MBK – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Tue, 21 Dec 2021 04:18:32 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เกมใหม่ MBK เปิดเช้าตรู่ยันท่องราตรี ใช้โมเดลค่าเช่าเเบบ GP ลุยถือหุ้นร้านอาหารดังต่างจังหวัด https://positioningmag.com/1367200 Mon, 20 Dec 2021 08:33:55 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367200 การเปลี่ยนเเปลงครั้งใหญ่ของศูนย์การค้า MBK Center’ ในรอบ 36 ปี น่าจับตามองไม่น้อย หลังลูกค้าหลักชาวต่างชาติหายวับไปพร้อมมรสุมโควิด โจทย์ใหญ่ต่อไป คือจะทำอย่างไรให้เเปลงร่างมาเป็นห้างฯ สำหรับคนไทยที่จะมาใช้เวลาอยู่ได้ ‘ตลอดทั้งวัน’ เเละยังคงดึงดูดใจชาวต่างชาติเหมือนเดิม

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มาอัปเดตความคืบหน้าของเเผนโครงการใหม่ให้ฟังว่าอาหารและเครื่องดื่ม คือหัวใจสำคัญในการปรับโซนนิ่ง รีโนเวทเเละปรับภาพลักษณ์ห้างใหม่ครั้งนี้ เพื่อจับลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ

โดยจะมีบริการต่างๆ มาเสิร์ฟลูกค้าตั้งเเต่ 7 โมงเช้า ไปจนถึงเเฮงเอ้าท์ดึกๆ ยามค่ำคืน ปรับสัดส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่ม จากเดิมที่ 16% ให้เป็น 25% พร้อมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์กับซิกเนเจอร์อีเวนต์ (Signature Event) ที่จะมีจัดงาน Idol Exchange ทุกเดือน และการประกวด Cover Dance ด้วย 

พร้อมเสนอทางเลือกให้ผู้ประกอบการจากค่าเช่าพื้นที่เเบบ Fixed Rent สู่ระบบ GP เตรียมถือหุ้นใน “ร้านดังต่างจังหวัด” คุยไว้ 4-5 ร้านในปีหน้า เเละมุ่งขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง

พระเอกคือร้านอาหาร อยู่ได้ทั้งวัน เช้าตรู่ยันท่องราตรี 

ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เริ่มปรับปรุงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยงบประมาณ 500 ล้านบาท ทำการปรับโฉมและปรับพื้นที่ เพิ่มร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

วางโพสชั่นใหม่เป็น ‘All Day Dining’ ซึ่งจะมีร้านอาหารครอบคลุ่มทั้ง 4 ช่วงเวลา ทั้งเช้า เที่ยง บ่าย เย็นถึงดึก เพื่อรองรับคนทำงาน นักท่องเที่ยวเเละกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาที่จะมาเรียนกวดวิชา ซึ่งได้วางกิมมิคสำคัญไว้ว่าห้างฯเเห่งนี้ จะมีติวเตอร์มากถึง 25 สถาบันชื่อดัง มารวมไว้ที่เดียว โดยเบื้องต้นเเบ่งจะมีการเปลี่ยนเเปลงเป็น 

