ภาระหนี้ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 02 May 2023 11:24:07 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “เรียลแอสเสท” สะท้อนปัญหาลูกค้าเกือบครึ่ง “กู้บ้านไม่ผ่าน” วางกลยุทธ์ยืดระยะเวลาโอน-ให้เช่าอยู่ก่อน https://positioningmag.com/1429278 Tue, 02 May 2023 10:03:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1429278 เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ “เรียลแอสเสท” พบปัญหาลูกค้าเผชิญภาวะเศรษฐกิจ หนี้สูงจน “กู้บ้านไม่ผ่าน” ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้าน ทำให้บริษัทต้องวางกลยุทธ์ใหม่ ยืดระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ออกไปถึง 6 เดือน และกำลังวางแนวคิดตั้ง “กองทุน” ให้กู้ยืมตรงกับทางบริษัทและย้ายเข้าอยู่ก่อนได้ในลักษณะเช่าซื้อ

“ณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง” กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจในช่วงหลังโควิด-19 พบว่า ความต้องการซื้อถือว่ามีสูง แต่ติดปัญหาคือลูกค้า “กู้บ้านไม่ผ่าน” ประมาณ 40% ของยอดขาย

ส่วนใหญ่เกิดจากติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร หรือมีหนี้สินส่วนอื่นค้างคา เช่น หนี้บัตรเครดิต สะท้อนภาพคนไทยอยากมีบ้านแต่ไม่พร้อมทางด้านการเงิน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากอาชีพอิสระ เช่น ขายสินค้าออนไลน์ ยูทูปเบอร์ โอกาสถูกปฏิเสธให้กู้สินเชื่อจากธนาคารมีสูง

โดยกลุ่มราคาบ้านที่มีอัตรากู้ไม่ผ่านเกือบครึ่ง จะเป็นกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเฉพาะทาวน์โฮมราคา 2-3 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะกู้ไม่ผ่าน

“ณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง” กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

ณัฏฐพรกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้พบตั้งแต่ปี 2565 ทำให้บริษัทเริ่มวางกลยุทธ์ใหม่ จากเดิมมักจะให้ลูกค้าโอนกรรมสิทธิ์ภายใน 30 วันหลังวางเงินจอง ในรายที่พรีแอพพรูฟแล้วมีแนวโน้มจะกู้สินเชื่อไม่ผ่าน จะอนุโลมให้ยืดเวลารอโอนไปได้สูงสุดถึง 6 เดือน ในระหว่างนั้นจะช่วยให้คำแนะนำลูกค้าในการปิดหนี้อื่นเพื่อเตรียมพร้อมยื่นกู้

“สมมติขายบ้าน 10 หลัง มีคนกู้ผ่าน 5 หลัง ถ้าเราไม่สนใจคนที่กู้ไม่ผ่านแล้วไปหายอดขายใหม่ทดแทน เราก็ต้องลงงบการตลาดอีกมากเพื่อดึงคนเข้ามาชมโครงการ เข้ามาแล้วก็อาจจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบโครงการของเรา สู้เราดูแลคนที่ตัดสินใจเลือกเราแล้ว รอเขาไปอีก 3-6 เดือนจนกว่าเขาโอนได้จะดีกว่า” ณัฏฐพรกล่าว

นอกจากการยืดเวลาโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ณัฏฐพรยังกล่าวถึงแนวคิดของเรียลแอสเสทที่จะตั้ง “กองทุน” ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่กู้ธนาคารไม่ผ่านด้วย โดยเปลี่ยนให้ลูกค้าทำสัญญาเช่าซื้อกับกองทุนแทน เพื่อเช่าอยู่ไปก่อนได้ระหว่างปลดหนี้ส่วนอื่น แล้วค่อยเปลี่ยนไปกู้สินเชื่อบ้านตามปกติในภายหลัง

ถ้าเราไม่สนใจคนที่กู้ไม่ผ่านแล้วไปหายอดขายใหม่ทดแทน เราก็ต้องลงงบการตลาดอีกมากเพื่อดึงคนเข้ามาชมโครงการ… สู้เราดูแลคนที่ตัดสินใจเลือกเราแล้ว รอเขาไปอีก 3-6 เดือนจนกว่าเขาโอนได้จะดีกว่า

