ไมเนอร์ – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Fri, 09 Feb 2024 10:02:08 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “MINT” กำไรปี 2566 โตพุ่ง 3 เท่า! กางแผน 3 ปี เข้าโหมด “Asset-light” เน้นรับจ้างบริหารโรงแรม https://positioningmag.com/1462203 Fri, 09 Feb 2024 08:44:41 +0000 https://positioningmag.com/?p=1462203
  • ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ประกาศกำไรสุทธิปี 2566 ทำสถิติใหม่ที่ 7,100 ล้านบาท เติบโตถึง 3 เท่าจากปีก่อนหน้า ธุรกิจ “โรงแรม” ทำรายได้แซงหน้าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด นักท่องเที่ยวระดับบนยินดีใช้จ่าย
  • ปี 2567 เตรียมงบลงทุน 10,000-13,000 ล้านบาท เน้นการอัปเกรด/รีโนเวตโรงแรม 28 แห่ง มั่นใจปีนี้การท่องเที่ยวบูมต่อเนื่องหลังยอดจองห้องพักไตรมาสแรกยังเติบโต วางเป้ากำไรสุทธิเติบโตอีก 15-20%
  • แผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า วางเป้าเปิดโรงแรมเพิ่ม 200-500 แห่ง และเปิดร้านอาหารเพิ่ม 1,000 สาขา แต่จะเติบโตด้วยรูปแบบ “Asset-light” เน้นการทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรม และขายแฟรนไชส์ร้านอาหาร มากกว่าการลงทุนเอง
  • “ดิลลิป ราชากาเรีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ “ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ร่วมกันประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 ของบริษัท ทำกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ 7,100 ล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเติบโตขึ้น 3 เท่าจากปีก่อนหน้า

    ผลการดำเนินงานที่เติบโตสูงเกิดขึ้นจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว โดยตลอดปี 2566 ไมเนอร์ โฮเทลส์ มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) สูงขึ้น 30% จากปี 2565 และสูงขึ้น 31% หากเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ในฟากธุรกิจร้านอาหารของ ไมเนอร์ ฟู้ด มียอดขายรวมทุกสาขาสูงขึ้น 11% จากปี 2565

    “ดิลลิป ราชากาเรีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

    “ธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2566 พิสูจน์แล้วว่าเป็นธุรกิจที่สามารถต้านแรงเสียดทานจากภาวะเงินเฟ้อ เพราะเรามีการปรับราคาห้องพักเพิ่มตามต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็ยังจองห้องพักเข้ามา” ดิลลิปกล่าว “ทำให้การดำเนินงานเราดีขึ้นทั้งอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) และราคาห้องพัก แม้แต่การใช้จ่ายในโรงแรมก็ปรับเพิ่มขี้นด้วย สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าพร้อมจะใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางถึงลักชัวรีที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย”

     

    ปี 2567 ลงทุนอัปเกรดโรงแรม – วางเป้ากำไรโตอีก 15-20%

    ดิลลิปกล่าวต่อถึงสถานการณ์ปี 2567 เชื่อมั่นว่าตลาดท่องเที่ยวจะดีต่อเนื่อง วัดจากรายได้ห้องพักในเดือนมกราคมที่ผ่านมาและยอดจองห้องพักล่วงหน้าในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม รวมแล้วในตลาดประเทศไทยมียอดที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 39% และในตลาดยุโรปก็ยังเติบโต 20%

    สำหรับการลงทุนปีนี้ MINT มีงบลงทุน 10,000-13,000 ล้านบาท โดยแบ่ง 70% จะลงทุนในกลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์ และอีก 30% ลงทุนในกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด

    “Sizzler” แบรนด์ที่ไมเนอร์ฯ ได้สิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามาเมื่อปี 2566

    กลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์ จะเน้นไปที่การอัปเกรดและรีโนเวตโรงแรมให้ดีขึ้น แผนเบื้องต้นจะรีโนเวตโรงแรม 28 แห่ง จำนวนห้องพัก 4,700 ห้อง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมแบรนด์ NH Hotel ในทวีปยุโรปที่ต้องการปรับปรุงเพื่อให้เรียกราคาค่าห้องพักได้สูงขึ้น นอกจากนี้ จะเป็นงบต่อเนื่องเพื่อก่อสร้างโรงแรมใหม่ให้เสร็จ เช่น อนันตรา อูบุด บาหลี รีสอร์ต ประเทศอินโดนีเซีย ที่สร้างค้างไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 บริษัทตั้งเป้าที่จะเปิดบริการให้ได้ภายในปีนี้

