โจนส์ แลง ลาซาลล์ (JLL) – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 16 Sep 2021 10:07:36 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 สรุปสถานการณ์อสังหาฯ 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยซึมต่อเนื่อง นักพัฒนาเบนเข็มเข้าธุรกิจโลจิสติกส์ https://positioningmag.com/1352099 Thu, 16 Sep 2021 09:40:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352099 สัมมนา REIC สรุปสถานการณ์อสังหาฯ ปี 2564 กลุ่มตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑลยังซึมหนักกว่าปีก่อน รอลุ้นปี 2565 ดีดกลับมาหากการฉีดวัคซีนทั่วถึง ดีเวลอปเปอร์เบนเข็มไปลงทุนธุรกิจคลังสินค้า-นิคมฯ ตอบรับโลจิสติกส์ที่กำลังบูมเพราะค้าออนไลน์ ติดตามได้ในบทความนี้

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) จัดสัมมนาสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ครึ่งปีหลัง 2564 และแนวโน้มปี 2565 พร้อมฟังข้อมูลจากบริษัทวิจัยด้านอสังหาฯ 3 แห่ง คือ JLL, ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ และ CBRE สรุปข้อมูลที่น่าสนใจเป็นข้อๆ ดังนี้

 

1.ตลาดที่อยู่อาศัย 2564 ซบเซาตลอดปี

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ REIC เปิดเผยข้อมูลการวิจัยตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่า “ครึ่งปีแรก 2564” มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เพียง 18,700 หน่วย ลดลง -4.7% YoY คิดเป็นมูลค่า 86,400 ล้านบาท ลดลง -5.9% YoY โดยตลาดที่หดตัวลงส่วนใหญ่เกิดจากคอนโดมิเนียมลดลง ขณะที่ตลาดแนวราบยังทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน

อย่างไรก็ตาม “รวมทั้งปี 2564” REIC ประเมินว่าโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีจำนวน 53,700 หน่วย และมีมูลค่าประมาณ 239,700 ล้านบาท

ฝั่งซ้ายคือตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ ก่อนเกิด COVID-19 ฝั่งขวาคือตลาดหลังเกิด COVID-19

เห็นได้ว่า “ครึ่งปีหลัง 2564” ยังถูกประเมินว่าจะมีสินค้าใหม่เข้าตลาดได้มากกว่าครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับปีก่อนแล้ว จำนวนหน่วยจะยังติดลบ -3.9% YoY และมูลค่าติดลบ -22.2% YoY ภาพรวมของปีนี้ภาคอสังหาฯ จึงซบเซายิ่งกว่าปี 2563

 

2.ทำเล นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฟื้นตัวดีกว่า

REIC ยังแยกย่อยรายทำเลด้วยว่า ตลาดที่การเปิดโครงการใหม่หดตัวมากในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ได้แก่ นนทบุรี (-70.1% YoY) ปทุมธานี (-67.1% YoY) และกรุงเทพฯ (-29.1% YoY)

แต่ตลาดที่กลับมาฟื้นตัวในแง่การเปิดขายใหม่คือ นครปฐม (+82.4% YoY) สมุทรสาคร (+43.1% YoY) และ สมุทรปราการ (+16.8% YoY) ซึ่งการฟื้นตัวเหล่านี้เกิดจากตลาดบ้านจัดสรรแทบทั้งหมด

 

3.ปี 2565 ประเมินตลาดที่อยู่อาศัยจะกลับมาโตพุ่ง 60%

สำหรับปี 2565 REIC มองเห็นความหวังว่าตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ จะฟื้น ภายใต้สมมติฐานว่าไทยมีการฉีดวัคซีนทั่วถึงและมีภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว 4% ในปีหน้า

โดยคาดว่าจะมีโครงการเปิดขายใหม่ 86,100 หน่วย หรือเติบโต +60.3% YoY คิดเป็นมูลค่า 374,300 ล้านบาท เติบโต +56.2% YoY ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ก่อนจะเติบโตแบบชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง

 

4.ตลาดกลางถึงล่างเน้นราคา ตลาดบนต้อง ‘ปัง’ จริงๆ

ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ CBRE แยกการวิเคราะห์เป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มซื้อระดับกลางถึงล่าง ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มนี้สูงมาก ดังนั้น การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับราคาตอบโจทย์หรือไม่ หรืออาจจะเป็นโครงการที่เจาะผู้ซื้อเฉพาะกลุ่ม เช่น อยู่ในทำเลใกล้สถาบันการศึกษา โปรดักส์ที่สามารถตอบความต้องการได้ตรงกลุ่มเฉพาะและราคาดีด้วยก็จะขายได้ง่ายกว่า

ส่วนตลาดระดับบนขึ้นไป ลูกค้ายังมีกำลังซื้อ แต่ใช้เวลาตัดสินใจนาน เพราะลูกค้าต้องการโปรดักส์ที่ ‘one of a kind’ คือมีหนึ่งเดียวที่ไม่สามารถหาโปรดักส์อื่นทดแทนได้ รวมถึงจะเน้นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อน เพราะกลุ่มนี้ต้องการจะมีบ้านหลังที่สองเพื่อหลีกหนีปัญหา COVID-19 ไปพักผ่อนได้

 

5.อสังหาฯ เบนเข็มลงทุนด้านโลจิสติกส์

แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะซบเซา แต่ธุรกิจอสังหาฯ ก็มีการเบนเข็มไปลงทุนในกลุ่มอสังหาฯ ให้เช่าแทน “สุพินท์ มีชูชีพ”  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) เปิดเผยว่า แม้การลงทุนจะลดลงตั้งแต่ปี 2563 แต่กลุ่มหนึ่งที่มาแรงคือ อสังหาฯ เพื่อการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ในปี 2563 การลงทุนกลุ่มนี้เติบโตถึง 89% YoY และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการลงทุนอสังหาฯ ให้เช่าทั้งหมด

ปริมาณการลงทุนในอสังหาฯ ประเภทต่างๆ (ข้อมูล : JLL)

เปิดไตรมาส 1 ปี 2564 ก็ยังคงร้อนแรง โดยมีการลงทุนอสังหาฯ ให้เช่ารวม 8,400 ล้านบาท เกือบทั้งหมดคือการลงทุนอสังหาฯ อุตสาหกรรม เช่น คลังสินค้า นิคม ส่วนกลุ่มอสังหาฯ ให้เช่าที่แทบไม่เห็นการลงทุนเลยตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปีนี้คือ “รีเทล” กระแสเหล่านี้เกิดจากเทรนด์อีคอมเมิร์ซที่ทำให้คลังสินค้าเป็นที่ต้องการสูง

 

6.ใช้ Branded Residences ดึงนักลงทุน

กลุ่มบริษัทวิจัยที่ร่วมสัมมนายังแนะนำว่า สำหรับโครงการคอนโดฯ ที่กำลังพัฒนาหรือมีปัญหาด้านยอดขาย อาจจะพิจารณาแนวทางใหม่ในการดึงนักลงทุน โดยวิธีที่มองตรงกันว่าจะได้ผลคือ การดึงเชนโรงแรมชื่อดังเข้ามาบริการเพื่อเป็นโครงการแบบ Branded Residences

“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ มองว่าโครงการอาจจะปรับตัวเป็นลักษณะขายห้องเพื่อการลงทุนและเช่าห้องคืนเพื่อบริหารเป็นโรงแรม/อพาร์ตเมนต์ ซึ่งจะทำให้การันตีผลตอบแทน (yield) ที่จะให้กับนักลงทุนได้ และทำให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น

ในแง่ลูกค้าต่างชาติ สุพินท์แห่ง JLL มองว่า Branded Residences จะทำให้ต่างชาติเชื่อถือมากกว่า และราคาของคอนโดฯ ที่มีแบรนด์โรงแรมในไทยยังถูกกว่าในสิงคโปร์หรือฮ่องกง จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

