KFC – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 17 Sep 2024 08:03:17 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 “ไก่ทอด” สมรภูมิสุดหินที่แม้แต่ “Texas Chicken” ยังต้องโบกมือลา https://positioningmag.com/1490278 Mon, 16 Sep 2024 10:34:09 +0000 https://positioningmag.com/?p=1490278 ช็อกวงการร้านอาหารเมื่อ “Texas Chicken” ประกาศ “ปิดตัว” ทุกสาขาในวันที่ 30 กันยายน 2567 ทั้งที่ยืนหยัดอยู่ในไทยมานานได้ถึง 9 ปี เคยมีสาขาสูงสุดมากกว่า 100 สาขา และผู้นำเข้ามาสเตอร์แฟรนไชส์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PTTOR

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR เป็นผู้นำเข้ามาสเตอร์แฟรนไชส์ร้านไก่ทอดชื่อดังจากสหรัฐฯ อย่าง “Texas Chicken” (เท็กซัส ชิคเก้น) มาเปิดตัวในไทยเมื่อปี 2558 สาขาแรกบุกเข้าศูนย์การค้าทันทีที่ “เซ็นทรัล เวสต์เกต” ก่อนจะขยายสาขาไปทุกทำเลทั้งสแตนด์อะโลนและในสถานีน้ำมัน PTT เอง

การมาของ Texas Chicken ถูกมองว่าจะมาเป็นผู้เล่นรายใหม่ท้าชิงบัลลังก์ “ไก่ทอด” จาก KFC (เคเอฟซี) ซึ่งเป็นเจ้ายุทธภพไก่ทอดฟาสต์ฟู้ดเมืองไทยมาตลอด ด้วยลักษณะร้านเป็นฟาสต์ฟู้ดที่มีเมนูหลักคือไก่ทอดเหมือนกัน ต้นตำรับมาจากสหรัฐฯ เหมือนกัน และผู้นำเข้าแฟรนไชส์ก็ใหญ่ไม่แพ้กัน

ตัวอย่างเมนูใน Texas Chicken

โดยจุดเด่นในเมนูของ Texas Chicken ที่ผู้บริโภคชาวไทยยอมรับร่วมกันไม่ใช่ไก่ทอด แต่กลับเป็น “บิสกิต”​ ของหวานตัวเด็ดของร้าน ดังขนาดที่เมื่อร้านประกาศจะเลิกจำหน่ายบิสกิตเมื่อเดือนมกราคม 2566 เกิดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจนร้านต้องพิจารณาใหม่ และตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นเมนู “มินิบิสกิต” ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม Texas Chicken น่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่บริษัทต้องการ เพราะจำนวนสาขาเริ่มลดลง โดยเมื่อปี 2565 เคยมี 107 สาขา มาถึงสิ้นปี 2566 ลดลงมาเหลือ 100 สาขา ครึ่งปีแรก 2567 เหลือ 97 สาขา กระทั่งในเดือนกันยายน 2567 เหลือเพียง 72 สาขา

KFC เจ้าแห่ง “ไก่ทอด”

ฟากเจ้าตลาดอย่าง “KFC” นั้นมีสาขาทะลุ 1,000 สาขาไปแล้ว (*รวมทั้ง 3 เจ้าของแฟรนไชส์) ทำให้ได้เปรียบสุด ๆ ในแง่ของโลเคชั่นร้านที่ครอบคลุมทั่วไทย ไปที่ไหนก็ต้องเจอฟาสต์ฟู้ดเจ้านี้

“ปิยะพงศ์​ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ของ บมจ.เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) หนึ่งในผู้ถือแฟรนไชส์ KFC เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ตลาดร้านอาหารแบบ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยนั้นมีมูลค่าตลาดราว 45,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ประเภทร้านอาหารหลัก ๆ คือ ไก่ทอด เบอร์เกอร์ และพิซซ่า

แต่ร้าน “ไก่ทอด” คือฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในตลาดนี้ เพราะมีมูลค่าตลาดถึงปีละ 27,000 ล้านบาท

KFC
KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว สาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดเมื่อปี 2527 กับการรีโนเวตใหม่ในสไตล์เรโทรเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี

แน่นอนว่าเจ้าตลาดรายใหญ่ที่สุดคือ KFC ซึ่งปิยะพงศ์วิเคราะห์แบรนด์ในมือตัวเองไว้ว่า ที่รักษาแชมป์ไก่ทอดมาได้นาน 4 ทศวรรษ นอกจากเรื่องสาขาเยอะแล้ว ยังเป็นเพราะการทำราคาให้เข้าถึงง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับร้านอาหารประเภทอื่นหรือแบรนด์อื่น รวมถึงการทำการตลาดต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์คงภาพลักษณ์วัยรุ่นได้เสมอมา มีผลต่อการดึงดูดผู้บริโภคหลักของฟาสต์ฟู้ด

ไม่ใช่เจ้าแรกที่ม้วนเสื่อ

Texas Chicken ไม่ใช่เจ้าแรกที่มาชิงบัลลังก์ไก่ทอด เพราะที่ผ่านมามีผู้เล่นขอเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด “ไก่ทอด” จาก KFC อยู่เนือง ๆ ทั้งในลักษณะร้านขายไก่ทอด และการมีเมนูไก่ทอดเข้ามาเสริมทัพในร้าน

ยกตัวอย่างเช่น ปี 2557 เครือปิ้งย่าง “บาร์บีคิวพลาซ่า” เคยได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์นำเข้าไก่ทอด “Hot Star” (ฮ็อท สตาร์) แบรนด์ดังจากไต้หวันมาเปิดที่เมืองไทยสาขาแรกที่เอ็มควอเทียร์ ความโด่งดังจากปากนักท่องเที่ยวไทยที่เคยไปเยือนไต้หวันทำให้ไก่ทอด Hot Star เป็นกระแสทันที มีคนต่อคิวยาวชนิดที่เรียกว่า ‘ล้นห้างฯ’

ไก่ทอด
ไก่ทอด Hot Star มีจุดเด่นเป็นไก่ทอดขนาด XXL ‘ใหญ่เท่าหน้า’

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สืบค้นข้อมูลได้ไก่ทอด Hot Star สามารถขยายไปได้เพียง 6 สาขา และเมื่อถึงปี 2561 ก็ไม่พบสาขาที่ยังเปิดอยู่ โดยความคิดเห็นในโลกโซเชียลมองว่าที่ไก่ทอด Hot Star ยังไม่สามารถชนะใจคนไทยได้นั้น เป็นเพราะรสชาติยังไม่ถูกปาก และราคาที่ค่อนข้างจะสูง

จับตาไก่เกาหลี GUGU Chicken

แม้บริษัทใหญ่จะลาสมรภูมิ แต่มีแบรนด์น้องใหม่รายหนึ่งที่กำลังสู้อยู่เงียบ ๆ แบรนด์นั้นคือไก่เกาหลี “GUGU Chicken” (กูร์ กูร์ ชิคเก้น) เป็นร้านไก่ทอดเกาหลีฟาสต์ฟู้ดภายใต้ บริษัท เจ คอนเซ็พท์ จำกัด โดยนักธุรกิจเกาหลีมาก่อตั้งแบรนด์นี้ในไทย

GUGU Chicken เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2563 และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนขณะนี้มีถึง 35 สาขา เน้นคอนเซ็ปต์ไก่ทอดสไตล์เกาหลีที่จะมีซอสให้เลือกหลายแบบ และมีเมนูเกาหลีอื่น ๆ ในร้าน เช่น ซุป ราเมน เครื่องเคียงต่าง ๆ

ไก่ทอด
GUGU Chicken ไก่ทอดสไตล์เกาหลี

ด้วยกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่เหนียวแน่นมากในไทย ทำให้มีไก่ทอดเกาหลีหลายร้านพยายามทำตลาด ทั้งในลักษณะร้านแบบฟูลเซอร์วิสอย่าง “Bonchon” (บอนชอน) จนถึงร้านลักษณะฟาสต์ฟู้ดแบบ GUGU Chicken

ไม่แน่ว่าร้านไก่ทอดที่ฉีกแนวออกไปแบบไก่เกาหลี อาจจะเป็นคำตอบในการเข้ามาชิงเค้กในตลาดไก่ทอดจากมือ KFC ได้บ้างก็ได้!

