ท็อป-จิรายุส – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 05 May 2022 07:32:50 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เจาะแผน Bitkub ปั๊มบัญชีลูกค้า แจกฟรีเครดิตเทรดไม่ต่างเว็บพนัน https://positioningmag.com/1383855 Thu, 05 May 2022 04:10:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1383855 บทความโดย iBit

“บิทคับ” เร่งสร้างความเชื่อมั่น หลังราคาเหรียญคู่บุญ KUBcoin หล่นวูบสวนทางผลประกอบการ ปูพรมแจกของพรีเมียมหวังโกยเรตติ้ง ลือราคาเหรียญที่หดตัวอาจกดดันดีลเข้าร่วมยานแม่ SCBX ถูกลดมูลค่า ขณะที่โปรโมชันเรียกแขกแจกฟรีเครดิตเทรดก็โดนข้อครหา ไม่ต่างจากเว็บพนันออนไลน์

เมื่อเร็วๆ นี้ Bitkub ประกาศงบผลประกอบการงวดบัญชี ปี 2564 รวยอู้ฟู่ฟันกำไรกว่า 2.54 พันล้านบาท จากรายได้รวมกว่า 5.16 พันล้านบาท มากกว่าปี 2563 ที่มีรายได้เพียง 325 ล้านบาท และกำไร 79 ล้านบาท จากการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ดึงนักลงทุนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดซื้อขายคริปโตฯ ชูจุดขาย 10 บาทก็เทรดได้ โขกค่าธรรมเนียมการซื้อหรือขายต่อครั้งกว่า 0.25% และค่าบริการการโอนต่อรายการที่แพงระยับกว่า 20 บาทต่อรายการ

ยิ่งห้ามยิ่งโฆษณา

รายได้และกำไรของบิทคับยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นบริษัทที่นำหน้าด้วยการตลาด หรือมาร์เกตติงคอมปะนี ที่ไม่ว่าผู้คนจะเดินไปไหนก็พบเห็นป้ายโฆษณาเชิญชวนอยู่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกค้าเข้าแถวแคชเชียร์รอจ่ายเงินร้านสะดวกซื้อที่ขึ้นวิดีโอโฆษณาชวนเปิดบัญชีเทรด 10 บาทก็ลงทุนได้ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ใช้งบลงทุนเพื่อการโฆษณาอย่างบ้าคลั่ง แต่นำมาซึ่งรายได้และผลกำไรที่มากขึ้น

การวางยุทธศาสตร์การตลาดของบิทคับยังใช้ “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งเป็น LOGO จุดขาย ควบคู่ไปกับว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์ในทุกวงการ จ้างปฏิบัติการข่าว หรือไอโอ สร้างคอมมูนิตี สร้างอีเวนต์ คอยป้อนชุดความเชื่อ และกระตุ้นความคิดของเยาวชนให้สร้างความมั่งคั่งในยุค 5G ผ่านการลงทุนในธุรกิจศูนย์แลกเปลี่ยนซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และ สินทรัพย์ดิจิทัล NFT ยังคงถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และแผนในอนาคตกับการขยายอาณาจักรไปยัง metaverse ถูกยกเป็นโปรเจกต์สำคัญต่อผลักดันราคาเหรียญ และรายได้ขององค์กร

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ บิทคับ เป็นลัทธิ ที่มีคนเปรียบเทียบว่าแทบไม่ต่างกับ ลัทธิธรรมกาย ซึ่งว่าด้วยการโฆษณาคริปโตฯ หรือเชิญชวนให้คนมาลงทุนในคริปโตฯ ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่เหมาะสม เพราะมีแต่ข้อความในด้านดี ไม่มีระบุถึงความเสี่ยง หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการพิจารณา “ห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ” และต้องมีข้อความกำกับทุกครั้งถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน

แต่ดูเหมือนว่า ท๊อป จิรายุส และบิทคับ อาศัยความเชื่องช้าของ ก.ล.ต. ยิ่งโฆษณาหนักขึ้น โดยเฉพาะความสนใจของสาธารณะ ทั้งการเข้าไปเป็นสปอนเซอร์สมาคมฟุตบอล แมตช์การแข่งขัน “แดงเดือด” ระหว่างสโมสรฟุตบอลชื่อดัง แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล แถมยังโพสต์เรียกความสนใจว่าจะอยากจะซื้อสโมสรฟุตบอลของไทย รวมไปถึงการทำ CSR เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าฐานราก พ่อค้า แม่ค้า เช่น การแจกร่มขนาดใหญ่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดคลองเตย หวังสร้างกระแสบิทคับ และการรับรู้แบรนด์บิทคับในพื้นที่สาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดสด

ทั้งนี้ Bitkub รายงานว่าในส่วนรายได้ของธุรกิจนั้นมาจากค่าธรรมเนียมและบริการถึง 5.16 พันล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของปี 2563 กับ 2564 พบว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก โดยในปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 330 ล้านบาท ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2563 มีกำไร 79 ล้านบาทเพียงเท่านั้น

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเมื่อดูผลประกอบการของ Bitkub คือ ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด แสดงให้เห็นว่าปริมาณการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีผ่านแพลตฟอร์มของ Bitkub มากขึ้น ส่วนจะมาจากไหนอย่างไรนั่นเป็นคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่า ก.ล.ต. เคยลงโทษบิทคับ และสั่งให้แก้ไขกรณี “การพิสูจน์ตัวตน” หรือ KYC ของลูกค้า และมาร์เกตเมกเกอร์ที่พบว่าไม่มีตัวตน หรือพิสูจน์ไม่ได้ หรือ “บัญชีม้า” จำนวนหนึ่ง**

แต่หาก เทียบค่าธรรมเนียมกับกระดานเทรดอื่นๆ นั้น ในประเทศไทยนั้น Bitkub และ Bitazza และ Z.com EX ที่มีค่าธรรมเนียมที่ 0.25% ขณะที่ Satang และ Zipmex มีค่าธรรมเนียมอยู่ที่เพียง 0.2% ขณะที่กระดานเทรด Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดอันดับ 1 ของโลก มีค่าธรรมเนียมเพียง 0.1% เท่านั้น

KUB ร่วงหนักสวนผลกำไร

สำหรับในปี 2564 ที่ผ่านมา Bitkub มีกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ทางธุรกิจต่อบริษัทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกเหรียญประจำกระดานเทรด ที่กำหนดราคา 1 KUBcoin เท่ากับ 30 บาท หรือ 1 USD เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 โดยเริ่มเปิดการซื้อขายครั้งแรกด้วยราคา 30 บาท และกำหนดจำนวนเหรียญไว้ทั้งหมด 1,000 ล้านเหรียญ แต่ราคากลับดิ่งสู่ระดับ 12-13 บาท ทำให้บริษัทแก้เกมโดยการเผาเหรียญ KUB ทิ้ง 89% ของจำนวนทั้งหมดให้เหลือเหรียญในระบบแค่ 110 ล้านเหรียญเท่านั้น และหลังจากนั้นสร้างข่าวจุดพลุเก็งกำไร โดยเฉพาะการสร้างจุดที่พีกด้วยการนำเหรียญ KUB จะเป็นช่วงข่าวการนำเหรียญไปลิสต์ใน 3 กระดานเทรดต่างประเทศ ได้แก่ Gate.io, CoinEx และ MEXC Global จนราคาเหรียญ KUB พุ่งทะยานสูงสุดสร้างสถิติแตะ 580 บาท/เหรียญ

สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากนั้น เหรียญ KUB ไม่เคยกลับไปยืนเหนือจุดเดิมได้อีกเลย และล่าสุดยังคงไหลลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่อาจคาดเดาได้ว่าสุดท้ายแล้วเหรียญ KUB ราคาจะหยุดอยู่ที่เท่าไหร่ นั่นเพราะล่าสุด (3 พ.ค.) ณ 16.15 น. เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 170.82 บาท ซึ่งปรับตัวลดลงกว่า -70% จากจุดสูงสุดที่เคยทำได้ที่ 580 บาท/เหรียญ เมื่อช่วงปลายปี 2564

