โควิดระบาด – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 25 Nov 2021 01:16:06 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ‘เยอรมนี’ เล็ง ‘บังคับฉีดวัคซีน’ พ่วงล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ หลังผู้ติดเชื้อพุ่ง https://positioningmag.com/1363887 Wed, 24 Nov 2021 15:52:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1363887 เยอรมนีเตรียมตัดสินใจเกี่ยวกับข้อจำกัดด้าน COVID-19 ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และอาจถึงขั้นปิดเมืองแบบเต็มรูปแบบ นอกจากนี้อาจจะ บังคับให้ประชาชนฉีดวัคซีน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 66,884 ราย และซึ่งส่งผลต่อเตียงโรงพยาบาลที่อาจไม่เพียงพอ

เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ ได้ออกคำเตือนต่อชาวเยอรมันว่า อาจจะจำกัดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เช่น บาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และพิพิธภัณฑ์ โดยจะจำกัดการเข้าถึงเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลอาจไม่มีกำลังมากพอในการรับผู้ป่วย เพราะห้องไอซียูเต็ม และนั่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย COVID-19 เท่านั้น

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เยอรมนีมีผู้ป่วยรายใหม่ 66,884 ราย จากเมื่อวันอังคารมีผู้ป่วยรายใหม่ 45,326 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 100,000 ราย  

นอกจากนี้ รัฐบาลของเยอรมนีกำลังพิจารณา บังคับฉีดวัคซีน โดยได้ขอร้องให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันเยอรมนีมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรปตะวันตก โดยมีเพียง 68% ของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เยอรมนีพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะส่งเสริมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เนื่องจากการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้สูง และรุนแรงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้ามาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการฉีดวัคซีนบังคับเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกันในยุโรป แต่เจ้าหน้าที่บางคนเชื่อว่าการให้วัคซีน เป็นวิธีเดียวที่จะหยุดไวรัสได้

ทั้งนี้ วัคซีนโควิดช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากไวรัสได้อย่างมาก แต่ภูมิคุ้มกันของวัคซีนจะลดลงหลังจากผ่านไปประมาณ 6 เดือน และไม่ได้ผล 100% ในการลดการแพร่กระจาย

Source

]]>
1363887
ครึ่งปีแรก’64 “ศุภาลัย” ยอดขายเข้าเป้า แต่ครึ่งปีหลังต้องจับตา แคมป์คนงาน-มู้ดผู้บริโภค https://positioningmag.com/1346265 Wed, 11 Aug 2021 10:43:49 +0000 https://positioningmag.com/?p=1346265 “ศุภาลัย” รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก 2564 รายได้-กำไรพุ่งจากการโอนคอนโดฯ มองบวกซัพพลายในตลาดเริ่มลด อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังผิดคาดจากวิกฤตการระบาดยืดเยื้อ แม้ปลดล็อก “แคมป์คนงาน” แล้วแต่ยังกลับมาทำงานได้ไม่ 100% จำนวนผู้บริโภคเยี่ยมชมโครงการน้อยลง

“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 เป็นไปในเชิงบวก โดยทำยอดพรีเซลได้ 13,005 ล้านบาท โต 8% YoY ยอดรับรู้รายได้ 11,000 ล้านบาท โต 60% YoY และกำไรสุทธิ 2,472 ล้านบาท โต 111% YoY

สาเหตุที่รายได้และกำไรเติบโตดี เกิดจากช่วงเดือนมิถุนายน’64 บริษัทเริ่มโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ศุภาลัย พรีเมียร์ เจริญนคร ทำให้มีรายได้เข้าบริษัทมากกว่าปีก่อนมาก

ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2564 บมจ.ศุภาลัย

ตลอดปี 2564 บริษัทยังคงเป้าหมายการดำเนินงานทั้งปีไว้ดังเดิม คือ เป้ายอดขาย 27,000 ล้านบาท เป้ารายได้ 28,000 ล้านบาท และเป้าการเปิดตัวโครงการใหม่ 34,000 ล้านบาท โดยมีแบ็กล็อกที่จะโอนในปีนี้อีก 14,200 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่ารายได้น่าจะเป็นไปตามคาด

อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวโครงการใหม่มีการปรับแผนเล็กน้อย โดยขยับโครงการส่วนใหญ่ไปเปิดตัวช่วงไตรมาส 4/64 จากสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อ และการเปิดโครงการคอนโดฯ บางส่วนอาจจะขยับไปเป็นปี 2565 ได้ ถ้ามู้ดผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น

 

ข่าวดีครึ่งปีแรก ซัพพลายในตลาดลดลง

ภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรก 2564 ไตรเตชะอ้างอิงข้อมูลจาก AREA พบว่า ตลาดกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปรับตัวดีขึ้นในแง่ซัพพลายคงเหลือที่ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 มียูนิตเหลือขายราว 210,000 ยูนิต โดยเกิดจากยอดขายใหม่ที่ทำได้มากกว่าการเปิดตัวโครงการใหม่ แสดงให้เห็นการขายระบายสต็อกเดิมเป็นส่วนใหญ่

การเปิดตัวโครงการใหม่ ยอดขายใหม่ และซัพพลายคงเหลือในตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (ข้อมูล : AREA / ศุภาลัย)

ถ้าเจาะลึกแบ่งเป็นตลาดแนวราบกับคอนโดฯ ไตรเตชะระบุว่าตลาดแนวราบมีทิศทางที่ดีกว่า แม้ว่าการเปิดใหม่จะลดลงแต่ยอดขายครึ่งปีแรก’64 ที่จริงแล้วตลาดแนวราบดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งน่าจะเกิดจากผู้บริโภคพบว่าครอบครัวต้องการ “พื้นที่” ในบ้านเพิ่มขึ้นหลังล็อกดาวน์

ส่วนตลาดคอนโดฯ ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนความต้องการ นักเก็งกำไรหายจากตลาด นักลงทุนต่างชาติก็เช่นกัน ตลาดจึงเหมือนกลับไปสู่ยุคที่คอนโดฯ มีผู้ซื้อเฉพาะเรียลดีมานด์ชาวไทยเท่านั้น

