สังคมสูงวัย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 23 Nov 2023 11:25:10 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดอินไซต์ ‘ซิลเวอร์เจน’ ผู้บริโภควัยเก๋า ‘กระเป๋าหนัก’ ที่แบรนด์ต้องเร่งมัดใจ! https://positioningmag.com/1453089 Thu, 23 Nov 2023 10:27:57 +0000 https://positioningmag.com/?p=1453089 อย่างที่รู้กันว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ (aged society) เรียบร้อย โดยมีการประเมินว่าในปี 2566 นี้ ไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของจำนวนคนทั้งประเทศ และปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งหมายถึง คนกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุด เติบโตเร็วที่สุด

ซิลเวอร์เจนไม่ได้แปลว่าแก่

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มสูงวัยหรือซิลเวอร์เจนโดยเฉพาะในช่วงอายุตั้งแต่ 50 -70 ปี ที่เป็นช่วงเตรียมตัวเข้าสู่เกษียณไปจนถึงผู้สูงอายุในช่วงต้น ถือเป็น real Blue Ocean และมีความพิเศษไม่เหมือนกับตลาดทั่วไป เพราะไม่ใช่คนแก่แบบที่หลายคนวาดภาพ แต่ มีความทันสมัย หัวใจเป็นวัยรุ่น แม้ร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ยังมีกำลังซื้อ

โดยจากการสำรวจพบว่า 86% ยังมีรายได้จากการทำงาน และ 55% ไม่มีหนี้สินและเงินออม และคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะ พร้อมให้รางวัลกับตัวเอง เนื่องจากมีเงินเก็บ ที่น่าสนใจคือ คนซิลเวอร์เจนจะ ให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการ มากกว่าเรื่องราคาหรือโปรโมชัน นอกจากนี้ ยัง เลือกช้อปกับแบรนด์หรือร้านค้าที่รู้จักและไว้ใจ ทำให้คนกลุ่มนี้มีความจงรักภักดีกับแบรนด์สูง ไม่ชอบเปลี่ยนชอบลองเหมือนกลุ่มนักช้อปวัยรุ่น

ชอบเล่นโซเชียล แต่ไม่ค่อยโพสต์

เพราะไม่อยากตกยุค กลุ่มซิลเวอร์เจนจึงมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อออนไลน์ ชอบเล่นโซเชียลมากกว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน เพราะมีเวลาว่าง และปัจจุบัน ใช้ Facebook มากกว่าดูทีวี โดยจะเน้นใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เพราะ สายตาเริ่มยาว นอกจากนี้ จะเน้นไถดูคอนเทนต์ ไม่ค่อยแชร์หรือโพสต์

สำหรับช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่

  • ห้างสรรพสินค้า 85%
  • ช้อปปิ้งออนไลน์ 61%
  • ตลาด 57%
  • ร้านขายยา 22%
  • โทรสั่งจากรายการทีวี 5%

สำหรับสินค้าและและบริการที่คนซิลเวอร์เจนให้ความสำคัญและใช้จ่ายอันดับ 1 คือ เรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อาหารเสริม, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ประกันสุขภาพและอื่น ๆ รองลงมาเป็นการ มองหาโซลูชันเรื่องการเงิน (passive income) และการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ชอบเที่ยวหรือหากิจกรรมทำเพื่อให้ชีวิตไม่เหงา

นอกจากสินค้าเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีสินค้าที่กลุ่มซิลเวอร์เจนเลือกซื้อมากขึ้นและลดลง ได้แก่

  • กลุ่มสินค้าที่ซื้อเพิ่มขึ้น : นม อาหารสัตว์ ข้าว รังนก ซุปไก่สกัด และเครื่องดื่มออกกำลังกาย
  • กลุ่มสินค้าที่ซื้อลดลง : ครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย น้ำมันปรุงอาหาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • กลุ่มที่สนใจอยากซื้อ : ประกันสุขภาพ สินค้าไซส์เล็ก สำหรับทานคนเดียว เมนูตามร้านอาหารที่อ่านง่าย ร้านอาหารที่อำนวยความสะดวก
  • กลุ่มสินค้าที่อยากได้ แต่ยังไม่ค่อยมีในตลาด : มีแพ็กเกจจิ้งที่เปิดง่ายสำหรับผู้สูงวัย

“สูงวัยเมื่อวาน วันนี้ และในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โอกาสทางธุรกิจมีมากมายทั้งสินค้าและบริการ เพราะตลาดใหญ่ แต่ผู้เล่นน้อย อยากเข้าตลาดนี้ต้องรู้จักและเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง  ไม่ใช่แค่ ‘ใช่’ แต่ต้อง ‘ถูกใจ ถูกจริต’ เพื่อให้ควักกระเป๋าซื้อ”

ค้าปลีก 9 แสนล้าน มีสินค้ากลุ่มซิลเวอร์เจนไม่ถึง 1%

วรรณา สวัสดิกูล ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อมูลล่าสุดจาก NielsenIQ (Thailand) พบว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกกว่า 9 แสนล้านบาท ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต มีสินค้าที่ขายที่เจาะจงกลุ่มสูงวัยแค่ไม่ถึง 1% ขณะที่กลุ่มสูงวัยที่มีคาดการณ์ว่าจะมีเกือบ 15 ล้านคน และมีการประเมินว่า ภายในปี 2030 จะมีสัดส่วน 26% ของประชากรทั้งประเทศ

ดังนั้น ถือได้ว่ามีช่องว่างทางการตลาดค่อนข้างใหญ่ เพราะสินค้าหรือบริการยังไม่ได้ถูกคิดสร้างสรรค์และดีไซน์เพื่อกลุ่มสูงวัยเหล่านี้มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสทางการตลาดยังมีอีกมากมาย และเป็นตลาดที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความเติบโตทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

“คนสูงวัยตอนนี้ไม่เหมือนเดิม แข็งแรงและมีไลฟสไตล์ที่แอคทีฟมากขึ้น นอกจากสินค้าและบริการ การสร้างแบรนด์ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถึงแม้ว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จักมาก่อนแต่จำเป็นต้อง reconnect อีกครั้ง ต้องปรับแบรนด์ให้เกี่ยวข้องกับเขาเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน การลงทุนในตลาดนี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับทุกองค์กร

]]>
1453089
กำไร “พฤกษา” Q1/65 โต 9.9% ครึ่งปีหลังพร้อมเปิด “Vimut Wellness Services” https://positioningmag.com/1385482 Tue, 17 May 2022 09:19:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1385482 “พฤกษา” ประกาศงบไตรมาส 1/65 แม้ยอดขาย-รายได้ลดจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง แต่ทำกำไรโต 9.9% จากการลดต้นทุน เดือนสิงหาคม 2565 พร้อมเปิด Vimut Wellness Services แห่งแรกย่านบางนา-วงแหวน ตามแผนอสังหาฯ พ่วงบริการสุขภาพ ส่วนแห่งที่สองร่วมทุนกับ JAS ลงทุนในย่านคู้บอน

“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทช่วงไตรมาส 1/65 เฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างยอดขาย 5,344 ล้านบาท ลดลง -23% YoY รายได้ 5,679 ล้านบาท ลดลง -17.6% YoY แต่กำไรสุทธิอยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.9% YoY

สาเหตุที่ยอดขายและรายได้ลดลง เนื่องจากไตรมาสแรกพฤกษาเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างเพื่อเปิดโครงการใหม่และเพื่อส่งมอบบ้านให้ได้ตามเป้า ไม่สามารถทำได้ตามแผน

อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้นเพราะมีการประหยัดต้นทุนในหลายด้าน ใช้ระบบวิศวกรรมการก่อสร้างที่ช่วยประหยัดปริมาณใช้ซีเมนต์ จัดวางเส้นทางขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนพลังงาน และใช้ระบบงานออนไลน์แทนกระดาษ

