ใช้จ่าย – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Wed, 26 May 2021 00:15:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 ธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯ เตรียมอัดโปร ‘บัตรเครดิต’ กระตุ้นใช้จ่าย ปั๊มรายได้ช่วงเศรษฐกิจฟื้น https://positioningmag.com/1333830 Tue, 25 May 2021 15:13:29 +0000 https://positioningmag.com/?p=1333830 บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ วางเเผนการตลาดใหม่ ทุ่มออกโปรโมชันบัตรเครดิตเพื่อขยายหาฐานลูกค้า กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค รับเศรษฐกิจฟื้นตัว ต่างจากปีที่เเล้วที่ระวังความเสี่ยงจนถึงขั้นดึงวงเงินสินเชื่อกลับคืน

Andrew Davidson นักวิเคราะห์จาก Mintel Comperemedia มองว่า สถาบันการเงินอย่าง Capital One , Citigroup และ JPMorgan มีเเผนจะอัดโปรโมชันบัตรเครดิตอย่างหนัก เพื่อหาลูกค้าใหม่เเละสนับสนุนให้ลูกค้าเก่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นกลยุทธ์การเพิ่มรายได้ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว หลังการฉีดวัคซีนได้ผลดี

ดยจะเน้นไปที่การทำตลาดดิจิทัล โปรโมตเเคมเปญโฆษณาเเละข้อเสนอต่างๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook , Instagram , Youtube และ Podcast เพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้บริการบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในปีนี้

ธนาคารใหญ่กำลังรอจังหวะการฟื้นตัวหลังโรคระบาด เพื่อทำรายได้ชดเชยส่วนที่หายไปในปีที่เเล้ว

โดยคาดว่า เเบงก์ต่างๆ จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการการให้สินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นท่าทีที่เเตกต่างจากช่วงปีที่ผ่านมา ที่ธนาคารส่วนใหญ่ตัดสินใจชะลอข้อเสนอบัตรเครดิต เเละดึงวงเงินสินเชื่อกลับคืน เพราะมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ หลังอัตราว่างงานในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล ที่ให้เงินช่วยเหลือคนว่างงาน เเละปล่อยเงินกู้ให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ชาวอเมริกันที่พึ่งพาการใช้บัตรเครดิต สามารถชำระหนี้ได้เเละยังมีการใช้จ่าย บางรายชำระยอดคงเหลือด้วย

โดยรวมเเล้ว ธุรกิจบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ยังคงทำกำไรได้ แต่มีรายได้ลดลง

จากข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ระบุว่า ยอดเงินคงเหลือบัตรเครดิต (Card Balances) ของธนาคารในสหรัฐฯ ในปี 2020 ลดลง 14% ในช่วงการเเพร่ระบาด ขณะที่บัญชีที่มียอดหมุนเวียน (Revolving Balances) อยู่ที่ระดับ 39.7% ลดลงจากปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.1%

ทั้งนี้ เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยของบัตรเครดิตในสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 16% สูงสุดที่ 25% (อ้างอิงจาก CreditCards)

แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายลง หลังการกระจายวัคซีนทั่วถึง ผู้คนกลับมารับประทานอาหารในร้าน ข้อจำกัดการเดินทางถูกยกเลิก มีการจัดคอนเสิร์ต สำนักงานใหญ่ๆ เริ่มกลับมาเปิดทำการ เป็นสัญญาณที่ดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคเเละโอกาสที่จะปล่อยสินเชื่อ

 

 

ที่มา : Reuters

]]>
1333830
โควิดสะเทือนรายได้ ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ หาย 3 หมื่นล้าน ฉุดกำไร CPALL ปี’63 วูบ 27.9% https://positioningmag.com/1320464 Mon, 22 Feb 2021 13:08:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1320464 พิษโรคระบาดทำคนใช้จ่ายน้อย ปี 2563 รายได้ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น(7-Eleven) ลด 10% หายไป 3 หมื่นล้าน เหลือ 3 เเสนล้าน ฉุดกำไร CPALL ร่วง 27.9% ‘แม็คโครยังโตรายได้เพิ่ม วางเเผนปีนี้ทุ่มลงทุนร้านสะดวกซื้ออีก 1.2 หมื่นล้าน