สถานการณ์ดังกล่าวกลาย เป็นหนึ่งประเด็นเหรียญร้อนแรงที่สุดในรอบวันของกลุ่มนักลงทุนคริปโตฯ ที่ราคาเหรียญ KUBcoin ซึ่งเป็นเหรียญคู่บุญกระดานเทรด Bitkub ปรับตัวร่วงลงเหวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว โดยยังไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของราคาได้ หลังร่วงลงจากช่วงราคา 280 บาท ลงมาระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ระดับ 161 บาท

ทำให้หลายคนเชื่อว่าแม้ว่าผลประกอบการของ Bitkub จะประกาศออกมาเติบโตค่อนข้างดี แต่ในความเป็นจริงแล้วผลประกอบการไม่ได้ส่งผลต่อราคาเหรียญโดยตรง เนื่องจากเหรียญ KUB เป็น Utility ที่ใช้ร่วมกับ Bitkub Chain ในวงจำกัด

ขณะเดียวกัน การดิ่งเหวของราคาเหรียญ KUB จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาและวิกฤตศรัทธาของเหล่าสาวกเหรียญ KUBcoin ซึ่งในหลายๆ กลุ่ม Facebook ที่เคยมีเหล่าแฟนคลับบูชา “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นดั่งศาสดา ปัจจุบันกลับกลายเป็นเหมือนหนังคนละม้วน เพราะมีนักลงทุนจำนวนมากติดค้างขาดทุนจากการเข้าซื้อเหรียญในช่วงที่ราคาสูง จากแรงกาวของเหล่าบรรดาสาวกที่สร้างความเพ้อฝันช่วยกันเชียร์ว่า KUBcoin อาจจะทะลุไปถึง 1,000 บาท/เหรียญ จึงแห่เข้าไปเก็งกำไรจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ไม่สามารถ Cut Loss ขายออกไปได้ทัน ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก จนมีการเรียกร้องให้ “ท๊อป” จิรายุส ทำอะไรสักอย่างเพื่อเบรกราคาเหรียญไม่ให้ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ ขณะที่ในอีกมุมหนึ่งของนักลงทุนมองว่าจะหาโอกาสเข้าซื้อเหรียญ KUB หากกลับลงมาที่ 20-25 บาท ซึ่งอาจเป็นราคาพื้นฐานเหรียญที่เหมาะสม

และจากราคาเหรียญ KUBcoin ที่ร่วงลงหนัก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มประเมินว่าดีลการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของยานแม่ SCBX อาจไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเพราะเมื่อพิจารณาจากราคาเหรียญค้ำจุนองค์กรที่ลดลงอย่างมาก ย่อมทำให้มูลค่าในการเข้าลงทุนของ SCBX ใน Bitkub อาจไม่จำเป็นต้องใช้มูลค่าเท่าเดิม โดยอาจถูกปรับลดลงไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ หรือยกเลิกดีลดังกล่าวเพราะอาจไม่คุ้มค่าลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น นั่นย่อมสะท้อนว่าธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถช่วยตอบโจทย์ให้ SCBX เติบโตก้าวไกลไปได้

ปั่นโปรฯ แจกเครดิตให้เล่นไม่ต่างจากบ่อนออนไลน์

นอกจากนี้ ด้วยแผนการตลาดที่แยบยลเจาะทุกเป้าหมายของ Bitkub แม้จะให้คุณในการสร้างจำนวนยอดผู้เข้าใช้งานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่การที่บริษัทนิยมจัดโปรโมชันล่อใจมือใหม่ด้วยการแจกฟรีเครดิตเทรดมูลค่า 200-500 บาท หรือแจกเป็นเหรียญคริปโตฯ มูลค่า 300 บาทนั้น เริ่มทำให้มีหลายคนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกับเว็บพนันออนไลน์ที่มักจะล่อตาล่อใจผู้ลงทุนหน้าใหม่ด้วยการแจกเครดิตให้เข้ามาลงทุนในเว็บไซต์ของตน ซึ่งทำให้อาจเข้าข่ายมอมเมาคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าในการลงทุนเหรียญคริปโตฯ ได้ดีพอ

ปัจจุบันนักลงทุนบางส่วนยังเริ่มเชื่อว่าดีลการเข้าร่วมยานแม่ SCBX ของ “บิทคับ” อาจต้องถอยออกมา หรือมีการปรับแก้ใหม่อีกครั้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพราะแม้ SCBX จะอยากได้ Bitkub เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนเติบโตทางธุรกิจ แต่คงไม่ปรารถนาคว้าธุรกิจที่ยอดบัญชีลูกค้าเริ่มทรงตัว อีกทั้งเหรียญคู่บุญอย่าง KUBcoin อยู่ในช่วงขาลงแบบที่ต่ำมาก นั่นจะทำให้จุดคุ้มทุนที่คำนวณไว้จำเป็นต้องเลื่อนออกไป

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็น Bitkub มุ่งสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคและประชาชน ด้วยการเร่งเดินสายการตลาดไล่แจกสินค้า พรีเมียมของบริษัท และเพื่อผลักดันให้มูลค่าเหรียญให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

Source

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1383855
แฉบิทคับเดินสายล้างสมองเยาวชน ผู้บริหาร SCBX พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ (ตอนพิเศษ) https://positioningmag.com/1380702 Thu, 07 Apr 2022 05:16:06 +0000 https://positioningmag.com/?p=1380702 ข่าวเชิงวิเคราะห์ “บิทคับยูนิคอร์นสายพันธุ์อันตราย?” ตอนพิเศษ โดย iBit

ผ่าแผนตลาดอำมหิตของบิทคับสร้างคอมมูนิตี้ล้างสมองเด็ก จ้างอินฟลูเอนเซอร์เจาะโรงเรียน-มหา’ลัย กล่อม ก่อน “ท๊อป-จิรายุส” สวมบท “ไลฟ์โค้ช” ปิดจ็อบขายฝันมอมเมาชวนล่าคริปโตฯ รู้ทั้งรู้ แต่ผู้บริหาร SCB กลับกำลังปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ!!?

ดีล 17,850 ล้านระหว่างไทยพาณิชย์กับบิทคับมีการประเมินกันว่า “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง และ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จะมีเงินไหลเข้ากระเป๋าส่วนตัวคิดเป็นมูลค่า 4,260 ล้านบาท

จิรายุส นั้นถือหุ้น 23.87% ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดในบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ที่ถือหุ้น 99% ใน ”บิทคับออนไลน์” เจ้าของ Exchange ตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ไทยพาณิชย์จะซื้อหุ้น 51% เพื่อครอบครอง

ขณะที่ไทยพาณิชย์ จะได้อะไร? ยังเป็นคำถามบนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนของอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัล และ ความเข้มงวดของการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทำไม? ไทยพาณิชย์ต้องทุ่มเงินมหาศาล เพื่อ Exchange ที่อนาคตไม่แน่นอน ทำไม? ต้องสนับสนุนตลาดที่มีภาพลักษณ์ของ “บ่อนพนัน” ความผันผวนสูง

จากตัวอย่างของ KUB Coin เหรียญของบิทคับ และเหรียญสัญชาติไทยเช่น JFIN และ SIX ที่เจ้ามือแสดงอิทธิฤทธิ์สร้างราคา-ปั่นเหรียญ จนกลายเป็นหายนะของรายย่อย ด้วยราคาขึ้นลงมากกว่า 1,800%

ไม่นับรวม ประเด็นที่ ก.ล.ต.เข้าตรวจสอบระบบการซื้อขาย พบข้อบกพร่อง ทำธุรกิจไม่รัดกุม ไร้ประสิทธิภาพ หรือ ตรวจพบ “นอมินี” หรือ “บัญชีม้า” ที่ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ ถูกสั่งให้แก้ไข และ โดนลงโทษมาก็หลายครั้ง นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจ Exchange ของ บิทคับ ออนไลน์ เมื่อเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง ไบแนนซ์ ยังพบว่า บิทคับทั้งเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่สูง 0.25% เก็บค่าบริการในการถอน 20 บาทต่อรายการโดยที่ธนาคารคิดเพียง 3 บาท