 

ครึ่งปีหลังเผชิญปัญหาแคมป์คนงาน

สำหรับมุมมองครึ่งปีหลัง 2564 ไตรเตชะเชื่อว่าการเปิดตัวจะไม่ได้มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นไปได้ที่จะลดลงจากปี 2563 ด้วย เพราะสถานการณ์ COVID-19 ระบาดยืดเยื้อ ซึ่งทำให้ธนาคารเข้มงวดการปล่อยกู้สินเชื่อพัฒนาโครงการยิ่งขึ้นไปอีก

COVID-19 ยังมีผลกระทบทางตรงกับทั้งอุตสาหกรรมนั่นคือการ “ปิดแคมป์คนงาน” ช่วงที่ผ่านมาต้องระงับการก่อสร้างและการเก็บงานซ่อมแซมก่อนโอนบ้าน/คอนโดฯ ให้ลูกค้า ทำให้โครงการจะดีเลย์ไปบ้าง แม้ช่วงนี้ภาครัฐจะปลดล็อกแคมป์คนงานแล้ว แต่การทำงานยังไม่กลับมาเต็มประสิทธิภาพ

ไซต์ก่อสร้าง (Photo : Shutterstock)

“ตอนปิดแคมป์คนงาน การทำงานลดจาก 100 เหลือ 0 ทันที ตอนนี้กลับมาเปิดแล้วแต่การทำงานไม่ได้กลับจาก 0 ไปที่ 100 ได้เลย เพราะคนงานบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในแคมป์แต่แรก อาจจะเป็นกลุ่มสัญญาจ้างต่อ (subcontract) ของผู้รับเหมาของเรา กลุ่มนี้กลับบ้านต่างจังหวัดไปแล้วและยังกลับมาทันทีไม่ได้ หรือตัดสินใจยังไม่กลับมาเพราะสถานการณ์การระบาดไม่แน่นอน ทำให้คนงานขาดแคลน” ไตรเตชะกล่าว

ประเด็นแคมป์คนงานเป็นหัวใจสำคัญมาก เพราะหากมีการระบาดอีกอาจจะทำให้แคมป์และไซต์ก่อสร้างถูกปิดอีกได้ ไตรเตชะกล่าวว่า บริษัทจึงมีมาตรการสั่งซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ล่วงหน้าสำหรับตรวจแคมป์ทุกสัปดาห์ โดยผู้รับเหมาที่เป็นซัพพลายเออร์ให้ศุภาลัยมีกว่า 10 แคมป์ คนงานรวมกว่า 6,000 คน

 

ลุ้นมู้ดผู้บริโภคดีดตัวกลับเมื่อทุกอย่างดีขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ตามมาจากการระบาดที่สาหัสขึ้นคือ ยอดวอล์ก-อินเยี่ยมชมโครงการลดลง ไตรเตชะเปิดกราฟให้เห็นว่า ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ปีก่อน การเยี่ยมชมโครงการของลูกค้าจะดีดตัวขึ้นลงสูงตามสถานการณ์ระบาด ยกตัวอย่างเดือนเมษายน’63 จำนวนวอล์ก-อินดิ่งลง แต่ถึงเดือนพฤษภาคม’63 ยอดวอล์ก-อินที่อั้นมากลับดีดขึ้นไปสูงมาก ชดเชยกับที่ขาดหายไปได้

ยอดวอล์ก-อินชมโครงการของศุภาลัย จะเห็นว่าตั้งแต่มีการระบาด ยอดเยี่ยมชมแต่ละเดือนจะพุ่งขึ้นลงสูงมาก

เมื่อมาถึงการระบาดรอบนี้ ยอดเยี่ยมชมโครงการเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน’64 และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาน่าจะเป็นจุดต่ำสุดที่เคยพบเรียบร้อยแล้ว โดยหวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย การวอล์ก-อินจะดีดกลับขึ้นไปเหมือนรอบก่อนๆ

ทั้งนี้ ศุภาลัยมีการปรับตัวเปิดช่องทางออนไลน์เต็มสูบให้กับลูกค้าด้วยโดยไตรมาส 4 นี้จะเปิดช่องทาง Online Booking ที่ใช้ได้ทุกโครงการ จากที่ผ่านมาเลือกเปิดใช้เป็นบางแห่ง และรองรับ Virtual Tour 360 องศา พร้อมกับระบบจอง Online Private Tour ให้พนักงานขายพาทัวร์โครงการผ่าน LINE เป็นมาตรการช่วยผลักดันการซื้อขายระหว่างที่สถานการณ์ยังไม่ปกติ

อนาคตของตลาดขณะนี้ผูกติดอยู่กับการระบาดและวัคซีน โดยไตรเตชะหวังว่าสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และเขตจังหวัดสีแดงเข้มจะกลับเป็นปกติภายใน 6 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ขณะนี้ที่สามารถใช้ชีวิตได้ แม้จะยังต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม

]]>
1346265
โควิดทำ ‘ความสุขคนพื้นที่แดงเข้ม’ หดอีก 2% เหตุ ‘ค่าใช้จ่าย’ สวนทางรายได้ https://positioningmag.com/1344932 Mon, 02 Aug 2021 12:55:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344932 หากพูดถึงการ ‘ล็อกดาวน์’ เพราะการระบาดของ COVID-19 ในไทยมีทั้งหมดถึง 5 ครั้งไปแล้ว โดยย้อนไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มี.ค.-31 พ.ค. 2563 มีผลทั่วประเทศ และมาในปี 2564 หลังเกิดการระบาดระลอก 4 ก็เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม จากนั้นก็ขยายเวลามาเป็นครั้งที่ 4 เริ่ม 20 ก.ค. 2564 พร้อมเพิ่ม 3 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และล่าสุด ครั้งที่ 5 เริ่ม 3-31 ส.ค. 2564 ขยายพื้นที่ สีแดงเข้ม จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด ซึ่งการระบาดจนต้องล็อกดาวน์นั้นก็ส่งผลให้ คนไทยมีความสุขลดลงไปอีก