วันนี้ (22 ..2564) เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการเงิน บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงผลการดำเนินงานปี 2563 โดยบริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 546,590 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากปีก่อน โดยมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ 525,884 ล้านบาท ลดลง 4.5%

มีต้นทุนในการจัดจําหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหาร 107,858 ล้านบาท ลดลง 3.3% มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จํานวน 19,262 ล้านบาท ลดลง 28.0% จากปีก่อน และมีกําไรสุทธิ 16,102 ล้านบาท ลดลง 27.9%

ปัจจัยหลักๆ มาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง เเละมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยลดลง รวมไปถึงการมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการถือปฎิบัติตาม TFRS16

สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ในปี 2563 มีรายได้รวม 300,705 ล้านบาท ลดลง 33,356 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% มีกําไรขั้นต้นจํานวน 83,724 ล้านบาท ลดลง 10,103 ล้านบาท คิดเป็น 10.8% โดยมีสัดส่วนกําไรขั้นต้น 27.8% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 28.1%

รายได้ของเซเว่น อีเลฟเว่นที่ลดลงดังกล่าว สาเหตุหลักๆ มาจากการขายสินค้าและบริการ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทําให้การประหยัดต่อขนาดที่ศูนย์กระจายสินค้าลดลง รวมถึงสัดส่วนของรายได้จากการขายสินค้าที่มีอัตรากําไรขั้นต้นสูงลดลง

ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2563 ลดลง 14.5% โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 70,851 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณเท่ากับ 75 บาท ขณะที่จํานวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 949 คน

ด้านธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชําระเงินสดและบริการตนเอง (ธุรกิจแม็คโคร) ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ จากการขายและบริการไว้ได้ในระดับหนึ่งจากการเติบโตของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย และสาขาในประเทศอินเดียและกัมพูชา

โดยแม็คโคร มีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกัน 8,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อน

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจอื่นมีกําไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 4,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% จากปีก่อน เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม

ในปี 2564 CPALL มีแผนจะลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่ อีกราว 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 11,500 – 12,000 ล้านบาทเเบ่งเป็น

  • เปิดร้านสาขาใหม่ ลงทุนราว 3,800 – 4,000 ล้านบาท
  • ปรับปรุงร้านเดิม ลงทุนราว  2,400 – 2,500 ล้านบาท
  • โครงการใหม่, บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า ลงทุนราว 4,000 – 4,100 ล้านบาท
  • สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ ลงทุนราว 1,300 – 1,400 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็จะวางเเผนเพิ่มตู้จําหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เเละช่องทางขายทางออนไลน์ อย่าง ALL Online ผ่าน 7-Eleven.TH Application ShopAt24 เเละเเอปพลิเคชัน 7-delivery เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 

ที่มา : SET 

]]>
1320464
‘กรุงศรี คอนซูมเมอร์’ ยกเครื่องดิจิทัล หาลูกค้าบัตรเครดิตทางออนไลน์ คุม ‘หนี้เสีย’ พุ่ง https://positioningmag.com/1319604 Tue, 16 Feb 2021 11:06:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1319604 วิกฤต COVID-19 ส่งผลต่อยอดการใช้จ่าย กระทบธุรกิจบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลกรุงศรี คอนซูมเมอร์ประกาศเเผนกลยุทธ์ปี 2564 ยกเครื่องสู่ดิจิทัลเต็มสูบ หาลูกค้าทางออนไลน์ คุมหนี้เสียเข้มงวดออกบัตร จับมือพันธมิตรหารายได้ใหม่ ตั้งเป้าปีนี้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเริ่มฟื้นตัวที่ 305,000 ล้านบาท

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตกรุงศรี บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 280,000 ล้านบาท (-11% เทียบกับปี 2562) ยอดสินเชื่อใหม่ 79,000 ล้านบาท (-21%) ยอดสินเชื่อคงค้าง 144,000 ล้านบาท (-4%)

ส่วนจำนวนบัญชีลูกค้าใหม่อยู่ที่ 488,000 ราย ลดลงถึง -51% จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 9 เเสนบัญชี โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจากพิษเศรษฐกิจที่ตกต่ำ พนักงานประจำซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ มีรายได้ลดลง หลายคนต้องอยู่ในภาวะตกงาน

โดยหมวดการใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประกันภัย , ไฮเปอร์มาร์เก็ตเเละซูเปอร์มาเก็ต ,อุปกรณ์แต่งบ้านเครื่องใช้ในครัวเรือน , น้ำมัน , ช้อปปิ้งออนไลน์กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ , ห้างสรรพสินค้า , โรงพยาบาล , สินค้าเเฟชั่น , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เเละเครื่องใช้ไฟฟ้า , อาหารเเละเครื่องดื่ม

ด้าน 5 หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตมากที่สุดในปี 2563 ได้เเก่ ช้อปปิ้งออนไลน์ , โทรศัพท์มือถือ WiFi เเละอินเทอร์เน็ต , ร้านสะดวกซื้อ , ร้านขายยา , ไฮเปอร์มาร์เก็ตเเละซูเปอร์มาเก็ต

ยอดใช้จ่ายในหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ ติดอันดับ 5 ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด มีอัตราการเติบโตถึง 50% แซงหมวดห้างสรรพสินค้า ทำให้เห็นถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

กาง 4 กลยุทธ์ ยกเครื่องสู่ดิจิทัล 

ณญาณี  เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยถึงแผนการกำเนินธุรกิจ ‘2021 Business Direction’ ว่า จากเเนวโน้มสภาวะตลาดโดยรวม ยังต้องเผชิญกับผลกระทบโรคระบาด ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ภาวะการว่างงาน และทำให้กำลังซื้อลดลง รวมถึงอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ตัวเลข NPL ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ อยู่ที่ 3.4% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม

มองว่าจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องระยะที่ 1-2 ในปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2564 จะทำให้ NPL ไม่ได้เร่งเพิ่มขึ้นรุนแรงมากนัก

คาดว่าจะเห็นอัตรา NPL ของบัตรเครดิตปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมมีนาคมของปีนี้ เเละ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคล จะขยับไปอยู่ที่ระดับ 4%

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์

ผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ บอกว่า ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ยังมีโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของคนไทย

โดยมองว่าจะเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้แบบก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาของการปรับเเผนธุรกิจครั้งใหญ่ ซึ่งจะเน้นไปที่การบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม พร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยได้วางกลยุทธ์หลักๆ 4 ประการ ดังนี้

  • พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลและการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ (Robotic Process Automation-RPA) ซึ่งช่วยลดชั่วโมงการทำงานได้ 2,833 ชั่วโมงต่อเดือน พร้อมพัฒนา ‘AI มะนาว’ เเละบริการอื่นๆ บนแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ที่ปัจจุบันมียอดใช้งานราว 6 ล้านคน
  • นำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ (Data Intelligence Capabilities) เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น
  • ร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรีฯ และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้า และแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่
  • พัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อก้าวให้ทันโลกธุรกิจยุคใหม่ มีการเทรนนิ่งผ่านระบบการเรียนออนไลน์ ส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือดิจิทัล

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจการเติบโตในปี 2564 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร อยู่ที่ 305,000 ล้านบาท หรือเติบโต 9% ยอดสินเชื่อใหม่ 88,000 ล้านบาท เติบโต 11% ยอดสินเชื่อคงค้าง 148,000 ล้านบาท เติบโต 3% และจำนวนลูกค้าใหม่ 583,000 ราย เติบโต 19%

“จะเน้นไปในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ เเละจะมีการหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น” 

โดยเป้าจำนวนลูกค้าใหม่ของปี 2564 ที่ตั้งไว้ราว 5 เเสนรายนั้น ยังถือว่า ‘ต่ำกว่า’ ระดับก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต COVID-19 ที่จะอยู่ประมาณ 900,000 ราย (ปีที่เเล้วอยู่ที่ 4.8 เเสนราย) ซึ่งหากมองดูจากสถานการณ์ เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจเเละอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูง ‘ไม่เอื้อต่อการเพิ่มบัตรใหม่มากนัก’

ส่วนการเเข่งขันในตลาดบัตรเครดิตปีนี้ ผู้บริหารกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มองว่าจะมีการเเข่งขันที่สูง มีการทุ่มออกโปรโมชั่นจูงใจต่างๆ เเต่ด้วยกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์ ก็ต้องยอมรับว่าปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทาย บริษัทจึงจะเน้นไปที่การช่วยเหลือลูกค้าเก่าให้อยู่ได้ ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ และไม่สนับสนุนให้ลูกค้าใช้จ่ายเกินความจำเป็น