]]>
1490278
กำลังซื้อต่ำทำพิษ! “KFC” ในมือ “CRG” ลดเป้าการเติบโตปี 2567 เหลือ 7-8% https://positioningmag.com/1476479 Tue, 04 Jun 2024 07:09:47 +0000 https://positioningmag.com/?p=1476479
  • KFC ภายใต้ CRG ปรับลดเป้าการเติบโตปี 2567 เหลือ 7-8% สาเหตุจากกำลังซื้อลดลง แต่ตัวเลือกร้านอาหารใหม่ๆ มีมากขึ้น
  • ลงทุนเปิด 23 สาขาใหม่ และรีโนเวต 35 สาขา ไฮไลต์ “สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว” ฉลองครบรอบ 40 ปี KFC ในไทย ปรับคอนเซ็ปต์เป็นสไตล์เรโทร พร้อมเปิดโมเดลใหม่ “Grab & Go” ร้านแบบไม่มีที่นั่งในสถานีรถไฟฟ้า
  • “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี (KFC) ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยการดำเนินธุรกิจของ KFC ในมือ CRG เมื่อปี 2566 ทำรายได้ไป 7,050 ล้านบาท

    ขณะที่ปี 2567 คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 7-8% ถือเป็นการปรับลดเป้าหมายจากช่วงต้นปีที่ประเมินว่าจะเติบโต 11% หากวัดเฉพาะการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) คาดว่าปีนี้จะเติบโตประมาณ 4% ลดลงจากปีก่อนที่ทำได้ 6%

    เหตุผลการเติบโตที่ลดลงกว่าที่คาดไว้ เพราะกำลังซื้อชาวไทยหดตัวลง แต่ตัวเลือกร้านอาหารใหม่ๆ มีมากขึ้น ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีกำแพงในการเข้ามาเปิดธุรกิจน้อย

    “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี (KFC) ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)

    ส่วนภาพรวมตลาดร้านอาหารประเภทจานด่วน (Quick Service Restaurant: QSR) มูลค่าตลาดประมาณ 45,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะโต 3% เท่านั้น

    แต่ถ้าวัดเฉพาะกลุ่มร้านไก่ทอดที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งในตลาด QSR คิดเป็นมูลค่าตลาดราว 27,000 ล้านบาท น่าจะโตได้ 5-6% แรงผลักดันหลักมาจากการขยายสาขาของ KFC เอง เนื่องจากเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของกลุ่มร้านไก่ทอด

     

    เดินหน้าแผนขยาย 23 สาขาใหม่

    ด้านการขยายสาขาใหม่ของ KFC ภายใต้การบริหารของ CRG ปิยะพงศ์ระบุว่า มีแผนจะเปิดเพิ่มทั้งหมด 23 สาขาในปี 2567 ซึ่ง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา KFC ของ CRG มีสาขารวม 338 สาขาแล้ว

    กว่าครึ่งหนึ่งของ 23 สาขาที่จะเปิดใหม่ปีนี้จะเปิดในเมืองรอง และแน่นอนว่าทุกศูนย์การค้าเปิดใหม่ในเครือเซ็นทรัลและโรบินสัน จะมีร้าน KFC เข้าไปเปิดสาขาด้วย

    KFC
    KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว สาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดเมื่อปี 2527 กับการรีโนเวตใหม่ในสไตล์เรโทรเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี

    การรีโนเวตสาขาก็จะมีเช่นกัน โดยปีนี้ตั้งเป้าปรับปรุงร้าน 35 สาขา เป็นการปรับตกแต่งให้ร้านดูดีทันสมัย ให้มีที่นั่งมากขึ้นตอบรับเทรนด์ที่ลูกค้ากลับมาทานอาหารนอกบ้าน และปรับเป็น Digital Store มีจอดิจิทัลสำหรับสั่งอาหารด้วยตนเอง

    ไฮไลต์การรีโนเวตร้านในปีนี้คือ “KFC สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว” เนื่องจากปี 2567 เป็นช่วงครบรอบ 40 ปี KFC ในประเทศไทย และเซ็นทรัล ลาดพร้าวคือที่ตั้งสาขาแรกของ KFC จึงมีการปรับคอนเซ็ปต์พิเศษเพียงสาขาเดียวให้เป็นสไตล์เรโทร “Colonel’s Legacy” งานดีไซน์หวนนึกถึงยุค 1990s สร้างบรรยากาศย้อนยุค

    KFC

     

    ประเดิมสาขาทดลองใน “สถานีรถไฟฟ้า”

    อีกหนึ่งไฮไลต์การขยายสาขาคือในช่วงครึ่งปีหลัง CRG จะเปิด KFC ใน “สถานีรถไฟฟ้า” เป็นครั้งแรก เป็นโมเดลแบบ “Grab & Go” ไม่มีที่นั่ง แต่มีครัวในตัวเพื่อทำอาหารสดใหม่ให้กับลูกค้า

    พื้นที่ร้านจะไม่ใหญ่ ใช้พื้นที่ประมาณ 55-60 ตร.ม. (จากปกติ KFC ใช้พื้นที่ร้านเฉลี่ย 200-250 ตร.ม.) และเมนูอาหารจะมีจำกัด เน้นที่เมนูหลักคือ “ไก่ทอด”

    ขณะนี้กำลังปิดดีลกับผู้ให้เช่าพื้นที่ว่าจะลงในสถานีไหน และปีนี้จะทดลองเพียง 1 สาขาก่อนเพื่อดูผลตอบรับ เพราะสาขานี้จะไม่มีที่นั่ง จะได้ลูกค้ากลุ่มซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรีเท่านั้น รวมถึงเป็นสาขาที่ตั้งในพื้นที่สัญจรระหว่างเดินทางด้วยขนส่งมวลชน จึงต้องดูกระแสก่อนเพราะถือว่าเป็นการเข้าพื้นที่ใหม่ของ KFC

    ปิยะพงศ์กล่าวปิดท้ายถึงความสำเร็จของ KFC ที่ยืนหยัดในตลาดมาได้นาน 40 ปี เชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัย คือ 1.การขยายสาขาไปมากกว่า 1,000 สาขา (รวมกัน 3 แฟรนไชซี) ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ทุกที่ 2.การปั้นแบรนด์ให้ดูทันสมัยวัยรุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และ 3.การทำราคาให้เข้าถึงง่าย จนวันนี้ถือเป็นร้านอาหารที่ถูกที่สุดเมื่อเดินเข้าศูนย์การค้า ทำให้เป็นตัวเลือกของทุกคน

