บีอีซี เวิลด์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 17 Jun 2022 02:47:46 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “บีอีซี สตูดิโอ” อาวุธใหม่ “บีอีซี เวิลด์” ลงทุนโรงถ่าย-บุคลากร ปั้น “ซีรีส์” ส่งออกเทียบชั้นเกาหลี https://positioningmag.com/1389092 Fri, 17 Jun 2022 02:13:13 +0000 https://positioningmag.com/?p=1389092 เอาจริงแบบจัดเต็ม! “บีอีซี เวิลด์” เปิดบริษัทย่อย “บีอีซี สตูดิโอ” ลุยงานผลิต “ซีรีส์” เพื่อส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะ ลงทุนสร้างสตูดิโอหนองแขมเฟสแรก 400 ล้านบาท ปั้นบุคลากรทั้งเขียนบท-โปรดักชัน-ซีจี เพื่อยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ให้เป็นสากล ดึงตัว “อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” จาก True CJ Creations คุมทัพ ส่งต่อองค์ความรู้การผลิตซีรีส์จากเกาหลี

สภาวะ “ดิสรัปต์ชัน” ในวงการโทรทัศน์ ทำให้ “บีอีซี เวิลด์” พึ่งพิงเฉพาะรายได้จาก “ช่อง 3” ไม่ได้อีกต่อไป จึงมีการวางกลยุทธ์ ‘New S-curve’ สร้างธุรกิจ “ผลิตคอนเทนต์” ไม่ใช่แค่ป้อนให้กับช่อง 3 แต่เพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศซึ่งมีโอกาสกว้างกว่า แต่ก็ต้องแข่งขันสูง และต้องยกระดับคอนเทนต์ให้เป็นสากล

“อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด เปิดเผยว่า จากกลยุทธ์ของบีอีซี เวิลด์ทำให้บริษัทย่อยแห่งใหม่นี้จะเป็นหัวหอกในการสร้างคอนเทนต์ป้อนตลาดต่างประเทศ โดยบริษัทมีการศึกษาตัวอย่างจาก “เกาหลีใต้” ซึ่งสามารถพัฒนาซีรีส์ให้เป็นสากลจนเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย เพื่อนำมาเปรียบเทียบอุดช่องโหว่ในไทย

บีอีซี สตูดิโอ
“อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด

ข้อสรุปที่อภิชาติ์พบว่าเป็น “จุดที่ต้องพัฒนา” ของละครหรือซีรีส์ไทยหากอยากไปตลาดโลก มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ

1.บทละคร ต้องยกระดับให้เป็นสากลในด้านวิธีการเล่าเรื่อง และการพัฒนาตัวละครให้ลึกขึ้น ในขณะที่ยังคงรสชาติของวัฒนธรรมไว้ได้

2.โปรดักชันการผลิต ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมาก โดยการผลิตซีรีส์ของเกาหลีเรื่องหนึ่งใช้เวลาเพียง 4 เดือนถ่ายเสร็จ ขณะที่ไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือน

ข้อแตกต่างคือ เกาหลีมีการสร้างสตูดิโอในร่ม ทำให้สามารถเซ็ตแสงกลางวัน-กลางคืนได้ ควบคุมเวลาได้ ซีนถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในสตูดิโอเดียว ไม่ต้องเคลื่อนย้ายมาก ขณะที่ไทยมักจะใช้สถานที่ถ่ายทำนอกสตูดิโอ ซึ่งทำให้การควบคุมแสงทำได้ลำบาก การถ่ายทำไม่ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เกาหลีจะมีการถ่ายทำ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ไทยมีวิธีทำงานแบบถ่ายทำควบ 2 กองถ่ายแต่ใช้คนกองชุดเดียวกัน ทำให้แต่ละกองจะได้คิวถ่าย 3-4 วันต่อสัปดาห์ จึงใช้เวลานานต่อหนึ่งเรื่อง

ตัวอย่างภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ Squid Game ในโรงถ่าย โดยใช้สกรีนช่วยเพื่อทำซีจีในภายหลัง (Photo: YouTube@Still Watching Netflix)