ผ่าแผนตลาดอำมหิต

แน่นอนว่า ปัจจัยภาพลักษณ์ติดลบนี้ ย่อมเป็นภาระที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะต้อง “แบกหม้อก้นดำ” หรือ มารับเคราะห์แทนบิทคับโฮลดิ้งส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่า เรื่องของบิทคับไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากถามคนในวงการเทคโนโลยี หรือ แวดวงการเงินการธนาคาร สิ่งที่พวกเขารับไม่ได้มากที่สุดในการทำธุรกิจของบิทคับ และ ท๊อป จิรายุส คืออะไร? เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เห็นว่า กลยุทธ์การตลาดที่บ้าคลั่ง โดยเฉพาะ การทำตลาดกับ เยาวชน เด็กนักเรียน นักศึกษา เพื่อโน้มน้าวให้ เข้ามาเป็นลูกค้าเปิดบัญชีเทรดคริปโตฯ กับบิทคับ

จิรายุส มักกล่าวเสมอว่า บิทคับ เป็นสตาร์ทอัปที่มีการเติบโตสูงปีละ 1,000% และ จะเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ได้อีก ซึ่งหากจะรักษาการอัตราการเติบโตของธุรกิจ และ กำไรเอาไว้ได้ วิเคราะห์กันว่า Exchange จะต้องมีผู้เข้ามาเปิดบัญชีเทรดกันมากขึ้น ฐานลูกค้า ยิ่งขยายนั่นหมายถึงค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และ รายได้ที่จะมากขึ้น โดยเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านบัญชี

ในปี 2565 “บิทคับ ออนไลน์” ตั้งเป้าหมายจะขยายฐานลูกค้าให้ได้ 7 ล้านราย จากเดิมที่เคลมว่ามีอยู่แล้ว 3 ล้านบัญชี หรือ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และมีสินทรัพย์ดิจิทัลให้เลือกซื้อขายมากกว่า 100 สกุลในกระดาน Bitkub จากที่มีอยู่ 50 กว่าเหรียญในปัจจุบัน

จากเป้าหมายดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเชื่อ วิธีทำให้ลูกค้าเพิ่มเป็น 7 ล้านรายให้ได้ คาดว่ากว่าครึ่งน่าจะมาจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือนักเรียนนักศึกษานั่นเอง และนั่นย่อมทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการลงทุนผิดพลาดเพิ่มสูงขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไร้ประสบการณ์การลงทุน ขณะที่เป้าหมายของบริษัทสำเร็จผลท่ามกลางเงินจำนวนมากของผู้ปกครองที่ต้องสูญเสียไปใครต้องรับผิดชอบ?

นี่คือแผนการตลาดที่อำมหิต และเป็นอันตรายต่ออนาคตของชาติ ที่กำลังหวั่นวิตกกัน

เห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บิทคับ ขยายฐานลูกค้า เจาะตลาดเยาวชนคนรุ่นใหม่ โหมกระพือด้วยแคมเปญต่างๆ ด้วยการเจาะเข้าสู่สถานศึกษา โรงเรียน และ มหาวิทยาลัย เพื่อให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตน

bitkub

รวมไปถึงการใช้โฆษณา ที่มีตัวของ จิรายุส ลงทุนเป็นพีอาร์ด้วยตนเอง ดังจะเห็นจากป้ายโฆษณาทั้งออฟไลน์และออนไลน์อยู่แทบจะทุกจุดที่มองเห็น จนวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่เด็กนักเรียน นักศึกษา ว่า ทุกวันนี้ไปไหนมาไหน แม้แต่เล่นมือถือเข้าอินเทอร์เน็ตเห็นหน้าท๊อป จิรายุส มากกว่า หน้าพ่อแม่ไปแล้ว หรือ มากกว่าป้ายผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. ก็ป้ายท๊อป จิรายุส นี่แหละ

กลยุทธ์ตลาดของ Bitkub วิธีการคือสูตรสำเร็จด้วยการนำเสนอ “สิ่งใหม่” จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และ นวัตกรรม ที่ทำดีไซน์ออกมาทำให้ดูเหมือนว่า เยาวชนต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน และ สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น “เชื่อมทุกโอกาสสู่โลกแห่งอนาคต” แต่สุดท้าย ก็คือการแอบแฝงชักชวนให้เด็กนักเรียนและนักศึกษาต้องเชื่อมต่อกับบิทคับด้วยการเปิดบัญชีเสียก่อนจึงจะเรียนรู้ได้

วิธีการสมัครเปิดบัญชีก็แสนง่ายดายด้วยแคมเปญ “10 บาท” ก็ลงทุนได้ ที่เป็นกับดัก ดักรออยู่ ทำให้มีนักเรียน นักศึกษา ถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นสมาชิกบิทคับจำนวนมาก

เชื่อได้ว่า ผู้ปกครองของบรรดานักเรียน นักศึกษา เหล่านี้ ก็กำลังปวดหัวกับ การที่ลูกหลานมาขอคำยินยอม ที่ไม่สามารถเข้าใจได้ ว่า คริปโตฯ คืออะไร ทำไมต้องใช้เงินไปลงทุน และ อนาคตอะไร นอกจากการเทรดเหรียญที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินทอง ไม่ต่างกับการ เล่นพนัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาภายในครอบครัวตามมา

ไล่จับเด็กตั้งแต่มัธยม

การทำตลาดเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายเยาวชนของบิทคับมีอะไรบ้าง ลองมาไล่เรียงกัน บิทคับและจิรายุส พยายามนำความคิด ความเชื่อเดียวกันกับ Bitkuber ที่ว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นเทรนด์ยอดฮิต ซึ่งคนในเจเนอเรชันนี้จำเป็นต้องตามให้ทันเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต กล้าที่จะลุกขึ้นปฏิวัติตัวเองเพื่อไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า หรือความมั่งคั่งร่ำรวย ครอบงำความคิดของเยาวชน หรือ อีกนัยหนึ่ง ก็คือ การปลูกฝังความเชื่อ ล้างสมองเด็กให้คิดถึง ความร่ำรวยที่จะมาพร้อมกับโอกาสของสินทรัพย์ดิจิทัล

กลยุทธ์เริ่มด้วยการสร้างชุมชน หรือ คอมมูนิตี้ เช่นเดียวกันกับ The Chosen one สำหรับกลุ่มชนชั้นดารา เซเลบ หรือ เจ้าของธุรกิจ คอมมูนี้ตีสำหรับเด็กของ บิทคับ จะทำผ่าน Bitkub Academy

ยกตัวอย่างเช่น Bitkub Academy จับมือกับ รร.อัสสัมชัญ จัดหลักสูตรเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี ให้นักเรียน ม.ปลาย ที่สนใจ โดยจัดเต็มตลอดภาคเรียนที่ 2/2564

คำเสนอเชิญชวนเด็ก ม.ปลาย.เหล่านี้ ระบุว่า จะได้พัฒนาความรู้ธุรกิจและทักษะแห่งอนาคต Blockchain เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่นักเรียนอัสสัมชัญจะมีโอกาสก้าวทันนวัตกรรมของโลก รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ทางด้านการเงินธุรกิจ และผลักดันให้ประเทศพร้อมเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการ AC Cryptocurrency & Blockchain Club : Cryptocurrency NFT Defi Learning บอกว่า เป็นหลักสูตรการสอนให้กับนักเรียนอย่างเต็มที่เริ่มตั้งแต่พื้นฐานและเนื้อหาสุดเข้มข้นไม่ว่าจะเป็น Blockchain & Cryptocurrency Decentralized Finance WHAT IS NFTS AND WHY IT IS COMMON? GAMEFI & HOWTO MAKE PROFITS แน่นอนว่า การเรียนรู้ต้องประกอบไปด้วยการสร้าง Community นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้เข้ากลุ่ม Line เพื่อร่วมพูดคุย ปรึกษา แนะนำ การพัฒนา แนวทางเกี่ยวกับ Blockchain จากรุ่นพี่อัสสัมชัญผู้อยู่ในวงการ Blockchain ด้วย