    ]]>
    1476479
    “KFC” สาขาใหม่ในมือ “CRG” จะปรับเป็น “ดิจิทัล สโตร์” ทั้งหมด ตั้งหน้าจอสั่งอาหารด้วยตนเอง https://positioningmag.com/1454736 Thu, 07 Dec 2023 11:22:28 +0000 https://positioningmag.com/?p=1454736 KFC ภายใต้การบริหารของ CRG” วางกลยุทธ์ปรับประสบการณ์ภายในร้าน สาขาใหม่ทั้งหมดหลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็น “ดิจิทัล สโตร์” ตั้งหน้าจอทัชสกรีนสั่งอาหารและชำระเงินด้วยตนเอง ปรับป้ายเมนูและโฆษณาในร้านเป็นจอดิจิทัล ด้านสาขาเดิมจะทยอยเปลี่ยนเป็นดิจิทัล สโตร์เช่นกัน ตั้งเป้าปี 2567 มีดิจิทัล สโตร์ครบ 50 สาขา

    “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวถึงกลยุทธ์ใหม่ของร้าน “KFC” ในการอัปเกรดประสบการณ์ภายในร้านให้เป็น “ดิจิทัล สโตร์” โดยระบบการสั่งอาหารและชำระเงินจะปรับมาเป็น kiosk ให้ลูกค้าสั่งและชำระเงินด้วยตนเองได้ผ่านหน้าจอทัชสกรีน และป้ายเมนู-ป้ายโฆษณาภายในร้านจะเป็นหน้าจอดิจิทัลทั้งหมด

    “ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)

    กลยุทธ์ใหม่นี้ถือเป็นทิศทางจาก “ยัม เรสเทอรองตส์” บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ KFC ที่ให้ไว้กับแฟรนไชซีทั้ง 3 เจ้า คือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ (CRG), เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (QSA) และ เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) ให้ปรับเปลี่ยนหน้าสาขาเป็น “ดิจิทัล สโตร์”

    ระบบซอฟต์แวร์และ UX/UI ของหน้าจอ kiosk สั่งอาหารจะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด แต่แฟรนไชซีแต่ละเจ้าจะออกแบบร้านและรูปแบบภายนอกของจอด้วยตนเอง

     

    เป้าปี 2567 มี “ดิจิทัล สโตร์” ครบ 50 สาขา

    เฉพาะ KFC ภายใต้การบริหารของ CRG ปัจจุบันมี 330 สาขา (*หากนับถึงสิ้นปี 2566 จะเปิดจนครบ 335 สาขาตามแผน) ในจำนวนนี้นำร่องปรับเป็นดิจิทัล สโตร์แล้ว 10 สาขา

    โดยมีสาขาที่เป็นแฟลกชิปสโตร์คือ “KFC Digital Lifestyle Hub” บนชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ ปรับปรุงจากสาขาเดิมและเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ถือเป็นต้นแบบการปรับเป็นดิจิทัล สโตร์ และโชว์การเปลี่ยนบรรยากาศในร้านให้ตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

    KFC CRG
    KFC Flagship Store @ centralwOrld

    ปิยะพงศ์ระบุว่า CRG ตั้งเป้าปี 2567 จะเพิ่มจำนวนดิจิทัล สโตร์ของ KFC ขึ้นเป็น 50 สาขา

    40 สาขาใหม่ที่จะเป็นดิจิทัล สโตร์ปีหน้า แบ่งเป็น 15 สาขาเปิดใหม่ และ 25 สาขาที่จะปรับปรุงจากสาขาเดิม ใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านบาท

    แผนในระยะยาว KFC ภายใต้ CRG จะเปิดสาขาใหม่เป็นแบบดิจิทัล สโตร์ทั้งหมด ส่วนการปรับปรุงสาขาเดิมจะทยอยปรับอย่างต่อเนื่อง

     

    ลูกค้าสะดวกกว่า – ระยะยาวลดต้นทุนแรงงาน

    ปิยะพงศ์กล่าวว่า วิสัยทัศน์จาก “ยัม เรสเทอรองตส์” มองว่า การวางระบบร้านเป็นดิจิทัล สโตร์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของทุกแบรนด์ร้านอาหารประเภท QSR (Quick Service Restaurant) ภายใน 3 ปี เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ลูกค้าจ่ายเงินสะดวกและเร็วขึ้น, พนักงานบริหารหน้าร้านง่ายกว่าในการเปลี่ยนเมนูและโปรโมชัน, ลดต้นทุนแรงงานได้ในระยะยาว

    KFC ดิจิทัล สโตร์
    kiosk สำหรับสั่งอาหารและชำระเงินด้วยตนเอง

    ปัจจุบันร้านที่นำร่องไปแล้ว 10 สาขา พบว่า 75% ของลูกค้าเลือกใช้งานสั่งอาหารผ่านจอดิจิทัล และ 25% เลือกสั่งอาหารผ่านเคาน์เตอร์ปกติ สะท้อนว่าลูกค้าสะดวกที่จะใช้งาน kiosk มากขึ้น

    “เราดูตัวอย่างจากโรงหนังได้เพราะเริ่มเปลี่ยนก่อนเราไปนานแล้ว แรกๆ ลูกค้าอาจยังไม่ชินและยังต้องมีพนักงานคอยประกบทุกเครื่อง แต่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการใช้งาน ทำให้พนักงานที่คอยอำนวยความสะดวกหน้าเครื่องลดลงได้” ปิยะพงศ์กล่าว

    ในระยะยาวอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าจึงเชื่อว่า ดิจิทัล สโตร์จะลดจำนวนแรงงานประจำร้านได้ เช่น จากเดิม 10 คน อาจลดเหลือ 7-9 คน

    อย่างไรก็ตาม CRG ไม่มีแผนปลดพนักงานออก แต่จะเป็นการโยกย้ายตำแหน่งจากแคชเชียร์ไปยังจุดอื่นในร้าน หรือปรับย้ายไปสาขาเปิดใหม่

     

    “ไก่ทอด” ยังโตได้แบบ “ดับเบิล ดิจิต”

    ด้านตลาดร้านอาหารประเภท QSR ในปี 2566 ปิยะพงศ์ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมกว่า 45,000 ล้านบาท มาจากกลุ่มหลัก 3 กลุ่ม คือ ไก่ทอด, เบอร์เกอร์ และพิซซ่า ซึ่งกลุ่มไก่ทอดเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท และเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีในปีนี้

    KFC CRG

    เฉพาะ KFC ภายใต้ CRG ปี 2566 คาดว่าจะทำยอดขายได้ถึง 7,000 ล้านบาท เติบโต 11% จากปีก่อนหน้า ทั้งจากการขยายสาขาใหม่ การทำโปรโมชันและเมนูใหม่สร้างกระแสในตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงร้านให้น่านั่งมากขึ้น

    จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้ KFC ของ CRG มีจำนวนลูกค้าสูงขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อนหน้า โดยขณะนี้มีจำนวนออร์เดอร์กว่า 2,000 บิลต่อสาขาต่อสัปดาห์ ส่วนการใช้จ่ายต่อบิลยังอยู่ที่เฉลี่ย 200 บาทเช่นเดิม ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทที่เน้นการเพิ่มจำนวนลูกค้ามากกว่าเพิ่มราคาสินค้า

    ส่วนสถานการณ์ตลาดร้าน QSR ปี 2567 ปิยะพงศ์คาดว่าค่าเฉลี่ยตลาดน่าจะโตได้ดิจิตเดียว แต่เฉพาะกลุ่ม “ไก่ทอด” น่าจะโต “ดับเบิล ดิจิต” และ KFC ภายใต้ CRG ตั้งเป้ายอดขายเติบโตประมาณ 12% สอดคล้องกับตลาด เพราะมีแผนการเปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่อง