3.นักแสดง ต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพการแสดงที่ยกระดับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มองว่าข้อดีของนักแสดงไทยนั้นมีบุคลิก รูปร่างหน้าตาที่เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ

 

ลงทุน 400 ล้านเนรมิตสตูดิโอหนองแขม

อภิชาติ์กล่าวต่อว่า บีอีซี สตูดิโอ จึงมีการลงทุนเพื่อตอบโจทย์ทุกอย่างเหล่านี้ทั้งทางกายภาพและบุคลากร แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1.Studio

บริษัทเตรียมงบลงทุน 400 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างสตูดิโอ “CH3 Sound Stage Studio” เฟสแรก ในพื้นที่โรงถ่ายหนองแขมซึ่งมีที่ดินรวม 72 ไร่ (ที่ดินของตระกูลมาลีนนท์)

ที่ดินนี้เดิมมีการสร้างเซ็ตติ้งประเภท Backlot ไว้อยู่แล้ว เป็นฉากถ่ายทำแบบกลางแจ้งสำหรับละครประเภทพีเรียด แต่การสร้างสตูดิโอแบบ Sound Stage จะเป็นแบบในร่ม ใช้ถ่ายทำซีนภายในอาคารต่างๆ สามารถจัดแสงได้ง่าย และถ่ายทำแบบ Green Screen ได้ โดยเฟสแรกจะมีทั้งหมด 6 สตูดิโอ แบ่งเป็นขนาด 2,000 ตร.ม. 2 สตูดิโอ, 1,500 ตร.ม. 2 สตูดิโอ และ 800 ตร.ม. 2 สตูดิโอ

บีอีซี สตูดิโอ โรงถ่าย
ภาพจำลองสตูดิโอแบบ Sound Stage ที่จะก่อสร้างขึ้น
บีอีซี สตูดิโอ
สตูดิโอแบบ Backlot ใช้ในการถ่ายทำละครพีเรียด

2.Creative

กรณีนี้บีอีซี สตูดิโอต้องการจะยกระดับนักเขียนบทในไทยให้พัฒนาบทได้เป็นสากล จึงเปิดโปรเจ็กต์ Workshop การเขียนบท โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 12 แห่งของไทย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นวิทยากรอบรม

รอบแรกเดือนเมษายน 2565 มีการรับสมัครและจัด Workshop ไปแล้ว 35 คน (คัดเลือกจากใบสมัครกว่า 600 คน) และหลังจากนี้จะมีการเปิดรอบต่อๆ ไป

3.Production

บีอีซี สตูดิโอมีการว่าจ้างทีมงานผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่เป็น in-house ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาการถ่ายทำได้คล่องตัว

4.Post-production

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยแตกต่างจากสากล คือการทำ “ซีจี” (Computer Graphic) หลังการถ่ายทำที่ต้อง ‘เนียน’ ให้มากขึ้น ซึ่งบริษัทจะมีการนำเข้าเทคโนโลยี และติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเทรนนิ่งให้กับบุคลากรทีมซีจีของบีอีซี สตูดิโอ

นอกจากนี้ จะมีการใช้เทคโนโลยี Virtual Production เข้ามาถ่ายทำด้วย โดยเทคโนโลยีนี้เป็นการใช้กำแพง LED ฉายภาพฉากเสมือนจริงขึ้นมาระหว่างถ่ายทำ ไม่ต้องรอใส่ฉากเข้าไปใน Green Screen ภายหลัง

 

ประเดิม 3 ซีรีส์แรก เริ่มเปิดกล้องปีนี้

ด้านโมเดลธุรกิจของบีอีซี สตูดิโอ ดังที่กล่าวว่าเป็นการผลิตเพื่อเจาะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ บริษัทจะมีทั้งการผลิตแบบ Original Series ด้วยทีมงานของบีอีซีเอง และติดต่อขายให้กับ OTT และช่องโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ โดยซีรีส์กลุ่มนี้จะลงฉายในช่อง 3 และดิจิทัลแพลตฟอร์ม 3Plus ด้วย รวมถึงบริษัทยังมีการผลิตแบบ Co-Production กับสตูดิโอหรือช่อง OTT ต่างประเทศด้วย ขณะนี้มีดีลที่กำลังเจรจาและจะประกาศได้เร็วๆ นี้