ทว่า มีตัวอย่างของเยาวชนที่สะท้อนผ่านสื่อโซเซียลฯ ที่เมื่อได้เห็นหรือฟัง ท๊อป จิรายุส เซเลบคริปโตฯ แล้วเปิดบัญชีเทรดกับบิทคับแล้วไปได้ไม่สวยเหมือนโฆษณา พอร์ตไม่ปังมีแต่พังเพราะ ขาดทุนและแขวนอยู่บนดอยด้วยราคาที่สูงลิบ

นอกจาก รร. อัสสัมชัญ แล้วบิทคับยังมีอีกหลายโครงการที่เข้าสู่โรงเรียนชื่อดังอื่นๆ และ ระดับอุดมศึกษา พยายามเข้าไปวางหลักสูตร การเรียน การสอน เพื่อให้สถานศึกษานำไปบรรจุให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ด้วยการสนับสนุนของบิทคับ และ ถือโอกาสไทอินโฆษณาไปด้วย

ดังตัวอย่าง “Bitkub Academy” ที่ไปร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จัดทำความร่วมมือ MOU ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ความรู้บล็อกเชนและคริปโตฯ ในรูปแบบออนไลน์ให้กับนักศึกษา กับโครงการ Bitkub Cryptonity

โดยจะจัดกิจกรรมผ่านการเรียนการสอนทั้งหมด 3 ครั้ง แบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ได้แก่ Let’s Play with Crypto เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์โลกการเงินตั้งแต่อดีตถึง Cryptocurrency และเรียนรู้เรื่องราวโลก Cryptocurrency , What is Blockchain? How Does it Work? เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่อดีตถึงเทคโนโลยี Blockchain

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดย เป็นข้อที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักศึกษากันว่า บรรดาอาจารย์ ครูผู้สอน กลายเป็นพีอาร์ให้บิทคับ มากกว่าจะให้ความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลจริงๆ

“Bitkub ICON” เฟ้นสตาร์ไปหาแมงเม่า

สำหรับระดับมหาวิทยาลัย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “Bitkub” เดินเกมไล่จับกลุ่มนักศึกษาผ่านการจัดแคมเปญเฟ้นหา “Bitkub ICON” กลุ่มแรกของประเทศไทย จำนวน 16 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครอบคลุม 4 ภูมิภาคตามสัดส่วน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

โดย Bitkub ICON ถูกประโคมโอ่ว่า คือ ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่มีความเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก มีความสนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลและเป็นตัวแทนของ Bitkub ในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสังคมการเงินแห่งโลกยุคดิจิทัล และสร้างคอมมูนิตี้ให้ทุกคนเข้าถึงได้

นอกจากนี้ Bitkub ICON จะนำความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้เรียนรู้จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ไปจัดทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ต่อให้คนในชุมชนและคนในมหาวิทยาลัยของตนเอง รวมทั้งจัดตั้งคอมมูนิตี้หรือชมรมในมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่อนาคตไปด้วยกัน

ทั้งนี้ Bitkub รายงานว่า แคมเปญ Bitkub ICON ได้รับผลตอบรับดีเกินคาดจากนักศึกษา จากหลายมหาวิทยาลัยกว่า 40 แห่ง

เรียกว่า บิทคับ พยายามอย่างมากในการสร้างคอมมูนิตี้ที่จะเป็นเครือข่ายขยายไปเรื่อยๆ ครอบคลุมครอบงำเด็กทุกระดับ หรือ นักลงทุนรายใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ให้มากที่สุด

จับมือกับวิชัย จับเด็กอาชีวะ

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Bitkub และกลุ่มนายวิชัย ทองแตง นักธุรกิจชื่อดัง ลงนาม MOU จับมือเป็นพันธมิตรจัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด (BITKUB WORLDTECH) โดยระบุว่า เพื่อพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างให้เด็กไทย มีทักษะ ตามเป้าหมาย “สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สู่โลกอนาคต”

“วิชัย ทองแตง” ระบุว่า “บิทคับ เวิลด์เทค” จะมุ่ง 3 ด้าน คือ 1. จะไม่นำเทคโนโลยี มาโกงและหลอกลวงผู้อื่น 2. จะเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ดีมีคุณธรรม และ 3. เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้แก่ผู้อื่น

จากนั้นเพียง 1 เดือน “บิทคับ เวิลด์เทค” ได้จัดโครงการ “ปั้น” อาชีวะสู่ Digital Transformation ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานีและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

จ้างอินฟลูเอนเซอร์นำกล่อม – ท๊อป ปิดจ็อบ

นอกจากการจับมือกับสถานศึกษา เสนอหลักสูตรคริปโตฯ แล้ว เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนมากขึ้น บิทคับ ยังว่าจ้างบรรดา “ยูทูบเบอร์” “อินฟลูเอนเซอร์” ที่บรรดาเด็กและเยาวชนติดตามตระเวนให้ไปร่วมพูดคุย เป็นวิทยากรในเวที หรือ อีเวนต์ที่ บิทคับ ให้ออกเงินจัดงาน

อินฟลูเอนเซอร์ ที่ถูกว่าจ้างมีหลากหลายสาขาอาชีพ มีทักษะในการสื่อสาร แต่อาจจะไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี สินทรัพย์ดิจิทัล แต่ท๊อป-จิรายุ ไม่ได้ขัดข้องขอให้แต่ละคนสามารถโน้มน้าวคน แฟนคลับ ให้เข้ามาคอมมูนิตี้ของบิทคับก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย โดยตัวเขา จะเข้ามาปิดจ็อบ ด้วยการทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “ไลฟ์โค้ช” พูดให้แรงบันดาลใจ ให้เยาวชน มีความรู้สึกดีกับ “ความเชื่อ” ที่บิทคับนำเสนอ

bitkub

อาทิ เช่น เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนภาคใต้ จัดงานวันการศึกษาเอกชนภาคใต้ ครั้งที่ 6 ซึ่งว่ากันว่า บริษัท บิทคับ เวิลด์เท็ค จำกัด ให้การสนับสนุน ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต

ภายใต้หัวข้อ “Metaverse กับการศึกษาในอนาคต” ในวันนั้น ว่ากันว่า มีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังร่วมงานหลายคน และ เจ้าของธุรกิจ “After yum” ที่มีลูกค้าและแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมากเปิดเวที แล้ว จิรายุส ก็ขึ้นมาเป็นไลฟ์โค้ช ให้กับผู้ฟัง

อีเวนต์การตลาดกับสถาบันการศึกษาเช่นนี้ ฟังว่า จะเดินสายจัดไปทั่วประเทศตามหัวเมืองใหญ่ และ จะมีที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว ด้วย

แทรกซึมทุกไลฟ์สไตล์เด็ก

นอกจากคอมมูนิตี้เด็กนักเรียน นักศึกษา กลยุทธ์การตลาดของบิทคับ ยังมุ่งเข้าหาไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ในทุกๆ กิจกรรมที่พวกเขาสนใจ

ตัวอย่างเช่น เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขัน อีสปอร์ต หรือ วงการเกม เช่น สนับสนุน ทีม เบคอนไทม์ ทีมอีสปอร์ต ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในระดับประเทศและเอเชีย โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งแต่ละรายเป็นกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นที่ชื่นชอบในการเล่นเกมมีแฟน ๆ ที่เป็นเด็กและเยาวชนติดตามจำนวนมาก โดยล่าสุดก็เพิ่งจะคว้าแชมป์แต่ก็มีเรื่องที่เป็นดราม่าในโซเชียลฯ เมื่อบิทคับให้ถ่ายทอดสดผ่านเพจของตนเอง หวังจะให้แฟนๆ ผู้รักอีสปอร์ตเข้ามารับชม แต่กลับปิดกั้นโอกาสแฟนคลับที่ตั้งตารอติดตามไลฟ์ผ่านเพจของเบคอนไทม์ไม่สามารถรับชมได้จึงกลายเป็นดราม่าขึ้นมา