]]>
1352099
ครม.อนุมัติ “วีซ่าระยะยาว” ดึงต่างชาติมีฐานะ “อสังหาฯ” อ้อนรัฐปลดล็อกการถือครองบ้าน-คอนโด https://positioningmag.com/1351999 Wed, 15 Sep 2021 13:31:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1351999 มติ ครม. อนุมัติการจัดทำโครงการ “วีซ่าระยะยาว” ให้ชาวต่างชาติที่มีฐานะหรือมีทักษะสูงเข้ามาพำนักในไทย หวังดึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ทำให้กลุ่มธุรกิจ “อสังหาฯ” ตื่นตัว และส่งเสียงถึงภาครัฐอีกครั้งว่าต้องการให้มีการ “ปลดล็อก” กฎหมายการถือครองที่อยู่อาศัย “ดีดีพร็อพเพอร์ตี้” เปิดข้อมูลคนจีนยังสนใจกลับมาลงทุน

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย. 64) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ข้อหนึ่งในมติที่มีการอนุมัติ คือการให้จัดทำ “วีซ่าระยะยาว” (Long-term Resident Visa) มุ่งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะดีหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพำนักในไทย เพื่อดึงกำลังซื้อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น

โครงการนี้วางแผนในระยะ 5 ปี (2565-2569) ตลอดระยะโครงการหวังผลดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน แต่ละคนมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมมูลค่าจากการลงทุนและการชำระภาษีเงินได้ที่ไทยจะได้ประโยชน์

(Photo : Shutterstock)

กลุ่มที่ต้องการจะดึงดูดเข้ามามีทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท)

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้

– ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

– มีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท)

– กรณีไม่มีการลงทุน ต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท)

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือ ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุน Series A และมีประสบการณ์การทำงาน 5 ปี

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional) มีคุณสมบัติกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

– กรณีที่ 1 มีรายได้ส่วนบุคคล (อาทิ เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน) ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

– กรณีที่ 2 มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การบิน การแพทย์ครบวงจร เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ)

(Photo : Shutterstock)
ต่างชาติที่ยื่นขอ “วีซ่าระยะยาว” จะได้สิทธิประโยชน์อะไร?

กลุ่มข้อ 1-3 จะได้สิทธิประโยชน์คือ

  • สิทธิทำงาน ได้พร้อมกันกับวีซ่า
  • ทั้งคู่สมรสและบุตรจะได้วีซ่าผู้ติดตาม
  • ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้ที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มข้อ 4 จะได้สิทธิประโยชน์แบบเดียวกับข้อ 1-3 แต่เนื่องจากกลุ่มนี้น่าจะเข้ามาเพื่อทำงานในประเทศไทย มีรายได้ภายในประเทศไทย ทำให้รัฐมีแรงจูงใจทางภาษีคือ ไทยจะคิดภาษีเงินได้เท่ากับภาษีของการจ้างแรงงานในเขต EEC (ปัจจุบันต่างชาติที่มาทำงานระดับบริหารใน EEC จะได้ลดเพดานอัตราภาษีไม่เกิน 17% จากปกติ 35%)

ทั้งนี้ ประเด็นสิทธิการถือครองที่ดินยังค่อนข้างกำกวม เนื่องจากรายงานที่เสนอ ครม. ระบุว่าคนต่างชาติกลุ่มวีซ่าระยะยาวจะมีสิทธิประโยชน์ด้านการถือครองที่ดิน 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้โครงการนี้ แต่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าสิทธิส่วนนี้จะเป็นอย่างไร

 