  • ชั้น G จะเน้นเป็นโซนร้านอาหารเเละเครื่องดื่ม คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสต์ฟู้ดเเบรนด์ต่างๆ รับกลุ่มลูกค้าตื่นเช้า เปิดทางเข้าใหม่เพื่อความสะดวก ตั้งเเต่ 07.00 น. เป็นต้นไป ขณะเดียวกันก็จะมีร้านค้าเเฟชั่นของไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) ด้วย
  • ชั้น 2 เน้นร้านอาหารเเละเครื่องดื่มเหมือนกัน เเต่จะเเตกต่างด้วยการเป็น Bar & Restaurant เพิ่มพื้นที่ลาน Sky Walk รับกลุ่มลูกค้าที่จะมาสังสรรค์ยามราตรี เช่น ร้าน Cat on the roof , Secret Chamber , Shinkanzen Sushi , Tim Hortons , Oppa Daek, ลิ้มเหล่าโหงว , Hunter Village เเละหรือร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่จะเปิดให้บริการถึงตี 5 รวมไปถึงซูเปอร์ญี่ปุ่นอย่าง DON DON DONKI ขนาด 3,000 ตร.ม. ที่จะมาเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในไทย (แทนโซนห้างโตคิว)
  • ชั้น 3 ยังคงคอนเซปต์เดิมเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยจะมีโซนเครื่องประดับเพชร-ทอง สินค้าเเฟชั่นที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อ ของฝาก ฯลฯ
  • ชั้น 4 อาณาจักรร้านตู้รายย่อยที่ขายมือถือ-แกดเจ็ต บวกกับร้านใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มอย่าง Advice, Mi, JD Central, CSC ฯลฯ
  • ชั้น 5 สถาบันกวดวิชาติวเตอร์ 25 เเห่ง เป็น Learning Hub ที่เปลี่ยนเเปลงมาจากโซนเอ้าท์เล็ต
  • ชั้น 6 และ ชั้น 7 จะเป็นลานกิจกรรมใหม่ มีทั้งโซนร้านอาหารเเละช้อปปิ้งเดินเล่น สินค้าลดราคาจากโรงงาน เเละความบันเทิงอย่างโรงหนัง SF คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 เเละร้าน Animate

อ่านเพิ่มเติม : โฉมใหม่ MBK “ดองกิ” มาแทนโตคิว ผุดโซนกินดื่มมัดใจคนทำงาน

โดยผู้บริหาร MBK มองว่า ในยุคโควิด ‘ร้านอาหาร’ เป็นกุญเเจสำคัญที่จะดึงให้คนมาที่ศูนย์การค้ามากขึ้น ส่วนสินค้าพวกเเฟชั่นจะเป็นตัวรอง เพราะว่ายามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก คนเราจะงดซื้อเสื้อผ้าได้ เเต่อาหารเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ผู้คนยังต้องการมีประสบการณ์ทานข้าวนอกบ้าน อยากนั่งทานที่ร้านสลับกับเดลิเวอรี่ นี่จึงเป็นจุดที่จะดึงลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

การปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงทราฟฟิกปริมาณคนเข้าศูนย์การค้า ในปีหน้าได้ประมาณ 90,000 คนต่อวัน เเบ่งเป็นคนไทย 60% เเละต่างชาติเหลือแค่ 40% จากเดิมปีนี้ที่มีประมาณ 80,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ช่วงก่อนโรคระบาดทราฟฟิกลูกค้าที่มาเดินมา MBK อยู่ที่ 80,000 คนต่อวัน (เคยไปถึง 120,000 คนต่อวัน) เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60% เเละคนไทย 40%

– สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

จาก Fixed Rent สู่ระบบ GP 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ MBK นำมาใช้เกี่ยวกับการปรับค่าเช่าพื้นที่ใหม่ นั่นก็คือ การเสนอทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ว่าจะเลือก ระบบเก็บค่าเช่าแบบ “Fixed Rent” ตามจำนวนพื้นที่เช่าเท่าๆ กันในเเต่ละเดือน หรือจะหันมาลองใช้ระบบ ระบบ “GP” ที่คิดค่าเช่าตามสัดส่วนยอดขายของร้าน 

สำหรับข้อดีของระบบ GP คือทางร้านไม่ต้องรับความเสี่ยงหากมีลูกค้าน้อยหรือรายได้ไม่ค่อยดีในช่วงวิกฤตโควิดขายได้มากน้อยก็จ่ายตามเปอร์เซ็นต์ที่เจรจาตกลงกันไว้

โดยค่า GP ของศูนย์การค้า  MBK จะเริ่มตั้งแต่ 5 – 35% ของยอดขาย ขึ้นอยู่กับการเจรจา อิงตามหลายปัจจัย อย่างเช่น ชื่อเสียงของแบรนด์ ขนาดกิจการ ขนาดพื้นที่เเละทำเล