จากหลากหลายกลยุทธ์การตลาดที่แทรกซึมไปในทุกที่ของบิทคับ พิสูจน์ได้ว่า คำกล่าวที่ว่า บิทคับ เท่ากับ มาร์เกตติ้ง คอมปะนี หรือ บริษัทด้านการตลาด นั้นไม่ได้ผิดไปนัก หลายฝ่ายเริ่มหวั่นเกรงว่า การปลูกฝังชุดความคิดแบบนี้ จะกลายเป็นการมอมเมาเยาวชน ให้เห็นดีเห็นงามกับโอกาสในการได้กำไรสูงๆ จากการลงทุนหรือจากบล็อกเชน โดยเฉพาะการซื้อขายเหรียญคริปโตฯ ที่ราคาผันผวน หรือ “ตลาดซิ่ง” ทั้งที่ปัจจุบันหลายคนยังไม่เคยเข้าใจต่อความเสี่ยงจากการลงทุนที่อาจเกิดความเสียหายมากกว่าจะได้มาง่ายๆ

นอกจากนี้ยังมีคำถามที่คาใจคือ มีนักศึกษาในสัดส่วนเท่าใด ที่ไม่ได้แบมือขอเงินพ่อแม่ใช้ หรือมีเงินพอที่จะสามารถกระโดดเข้ามาสู่บล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วยเงินของตนเอง

ไทยพาณิชย์ปัดตอบคำถาม

เรียกได้ว่า Bitkub จัดเต็มไล่ล่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งไลฟ์โค้ช ซีอีโอรุ่นใหม่หมื่นล้าน เพื่อดึงดูดใจให้เข้ามาเป็นสาวกล่าคริปโตฯ ไปด้วยกันกับบริษัท จึงแผนตลาดอำมหิตบิทคับ ล้างสมองเด็กให้ไล่ล่าคริปโตฯ ทั้งๆ ที่ประสบการณ์อ่อนด้อย ตัวเองร่ำรวยจากการเก็บค่าต๋ง ค่าบริการ กอบโกยรายได้จากตลาดซื้อขาย แต่ความหายนะและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงของการลงทุน เป็นอย่างไรไม่รับรู้ไม่สนใจอย่างนั้นหรือ?

จากสตาร์ทอัป ก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์น และ วาดหวังจะเป็น ซูเปอร์แอปฯ โกอินเตอร์ แต่ถามว่า คนไทย ประเทศไทย ได้อะไรกับการเติบโตของบิทคับในลักษณะนี้

เยาวชนเหล่านี้ควรเป็นอนาคตของชาติ และ สังคม กลับต้องมาติดกับดัก บิทคับ ที่ชักชวนให้คนมาซื้อขายเหรียญดิจิทัลที่ราคาผันผวนสูง ฤาไทยพาณิชย์ต้องการแบบนี้หรือ?

ยิ่งถ้ามองบรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน ธนาคารที่น่าภาคภูมิใจในฐานะธนาคารที่เก่าเเก่ที่สุดในไทย ที่มีอายุกว่า 115 ปี มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากที่สุดในวงการธนาคารไทยที่ 228,353.45 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนหุ้น 793,832,359 คิดเป็น 23.38% กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56% กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนหุ้น 392,649,100 คิดเป็น 11.56% บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 346,262,309 คิดเป็น 10.20% และ สำนักงานประกันสังคม จำนวนหุ้น 109,198,100 คิดเป็น 3.22%

ยิ่งต้องมีคำถามถึง คณะกรรมการธนาคาร ตลอดจนผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ควรละหรือที่จะหอบเงิน 17,850 ล้านบาทไปลงทุน Exchange หรือ Marketing company ดังที่กล่าวมาแล้วในบทวิเคราะห์ “บิทคับยูนิคอร์นสายพันธ์ุอันตราย?” ทั้งหมด 5 ตอน?

ประเด็นคำถามนี้ มีรายงานว่า ในที่ประชุมสามัญประจำปีของธนาคารพาณิชย์ที่จะจัดขึ้น วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยวิธีประชุมอี-มีตติ้ง ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นหลายคนได้ถามคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในบิทคับของ SCBX แต่ฝ่ายบริหารได้ตัดและปิดกั้นคำถามเหล่านี้โดยไม่ได้ตอบคำถามเลยแม้แต่คำถามเดียว

คำถามคือบรรดาผู้บริหารไทยพาณิชย์ที่ต้องบริหารสินทรัพย์ต่างพระเนตรพระกรรณพวกนี้กำลังปิดบังอะไรอยู่ คิดว่าจะปิดฟ้าด้วยฝ่ามือได้หรือ และสมควรหรือที่จะเข้าไปลงทุนในกิจการที่กำลังล้างสมองเยาวชนไทยให้กลายเป็นสาวกบิทคับเบอร์ของนายท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

Source

]]>
1380702
ดีล SCBX ฮุบ Bitkub เริ่มเสี่ยง… ได้ไม่คุ้มเสีย? https://positioningmag.com/1376593 Tue, 08 Mar 2022 04:27:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1376593 นับถอยหลัง Bitkub ขึ้นยานแม่ SCBX เสียงท้วงติงเริ่มปะทุ ได้คุ้มเสียหรือไม่ จะฝ่าด่านแบงก์ชาติอย่างไร เหตุมูลค่าดีลสูงจัด ใช่ Fair Value หรือไม่ ท่ามกลางความเสี่ยงของตลาดซิ่ง ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนเร็ว คู่แข่งใหม่-เก่า Binance จ่อเขย่าขวัญ ขณะที่ตัวเลขรายได้กับวอลุ่มซื้อขายดูค้านสายตา โดยเฉพาะจ้าง Market Maker เทรดฟรีไม่มีพูดถึง และบททดสอบการโดนแฮกที่บิทคับยังต้องพิสูจน์ ปลอดภัยจริงหรือ? ขณะที่วิถีสตาร์ทอัป “ท๊อป-จิรายุส” Exit พร้อมเงินก้อนโต 1.78 หมื่นล้าน

ช่วงนี้กลุ่มไทยพาณิชย์อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และโครงสร้างการถือหุ้น ตามยุทธศาสตร์องค์กรที่ต้องการสร้างการเติบโตและมูลค่าในระยะยาวตามบริบทของโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่งประกาศเริ่มกระบวนการแลกหุ้นระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) สู่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) เพื่อเดินเครื่องนำยานแม่ SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์แทนที่ SCB

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของ SCBX ที่มุ่งมั่นจะไม่ใช่แค่ทำธุรกรรมธนาคารแบบดั้งเดิมเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และหนึ่งในการปรับโครงสร้างธุรกิจการเงินที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 พ.ย. สร้างความสั่นสะเทือนวงการ กล่าวกันว่าเป็น “ซูเปอร์ดีล” หรือ “เซอร์ไพรส์ดีล” คือ การจะซื้อหุ้น 51% จากบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub สตาร์ทอัปเจ้าของตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ที่เติบโตพรวดพราดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 17,850 ล้านบาท

Photo : Shutterstock

ความเคลื่อนไหวในครั้งนั้นมีการวิเคราะห์กันว่าทั้ง SCBX และบิทคับ จะ WIN-WIN ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งราคาหุ้นของ SCB และ Kubcoin เหรียญของบิทคับเองราคาพุ่งไปกว่า 200% จากการแห่แหนเก็งกำไรแบบเย้ยฟ้าท้าดิน ท่ามกลางความประหลาดใจระคนสงสัยว่า พื้นฐานที่แท้จริงอยู่ตรงไหน มิหนำซ้ำเวลานั้นว่าไปแล้ว ดีลยังไม่จบไปเอาความมั่นใจมาจากไหนกัน? งานนั้นใครลาก ใครปั่น และใครได้ ใครเสีย? ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ชวนให้น่าตรวจสอบ (โปรดติดตามอ่านรายละเอียดได้ในตอนต่อไป)

เนื่องเพราะดีลนี้ตามขั้นตอนทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องออกมาเป็นที่น่าพอใจ หรือเรียกว่า “ตรงปก” และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสํญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน

ยังไม่ทันปัง ฤาจะพังเสียก่อน?