    ส่วนกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด เงินลงทุนส่วนใหญ่จะนำไปปรับปรุงแบรนด์ร้านอาหาร โดยเฉพาะ “Sizzler” ที่บริษัทได้เป็นเจ้าของแบรนด์ผ่านการเข้าซื้อกิจการบริษัท Singco Trading Pte. Ltd. เมื่อปีก่อน รวมถึงจะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เช่น “แดรี่ควีน” ที่มุ่งผลักดันการเติบโต 10 เท่าในอินโดนีเซีย หรือ “GAGA” ร้านชาไข่มุกที่จะผลักดันเข้าไปเปิดตลาดอินโดนีเซียเช่นกัน รวมถึงไมเนอร์ ฟู้ด มีแผนที่จะรุกเข้าสู่ตลาดใหม่ที่ “อินเดีย” จับโอกาสในประเทศที่มีประชากรสูงอันดับ 2 ของโลก

    ดิลลิปคาดว่าปี 2567 น่าจะยังเป็นปีทองของ MINT ต่อไปจากสัญญาณการท่องเที่ยวที่ยังเป็นขาขึ้น จึงตั้งเป้ากำไรสุทธิเติบโตอีก 15-20% ในปีนี้

     

    แผนธุรกิจ 3 ปี “Asset-light” ลดหนี้สิน

    ด้านแผนธุรกิจ 3 ปีของ MINT ดิลลิปวางแผน 3 หัวข้อใหญ่ ดังนี้

    1. ขยายพอร์ตธุรกิจ
      – กลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์​ ตั้งเป้าเปิดโรงแรมเพิ่ม 200-500 แห่ง รวมเป็น 780 แห่งในอนาคต
      – กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด ตั้งเป้าเปิดร้านอาหารเพิ่ม 1,000 สาขา รวมเป็น 3,700 สาขาในอนาคต
    2. แนวทางการลงทุนแบบ “Asset-light” ถือสินทรัพย์ด้วยตนเองน้อยลง โดยในกลุ่มโรงแรมจะเน้นการทำสัญญารับจ้างบริหาร ซึ่งจะทำให้พอร์ตในอนาคตมีโรงแรมภายใต้สัญญาจ้างบริหารเพิ่มเป็น 40-50% จากปัจจุบันมีเพียง 18% ขณะที่กลุ่มร้านอาหารเป็นการทำสัญญาแฟรนไชส์เป็นหลัก
    3. ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือ 0.8 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.0 เท่า โดยตั้งเป้าบรรลุผลภายในสิ้นปี 2567 เพื่อให้กำไรของบริษัทเติบโตได้ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง
    MINT
    โรงแรม NH Paris Gare de l’Est ในเครือไมเนอร์ฯ

    ทั้งนี้ ดิลลิปขยายความแผนการ “Asset-light” ว่า บริษัทจะยังมีการลงทุนโรงแรมเองอยู่บ้าง แต่จะลงทุนเฉพาะในโครงการที่ได้ผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สูงน่าพอใจและมั่นใจในตลาด ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในตลาดแถบเอเชีย เช่น ไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ขณะที่การรับจ้างบริหารมีศักยภาพแข่งขันทำสัญญามากขึ้นเมื่อบริษัทมีพอร์ตแบรนด์โรงแรมหลากหลายให้เลือก ส่วนใหญ่คาดว่าจะได้ทำสัญญาในตลาดกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และจีน

    “เราไม่กังวลเรื่องเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวเท่าไหร่นัก” ดิลลิปกล่าว “แต่ที่กังวลคือเรื่อง บุคลากรเพราะมีคนออกจากอุตสาหกรรมไปตั้งแต่ช่วงเกิดโรคระบาด จนตอนนี้จะต้องมีการเทรนนิ่งคนให้พร้อมต้อนรับแขกเข้าพัก ยิ่งในอีก 3 ปีเมื่อเรามีโรงแรมเพิ่มอีก 200-500 แห่งจะยิ่งต้องการคน และคนต้องเข้าใจการบริการในแต่ละแบรนด์ของเราด้วย”

    ]]>
    1462203
    Sizzler ลดราคาเมนู Plant-based ดึงลูกค้ามาลองชิม ปรับรสชาติให้เป็น ‘สไตล์ไทย’ มากขึ้น https://positioningmag.com/1356091 Mon, 11 Oct 2021 09:38:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1356091 เผชิญกับความท้าทายไม่มีหยุดกับ ‘Sizzler’ ร้านอาหารที่มีจุดเด่นเรื่องบรรยากาศไดน์อิน ที่ต้องเจอมรสุมการล็อกดาวน์ซ้ำเเล้วซ้ำเล่า

    การผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ เป็นโอกาสทองที่ต้องรีบคว้า ทั้งอัดเเคมเปญโปรโมชั่น พร้อมทั้งหา เเนวทางใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ ดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาเข้าร้านในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ชดเชยรายได้ที่หายไป