ความสุขลดลง 2% ในพื้นที่แดงเข้ม

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท โซซิอัส จำกัด เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคไทยประจำเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า คนไทยมีความสุขลดลง ซึ่งมีผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอก 4

นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านเป็นหลักโดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งจากการสำรวจพบว่าสังคมไทยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีความสุข ลดลง 2% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ด้วย ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้ต้องเน้นใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น รวมไปถึงการกักตุนอาหารเพื่อการดำรงชีพของตนเองและครอบครัวภายในบ้าน และเพิ่มความรู้และทักษะในการ หารายได้จากออนไลน์มากขึ้น

คนกรุงเทพฯ เน้นการใช้จ่ายเพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกในบ้าน เช่น เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนคนต่างจังหวัดอยากจับจ่ายนอกบ้านมากขึ้น อาทิ ภาคเหนือและภาคตะวันออก ผู้คนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว

ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ผู้คนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์โควิดในภูมิภาคนั้นไม่รุนแรงเท่า อีกปัจจัยหนึ่งในการใช้จ่ายก็คือ เทศกาลวันแม่ นอกจากมีโอกาสพาแม่ไปรับประทานอาหารแล้ว ผู้คนยังวางแผนซื้อกระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับเป็นของขวัญในวันแม่อีกด้วย

คนกลับภูมิลำเนาระยะยาว

นางสาวอานันท์ปภา ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด กล่าวว่า จากผลวิจัยในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาปากท้องของประชาชนที่มองว่าไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปและต้องปรับตัวอย่างมากเพื่ออยู่รอด เมื่อดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยง (พื้นที่สีแดงเข้ม) และกลุ่มพื้นที่เสี่ยงในต่างจังหวัด (พื้นที่ควบคุม) หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว ส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคที่มากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงค่าน้ำมันและยานพาหนะ และใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือตกแต่งบ้าน

หากจำแนกเป็นช่วงอายุ สำหรับวัย 20-39 ปี พบว่ามีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และในช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงามจากข้อมูลพบว่า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ได้แก่

  • อาหาร 25%
  • ของใช้เป็นในประจำวัน 17%
  • โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%
  • อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 6%
  • เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 5%

หวยแม่น้ำหนึ่งติดโผข่าวที่คนไทยสนใจสูงสุด

นางสาวอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด กล่าวเสริมว่า ประเด็นข่าวร้อนที่คนไทยติดตามและถูกพูดถึงมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่

  1. ข่าวประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 (40%)
  2. ข่าวการจัดสรรววัคซีน COVID-19 ของรัฐบาล (24%)
  3. ข่าวกระแสสังคมการเมืองที่หวังเห็นความโปร่งใส (8%)

อันดับ 4 ได้แก่ ข่าวลุงพล-น้องชมพู่ อันดับ 5 อุบัติเหตุรถ BMW Z4 ส่วนในอันดับที่ 6-10 ยังคงเป็นข่าวเศรษฐกิจ การช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการหารายได้ด้วยการเสี่ยงโชคจาก หวยแม่น้ำหนึ่ง ที่จะช่วยเยียวยาสถานการณ์ด้านการเงิน

สำหรับแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารในช่วงนี้ มีข้อเสนอแนะสองส่วนคือ

1. การสื่อสารที่แตกต่างกันในพื้นที่เสี่ยง โซนสีแดงเข้ม เน้นสื่อสารแบบออนไลน์กับคนที่ต้องทำงาน รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่วนในพื้นที่ควบคุม โซนสีแดง-สีเหลือง-สีส้ม-สีเขียว เน้นการสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนที่ยังต้องเดินทางและใช้ชีวิตนอกบ้าน

  1. เน้นการสื่อสารแบ่งแยกตามกลุ่มที่มีความสนใจเน้นกิจกรรมในที่พักอาศัย การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อพึ่งพาและเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งแบรนด์ยังคงสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้กับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านได้
]]>
1344932
โลกเจอวิกฤต ‘ขนส่ง’ อีกรอบหลังโควิดระบาด ‘กวางตุ้ง’ ทำท่าเรือชะงัก https://positioningmag.com/1337208 Tue, 15 Jun 2021 10:07:35 +0000 https://positioningmag.com/?p=1337208 ในช่วงครึ่งปีแรก 2021 ซึ่งนอกเหนือวิกฤต COVID-19 เหมือนจะผ่อนคลายลงเพราะมีวัคซีน แต่โลกกลับต้องเจอวิกฤตด้าน ‘การขนส่งทางเรือ’ โดยเรื่องแรกมาจากผลของ COVID-19 ที่ทำให้ ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ ขาดแคลน อีกทั้งยังเจอกับวิกฤต ‘เรือเกยตื้นคลองสุเอซ’ แต่ล่าสุดก็มีอีกปัญหาเพราะการระบาดของ COVID-19 ใน ‘กวางตุ้ง’ เมืองท่าสำคัญของจีน

ภาคธุรกิจและผู้บริโภคกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการขนส่งอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดของไวรัสในภาคใต้ของจีน ทำให้บริการท่าเรือหยุดชะงักและทำให้การส่งล่าช้า ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นอีกครั้ง โดยมณฑลกวางตุ้งของจีนเผชิญกับการระบาดครั้งใหม่ของ COVID-19 ซึ่งเป็นสายพันธุ์อินเดียโดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 100 ราย ส่งผลให้ทางการได้สั่งปิดเขตและธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจาย

กวางตุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญโดยคิดเป็น 24% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือกวางโจวซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามและใหญ่เป็นอันดับห้าของโลกตามปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ตามรายงานของ World Shipping Council

“การหยุดชะงักในเมืองเซินเจิ้นและเมืองกวางโจวนั้นยิ่งใหญ่มาก โดยลำพังพวกเขาจะมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” Brian Glick กล่าว

ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้มีการซื้อเพิ่มขึ้นทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจนทำให้เกิดความล่าช้าอย่างมากในการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา และทำให้ราคาสูงขึ้นสำหรับธุรกิจและผู้บริโภค