มีรายงานว่า กลุ่มไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) และยื่นคำขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการลงทุนใน Bitkub เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีใครยืนยันรายละเอียดว่า หลังจากทำดีลดิลิเจนท์แล้วมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หรือมูลค่าการซื้อขายระหว่างกันหรือไม่ ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้ซูเปอร์ดีลระหว่าง SCBX กับ Bitkub อยู่ในการพิจารณาของแบงก์ชาติ

ผลการพิจารณาของแบงก์ชาติจะออกหัวหรือก้อยยังต้องติดตามกัน แต่จากสัญญาณที่แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดเงินดูเหมือนจะมีความเข้มข้นในการปกป้องความเสี่ยง เน้นมาตรการปลอดภัยไว้ก่อน หลายฝ่ายเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝ่าด่านธปท.

ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ผลกระทบจากภัยพิบัติโควิดระบาด มาจนถึงวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลมีความผัวผวนอย่างหนัก ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอยู่ในภาวะดิ่งเหวที่มองไม่เห็นก้นเหว ซึ่งหวั่นวิตกกันว่า ตลาดเทรดคริปโตฯ ที่ได้ชื่อว่า “ตลาดซิ่ง” ขึ้น-ลง ไม่มีเพดาน ไม่ต่างกับรถไฟเหาะตีลังกา จะเข้าสู่วงจร ‘ภาวะหมี’ แตกต่างจาก ‘ภาวะกระทิง’ ช่วงเฟื่องฟูปี 2564 ที่ SCBX จะเข้าซื้อ Bitkub เหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วง 3-4 ปีก่อนนี้ทำให้มูลค่าหดหายไปมหาศาล

กล่าวได้ว่า ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อคริปโตฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ SCB ประกาศจะซื้อหุ้นบิทคับดังกล่าว มิพักต้องสงสัยว่า เวลานี้มูลค่าของตลาดคริปโตฯ ของบิทคับจะหายไปแค่ไหน ขณะที่นักลงทุนขยาดที่จะลงทุนเพิ่ม ติดอยู่บนดอยสูง เกิดความเสียหายโดยที่การฟื้นตัวยังมองไม่เห็น ย่อมส่งผลต่อ รายได้จากค่าต๋งในการเทรดและกำไรของบิทคับโดยตรง

ประกอบกับความเข้มงวดของแบงก์ชาติที่ผ่านมา ตีกรอบไว้ชัดเจนเป็นกฎเหล็กไว้ว่า ถึงแม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับโครงสร้างธุรกิจการเงินอย่างไร แบงก์ต่างๆ ยังมีหน้าที่รับเงินฝากจากประชาชน เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดๆ ที่จะนำความเสี่ยงมาสู่แบงก์ ธปท.จะไม่ยอมให้เกิดขึ้น พูดง่ายๆ ว่า กรณีของบิทคับก็ไม่มีข้อยกเว้น ต้องไม่นำความเสี่ยงใดๆมาสู่แบงก์ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

ปกติแล้ววงจรของตลาดคริปโตฯ ผันผวนขึ้นสูงสุดเป็นพันๆ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ลงได้เป็นพันๆ เปอร์เซ็นต์เช่นกัน เป็นวงจรที่สลับไปมาอยู่เสมอ ตอนนี้ภาวะยิ่งผันผวนหนัก นั่นทำให้บิทคับ ถูกมองว่าอยู่ในโซนมีความเสี่ยงสูง ดีลที่ไทยพาณิชย์คาดหวังไว้สูงจะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต นำยานแม่ตะบึงไปในจักรวาล ถึงเวลานี้เริ่มมีคำถามถึง “ความเสี่ยง” ที่จะได้มากกว่าความคุ้มค่าหรือไม่? หรืออีกนัหนึ่ง ว่า ความปังยังไม่เกิด หรือ ความพังจะมาก่อน?

คำถามคือ แล้วผู้คุมกฎอย่างแบงก์ชาติ-ก.ล.ต.จะยอมหรือ?

SCBX ได้คุ้มเสีย? ที่แน่ๆ Bitkub นับเงินเพลิน

เดิมความปังของ SCBX ที่ว่ามาจากการคาดการณ์ว่าความเป็นเจ้าของในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จะเปลี่ยนมือมาเป็น SCBS ภายในไตรมาสแรกปีนี้ และหลายฝ่ายเชื่อว่านี่คือการตอบโจทย์ในแผนกระโดดขึ้นยานแม่ SCBX ของ SCB เพราะเดิมการเป็นเพียงแค่ธนาคาร ทำให้จะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจึงเป็นเรื่องที่ยาก จึงจำเป็นต้องใช้บริษัทลูกเข้าทำ แม้ตัวเองจะเป็นผู้ลงทุน

เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นที่มาในการตั้ง Holding Company เพื่อตั้งบริษัทลูกขึ้นมาหลายบริษัท เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายกิจการท่ามกลางธุรกิจธนาคารที่เผชิญการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากธนาคารเข้าลงทุนโดยตรงจะเจออุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉินที่ธนาคารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ SCB มองเห็นว่าสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็น New Growth ที่น่าสนใจลงทุน เพราะจะช่วยให้ SCBX สามารถสร้างคุณค่าใหม่ที่สามารถเติบโตในระยะยาวไปกับโลกใหม่ได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยานแม่ ในการยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงิน สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ของผู้บริโภค และสามารถเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

Photo : Shutterstock

ทั้งที่ Bitkub นั้นคือ Decentralized Finance (Defi) หรือการกระจายศูนย์ทางการเงิน ซึ่งระบบเดิมจะมีธนาคารเป็นผู้ดูแล แต่ Defi นั้นจะเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านธนาคาร ซึ่งเหมือนสิ่งที่ย้อนแย้งกัน

ประการสำคัญ ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนับแต่เข้าสู่ปีเสือ 2565 หากตลาดเทรดคริปโตฯ ดำดิ่งเช่นนี้ ซึ่งคาดกันว่า ไซเคิลจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ปีกว่า ผลประกอบการที่คาดหวังไว้ในการลงทุน Bitkub ย่อมไม่เป็นไปตามที่คาดอย่างแน่นอน นั่นจะผลักดันให้กลุ่มไทยพาณิชย์กลายเป็นเสือลำบาก มูลค่าการลงทุน 1.78 หมื่นล้านจะต้องมีคำถามว่าคุ้มหรือไม่เมื่อต้องแบกรับ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับ Bitkub โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเทียบกับกำไรของบิทคับที่แปรผันตามตลาดเทรดคริปโตฯ ก่อนนี้ มีกำไรเกือบๆ 2 พันล้านบาทต่อปี ถือว่ามี Valuation ที่เหมาะสม จากนี้ไปยังจะเหมาะสมอยู่อีกหรือไม่ กับโอกาสการที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นมีหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่นักวิเคราะห์เริ่มมองกัน

SCBX ประเมินไว้ว่า หลังเข้าบริหารกิจการบิทคับ ข้อดีของ Bitkub คือ การเป็นกระดานเทรดสัญชาติไทยที่มีผู้เปิดบัญชีอยู่กว่า 3 ล้านบัญชี สามารถแลกเปลี่ยนจากเงินบาทเป็นเหรียญดิจิทัลได้เลย ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ Bitkub สามารถผูกบัญชีธนาคารไว้กับบัญชีผู้ใช้ ดังนั้นการที่ SCB เข้ามาถือหุ้น 51% ย่อมได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันการจะถอนเงินจาก Bitkub เข้าบัญชีธนาคารต้องเสียค่าธรรมเนียม และ SCB สามารถดึงลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีกับตัวเองได้เพิ่มเพียงแค่ลดค่าธรรมเนียมให้น้อยกว่าเจ้าอื่นๆ

นอกจากนี้ ดีลครั้งนี้จะทำให้ SCB ได้เทคโนโลยีของ Bitkub เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มลงทุนจากศูนย์ หรือเริ่มตั้งแต่ตั้งไข่ ขณะเดียวกัน Bitkub จะได้รับเงินทุนจำนวนมากเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบจาก SCB

แต่ด้วยดีลนี้เป็นดีลขนาดใหญ่ และหากเป็นดีลขนาดใหญ่โดยทั่วไปจะต้องมีการพิจารณาจากบอร์ด และการทำข้อตกลงร่วมกัน จากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการคิดคำนวณหามูลค่าลงทุนที่เป็น Fiar Value ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อได้ราคามายังจำเป็นต้องมีการเจรจาต่อรองกันอีกรอบ

จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอข้างต้น จึงกลายเป็นคำถามว่า “สรุปแล้วดีลนี้มัน win-win หรือได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจริงหรือไม่?”