    หนึ่งในนั้นก็คือ การลุยตลาด ‘Plant-based’ เนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช อย่างเต็มที่ ตามเทรนด์กระเเสนิยมมาเเรงทั่วโลก ซึ่งหลังจากที่ Sizzler ชิมลางวางขายมาตั้งเเต่ปลายปี 2562 ก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคคนไทย เเละก็ถึงเวลาต่อยอด ขยายไปให้มากขึ้นกว่าเดิม

    Sizzler ปล่อยเมนู Plant-based ออกมาใหม่ทุกๆ 6 เดือน เฉลี่ยซีซั่นละ 3 เมนู (รวมๆ ที่ผ่านมามีประมาณ 12 เมนู) เเละล่าสุดตอนนี้ก็มีการเปิดตัว 2 เมนู Plant-Based มาลงเมนูประจำรับไดน์อินและเดลิเวอรี่

    เเต่จุดเด่นครั้งนี้เเตกต่างไปจากเดิม นั่นคือการได้เรียนรู้ถึงวิธีปรุงรสชาติ Plant-based ให้ถูกปากคนไทย จึงมีการปรับเมนูเป็นสไตล์ไทยมากขึ้น พร้อมปรับลดราคาลงมา ซึ่งยังไม่ค่อยมีเชนร้านเฮลท์ตี้เฮาส์ในไทยทำ
    เเนวนี้กันมากนัก

    เทรนด์อาหารเเห่งอนาคต ที่โตไม่หยุด

    เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น ยิ่งเกิดโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งทำให้พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่ง Plant-based Food ก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปเต็มๆ

    การเติบโตของตลาดอาหาร Plant-based ทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

    ส่วนตลาดในประเทศไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคอาหาร Plant-based เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

    จากข้อมูลของ Krungthai COMPASS พบว่า ในปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และยังคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เลยทีเดียว

    กรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือ บมจ. เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ผู้บริหาร ซิซซ์เล่อร์ เล่าว่า ตลาด Plant-based เติบโตขึ้นมาก ทั้งในส่วนฐานผู้บริโภคเเละบรรดาเหล่าผู้ผลิต โดยที่ผ่านมา มักมีผู้ผลิตมาเสนอเป็นพาร์ทเนอร์กับ Sizzler เพียง 2-3 ราย เเต่ตอนนี้มีมากกว่า 10 ราย

    ปัจจุบันเเบรนด์ Sizzler เลือกจับมือกับ บียอนด์ มีทและกรีนมันเดย์ ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดโลก เเต่ก็คอยมองหาซัพพลายเออร์รายอื่นๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในไทย

    สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เเบรนด์ Sizzler ต้องการจะขยายเจาะตลาดเมนู Plant-based ได้เเก่

    • กลุ่มคนที่ทานวีแกน เเละ Plant-Based อยู่เเล้ว ถ้ามาทานที่ร้านก็สามารถสั่งเมนูสเต๊กได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องไปทานเเต่สลัดบาร์อีกต่อไป
    • กลุ่มคนที่ทานเมนูปกติทั่วไป ที่อยากลองทานเมนู Plant-based หรือคนที่อยากดูเเลสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการรักษ์โลก ต้องการทานวีเเกนประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

    Sizzler ตั้งเป้าว่าในปี 2565 เมนู Sizzler จะสามารถสร้างรายได้เติบโตราว 30%” 

    เมนูไทยๆ เเถมปรับราคาลง 

    ตามที่เกริ่นไปข้างต้นว่า Sizzler ได้ปรับเมนู Plant-based ให้เป็นถูกปากคนไทยมากขึ้น เห็นได้ชัดผ่านเมนูใหม่ที่เปิดตัวใน 30 สาขา ได้เเก่

    ออมนิมีท ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว เมนูลาบทอดจากโปรตีนพืชในสไตล์ไทย ๆ กับรสชาติเเซ่บๆ แบบฉบับอีสานแท้ ในราคา 299 บาท เเละยังเสิร์ฟเป็นเมนูทานเล่นที่ลูกค้าสามารถสั่งแยกมารับประทานระหว่างรออาหารจานหลักได้ในราคา 99 บาท รวมถึงสั่งเดลิเวอรี่ไปลิ้มลองได้ถึงที่อีกด้วย

    สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา เป็นสเต๊กเนื้อที่ไร้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม สไตล์เม็กซิกัน ราดด้วยกัวคาโมเล่ที่ทำจากอะโวคาโดบด และซัลซา รวมถึงเผือกทอดด้านบนสุด ในราคา 399 บาท ซึ่งรสชาติที่เผ็ด เปรี้ยว หวาน ลงตัวน่าจะถูกใจคนไทยเช่นเดียวกัน

    เเละเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาลองเมนู Plant-based กันมากขึ้น Sizzler ใช้กลยุทธ์ “ปรับลดราคาของเมนู Plant-based” ลงมาเรื่อยๆ เช่น ในช่วงเริ่มต้นประเดิมราคาที่ 439-479 บาท ในปีที่เเล้วปรับลงมาเป็น 329-399 บาท เเละล่าสุดตอนนี้คือมีราคาเฉลี่ยเริ่มต้นตั้งแต่ 99 – 399 บาท นับเป็นการปูทางสร้างความคุ้นเคยในระยะยาว มีเมนูหลากหลายสไตล์ตลอดทั้งปี ขยายฐานลูกค้าเป็นร้อยเป็นพันคนให้ได้

    นอกจาก ลดราคาเเล้ว ในบางโอกาสก็จะมีการนำเนื้อ Plant-based ไปลองใส่ในเมนูสลัดบาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ลองชิมอย่างกว้างขวางขึ้นด้วย

    -สเต๊ก บียอร์น กัวคาโมเล่ และซัลซา

    Sizzler สาขาใหม่…สายเล็ก

    วิกฤตโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารได้เรียนรู้ถึงการปรับตัวเร็วเเละการขายโดยเน้นหน้าร้านเพียงอย่างเดียวคือความเสี่ยง

    ปัจจุบัน Sizzler มีฐานลูกค้าทั้งหมดอยู่ราว 8-9 ล้านคน มีร้านทั้งหมด 54 สาขาทั่วประเทศไทย กลับมาเปิดให้บริการเเล้วเกือบทั้งหมด (ยังปิดชั่วคราวอยู่ 1 สาขา) โดยภายในสิ้นปีนี้ หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น ทางเเบรนด์ยังมีเเผนจะขยายสาขาใหม่ตามเดิม อีก 5 สาขา เเบ่งเป็น 3 สาขาใหม่ เเละอีก 2 สาขาเป็นการย้ายสถานที่เเต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดิม 

    ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ต่อจากนี้ร้านใหม่ของ Sizzler จะมีขนาด ‘เล็กลง’ จากเดิมที่สาขาใหญ่ๆ เคยกว้างขวางถึง 600 ตร.ม. ลดลงเหลือราว 300-280 ตร.ม. ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สั่งเดลิเวอรี่กันมากขึ้น เเละอีกด้านหนึ่งก็คือการที่ห้างสรรพสินค้าต้องการจัดสรรพื้นที่ให้หลากหลาย เพื่อดึงดูดลูกค้า ที่ตั้งของร้านต่างๆ จึงมีขนาดเล็กลง เเต่ภายในห้างฯ จะมีเเบรนด์ให้เลือกมากขึ้น

    สานต่อโมเดล to go พร้อมขยายเดลิเวอรี่ 

    ด้านโมเดล Sizzler to go เจาะกลุ่มคนเดินทาง ที่ต้องสะดุดเพราะวิกฤตโควิดหลายรอบ หลังคลายล็อกดาวน์รอบนี้ก็ดูเหมือนจะมีความหวังอีกครั้ง เเต่ยังไม่มีเเผนจะขยายสาขาเพิ่มในปีนี้ ปีหน้าเมื่อการเดินทางกลับมา ก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดี (ตอนนี้มีอยู่ 5 สาขาในกรุงเทพฯ) เพราะเป็นการขยายตลาดเข้าหาผู้บริโภคที่ต้องการความง่าย รวดเร็วเเละต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ เเถมยังมีขนาดเล็กลง ตามเเนวทางของเเบรนด์

    ร้าน Sizzler To Go สาขาล่าสุดที่เปิดในโรงพยาบาลกรุงเทพ ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่แบรนด์ตั้งใจจะขยายไปในพื้นที่ใหม่ ซึ่งจะมีการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในลักษณะนี้อีกต่อไป

    ส่วนฝั่งของ ‘เดลิเวอรี่’ นั้น ผู้บริหาร Sizzler บอกว่า มีการเติบโตถึง 3 เท่าจากช่วงก่อนโควิด ซึ่งตอนนี้สัดส่วนการขายออนไลน์สูงถึง 15-20% เเล้ว ถือว่ามากเเละเร็วกว่าที่คิดไว้ถึง 2-3 ปี โดยมียอดสั่งซื้อเฉลี่ยราว 500 บาทต่อบิล

    “ยอมรับว่าปีนี้หนักกว่าปีที่เเล้วมาก เพราะโดนล็อกดาวน์นานกว่า เเต่พอเปิดให้นั่งทานที่ร้านได้ ลูกค้ากลับมาเร็วกว่าเพราะหลายคนอัดอั้น อยากออกมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี โดยทิศทางธุรกิจปีหน้าคงจะดีขึ้นตามลำดับ หลังมีการกระจายวัคซีนเเละเริ่มเปิดเมืองอีกครั้ง”

