เติบโตถึง 23%

    หากคิดเป็นสัดส่วนคร่าวๆ คือ ลูกค้ากลุ่มไพรเวทแบงก์มีเงินฝากทั่วไปกับกสิกรไทย 30% แต่อีก 70% เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่ใช่เงินฝาก เช่น กองทุนทดแทนเงินฝาก ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการดำเนินงานที่ดีเพราะสะท้อนว่าลูกค้ามีความไว้วางใจให้บริหารสินทรัพย์ และหากเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนขึ้น ค่าธรรมเนียมการดำเนินการจะสูงขึ้น ทั้งนี้ ปีนี้ค่าธรรมเนียมของกสิกรไทย ไพรเวทแบงก์เติบโตเพียง 3% เทียบกับปีก่อนซึ่งโต 5.7% เพราะสถานการณ์มีความเสี่ยงทำให้ธนาคารเลือกแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในรูปแบบเสี่ยงน้อยมากกว่า

    “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย

    ในแง่ผลการลงทุน ปีนี้กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์แนะนำลูกค้าปรับพอร์ตการลงทุน (K-Alpha) แบบกระจายเสี่ยงและลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทำให้มีการเติบโตของพอร์ต K-Alpha ที่ 12.5% โดยความเสี่ยงพอร์ตอยู่ที่ 4.5% เท่านั้น ทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยง 2.8 เท่า

    นอกจากนี้ ยังออกกองทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น กองทุน K-CHANGE เพื่อลงทุนในบริษัทที่ประกอบการเพื่อสังคม กองทุน Private Equity Fund ลงทุนในบริษัทนอกตลาดที่น่าสนใจ กองทุน Fixed Maturity ลงทุนในตราสารหนี้เอเชียและให้ผลตอบแทนชัดเจน กองทุน K-GLAM กองทุนผสมที่ดูเรื่องความเสี่ยงเป็นฐาน

    ส่วนเป้าหมายปี 2563 จิรวัฒน์มองเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าอีก 4% ส่วน AUM น่าจะยังคงเดิม แต่ต้องการเพิ่มสัดส่วนให้ลูกค้าเลือกลงทุนอื่นที่ไม่ใช่เงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 80% ของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมด

    ]]>
    1257902
    เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ กนง. ประกาศคงดอกเบี้ย 1.25% หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือเเค่ 2.5% https://positioningmag.com/1257564 Wed, 18 Dec 2019 09:03:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1257564 เป็นไปตามคาด วันนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% เช่นเดิม ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตเพียงแค่ 2.5% จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% ส่วนปีหน้านั้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงแค่ 2.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3%

    โดยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศเเละอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

    ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ซึ่งเป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

    “ปีหน้าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้มาอยู่ที่ 2.8% เห็นสัญญาณของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น” ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารเเห่งประเทศไทยกล่าว

    กนง. มองว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพและต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

    โดยมองทิศทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดังนี้

    การส่งออกสินค้า

    ที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถ
    ในการแข่งขันของภาคการส่งออก

    ภาคการท่องเที่ยว 

    มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

    อุปสงค์ในประเทศ

    การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ

    การบริโภคภาคเอกชน

    มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากรายได้ของครัวเรือนและการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

    อัตราเงินเฟ้อ

    โดยเฉลี่ยทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำและอุปทานพลังงานที่จะเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

    อัตราแลกเปลี่ยน- ค่าเงินบาท

    แม้เงินบาททรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม

    ติดตามความเสี่ยง : การกีดกันทางการค้า

    จากสภาวะการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งจะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง
    เชิงโครงสร้างในตลาดแรงงานที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป

    ติดตามความเสี่ยง : สินเชื่อของธุรกิจ SMEs ด้อยลง – หนี้ของภาคครัวเรือน

    กนง. มองว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง เเละเห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

    แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

    ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย

     

    ]]>
    1257564
    เตรียมใจ! สรุปวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ 2020 ส่งออก-ค่าเงิน-ตลาดหุ้นไทย จาก KBank https://positioningmag.com/1255301 Thu, 28 Nov 2019 12:10:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1255301 ดูท่าจะต้องเหนื่อยกันยาว กสิกรไทยมองปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง คาด GDP โตแค่ 2.7% ส่งออกติดลบ-เสียมาร์เก็ตเเชร์ เเถมเเนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 จะแข็งค่ามากขึ้นอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์  ส่วนตลาดหุ้นไม่โตเเต่พอลงทุนได้ ยังมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเช่น ท่องเที่ยว เฮลท์เเคร์  เเนะนำให้ลงทุนต่างประเทศไว้บ้าง