    ร้าน KFC ภายใต้ CRG มีการขยายไปเมืองรองเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังเพราะสามารถขยายไปกับสถานีน้ำมันได้ ปัจจุบัน 330 สาขาที่มีแบ่งเป็น โมเดลร้านในศูนย์การค้า/ไฮเปอร์มาร์เก็ต 200 สาขา, โมเดลร้านในสถานีน้ำมันและตึกแถว 110 สาขา และโมเดลร้านแบบไดรฟ์ทรู 20 สาขา

    ]]>
    1454736
    กรณีศึกษา: ดูทรงก่อนตามกระแส “แอป AI เปลี่ยนภาพเป็นอนิเมะ” งานนี้ KFC – Sprinkle วินสุด! https://positioningmag.com/1441684 Mon, 21 Aug 2023 11:15:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1441684 เป็นกระแสมาร่วมสัปดาห์สำหรับ “Loopsie” แอปฯ AI ที่ช่วยเปลี่ยนภาพปกติเป็นลายเส้นอนิเมะ ไม่ว่าจะบุคคลทั่วไปหรือหน้าเพจแบรนด์ต่างโพสต์ภาพอนิเมะฝีมือ AI ตามๆ กัน ขณะที่กลุ่ม “สายผลิต” หรือบรรดานักวาดออกมาโต้กลับว่า AI เหล่านี้อาจกำลังละเมิดลิขสิทธิ์พวกเขา ท่ามกลางการปะทะกันของกระแสสังคมกับนักวาด มีสองแบรนด์อย่าง “KFC” กับ “Sprinkle” ที่รอดูท่าทีก่อนเลือกเกาะกระแสในอีกรูปแบบหนึ่ง ดึงยอดเอนเกจเมนต์พุ่งเหนือใคร

    ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนน่าจะเจอไทม์ไลน์ Facebook ของตัวเองมีภาพแนวอนิเมะอยู่เต็มไปหมด ภาพเหล่านี้มาจากแอปพลิเคชัน “Loopsie” แอปฯ เทคโนโลยี AI ช่วยแปลงภาพถ่ายปกติเป็นภาพลายเส้นอนิเมะได้อัตโนมัติที่เป็นกระแสมากว่า 1 สัปดาห์

    วันแรกๆ ที่เริ่มเป็นกระแสในกลุ่มคนทั่วไป หลายแบรนด์จึงรีบตามเทรนด์เหมือนกับทุกเทรนด์โซเชียลมีเดียที่เคยมีก่อนหน้านี้ เช่น MBK Center เปลี่ยนภาพศูนย์การค้าให้เหมือนออกมาจากการ์ตูน, ศุภาลัย (Supalai) ที่หยิบภาพโปรโมตโครงการบ้านมาเปลี่ยนเป็นภาพอนิเมะ หรือ The 1 ที่เปลี่ยนภาพในหนังโฆษณาให้เป็นอนิเมะภาพนิ่งหลายๆ ภาพ

    AI อนิเมะ
    ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จาก MBK Center
    ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จากศุภาลัย

    เสียงตอบรับต่อแบรนด์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก ต่างมองว่าภาพที่ออกมา ‘ว้าว’ ถ่ายทอดภาพจริงสู่ภาพอนิเมะได้อย่างมหัศจรรย์ สวย น่ารัก จนโพสต์เหล่านี้ได้ยอดไลก์-ยอดแชร์ที่ดีพอสมควร

    AI อนิเมะ
    ตัวอย่างภาพจริงแปลงเป็นภาพอนิเมะด้วย AI จาก The 1

     

    “สายผลิต” เรียกร้องให้หยุดสนับสนุน

    อย่างไรก็ตาม หลังกระแสฮิตเกิดขึ้น 3-4 วัน เริ่มมีเสียงโต้กลับจากฝั่ง “สายผลิต” หรือ กลุ่มนักวาดการ์ตูน-อนิเมะออกมามากขึ้น โดยโพสต์ที่ถูกโจมตีมากที่สุดเกิดขึ้นกับเพจของ “คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งนำภาพบรรยากาศในคณะมาใช้ Loopsie แปลงเป็นภาพอนิเมะ และเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566

    โพสต์ต้นทางดราม่าจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

    โพสต์นี้ปลุกกระแสโจมตีให้ลุกโชนขึ้นมา เพราะในกลุ่มนักวาด/ศิลปินทั้งหลายมีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับเทคโนโลยี AI หรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง เนื่องจากการเทรน AI ให้วาดภาพขึ้นมาได้นั้นต้องมีการป้อนข้อมูลภาพวาดเข้าไปจำนวนมาก และที่ผ่านมาแอปฯ ในลักษณะเดียวกันนี้มักจะดึงภาพที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปใช้ฝึก AI และนำไปเป็นส่วนประกอบสร้างภาพชิ้นใหม่ โดยไม่มีการขออนุญาตเจ้าของภาพ และไม่มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ใดๆ ในการนำบางส่วนของภาพไปใช้

    สุดท้ายเมื่อ AI เก่งกาจพอที่จะวาดภาพอัตโนมัติได้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะมากลืนกินอาชีพของนักวาดไปโดยปริยาย เพราะสามารถทำงานให้ลูกค้าได้เร็วกว่า ถูกกว่า และไม่มีขีดจำกัดทางร่างกายเหมือนมนุษย์

    โพสต์ของคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร จึงทำให้กลุ่มศิลปินโกรธเคืองที่สถาบันการศึกษาด้านศิลปะโดยเฉพาะไม่ช่วยปกป้องวงการ และกลายเป็นเรื่องกระเพื่อมในสังคมบางส่วน

    อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา ทาง ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี คณบดีคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร มีแถลงการณ์ถึงกรณีดราม่าที่เกิดขึ้นว่า ตนเป็นผู้อนุมัติโพสต์เอง และมองว่าวงการศิลปะไม่สามารถปฏิเสธ AI ได้ วงการน่าจะเรียนรู้ความเป็นไปได้ที่ศิลปะจะได้รับประโยชน์จาก AI (อ่านแถลงการณ์จากคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากรได้ที่นี่)

     

    KFC – Sprinkle เกาะกระแสแต่ขอพลิกมุม!