อภิชาติ์กล่าวถึงตลาดศักยภาพของไทย แน่นอนว่าอันดับ 1 คือ “จีน” ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด รองๆ ลงมา เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ทวีปอเมริกาใต้

บีอีซี สตูดิโอ
ซีรีส์ที่เริ่มการถ่ายทำในปี 2565 ของ บีอีซี สตูดิโอ

โดยปี 2565 นี้มีซีรีส์พร้อมเปิดกล้องถ่ายทำแล้ว 3 เรื่อง จะเริ่มเปิดกล้องครบในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ได้แก่

  • มือปราบกระทะรั่ว – ซีรีส์แนว Action Comedy กำกับโดย ฉิก-สกล เตียเจริญ นำแสดงโดย เต๋อ-ฉันทวิชช์ และ เต้ย-จรินทร์พร
  • เกมโกงเกมส์ – ซีรีส์แนว Crime & Suspense กำกับโดย โต้ง-ตรัยยุทธ กิ่งภากรณ์ นำแสดงโดย กระทิง-ขุนณรงค์ และ เก้า-สุภัสสรา
  • ร้อยเล่ม เกมส์ออฟฟิศ – ซีรีส์แนว Drama กำกับโดย เอ-นัฐพงศ์ วงษ์กวีไพโรจน์ นำแสดงโดย มิ้นต์-ชาลิดา และ นนกุล ชานน

ถือเป็นการประเดิมปีแรกของบีอีซี สตูดิโอ แต่จริงๆ แล้ว อภิชาติ์มองว่าบริษัทสามารถรับกำลังผลิตได้ถึง 10 เรื่องต่อปี

 

ไทยคือ “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ แต่ต้องใช้เวลาพัฒนา “คน”

แม่ทัพของบีอีซี สตูดิโอนั้นเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ True CJ Creations มาก่อน ทำให้ได้องค์ความรู้และอินไซต์จากฝั่งเกาหลีผ่าน CJ Entertainment มาไม่น้อย และมุมมองจากฝั่งเกาหลีเชื่อว่าคอนเทนต์บันเทิงไทยนั้นมีโอกาส

“ถ้าจะมีประเทศไหนในเอเชียที่จะเป็น ‘ดาวรุ่งดวงใหม่’ ต่อจากเกาหลีใต้ได้ ก็ต้องเป็นประเทศไทย เพราะเรามีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ไม่แพ้ใคร อย่างอาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก เรามีดาราที่หน้าตาดี บุคลิกดี เป็นที่ยอมรับ และประเทศเรามียุทธศาสตร์ที่เป็นมิตรกับหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มองเชิงบวกกับเราทั้งหมด” อภิชาติ์กล่าว

“สิ่งที่สำคัญวันนี้คือบุคลากรซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนา เป็นเรื่องที่ใช้เงินทุ่มขึ้นมาทันทีไม่ได้”

อภิชาติ์มองเป้าหมายสูงสุดขององค์กรว่า บริษัทต้องการจะยกระดับการผลิตคอนเทนต์ให้ทัดเทียมต่างประเทศ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2567 คนไทยจะได้เห็นซีรีส์ไทยจากบีอีซีที่มีคุณภาพสากลอย่างแน่นอน

]]>
1389092
เขย่าผังอีก! “ประชุม มาลีนนท์” ประกาศลาออกจากกรรมการบริษัทช่อง 3 เหตุปัญหาสุขภาพ https://positioningmag.com/1270576 Sat, 28 Mar 2020 07:05:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1270576 ข่าวใหญ่ต้อนรับ 50 ปีช่อง 3 มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารคนสำคัญครั้งใหญ่ เมื่อ “ประชุม มาลีนนท์” ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

ช่อง 3 ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เรื่องมีกรรมการแจ้งลาออก โดยที่ “ประชุม มาลีนนท์” ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ

ประชุม เป็นน้องชายคนเล็ก ของตระกูลมาลีนนท์ได้ขึ่นมาทำหน้าที่แทนพี่ชายคนโต “ประสาร มาลีนนท์” หลังอีกฝ่ายเสียชีวิตในปี 2559 โดยรับตำแหน่งรองประธานกรรมการ บมจ.บีอีซี และ กรรมการบริหาร ในปี 2560

โดยหลังจากเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว นายชุมได้ดึงคนนอกเข้ามาร่วมบริหารช่อง 3 คือนายสมประสงค์ บุญยะชัย จากเอไอเอส มารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบีอีซี เวิลด์ในปี 2560 ซึ่งอีกฝ่ายก็ได้ดึงคนนอกเข้ามาร่วมงานในตำแหน่งต่าง ๆ หลายคน

แต่สุดท้ายในปี 2561 นายสมประสงค์ก็ต้องยอมลดบทบาทของตนมานั่งตำแหน่งกรรมการบริหาร เพราะไม่สามารถทำให้ผลประกอบการช่อง 3 กลัมมามีกำไรได้เหมือนเดิม ส่งผลให้นายประชุม มาลีนนท์ ต้องก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งดังกล่าวอีกหนึ่งตำแหน่ง

จากนั้นในในปี 2562 นายประชุมได้ดึงนายอริยะ พนมยงค์ อดีตผู้บริหาร ไลน์ ประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ หลังมีข่าวว่าพนักงานของช่อง 3 ต้องออกไปกว่าร่วม 100 คน โดยมีกลุ่มคนจากกลุ่มไลน์, แกรมมี่ และทรู เข้ามาแทน

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของช่อง 3 ในปี 2562 ที่ผ่านมาก็ยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ โดยมีรายได้ 8,310 ล้านบาท ขนาดทุน 397 ล้านบาท

Source

]]>
1270576
กลยุทธ์ออนไลน์ “ช่อง 3” จับมือ “Tencent” ปลดล็อกละคร “ฉายสด” บน WeTV ส่งคอนเทนต์ตีตลาดจีน https://positioningmag.com/1260364 Mon, 13 Jan 2020 15:28:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1260364 ตั้งแต่ “อริยะ พนมยงค์” เข้ามาเป็นนายใหญ่ของ “ช่อง 3” เมื่อปีก่อน เขาได้เปลี่ยนกลยุทธ์ของช่องใหม่เพื่อสู้ศึกดิสรัปชั่น หนึ่งในกลยุทธ์เหล่านั้นคือการวางวิธีคิดใหม่ให้ช่อง 3 โดยไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้ขาย ‘ช่องทีวี’ แต่เป็นผู้ขาย ‘คอนเทนต์’ และคอนเทนต์นั้นต้องไปทำรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศ

ที่ผ่านมา ช่อง 3 มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเองไว้รองรับคอนเทนต์ชูโรงของช่องนั่นคือ “ละคร” โดยแบ่งเป็นสองแอปพลิเคชั่นคือ CH3 Thailand สำหรับดูละครฉายสดพร้อมๆ กับในทีวี และแอป Mello สำหรับดูละครหลังฉายทางทีวีจบไปแล้ว 2 ชั่วโมง

แต่เมื่อเปลี่ยนนโยบายให้การขายลิขสิทธิ์และหาโฆษณาออนไลน์เป็นช่องทางทำรายได้เพิ่มขึ้น ละครช่อง 3 จึงไปปรากฏใน YouTube และ Line TV ด้วยเพียงแต่จะฉายช้ากว่า โดยลงฉายช่องทางเหล่านี้หลังละครแต่ละตอนจบไปแล้ว 48 ชั่วโมง รวมถึงมีการขายลิขสิทธิ์ละครเป็นเรื่องๆ ไปใน Netflix และ Hooq หลังละครฉายจบถึงตอนอวสาน