จากนั้นหนึ่งในเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Ever Given ได้ติดอยู่ในคลองสุเอซและปิดกั้นเส้นทางการค้าที่สำคัญเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ การค้าโลกประมาณ 12% ผ่านคลองสุเอซ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีเรือผ่านมากกว่า 50 ลำต่อวัน เหตุการณ์ดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์การขนส่งทางเรือทั่วโลกและทำให้การค้าระหว่างประเทศมีมูลค่าถึง 9 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน และตอนนี้วิกฤตล่าสุดในภาคใต้ของจีน กำลังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอีกครั้ง

“ความเสี่ยงของการหยุดชะงักของซัพพลายเชนกำลังเพิ่มขึ้น และราคาส่งออก/ค่าขนส่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก มณฑลกวางตุ้งมีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนทั่วโลก” จาง จือเว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management กล่าว

เจพี วิกกินส์ รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กรของบริษัทซอฟต์แวร์การขนส่ง 3GTMS กล่าวว่า วิกฤตท่าเรือในจีนจะทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหยุดชะงักลงอย่างมาก เนื่องจากการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากส่งไปยังอเมริกาเหนือ ขณะที่กรณีของเรือขวางคลองสุเอซมีผลกระทบมากขึ้นต่อการค้าของยุโรป

“คาดว่าสินค้าที่ผลิตในเอเชียจะขาดแคลนและหมดสต๊อก”

นอกจากปัญหาความล่าช้าแล้ว ค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลโดยตรงจากวิกฤต โดยผู้ขนส่งสินค้าขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบ เนื่องจากค่าขนส่งนั้นสูงกว่าสินค้าที่ขนส่ง

“เราฝ่าเพดานราคามามากมายจนไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าราคานี้จะไปถึงจุดสูงสุดที่ใด”

ตู้คอนเทนเนอร์
(Photo by Stephen Chernin/Getty Images)

จากนี้อัตราค่าขนส่งจะ “ผันผวนอย่างมาก” ดังนั้น ผู้ขนส่งสินค้าวางแผนที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนผู้ส่งสินค้าที่ไม่สามารถรับความล่าช้าได้จะต้องเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางอากาศแทน ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อไป Shehrina Kamal รองประธานฝ่ายโซลูชั่นอัจฉริยะของ Everstream Analytics กล่าว

ปัจจุบัน ระยะเวลารอเรือเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ Yantian International Container Terminal ในเซินเจิ้น “พุ่งสูงขึ้น” จากเฉลี่ย 0.5 วันเป็น 16 วัน โดยท่าเรือหนานซาในกวางโจวกำลังประสบปัญหานำเข้าของสินค้า เนื่องจากความแออัดและความล่าช้าของเรือ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกสองสัปดาห์กว่าจะคลี่คลาย

โดยรวมแล้ว การหมุนเวียนของท่าเรือในกวางตุ้งจะยังคงชะลอตัวในเดือนมิถุนายน และแม้แต่ส่วนอื่น ๆ ของจีนก็มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ราคาค่าส่งที่สูงขึ้น Zhang จาก Pinpoint Asset Management กล่าว

Source

]]>
1337208
หมอญี่ปุ่นเตือนฝืนจัด ‘โอลิมปิก’ อาจทำให้เกิด ‘โควิดสายพันธุ์ใหม่’ เป็นของแถมหลังจบงาน https://positioningmag.com/1334169 Thu, 27 May 2021 11:08:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1334169 เพราะการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 หรือชื่อที่เป็นทางการ กีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 ซึ่งจัดในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2020 ต้องเลื่อนจัดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ขณะที่ด้าน IOC ยังเรียกร้องให้ชาวญี่ปุ่น ‘เสียสละ’ เพื่อให้ ‘โตเกียว โอลิมปิก’ ได้เดินหน้าต่อจนเกิดดราม่า

เจ้าหน้าที่ผู้จัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่นและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ต่างให้คำยืนยันว่าการจัดงานจะดำเนินต่อไป ภายใต้มาตรการป้องกันไวรัสที่เข้มงวด ผู้ชมชาวต่างชาติถูกแบนแล้วและคาดว่าจะมีการตัดสินผู้ชมในประเทศในเดือนหน้า หลังจากที่ต้องเลื่อนไปเป็นเวลา 1 ปี

ดราม่าหนัก! ประธาน IOC แนะให้ชาวญี่ปุ่น “เสียสละ” จัดโอลิมปิกท่ามกลางการระบาด

ขณะที่ หัวหน้าสหภาพแพทย์ของญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนว่า การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในโตเกียวในช่วงฤดูร้อนนี้ซึ่งมีผู้คนนับหมื่นมารวมตัวกันจากทั่วโลกอาจนำไปสู่การพัฒนาของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอลิมปิก’ เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 และเตรียมขยายสถานการณ์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ถึงแม้จะมีขั้นตอนเตรียมตัวต่าง ๆ แต่ความกังวลยังคงอยู่เกี่ยวกับการเหล่านักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากกว่า 200 ประเทศ ที่จะเดินทางเข้ามาในญี่ปุ่น ขณะที่กระบวนการฉีดวัคซีนของประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ และมีเพียง 5% ของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีน

“ไวรัสกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันทั้งหมดซึ่งมีอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ จะกระจุกตัวและรวมตัวกันที่โตเกียว เราไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นหลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก”

“หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอาจหมายถึงไวรัสสายพันธุ์โตเกียวโอลิมปิกที่ถูกตั้งชื่อในลักษณะนี้ ซึ่งจะเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่และสิ่งที่จะตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์แม้ผ่านไป 100 ปีก็ตาม” Naoto Ueyama หัวหน้าสหภาพแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าว