อย่างไรก็ตาม ระบบ GP อาจไม่เหมาะกับร้านที่ทำยอดขายได้ดีหรือคนเข้าร้านเยอะอยู่เเล้ว เพราะยอดที่ต้องจ่ายเเทนค่าเช่าตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงนั้น อาจจะเเพงกว่าค่าเช่าแบบ Fixed Rent รายเดือนก็ได้

ดังนั้น หน้าที่ของศูนย์การค้า จึงจะต้องมุ่งทำการตลาด โปรโมทโปรโมชั่น ออกแคมเปญส่งเสริมการขาย รวมไปถึงจัดอีเวนท์ต่างๆ กระตุ้นให้ผู้บริโภคมาใช้บริการในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้ร้านภายในห้างฯ เมื่อขายดีมากขึ้น ก็ยิ่งได้ค่า GP มากขึ้นนั่นเอง

MBK จะเริ่มนำระบบ GP มาใช้ครั้งเเรกกับกลุ่มร้านอาหารก่อน ทั้งร้านเดิมเเละร้านใหม่ ในสัญญาปี 2565 เเละวางเเผนว่าจะไปจะนำไปใช้กับกลุ่มธุรกิจแฟชั่นต่อไป โดยคาดว่า ไตรมาส 2 ปีหน้า อัตราการเช่าทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 96% จาก 76% ในปัจจุบัน

การที่เราหันมาเสนอทางเลือกให้ใช้ระบบ GP สัญญา 3 ปี ผู้ประกอบการจะรู้สึกว่าเราไปด้วยกันกับเขา ได้ก็ได้ด้วยกัน เสียก็เสียด้วยกัน ในฐานะ Landlord เราต้องทำมาร์เก็ตติ้งชวนให้คนมาดื่มมากินที่ MBK ได้ตลอดทั้งวัน พยายามหาร้านดังในต่างจังหวัดที่ไม่มีในกรุงเทพ ให้มาเปิดที่นี่ให้ได้

เตรียมถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังต่างจังหวัด” 

MBK ต้องการเสริมพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มให้มีความแข็งแกร่งและหลากหลาย จากเดิมที่มีกลุ่มโรงแรม อสังหาฯ ค้าปลีกรีเทล โดยการเติมเต็มโครงการศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ที่เจาะกลุ่มครอบครัว ด้วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นั้นก็เป็นทิศทางที่ดี

โดย MBK กำลังจะใช้โมเดล “ร่วมทุน” เป็นพันธมิตรเข้าไปถือหุ้นใน “ร้านอาหารดังในต่างจังหวัด” ที่มีชื่อเสียงอยู่เเล้ว โดยเบื้องต้นมีการศึกษาและเริ่มเจรจากับ 4-5 ร้านเเล้ว เช่น ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่เเละชานเมืองกรุงเทพ มีทั้งเมนูประเภทสเต็ก อาหารจีน ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

คาดว่าในปีหน้า อาจจะเจรจาสำเร็จและเปิดตัวได้อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ร้าน หรือทั้งปีอาจะจะดีลได้สำเร็จทั้ง 4 ร้าน เน้นเป็นร้านอาหารขนาดเล็กทั่วไป มาสร้างให้เติบโตไปด้วยกัน ทางห้างฯ ได้ Know-How จากผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้เงินทุน ได้ขยายสาขา

“เราอยากเปลี่ยนแปลง MBK ไม่อยากได้ร้านอาหารที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน หรือไปเดินที่ไหนก็เจอ แต่อยากได้ร้านที่ทำให้รู้สึกว่าต้องมาที่นี่ ถึงจะได้ทานร้านนี้” 

ขยายอาณาจักร ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ บนที่ดินของตัวเอง 