    กลับมาที่วงการแบรนด์และการตลาดอีกครั้ง มีบางแบรนด์เหมือนกันที่เลือกเกาะกระแสแต่ไม่ใช่การเข้าร่วมโดยตรง หลังจากเกิดดราม่าในแวดวงสายผลิตขึ้น

    หนึ่งในแบรนด์ที่ ‘วิน’ ที่สุดจากกระแสนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นแบรนด์ที่ตามเทรนด์รวดเร็วอยู่เสมออย่าง “KFC”

    KFC AI อนิเมะ
    โพสต์แหวกกระแสภาพอนิเมะเป๊ะๆ ด้วยภาพวาดน่องไก่จาก KFC

    KFC โพสต์ภาพวาดน่องไก่ 1 ชิ้นแบบวาดขึ้นเอง และเป็นการ(จงใจ)วาดลวกๆ ให้ดูคล้ายผลงานจากคนวาดรูปไม่เก่ง พร้อมแคปชันว่า POV แอดที่อยากเล่นเทรนด์ AI แต่ไม่มั่นใจเรื่องลิขสิทธิ์ ก็ขอวาดเองละกัน / แกว่าจะโดนมั้ยอะ เหมือนจัดเลยยย” ถือเป็นการแหวกกระแสที่เต็มไปด้วยภาพอนิเมะสุดเป๊ะจาก AI

    ภาพน่องไก่ KFC นี้ได้รับการแชร์ไปมากกว่า 3,100 ครั้ง พร้อมด้วยความคิดเห็นเฮฮาแวะมาแซวภาพวาด และความเห็นชื่นชมที่ KFC ตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์เป็นสำคัญ

    อนิเมะ AI Sprinkle
    Sprinkle ได้โอกาสนำโฆษณาอนิเมชันที่ทำไว้ 2 ปีก่อนมาโปรโมตใหม่

    ส่วนอีกแบรนด์ที่มาช้าแต่มาวิน คือ “น้ำดื่ม Sprinkle” ซึ่งเพิ่งจะตามกระแสเมื่อ 2 วันก่อน แต่มาด้วยการโพสต์ภาพจากหนังโฆษณาของแบรนด์ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นโฆษณาอนิเมชัน พร้อมกับแคปชันว่า เห็นเพื่อน ๆ เปลี่ยนภาพต่าง ๆ เป็นแนวอนิเมะด้วย app กันเยอะ Sprinkle เองก็อยากมีส่วนร่วมบ้าง แต่เราไม่ได้ใช้ app หรือ ai นะครับ เป็นงานโฆษณา original ที่ใช้คนวาด ทำไว้เมื่อปี 2021 ถือโอกาสนี้ขอร่วมสนุกกับเพื่อน ๆ ไปด้วยกันเลยย”

    เช่นเดียวกับโพสต์ของ KFC คือ ความคิดเห็นเป็นไปในทางชื่นชมที่แบรนด์สนับสนุนศิลปินตัวจริงในการสร้างผลงาน และทำให้โพสต์มียอดแชร์ไปกว่า 1,100 ครั้ง ส่วนโฆษณาอนิเมชันชุด “Refresh your life” ของ Sprinkle ที่ลงใน YouTube ไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน ปัจจุบันมียอดเข้าชม 3.8 ล้านครั้ง

    เห็นได้ว่าท่ามกลางกระแสที่ไหลตามกันในโลกโซเชียล บางครั้งการหยุดรอดูท่าทีของกระแสสังคมและเลือกมุมมองที่แตกต่างในการเกาะเทรนด์ อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้แบรนด์โดดเด่นได้มากกว่าเหมือนกัน!

    ]]>
    1441684
    ขยายสาขา ‘KFC’ ฉบับ ‘CRG’ หมดยุคร้านใหญ่มุ่ง ‘ไซส์มินิ’ ลงทุนน้อยเพิ่มโอกาสทำกำไร https://positioningmag.com/1412365 Wed, 14 Dec 2022 06:47:53 +0000 https://positioningmag.com/?p=1412365 หากพูดถึงตลาด Quick Service Restaurant หรือ QSR ปัจจุบันมีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดหรือ 20,000 ล้านบาท มาจาก ตลาดไก่ทอด ซึ่งผู้ที่ครองเบอร์ 1 ก็ไม่ใช่ใคร ซึ่งก็คือ ‘เคเอฟซี’ (KFC) ที่ปัจจุบันมีสาขาในไทยรวมกว่า 1,000 สาขา จาก 3 บริษัทใหญ่ ได้แก่ CRG, QRS และ RD

    โควิดหาย ไดรฟ์อินโตกระฉูด

    ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine  ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารถือว่ากลับมาเป็นปกติมากขึ้น จากเดิมที่ขายได้แต่เดลิเวอรี่ ส่งผลให้ยอดขายในช่วง Q1 – Q3 ปี 2022 เติบโตมากกว่า 25% และสัดส่วนช่องทางการจำหน่ายที่หน้าร้านเติบโตมากขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจุบัน ยอดขายหน้าร้านมีสัดส่วน 75% ส่วนเดลิเวอรี่มีสัดส่วน 25% จากที่ปี 2019 รายได้จากหน้าร้านคิดเป็น 90% ส่วนเดลิเวอรี่มีสัดส่วนเพียง 10%

    “ผมเชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม และร้านอาหารยังเป็นพื้นที่สังสรรค์ และ KFC เป็นอาหารยอดฮิต เพราะเข้าถึงง่าย เป็น Everyday Occasion ที่ผ่านมาเราเห็นพฤติกรรมลูกค้าที่มักมาเป็นกลุ่มใหญ่ช่วงเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ มากินกับเพื่อน, ครอบครัว ทำให้ปีนี้การไดอินกลับมาเติบโตสูง แต่เดลิเวอรี่แม้ลดความร้อนแรงลงแต่ก็ยังสำคัญในการวางกลยุทธ์ร้านอาหารต่อจากนี้”

    ขายกาแฟแล้วสถานีต่อไปขายเบียร์

    หลังจากการกลับมาของไดรฟ์อิน ดังนั้น โจทย์ของ KFC คือ ต้องทำ ประสบการณ์ ของลูกค้าให้ดีขึ้น ให้เขาอยากมาที่ร้าน รวมถึง ราคา ต้องจับต้องได้ ไม่แพงเกินไป ดังนั้น ในส่วนของเมนูเองจึงมีการ จัดเซตเมนู และการตรึงราคาที่เริ่มต้น 69 บาท นอกจากนี้ ต้องมีอะไรใหม่ ๆ อย่างที่ผ่านมา Cafe’ by Arigato ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย ช่วงเช้าและบ่าย จากปกติช่วงเวลายอดนิยมของร้านอยู่ที่ช่วงพักเที่ยงและตอนเย็น โดยปีนี้ Cafe’ by Arigato มียอดขายกว่า 2 ล้านแก้ว จากกว่า 260 สาขา

    นอกจากนี้ กำลังพิจารณาถึงการนำ เบียร์ มาขายในอนาคต โดยจะเน้นไปที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวก่อน โดยกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ที่สนใจ

    “การแข่งขัน QSR ยังสูงเป็นปกติ แต่เปลี่ยนไปตามชาแนล เช่น เดลิเวอรี่ ไดรฟ์อิน เทคอเวย์ ทำให้โจทย์เราตอนนี้คือ จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และให้เขากลับมากินที่ร้านมากขึ้น ดังนั้น เราก็ต้องมีอะไรใหม่ ๆ มาเสิร์ฟลูกค้า เราต้องทำให้เขามีประสบการณ์ที่ดีมากขึ้น ในราคาที่ไม่แพงเกินไป”

    ช็อป เฮ้าส์ โมเดลใหม่ไซส์มินิ

    ในส่วนของการขยายสาขา ทาง CRG ได้ลงทุน 300 ล้านบาท โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะขยายเพิ่มอีก 30 สาขา รวมทั้งปีมีสาขาทั้งหมด 320 สาขา โดยทั้ง 30 สาขาที่จะเปิดใหม่นี้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 50% อีก 50% เป็นสาขาในต่างจังหวัด ส่วนปีหน้า (2566) คาดว่าจะลงทุนอีก 400 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 30 สาขา

    ที่น่าสนใจคือ สาขา KFC ภายใต้ CRG จะเริ่มมองหารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโมเดล ช็อป เฮ้าส์ ที่ใช้อาคารพาณิชย์ 1-2 คูหาเปิดร้าน ซึ่งจากนี้จะเป็นรูปแบบหลักในการขยายสาขา เนื่องจากใช้งบลงทุนน้อยกว่าเดิม 40% สามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง ทำให้เพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น ปัจจุบันได้นำร่องเปิดแล้ว 2 สาขาที่สะพานใหม่ และอินทามระ