พฤกษา กำไร
ยอดขาย รายได้ และกำไรพฤกษา ช่วงไตรมาส 1/65

การเปิดตัวโครงการในไตรมาส 2/65 จะมีทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่ารวม 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการ มูลค่ารวม 5,200 ล้านบาท และบ้านเดี่ยว “ภัสสร จตุโชติ-รามอินทรา” มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะทำให้เห็นการปรับตัวตามกลยุทธ์ใหม่ของพฤกษา ที่จะเสริมเรื่องการออกแบบบ้านด้วย Universal Design เหมาะกับคนสูงวัย และมีระบบไฟฟ้าพร้อมสำหรับ EV Charger ต้อนรับโลกยุคใหม่

อุเทนกล่าวว่า เป้าหมายทั้งการเปิดตัว ยอดขาย รายได้ของพฤกษาตลอดปีนี้ยังคงเป้าเดิม แม้จะมีการชะลอตัวไปในช่วงไตรมาสแรก โดยปีนี้พฤกษาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมถึง 7 แห่งที่จะสร้างเสร็จใหม่ มูลค่าแบ็กล็อกจากคอนโดฯ เหล่านี้รวม 15,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะโอนในช่วงไตรมาส 3 นี้

 

Vimut Wellness Services ใกล้ได้ฤกษ์เปิดตัว

กลยุทธ์ของพฤกษานับตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลวิมุต คือการ ‘synergy’ ระหว่างธุรกิจอสังหาฯ และสุขภาพให้ได้ ซึ่งตามแผนแล้วจะมีการตั้งศูนย์สุขภาพย่อยไปตามชุมชนเพื่อให้บริการกลุ่มโรคประจำตัว และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเดือนสิงหาคมนี้ รพ.วิมุตจะพร้อมเปิดบริการ Vimut Wellness Services ด้านหน้าพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน จำนวน 50 เตียง เป็นศูนย์สุขภาพแห่งแรก

Vimut Wellness Services
Vimut Wellness Services เตรียมเปิดให้บริการ

ดีมานด์ของพื้นที่นี้ เฉพาะหมู่บ้านของพฤกษาเอง อุเทนระบุว่าบริษัทมีการโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 370 หลัง จากที่เปิดขาย 1,577 ยูนิต และพฤกษายังมีพื้นที่เหลือในการเปิดเฟสใหม่ได้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีชุมชนอาศัยอยู่บริเวณนี้มากกว่า 2,000 ครัวเรือน

ส่วนศูนย์สุขภาพแห่งที่ 2 นั้น มีการร่วมทุนกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service เพื่อสร้างโครงการ SENERA Senior Wellness ขึ้นบนถ.คู้บอน ติดกับโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ Jas green village โดยจะเป็นศูนย์เมดิคอลบนอาคาร 4 ชั้น 78 เตียง คาดว่าจะเปิดบริการได้ในเดือนธันวาคมนี้

 

ปูน-เหล็กขึ้นราคา หวัง “อัตราดอกเบี้ย” ยังไม่ปรับขึ้น

ด้านสภาวะตลาดช่วงนี้ อุเทนกล่าวถึงปัจจัยลบคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างกลุ่มปูนและเหล็ก คาดว่าจะกระทบกับต้นทุนการสร้างโครงการแนวราบ ขณะที่การสร้างคอนโดฯ บริษัทได้มีการทำสัญญาล็อกราคาล่วงหน้าไว้จึงไม่น่ากังวลมาก

พฤกษา
“อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

“ถ้าสภาวะเงินเฟ้อยังอยู่เท่านี้เราก็จะยังตรึงราคาบ้านได้ถึงสิ้นปี แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปมากกว่านี้ก็คงต้องปรับขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ขณะนี้เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างมาก คนที่อยากได้บ้านควรจะรีบตัดสินใจก่อนที่ผู้ประกอบการจะขึ้นราคา” อุเทนกล่าว

ส่วนปัจจัยบวกนั้น อุเทนมองว่าต้องตั้งความหวังไว้กับสถานการณ์โควิด-19 หากคลี่คลายมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐและเอกชนมั่นใจในการลงทุน มีการสร้างงาน ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

รวมถึง “อัตราดอกเบี้ย” ที่หวังว่ารัฐบาลจะไม่ปรับขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วก็ตาม เพราะหากอัตราดอกเบี้ยขึ้น จะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลงในการซื้อบ้าน ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายในวงการการเงิน อุเทนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะถูกตรึงไว้ก่อนในระยะนี้

]]>
1385482
เด็กเกิดน้อย ครัวเรือนเล็กลง กระทบสินค้า FMCG งัดกลยุทธ์ “ขนาดแพ็กเกจ-ราคา” ให้เหมาะสม https://positioningmag.com/1379633 Tue, 29 Mar 2022 11:49:15 +0000 https://positioningmag.com/?p=1379633
  • เปิดรายงานวิเคราะห์ตลาดสินค้า FMCG ในไทยปี 2564 โดย Kantar พบปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบคือ “ขนาดครัวเรือนเล็กลง” เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมีมากกว่า
  • ทำให้การเลือกกลยุทธ์ขนาดแพ็กเกจและราคาต้องคิดละเอียด เหมาะสมกับลักษณะครอบครัวเป้าหมาย
  • เชื่อว่าปี 2565 ตลาดจะยังได้ 2.1% มีแรงขับสำคัญจากกลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่ชนบท เนื่องจากอานิสงส์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • ข้อมูลจาก Kantar สรุปภาพรวมปี 2564 เป็นปีที่ตลาดสินค้า FMCG (Fast-moving Consumers Goods) เติบโตถึง 3.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเกิดจากหลายเหตุผล ทั้งการอุดหนุนของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่ง การปลดล็อกดาวน์และปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 1.2%

    ปีก่อนนี้เป็นปีที่พฤติกรรมผู้บริโภคปรับตัวไปพอสมควร เนื่องจากการอยู่บ้านมากขึ้น เลี่ยงการไปที่สาธารณะ มีการทำอาหารทานเอง เน้นทานอาหาร เครื่องดื่ม ขนมภายในบ้าน ทำให้ความถี่ในการไปช้อปปิ้งสินค้าของกินของใช้ลดลง -6.8% แต่การซื้อต่อตะกร้าเพิ่มมูลค่าถึง 10%

    FMCG
    ปี 2564 ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยครั้งลง แต่ซื้อครั้งละมากขึ้น

    พฤติกรรมนี้ส่งให้กลุ่มสินค้าที่เติบโตดีมากคือ “อาหาร” โตถึง 9.2% รองมาคือ “เครื่องดื่ม” ที่โต 3.8% ในขณะที่กลุ่ม “ของใช้ส่วนตัว” ติดลบ -1.1% เพราะผู้บริโภคไม่ได้ออกนอกบ้านมากนัก

     

    ครัวเรือนไซส์เล็ก 1-2 คนยิ่งเพิ่มมากขึ้น

    ในแง่ลักษณะของผู้บริโภค Kantar เก็บข้อมูลพบว่าประชากรไทยอยู่ “ในเมือง” (รวมทั้งกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด) มากกว่าอยู่ใน “ชนบท” แล้วตั้งแต่ปี 2561 และปี 2564 จำนวนที่ต่างกันของครอบครัวในเมืองกับในชนบทยิ่งถ่างออกมากขึ้น

    อีกผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลักษณะผู้บริโภค คือ อัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ มีเด็กเกิดใหม่เพียง 550,000 คนในปี 2564 เทียบกับปี 2555 มีเด็กเกิดใหม่มากกว่า 800,000 คน ประเทศไทยจึงเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กวัยไม่เกิน 14 ปี

    ครัวเรือนอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท และครัวเรือนขนาดเล็กที่มี 1-2 คนพุ่งสูง เพราะครอบครัวไทยไม่มีลูกมากขึ้น และผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหรือสองคนก็เพิ่มขึ้นหลังลูกหลานแยกบ้านออกไป

    มาถึงปี 2564 จึงเห็นภาพชัดว่าครัวเรือนขนาดเล็ก มีสมาชิกอาศัย 1-2 คน ยิ่งพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับครัวเรือนขนาดใหญ่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไปลดลงอย่างมาก ส่วนครัวเรือนขนาดกลางมีสมาชิก 3-4 คน ยังคงทรงตัวอยู่เท่าเดิม

    ที่เป็นเช่นนี้เพราะครัวเรือนที่คนวัยหนุ่มสาวอยู่คนเดียวหรืออยู่เป็นคู่แต่ไม่มีลูกมีเพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กัน 2 คนเพราะลูกหลานแยกบ้านออกไปแล้วก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

     

    แต่ละกลุ่มระมัดระวังการใช้จ่ายต่างกัน

    แต่ละกลุ่มผู้บริโภคทั้งวัย ขนาดครัวเรือน และที่อยู่ (ในเมือง/ชนบท) มีพฤติกรรมการใช้จ่ายกับสินค้า FMCG ต่างกัน โดย Kantar แยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

    • กลุ่มกังวลกับการใช้จ่าย – ใช้จ่ายน้อยลงตั้งแต่เกิด COVID-19 ปีแรก และยิ่งน้อยลงอีกในปีที่สอง ได้แก่ กลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด, กลุ่มครัวเรือนขนาดใหญ่, กลุ่มวัยหนุ่มสาว (ต่ำกว่า 35 ปี) และกลุ่มคนรายได้ต่ำกับรายได้สูงที่อยู่ในเมือง
    • กลุ่มระมัดระวังใช้จ่าย – ช่วง COVID-19 ปีแรกยังใช้จ่ายปกติแต่ปีที่สองใช้จ่ายน้อยลงเพราะระวังสถานการณ์ ได้แก่ กลุ่มครัวเรือนขนาดเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก, ครัวเรือนที่มีเด็กวัยรุ่น และคู่รักสูงวัย
    • กลุ่มที่ยังใช้จ่ายปกติ – กลุ่มนี้ยังใช้จ่ายปกติจนถึงใช้มากขึ้นตั้งแต่เกิด COVID-19 ได้แก่ กลุ่มที่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล, กลุ่มอาศัยในชนบท, กลุ่มรายได้ปานกลางในเมือง, กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี

     

    จัดกลยุทธ์แพ็กเกจและราคาให้เหมาะสม

    ความระมัดระวังที่ต่างกัน ทำให้การจัดแพ็กเกจและราคาของแต่ละสินค้าที่มีเป้าหมายลูกค้าต่างกันก็ต้องแยกละเอียด ยกตัวอย่างปีก่อน สินค้าที่ประสบความสำเร็จในการ Trade Up คือทั้งเพิ่มราคาต่อยูนิตและเพิ่มราคาต่อปริมาณ เช่น กลุ่มวัตถุดิบทาขนมปัง (เช่น แยม) ซึ่งเป็นสินค้าที่กลุ่มครัวเรือนขนาดกลาง มีเด็กวัยรุ่นในบ้าน ซื้อกันมากขึ้น และกลุ่มครัวเรือนขนาดกลางยังเป็นกลุ่มที่พร้อมจ่าย

    ขณะที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ใช้กลยุทธ์การ Up Size คือเพิ่มราคาต่อยูนิตแต่ลดราคาต่อปริมาณ ซึ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่าขึ้น เป้าหมายหลักของสินค้านี้คือวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่กังวลกับการใช้จ่าย จึงต้องใช้ราคาจูงใจว่าซื้อไซส์ใหญ่คุ้มค่ามากขึ้น

    หรืออย่างสินค้าประเภทเนย มีการใช้กลยุทธ์ Down Size คือลดขนาดลงทำให้ราคาต่อยูนิตลดลง แม้ราคาต่อปริมาณจะแพงขึ้น ซึ่งสินค้าเนยนิยมในกลุ่มคนเมืองต่างจังหวัด และกลุ่มนี้กังวลเรื่องการใช้จ่ายสูง ทำให้การจ่ายต่อครั้งที่น้อยลงก็จูงใจได้เช่นกัน

     

    ปี 2565 คาดว่า FMCG จะโต 2.1%

    สำหรับตลาดสินค้า FMCG ปี 2565 ทาง Kantar มองว่าตลาดจะยังโตอยู่ที่ 2.1% แม้จะไม่โตเท่าปีที่แล้วแต่ยังมองบวกได้ เพราะจีดีพีไทยที่น่าจะเป็นขาขึ้น ยังมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ดันยอดใช้จ่ายในกลุ่มผู้อาศัยในชนบท รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขึ้น 1.9% ซึ่งทำให้ราคาสินค้าขึ้นตามไปด้วย

    สินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัวน่าจะกลับมาดีดตัวในปีนี้ หลังคลายล็อกดาวน์

    ด้านกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะยังเติบโตคือ อาหารแช่แข็ง/แช่เย็น คาดโต 3.1% รองมาคือเครื่องดื่ม โต 2.8% ส่วนที่น่าสนใจคือ ของใช้ส่วนตัว ที่น่าจะดีดกลับมาโต 2.5% หลังตลาดติดลบมา 2 ปีต่อเนื่อง เพราะปีนี้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น

    คำแนะนำที่น่าสนใจต่อตลาดในปีนี้จาก Kantar เช่น

    • สร้างสรรค์ประโยชน์จากตลาด “ชนบท” ที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ
    • ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คิดถึงลักษณะของลูกค้าของแบรนด์เป็นสำคัญ เพื่อจะจัดขนาดแพ็กเกจและราคาให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่สินค้าทุกอย่างจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มไซส์หรือเพิ่มราคา บางสินค้าจะดีกว่าถ้าลดราคาหรือลดไซส์ลง
    • การอยู่บ้านจะยังเป็นเทรนด์ต่อไป ทำให้สินค้าสำหรับคนอยู่บ้าน เช่น เครื่องปรุงอาหาร จะยังได้อานิสงส์ที่ดี
    • มีกลุ่มประชากรที่เข้าถึงทั้งช่องทางดั้งเดิม โมเดิร์นเทรด และอีคอมเมิร์ซ มากขึ้นเป็น 31.6% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่แบรนด์จะเจาะให้ครบทุกช่องทาง โดยช่องทางออนไลน์จะช่วยเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้นจากออฟไลน์

    (ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มของ Kantar เกี่ยวกับตลาด FMCG ในไทยปี 2565 ได้ที่นี่)

    ]]>
    1379633
    ขยายพอร์ตอสังหาฯ สู่ ‘โกโก้ โนชูการ์’ โอเล่ กรุ๊ป หาทางโตผ่านธุรกิจสุขภาพ รับสังคมสูงวัย https://positioningmag.com/1368591 Fri, 24 Dec 2021 11:51:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1368591 ตลาดอสังหาฯ ในรอบสองปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนเเปลงมากมาย ทั้งผลกระทบที่ยาวนานจากโควิด-19 ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป บรรดาเเบรนด์อสังหาฯ จึงพยายามหาทางเติบโตด้วยธุรกิจอื่นที่มีเเววรุ่ง กระโจนเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มสุขภาพกันหลายเจ้า เเละหนึ่งในนั้นคือโอเล่ กรุ๊ป

    บริษัท โอเล่ กรุ๊ป (2545) จำกัด เป็นผู้พัฒนากลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ที่นำทีมบริหารโดยจีราวัฒน์ พุทธิไตรสิน น้องชายคนเล็กของศิริญา เทพเจริญแม่ทัพหญิงแห่งบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) การฉีกออกมาทำธุรกิจใหม่ครั้งนี้จึงน่าจับตามองไม่น้อย