    โดย Sizzler จะมี ‘บิ๊กโปรเจ็กต์’ ที่สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกหน้าหน้าใหม่ในมุมที่เเตกต่าง โดยกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเปิตตัวได้เร็วที่สุดในช่วงกลางปีหน้า เเต่จะเป็นอะไรนั้น ทางผู้บริหารบอกว่าขออุ๊บไว้ก่อน…ต้องติดตามกันต่อไป 

     

    ]]>
    1356091
    “สเวนเซ่นส์” พลิกเกม! ปรับภาพมากกว่าไอศกรีม ขอครอบจักรวาล “ของหวาน” https://positioningmag.com/1285227 Thu, 25 Jun 2020 16:56:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285227 การปรับตัวครั้งใหญ่ของ “สเวนเซ่นส์” แบรนด์ไอศกรีมในเครือไมเนอร์ฟู้ดฯ ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์จากแค่ร้านไอศกรีม แต่ขอเป็น Dessert Destination มีเมนูของหวานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ดันยอดขายเดลิเวอรี่ กระตุ้นการทานที่บ้านมากขึ้น

    ไม่ได้มีแค่ไอติม แต่ต้องครอบจักรวาลของหวาน

    ถ้าพูดถึงแบรนด์ “สเวนเซ่นส์” เป็นแบรนด์ไอศกรีมที่ทำตลาดในไทยมายาวนานนับ 20 ปี อยู่ในตระกูล 1112 ของเครือไมเนอร์ฟู้ด จุดยืนของสเวนเซ่นส์ก็คงหนีไม่พ้นความเป็นร้านไอศกรีม มีแต่เมนูไอศกรีมก็สามารถสร้างความแข็งแกร่งได้แล้ว แต่ต้องบอกว่าแค่ไอศกรีมคงไม่เพียงพอแล้วในการแข่งขันยุคปัจจุบัน…

    จุดเปลี่ยนของตลาดมีหลายอย่างด้วยกัน ทั้งคู่แข่งที่เข้ามามากหน้าหลายตา เกิดร้านขนมหวาน ร้านคาเฟ่ใหม่ๆ มากขึ้น กระแสโซเชียลมีเดียทำให้หลายคนอยากไปลองทานร้านขนมใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไป ชอบทดลองของใหม่ๆ เบื่อง่าย ชอบแชะ ชอบแชร์ลงโซเชียลด้วย

    swensens

    แน่นอนว่าการเกิดของร้าน After You ขนมหวานแนวใหม่ หรือร้านบิงซูต่างๆ ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สเวนเซ่นส์ไม่น้อย

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นการเดินเกมของสเวนเซ่นส์ที่มีการปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้มีมูฟเมนต์มากขึ้น ไม่ได้มีแค่เมนูไอศกรีม สร้างความแปลกใหม่ด้วยเมนูแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำ ได้แก่ บิงซู, ฮันนี่โทสต์, ไอศกรีมพาย, บิงซูดริ้งก์, บิงซูเค้ก, ไอศกรีมแท่ง ไปจนถึงขนมปังช็อกโกแลตหน้านิ่ม และขนมปังเนยโคตรโสด

    อนุพนธ์ นิธิยานันท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด เริ่มเล่าว่า

    “ตลาดไอศกรีมอยู่มานานมาก ตอนนี้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งคาเฟ่เล็กๆ แบรนด์ใหญ่ๆ  คนที่สายป่านไม่ดีก็ล้มหายตายจากไป เหลือแบรนด์ที่มีศักยภาพอยู่ ความท้าทายอยู่ที่ต้องทำยอ่างไรให้ลูกค้ามาร้านถี่มากขึ้น มีความตื่นเต้นขึ้น”

    สเวนเซ่นส์ได้วาง Positioning ในตอนนี้ว่า ขอเป็น Dessert Destination โดยที่มีไอศกรีมเป็นเมนูหลัก ทำให้ลูกค้านึกถึงของหวาน จะต้องนึกถึงสเวนเซ่นส์ นั่นคือจะต้องมีเมนูที่ครอบคลุม แต่มีไอศกรีมเป็นหัวใจหลักนั่นเอง

    ที่มาของแนวคิดนี้มาจากที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ส่วนใหญ่มาเดินศูนย์การค้ากันเป็นกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว แต่พบว่าในกลุ่มนึงจะมีความสนใจต่างกัน บางคนอยากทานไอศกรีม บางคนอยากทานโทสต์ บางคนอยากทานบิงซู สเวนเซ่นส์จึงต้องขยายโปรดักต์ให้หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่