มาถึงปี 2563 ช่อง 3 ยังรุกตลาดนี้ต่อเนื่อง เริ่มแรกคือสังคายนาแอปพลิเคชั่น CH3 Thailand กับ Mello ใหม่ จับผนวกรวมกันเป็นแอป CH3+ (ซี เอช สาม พลัส) เพื่อให้ฐานสมาชิก 3 ล้านคนสามารถดูสตรีมมิ่งสดและรับชมย้อนหลังได้ในแอปเดียว ซึ่งแอปนี้จะเปิดตัวกลางเดือน ก.พ. 63 และแอป CH3 Thailand กับ Mello จะถูกปิดตัวไป

(ซ้าย) อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (ขวา) “เจฟฟ์ ฮาน” รองประธานอาวุโส เทนเซ็นต์ เพนกวิน พิคเจอร์

เรื่องต่อมาคือการที่ช่อง 3 ประกาศจับมือกับ Tencent เจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง WeTV เจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ที่ดังเป็นพลุแตกในไทยและ Tencent Video ในประเทศจีน โดยสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปลดล็อกให้ลิขสิทธิ์ WeTV สามารถฉายสดละครภาคค่ำทุกเรื่องของช่อง 3 และรีรันได้หลังละครจบ 2 ชั่วโมง เหมือนๆ กับแอป CH3+ นอกจากนี้ยังดีลกับ Tencent Video เพื่อขนละครไทย 3 เรื่องไปฉายที่จีนในรูปแบบสดและรีรันด้วย

 

มองมุมกลับ: ช่อง 3 ต้องเจาะผู้ชมกลุ่มใหม่

เรื่องที่น่าแปลกใจคือการที่ช่อง 3 ยอมให้แอปอื่นสามารถฉายละครสดและลงรีรันละครได้ในเวลาเดียวกับแอป CH3+ ของตนเอง ต่อเรื่องนี้ “วรุตม์ ลีเรืองสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซีไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ บอกว่า เป็นเพราะช่อง 3 พิจารณาฐานผู้ชมของ WeTV แล้วเป็นคนละกลุ่มกับผู้ชม CH3+ ในแง่ไลฟ์สไตล์และความชอบคอนเทนต์

“OTT (Over-the-Top) ของเราเองก็ยังให้ความสำคัญอยู่ แต่ที่เราเลือก WeTV เพราะผู้ชมไม่ทับซ้อนกันมาก คนดู WeTV เพราะชอบหนังจีน แต่อาจจะไม่ชอบดูหรือดูละครช่อง 3 น้อยมาก ดังนั้นมองว่าจะเป็นการขยายฐานผู้ชมมากกว่า” วรุตม์กล่าว “กลุ่มนี้จะต่างจากคนดู Mello เพราะผู้ชม Mello คือคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ละครเราอยู่แล้ว แต่อาจจะดูฉายสดไม่ทันหรือต้องการดูซ้ำฉากฟินๆ”

ฝั่ง “กนกพร ปรัชญาเศรษฐ” ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ WeTV เสริมว่า ปัจจุบัน WeTV มีคอนเทนต์ซีรีส์ หนัง การ์ตูนอยู่ราว 300 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์จากจีน แต่ปีนี้ต้องการเพิ่มคอนเทนต์ไทยให้มากขึ้น เชื่อว่าความร่วมมือกับช่อง 3 จะทำให้มีผู้ชมรับชมละครไทยผ่าน WeTV สูงขึ้น 4 เท่าภายในปีนี้

ทั้งนี้ วรุตม์กล่าวย้ำว่าความร่วมมือของช่องกับ OTT อื่นยังคงเป็นไปตามเดิม เช่น Line TV และ YouTube ยังได้ลิขสิทธิ์จัดฉายละครหลังผ่านไป 48 ชั่วโมง

 

บุกแดนมังกร ฐานผู้ชม 550 ล้านคน

นอกจากการฉายในไทยแล้ว ดีลนี้ยังจะนำละครไทยช่อง 3 ไปฉายที่จีนผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video ซึ่ง “เจฟฟ์ ฮาน” รองประธานอาวุโส เทนเซ็นต์ เพนกวิน พิคเจอร์ เปิดเผยว่ามีผู้ชมในแพลตฟอร์มนี้ถึง 550 ล้านคนต่อเดือน และมียอดสมาชิกมากกว่า 100 ล้านคน