 

]]>
1319604
เปิดอินไซต์ใช้จ่าย ‘ตรุษจีน’ 2564 เงียบเหงา เศรษฐกิจเเย่ ต้องประหยัด ของไหว้เจ้า ‘แพงขึ้น’ https://positioningmag.com/1318396 Mon, 08 Feb 2021 11:25:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1318396 เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ไม่คึกคักเหมือนเคย ใช้จ่ายต่ำสุดในรอบ 13 ปี คาดเงินสะพัดเหลือแค่ 4.49 หมื่นล้าน ลดลง 21.85% จากพิษ COVID-19 รอบใหม่ คนประหยัดขึ้น ชะลอใช้จ่าย ลดการเดินทางท่องเที่ยว มองราคาของไหว้เจ้าแพงขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลการสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 ว่า ภาพรวมเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก

ปัจจัยหลักๆ มาจากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาทั้งรอบใหม่เเละรอบเก่า ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง มีความไม่เเน่นอนทางรายได้สูง ส่งผลให้ประชาชนไทยเชื้อสายจีนใช้จ่ายลดลงเช่นกัน

ปีนี้มีมูลค่าการใช้จ่ายลดลงเหลือ 44,939 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 21.85% หรือเงินหายไป 1.2 หมื่นล้านบาท นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี ตั้งแต่มีการสำรวจมา

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ยังไม่สามารถจะเดินทางท่องเที่ยวได้มากนัก รวมถึงผู้คนต้องประหยัด เเละระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ทำให้การจ่ายเงินซื้อสินค้าเซ่นไหว้ในช่วงตรุษจีนไม่คึกคักเท่าที่ควร

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จำนวน 1,200 คน พบว่า ประชาชน 42.2% มีการใช้จ่ายน้อยลง ส่วน 33.2% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่าย และมีเพียง 24.6% ที่มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

โดยสาเหตุที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นเพราะมองว่าราคาสินค้าแพงขึ้น 69.9% ส่วนสาเหตุที่มีการใช้จ่ายน้อย เพราะมองว่าภาวะเศรษฐกิจแย่ลง 39.9% มีรายได้ลดลง 24% ต้องการลดค่าใช้จ่าย 15.4% และผล
กระทบโรคระบาด 15.1%

ส่วนบรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563 ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า จะคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ 63.7% มองว่าคึกคักพอพอกัน 21.0% และคึกคักมากกว่า 15.3% ประชาชนส่วนใหญ่ยังไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดสดและห้างค้าปลีก

สำหรับผู้ที่ได้รับแต๊ะเอียในปีนี้ คิดว่าจะได้รับแต๊ะเอีย 55.5% และคิดว่าจะไม่ได้ รับแต๊ะเอียราว 44.5% เมื่อถามลึกลงไปกว่านั้น คนที่คิดว่าตัวเองจะได้รับแต๊ะเอียส่วนใหญ่ จะเอาเงินที่ได้ไปเก็บออม 58.5% และซื้อเครื่องแต่งกาย 54.6% ไปทานข้าว 36.9%

หากแบ่งการใช้จ่ายตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 16,230 ล้านบาท ลดลง 24.50% ภาคกลาง อยู่ที่ 11,452 ล้านบาท ลดลง 21.40% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 7,269 ล้านบาท ลดลง 15.55% ภาคเหนือ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 17.21% และภาคใต้ อยู่ที่ 5,487 ล้านบาท ลดลง 25.80%

ด้านแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบราว 66.8% ระบุว่า มาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ, 19.8% มาจากเงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจ พบว่า มีการใช้บริการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เเละสั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น ลดการเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง ส่วนการเลือกซื้อของเซ่นไหว้ ปีนี้คนจะเลือกซื้อไข่มากขึ้น ลดสัดส่วนการซื้อประเภทอื่นอย่างหมู เป็ด ไก่ ลดลง

โดยมีการใช้จ่ายรูปแบบใช้จ่ายผ่านเงินสด อยู่ที่ 63.3% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้จ่ายผ่านเงินสดอยู่ที่ 84.6% ประชาชนหันไปใช้จ่ายผ่านการโอนเงินมากขึ้น อยู่ที่ 13.4% ผ่านบัตรเครดิต 23.3%”

สำหรับสิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงในช่วงตรุษจีนมากที่สุด คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามมาด้วยราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มาตการช่วยเหลือของภาครัฐ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการอัดฉีดเงินจากมาตรการเราชนะเเละ.33เรารักกันในช่วงปลายเดือนนี้ จะกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้เพิ่มขึ้นได้ ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2564 เป็นต้นไป

 

 

 

]]>
1318396
กินเจ 2563 เงียบเหงา “คนไม่จ่าย” เหตุเศรษฐกิจทรุด-ตกงาน-รายได้ลด คาดโตต่ำสุดในรอบ 13 ปี https://positioningmag.com/1300632 Thu, 08 Oct 2020 11:27:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300632 เทศกาลเจปีนี้ เงียบเหงาจากพิษ COVID-19 ทำเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพสูง คนตกงาน รายได้ลดลง ระวังการใช้จ่าย คาดเงินสะพัด 46,967 ล้านบาท ขยายตัว 0.9% นับว่าต่ำสุดในรอบ 13 ปี

ตามปกติเเล้วเทศกาลเจเป็นช่วงที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดีในช่วงปลายปี โดยในปี 2563 จะตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม รวมเป็นระยะเวลา 9 วัน เเต่จากการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ปีนี้ไม่คึกคักเหมือนเคย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลวิจัยพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ จากการสำรวจระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,393 ราย ทั่วประเทศ พบว่า ปีนี้มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 46,967 ล้านบาท เติบโตจากปี 2019 เพียง 0.9% เท่านั้น 

สาเหตุหลักๆ มาจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ 39.8% รองลงมาคือภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี 28.6% ค่าครองชีพสูงขึ้น มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 19.1% และคนตกงาน รายได้ลดลง 11.6%

ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนกว่า 60.2% จะไม่กินเจ ส่วนอีก 39.8% กินเจ โดยประเมินว่า ประชาชนหนึ่งคนจะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจอยู่ที่ราว 11,469.34 บาท แบ่งเป็นค่าอาหาร 1,016.19 บาท, ค่าทำบุญ 2,863.52 บาท, ค่าเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด 3,762.21 บาท และค่าที่พัก (หากไปต่างจังหวัด) 4,722.62 บาท

ส่วนความคิดเห็นที่ว่า ราคาอาหารเเละวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจ ปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 จะเป็นอย่างไรนั้น ประชาชนกว่า 58% มองว่าจะสูงขึ้น สาเหตุมาจากค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าเเละแม่ค้าปรับขึ้นราคา รวมถึงปัญหา COVID-19 เเละค่าแรงสูงขึ้น ขณะที่อีก 41.1% มองว่าราคาจะเท่าเดิมกับปีก่อน

Photo : Shutterstock

สำหรับช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ พบว่ากว่า 76.45% เลือกซื้อเองในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าทั่วไป ส่วนอีก 23.6% ไมได้ไปซื้อด้วยตนเอง เเต่จะสั่งซื้อผ่านตัวกลางขนส่ง อย่างบริการเดลิเวอรี่ วินมอเตอร์ไซค์ หรือซื้อผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์

โดยประชาชนกว่า 47.8% มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในจุดต่ำสุด ขณะที่อีก 27.3% มองว่าประเทศอยู่ในภาวะถดถอย ไม่สอดคล้องกับสถาบันด้านเศรษฐกิจหลายแห่งที่ออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังพ้นไตรมาสที่ 2/2563 ส่วนอีก 20.7% มองว่ากำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยส่วนใหญ่ 48.8% เชื่อกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

ส่วนภาวะสภาพคล่องของครอบครัวในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประชาชนกว่า 60.9% มองว่าเเย่ลงขณะที่อีก 34.0% มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่น่าห่วง พบว่าประชาชน 24.7% ห่วงด้านเศรษฐกิจ รองลงมา 24.1% คือห่วงการเมือง และ 17.8% ห่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายในช่วงกินเจ ก็มีอัตราการหดตัวอย่างต่อเนื่องอยู่เเล้ว ยิ่งซ้ำเติมไปอีกเมื่อเจอวิกฤตโรคระบาด โดยเทศกาลการถือศีลกินเจในปีนี้ นับว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี (นับตั้งเเต่ที่ทาง ม.หอการค้าเก็บข้อมูลครั้งเเรกในปี 2551)