    “แน่นอนว่าเราอยู่ในเครือเซ็นทรัลฯ เขาไปไหนเราก็ไปด้วย แต่พอทำสแตนด์อโลนมันมาพร้อมโอกาสใหม่ ๆ เราปิดได้ช้าก็ขายได้มากขึ้น อย่างช่วงบอลโลกยอดขายตอนกลางคืนเราโตขึ้น 10% แต่ถ้าเราเปิดในห้างฯ เราก็ต้องเปิดปิดพร้อมห้างฯ”

    นอกจากนี้ ยังได้ทดลองเปิด KFC Green Store Concept สาขาต้นแบบที่โรบินสันราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นร้านสแตนด์อโลนอยู่นอกศูนย์การค้าเพื่อจับเทรนด์ ESG หรือความยั่งยืน โดยได้ออกแบบในสไตล์นอร์ดิกสื่อถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยโครงสร้างร้านและวัสดุก่อสร้างจะเน้นเลือกใช้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน อาทิ กระจกประหยัดพลังงานในระดับสูงสุด, การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล, ชุดพนักงานที่ตัดเย็บด้วยผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติก การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    KFC ตอนนี้มีสาขารวมกันกว่า 1,000 สาขา ชาเลนจ์คือ มันจะขยายยังไงต่อ และบริหารจัดการให้ทำกำไร เพราะสาขาเล็กก็ขายได้น้อย กำไรน้อย บางสาขาใหญ่มากแต่ทราฟฟิกไม่ถึงก็ไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น จากนี้ไซส์ต้องเหมาะกับโลเคชั่น และใช้เดลิเวอรี่ช่วย นอกจากนี้ เรื่องความยั่งยืนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนให้ความสนใจมากขึ้น แต่คงไม่โตหวือหวามาก มองว่าเป็นเทรนด์ระยะยาว”

    ปีหน้าทำรายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท

    สำหรับรายได้ของ KFC ในปีนี้คาดว่าจะปิดที่ 6,300 ล้านบาท เติบโต 25% ซึ่งเกินกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเติบโตกว่าเป้าแต่ยอดขาย Same Store ยังไม่กลับไปเท่ากับปี 2019 แม้จะเติบโตขึ้น 20% ก็ตาม แต่เชื่อว่าในปี 2023 สถานการณ์จะกลับมาปกติ ดังนั้น คาดว่าจะมีรายได้ 7,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ปัจจุบัน KFC ทำรายได้ให้กับ CRG คิดเป็น 40%

    “ปีหน้าที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องต้นทุน แต่เป็นความไม่แน่นอน อย่างปีนี้ก็น้ำมันขึ้น วัตถุดิบขึ้น สงครามยูเครนทำให้แป้งขึ้น แต่ความเสี่ยงไม่ใช่ราคา เป็นความไม่แน่นอน มันทำให้เราต้องทำระยะสั้นให้เร็ว และมองระยะยาวให้ดี”

    ]]>
    1412365
    จับตาศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC กับความหวังยกระดับสวัสดิภาพไก่? หลังติดอันดับแย่สุด 2 ปีซ้อน https://positioningmag.com/1396264 Tue, 16 Aug 2022 14:20:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1396264
  • เมื่อปี 2562 ผู้บริโภคในฝั่งประเทศยุโรปกว่า 5 แสนคน เรียกร้องให้แฟรนไชส์ซี KFC ใส่ใจสวัสดิภาพไก่และให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา
  • KFC ในประเทศไทย ถูกจัดอันดับในรายงาน The pecking order 2021 ว่ามีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” 2 ปีติดต่อกัน
  • การที่ RD เตรียมขายแฟรนไซส์ซีในไทย ทำให้อีก 2 แฟรนไชส์ซีอย่าง CRG กับ QSA เป็นตัวเต็งในการซื้อดีลนี้ มาพร้อมกับความหวังในการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ได้หรือไม่
  • เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานความเคลื่อนไหวของดีลธุรกิจอาหารครั้งใหญ่ เมื่อ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ต้องการขายสิทธิ์การบริหารกิจการ KFC ในประเทศไทยที่บริหารอยู่ราว 240 สาขา สถานการณ์นี้กำลังเป็นที่จับตาในกระแสธุรกิจอย่างร้อนแรง

    แต่ไม่ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว จะกลายมาเป็นผู้ถือครองสิทธ์แฟรนไชส์ KFC เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหากมีการปิดดีลธุรกิจกับ RD สำเร็จ

    แต่กระนั้นในมุมมองความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมต่อแหล่งที่มาของเนื้อไก่ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงนโยบายที่คำนึงถึงการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ จะยังมีความหวังอยู่หรือไม่

    KFC แบรนด์ไก่ทอดระดับโลกยอดนิยมของคนไทยนั้น ซึ่งมี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นเจ้าของและดำเนินการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 22,621 สาขา (ปี พ.ศ. 2562) กระจายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีเกือบ 1,000 สาขา ทำให้ KFC สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก

    ในขณะที่อีกมุมของโลกการบริโภคอย่างยั่งยืนได้กลายเป็นกระแสที่ผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญ โดยแบรนด์ในดวงใจต้องเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค รวมถึงการใส่ใจถึงแหล่งที่มาของไก่ คุณภาพชีวิตของไก่ ไก่ต้องแฮปปี้ มีสวัสดิภาพที่ดี ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมนูไก่แสนอร่อยบนจานอาหาร

    ปลายปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในฝั่งประเทศยุโรปกว่า 5 แสนคน เรียกร้องให้แฟรนไชส์ซี KFC ใส่ใจสวัสดิภาพไก่และให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา จนในที่สุดแฟรนไชส์ซี KFC ในยุโรป 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, เยอรมนี เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม, สวีเดน, เดนมาร์ก, และฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่ให้ดีขึ้นภายในปี พ.ศ. 2569 นับเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยชีวิตไก่ได้หลายล้านตัวให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากปัญหาหัวใจ ปอด และกระดูกจากการเลี้ยงไก่แบบเร่งโต

    ในขณะที่ KFC ในประเทศไทย ถูกจัดอันดับในรายงาน The pecking order 2021 ของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ว่ามีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” 2 ปีติดต่อกัน

    รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คนที่เรียกร้องให้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของไก่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารรวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่

    เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ข่าวการเปลี่ยนแฟรนไชส์ซี KFC ประเทศไทย ไม่ว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่จะเป็นเจ้าไหน เจ้าของแฟรนไชส์ชี KFC ใหม่จะต้องรีบประกาศทิศทางการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องประโยชน์ของผู้บริโภค และมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพไก่ เพราะในแต่ละปี ผู้บริโภคคนไทยกินไก่ KFC ถึง 300 ล้านชิ้น KFC ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองว่ามีการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่อย่างไร รวมถึงเร่งประกาศนโยบายเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพไก่แก่สาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสะท้อนภาพการเป็นผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดอย่างแท้จริง ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่เพียงแค่คำนึงถึงผลเร่งขยายสาขาและเพิ่มยอดขาย แต่หากต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมิติของความยั่งยืน รวมทั้งเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นด้วย”