Asahi Shimbun หนังสือพิมพ์รายวันในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขัน แต่อดีตรองประธาน IOC Dick Pound กล่าวในภายหลังว่าควรจัดต่อไป ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองกำลังเตรียมที่จะขยายสถานการณ์ฉุกเฉินไปทั่วประเทศส่วนใหญ่ที่เดิมกำหนดจะยกเลิกในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งน่าจะลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่โอลิมปิกจะเปิดงานในวันที่ 23 กรกฎาคม

ปัจจุบัน ระบบการแพทย์ของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะกดดันอย่างหนักและเจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่กังวลว่าอาจเกิดความเครียดจากการจัดงานโอลิมปิกนี้ อย่างในโอซาก้า พื้นที่เตียง 96% ของโรงพยาบาล 348 แห่งที่สงวนไว้สำหรับผู้ป่วย COVID-19 อาการหนักได้ถูกใช้งานเต็มไปแล้ว

ทั้งนี้ คัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ญี่ปุ่นจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมไวรัสโดยไม่คำนึงถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

Source

]]>
1334169
ดราม่าหนัก! ประธาน IOC แนะให้ชาวญี่ปุ่น “เสียสละ” จัดโอลิมปิกท่ามกลางการระบาด https://positioningmag.com/1333665 Tue, 25 May 2021 05:56:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333665 IOC ยังเรียกร้องให้ชาวญี่ปุ่น “เสียสละ” เพื่อให้ “โตเกียว โอลิมปิก” ได้เดินหน้าต่อ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่นจะยังคงสาหัส ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยอมยกเลิกการจัดงาน

“จอห์น โคตส์” รองประธานคณะกรรมการการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ในญี่ปุ่นทันที หลังจากเอ่ยปากพูดว่าโตเกียว โอลิมปิกจะเดินหน้าต่อ แม้ว่าประเทศเจ้าบ้านจะตกอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

“คำตอบคือ ใช่แน่นอน” โคตส์กล่าว หลังได้รับการสอบถามไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่างานจะยังจัดต่อไปหรือไม่

ขณะเดียวกัน โลกโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่นต่างเดือดดาลต่อท่าทีของโคตส์และ “โธมัส บาค” ประธาน IOC ซึ่งละเลยต่อความรู้สึกของสาธารณชนชาวญี่ปุ่น เพราะระยะหลังมีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่คัดค้านการจัดโอลิมปิกภายในปีนี้

“โธมัส บาค กับ จอห์น โคตส์ ตีคู่กันมาเลยในการแข่งขันคนที่ถูกเกลียดที่สุดในญี่ปุ่นของปีนี้ ฉันว่าการแข่งขันจะร้อนแรงมาก” ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งแสดงความเห็น

ต่อเนื่องถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา บาคยังถูกวิพากษ์หนักขึ้นไปอีก เมื่อแสดงท่าทีว่าคนญี่ปุ่นควรจะต้อง “ยืดหยุ่น” มากกว่านี้ โดยเขาเข้าประชุมสมาพันธ์ฮอกกี้ระดับสากล และกล่าวว่า “นักกีฬาสามารถทำให้ฝันโอลิมปิกของตนเองเป็นจริงได้ โดยเราจะต้องเสียสละบ้างเพื่อให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น”

แม้จะไม่ชัดเจนว่าบาคหมายถึงใครที่จะต้อง ‘เสียสละ’ แต่หลายคนตีความว่าเขาหมายถึงสาธารณชนชาวญี่ปุ่นนั่นเอง

จอห์น โคตส์ รองประธาน IOC

“เขาพูดว่าคนญี่ปุ่นควรจะเสียสละความปลอดภัย สุขภาพ และชีวิตของเราเพื่อโอลิมปิกงั้นเหรอ?” ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งวิจารณ์ “ทำไมคนญี่ปุ่นจะต้องเสียสละเพื่อโอลิมปิกท่ามกลางการระบาดระดับโลก? สิ่งนี้รับไม่ได้เลย” ผู้ใช้อีกรายหนึ่งกล่าว

นักธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่นก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน “มาซาโยชิ ซัน” ประธานกรรมการของ SoftBank กล่าวว่า สถานการณ์ “ขาดแคลนวัคซีน” ของญี่ปุ่นจะยิ่งทำให้ประเทศนี้ต้อง ‘จ่ายหนัก’ กว่าเดิมอีกหากยังจะจัดโอลิมปิก โดยเขาวิจารณ์ถึงรัฐบาลญี่ปุ่นที่ขาดศักยภาพในการกดดันให้ IOC ยกเลิกโอลิมปิก และเจรจาให้ญี่ปุ่นไม่ต้องจ่ายค่าปรับการยกเลิกจัดงานเป็นเงินมหาศาล

“ขณะนี้คนญี่ปุ่นกว่า 80% ต้องการให้ยกเลิกหรือเลื่อนจัดโอลิมปิกออกไปก่อน ใครหรืออำนาจจากไหนเหรอที่กำลังผลักดันให้ยังจัดต่อไปได้?” มหาเศรษฐีซันกล่าวใน Twitter

“มีการพูดถึงค่าปรับมหาศาลที่ต้องจ่าย (ถ้าโอลิมปิกถูกยกเลิก) แต่ถ้าคนเป็นแสนคนจาก 200 ประเทศบินมาถึงญี่ปุ่นที่ยังคงขาดวัคซีน แล้วทำให้มีไวรัสกลายพันธุ์มาแพร่ที่นี่ ชีวิตอาจจะสูญเสียไปอีก รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนมากขึ้นอีกหากต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่ม และจีดีพีประเทศก็จะตกลง ถ้าเรามองจากมุมที่ว่าสาธารณะจะต้องรับมือกับอะไร ผมคิดว่าเรามีสิ่งที่ต้องสูญเสียอีกมาก” ซันกล่าว

 

ขุดยับ IOC จองห้องพักหรูเตรียมสำราญในญี่ปุ่น

สื่อญี่ปุ่นยังตามขุดคุ้ยถึงโธมัส บาคและสมาชิก IOC อาวุโสทั้งหลาย โดยรายงานว่าพวกเขาเตรียมจะมาใช้ชีวิตแบบ ‘ราชวงศ์’และสำราญในญี่ปุ่น นิตยสาร ชูกังโพสต์ รายงานว่า ออร์กาไนเซอร์จัดงานได้จองห้องพักโรงแรมทั้งบล็อกไว้ในโรงแรมที่แพงที่สุดของกรุงโตเกียวอย่างน้อย 4 แห่ง โดยที่ IOC เป็นฝ่ายจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้แค่เพียงบางส่วน