 

]]>
1300632
“สยามพิวรรธน์” ปรับรับอีเวนต์หด เปิดพื้นที่ให้ขายของฟรี กระตุ้นใช้จ่ายเเบบไทยช่วยไทย https://positioningmag.com/1281010 Thu, 28 May 2020 11:21:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281010 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

“สยามพิวรรธน์” เผยทราฟฟิกกลับมา 50% กลุ่มนักท่องเที่ยวยังต้องรออีกเป็นปี ด้าน “พารากอน ฮอลล์” เจอหนัก อีเวนต์หด รายได้หาย ปรับกลยุทธ์โฟกัสงานในประเทศ ประเดิมเปิดพื้นที่ให้ “ขายของฟรี” กระตุ้นลูกค้าใช้จ่ายเเบบ “ไทยช่วยไทย”

พฤติกรรม “คนเดินห้าง” ไม่เหมือนเดิม

“หลังจากกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งช่วง 2 สัปดาห์เเรก พบว่าลูกค้ามาเดินห้าง เฉลี่ยไม่เกินคนละ 2 ชั่วโมง เเละมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ มาเเเบบมีจุดประสงค์เเน่ชัดหรือมาเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการจริงๆ เเล้วรีบกลับบ้าน ต่างจากเดิมที่มาเดินห้างเพื่อพักผ่อนหรือมาเดินเที่ยวเพื่อใช้ชีวิตทั้งวัน”

ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวอีกว่า หลังจากปลดล็อกดาวน์เฟส 2 ให้ธุรกิจค้าปลีกกลับมาเปิดบริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของสยามพิวรรธน์ ที่บริหารสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และไอคอนสยาม ผู้คนเริ่มกลับมาบ้างเเล้ว เเต่ทราฟฟิกยังไม่กลับมาเท่าเดิม “หายไปเกินครึ่ง” เนื่องจากมาตรการต่างๆ ของรัฐยังเข้มงวดอยู่ โดยลูกค้าตอนนี้จะกลับมาอยู่ที่ราว 50% จากปกติที่กลุ่มวันสยามเคยมีลูกค้าประมาณ 2.5 เเสนคนต่อวัน ที่ไอคอนสยามประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน

“ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้ มีเพียงชาวต่างชาติที่ทำงานในไทยเท่านั้นที่ออกมาเดินห้าง คงต้องรอถึงช่วงปลายปีอาจจะกลับมาได้ 20-30% จากปกติ เเละต้องรอลุ้นกันยาวถึงปีหน้า ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถกลับมาได้ถึงระดับปกติ ตอนนี้เราจึงต้องส่งเสริมกิจกรรมภายในประเทศมากขึ้น”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวถือเป็นลูกค้าหลักของเครือสยามพิวรรธน์เพราะคิดเป็น 30-40% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ขายดีช่วงนี้จะเป็นกลุ่มของ เครื่องใช้ไฟฟ้า ความงาม สุขภาพ และเครื่องใช้ในบ้าน สำหรับธุรกิจร้านอาหารนั้นกลับมาเปิดบางส่วน แต่คาดว่าหลังจากที่ปลดล็อกเฟส 3 ทุกอย่างจะกลับมาเปิดบริการได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

“ตอนนี้ร้านค้าต่างๆ ในห้างฯ ของเครือสยามพิวรรธน์ ได้เปิดให้บริการเเล้วราว 90% มีบางส่วนที่เหลือยังติดปัญหาเรื่องพนักงานซึ่งต้องกักตัวหลังกลับมาจากต่างจังหวัด คาดว่าในเดือน มิ.ย.จะสามารถเปิดได้เต็ม 100% เเละยังไม่มีร้านใดปิดตัวไป”