ล่าสุด บริษัทยังได้ขยายธุรกิจไปในทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ในโครงการ “เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์” ซึ่งเป็นโมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้มอลล์ บนพื้นที่กว่า 30,000 ตร.ม. ใกล้สนามกอล์ฟ ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และสนามกอล์ฟบางกอก กอล์ฟ คลับ

โดยมองว่า เป็น ‘ทำเลทอง’ ที่เหมาะจะเจาะกลุ่มครอบครัว เพราะโซนหมู่บ้านที่ผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงสำนักงานต่างๆ เเละ “การที่ไม่ต้องเช่าที่ ก็ทำให้เราได้ยืนอยู่บนขาของตัวเอง” 

สมพลบอกว่า เเม้ตอนนี้จะมีคอมมูนิตี้มอลล์ผุดขึ้นมามากมาย มีการเเข่งขันสูง เเต่คอมมูนิตี้มอลล์ที่จะอยู่รอดได้นั้น ต้องมีสามารถดึงดูดลูกค้าได้ทั้งวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เน้นเป็นพนักงานออฟฟิศ เเละวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์-อาทิตย์) เน้นเป็นครอบครัว มีร้านอาหารที่คนจะมากินเป็นประจำ มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ให้คนมาใช้เวลาอยู่ได้นานๆ 

ปัจจุบัน ได้ย้ายพนักงานแอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) บริษัทในเครือเอ็ม บี เค ย่านบางนา ซึ่งเป็นศูนย์ประมูลรถยนต์และรถจักรยานยนต์มือสองครบวงจร เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของบริษัทเป็นที่เรียบร้อย เเละจะทยอยเปิดพื้นที่ให้มีสำนักงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี ‘โปรเจ็กต์ใหญ่’ ที่จะขยายคอมมูนิตี้เพื่อรองรับธุรกิจครบวงจร พร้อมจะสร้าง “ท่าเรือมารีน่า” ในอนาคตอันใกล้นี้ 

ผู้บริหาร MBK เเย้มว่า ทำเลของคอมมูนิตี้มอลล์เเห่งต่อไป กำลังดูๆ ไว้เเถว ‘จรัญสนิทวงศ์’ ซึ่งก็เป็นที่ดินของบริษัท เช่นเดียวกัน ตามโมเดลที่จะพยายามไม่ต้องเสียค่าเช่า เเละยืนอยู่บนขาของตัวเอง…

 

]]>
1367200
โฉมใหม่ MBK “ดองกิ” มาแทนโตคิว ผุดโซนกินดื่มมัดใจคนทำงาน https://positioningmag.com/1317279 Sun, 31 Jan 2021 16:55:05 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317279 อัปเดตแผน MBK พลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดห้างฯ 40% ของศูนย์การค้าเตรียมปรับใหม่เพื่อดึงคนไทยมากขึ้น เปิดสารพัดแม่เหล็กสำคัญ ตั้งแต่ “ดองกิ” ที่จะเหมาชั้น 2 ของโตคิวเดิม เปิดแบบ 24 ชั่วโมง ฟากศูนย์การค้าชั้น 2 จะมีโซนแฮงก์เอาต์กินดื่ม อิซากายะ ข้าวต้มรอบดึก เพิ่มอาณาจักรไอทีอย่าง Advice, Mi, JD Central เปิดร้านรับยุค O2O พบกันไตรมาส 3 ปีนี้

MBK Center กำลังโยกย้ายปรับโซนนิ่งในศูนย์การค้าใหม่ มีโจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนศูนย์ฯ ให้เป็น “ห้างฯ ของคนรุ่นใหม่” สำหรับคนไทย โดยไม่ทิ้งชาวต่างชาติ ด้วยร้านค้าที่ดึงดูดมากกว่าเดิม