    จีราวัฒน์ เล่าว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดเทรนด์การดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง อาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเป็นที่นิยมมากขึ้น เป็นจังหวะอันดีที่จะเดินหน้าจับธุรกิจ “Preventive Healthcare Products”

    โดยได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แบรนด์ COCOA ON MIND ซึ่งเป็นเครื่องดื่มดาร์กโกโก้ เเบบโนชูการ์มาเจาะตลาดในกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ รวมไปถึงผู้ป่วยเกี่ยวกับหลอดเลือด เบาหวาน และหัวใจ ที่มีจำนวนนับล้านคนในประเทศไทย

    -จีราวัฒน์ พุทธิไตรสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอเล่ กรุ๊ป (2545) จำกัด

    ทำไมถึงเลือกโกโก้ โนชูการ์’ 

    หลังจากประสบปัญหาด้านสุขภาพ จากการทำงานหนักและขาดการดูแลตนเองเป็นเวลาหลายปี จีราวัฒน์ เริ่มหันมาใช้วิธีการรักษาแบบแพทย์แผนทางเลือก เเละพบว่าโกโก้ที่เขาชอบดื่มเป็นประจำนั้น มีสารสำคัญที่มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดได้

    ประกอบกับมองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจสูง จากภาพรวมตลาดเครื่องดื่มโกโก้ในไทย ที่มีมูลค่าตลาดปี 2563 ถึง 200 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% เเละก็เป็นเครื่องดื่มตัวท็อปๆ ที่คนไทยชื่นชอบด้วย

    ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยนำเข้าโกโก้ 3.9 หมื่นตัน และในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 4.2 หมื่นตัน ส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.1 หมื่นตัน เนื่องจากปัจจุบันยังผลิตโกโก้ได้น้อย จึงจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งเเบรนด์ COCOA ON MIND เลือกนำเข้ามาจากเบลเยียม

    เรามองว่า ธุรกิจเครื่องดื่มสุขภาพปราศจากน้ำตาลในไทย ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ จึงเป็นทางเลือกสำคัญ

    ด้านการเเข่งขันในตลาดโกโก้เพื่อสุขภาพ เขายอมรับว่ามีการเเข่งขันสูงเเละมีมากกว่า 100 เเบรนด์ทั้งเล็กใหญ่ ซึ่งต้องสู้กันด้วยคุณภาพ คุณสมบัติ รสชาติ เเละมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด

    กลยุทธ์ส่วนลดจากการบอกต่อ

    หลังจากเปิดตัวมาได้ประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เน้นทำตลาดเฉพาะกลุ่มสายสุขภาพผ่านการตลาดออกบูธตามโรงพยาบาลเป็นหลักซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี

    เเต่การระบาดของโควิดก็กระทบเเผนธุรกิจของเเบรนด์มากพอสมควร เนื่องจากไม่สามารถออกบูธได้ตามปกติ บริษัทจึงหันมาโฟกัสตลาดออนไลน์เเทน ซึ่งมีการโปรโมตผ่านช่องทางแฟนเพจและไลน์แอดเป็นหลัก รายได้จึงมาจากฐานลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เกิดจากการบอกต่อของลูกค้าขาประจำ

    เมื่อสถานโควิด 19 มีทิศทางที่ดีขึ้น จึงตัดสินใจกลับมารุกตลาดอีกครั้ง พร้อมกับเป้าหมายใหญ่รายได้ 1 พันล้านบาทเเละมีฐานสมาชิก 1 ล้านคน ให้ได้ภายในปี 2565

    ตัวเลขฐานลูกค้ากว่าล้านคนที่หวังไว้นั้น เขาบอกว่าจะมาจากการเปิดระบบตัวแทนจำหน่ายเเบบไม่มีค่าใช้จ่าย เเละรับสมัครสมาชิกทุกคน พร้อมระบบ Dropship Fulfillment ที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้า เน้นสะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่ายผ่านมือถือเเละคิวอาร์โค้ด บอกต่อกันไปในกลุ่มญาติ เพื่อนฝูง ที่ทำงาน ฯลฯ

    ดังนั้น กลยุทธ์การทำธุรกิจจึงเป็นไปเเบบให้ส่วนลดจากการบอกต่อซื้อเยอะก็ได้ลดเยอะ เเต่เห็นว่าไม่ควรซื้อไปเพื่อกักตุน จึงมีการเปิดให้ทุกคนเป็นสมัครชิกฟรีได้ตลอดชีพ เน้นการได้ Passive Income จากการบอกต่อเพื่อน

    นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนขยายช่องทางการตลาด กระจายสินค้าไปวางจำหน่ายตามร้านค้าสุขภาพให้ครอบคลุม พร้อมทำมาร์เก็ตติ้งการขายออนไลน์แบบ Affiliate ผ่านบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ สื่อสารผ่านคนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ ชอบทานโกโก้ เเละต้องการซื้อเป็นของฝากให้ญาติผู้ใหญ่หรือคนที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับหลอดเลือด

    ขยายส่งออกจีน-อาเซียน 

    นอกจากปั้นเเบรนด์ COCOA ON MIND เเล้ว เป้าหมายอีกอย่างของโอเล่ กรุ๊ปก็คือการยกระดับโกโก้ไทยไปสู่ตลาดโลก

    โดยปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการสรรหา แหล่งที่มาของเมล็ดโกโก้ เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่สมบูรณ์ มีรสชาติ รสสัมผัส และกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น (Single Origin) ในไทย ซึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่ได้รสชาติและคุณภาพตามที่ต้องการ เเละตอนนี้ COCOA ON MIND ยังจำเป็นต้องใช้ผงโกโก้จากเบลเยียมอยู่ เเต่ในอนาคตมองว่าจะสามารถพัฒนาเป็นเเบรนด์โกโก้จากไทยได้

    หากสถานการณ์โควิด-19 ตัวดีขึ้นจะส่งผลให้ภาพรวมกิจกรรมการตลาดและยอดขายคึกคักตามไปด้วย เเละเราก็เตรียมแผนขยายธุรกิจต่อยอด ส่งออกไปยังประเทศจีนและอาเซียนด้วย

     

     

    ]]>
    1368591
    “นายณ์ เอสเตท” พลิกโฉมตึกเก่าเป็น “บ้านพักผู้สูงอายุ” โมเดลใหม่ใช้ประโยชน์จากชุมชนเดิม https://positioningmag.com/1360880 Mon, 08 Nov 2021 09:05:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1360880 ธุรกิจ “บ้านพักผู้สูงอายุ” กำลังทวีความน่าสนใจ หลังจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและวิถีชีวิตเปลี่ยน ล่าสุด “นายณ์ เอสเตท” จับมือ “ลิฟเวล” พัฒนาโครงการ “นายาเรสซิเดนซ์” ใช้วิธีรีโนเวตห้องชุดในอาคารเก่าให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ผนวกบริการพยาบาลดูแลเหตุฉุกเฉิน ออกแบบกิจกรรมแก้เหงา ข้อดีของการรีโนเวตแทนการสร้างใหม่ คือการได้อยู่ท่ามกลางชุมชนเดิม มีคนหลากหลายวัย และฝั่งดีเวลอปเปอร์ประหยัดต้นทุนมากกว่า

    เมื่อพูดถึง “บ้านพักผู้สูงอายุ” ยุคก่อนหน้านี้อาจเป็นคำที่ให้ความรู้สึกในทางลบมากกว่าทางบวก แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเริ่มเปลี่ยนไป คนวัยเกษียณที่เข้าไปพักไม่ใช่คนชราที่ถูกทอดทิ้ง แต่เป็นการ ‘เลือก’ สถานที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตเอง เนื่องจากลูกหลานอาจแยกครอบครัวออกไป ไม่มีเวลาดูแล หรือหลายๆ คนเลือกเป็นโสด ไม่มีบุตรหลาน การมาอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอยู่คนเดียว

    บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด เป็นหนึ่งในดีเวลอปเปอร์ที่หันมาจับธุรกิจนี้จากแพสชั่นส่วนตัวของ “อรฤดี ณ ระนอง” ซีอีโอวัย 62 ปีของบริษัท เธอเริ่มศึกษาลงลึกในการพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุตั้งแต่ 4 ปีก่อน ก่อนหน้านี้บริษัทเคยประกาศพัฒนาโครงการบ้านผู้สูงอายุที่ จ.ภูเก็ต แต่เนื่องจากเกิดโรคระบาด COVID-19 จึงชะลอโครงการไว้ก่อน และหันมาจับโครงการขนาดเล็กกว่าที่ “นายาเรสซิเดนซ์” จ.นนทบุรี แทนก่อน

    นายาเรสซิเดนซ์ ในพื้นที่เดียวกับริเวอร์ไรน์ วิลเลจ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้สะพานพระราม 5 พื้นที่รวม 14 ไร่

    โมเดลธุรกิจของที่นี่ใช้วิธีหยิบโครงการเก่าของนารายณ์ พร็อพเพอร์ตี้ คือ “ริเวอร์ไรน์ วิลเลจ” ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่แล้ว มารีโนเวตบางส่วนให้เป็น “นายาเรสซิเดนซ์” จำนวน 70 ยูนิต

    เหตุที่สามารถทำได้ เพราะริเวอร์ไรน์เป็นโครงการเก่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้มียูนิตบางส่วนไม่สามารถขายได้ และบริษัทดัดแปลงพัฒนาเป็นโรงแรมแทน วันนี้จึงสามารถนำบางส่วนของโรงแรมมารีโนเวตใหม่ให้เป็นบ้านพักผู้สูงอายุ โดยจะอยู่บนชั้น 4-10 (รวม 7 ชั้น) ของอาคาร มีการทุบห้องบนชั้นที่จะรีโนเวตทั้งหมด เพื่อออกแบบใหม่เป็นห้อง Universal Design เหมาะกับผู้สูงอายุ

    การนำบ้านพักผู้สูงอายุมาอยู่ในพื้นที่เดียวกับโครงการปกติอาจจะฟังดูแปลก แต่ที่จริงแล้ว นายณ์ เอสเตท และลิฟเวล (Livwell) พันธมิตรซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพในโครงการ ชี้ให้เห็นว่า ข้อดีก็คือผู้สูงอายุจะได้อยู่ร่วมกับชุมชนเดิมกว่า 300 ครัวเรือนซึ่งมีคนหลากหลายวัย ทำให้บรรยากาศไม่น่าเบื่อ หดหู่ ไม่ต้องตื่นมาแล้วเจอแต่ลุงๆ ป้าๆ วัยเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตและความสุขในการใช้ชีวิต

     

    ห้องใหญ่ ป้องกันอุบัติเหตุ มีทีมรับเหตุฉุกเฉิน

    นายาเรสซิเดนซ์ วางคอนเซ็ปต์เป็นบ้านให้เช่าพร้อมบริการ สำหรับผู้สูงอายุแบบ Independent Living คือสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง มีห้องพักทั้งหมด 2 แบบ คือ 1 ห้องนอน (พื้นที่ใช้สอย 62-76 ตร.ม.) และ 2 ห้องนอน (พื้นที่ใช้สอย 105-120 ตร.ม.)

    ตัวอย่างห้องแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่กว้างขวาง เหมาะกับวีลแชร์
    ห้องน้ำพื้นเรียบ มีราวจับและที่นั่ง

    การออกแบบแบบ Universal Design ประตูกว้างเพื่อให้วีลแชร์เข้าออกสะดวก พื้นลดแรงกระแทกเมื่อหกล้ม ห้องน้ำพื้นที่กว้าง มีราวจับ ที่นั่งอาบน้ำ เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นลบเหลี่ยมมุมป้องกันอุบัติเหตุ ติดไฟใต้ฐานเตียงในห้องนอนที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ลดอุบัติเหตุในความมืด

    นอกจากนี้ ยังใช้ระบบของ SCG DoCare มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีช่วยให้ความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์วัดความดัน วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เซ็นเซอร์ตรวจจับการนอนหลับ เซ็นเซอร์ตรวจจับระยะเวลาและความถี่การเข้าห้องน้ำซึ่งอาจหมายถึงสุขภาพที่แย่ลง เซ็นเซอร์ตรวจจับการหกล้มในห้องน้ำ ปุ่มกดเรียกพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

    อุปกรณ์ของ SCG DoCare มีเครื่องวัดความดัน ปุ่มกดเรียกพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ

    ระบบของ SCG จะส่งข้อมูลไปให้ที่ทีมพยาบาลของลิฟเวลซึ่งคอยดูแล 24 ชั่วโมง (แบ่งเป็นกะกลางวัน 2 คน และกะกลางคืน 1 คน) หากเกิดเหตุฉุกเฉิน พยาบาลจะไปถึงภายใน 4 นาทีเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้น และร่วมกับรพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น ในการจัดรับส่งรถพยาบาล

     

    มีกิจกรรมแก้ ‘ความเหงา’ ต้นเหตุสมองเสื่อม!

    ด้าน “พญ.นาฏ ฟองสมุทร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเกี่ยวกับผู้สูงอายุประสบการณ์ 23 ปี จาก ลิฟเวล กล่าวว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเวลอปเปอร์ทุกแห่งสร้างขึ้นได้ สิ่งจำเป็นอีกประเด็นที่ละเอียดอ่อนกว่า คือ “การบริการ” หลังจากย้ายเข้ามาอยู่แล้ว

    นอกจากการอยู่ในชุมชนเก่าที่ทำให้บรรยากาศไม่เหงาแล้ว นายาเรสซิเดนซ์ มีกิจกรรมอีกมากเพื่อช่วยให้ “วัยอิสระ” หลังเกษียณ มีชีวิตแบบ ‘active aging’ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำ และยังคงสุขภาพดี ได้ออกกำลังกายตามวัย

    กิจกรรมออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพ และช่วยแก้เหงา

    ลิฟเวลจะมีนักกายภาพบำบัดที่ดีไซน์การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยอิสระ เช่น ออกกำลังกายในน้ำ พิลาทีส จัดคลาสให้เข้าร่วมทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และมีกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ เช่น งานฝีมือ ท่องเที่ยว ซึ่งทำให้คนสูงวัยยังมีเพื่อน ไม่ต้องเหงา

    “เราพบว่าถ้าวัยอิสระไม่มีสัมพันธ์กับคนรอบตัว จะทำให้สมองเสื่อมเร็ว อย่างที่หมอมักจะบอกมาตลอดว่าจริงๆ แล้ว ‘ความเหงาคือโรคอย่างหนึ่งของผู้สูงวัย’” พญ.นาฏกล่าว เป็นที่มาที่การสร้างชุมชนและกิจกรรมให้ผู้สูงวัยคือเรื่องสำคัญมาก

     

    ค่าเช่าเริ่มต้น 40,000 บาทต่อเดือน

    อรฤดีระบุว่า เป้าหมายของโครงการนี้เป็นผู้สูงวัยมีรายได้ระดับ B+ จนถึง A- เกรดวัสดุและการบริการจะยกระดับขึ้นกว่าโครงการของรัฐ โดยสามารถพูดคุยแพ็กเกจเช่าได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เช่ารายเดือนจนถึงเช่ายาว 30 ปี ผู้ที่สนใจสามารถเจรจาแพ็กเกจเองได้ตามวัยของตนเอง และสามารถมาลองเช่ารายเดือนได้ก่อนที่จะตัดสินใจเช่ายาวกับโครงการ