Photo : Shutterstock

หันมาดูฝากของ Bitkub บ้าง สำหรับ Bitkub ถือเป็น 1 ใน 7 กระดานเทรดเหรียญดิจิทัลของไทย ซึ่งได้ไลเซนส์จากคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อตั้งโดย “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากก่อตั้งบริษัท ท๊อปกลายเป็นเน็ตไอดอลของนักเทรดคริปโตฯ มือใหม่ Bitkub เป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่ บรรดาสตาร์ทอัป นักเรียนนักศึกษา ไปจนรายย่อยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเทรดคริปโตฯ เก็งกำไร

Bitkub นั้นขี่กระแสบิตคอยน์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ประกอบกับการปูพรมทำการตลาดแบบออฟไลน์-ออนไลน์ ให้ทุกคนได้เห็นและคุ้นชื่อ คิดถึง บิตคอยน์ คิดถึงบิทคับ ชวนเชื่อว่า นี่เป็นโลกใหม่ แพลตฟอร์มที่จะเชื่อมทุกคนไปสู่โลกอนาคต

ว่ากันว่า ก่อนที่ท๊อปจะปิดดีลกับไทยพาณิชย์ เขาเร่เสนอขายหุ้นให้บรรดาเศรษฐีทั่วฟ้าเมืองไทย แต่ไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งน่าคิดว่า ทำไม? เพราะอะไร? เศรษฐีนายทุนทั้งหลายจึงปฏิเสธที่จะลงทุน? ต่อมานักวิเคราะห์เชื่อกันว่า สาเหตุที่หลายคนปฏิเสธ บิทคับอาจจะเห็นว่า มูลค่าที่ท๊อปเสนอมานั้นสูงเกินจริง ขณะที่คริปโตฯ เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างจาก “บ่อนพนัน” โอกาสที่จะให้ผลประโยชน์คุ้มค่าในการลงทุนนั้นประเมินยาก

วันนี้ โดยหากไม่นำไปเปรียบเทียบกับ Binance ซึ่งเป็นกระดานเทรดระดับโลกที่คนไทยนิยมเปิดบัญชี Bitkub ใช้เวลาเพียง 3 ปีสามารถเป็นกระดานเทรดที่มีคนใช้มากที่สุดในไทย ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 3 ล้านบัญชี ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยประมาณ 90% และมีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วง 9 เดือนแรกในปี 2564 มากกว่า 1.03 ล้านล้านบาท

เมื่อข่าวว่าท็อปจบดีลกับไทยพาณิชย์ได้เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 จึงทำให้หลายคนประหลาดใจ แน่นอนว่า ฝ่าย SCBX ก็ไม่ได้จีบแค่ท๊อปคนเดียว แต่สิ่งที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในกลุ่มแฟนคลับของบิทคับ คือ ทำไมเขาจึงยอมเสียการบริหารบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งมากับมือโดยยอมขายให้ไทยพาณิชย์มากถึง 51% เหลือสถานะแค่ผู้ถือหุ้นจนแฟนคลับบางกลุ่มรับไม่ได้ถอนตัว ปิดบัญชีไปเลยก็มี

ก่อนหน้านี้ เคยมีการซื้อขายหุ้นในธุรกิจตลาดเทรดคริปโตฯ และโบรกเกอร์คริปโตฯ รายอื่นๆ ให้ผู้เล่นรายใหญ่เกิดขึ้นบ้าง เช่น การเข้าถือหุ้นใน Zipmex ของธนาคารกรุงศรีฯ แต่ก็ไม่ใช่สัดส่วนที่สูงถึง 51% เหมือนกรณี SCBX กับบิทคับ

ในวงการสตาร์ทอัป ว่ากันว่า จุดหมายปลายทางของธุรกิจเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งหรือจุดพีก ผู้ก่อตั้งที่มองเห็นโอกาสมักจะขายธุรกิจเพื่อทำกำไร หรือ “EXIT” ออกมาพร้อมกับเงินก้อนโตที่ได้จากนักลงทุน หรือผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ เพื่อไปหาความท้าทายใหม่ หรือปั้นธุรกิจใหม่ย่อมดีกว่า และเป็นวิถีที่สตาร์ทอัพกระทำกัน เพราะ “จังหวะ” คือ “โอกาส” นั่นเอง

“SCB เวลานั้นต้องการหาการฟื้นตัว หาธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต และอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วคือ Start Up โดย Start Up ที่เป็นไฟแนนซ์และเติบโตเร็วที่สุดก็ต้องตลาดคริปโตเคอร์เรนซี นั่นจึงทำให้ก่อนที่จะมาจบดีลกับ Bitkub นั้น SCB มีการส่งทีมงานผู้คุยกับ Exchange ที่มีใบไลเซนส์จากคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทุกราย เพราะเขาสนใจเข้าลงทุนเพื่อให้มาเป็นธุรกิจหลักในอนาคต แต่หลายบริษัทเขามองต่างว่า นี่คือธุรกิจหลักที่กำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบัน และไม่ต้องการให้มีใครเข้ามาควบคุมหรือแบ่งปันอำนาจเลยมีการปฏิเสธไป แต่เผอิญการพูดคุยกัย Bitkub มันประสบความสำเร็จ จึงเกิดดีลนี้ขึ้น” แหล่งข่าวในวงการตลาดคริปโตฯ แสดงความเห็น

“นอกจากนี้ นี่เป็นความฉลาดท๊อป-จิรายุสเจ้าของ Bitkub ที่มองออกว่า ตลาดในช่วงนั้นสำหรับบิทคับน่าจะเป็นจุดสูงสุด (Peak) แล้ว ดังนั้น การที่ได้รับโอกาสเป็นเม็ดเงินที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่ยอมขายหุ้นบางส่วนออกมาเพื่อทำกำไร มันก็เหมือนกับหลายธุรกิจอื่นๆ ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อมีรายใหญ่เข้ามาซื้อกิจการส่วนมากก็จะเป็นช่วงที่อยู่บนจุดสูงสุดของบริษัทนั้นแล้ว ขายไปแล้วได้กำไรได้เงิน อนาคตจะออกไปเปิดใหม่อีกย่อมทำได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า นี่เป็นอีกสิ่งที่จะทำให้ในอนาคตตลาดคริปโตฯ เมืองไทยหวือหวานั่นคือราคาประเมินในดีลดังกล่าวที่สูงมาก นั่นย่อมทำให้ต่อไป หากธนาคารไหนสนใจจะเข้าเทกโอเวอร์ Exchange แบบนี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุน บนความเสี่ยงที่มีอยู่

นั่นหมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่ซูเปอร์ดีลนี้จบสมบูรณ์ SCBX เดินไปบนความเสี่ยงของธุรกิจบิทคับแต่สำหรับกับ “ท๊อป-จิรายุส” มีแต่ได้กับได้ มีคนมาช่วยรับความเสี่ยงไป และ ยัง Exit ออกมาด้วยเม็ดเงิน 1.78 หมื่นล้าน นับกันเพลินๆ มองหาโอกาสใหม่ให้ตัวเองสบายๆ และยังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง หลัง SCBX ใส่เงินลงทุนมา บิทคับ ที่ก่อตั้งกลายเป็น “ยูนิคอร์น” ติดปีกบินเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงสตาร์ทอัปเมืองไทยอีกด้วย

ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทลูกในเครือบิทคับในส่วนที่ท๊อป-จิรายุส ยังดูแลเริ่มขยับร่วมมือกับพันธมิตร เปิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นๆ (โปรดติดตามอ่านรายละเอียดได้ในตอนถัดไป)

3.5 หมื่นล้านบาทสูงไปหรือเปล่า?