“สมพล ตรีภพนารถ” กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์ฯ อยู่ระหว่างปรับพลิกโฉมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดบริการเมื่อ 36 ปีก่อน โดย 40% ของพื้นที่ขายรวม 84,000 ตร.ม. จะมีการเปลี่ยนแปลง คอนเซ็ปต์ใหม่เป็นคำตอบของการตีโจทย์ “ดึงคนไทยเดินห้างฯ” ให้มากขึ้น จากปกติก่อน COVID-19 มีชาวต่างชาติ 70% คนไทย 30% หลังจากนี้จะปรับสัดส่วนให้เป็น 50 : 50

สมพลกล่าวว่า แผนการปรับศูนย์ฯ เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยบริษัทเล็งเห็นว่าศูนย์ฯ ควรจะต้องดึงดูดคนไทยให้ได้มากกว่านี้ หลังจากรอบข้างมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังที่เห็นว่าที่ผ่านมา MBK มีการใช้ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” มีเธียเตอร์ BNK48 เข้ามาเปิด

จากแผนที่ได้ศึกษาไว้แล้ว ประกอบกับ “โตคิว” ต้องการถอนการลงทุนด้านรีเทลในไทย ทำให้มีโอกาสรวบพื้นที่ส่วนนี้ 4 ชั้น 12,000 ตร.ม. มาปรับปรุงใหม่พร้อมๆ กัน และครั้งนี้ MBK จะปล่อยเช่าเองทั้งหมด ต่างจากเดิมที่เป็นห้างสรรพสินค้ารายใดรายหนึ่งเช่ารวมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ยิ่งเห็นแผนการสร้างบรรยากาศใหม่ที่ชัดขึ้น

สรุปแผนของ MBK สมพลแจกแจงไล่ไปทีละชั้น จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ชั้น G – ฝั่งโตคิวเดิม จะมีร้านค้าแบรนด์ใหม่ลงทุนโดย ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล (เครือสหพัฒน์) เหมาทั้งชั้นสินค้าเป็นกลุ่มแฟชัน ส่วนฝั่ง MBK โซนด้านหน้าติดถนนพญาไททั้งหมดจะเป็นร้านอาหาร โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่เปิดเผยได้แล้วคือร้าน “ป้อน” จะเข้ามาเปิดในโซน B ส่วนบริเวณ Tops Supermarket จะมีการขยายพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ใหญ่ขึ้น และปรับปรุงทางเข้าออกจุด drop-off ให้กว้างขวางขึ้น

ร้านป้อน ชั้น G

ชั้น 2 – ฝั่งโตคิวเดิม จะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต DON DON DONKI หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ดองกิ” ขนาด 3,000 ตร.ม. และเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในประเทศไทย ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซนร้านอาหารอีกเช่นกันแต่เน้นจับกลุ่มวัยทำงาน มีไฮไลต์เป็นโซนกินดื่ม พร้อมด้วยร้านข้าวต้มรอบดึกตอบโจทย์การแฮงก์เอาต์ นอกจากจะมีร้านอาหาร เช่น Tim Hortons, ฮองมิน, Shinkanzen Sushi, S&P ซึ่งสองร้านหลังจะเปิดยาวถึงตี 1

DON DON DONKI หรือ ดองกิ เตรียมเปิดบนชั้น 2 และเป็นสาขาใหญ่ 3,000 ตร.ม.

ชั้น 3 – ฝั่งโตคิวเดิม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาผู้เช่า โดยมีผู้เช่าติดต่อแล้วแยกเป็น 2 กลุ่ม ส่วนด้านนอกโตคิว จะเป็นโซน “ไทย-เทศ” ชั้นนี้จะร้านค้าขายของฝาก ของดีเมืองไทย

ชั้น 4 – ฝั่งโตคิวเดิมที่เคยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต จะกลายเป็นอาณาจักรไอที เพื่อให้ต่อเนื่องกับพื้้นที่ชั้น 4 ของ MBK ที่ทุกคนรู้จักดีว่าเป็นดินแดนมือถือ-แกดเจ็ต มีร้านใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น Advice, Mi, JD Central, CSC ส่วนพื้นที่ขายมือถือจะปรับจำนวนตู้ขายลง 50% เพื่อเพิ่มพื้นที่ร้านแต่ละห้องให้ใหญ่ขึ้น และทางเดินโปร่งขึ้น พร้อมคอนเฟิร์มว่า “ร้านขนมเบื้อง” ซิกเนเจอร์ MBK จะยังอยู่ที่ชั้นนี้