“อสังหาฯ” ขานรับ ขอปลดล็อกการถือครองที่ดิน

ต่อประเด็นนี้ ผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมุมมองเชิงบวกกับโครงการวีซ่าระยะยาว โดย “สุพินท์ มีชูชีพ”  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ ประเทศไทย จำกัด (JLL) กล่าวว่า โครงการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะการขอวีซ่าพำนักจะง่ายขึ้นและอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น จากเดิมต้องรายงานตัวกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองทุกๆ 90 วัน แต่การมีวีซ่าตามโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องไปรายงานตัว

ภาพมุมสูง กรุงเทพฯ

เช่นเดียวกัน “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ มีความหวังว่า โครงการวีซ่าระยะยาวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นตัว จาก 1 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของรัฐ นอกจากการเช่าที่พักอาศัยแล้ว ขอเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้ที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ก็จะช่วยภาคธุรกิจนี้ได้

สุพินท์กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ต้องการร้องขอให้รัฐพิจารณา คือการอนุญาตให้ต่างชาติในโครงการนี้ถือครองที่ดินในหมู่บ้านจัดสรรได้ โดยอาจจะมีเงื่อนไขไม่ให้มีสิทธิออกเสียงในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อมีการประชุมลูกบ้าน รวมถึงอนุญาตให้ต่างชาติถือครองห้องชุดในคอนโดฯ ได้เกินสัดส่วน 49% ของโครงการซึ่งเป็นข้อจำกัดเดิม

(Photo : Shutterstock)

ข้อร้องขอของสุพินท์เป็นประเด็นที่คนในวงการธุรกิจอสังหาฯ ร้องขอมานาน รวมถึงเคยมีข้อเสนอของ TDRI ในทำนองเดียวกันเมื่อปี 2563 โดยเล็งผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

ข้อเสนอของ TDRI มีการชี้แนะว่าการปลดล็อกหรือผ่อนผันเหล่านี้ควรจะมาพร้อมกับการจำกัดวงบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต่างชาติซื้อได้มากกว่าเกณฑ์ปกติ ให้ซื้อเฉพาะกลุ่มราคาสูง และอยู่ในทำเลเฉพาะที่รัฐกำหนด เพื่อให้กระทบกลไกราคาบ้าน-คอนโดของคนไทยทั่วไปน้อยลง (อ่านมุมมองของ TDRI ที่นี่ >> https://positioningmag.com/1309568)

 

“คนจีน” ยังสนใจอสังหาฯ ไทยอยู่

กมลภัทรให้ข้อมูลว่า ชาวต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจอสังหาฯ ไทย วัดจากยอดการเข้าชมเว็บไซต์ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เพื่อชมรายการอสังหาฯ ขายของไทย มีการเข้าชมจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 31% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เทียบกับปีก่อนหน้า แน่นอนว่า กลุ่มคนต่างชาติที่ต้องการอสังหาฯ ไทยมากที่สุดคือ “ชาวจีน”

ทั้งนี้ อสังหาฯ ไทยถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของคนจีนในการลงทุนนอกประเทศ อันดับ 1 ที่คนจีนเลือกคือ ญี่ปุ่น (22%) อันดับ 2 ไทย (21%) และอันดับ 3 สหรัฐฯ และ มาเลเซีย (12% เท่ากัน) สาเหตุที่คนจีนชื่นชอบอสังหาฯ ไทยเพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ย 5% มากกว่าผลตอบแทนในจีนที่ได้เฉลี่ยเพียง 2% และคนจีนยังชื่นชอบวัฒนธรรมไทยเป็นพิเศษ

ราคาที่พักอาศัยที่คนจีนสนใจซื้อในประเทศไทย (ที่มา : ดีดีพร็อพเพอร์ตี้)

เมื่อวัดจากกลุ่มราคาอสังหาฯ ที่คนจีนสนใจ พบว่ามีถึง 30% ที่มองหาอสังหาฯ ในราคามากกว่า 10 ล้านบาท สอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการให้มีกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากนี้ต้องรอดูเงื่อนไขโดยละเอียดของภาครัฐในการจัดทำโครงการวีซ่าระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ จะเป็นไปตามที่ภาคธุรกิจหวังไว้หรือไม่ รวมถึงรอการเปิดประเทศของไทยที่จะทำให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาชมโครงการจริงได้ในที่สุด