    หากลองวิเคราะห์ถึงศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC ระหว่าง ไทยเบฟ VS เซ็นทรัล ครั้งนี้ กับความต้องการของผู้บริโภคเรื่องสวัสดิภาพไก่ ที่ไม่อยากเห็นความทุกข์ทรมานของสัตว์ก่อนกลายมาเป็นอาหาร  เรายังไม่เห็นทิศทางการดำเนินงานหรือนโยบายที่คำนึงถึงสวัสดิภาพไก่ที่นำมาเป็นวัตถุดิบหลัก ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ซี KFC ที่ผ่านมา เราหวังว่า ภายใต้การบริหารใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นโอกาสให้เกิดทิศทางในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ตามเทรนด์ของโลก และเป็นความหวังในการนำพาคุณภาพชีวิตไก่ที่ดีมาสู่จานผู้บริโภค

    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/The-Pecking-Order-2021

    ]]>
    1396264
    “ไทยเบฟ-CRG” เปิดศึกคาเฟ่ใน KFC ดันรายได้เมนูทานเล่น ขนมหวาน https://positioningmag.com/1394186 Wed, 27 Jul 2022 09:44:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1394186 เมื่อ KFC ในส่วนการบริหารของ CRG ได้เปิดตัว KFC Cafe’ by Arigato ทางด้านฝั่งคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ในเครือไทยเบฟ ก็ขอสู้ด้วย KFC Café by SO COFFEE นำร้านกาแฟในเครือของทั้งคู่ เข้าไปอยู่ใน KFC

    บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ได้นำร่องเปิดตัว KFC Cafe’ by Arigato สักพักใหญ่แล้ว ได้ดีไซน์พื้นที่ด้านหน้า หรือโซนขายของหวาน ของทานเล่นให้กลายเป็นมุมกาแฟ

    CRG ได้นำร้านกาแฟ Arigato แบรนด์เครื่องดื่มนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มีเมนูเด่นคือ ชาเขียว และมีราคาย่อมเยา แต่เดิมอยู่แต่ในร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท หลังจากนั้น CRG ได้เริ่มมาผนึกกับพันธมิตรในเครือทั้ง KFC และมิสเตอร์โดนัท

    การเปิด KFC Cafe’ by Arigato เป็นกลยุทธ์ในการดันรายได้ในส่วนของกลุ่มของทานเล่น ขนมหวานให้มากขึ้น และต้องการให้ผู้บริโภคสามารถทาน KFC ได้ตลอดทั้งวัน จากปกติที่ส่วนใหญ่จะทานเฉพาะมื้อหลักเท่านั้น แต่มุมคาเฟ่ทำให้ทานเครื่องดื่มได้ทั้งวัน รวมถึงขนมหวาน ของทานเล่นด้วย

    อีกทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์อาริกาโตะให้เป้นที่รู้จักมากขึ้น โดยเมื่อสิ้นปี 2564 ทาง CRG มีเป้าหมายว่าจะมี KFC Cafe’ by Arigato กว่า 220 สาขา

    ทางด้าน บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด อีกหนึ่งแฟรนไชส์ซีของ KFC ในไทย บริษัทในเครือของไทยเบฟฯ ได้เปิดตัวคาเฟ่ใน KFC ด้วยเช่นกัน นำแบรนด์ SO COFFEE มาใช้ เปิดเป็น KFC Café by SO COFFEE เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

    คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย มีแบรนด์ So asean ร้านอาหารสไตล์อาเซียนอยู่ในเครืออยู่แล้ว นำมาปรับให้เป็นร้านกาแฟเพื่อเข้ากับ KFC

    โดยที่ KFC Café by SO COFFEE เน้นที่กาแฟคุณภาพดี ผ่านการคัดสรรสายพันธุ์คุณภาพจากที่ราบสูงโบโลเวน ประเทศลาว มีเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ เช่น ช็อกโกแลต, มัทฉะ, สตรอเบอร์รี่พิงกี้ เมนูจะคล้ายๆ กับ KFC Cafe’ by Arigato เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างไรแล้วก็อยู่ในร้าน KFC เหมือนกัน

    มีการตั้งเป้าขยาย KFC Café by SO COFFEE ในสาขาของคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำนวน 250 สาขาภายในปี 2565 โดยเน้นทำเลสาขาที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านไดรฟ์ทรู

    ปัจจุบัน KFC ในประเทศไทยมีทั้งหมด 953 สาขา ภายใต้การบริหารงานของ 3 บริษัท ผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ ได้แก่ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSA , บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD

    ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 ทาง RD ได้เตรียมขายร้าน KFC กว่า 236 สาขาที่บริษัทได้สิทธิ์บริหารให้กับผู้ที่สนใจซื้อกิจการต่อ โดยคาดว่ามูลค่าอาจสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 11,000 ล้านบาท

    สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ว่า RD ได้ติดต่อกับที่ปรึกษาการเงินเพื่อที่จะหาความเป็นไปได้ในการขายกิจการนี้ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2020 ทาง RD เองเคยมีแผนที่จะขายร้าน KFC ทั้งหมดมาแล้ว แต่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องพับแผนดังกล่าวไป

    ]]>
    1394186
    RD เตรียมขายสิทธิ์ร้าน KFC ในไทย 236 สาขา คาดมูลค่าอาจสูงถึง 11,000 ล้านบาท https://positioningmag.com/1393896 Tue, 26 Jul 2022 03:57:54 +0000 https://positioningmag.com/?p=1393896 Restaurants Development ผู้บริหารร้าน KFC ในประเทศไทย เตรียมขายร้าน KFC กว่า 236 สาขาที่บริษัทได้สิทธิ์บริหารให้กับผู้ที่สนใจซื้อกิจการต่อ โดยคาดว่ามูลค่าอาจสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 11,000 ล้านบาท

    สำนักข่าว Reuters รายงานข่าวโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้ว่า Restaurants Development (RD) ได้ติดต่อกับที่ปรึกษาการเงินเพื่อที่จะหาความเป็นไปได้ในการขายกิจการนี้ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2020 ทาง RD เองเคยมีแผนที่จะขายร้าน KFC ทั้งหมดมาแล้ว แต่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องพับแผนดังกล่าวไป

    คาดว่าผู้ที่สนใจซื้อร้าน KFC ไปบริหารต่อนั้นน่าจะเป็น Central Restaurants Group (CRG) หรือไม่ก็ QSR of Asia ซึ่งเป็นธุรกิจลูกของเครือไทยเบฟ ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นบริษัทได้สิทธิ์บริหารร้าน KFC ในไทยเช่นกัน

    สำหรับ RD นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยมีพนักงานกว่า 5,000 คน มีร้าน KFC มากถึง 236 สาขา ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2020 ที่มีสาขาราวๆ 200 สาขาเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทยังรายงานว่าในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำยอดขายสูงสุดเท่าที่เคยทำมาอีกด้วย

    ในบทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) นั้นมองว่าราคาซื้อขายเฉลี่ยต่อสาขาของ RD จะอยู่ที่ 46 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตอน QSR of Asia ซื้อสาขาของ KFC ในปี 2017 ที่เฉลี่ยอยู่ราวๆ 47 ล้านบาทต่อสาขา

    จำนวนสาขา KFC ในปัจจุบันคือ CRG 304 สาขา ขณะที่ QSR of Asia มีจำนวน 350 สาขา ซึ่งถ้าหาก 1 ใน 2 รายนี้ได้สาขาทั้งหมดของ KFC ไปจะทำให้กลายเป็นผู้ถือสิทธิ์บริหารร้าน KFC รายใหญ่ของไทยทันที