ช่วงก่อนหน้าที่จะกลับมาเปิดห้างฯ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ซีอีโอแห่งกลุ่มสยามพิวรรธน์ ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือวิกฤต โดยมองว่าช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค.หากรัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทั้งทราฟฟิกลูกค้าและรายได้ศูนย์การค้าจะยังไม่สูง คาดว่าจะอยู่ที่ 30-40% ของปกติ และจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2563 รวมผลกระทบที่ต้องปิดห้างฯ เกือบ 2 เดือน และระยะฟื้นตัว มองว่าธุรกิจศูนย์การค้ารวมร้านค้าภายในทั้งประเทศจะสูญเสียรายได้ 50% จากทั้งธุรกิจที่เคยทำรายได้ให้ประเทศ 1.75 แสนล้านบาทต่อปี

อ่านต่อ : “ชฎาทิพ” แห่ง “สยามพิวรรธน์” ตอบชัด 4 ประเด็น พร้อมเปิดประตูห้างฯ ในยุค New Normal

ชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ (ซ้าย) กฤษณา จรรยาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริหารงานขายเเละการตลาด บริษัทสยามอัลไลเเอนซ์ เเมเนจเม้นท์ (ขวา)

พารากอน ฮอลล์ : คอนเสิร์ต-อีเวนต์หาย มุ่งรับงานคนไทย 

ด้านธุรกิจอีเวนต์ นับว่าต้องเจอผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เเบบ “หนักหนาสาหัส” ทีเดียว เนื่องจากต้องงดจัดงานที่เป็นการชุมนุมของคนหมู่มากเเละยังไม่มีทางออกของสถานการณ์เเน่ชัด ทำได้เเค่ “ยกเลิกหรือเลื่อน”

กฤษณา จรรยาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริหารงานขายเเละการตลาด บริษัทสยามอัลไลเเอนซ์ เเมเนจเม้นท์ เปิดเผยว่า “รอยัล พารากอน ฮอลล์” ได้รับผลกระทบโดยตรง ถือว่าหนักที่สุดตั้งเเต่เปิดมา เพราะไม่มีรายได้เลยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่ขอเลื่อนไปจัดช่วงปลายปี คือไตรมาส 3-4 เเละช่วงต้นปีหน้า

“ส่วนใหญ่ขอเลื่อนมากกว่ายกเลิก ซึ่งบอกจำนวนเเน่ชัดไม่ได้ เพราะยังไม่มีความเเน่นอนโดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศที่ต้องคอยดูสถานการณ์ มาตรการภาครัฐเเละการเปิดประเทศที่ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญว่าจะเลือกจัดหรือไม่จัดอีเวนต์”

สำหรับ “รอยัล พารากอน ฮอลล์” เปิดพื้นที่ให้จัดงานประชุม คอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ราว 80-90 งานต่อปี โดยงานยอดนิยมที่สุดจะเป็นงานคอนเสิร์ตเเละการจัดนิทรรศการ (Exhibition) อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะคอนเสิร์ตจะจัดวันสุดสัปดาห์ ส่วนนิทรรศการจะจัดช่วงวันธรรมดา

ในระหว่างที่ยังไม่เปิดให้มีการจัดงานอีเวนต์ ทีมงานมีการปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายเเละเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ดูเเลเเละปรับปรุงพื้นที่ให้เข้ากับมาตรการควบคุมโรค คิดหาเเนวทางเพื่อให้ผู้ใช้บริการอุ่นใจเพื่อรองรับการกลับมาอีกครั้ง

มาตรการรักษาความสะอาดปลอดภัยในสยามพารากอน

“เเผนของเราคือในช่วง 6 เดือนนี้จะโฟกัสกับงานในประเทศ กระตุ้นให้คนไทยช่วยคนไทย ประเดิมด้วยการจัดงานฟรี เปิดให้ SMEs มาขายของโดยไม่คิดค่าพื้นที่ มุ่งจัดอีเวนต์ให้ลูกค้าคนไทยก่อน จากนั้นช่วงต้นปี 2564 หากมีการเปิดบินระหว่างประเทศ ก็จะขยายไปหาลูกค้าในเอเชีย เเละถัดไปอีกปีจะขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลก ตามที่เคยวางเป้าหมายไว้ก่อนเกิดวิกฤต”

ด้านสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เผยผลสำรวจทางธุรกิจพบว่า หากรัฐบาลปลดล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการจะสามารถจัดงานได้ไม่ต่ำกว่า 900 งาน ทั้งในส่วนของงานประชุมสัมมนา (Meeting & Incentive) การประชุมอบรม (Convention) งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) การจัดงานอีเวนต์ส่งเสริมธุรกิจ และสร้างงานให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศราว 7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศไทยเป็นกว่า 35,000 ล้านบาท ระหว่างเดือน มิ.ย. 2563 ถึง เดือน มี.ค. 2564