    กลุ่มเด็กจะชอบทานเมนูซันเดย์ที่เป็นเมนูขายดี วัยรุ่น คนรุ่นใหม่จะชอบเมนูใหม่ๆ อย่างบิงซู และผู้ใหญ่จะชอบทานเป็นไอศกรีมเป็นสกู๊ป จับให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย

    เดลิเวอรี่โตพุ่ง กระตุ้นการทานที่บ้าน

    คำว่าเดลิเวอรี่กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะเมื่อเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์การค้าต้องหยุดทำการ ร้านอาหารต้องไปบุกเดลิเวอรี่แทน

    แม้คำว่าไอศกรีม กับคำว่าเดลิเวอรี่จะดูขัดแย้งกันไปหน่อย เพราะเป็นเมนูที่จะต้องทานที่ร้านเท่านั้น ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เพราะมิเช่นนั้นจะละลายเสียก่อน

    แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สเวนเซ่นส์มีการเติบโตในช่องทางเดลิเวอรี่สูงอยู่ตลอด ในเดือนมีนาคมเติบโต 200% เมษายนเติบโต 400% และพฤษภาคมเติบโต 600%

    อนุพนธ์บอกว่า เหตุผลที่มีการเติบโตสูง เพราะมีการทำตลาดช่องทางนี้มาหลายปี และตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้ตั้งวิสัยทัศน์ใหญ่ไว้ว่า “อยากให้ตู้เย็นทุกบ้านมีไอศกรีมสเวนเซ่นส์” ทำตลาดไอศกรีมควอทที่เป็นกระปุกซื้อกลับบ้าน ทำโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 เพื่อกระตุ้นการซื้อ ลูกค้าก็มีการซื้อท็อปปิ้งเพิ่ม เป็นการสร้างโมเมนต์ทานไอศกรีมที่บ้านได้

    แต่เดิมสเวนเซ่นส์จะมีไอศกรีมควอท และเค้กไอศกรีมที่ขายดีในช่องทางเดลิเวอรี่ ในช่วง COVID-19 ได้เพิ่มเมนูซันเดย์ที่เป็นเมนูขายดีประจำร้านเข้าไปเป็นทางเลือก ซึ่งอนุพนธ์บอกว่าท้าทายมาก ในการที่จะทำให้ไอศกรีมซันเดย์สั่งไปที่บ้านแล้วอร่อยเหมือนที่ร้านได้ แต่ก็ดีไซน์ในรูปแบบ DIY ให้ลูกค้าตกแต่งเองได้ ซึ่งซันเดย์มีราคาถูกกว่าควอท เพิ่มโอกาสในการสั่งมากขึ้น มีราคาเริ่มต้นที่ 159 บาท ไอศกรีมควอทราคา 329 บาท และเค้กไอศกรีมราคา 499-855 บาท

    “Pain Point ของการส่งไอศกรีมเดลิเวอรี่คือความคิดของลูกค้า เขาจะกังวลว่าส่งถึงบ้านไอศกรีมจะละลายมั้ย การมาทานที่ร้านยังได้บรรยากาศ ได้บริการ แต่พอเจอ COVID-19 ลูกค้าก็ไม่มีทางเลือก ก็ลองสั่งเดลิเวอรี่”

    พบว่าการสั่งเดลิเวอรี่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าที่ร้าน เพราะลูกค้าบางคนสั่งสต็อกไว้ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 400 บาท/บิล ส่วนนั่งทานที่ร้านยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 215 บาท/บิล

    ในช่วงสิ้นปี 2019 สเวนเซ่นส์มีสัดส่วนรายได้จากเดลิเวอรี่เพียง 5-6% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 20% ยิ่งในช่วง COVID-19 เพิ่มขึ้นไปถึง 50-60% มีการตั้งเป้าว่าอยากได้สัดส่วนอยู่ราว 20% กำลังดีแล้ว เพราะอย่างไรแล้วลูกค้าก็อยากมามีประสบการณ์ที่ร้าน

    24 ชั่วโมงฟีดแบ็กดีจนน่าเซอร์ไพรส์

    สำหรับอีกหนึ่งโมเดลของสเวนเซ่นส์ที่มีการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวนั้น หลังจากเปิดให้บริการมาหลายเดือนก็ได้รับผลตอบรับดี ตอนนี้กำลังจะกลับไปเปิด 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบในต้นเดือนหน้า

    อนุพนธ์เล่าอินไซต์ให้ฟังว่า ตอนแรกคิดว่าใครจะกินไอศกรีมหลังเที่ยงคืน คิดว่าหลัง 4 ทุ่มก็ลดจำนวนพนักงานได้แล้ว แต่กลายเป็นว่าช่วงเวลา 4 ทุ่ม – ตี 1 เป็นช่วงพีคที่สุด มีคิวยาวมากที่สุด กลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการเป็นกลุ่มคนอยู่ในชุมชน รวมถึงนักศึกษา สั่งไอศกรีมแบบถ้วยใหญ่ไม่กลัวอ้วนด้วย