    Positioning สรุปประเด็นสำคัญที่คุณต้องรู้จากสัมมนา “ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีชวด” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย กับมุมมองสภาพเศรษฐกิจในปีหน้าที่โลกกำลังเผชิญความท้าทาย เเละเศรษฐกิจไทยต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เหมือนกัน

    ประเมินปีหน้าโตเเค่ 2.7% ห่วงไทยโดนเเย่งมาร์เก็ตเเชร์ส่งออก

    กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะเติบโตที่ระดับ 2.7% ซึ่งใกล้เคียงกับปีนี้

    โดยได้รับเเรงกดดัยจากปัจจัยอย่าง ภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องที่ระดับ -2% เเละการบริโภคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราชะลอตัวลงที่ 2.5% จากปีนี้ที่คาดการณ์เติบโต 3.2% นอกจากนี้ไทยยังมีภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง

    “ในช่วงที่ค่าเงินบาทเเข็งทำให้เราเสียมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดส่งออก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก และการที่สินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ ลำบากขึ้นก็ทำให้จีนหันตลาดมายังอาเซียน ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกของไทย”

    โดยเศรษฐกิจไทยปี 2562 ยังคงเป้าหมายเติบโตในกรอบ 2.6-2.8% มีแนวโน้มอยู่ในกรอบล่าง และการส่งออกคาดการณ์ -1%

    “เราให้การส่งออกปีหน้าติดลบ ด้วยปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าที่ยืดเยื้อเเละปัจจัยภายในอย่างปัญหาในเชิงโครงสร้างที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจยังเปราะบาง”

    อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2020 จะเป็นการลงทุนของภาครัฐที่จะได้รับการอนุมัติในช่วงต้นปีหน้า

    “มองว่าเเม้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า”

    สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2020 คาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้น โดยกรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์ ในครึ่งปีแรก และ 29.20-29.25 บาทในสิ้นปี จากสิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.50 บาท บนที่ตั้งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 บาท ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีเเรกเเละเดือน ก.ย. พร้อมคาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.25%

    ขณะที่ความเห็นเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนว่าจะสิ้นสุดหรือบรรเทาลงหรือไม่นั้น ผู้บริหารกสิกรไทยตอบว่า คาดว่าจีนจะยังคงดูสถานการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020 เเละยังคงต้องรอดูว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะถูกถอดถอนก่อนหรือไม่ จีนคงยังร่วมข้อตกลงในช่วงนี้ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้นำก็จะเจรจาใหม่ลำบาก เเละคิดว่าหากพรรคคู่เเข่งอย่างเดโมเเครตจะเดินเกมก็คงจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. เหมาะที่สุด และการที่จีนอยากขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีโลก โดยสั่นสะเทือนสหรัฐฯ ด้วยเทคโนโลยี 5G นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

    มองเป้า SET Index ปี 2020 ที่ 1,725 จุด 

    กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่าได้มองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2020 ไว้ที่ 1,725 จุด โดยทิศทางตลาดหุ้นไทยในปีหน้าน่าจะแกว่งตัวในกรอบ เเละคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปีหน้าไม่น่าจะดีเท่ากับปีนี้

    เเละอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกังวลคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มี New High เเต่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทั้งเรื่องอัตราการว่างงานเเละการบริโภคภายในประเทศ สวนทางกับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ มีการเติบโตสูงเเละมีรายได้จากทั่วโลก

    สำหรับการเติบโตของตลาดหุ้นไทยนั้น เขามองว่า ตลาดหุ้นไทยยังโตได้เเคบเนื่องจากเราไม่มีบริษัทเทคโนโลยีในประเทศที่สร้างมูลค่าระดับโลก หากถามว่าโตไหม ก็คงโตได้ เเต่จะไม่โตไปไกลกว่านี้ ถ้าไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่เกิดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสของบริษัทภาคการท่องเที่ยว การบริการ และเฮลท์แคร์ที่เป็นจุดเด่นของไทยจะโตขึ้นมาได้มากเเละเเนะนำให้ซื้อหุ้นต่างประเทศไว้ด้วย

    เลือกหุ้นอุตฯ ที่ไม่ใช่อุตฯ

    เมื่อถามว่า “ปีหน้ายังคงลงทุนได้ไหม” กวีตอบว่า “ยังลงทุนได้เเต่ต้องเลือกให้ดี”

    โดยแนะนำเทคนิคเลือกหุ้นในตลาดไทย ตามทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า 3 ข้อ ได้แก่ 1) ลงทุนในบริษัทไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในอาเซียน 2) ลงทุนในบริษัทที่สามารถเติบโตในประเทศได้ ไม่พึ่งพาการส่งออก และ 3) ลงทุนในหุ้นของอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นภาคบริการ โรงแรม ท่องเที่ยวและเฮลท์แคร์