แนวทางของเรียลแอสเสท ถือว่าคล้ายคลึงกับธุรกิจ “เงินสดใจดี” ในเครือ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นธุรกิจบริการสินเชื่อเช่าซื้อให้กับลูกค้าที่ยังกู้ธนาคารไม่ผ่าน สามารถเข้าอยู่และเริ่มผ่อนชำระกับทางเงินสดใจดีไปก่อน จนกว่าจะลดเงินต้นลงมาอยู่ในระดับที่ยื่นกู้ธนาคารได้ตามปกติ

ปัจจุบัน ธุรกิจเงินสดใจดีของเสนาฯ เริ่มต้นบริการจริงแล้วใน 12 โครงการแบรนด์ “เสนาคิทท์” ของบริษัทเอง เช่น เสนาคิทท์ พหลโยธิน-นวนคร, เสนาคิทท์ เวสต์เกต-บางบัวทอง 2, เสนาคิทท์ รังสิต-คลอง 4 เป็นต้น โครงการเหล่านี้เป็นคอนโดฯ ราคา “ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อยูนิต” ซึ่งที่ผ่านมาเสนาฯ เผชิญปัญหาลูกค้ากู้ไม่ผ่านสูงถึง 50% จึงทำให้เกิดธุรกิจเงินสดใจดีขึ้น

 

“เรียลแอสเสท” ลุยตลาดหลังพ้นโควิด-19

ด้านแผนธุรกิจของเรียลแอสเสทในปี 2566 จะมีการเปิดโครงการใหม่ 6 โครงการ ได้แก่

1.วิรัณยา บางนา-สุวรรณภูมิ โครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ราคาเริ่ม 6.09 ล้านบาท

2.วิวัลดี บางนา (ทำเลซอยวัดคลองปลัดเปรียง) โครงการบ้านเดี่ยวระดับบน ราคาเริ่มประมาณ 12 ล้านบาท

3.วิรัณยา รังสิต-วงแหวน (ทำเลลำลูกกาคลอง 5) โครงการบ้านเดี่ยว ราคาเริ่มประมาณ 3 ล้านกว่าบาท

4.เดอะ สเตจ เมดบายมี รัชดา-ห้วยขวาง (ทำเลใกล้กับคอนโดฯ เดอะ สเตจ มายด์สเคป รัชดา-ห้วยขวาง) เป็นคอนโดฯ ไฮไรส์ จำนวน 450 ยูนิต ราคาเริ่ม 2.89 ล้านบาท เปิดแกรนด์โอเพนนิ่งวันที่ 27-28 พ.ค. นี้

เรียลแอสเสท
คอนโดฯ เดอะ สเตจ เมดบายมี รัชดา-ห้วยขวาง รอบจองออนไลน์ทำยอดขายแล้ว 15% ของโครงการ

5.อาร์โล ลาซาล 17 คอนโดฯ ตึกเตี้ยจำนวน 580 ยูนิต คอนโดฯ นี้เป็นโครงการที่เทกโอเวอร์จากเจ้าของเดิมคือ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่จะยังใช้แบบตึกและเลย์เอาท์เดิมเพื่อก่อสร้างได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จะเปิดจำหน่ายใหม่ทั้งโครงการ คาดว่าจะปรับราคาขึ้นเป็น 75,000-80,000 บาทต่อตารางเมตร (*ลูกค้าเดิมสามารถขอคืนเงินดาวน์ได้จากออลล์ อินสไปร์ฯ)

6.เอ สเปซ เมกา เฟส 2 เป็นคอนโดฯ ไฮไรส์ที่เทกโอเวอร์จาก บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ เมื่อปี 2564 แต่กรณีนี้เทกโอเวอร์มาพร้อมยอดขายทั้งหมดที่มี ซึ่งทางอารียาฯ ขายไปแล้ว 70-80% ของโครงการ ปลายปีนี้ เรียลแอสเสทจะเริ่มทำการตลาดขายส่วนที่เหลือ 20-30% ในช่วงที่ตึกก่อสร้างเสร็จ

ทั้งหมดนี้ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 ไว้ที่ 3,300 ล้านบาท

 

เปิดอาณาจักร ถ.กิ่งแก้ว 180 ไร่ เจาะคนทำงานการบิน

ณัฏฐพรกล่าวว่า ไฮไลต์โครงการแนวราบของปีนี้คือการเปิดโครงการ วิรัณยา บางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องในอาณาจักรของเรียลแอสเสทบนถนนกิ่งแก้ว