    จ็อกกิ้งแทร็กในโครงการ พื้นนุ่มลดแรงกระแทก

    ขณะนี้มี แพ็กเกจราคารายเดือนคือ 1 ห้องนอน 40,000 บาทต่อเดือน (พักได้ 1 ท่าน หากพัก 2 ท่าน เพิ่ม 3,000 บาทต่อเดือน) ส่วนแบบ 2 ห้องนอน ราคา 50,000-60,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าพัก ราคานี้จะได้รับบริการต่างๆ ดังนี้

    • ห้องพักพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้และดูแลสุขภาพครบ ลากกระเป๋าเข้าอยู่ได้เลย
    • พยาบาลดูแล 24 ชั่วโมง
    • บริการทำความสะอาด 1 ครั้งต่อสัปดาห์
    • คลาสออกกำลังกาย
    • ค่าส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนและจ็อกกิ้งแทรก

    ถ้าผู้เช่าทำสัญญาเป็นรายปีหรือมากกว่านั้นจะมีส่วนลดเพิ่มเติม รวมถึงถ้าหากเกิดเหตุผู้สูงวัยเสียชีวิตก่อนครบสัญญา โครงการจะคืนส่วนต่างให้แก่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรม เช่น ทำสัญญา 15 ปี แต่ยังเหลือเวลาเช่า 10 ปีหลังเสียชีวิต ผู้รับมรดกจะได้คืนส่วนต่างทั้งหมด

    ด้านการใช้สินเชื่อแบบ ‘Reverse Mortgage’ (การจำนองบ้านหรือสินทรัพย์ของตนเพื่อรับกระแสเงินสดรายเดือนจากธนาคาร เหมาะกับผู้สูงวัยที่ต้องการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นรายได้ไว้ใช้ในช่วงบั้นปลาย) อรฤดีกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเจรจากับธนาคารเพื่อให้ปล่อยสินเชื่อกับโครงการนี้ มีธนาคารที่สนใจคือ ธ.ออมสิน

     

    โอกาสธุรกิจโมเดลใหม่ในอนาคต

    ปัจจุบันโครงการนายาเรสซิเดนซ์มีผู้เช่าแวะเวียนเข้ามาทดลองแล้ว 2-3 ยูนิต จาก 10 ยูนิตที่รีโนเวตแล้ว และคาดว่าจะรีโนเวตครบทั้งหมดภายในต้นปี 2565

    (ซ้าย) “พญ.นาฏ ฟองสมุทร” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเกี่ยวกับผู้สูงอายุประสบการณ์ 23 ปี จากลิฟเวล และ (ขวา) “อรฤดี ณ ระนอง” ซีอีโอ บริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด

    นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้นายณ์ เอสเตทนำไปพัฒนาโครงการแบบเดียวกันนี้ในโครงการอื่นๆ ไม่เฉพาะในเครือของนารายณ์ แต่อาจจะรับรีโนเวตอาคารอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ที่เจ้าของต้องการเปลี่ยนธุรกิจ และใช้บริการจากลิฟเวลเข้าไปดูแล

    อรฤดีมองว่า การเลือกใช้โครงการแบบ ‘brownfield’ มารีโนเวตจะประหยัดต้นทุนมากกว่า ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 บาทต่อตร.ม. และยังเหมาะกับตลาดกว่า เพราะโครงการลักษณะนี้ยังใหม่ในไทย ลูกค้ายังไม่เสี่ยงจองห้องหากยัง ‘ไม่เห็นของ’ ซึ่งจะทำให้การขอสินเชื่อพัฒนาโครงการใหม่แบบ ‘greenfield’ จากธนาคารทำได้ยากมาก

    ด้านลิฟเวลนั้น พญ.นาฏบอกเช่นกันว่า นายาเรสซิเดนซ์จะเป็นโครงการต้นแบบ ลิฟเวลเป็นพันธมิตรระยะยาวกับนายณ์ เอสเตท แต่ไม่ได้ปิดกั้นการพูดคุยและรับดูแลบริการให้กับโครงการบ้านผู้สูงอายุของดีเวลอปเปอร์เจ้าอื่น และเชื่อว่าอนาคตจะมีความสนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจนี้

    ]]>
    1360880
    “แรงงานสูงวัยในญี่ปุ่น” เติบโต 17 ปีซ้อน สะท้อนภาพ “สังคมไร้วันเกษียณ” https://positioningmag.com/1352815 Tue, 21 Sep 2021 07:34:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352815 อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ทำให้มีแรงงานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเติบโตมากขึ้นต่อเนื่องตลอด 17 ปี

    จำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในญี่ปุ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยปีนี้เพิ่มขึ้น 220,000 คน รวมเป็น 36.4 ล้านคน แบ่งเป็น ชาย 15.83 ล้านคน ผู้หญิง 20.57 ล้านคน ขณะที่ประเทศที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 คือ อิตาลี คิดเป็น 23.6% ตามด้วยโปรตุเกส 23.1%

    ผู้สูงวัยของญี่ปุ่นคิดเป็น 29.1% ของประชากรทั้งหมด ณ เดือนนี้ และ 13.6% ยังคงเป็นแรงงานในปี 2020 ซึ่งทั้งสองตัวเลขนั้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนเป็น 30% ของประชากรในปี 2025 และ 35.3% ในปี 2040

    ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีจำนวนทั้งสิ้น 12.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 460,000 คนจากปีก่อนหน้า และในจำนวนผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 25.9 ล้านคน รวมทั้งผู้มีอายุครบร้อยปี 80,000 คน

    ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 17 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2547 จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำ 9.06 ล้านคน มี 3.67 ล้านคนเป็นผู้หญิง โดยอุตสาหกรรมที่เป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของผู้สูงอายุคือ อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีก โดยมีผู้สูงอายุ 1.28 ล้านคน รองลงมาคือเกษตรกรรมและป่าไม้ 1.06 ล้านคน แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้กว่า 70% ได้รับการจ้างงานแบบชั่วคราว และมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

    โดยอัตราส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีงานทำสูงถึง 25.1% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก โดยอัตราส่วนในเกาหลีใต้สูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักที่ 34.1% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 18% และ 12.8% ตามลำดับ

    Source

    ]]>
    1352815
    นโยบาย ‘ลูก 3 คน’ ของจีนอาจไม่ได้ผล เหตุคนไม่อยากมีลูกเยอะเพราะปัญหา ‘ค่าครองชีพ’ https://positioningmag.com/1334998 Wed, 02 Jun 2021 07:12:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334998 ในปัจจุบันจะเริ่มมีการพูดถึง ‘สังคมผู้สูงวัย’ ในหลายประเทศ เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำจนอนาคตอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่ง ‘จีน’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยในปี 2020 จีนมีประชากรทั้งหมด 1,412 ล้านคน แต่ประชากรที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 มีเพียง 12 ล้านคน ต่ำที่สุดที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งทำให้รัฐบาลได้เปลี่ยนกฎอนุญาตมีลูกได้ 3 คน แต่ดูเหมือนมันจะไม่ง่ายขนาดนั้น

    พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้บังคับใช้กฎการมีบุตรมาตั้งแต่ปี 1980 เพื่อควบคุมการเพิ่มทางประชากรของประเทศ โดยสามารถมีลูกได้เพียงคนเดียว ต่อมาในปี 2015 ก็ได้อนุญาตให้คู่สมรสสามารถมีบุตรได้ 2 คน แต่ทว่าตัวเลขอัตราการเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