ชั้น 5 – พลิกโฉมใหม่หมดจด จากเคยเป็น Outlet กลายเป็น Learning Hub และโซนธุรกิจบริการ มีสถาบันกวดวิชาที่เซ็นสัญญาแล้ว 24 ราย (บางส่วนเปิดที่ชั้น 4 และ 6 ด้วย) นำโดย “ออนดีมานด์” ที่ใช้พื้นที่มากกว่า 2,000 ตร.ม. และอีกหลายแห่ง เช่น DA’VANCE, Positive Learning, EP Focus, The BTS, Sup’K, Monkey Monkey, Math Logik และชั้นนี้มี ศูนย์บริการพาสปอร์ต เปิดแล้ว รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น Kerry Express, ซ่อมคอมพิวเตอร์

สถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ ชั้น 5

ชั้น 6 – เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซและออฟฟิศ TTA Space by Draftboard ส่วนฝั่งฟู้ดคอร์ทและกลุ่มร้านอาหาร ยังคงไว้เช่นเดิม แต่จะมีการรีโนเวตให้สวยงามขึ้น

ชั้น 7โซนโรงหนัง SF และกิจกรรมความบันเทิง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ BNK48 ร้าน Animate ตู้เกม โดยโรงหนัง SF จะมีการปรับโรงภาพยนตร์ VIP ใหม่

นอกจากมีร้านใหม่ลงจำนวนมากแล้ว MBK จะปรับสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มด้วย โดยมี “ลิฟต์แก้ว” ตัวใหม่บริเวณหน้าโตคิวเดิมวิ่งขึ้นลงชั้น 2-7 และจะปรับบันไดเลื่อนใหม่ 8 จุด ทั้งหมดนี้ใช้งบรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

 

ไตรมาส 3 พร้อมเปิดตัว

สมพลกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เช่าเซ็นสัญญาแล้ว 80% และวางเป้าไตรมาส 3 ปีนี้จะเปิดตัวแบบแกรนด์โอเพนนิ่ง และร้านต่างๆ จะเปิดครบ 100% ภายในสิ้นปีนี้

บรรยากาศปัจจุบันบนชั้น 5

ส่วนกรณีผู้เช่าเดิม สมพลกล่าวว่า หากยังไม่หมดสัญญาบริษัทจะมีการเจรจาว่าขณะนี้ศูนย์ฯ ต้องรีโนเวตใหม่ มีการจัดโซนนิ่ง เช่น ร้านขายของฝาก ช้อปปิ้ง จะย้ายไปรวมบนชั้น 3 ผู้เช่าที่ยินดีย้ายห้องตามการจัดโซนนิ่งมีการย้ายไปแล้ว ส่วนผู้เช่าที่ไม่ต้องการย้ายจะยังอยู่ที่เดิมไปจนกว่าจะหมดสัญญา และขณะนี้ MBK ยังคงให้ส่วนลดค่าเช่า 70% เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สมพลยังระบุถึงบางร้านที่เป็นตำนานของ MBK เช่น กลุ่มร้านเฟอร์นิเจอร์บนชั้น 5 บางร้านยังต่อสัญญากับศูนย์ฯ หรือร้านอาหารฮองมินที่อยู่กับศูนย์ฯ มาหลายสิบปีก็ยังไปต่อ โดยยอมปรับย้ายไปอยู่บนชั้น 2 ที่จะเป็นโซนร้านอาหาร

 