    แต่โมเดล 24 ชั่วโมงนี้ จะยังไม่ขยายสาขาเพิ่ม เพราะต้องขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง และศูนย์การค้าว่ามีการเปิดให้บริการแบบไหน

    ปัจจุบันสเวนเซ่นส์มีทั้งหมด 300 สาขา ในแต่ละปีจะเปิดสาขาไม่เกิน 10 แห่ง ในปีนี้เมื่อมีสถานการณ์ COVID-19 เข้ามา ก็ไม่เปิดสาขามากกว่าปกติ หรือหลายๆ จุดในแห่งเดียว ยกตัวอย่าง บางศูนย์การค้าจะมีหลายสาขา อย่างเช่น เดอะมอลล์บางกะปีจะมี 3 จุด จะมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป เพราะมีทราฟฟิกค่อนข้างเยอะ ชั้น G ส่วนใหญ่จะเป็นแม่ค้าตามร้านต่างๆ ใช้บริการ ชั้น 1 เป็นกลุ่มพนักงานธนาคาร และชั้น 4 เป็นกลุ่มวัยรุ่น คนดูภาพยนตร์

    ]]>
    1285227
    มิติใหม่ของ Sizzler แบบ New Normal สลัดบาร์ที่ต้องสั่งจากพนักงานแทนการตักเอง https://positioningmag.com/1280652 Tue, 26 May 2020 15:53:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1280652 Sizzler เปิดมาตรการความปลอดภัยเมื่อรับประทานอาหารภายในร้าน โดยมีการเปลี่ยนการให้บริการสลัดบาร์จากที่ลูกค้าต้องบริการตัวเอง เป็นการสั่งกับพนักงาน เพื่อลดการสัมผัส พร้อมกับการปรับเมนูให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย

    ลดการสัมผัส ต้องสั่งจากพนักงาน

    หลังจากมีมาตรการคลายล็อกเฟสที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการได้ รวมถึงร้านอาหารภายในศูนย์ด้วย แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัย ซึ่งทำให้แต่ละร้านต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับกับการทำ Social Distancing

    ร้าน Sizzler เป็นอีกหนึ่งร้านที่มี “สลัดบาร์” เป็นไลน์อาหารแบบบุฟเฟต์ ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์ เพราะยังไม่สามารถเปิดไลน์บุฟเฟต์ได้ เนื่องจากมีการสัมผัสภาชนะต่อๆ กัน จึงต้องใช้วิธีการสั่งกับพนักงาน

    กลายเป็นมิติใหม่ของการทานอาหาร ที่ทางร้านเองก็ต้องปรับลดจำนวนโต๊ะ และที่นั่งลง เพราะสามารถรองรับที่นั่งได้สูงสุดแค่ 70 ที่นั่ง จากปกติ 251 ที่นั่ง ให้มีความห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาหารทุกอย่างต้องให้พนักงานเสิร์ฟเท่านั้น

    นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด

    “ในช่วงที่มีการปิดร้านต้องมีการปรับตัวเยอะมาก เพราะรายได้ส่วนใหญ่ 90% มาจากการทานในร้าน แม้เดลิเวอรี่จะเปติบโตแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้เท่าเดิม พอตอนนี้กลับมาเปิดได้อีกครั้ง ก็ต้องมีการปรับทุกขั้นตอนใหม่หมด ต้องทำตั้งแต่ในครัว เปลี่ยนถุงมือ การทำความสะอาด มีบิ๊กคลีนนิ่งทุกวัน ทำความสะอาดโต๊ะ และเมนูอยู่ตลอด”

    การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ สลัดบาร์ที่ต้องให้พนักงานเป็นคนตักให้ โดยทางร้านจะวางกระดาษเมนูไว้บนโต๊ะ ให้ลูกค้าเลือกสิ่งที่ต้องการ แล้วพนักงานจะตัมาเสิร์ฟให้ที่โต๊ะ แน่นอนว่าลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกแปลกๆ ไปบ้าง เพราะเวลาตักเองจะสามารถกะปริมาณ และเลือกสิ่งที่ชอบได้ตามใจ

    “สลัดบาร์เป็นความท้าทายที่สุดของช่วงนี้ จะมีการปรับปรุงเรื่อยๆ ในตอนแรกจะตั้งไลน์สลัดในครัว แล้วตักมาให้ลูกค้า แต่วันต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนมาวางที่บาร์ ช่วงแรกมีปัญหาเรื่องการเสิร์ฟช้าบ้าง แต่ 80 90% ของลูกค้าก็พอใจ ยังมีประมาณ 5% ที่รู้สึกไม่อิสระ อยากได้อย่างอื่นเพิ่ม หรืออยากทานตามสูตรตัวเอง มีการเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ”