    จนในปี 2020 ประเทศจีนมีอัตราการเกิดเพียง 12 ล้านคน ลดลงจากปี 2019 ถึง 20% ในขณะที่จำนวนผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 – 59 ปีลดลงต่ำกว่า 900 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 63% ของประชากร จัดตัวเลขดังกล่าวทำให้รัฐบาลตัดจีนตัดสินใจอนุญาตให้ผู้คนมีลูกมากขึ้นเป็น 3 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ

    ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า กำลังแรงงานของจีนจะถึงจุดสูงสุดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก่อนที่จะหดตัวลงประมาณ 5% ในทศวรรษหน้า และนั่นอาจเป็นปัญหาสำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ตั้งเป้าให้ GDP ของจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2035

    “ประชากรที่เคยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมากำลังจะสลายไปอย่างรวดเร็ว” เยว่ ซู นักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ในลอนดอนกล่าว

    ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า จีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในฐานะเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ แต่ก็มีช่องว่างที่ใหญ่กว่ามากในแง่ของ GDP ต่อหัว โดยของจีนอยู่ที่ 17,000 ดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐฯ มีมากกว่า 63,000 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

    จีนเริ่มใช้นโยบายลูกคนเดียวเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วเพื่อแก้ไขปัญหาประชากรที่มากเกินไป รวมถึงบรรเทาความยากจน แม้ขณะนี้รัฐบาลกำลังผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะจัดการกับวิกฤตประชากรที่ลดลง เนื่องจากประชากรหลายคนระบุว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น

    ภาพจาก shutterstock

    สื่อสังคมออนไลน์ของจีนขาดความกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการประกาศให้สามารถมีลูกได้ครอบครัวละ 3 คน ขณะที่การพูดถึง เหตุผลที่ไม่ต้องการมีลูกคนที่ 3 หรือไม่มีลูกเลย กลับเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน Weibo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียคล้าย Twitter ในประเทศจีน

    “ฉันจะมีลูกได้อย่างไรในเมื่อความกดดันในชีวิตสูงขนาดนี้” ผู้ใช้ Weibo คนหนึ่งเขียน

    Xinhua ถามผู้ใช้ Weibo ว่าพวกเขาพร้อมสำหรับลูกคนที่สามหรือไม่ แบบสำรวจออนไลน์ดึงดูดคำตอบมากกว่า 30,000 ครั้งภายในครึ่งชั่วโมงซึ่งมากกว่า 90% โหวตว่า “ไม่มีอย่างแน่นอน” อย่างไรก็ตาม การสำรวจถูกลบออกไปอย่างเงียบ ๆ

    ทั้งนี้ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวจีนคนหนึ่งเสนอแนวคิดให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่มีบุตรเกิดใหม่คนละ 1 ล้านหยวน (ราว 4.85 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดในจีนที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลยังไม่มีนโยบายสนับสนุนใด ๆ ออกมา

    Source

    ]]>
    1334998
    จากนโยบาย “ลูกคนเดียว” สู่ปีที่ “จีน” กังวลถึงภาวะ “ประชากรเกิดน้อยเกินไป” https://positioningmag.com/1333629 Mon, 24 May 2021 12:49:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333629 ปี 2020 จีนมีประชากรทั้งสิ้น 1,412 ล้านคน แต่ประชากรที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีก่อนมีเพียงแค่ 12 ล้านคน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1961 สถิติการเกิดที่น้อยลงเริ่มน่ากังวล เพราะจะทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลงในอนาคต และเงินบำนาญหลังเกษียณของผู้สูงวัยจะไม่เพียงพอ อ่านข้อมูลเหล่านี้เพื่อติดตามสถานการณ์ประชากรในจีนที่อาจเปลี่ยนลักษณะสังคม-เศรษฐกิจได้ในทศวรรษหน้า

    1) จีนเคยมีนโยบาย “ลูกคนเดียว” คืออนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกได้แค่คนเดียว เพื่อลดจำนวนประชากรที่มากเกินไป จนกระทั่งปี 2016 จึงผ่อนผันให้มีลูกได้สองคน

    2) ณ ปี 2020 จีนมีประชากรทั้งหมด 1,412 ล้านคน แต่ประชากรที่เพิ่มขึ้นในปี 2020 มีเพียง 12 ล้านคน ต่ำที่สุดที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1961 ซึ่งเป็นปีที่เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในจีนจนประชากรเกิดใหม่ลดฮวบ และเป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2019 ที่มีเด็กเกิดใหม่ 14.65 ล้านคน

    3) ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรหญิง เท่ากับค่าเฉลี่ยผู้หญิงจีนวัยเจริญพันธุ์ 1 คนจะมีลูกเพียง 1.3 คนเท่านั้นเมื่อปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยความต้องการของผู้หญิงจีนโดยเฉลี่ยแล้วต้องการมีลูกเพียง 1.8 คน น้อยกว่าอัตราที่ควรจะเป็นคือมีลูก 2.1 คน เพื่อจะทำให้อัตราประชากรของจีนเหมาะสม

    (Photo : Shutterstock)

    4) เมื่อประชากรเกิดน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 264.02 ล้านคน ทำให้ปี 2020 จีนมีอัตราส่วนผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 18.7% เพิ่มขึ้นมา 5.44% เทียบกับปี 2010 ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจประกันของจีนประมาณการณ์ว่า ประชากรผู้สูงอายุจะขึ้นแตะ 300 ล้านคนภายในปี 2025

    5) ในทำนองเดียวกัน ประชากรวัยทำงานจึงลดลงด้วย โดยปี 2020 จีนมีประชากรวัย 15-59 ปี จำนวน 894.38 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 63.35% ลดลง 6.79% จากปี 2010

    6) จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่คนทำงานน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนเคยประมาณการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2019 ว่า กองทุนบำนาญของรัฐจะเริ่มขาดเงินสะสมในปี 2035 หากว่าจำนวนผู้เกษียณอายุยังคงเพิ่มขึ้น และคนทำงานที่จะส่งเงินให้กับกองทุนลดลง

    7) รัฐบาลจีนตระหนักถึงปัญหานี้ โดยเคยคำนวณไว้ว่า ภายในปี 2050 เงินบำนาญของผู้สูงวัย 1 คนจะมาจากการทำงานของคนวัยทำงานเพียง 1 คน จากปัจจุบันมาจากคนวัยทำงาน 2 คน ซึ่งนั่นแปลว่า เงินบำนาญจะไม่เพียงพอ

    (Photo : Shutterstock)

    8) ความกังวลเกี่ยวกับอัตราประชากรนี้นำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายให้มีลูกเพิ่มได้เป็น 2 คนเมื่อปี 2016 โดยหวังว่าจะทำให้คนจีนมีลูกเพิ่ม แต่ก็เพิ่มไม่มากเท่าที่รัฐบาลคาดหวัง โดยปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ให้มีลูกได้ 2 คน มีเด็กเกิดใหม่ 17.86 ล้านคน เพิ่มจากปี 2015 ที่มีเด็กเกิดใหม่ 16.55 ล้านคน และในปี 2017 จำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ตกลงอีกเหลือ 17.23 ล้านคน จากนั้นก็ยังคงลดลงต่อเนื่องทุกปี แม้ว่ารัฐจะให้นโยบายเงินอุดหนุนสำหรับการมีลูกคนที่สองแล้วก็ตาม

    9) การมีลูกน้อยลงของคนจีนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงลูก แนวคิดทางสังคมของผู้หญิงที่ต้องการเรียนสูง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงไม่ต้องการมีครอบครัว รวมถึงการย้ายจากชนบทมาอยู่ในเมืองใหญ่ก็ทำให้การมีลูกและเลี้ยงลูกยากขึ้น

    10) ต้องติดตามต่อว่าจากนี้จีนจะออกนโยบายอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านประชากร ก่อนที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงกว่าเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปี และจะทำให้จีนประสบปัญหาแบบเดียวกับประเทศใกล้เคียงอย่าง ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้