หนังสือพิมพ์ใหญ่ระดับชาติที่ออกค่าสปอนเซอร์ให้โตเกียว โอลิมปิกมักจะแสดงท่าทีน้อยมากกับเรื่องการจัดงาน แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะโจมตีเรื่องนี้ได้มากกว่า

โอซาก้าท่ามกลางการระบาด บรรยากาศเงียบเหงา (Photo : Shutterstock)

หนังสือพิมพ์ ฮอกไกโดชิมบุน (เป็นสปอนเซอร์งานด้วย) กล่าวโจมตีโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีว่า “จ่ายค่าความรับผิดชอบของเขาเป็นชีวิตและสุขภาพของผู้คน” ขณะที่หนังสือพิมพ์ ชินาโนะ ไมนิจิ ชิมบุน ระบุว่าโอลิมปิกควรถูกยกเลิก

“เราไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะมาเฉลิมฉลองอีเวนต์ที่เต็มไปด้วยความกลัวและความกังวลแบบนี้” หนังสือพิมพ์รายนี้ระบุ “โตเกียว โอลิมปิกและพาราลิมปิกควรถูกยกเลิก รัฐบาลต้องตัดสินใจเพื่อปกป้องชีวิตและการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น”

 

บุคลากรการแพทย์รับไม่ไหว

ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่า 12,000 รายแล้ว และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติผู้เสียชีวิตแย่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันทั้งโตเกียว โอซาก้า และอีก 8 พื้นที่ของญี่ปุ่นยังอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะถูกต่อเวลาอีกครั้งไปถึงเดือนมิถุนายน เพราะทั้งประเทศยังคงต้องฝืนสู้กับภาวะเตียงโรงพยาบาลเต็มและบุคลากรสาธารณสุขที่กำลังท้อถอย

โพลที่จัดเมื่อเร็วๆ นี้เก็บสำรวจจากสหภาพแรงงานบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของพยาบาลที่ทำงานในวอร์ดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา รู้สึกอยากจะลาออกจากอาชีพนี้ เนื่องจากความเครียด ความกลัวติดเชื้อ และความเหนื่อยอ่อนจากการอดนอน

ญี่ปุ่นเพิ่งฉีดวัคซีนครบสองโดสให้ประชากรไปแค่ 2% จากทั้งหมด 126 ล้านคน ถือว่าการฉีดทำได้ช้ามาก แต่ซูงะกำลังพยายามแก้ปัญหา โดยเมื่อวานนี้ศูนย์ฉีดวัคซีนที่บริหารงานโดยกองกำลังป้องกันตนเองเพิ่งจะเปิดตัวในโตเกียวและโอซาก้า มุ่งเป้าการฉีดไปที่กลุ่มคนวัย 65 ปีขึ้นไปก่อน ตามแผนของซูงะที่จะให้คนชรา 36 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนครบหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

Source

]]>
1333665
วิจัยกรุงศรีเลื่อนคาดการณ์ “โควิดรอบสาม” จบเดือนสิงหาคม ปรับลดจีดีพีไทยเหลือ 2% https://positioningmag.com/1332716 Tue, 18 May 2021 10:36:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332716 ระบาดรอบ 3 จะจบเมื่อไหร่? คือคำถามที่ทุกคนเฝ้ารอคำตอบ ล่าสุด “วิจัยกรุงศรี” พล็อตกราฟใหม่หลังการระบาดมีแนวโน้มรุนแรง คาดจุดพีคของยอดผู้ติดเชื้ออาจเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และทำให้การคุมระบาดสำเร็จล่วงเลยไปถึงเดือนสิงหาคม จึงพิจารณาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2% โดยไตรมาส 1/64 ยังติดลบอยู่ -2.6% YoY

วิจัยกรุงศรีประเมินใหม่ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบสามรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนเมษายน คาดว่าระยะที่การระบาดจะกลับมาเป็นปกติ (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 100 คนต่อวัน) จะเลื่อนจากต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปเป็นเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ประเมินแยกเป็น 3 กรณี ดังนี้

  • กรณีแรก (เส้นสีเหลือง) สามารถคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติภายในปลายเดือนกรกฎาคม
  • กรณีที่สอง (เส้นสีส้ม) ยังไม่สามารถคุมการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ได้ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และทำให้การระบาดกลับเป็นปกติราวปลายเดือนสิงหาคม
  • กรณีที่เลวร้ายที่สุด (เส้นสีแดง) มีการระบาดของคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปอีก 2-3 เดือน และผู้ติดเชื้อสะสมจะขึ้นไปแตะ 3 แสนรายได้ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม (จากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 แสนราย) โดยวิจัยกรุงศรียังไม่ระบุช่วงที่การระบาดจะคลี่คลาย หากเกิดกรณีนี้ขึ้น
คาดการณ์กรณีความเป็นไปได้ต่างๆ ของการระบาดรอบ 3 โดยวิจัยกรุงศรี

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีเชื่อว่า สถานการณ์จริงน่าจะอยู่ในช่วงระหว่างเส้นสีเหลืองและเส้นสีส้ม นั่นหมายความว่าการระบาดอาจคลี่คลายช่วงต้นถึงกลางเดือนสิงหาคม

การระบาดที่คลี่คลายช้าลงไปอีกประมาณ 1 เดือน จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาคเอกชนถูกจำกัด รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะหดตัวลงเหลือ 3.3 แสนคนเท่านั้น วิจัยกรุงศรีจึงปรับคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 2% (จากเดิม 2.2%)

ขณะที่ สภาพัฒน์ ก็ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยเช่นกัน โดยลดเหลือกรอบ 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5%

สำหรับไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจไทยติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า โดยติดลบ -2.6% YoY แต่ถือว่าฟื้นตัวขึ้นมาแล้วจากไตรมาสที่สี่ปี 2563 เพราะเมื่อไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจติดลบ -4.2%

ส่วนเซ็กเตอร์ที่จะยังช่วยประคองเศรษฐกิจในปีนี้ได้ เป็นภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และเงินอัดฉีด 2 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

การควบคุมการระบาดยังขึ้นอยู่กับนโยบายการกระจายวัคซีนด้วย โดยล่าสุดคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจัดประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม มีมติที่สำคัญ ดังนี้ 1.ปรับเพิ่มจำนวนจัดหาวัคซีนเป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 2. ปรับแนวทางเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด 3.เร่งจัดหาวัคซีนให้มากที่สุดและหลากหลายมากขึ้น

]]>
1332716
กรณีศึกษา ‘เซเชลส์’ ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากสุดในโลก แต่โควิดกลับระบาดอีกรอบ https://positioningmag.com/1332399 Mon, 17 May 2021 04:55:43 +0000 https://positioningmag.com/?p=1332399 ‘องค์การอนามัยโลก’ (WHO) กำลังศึกษาถึงกรณีประเทศ ‘เซเชลส์’ ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก แต่ตอนนี้กำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่ แม้แต่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนก็ติดเชื้อ

‘เซเชลส์’ ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการฉีดวัคซีน โดยมีอัตราผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 ถึง 60% มากที่สุดในโลก มากกว่าอิสราเอลและสหราชอาณาจักร โดย 57% ฉีดวัคซีน ‘Sinopharm’ ของจีน ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดย WHO ส่วนอีก 43% ฉีด ‘AstraZeneca shot’ หรือ ‘Covishield’ ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่ผลิตในอินเดีย โดยรวมแล้วเซเชลส์ที่มีประชากรมากกว่า 97,000 คน มีสถิติผู้ป่วยต่ำกว่า 8,200 ราย เสียชีวิต 28 ราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขของเซเชลส์รายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ 120 รายในวันที่ 30 เมษายน และมีผู้ป่วยมากกว่า 300 ราย ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมตามลำดับ และมีผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 500 รายภายในวันเดียว อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อ 63% ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือฉีดเพียงครั้งเดียว และ 37% ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว โดย 80% ของผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบยังไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

(Photo by Valery SharifulinTASS via Getty Images)

มีการคาดการณ์ว่าการระบาดรอบใหม่มาจากนักท่องเที่ยวหรือไม่ เนื่องจากเซเชลส์เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ธนาคารโลก (Wolrd Bank) ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเซเชลส์ลดลง 13.5% ในปี 2020 ที่ผ่านมา ดังนั้น หลังจากดำเนินมาตรการคุมเข้มเกี่ยวกับการเดินทางข้ามพรมแดนประเทศมานานเกือบ 1 ปี เซเชลส์ก็ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากมีการฉีดวัคซีนให้คนในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังเซเชลส์ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนถึงจะเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ต้องแสดงผลการตรวจหาการติดเชื้อ (PCR) ที่แสดงผลเป็นลบ ยืนยันว่าไม่พบการติดเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และจากการระบาดดังกล่าวทำให้รัฐบาลออกมาจำกัดการพบปะสังสรรค์และการเว้นระยะห่างในพื้นที่สาธารณะเพื่อลดการติดเชื้อ ส่วนนักท่องเที่ยวยังคงเปิดรับตามเดิม

(Photo by Sergei FadeichevTASS via Getty Images)

เคท โอไบรอัน ผู้อำนวยการด้านการสร้างภูมิคุ้มกันวัคซีนและชีวภาพขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนมาก จำเป็นต้องมีการประเมินอย่างละเอียด โดยเฉพาะ ‘สายพันธุ์ที่แพร่กระจาย’

“การประเมินเท่านั้นที่เราจะดูได้ว่ามันเป็นความล้มเหลวของวัคซีนหรือไม่หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ชาวเกาะเผชิญอยู่เป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่มีวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID -19 แต่มีประสิทธิผลอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้ออย่างรุนแรง และลดการเสียชีวิต

ทั้งนี้ WHO เตือนซ้ำว่าการฉีดวัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ แต่ควรเป็นอาวุธอื่นในคลังแสงเพื่อต่อสู้กับไวรัส ส่วนการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดจนสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดียังคงถูกมองว่าเป็นพื้นฐานของการป้องกันการแพร่กระจาย

Source

]]>
1332399
รับมือระลอกสาม! ศบค.สั่งแบ่งพื้นที่สีแดง-ส้ม คุมเวลาปิดร้านอาหาร-ห้าง-สะดวกซื้อ https://positioningmag.com/1327959 Fri, 16 Apr 2021 10:06:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327959 หลังยอดผู้ติดเชื้อทะลุพันรายในหนึ่งวันติดต่อกันมา 3 วัน ในที่สุด ศบค. พิจารณาออกข้อบังคับเร่งด่วน จัดแบ่งพื้นที่สีแดงและสีส้มเพื่อกำกับควบคุม บังคับใช้ 2 สัปดาห์ เริ่ม 18 เม.ย.นี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงการปรับระดับพื้นที่สีแดงและสีส้มทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด และ พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 59 จังหวัด

พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆ  จัดเป็นพื้นที่สีส้ม

โดยเน้นย้ำว่าไม่ได้มีการสั่งล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหะสถาน เพราะจะมีผลต่อการใช้ชีวิตและทำมาหากินของประชาชน

ดังนั้น เมื่อไม่ล็อกดาวน์ จะเป็นการควบคุมกิจกรรมบางประเภทที่มีรายงานเข้ามาแล้วว่าทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เช่น สถานบันเทิง ออกค่าย งานสัมมนา แข่งขันกีฬา ฯลฯ