    แนะหุ้นเด่นน่าลงทุน  

    สำหรับ หุ้นกลุ่มที่น่าลงทุน มองเป็นหุ้นที่มีกำไรคงที่ และมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น กลุ่ม ICT ที่มีการแข่งขันน้อยและการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยแนะหุ้น ADVANC และ DTAC, กลุ่มค้าปลีก สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง CPALL รวมถึงพลังงานต้นน้ำ อย่าง PTTEP และกลุ่มท่องเที่ยว อย่าง MINT จากการขยายโรงแรมไปในยุโรป และกลุ่มหุ้นปันผล จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น TISCO ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 7%, RATCH ที่ให้ผลตอบแทนในระดับ 4% และกองทุน TFFIF

    ส่วน หุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง การลงทุนในปีหน้า คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและมีความไม่แน่นอนของกำไร อย่าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหนี้ NPL รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี ที่อยู่ในช่วงขาลงและกลุ่มค้าปลีก ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมองกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่าจะทำกำไรได้ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบในเรื่องเงินบาทแข็งค่าและการส่งออกที่หดตัว

    ภาคท่องเที่ยวยังพอช่วยได้ 

    ด้าน ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.7% และคาดว่าปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 3.3% แม้การส่งออกจะเป็นขาลง แต่ก็จะได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการมาช่วยเสริม ซึ่งมองว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว ขณะที่ช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปนั้น ก็ได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่าง “อินเดีย” มาช่วย

    และสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือ การลงทุนจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่าง เกษตร แร่ เซรามิกและโลหะขั้นมูลฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและเคมีภัณฑ์ โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด คือญี่ปุ่น จีน และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ

    ทั้งนี้ การส่งออกไทยใน 9 เดือนแรกของ ปี 2019 หดตัวลง 2.1% ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ดี ไทยยังมีสินค้าที่ทดแทนจีนได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แผงวงจรรวม และน้ำมันเครื่อง เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ทดแทนสหรัฐฯ ได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ น้ำแอปเปิล น้ำผึ้ง เฟอร์นิเจอร์ ฝาพลาสติก เป็นต้น

    เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง

    สรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2020 ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เงินในระบบหมุนเวียนในระบบของไทยลดลงอย่างมากจากในปี 1999 อยู่ที่ 12 รอบ ตอนนี้เหลือไม่ถึง 6 รอบ เเละการเจรจายุติสงครามการค้ายังไม่เเน่นอน รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจาก 2.3% เหลือ 1.8% ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอลงด้วย ขณะที่ประเทศในเอเชียที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ อย่างอินเดียเเละฟิลิปปินส์ยังเติบโตได้ดี

    ส่วนไทยและสิงคโปร์ ที่พึ่งพาการส่งออก มีโอกาสโตเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2562 รวมถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทย

    ด้าน พีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่ธปท.ออกมาเพื่อบรรเทาการเเข็งค่าของเงินบาทนั้นใช้ไม่ได้ผลนัก เนื่องจากผู้ส่งออกมีต้นทุนการเงิน ไม่สามารถพักเงินดอลลาร์ได้อย่างที่ผ่อนคลายให้

    สรุปทิศทางเศรษฐกิจปีชวด

    • เศรษฐกิจโลก

    ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสหรัฐฯ-จีนแม้การเจรจามีสัญญาณดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังนำโดยการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การผลิตที่อ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปี 2020

    • เศรษฐกิจไทย

    มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจในประเทศแล้ว การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ผ่านการเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีนและอุปสงค์ในตลาดโลกที่ตกต่ำลง ทำให้การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมอ่อนแอลง ส่งผลถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลง

    ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐอาจมีผลจำกัดและเป็นการวางเป้าหมายเพียงระยะสั้น โดยมีข้อจำกัดสำคัญจากหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

    • เงินบาท

    ยังมีแนวโน้มแข็งค่า โดยประเมินว่าความเสี่ยงของโลกยังสูง โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินบาท เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลสูงและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าไทยและกดดันเงินบาทให้แข็งค่า

    ทั้งนี้ แม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทแต่อาจยังไม่สามารถลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงได้ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.25 ณ สิ้นปี 2020

    อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจอ่อนค่าอย่างรวดเร็วหากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกสูงขึ้น ความกังวลดังกล่าวอาจสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอลง เป็นผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า

    ความสามารถในการผลิตของแรงงานในแต่ละประเทศ

     

    ]]>
    1255301