]]>
1351999
ระลอกใหม่ยิ่งอ่วม! “คอนโด” ยกเลิกแล้ว 5,900 ยูนิต ผู้บริโภคยืดเวลาตัดสินใจซื้อเป็น 3-5 ปี https://positioningmag.com/1343339 Tue, 20 Jul 2021 12:28:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1343339 JLL เปิดข้อมูลตลาด “คอนโด” ยกเลิกไปแล้ว 5,900 ยูนิต ชะลอก่อสร้างหรือยังไม่มีกำหนดเปิดตัวอีก 6,800 ยูนิต ดาวจรัสแสงหนึ่งเดียวในตลาดอสังหาฯ คือ “คลังสินค้า/โรงงาน” ตอบรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ด้านดีดีพร็อพเพอร์ตี้สำรวจผู้บริโภครอบครึ่งปีหลัง’64 พบแนวโน้มยืดเวลาตัดสินใจซื้อบ้านเป็น 3-5 ปีเพิ่มขึ้น เหตุผลหลัก “รายได้หด-ราคาอสังหาฯ สูงเกินไป”

เก็บข้อมูลจากงานแถลงข่าวเปิดรับสมัครโครงการเข้าประกวดเวที PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 16 โดยมี “สุพินท์ มีชูชีพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL และ “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ร่วมฉายภาพสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย

สุพินท์มองภาพรวมอสังหาฯ ไทยปีนี้ยังไม่ใช่ขาขึ้น โดยอสังหาฯ กลุ่มค้าปลีก ออฟฟิศ คอนโดฯ ล้วนอยู่ในวัฏจักรราคาขาลง เหลือเพียงกลุ่ม “คลังสินค้า-โรงงาน” ที่ยังน่าสนใจ โดยอยู่ในวัฏจักรที่การเติบโตเริ่มช้าลง แต่นับว่าดีที่สุดในกลุ่มอสังหาฯ เพราะการเติบโตอย่างมากของอี-คอมเมิร์ซซึ่งได้อานิสงส์จากการระบาด

(จากซ้าย) “สุพินท์ มีชูชีพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด, จูลส์ เคย์ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้กูรู เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส์ แอนด์ อีเวนต์ และ “กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

“ถ้ารัฐบาลฉีดวัคซีนได้ 70% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นได้ในปี 2565 ขณะนี้เราพบว่านักลงทุนเข้ามาเก็บข้อมูลโครงการหรืออาคารต่างๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์จำนวนมาก แต่เมื่อดูได้เฉพาะหน้าเว็บ ยังเข้ามาดูของจริงไม่ได้ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ก็จะยังไม่กล้าตัดสินใจ” สุพินท์กล่าว

 

คอนโดฯ อ่วม พับแผน-เลื่อนอื้อ

ตลาดที่ยังคงสาหัสต่อเนื่องคือ “คอนโดมิเนียม” โดยสุพินท์กล่าวว่าตลาดนี้อยู่ในสภาวะโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มไฮเอนด์และระดับกลาง เมื่อเผชิญ COVID-19 จึงเหมือนซ้ำเติมปัจจัยลบที่มีอยู่เดิม

JLL พบว่า ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีคอนโดฯ ที่แผนสะดุดแล้วทั้งหมด 12,700 ยูนิต โดยแบ่งสถานะได้ดังนี้

  • ถอนตัวยกเลิกโครงการ 5,900 ยูนิต
  • ชะลอการก่อสร้างโครงการ 2,500 ยูนิต
  • ยังไม่กำหนดวันเปิดตัวโครงการ 4,300 ยูนิต