ทำให้ ศบค. ตัดสินใจร่างข้อกำหนดเหล่านี้เพื่อควบคุมการระบาด ดังนี้

1.ห้ามดำเนินการจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคทั่วราชอาณาจักร คือ
– ห้ามจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรม หรือใดๆ ที่มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
– ห้ามรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน ยกเว้นได้รับอนุญาต
2.ปิดสถานบริการที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร เช่น ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ฯลฯ อย่างน้อย 14 วัน
3.กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุมตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะมีมาตรการต่างกันตามสีพื้นที่ ดังข้อ 4-5

4.พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)
– ให้ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สามารถนั่งทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และเปิดสำหรับซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น.
– ห้ามจำหน่ายสุราภายในร้านเด็ดขาด
– ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น. และงดเว้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงงดเว้นบริการตู้เกม เครื่องเล่นเกม สวนสนุก
– ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนคนเดิน ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ให้เปิดได้ไม่เกิน 23.00 น. และเปิดอีกครั้งได้ในเวลา 04.00 น.
– ยิม ฟิตเนส สนามกีฬา เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แต่ยังสามารถจัดการแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชมในสนาม

5.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม)
– ร้านอาหารและเครื่องดื่มสามารถนั่งทานในร้านและซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น.
– ห้ามจำหน่ายสุราภายในร้านเด็ดขาด
– ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น. และงดเว้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงงดเว้นบริการตู้เกม เครื่องเล่นเกม สวนสนุก
(สำหรับร้านสะดวกซื้อและกลุ่มยิม ฟิตเนส สนามกีฬา ไม่มีกำหนดในพื้นที่สีส้ม)

6.ขอความร่วมมือประชาชนงดจัดกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยง หรือรื่นเริง
7.ขอความร่วมมือภาคเอกชนจัด Work from Home หรือสลับวันทำงาน
8.ให้ภาครัฐเร่งดำเนินจัดหาสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และ สถานที่แยกกัก กักกันผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือจากสถานที่ต่างๆ เช่น หอประชุม มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ที่เหมาะสมให้ระดมความพร้อมในการจัดเตรียมสถานที่
9.กำหนดระยะเวลาทดลองใช้มาตรการดังนี้ 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 และในระยะนี้ หากผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการเปลี่ยนระดับสีพื้นที่หรือออกมาตรการเพิ่มเติมสามารถทำได้

นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า “ไม่มีเคอร์ฟิว” ทำให้การเดินทาง กิจการการค้าสามารถขนส่งได้ตามปกติ เพื่อให้ชีวิตของประชาชนเป็นปกติมากที่สุดที่ทำได้

]]>
1327959
ผลการศึกษาพบ 1 ใน 3 ของผู้ที่หายจาก COVID-19 มีอาการ ‘ป่วยทางจิต’ แทรก https://positioningmag.com/1327142 Thu, 08 Apr 2021 08:28:34 +0000 https://positioningmag.com/?p=1327142 สถานการณ์ของไทยกำลังน่าเป็นห่วงทีเดียว เพราะกำลังเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งคราวนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษซึ่งแพร่กระจายเร็วกว่าถึง 1.7 เท่า อย่างไรก็ตาม COVID-19 ไม่ได้แค่ส่งผลให้เราเจ็บป่วยเท่านั้น แต่มีการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ที่หายป่วย 1 ใน 3 นั้นได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคทางระบบประสาทหรือจิตเวชอีกด้วย

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Psychiatry ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 236,379 คนจากเครือข่าย TriNetX ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่ามี 34% ตรวจพบอาการทางระบบประสาทหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วง 6 เดือนที่ติดเชื้อ เมื่อพิจารณาถึงความผิดปกติทางระบบประสาทและสุขภาพจิต 14 รายการ

13% ของคนเหล่านี้เป็นการวินิจฉัยทางระบบประสาทหรือจิตเวชเป็นครั้งแรก โดยอาการทั่วไปที่พบได้มากที่สุดคือ

  • 17% อาการวิตกกังวล
  • 14% ตามด้วยอาการผิดปกติทางอารมณ์
  • 7% มีความผิดปกติของการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด
  • 5% นอนไม่หลับ

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วย 0.6% มีอาการเลือดออกในสมอง 2.1% มีอาการหลอดเลือดสมองตีบและ 0.7% สำหรับภาวะสมองเสื่อม

และเมื่อถึงลักษณะพื้นฐานทางสุขภาพ เช่น อายุ, เพศ, เชื้อชาติ และสภาวะสุขภาพที่มีอยู่แล้วพบว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้ายระบบประสาทและสุขภาพจิตมากกว่าการเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 44% และและหากเทียบกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ จะมีความเสี่ยงมากกว่าราว 16%

ศาสตราจารย์พอล แฮร์ริสัน หัวหน้าผู้เขียนการศึกษาจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด กล่าวว่า การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ระบบการดูแลสุขภาพจะต้องจัดการกับความผิดปกติทางระบบประสาทที่อาจสูงขึ้นในผู้รอดชีวิตจากไวรัส

“ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจริงจากผู้ป่วยจำนวนมาก พวกเขายืนยันอัตราการวินิจฉัยทางจิตเวชที่สูงหลังจากหายจาก COVID-19 และแสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติร้ายแรงที่ส่งผลต่อระบบประสาท (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม) แม้ว่าอย่างหลังจะหายากกว่ามาก แต่ก็มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นโรค COVID -19 ขั้นรุนแรง”

ก่อนหน้านี้มีการศึกษาเชิงสังเกตโดยกลุ่มวิจัยเดียวกันรายงานว่าผู้รอดชีวิตจาก COVID -19 มีความเสี่ยงต่อโรคอารมณ์และความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกหลังการติดเชื้อ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลขนาดใหญ่ในการตรวจสอบผลกระทบทางระบบประสาท

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ที่ป่วยจะมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขได้ เนื่องจากอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการเรื้อรัง ระบบบริการสุขภาพจึงจำเป็นต้องได้รับการจัดหาทรัพยากร เพื่อรับมือในอนาคต โดยนับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562 จนปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสแล้วกว่า 132 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า 2.8 ล้านรายตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

Source

]]>
1327142