ทีนี้กลับมาย้อนดูความเสี่ยงของ SCBX กันทีละประเด็น เริ่มกันที่มูลค่าของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่ถูกคำนวณว่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท และ SCB ต้องใช้เงินสูงถึง 1.78 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าถือหุ้น 51% นั้น จนปัจจุบันนี้ก็มีหลายเสียงที่มองว่า มูลค่าดังกล่าวนั้นสูงมาก สูงจนอาจเรียกได้ว่าสูงจนเกินไป แม้จะมีรายได้ 9 เดือนแรกปี 2564 ที่ระดับ 3.27 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.53 พันล้านบาท นั่นเพราะทุกธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง ไม่พ้นแม้แต่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ เพราะอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับปัจจุบัน โดยราคาเหรียญสำคัญอาจจะลดลงไป ซึ่งจะมีผลให้รายได้ของบริษัทลดลงไปด้วย

รายได้กับวอลุ่มที่ชวนสงสัย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ชวนสงสัย นั่นคือ รายได้กับปริมาณการซื้อขายของ Bitkub เพราะจากข้อมูลที่นำเสนอมาด้วยวอลุ่มซื้อขายรวม 9 เดือน 1.03 ล้านล้านบาท กับค่าธรรมเนียม 0.25% นั้นไม่สามารถออกดอกผลมาเป็นรายได้ถึงระดับ 3.27 พันล้านบาทได้ และน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านบาท

“เขาอาจจะมีรายได้จากค่าฟีในการถอนเงินเข้ามาเสริม แต่เชื่อว่ามันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะหากต้องการให้ได้รายได้ระดับนั้นมันต้องใช้ Trading Volume ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท คือมากขึ้นอีก 2 แสนล้านบาท อันนี้มันทำให้น่าสงสัย”

Closeup – Woman is checking Bitcoin price chart on digital exchange on smartphone, cryptocurrency future price action prediction.

Market Maker นัยแฝงของค่าฟี

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะออกเหรียญแต่ละเหรียญนั้นมันมีต้นทุนหลายด้าน นั่นรวมถึงการมี Market Maker หรือบุคคลที่ถูกเชิญเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่อง เพื่อให้ตลาดเทรดนั้นมีความเคลื่อนไหว เพราะว่าไปแล้ว ตลาดเทรดในไทยยังเป็นกลุ่มเฉพาะนักลงทุนในตลาดไม่ได้มากเหมือนตลาดหุ้นที่มีมานาน จำเป็นต้องอาศัยกลุ่มคนมาสร้างสภาพคล่อง ซึ่งบางเหรียญ Market Maker อาจมีมากกว่า 3-5 ราย ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับ Trading Volume ที่ข้อมูลของบิทคับเปิดเผยมา ปริมาณการซื้อขายแท้จริงจึงไม่น่าจะถึง เพราะส่วนนี้รวมต้องไม่ลืมนับ Maket Maker เข้าไปด้วย

“มากที่สุดอาจเหลือแค่ 1 ใน 3 จากข้อมูลที่นำเสนอออกมา และเราต้องไม่ลืมว่า Maket Maker พวกนี้เข้าเทรดฟรี โดยไม่มีการคิดค่าฟี หรือค่าธรรมเนียม นั่นยิ่งทำให้ตัวเลขรายได้ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น”

กัลฟ์กับไบแนนซ์เขย่าขวัญ SCBX – บิทคับ

ประเด็นถัดมาถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงทางธุรกิจนั่นคือ โอกาสที่จะเกิด “คู่แข่งขัน” นั้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาโดยตรงจากต่างประเทศ หรือการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีแนวคิดเดียวกันกับ SCB เกิดขึ้น นั่นย่อมหมายถึงสงครามในการแย่งชิงจำนวนบัญชีลูกค้าในอนาคตที่มีความเป็นไปได้มาก แม้ Bitkub จะออกตัวนำเจ้าอื่นๆ ไปก่อนก็ตาม แต่หากเกิดสงครามแย่งชิงลูกค้าทำให้ต้องเกิดการตลาดลดราคาค่าบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การไม่คุ้มค่ากับการลงทุนตามมา

กรณีของบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเม้นท์ ส่งกัลฟ์ อินโนวา ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่มไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งดำเนินธุรกิจ ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่เบอร์ต้นๆ ของโลกที่มีปริมาณการซื้อขายมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ที่นักเทรดคริปโตฯ เมืองไทยรู้จักกันดีจะเข้ามาเปิดแนวรุกเปิดตลาดในไทย กำลังได้รับการจับตาว่า จะเข้ามาเปลี่ยนเกมตลาดคริปโตฯ ที่บิทคับครองส่วนแบ่งตลาดอยู่อย่างแน่นอน

งานนี้นักวิเคราะห์มองกันว่า บิทคับ ที่เคยดำเนินธุรกิจแบบไร้คู่แข่งจะเจอศึกหนัก และเรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงของ SCBX ที่แม้จะคาดไว้แล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้

1.78 หมื่นล้านบาทคืนทุนเมื่อใด?

มาถึงคำถามที่ขณะนี้กำลังเป็นประเด็น นั่นคือ โอกาสในการคืนทุนของ SCBX จะต้องรอถึงเมื่อใด นักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า หากคำนวณจากตัวเลขที่ Bitkub นำเสนอในช่วงที่เป็นข่าวคืองวด 9 เดือนแรกปี 2564 มาคำนวณโอกาสในการคืนทุนภายใน 1-2 ปีนั้นยังเป็นไปได้ยากเพราะตลาดคริปโตฯ เมืองไทยแม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังไม่ใหญ่มากพอกับตลาดในต่างประเทศ อีกทั้งการจะทำให้เติบโตได้ต้องมีโปรดักต์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุน

เมื่อประมวลจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาการคืนทุนอาจจะใช้เวลานานกว่าเดิม ที่เหลือต้องพยายามอย่างหนักเพื่อรอให้ไซเคิลของคริปโตเคอร์เรนซีหวนกลับมาอยู่ในภาวะกระทิง และผลักดันแผนในการทำ IPO ของบิทคับที่คาดว่าจะระดมทุนได้อีกรอบให้ลุล่วงโดยเร็ว แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบิทคับ SCBX น่าจะต้องทำใจกับมูลค่าที่ลดลง และประเด็นที่ไม่เคยมีใครมอง นั่นคือ การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และการให้ความสำคัญในเรื่องระบบหลังบ้านและด้าน SECURITY เพราะ Bitkub เคยมีปัญหารับออเดอร์ไม่ทัน และยังไม่เคยเจอบททดสอบที่สำคัญ เช่น การโดนแฮกข้อมูล (Hack) ในฐานะ Exchange ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับ Exchange รายใหญ่มามากแล้ว

“ถ้าโดนแฮกขึ้นก็ไม่รู้จะเกิดอะไรกับ SCB ยิ่งโดนหลังจากดีลนี้จบแล้วยิ่งน่ากังวล เพราะเวลาแฮกกันเขาไม่ได้แฮกกันน้อยๆ มันเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก และการที่ Exchange โดนแฮก มันหมายถึงต้องรับผิดชอบในส่วนที่สูญหายไปของลูกค้าด้วย ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามว่าจะรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร”

งานนี้ต้องติดตามกันต่อไป เมื่อ SCBX กระโดดขี่หลังยูนิคอร์น Bitkub บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

(โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 ย้อนรอยซูเปอร์ดีล หุ้นพุ่ง-Kubcoin ทะลุเมฆ ใครปั่น ใครได้ ใครเสีย ในวันจันทร์ถัดไป)

Source

]]>
1376593