กระตุ้นใช้จ่าย “ไทยช่วยไทย” เปิดพื้นที่ให้ขายของฟรี 

จากเเผนที่จะฟื้นเศรษฐกิจในประเทศเเบบ “ไทยช่วยไทย” นำมาสู่โครงการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจะมีการนำพื้นที่จัดงานอีเวนต์ของพารากอน ฮอลล์ (ที่ว่างอยู่) เเละภายให้ห้างฯ ของเครือสยามพิวรรธน์ มาจัดแคมเปญ “I Love Siam-Smile Together” เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ประกอบกการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของที่คนไทยผลิต เป็นการนำโมเดลธุรกิจรีเทลใหม่ที่เรียกว่า “ระบบนิเวศค้าปลีก” มาสร้างการค้าเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายเเละผู้ซื้อ ซึ่งจะมีการนำร่องใน 4 โครงการหลัก ได้เเก่

1.ตลาดนัดยิ้มสยาม : เปิดพื้นที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ และทรูไอคอน ฮอลล์ รวม 10,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรม ‘ตลาดนัดยิ้มสยาม’ ร่วมกับพันธมิตร ให้พนักงานและผู้ประกอบการจากทั่วประเทศที่รับกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตครั้งนี้ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ วันที่ 24 – 28 มิ.ย. ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ และวันที่ 1 – 5 ก.ค. 2563 ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ อย่างไรก็ตาม วันและเวลาอาจมีเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล

“ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การจัดบูธก็ต้องมีการเว้นพื้นที่จากเดิมพารากอนฮอลล์ รองรับผู้ประกอบการได้ 400 ร้านก็จะเหลือ 120 ร้าน ส่วนทรูไอคอนก็จะเหลือประมาณ 90 ร้าน ขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่จะเข้ามาร่วมงาน ตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยรวมทราฟฟิกของห้างลดลง 50% สัดส่วนร่วมงานก็น่าจะลดลงกว่านี้มาก เพราะต้องมีมาตรการการคัดกรองต่างๆ ด้วย”

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาร้านที่จะเข้ามาเปิดขายครั้งนี้ จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ตกงานจาก COVID-19 ไม่จำกัดหมวดสินค้า เเต่ต้องเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @RoyalParagonHall เเละ @TrueconHall

2. Siam Smile Space : เปิดพื้นที่ทำงานให้ทุกคนมาทำงานแบบ co-working space ในศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ อย่างสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม ได้ฟรี มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย Wifi และอุปกรณ์ไฟฟ้า พร้อมมาตรการดูแลสุขอนามัยขั้นสูงสุด เริ่มเปิดให้ใช้พื้นที่ได้ในเดือน มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป

3.โครงการฟื้นใจไทย : เปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เปิดเมืองสุขสยาม ถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2563 รองรับ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบุคคลทั่วไปหรือนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน อัตลักษณ์ไทยจาก 77 จังหวัด และกลุ่มเกษตรกรผลไม้คุณภาพจากสวนดัง และเกษตรกรไทยดีเด่น แบ่งจำหน่ายรอบละ 7-10 วัน หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันใน 3 พื้นที่ คือ บริเวณธนบุรีดีไลท์, ลานเมือง 1 และ ลานเมือง 2 จัดตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ถึง 30 มิ.ย. 2563 เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ชั้น G

4. ไทยช่วยไทย ยิ้มไปด้วยกัน : เป็นความร่วมมือของสยามพิวรรธน์ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดมหกรรมผลไม้ 5 ภาค และของใช้อุปโภคบริโภคซึ่งเป็นของดีประจำจังหวัด ส่งตรงจากชาวสวน และผู้ผลิตจากทั่วประเทศไทย มาจำหน่ายบนพื้นที่ของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จัดขึ้นในเดือน ก.ค. 2563 ณ ลานพาร์คพารากอน สยามพารากอน

“เราต้องช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ก่อน เพราะถ้าพวกเขารอด เราก็รอด เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้อีกครั้ง คนไทยต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้” ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์กล่าว

]]>
1281010