ที่ดินของเรียลแอสเสทในซอยกิ่งแก้ว 29 มีอยู่ 180 ไร่ เริ่มพัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากโครงการทาวน์โฮม “สตอรี่ส์ บางนา-สุวรรณภูมิ” ราคาเริ่ม 2 ล้านบาท ต่อด้วยโครงการ “เซนส์ บางนา-สุวรรณภูมิ” ทาวน์โฮมและบ้านแฝด ราคาเริ่ม 4.69 ล้านบาท ก่อนจะเผชิญโควิด-19 ทำให้ชะลอการพัฒนาต่อ

เรียลแอสเสท
โครงการเซนส์ บางนา-สุวรรณภูมิ

จนกระทั่งปีนี้ กลับมาเปิดโครงการ “วิรัณยา บางนา-สุวรรณภูมิ” ในอาณาจักรที่ดินผืนต่อเนื่องกัน เป็นโครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด จำนวน 207 ยูนิต ราคาเริ่ม 6.09 ล้านบาท เติมพอร์ตให้ครบทุกเซกเมนต์ มีตั้งแต่ทาวน์โฮมราคา 2 ล้านบาท จนถึงบ้านเดี่ยวราคามากกว่า 8 ล้านบาท

สำหรับทำเลนี้ มองว่าเป็นจุดศูนย์รวมของนักธุรกิจและคนทำงานย่านกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในสายธุรกิจการบินและโลจิสติกส์ เนื่องจากโครงการอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 5 กม.เท่านั้น

เรียลแอสเสท
โครงการวิรัณยา บางนา-สุวรรณภูมิ

นอกจากคนไทยแล้ว เรียลแอสเสทยังพบว่า “ชาวจีน” มีความสนใจซื้อบ้านในไทยมากขึ้น เพราะต้องการจะย้ายถิ่นฐานถาวรทั้งครอบครัว และย่านบางนา-ตราดตอบโจทย์ทั้งการเดินทางไปทำงานโรงงาน และมีโรงเรียนนานาชาติรองรับหลายแห่ง

ปัจจุบัน 3 โครงการแรกใช้ที่ดินพัฒนาไปแล้ว 80 ไร่ ณัฏฐพรระบุว่า ที่ดินกิ่งแก้วยังมีเหลืออีก 100 ไร่ สามารถพัฒนาได้อีก 2-3 โครงการที่น่าจะเปิดตัวครบภายใน 2 ปี และเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาบ้านเดี่ยวระดับบนราคาเกิน 10 ล้านบาทในทำเลนี้

]]>
1429278
ปฏิบัติการลดหนี้! PF ตัดขายที่ดิน-โรงแรม 2 หมื่นล้าน ลงทุนธุรกิจถุงมือยางหวังพลิกกำไร https://positioningmag.com/1325873 Thu, 01 Apr 2021 04:22:17 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325873 วิกฤต COVID-19 เล่นงานหนัก “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” วางกลยุทธ์เพื่อพลิกกลับมากำไร เตรียมดีลขายที่ดิน-ขายโรงแรมเข้ากองรีทรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ลดภาระหนี้-หากระแสเงินสดเข้าบริษัท ด้านโรงงานถุงมือยางร่วมทุนพร้อมเดินเครื่องมิถุนายนนี้ ธุรกิจใหม่ดาวรุ่งอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 40%

บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือ PF รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2563 มีรายได้รวม 12,513 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -1,045 ล้านบาท ถือเป็นปีอันหนักหน่วงของเพอร์เฟค ซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงถึง 2.0 เท่าและจะเป็นโจทย์สำคัญของปี 2564

“ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค แถลงแผนการดำเนินงานปีนี้ มีเป้าหมายหลัก 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การเติบโตอย่างยั่งยืน และ สอง สร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยต้องการจะลด D/E ให้เหลือ 1.2 เท่า

(จากซ้าย) “วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, “ศานิต อรรถญาณสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค และ “วิทวัส วิภากุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แกรนด์ แอสเสทฯ

ปีนี้เพอร์เฟคจึงมี 3 กลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ได้แก่

1) ขับเคลื่อนธุรกิจหลักให้มีรายได้เติบโต – กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจะยังลงทุนต่อเนื่องตามความเหมาะสม และยังคงมีการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติตามแผนงาน
2) ขายที่ดินและการลงทุน – เตรียมพอร์ตตัดขายทั้งที่ดิน และขายโรงแรมสู่กองรีทเพื่อนำกระแสเงินสดหมุนเวียน
3) ลงทุนในธุรกิจดีมานด์สูง อัตรากำไรสูง – แตกไลน์สู่ธุรกิจ “ถุงมือยาง” ซึ่งบริษัทเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท วัฒนชัย รับเบอร์เมท จำกัด ไปตั้งแต่ปีก่อน และจะเริ่มรับรู้เป็นกำไรได้ตั้งแต่ปีนี้