“รณพงศ์ คำนวณทิพย์” หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานพาณิชย์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาช่อง 3 มีการทำงานร่วมกับ Tencent อยู่แล้ว โดยเริ่มส่งละครไทยไปฉายตั้งแต่ปี 2561 จนถึงขณะนี้ส่งไปแล้ว 8 เรื่อง เรื่องที่ได้รับผลตอบรับดีที่สุดคือ ลิขิตรัก (The Crown Princess) นำแสดงโดยดาราคู่ขวัญ ณเดชน์-ญาญ่า มียอดชมในจีน 280 ล้านครั้ง และถูกพูดถึงบน Weibo 66 ล้านครั้ง

ลิขิตรัก (The Crown Princess) ละครช่อง 3 ที่กวาดยอดวิว 280 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม Tencent Video ประเทศจีน

ดีลครั้งนี้จึงมีการลงนามนำละครช่อง 3 ไปฉายที่จีนอีก 3 เรื่องผ่านแพลตฟอร์ม Tencent Video และจะยกระดับขึ้นคือเป็นการออกอากาศสดพร้อมกับในไทยและมีการรีรันหลังจบตอน 2 ชั่วโมง แต่จะเป็นเรื่องใดบ้างยังเปิดเผยไม่ได้

“คนจีนชอบละครทุกรส แต่เรื่องที่จะผ่านระบบเซ็นเซอร์ เขาได้คือต้องไม่ขัดความเชื่อทางศาสนาและจริยธรรม ตอนนี้การคัดเลือกเรื่องไปฉายยังเกิดขึ้นหลังละครถ่ายทำจบไปแล้ว แต่ต่อไปเราจะสกรีนให้เหมาะกับการเข้าไปฉายที่จีนตั้งแต่ต้น” รณพงศ์กล่าว

 

เพิ่มสัดส่วนรายได้ออนไลน์เท่าตัว

การบุกออนไลน์มากขึ้นนี้เป็นไปตามกลยุทธ์องค์กรที่ต้องการสร้างรายได้ดิจิทัลให้มากขึ้น โดย “วรุตม์” กล่าวว่าบีอีซี เวิลด์มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลจาก 5% ของรายได้รวมเมื่อปี 2562 เป็น 10% ของรายได้รวมในปีนี้

รายได้ดิจิทัลปัจจุบันหลักๆ จะมาจากค่าลิขสิทธิ์และค่าโฆษณาออนไลน์อย่างละ 50:50 ซึ่งวรุตม์มองว่า ดิจิทัลยังมีช่องทางอีกมากให้หาเม็ดเงินเข้ามา เช่น ปีที่ผ่านมาบริษัททดลองการโฆษณาแบบ Second Screen Concept ให้สินค้าขึ้น QR Code ระหว่างฉายละครออนไลน์เรื่อง “Tee ใครทีมันส์” ผู้ชมสามารถสแกน QR Code นี้เปิดเป็นคูปองไปรับส่วนลดสินค้าตามร้านค้าต่างๆ ได้ หลังทดลองอยู่กว่า 10 ตอน มีผู้ชมร่วมสแกนหลักหมื่นคนและพบว่าส่วนใหญ่นำคูปองไปใช้จริง ปีนี้คาดว่าจะนำลูกเล่นนี้มาใช้เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมีแผนอนาคตเมื่อแอป CH3+ ติดตลาดอาจจะเริ่มมีการเก็บค่าสมาชิก จากปัจจุบันเป็นระบบดูฟรีมีโฆษณา (แอป WeTV เป็นระบบ ‘ฟรีเมียม’ ดูฟรีแบบจำกัดจำนวนตอนต่อวัน หากต้องการดูเพิ่มต้องสมัครสมาชิกวีไอพี)

รายได้ของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2562 รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำรายได้ที่ 6,721 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 138 ล้านบาท การเปลี่ยนมุมมองตัวเองเป็นผู้ขายคอนเทนต์มากกว่าขายสล็อตเวลาในช่องตามนโยบายใหม่ ยังมีเส้นทางอีกไกลให้เดินทางเพื่อพลิกขาดทุนกลับมาเป็นกำไร

]]>
1260364