    เมนูสลัดบาร์จะมีการปรับลดลงไปบ้าง เพราะต้องมีการจัดการสต๊อก จากปกติมี 50 รายการ แต่ตอนนี้มี 30 รายการ แต่เป็นการเลือกจากเมนูที่ลูกค้าชอบมากที่สุด นงชนกได้บอกว่า อาจจะมีการเพิ่มเรื่อยๆ ได้จากการรีเควสของลูกค้าที่อยากได้อันนี้บ้าง อยากเพิ่มอันนี้บ้าง

    ปรับเมนูให้เหมาะกับสถานการณ์

    ในช่วงปีที่ผ่านมา Sizzler ได้พยายามปรับตัวหลายๆ อย่าง ทั้งเมนูที่ต้องทันกับความต้องการชองผู้บริโภคในยุคนี้ มีทั้งเมนู Plant-based Food ที่ทำจากพืช และมีการออกเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างจุดยืนให้เป็นแบรนด์เฮลท์ตี้มากขึ้น

    แต่ในช่วงที่มีการปิดร้านเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ ทางร้านก็ได้หันไปโฟกัสที่ตลาดเดลิเวอรี่มากขึ้น และจัดเมนูเพื่อสร้างความคุ้มค่ามากขึ้น และเมื่อเปิดร้านใหม่ก็ได้จัดโปรโมชั่นราคาพิเศษ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่ามากขึ้น

    “ช่วงที่ปิดร้านเราไม่ได้อัดโปรโมชั่นมากมาย แต่โฟกัสที่เดลิเวอรี่ ต้องการให้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพราะบางคนรายได้ลดลง ได้ลดราคาสลัดบาร์เหลือ 139 บาททุกวัน เอาเมนูโปรโมชั่นถูกมาลดอีก และแถมโค้กอีก เราไม่เคยเอาปลากะพงทำเมนูโปรโมชั่น แต่ครั้งนี้เราทำ แถมโค้กรีฟิวอีก ทำให้มื้อนึงคุ้มมาก อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่ามาทานแล้วคุ้มค่า”

    ทาง Sizzler ก็ได้ดีไซน์เซ็ตเมนูสำหรับเดลิเวอรี่ ที่ทานได้ 1-2 คน มีทั้งสลัด เซตข้าว และซุป กลายเป็นเซ็ตขายดีสำหรับเดลิเวอรี่ พร้อมกับย้ำว่าไม่มีการขึ้นราคาสินค้าอย่างแน่นอน บางเมนูมีการปรับราคาลงด้วย

    แบรนด์จะอยู่ได้ ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรง

    หลังจากที่ศูนย์การค้า และร้านอาหารกลับมาเปิดอีกครั้ง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ต้องมีวิถีชีวิตใหม่จนกว่าจะมีวัคซีนในการรักษา COVID-19 อย่างจริงจัง ทำให้ร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น

    นงชนกบอกว่า ความท้าทายต่อจากนี้คือ เรื่องจุดยืนของแบรนด์ ที่ Sizzler ได้ชูความเป็นเฮล์ทตี้แบรนด์ ต้องทานแล้วสุขภาพดี ราคาคุ้ม และต้องอร่อย เป็นโจทย์ที่สำคัญ

    “ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง แบรนด์ที่จะอยู่ได้ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรง คนจะกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้น เริ่มมองหาอะไรที่ดีต่อสุขภาพ หรืออะไรที่ทำให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทาน เขาจะเลือกทานสิ่งนั้น เรามีอาหารประเภทนั้นอยู่แล้ว ก็ต้องทำให้มีมูลค่า ทำให้แบรนด์ยังอยู่กับลูกค้า อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี บรรยากาศที่ดี ในราคาที่จ่ายได้” 

    แม้ศูนย์การค้าจะเปิดตามปกติแล้ว แต่รายได้ยังคงไม่เท่าเดิม เพราะคนเดินห้างยังน้อย และจำนวนโต๊ะก็น้อยลง ทำให้ Sizzler ก็ยังคงต้องผลักดันตลาดเดลิเวอรี่ต่อ จากปัจจับันมีสัดส่วนรายได้ 10% ต้องการมีสัดส่วน 30%

    ในส่วนของการลงทุน Sizzler ยังมีแผนขยายสาขาในโมเดล Sizzler to go เป็นโมเดลขนาดเล็ก ในเดือนมิถุนายนจะขยายเพิ่มอีก 4 สาขา เน้นทำเลบนสถานีรถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน เพราะมองโอกาสของตลาด Grab & Go ที่จะเติบโตสูงมากขึ้น

    ]]>
    1280652