    Source

    ]]>
    1333629
    อัตราการเกิด ‘จีน’ ลดลง 20% โตช้าสุดในรอบ 10 ปี คาดประชากร ‘อินเดีย’ จะแซงใน 5 ปี https://positioningmag.com/1331634 Tue, 11 May 2021 10:43:14 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331634 ‘จีน’ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีประชากรมาสุดที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับ ‘อัตราการเกิด’ ที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยลดลงจาก 20% แม้ว่าในปี 2016 จีนจะยกเลิกนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ ที่เคยประกาศใช้เมื่อปี 1979 เพื่อเป็นมาตรการควบคุมการเติบโตของประชากร

    เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรของประเทศจีนสูงถึง 1.41 พันล้านคนเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีประชากร 1.33 พันล้านคน โดยอัตราการเติบโตของประชากรเฉลี่ยต่อปี 0.53% ช้ากว่า 0.57% ที่วัดได้ในปี 2010 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของจีน โดยจำนวนทารกแรกเกิดในปี 2020 อยู่ที่ 12 ล้านคนลดลงเกือบ 20% จากปีก่อนหน้า

    สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 18.7% ซึ่งมากกว่าปี 2010 ที่มีจำนวน 13.26% ในขณะที่ประชากรวัยทำงานของผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปีลดลงเหลือ 63.35% จาก 70.14% แม้ว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 0-14 ปีจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 16.6% เป็น 17.95%

    “อายุเฉลี่ยของประชากรจีนคือ 38.8 ปี ซึ่งร่ำรวยและแข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับอายุ 38 ปีของสหรัฐฯ แต่สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและผู้สูงวัยจะกลายเป็นพื้นฐานของประเทศเราในอนาคต” Ning Jizhe หัวหน้า NBS กล่าว

    (Photo by Miguel Candela/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

    การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนการพึ่งพา ซึ่งหมายถึงภาระในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุของคนวัยทำงาน และเนื่องจากครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง รวมถึงผู้สูงวัยที่มากขึ้น และกำลังแรงงานในอนาคตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

    ทั้งนี้ ประชากรวัยทำงานของจีน คือ คนที่มีอายุ 16-59 ปี แม้ว่าจะลดลงไป 40 ล้านคน เมื่อเทียบกับการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2010 แต่ เจิง ยู่ผิง หัวหน้านักระเบียบวิธี กล่าวว่า ขนาดประชากรวัยทำงานทั้งหมด 880 ล้าน ยังมีขนาดใหญ่อยู่ และยังมีกำลังแรงงานมากมาย

    อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนไม่เห็นว่าการลดลงของประชากรทำให้แผนการเติบโตในระยะยาวของจีนลดลง โดย Fang Hanming ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มองว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาทดแทนแรงงานที่ลดลงได้

    “การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรไม่ควรก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ สำหรับเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ต่อคนเป็นสองเท่าภายในปี 2035 หากจีนเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ”

    ตามรายงานของ United Nation ในปี 2019 ประชากรของจีนคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดภายในปี 2030 ในขณะที่อินเดียปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 1.36 พันล้านคน โดยคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในราวปี 2025

    Source

    ]]>
    1331634
    วิกฤตประชากรไทย อัตราการเจริญพันธุ์เหลือ 1.5 เทียบเท่าญี่ปุ่น เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว https://positioningmag.com/1325544 Mon, 29 Mar 2021 15:08:33 +0000 https://positioningmag.com/?p=1325544 GFC เผยไทยมีแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์เหลือ 1.5 เทียบเคียงประเทศญี่ปุ่น เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว เกิดจากความพร้อมมีบุตรอายุเกิน 35 ปี ส่งผลให้เข้าสู่ภาวะมีบุตรยาก

    คนไทยตัดสินใจมีลูกอายุ 35 ขึ้นไป  

    จากผลการสำรวจ และสถานการณ์ของประชากรในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็น 1 ใน 23 ประเทศที่มีงานวิจัยระบุว่า ในอีก 80 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เหลือเพียง 35 ล้านคน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ค่านิยมการอยู่เป็นโสด ผู้หญิงมีความสามารถ และการศึกษาสูงขึ้น ต้องการทำงานสร้างฐานะเป็นอันดับแรก ชะลอเรื่องการแต่งงานมีครอบครัว

    ประกอบกับข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถิติทางสาธารณสุขของอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate – TFR) ของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 1.5 ซึ่งเป็นอัตราเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

    Photo : Shutterstock

    ส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว จากการที่กลุ่มคนวัยทำงานตัดสินใจมีบุตรในช่วงอายุที่มากขึ้น ประกอบกับความเครียดจากการทำงาน ทำให้คู่สมรสหลายคู่ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์

    ผศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศริริราช และประธานกรรมการบริหาร เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC) กล่าวว่า

    “ปัจจุบันปัญหาการมีบุตรยากของคนไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากรอความพร้อมด้านการเงิน หน้าที่การงาน ส่งผลให้แต่งงานช้าลง โดยความต้องการมีบุตรอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 – 40 ปี  ซึ่ง 85% ของคู่สมรสจะสามารถมีบุตรได้ภายใน 1 ปี หลังการแต่งงานและ 95% ของคู่สมรสจะมีบุตรได้ภายใน 2 ปี หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะถูกจัดในภาวะมีบุตรยาก”

    ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

    การมีบุตรตอนอายุมากโดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ความสมบูรณ์ของไข่จะมีน้อยและคุณภาพไข่ไม่ดี ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 48 ปี ไม่ควรท้องด้วยวิธีธรรมชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่สุขภาพ และความพร้อมของร่างกายไม่สมบูรณ์เต็มที่เหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้เด็กที่เกิดมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะวิธีทำเด็กหลอดแก้วและ NGS เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของโครโมโซม

    GFC (เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์) ศูนย์รวมบริการทางการแพทย์สำหรับมีบุตรยากแบบครบวงจร เปิดตัว Eeva เทคโนโลยีเลือกตัวอ่อนใหม่ล่าสุด ซึ่งนำมาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพแม่นยำ สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 70% เมื่อเทียบค่ามาตรฐานทั่วไป

    กรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (GFC) เปิดเผยว่า

    จากปัจจัยดังกล่าว GFC ในฐานะที่ปรึกษาและศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่เปิดดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 5 มองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ และแสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของไทย โดยพบว่าในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศราว 4,500 ล้านบาท

    พญ.ปรวัน ตั้งธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ของ Genesis Fertility Center และผู้ก่อตั้งเพจ มีลูกยาก ปรึกษาหมอมิ้งค์ กล่าวเสริมว่า

    GFC มีเทคโนโลยีชื่อ Eeva ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเลือกตัวอ่อนใหม่ล่าสุด ที่ GFC Clinic นำมาใช้แห่งแรกในประเทศไทย โดยมีใช้ในต่างประเทศมาประมาณ 5 ปี ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถเลือกตัวอ่อนได้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ เนื่องจากมีการนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจจับการเติบโตของตัวอ่อน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดในการนำมาฝังตัว

    ซึ่งเมื่อทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการตรวจ NGS จะสามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงถึง 73% เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่อื่นซึ่งมีอัตราตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 30-50% สำหรับจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแยกของแต่ละเคส โดยตู้เลี้ยง 1 ตู้สำหรับ 1 คนไข้ ไม่ใส่รวมปะปนกัน เพื่อลดการรบกวน พร้อมควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม

    ปัจจุบันความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทช่วยด้านการเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีศักยภาพที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของ GFC เป็นคนไทยประมาณ 90% ส่วนอีก 10% เป็นกลุ่มที่สามีหรือภรรยาเป็นคนไทยกับคนต่างชาติ

    ]]>
    1325544