ด้านราคาคอนโดฯ เฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 101,900 บาทต่อตร.ม. ส่วนคอนโดฯ ระดับไฮเอนด์กลางเมืองราคาอยู่ที่ 218,000 บาทต่อตร.ม. ซึ่งราคาปรับลงทั้งหมด ทำให้ผู้ซื้อเหลือเฉพาะกลุ่มซื้ออยู่เอง ไม่มีนักเก็งกำไร ตลาดเป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างมาก

เฉพาะตลาดคอนโดฯ นั้น สุพินท์มองว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดังที่กล่าวข้างต้น คอนโดฯ น่าจะเริ่มฟื้นได้ช่วงไตรมาส 2/65 แต่กว่าที่ตลาดจะดูดซับซัพพลายมากพอที่จะกลับมาเป็นขาขึ้น น่าจะอีก 12-18 เดือนต่อจากนั้น

 

คนเลื่อนแผนซื้อบ้านเป็น 3-5 ปี

ด้าน “กมลภัทร” จาก ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดข้อมูลสำรวจผู้บริโภคช่วงครึ่งปีหลัง 2564 พบว่า 71% ยังสนใจซื้อบ้าน แต่ปัจจัยลบคือผู้บริโภคที่ยังต้องการซื้อ “เลื่อนแผน” การซื้อบ้านออกไป ดังนี้

  • จะซื้อภายใน 1 ปี – 13%
  • จะซื้อภายใน 1-2 ปี – 26%
  • จะซื้อภายใน 3-5 ปี – 39%
  • จะซื้อในช่วง 5 ปีขึ้นไป – 22%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบข้อมูลกับช่วงครึ่งปีแรก 2564 สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านภายใน 2 ปีลดลงจาก 48% เหลือเพียง 39% แล้ว ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปตัดสินใจซื้อใน 3-5 ปี

เหตุผลหลัก 5 อันดับแรกที่ทำให้ผู้บริโภคเลื่อนแผนการซื้อบ้านออกไปก่อน คือ 1) รายได้ลดลง 2) ราคาอสังหาฯ สูงเกินไป 3) ไม่สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้ 4) การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ และ 5) ไม่มีเงินดาวน์

กมลภัทรกล่าวว่า เห็นได้ว่า COVID-19 มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการจัดการโรคระบาด และทางออกคือต้องฉีดวัคซีนประชาชนให้เร็วที่สุด

ฝั่งผู้ประกอบการ กมลภัทรมองว่าขณะนี้ต้องดูแลใน 3 ด้านเพื่อดึงลูกค้า คือ 1) สินค้าต้องตอบโจทย์ทุกส่วน ต้องใส่ใจในรายละเอียดแม้เล็กๆ น้อยๆ ที่ตรงกับความต้องการลูกค้า 2) ราคาต้องจัดโปรโมชันคุ้มค่า แม้ว่าขณะนี้ราคาเฉลี่ยอสังหาฯ ลดลง -7% YoY แล้วแต่ทัศนคติผู้ซื้อยังมองว่าสูง 3) จังหวะการทำการตลาดหรือเปิดโครงการใหม่ ต้องระมัดระวัง เช่น ช่วงนี้สถานการณ์อึมครึมมาก หากทำตลาดช่วงนี้อาจไม่มีคนสนใจมากนัก

บรรยากาศงาน Property Guru Thailand Property Awards 2020

สำหรับโครงการประกวดประจำปี PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 16 ยังจัดตามปกติ ปีนี้มีสาขาประกวดทั้งหมด 60 สาขา เพิ่มรางวัลใหม่หลายสาขา เช่น สุดยอดดีเวลอปเปอร์ภาคเหนือ สุดยอดดีเวลอปเปอร์ภาคใต้ รางวัลพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกยอดเยี่ยม เป็นต้น เปิดรับสมัครแล้ววันนี้จนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2564 บุคคลทั่วไปหรือบริษัทที่สนใจสามารถเสนอชื่อโครงการได้ที่ AsiaPropertyAwards.com/nominations

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

]]>
1343339