 

ขายที่ดิน-โรงแรม 2 หมื่นล้านลดหนี้

ความท้าทายหลักปีนี้ของเพอร์เฟคคือการลดภาระหนี้ให้ได้ และหากระแสเงินสดมาเติมให้บริษัท ดังนั้น บริษัทจึงต้องตัดขายสินทรัพย์ในหลายรูปแบบ มูลค่ารวม 20,200 ล้านบาท แบ่งตามบริษัทในเครือที่ถือสิทธิสินทรัพย์ ดังนี้

แผนการขายที่ดินของเพอร์เฟคปี 2564

1) พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค – ที่ดินและการลงทุน อาทิ ที่ดินแจ้งวัฒนะ รามอินทรา รามคำแหง มูลค่ารวม 10,200 ล้านบาท
2) แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ฯ – ขายการลงทุนในโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน และ ไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท ตั้งเป็นกองรีท มูลค่ารวม 8,500 ล้านบาท
3) วี รีเทล – ที่ดินถนนรัชดาภิเษก 2 แปลง มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท ส่วนนี้ศานิตเปิดเผยว่ามีผู้เจรจาแล้ว โดยวางโปรเจ็กต์เป็นอาคารสำนักงาน

ศานิตมองว่า หากการตัดขายที่ดินและการลงทุนเป็นไปตามเป้า น่าจะผลักดันให้บริษัทมีกระแสเงินสดหมุนเวียนได้ถึง 4,000 ล้านบาท

 

“ถุงมือยาง” ธุรกิจฟื้นกำไร

อีกเป้าหมายหนึ่งของเพอร์เฟคนอกจากการลดหนี้ คือการ ‘เทิร์นอะราวด์’ กลับมาทำกำไรให้ได้ หลังจากปีก่อนขาดทุนไปกว่าพันล้าน

ดังนั้น ปีก่อนเพอร์เฟคจึงตัดสินใจแตกไลน์ครั้งสำคัญ ใช้บริษัทในเครือคือ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ เข้าลงทุนกับ วัฒนชัย รับเบอร์เมท ตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางไนไตรล์ ในนาม บริษัท แกรนด์ โกลบอล โกลฟส์ จำกัด (GGG) อัตราส่วนถือหุ้น แกรนด์ แอสเสท 50.5% และวัฒนชัย 49.5%

โรงงานถุงมือยาง GGG จ.ฉะเชิงเทรา

โรงงานแห่งแรกตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา แบ่งก่อสร้างเป็นสองเฟส ไลน์การผลิตเฟสละ 2,100 ล้านชิ้นต่อปี เฟสแรกคาดจะเริ่มผลิตได้มิถุนายน 2564 และเฟสสองจะเริ่มผลิตกุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มลูกค้า 95% ส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อีก 5% จำหน่ายในไทย

“วิทวัส วิภากุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แกรนด์ แอสเสทฯ คาดการณ์รายได้ปีแรกของ GGG จะทำได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเดินเครื่องได้ไม่เต็มปี แต่คาดการณ์ปี 2565 จะได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแตะ 1 หมื่นล้านบาท

คาดการณ์รายได้โรงงานถุงมือยาง GGG

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้เป็นการร่วมทุนกันทำให้การรับรู้ทางบัญชีจะได้เป็นผลกำไร โดยศานิตแย้มว่า ธุรกิจถุงมือยางถือว่าอัตรากำไรสุทธิดีมาก เพราะสามารถยื่นขอเข้าเงื่อนไข BOI ได้ อัตรากำไรสุทธิจะขึ้นไปถึง 40% เทียบกับอสังหาฯ เพื่อขายที่ได้กำไร 10%

ศานิตย้ำด้วยว่า การลงทุนนี้ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว และเชื่อว่าถุงมือยางจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งระยะยาว แม้ว่าดีมานด์และราคาจะย่อลงมาเล็กน้อยหลังพ้นปี 2565 แต่ก็จะยังมีความน่าสนใจ เพราะโรคระบาดได้เปลี่ยนมาตรฐานการทำงานของหลายธุรกิจ เช่น โรงแรม สายการบิน ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงงานผลิตอาหาร จะต้องใช้ถุงมือยางจำนวนมากขึ้นไปอีกนาน