    Note: อัพเดตข้อมูลเมื่อ 13:51 เพิ่มจำนวนสาขาของ KFC ในไทยที่แต่ละเจ้าถือสิทธิ์ และเพิ่มมุมมองจากบทวิเคราะห์

    ]]>
    1393896
    KFC จ้างงานเพิ่ม 20,000 ตำเเหน่งทั่วสหรัฐฯ รับดีมานด์ลูกค้ากลับมา หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว https://positioningmag.com/1330875 Thu, 06 May 2021 10:38:04 +0000 https://positioningmag.com/?p=1330875 KFC เชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ของโลก ประกาศจ้างงานในสหรัฐฯ เพิ่ม 20,000 ตำเเหน่ง รองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะกลับมาอีกครั้งในช่วงซัมเมอร์ หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว 

    โดยเครือธุรกิจของ Yum! Brands (เจ้าของ KFC , Pizza Hut , Taco Bell ฯลฯ) กำลังมองหาพนักงานประจำเเละพนักงานพาร์ตไทม์ทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกตำแหน่ง ตั้งแต่งานเสิร์ฟ พ่อครัว ไปจนถึงผู้จัดการร้าน

    ก่อนการเเพร่ระบาดของ COVID-19 เครือข่ายเชนฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ มักจะเพิ่มการจ้างงานเเบบพาร์ตไทม์หลายหมื่นคนในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ที่มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดของปี

    เเต่วิกฤตโรคระบาดที่ต่อเนื่องมาในปีนี้ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารขาดเเคลนพนักงาน ที่เต็มใจออกมาทำงานนอกบ้าน

    โดยร้านอาหารและแฟรนไชส์บางแห่งในสหรัฐฯ ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือให้โบนัสเพื่อจูงใจให้คนสมัครงานแทนการอยู่บ้านและพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาล

    KFC มองว่า ปีนี้ลูกค้าจะกลับออกมานั่งกินที่ร้านเเละซื้อกลับบ้านอีกครั้ง หลังมีการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง รวมไปถึงการได้รับเงินช่วยเหลือด้านค่าครองชีพเพิ่มเติม ก็ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากการที่ KFC ทำยอดขายเฉลี่ยต่อร้านโต 14% ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

    เมื่อร้านสาขาเปิดให้บริการได้ตามปกติอีกครั้ง การเเข่งขันที่ดุเดือดในวงการฟาสต์ฟู้ดก็ยิ่งกลับมาดุเดือดมากขึ้น ตามมาด้วยปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอย่างการขาดเเคลนไก่’ ที่หลายเเบรนด์เร่งออกเมนูใหม่มาชิงตลาดผู้บริโภค

    สำหรับอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคมยังอยู่ที่ 6% เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาด โดยพนักงานร้านอาหารบางรายบอกว่า ค่าจ้างและทิปของพวกเขาไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด -19 ได้

     

    ที่มา : CNBC , prnewswire

    ]]>
    1330875
    รู้จัก ‘Food Lockers’ ของเล่นเก่าที่ ‘ร้านฟาสต์ฟู้ด’ ปัดฝุ่นใช้ใหม่ให้เข้ายุค ‘ลดสัมผัส’ https://positioningmag.com/1322464 Mon, 08 Mar 2021 11:24:18 +0000 https://positioningmag.com/?p=1322464 แม้ว่าทั่วโลกจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว ซึ่งทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติอีกครั้ง แต่การสัมผัสระหว่างกันให้น้อยที่สุด ก็ยังคงเป็นคีย์หลักในการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิถี ‘New Normal’ ของการใช้ชีวิตไปแล้ว ดังนั้น เหล่าร้านอาหารโดยเฉพาะเชน ‘ฟาสต์ฟู้ด’ ที่นำไอเดีย ‘Food Lockers’ หรือ ‘ล็อกเกอร์เก็บอาหาร’ มาปัดฝุ่นใช้ใหม่อีกครั้ง

    เชนอาหารฟาสต์ฟู้ด อาทิ KFC, Burger King และ Smashburger ได้ประกาศแผนการที่จะนำ ‘Food Lockers’ มาใช้งานที่ร้าน เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาด Food Lockers ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เนื่องจากเป็นช่องทางที่ลูกค้าไม่ต้องสัมผัสกับทั้งพนักงานและลูกค้าคนอื่น ๆ โดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าทางออนไลน์หรือทางแอปฯ ของร้านแล้วมารับจากล็อกเกอร์ ส่วนพนักงานขับรถส่งอาหารยังสามารถใช้ตู้เพื่อเก็บรวบรวมออเดอร์ได้

    ตู้เก็บอาหารยังช่วยอำนวยความสะดวกในการปลีกตัวทางสังคมในช่วงที่เกิดโรคระบาด พวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ลูกค้าโต้ตอบกับพนักงานร้านอาหารเมื่อไม่จำเป็น ร้านอาหารหลายแห่งให้ลูกค้าเลือกเวลารับสินค้าเมื่อสั่งซื้อซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอในร้านอาหารและจำนวนลูกค้าที่รอในเวลาเดียวกัน

    ทั้งนี้ ขนาดของ Food Lockers มีขนาดแตกต่างกันไป รวมถึงฟังก์ชันต่าง ๆ โดยบางตู้อาจมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางตู้ถูกทำให้ร้อน ในขณะที่บางตู้จะเย็นเพื่อให้อาหารอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมจนกว่าลูกค้าจะมารับไป นอกจากนี้บางตู้ยังมีฟีเจอร์ใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ส่วนการรับสินค้านั้นมีทั้งให้กดรหัสหรือใช้วิธีสแกน QR Code

    ภาพคอนเซ็ปต์ Food Lockers ของร้าน Burger King ภาพจาก laptrinhx.com

    Burger King และ Smashburger กำลังเปิดตัวร้านอาหารรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมกับ Food Lockers ในปีนี้ ขณะที่ KFC ได้ทดลองใช้ตู้ Food Lockers กับ 4 สาขาในเมืองโตเกียว เมืองคาวาซากิ และจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนตุลาคม

    “เราแค่ต้องการให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย เพราะตู้เก็บอาหารไม่เพียงแต่ให้การทำธุรกรรมแบบไม่ต้องสัมผัสเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความสะดวกอีกด้วย”

    แม้ว่าเทรนด์ดังกล่าวจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะผู้บริโภคไม่ต้องสัมผัสกับพนักงานร้าน แต่จริง ๆ แล้ว Food Lockers ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการนำมาใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาด โดยย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน 2018 ‘Dunkin’ เคยทดสอบ Food Lockers หลังจากสั่งซื้ออาหารผ่านแอปฯ ผู้ใช้ก็แค่ไปที่ตู้เก็บของสแกนรหัส QR สั่งซื้อแล้ว เพื่อไม่ต้องต่อคิวรออาหาร หรือในปี 2019 ที่ Pizza Hut เริ่มทดลองโมเดลสั่งอาหารแบบ Click & Collect ใช้ตู้ที่เรียกว่า Cubbies ในการเสิร์ฟอาหารแทนการใช้คนที่เคาน์เตอร์

    สำหรับไทยอาจต้องรอดูว่าเชนฟาสต์ฟู้ดรายไหนจะนำมาใช้บ้างไหม หรืออาจจะไม่จำเป็นเพราะแค่อากาศของไทยก็ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคเรียบร้อยแล้ว

    Source

    ]]>
    1322464