 

ธุรกิจหลักเน้นขาย “บ้านหรู”

กลับมาที่ธุรกิจหลักของเพอร์เฟคซึ่งยังคงเป็นธุรกิจ “อสังหาฯ” ปีนี้จะกลับมาเปิดโครงการมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ยังเป็นการเดินแผนที่ระมัดระวังตัวสูง

“วงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต” กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดแผนปี 2564 เตรียมเปิด 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 9,900 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 17,300 ล้านบาท

แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ เพอร์เฟค ปี 2564

เหตุที่ไม่เปิดใหม่เยอะหลักหมื่นล้านบาทเหมือนช่วงก่อน COVID-19 เพราะบริษัทยังมีโครงการระหว่างขายอีก 57 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท จึงยังมีสต็อกเพียงพอ

นอกจากนี้ โครงการที่เปิดใหม่ทั้งหมดเป็น “แนวราบ” ทำให้เป็นปีที่ 3 ของเพอร์เฟคที่ไม่มีการเปิดคอนโดมิเนียมใหม่เลยตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากมองว่าตลาดยังซบเซา

สำหรับไฮไลต์การเปิดตัวของปีนี้จะเป็นบ้านแบรนด์ “Lake Legend” บางนา-สุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการ 5,100 ล้านบาท จำนวน 128 ยูนิต ราคาตั้งแต่ 25-100 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยวหรูโครงการร่วมทุนกับ “ฮ่องกงแลนด์” ดีไซน์พิเศษบ้านแบบ Hillside เล่นระดับบนเนินเขาเหมือนอยู่ในโครงการบ้านพักตากอากาศแถบ จ.ภูเก็ต หรือเกาะสมุย

Lake Legend บางนา-สุวรรณภูมิ บ้านเดี่ยวหรู ราคาเริ่ม 25 ล้านบาท

สัดส่วนยอดขายของปีนี้ก็จะเน้นไปที่กลุ่มบ้านหรูราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป โดยวงศกรณ์ประเมินว่าน่าจะมีสัดส่วน 25-30% ของยอดขายรวม เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดเดียวที่กำลังซื้อไม่สะเทือนจากเศรษฐกิจ และลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้นในช่วงนี้ เพราะมองว่าผู้ประกอบการลดแลกแจกแถมมาก การซื้อในช่วงนี้จึงได้ดีลที่คุ้มค่า

 

ลุ้นโรงแรมฟื้น เข้าสู่จุดคุ้มทุน

ธุรกิจของเครือ PF ที่นับได้ว่า “ปาดเหงื่อ” ที่สุดยังคงเป็น “โรงแรม” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพอร์ตของแกรนด์ แอสเสทฯ วิทวัสรายงานในส่วนนี้ว่า ปี 2563 โรงแรมทำรายได้เพียง 793 ล้านบาท ซึ่งทำให้มีผลขาดทุน

“ผมไม่เคยเจออะไรที่หนักขนาดนี้มาก่อน อัตราเข้าพักเหลือเลขตัวเดียว ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่ทำธุรกิจมา” วิทวัสกล่าว

ขณะที่ปี 2564 วิทวัสคาดการณ์ว่าจะดันอัตราเข้าพักกลับไปที่ 50% ได้ และจะทำให้ธุรกิจโรงแรมเข้าสู่จุดคุ้มทุน แต่จะยังไม่มีกำไรในปีนี้ โดยแบ่งภาพสถานการณ์เป็นส่วนโรงแรมในต่างจังหวัดกับในกรุงเทพฯ

เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่าส์

โรงแรมในต่างจังหวัดของบริษัท ได้แก่ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่าส์ กับ เชอราตัน หัวหิน รีสอร์ต แอนด์ สปา กลุ่มนี้คาดว่าจะยังได้อานิสงส์นักท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก อัตราเข้าพักจะเกินกว่า 50%

ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ได้แก่ เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, เชอราตัน รอยัล ออคิด และ ไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท กลุ่มนี้อัตราเข้าพักอาจไม่สูงมาก จะได้กลุ่มนักท่องเที่ยวไทยเฉพาะที่ต้องการ Staycation หรือมา Work from Hotel แต่รายได้จะมาจากกลุ่ม Food & Beverage ทำให้ล่าสุดบริษัทดีลได้ร้านอาหารระดับมิชลินคือร้าน “ข้าว” มาลงในไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท

และปัจจัยบวกอีกอย่างคืองานฟังก์ชันจัดงานแต่งงานหรืออีเวนต์สัมมนา เริ่มมีการจองกลับมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/64 เมื่อการระบาดระลอกสองคลี่คลายลง

สรุปปี 2564 ของ PF เป็นปีแห่งความท้าทายต่อเนื่อง และต้องมุ่งลดภาระหนี้ ทำให้ปีนี้จะไม่มีการลงทุนที่ได้กำไรน้อย รวมถึงไม่มีการสะสมที่ดินเพิ่ม เปิดโต๊ะเจรจาขายอย่างเดียว!

]]>
1325873
กำไร “แบงก์ไทย” ลดฮวบ คาดไตรมาส 3 หดตัวลึก -66.5% หาย 6 หมื่นล้าน สิ้นปี “ทรุดกว่า” https://positioningmag.com/1300840 Fri, 09 Oct 2020 09:48:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300840 ธนาคารพาณิชย์ในไทย เจอพิษ COVID-19 ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดกำไรสุทธิหดตัวลึก -66.5% หรือลดฮวบลงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มองไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว คุณภาพหนี้แย่ลง หาทางรับมือหลังหมดมาตรการ “พักหนี้”

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยังคงกดดันความสามารถในการ “ทำกำไร” ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2563 โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ภาคส่วน นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ด้วย

กำไร “เเบงก์ไทย” ลดฮวบ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ ถึงผลประกอบการระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3 /2563 โดยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ จะยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง แม้ระดับกำไรสุทธิอาจจะขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

โดยคาดว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มี
นโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ “รายได้จากธุรกิจหลัก” ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่โดนกระทบหนักจากวิกฤต COVID-19

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่า การประคองทิศทางรายได้และกำไรสุทธิ จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการจัดการปัญหาหนี้เสีย การดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ และอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน

Photo : Shutterstock

สินเชื่อ ชะลอตัว – NIM ปรับลด – คุณภาพหนี้แย่ลง

KBANK มองว่า “สินเชื่อ” ของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% YoY ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% YoY ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทยอยครบกำหนดลง มีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ด้วยเช่นกัน

โดย NIM ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2/2563 เป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่ รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้ เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ เพดานใหม่สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เริ่มมีผลบังคับแล้ว ตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ด้าน “คุณภาพสินเชื่อ” ในพอร์ตถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารไทยในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563

“ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้” 

โจทย์ยาก เมื่อ SMEs หมดมาตรการ “พักหนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง

“การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต” 

ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563

โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้ ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน

Photo : Shutterstock

ไตรมาสสุดท้าย “ทรุดหนักกว่า” 

การประคองความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมากเพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่

“ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบ YoY ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดไว้ที่ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท”

 

]]>
1300840
คนไทยหนี้ท่วม! เปิด “หนี้ครัวเรือน” ไตรมาส 2 ทะลุ 83.8% สูงสุดรอบ 18 ปี ห่วงคนตกงานพุ่ง https://positioningmag.com/1299501 Thu, 01 Oct 2020 06:33:51 +0000 https://positioningmag.com/?p=1299501 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งต่อเนื่อง สวนเศรษฐกิจซบเซา Q2/63 กระฉูด 83.8% ต่อ GDP แตะระดับสูงสุดรอบ 18 ปี ห่วงคนตกงานพุ่ง ประชาชนขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลสถิติ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ในไตรมาส 2/2563 พบว่า ปรับตัวมาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อ GDP 

โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 92,182 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2563 มาอยู่ที่ 13,587,996 ล้านบาท นำโดยหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ ที่มีจำนวน 3.84 ล้านล้านบาท และ 5.79 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

การที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และเสี่ยงตกงาน 

Photo : Shutterstock

หนี้ครัวเรือน มีเเนวโน้มพุ่งเเตะ 88-90% ในสิ้นปีนี้ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ต่อกรณีนี้ว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นภาพ 2 ด้านที่แตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มที่ต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2563 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563” 

คนตกงาน-ขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้

จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ที่คาดว่าจะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 5.1% ในปี 2562

“ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง” 

อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (ทั้งมาตรการเฟสสอง และมาตรการรวมหนี้) รวมถึงมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระให้แก่ครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ในช่วงที่ยังต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง (ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี หรือ MRR ตลอดจนการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ) ยังช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้

 

]]>
1299501