ปี’64 เน้นคนไทย รอต่างชาติมาสมทบปีหน้า

“ปี’64 นี้จะยังเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3 เพราะตามแผนจะเริ่มมีวัคซีนเข้ามา ทำให้คนมั่นใจในการใช้ชีวิต ดังนั้น ถ้าเราพลิกโฉมให้ทันไตรมาส 3 เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้” สมพลกล่าว “ส่วนต่างชาติเป็นปี’65 ที่น่าจะเริ่มเข้ามาได้ประมาณ 50% ของตัวเลขก่อนเกิด COVID-19 โดยเป็นการทำวัคซีนพาสปอร์ต แสดงตนว่าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจึงเข้ามาเที่ยวในไทยได้”

สมพลระบุว่า ก่อน COVID-19 มีทราฟฟิกเข้า MBK วันละ 80,000 คน แบ่งเป็นต่างชาติราว 50,000 คน และคนไทยราว 30,000 คน

แต่หลัง COVID-19 เกิดขึ้น ปัจจุบันลดเหลือทราฟฟิก 28,000-30,000 คน เพราะมีเฉพาะลูกค้าคนไทย เคยลงไปต่ำสุดคือวันละ 22,000 คน และเคยขึ้นมาดีที่สุดคือวันละ 40,000 คน เป็นช่วงก่อนจะเกิดการระบาดรอบใหม่และรัฐอนุญาตให้จัดอีเวนต์ได้

เมื่อปรับโฉมต่างๆ แล้ว ความคาดหวังคือต้องการดันยอดคนไทยไปถึงวันละ 50,000 คน และต่างชาติที่น่าจะกลับมาวันละ 50,000 คนได้อีกครั้งเมื่อเปิดประเทศ เพราะ MBK มีกลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มทัวร์เข้ามาอยู่แล้ว และเชื่อว่าแม่เหล็กของ MBK ต่อชาวต่างชาติจะยังอยู่ จุดสำคัญนอกจากมาช้อปปิ้งแล้ว ยังมีพ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดีย อินโดนีเซียรับหิ้วมือถือมือสองจากชั้น 4 ที่จะกลับมาอีกครั้ง

ความคาดหวังเมื่อไทยเปิดประเทศได้เต็มที่อีกครั้ง MBK จะมีทราฟฟิกไปแตะวันละ 100,000 คน

 

ดองกิ-โซนกินดื่ม-กวดวิชา แม่เหล็กดึงคนไทย

จากการปรับเปลี่ยนทั้งหมด สมพลกล่าวว่า “ดองกิ” คือแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงคนได้ถึงวันละ 20,000 คน (เมื่อเปิดประเทศได้เต็มที่) ที่สำคัญก็คือคนไทยซึ่งรู้จักดองกิเป็นอย่างดี โดยดองกิสาขานี้จะใหญ่ที่สุด และจะชูจุดขายสินค้าสดนำเข้าจากญี่ปุ่นในราคาที่ถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าอื่น

รวมถึงโซนกินดื่มบนชั้น 2 จะดึงคนทำงานได้จำนวนมาก หลักๆ คือกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศจากสำนักงาน SIAMSCAPE ฝั่งสยามสแควร์ (โบนันซ่าเดิม) ซึ่งกำลังก่อสร้าง และ MBK จะเชื่อมสะพานลอยตรงเข้าไปที่ตึกด้วย เมื่อดูจากจำนวนคนที่ใช้บริการ Groove เซ็นทรัลเวิลด์ขณะนี้ จุดนี้มีสิทธิ์ “ฮิต” สูงมาก

นอกจากนี้ยังมีโซนกวดวิชา แค่เพียงออนดีมานด์เจ้าเดียวคาดว่าจะมีนักเรียนเข้ามาวันละ 1,500 คน ยังไม่รวมอีก 23 สถาบัน ซึ่งตรงนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกประการคือ คอร์สเรียนหลายคอร์สเปิดสอนตั้งแต่เช้า ทำให้ร้านอาหารบางร้านสามารถจับจุดนี้และให้บริการเช้าได้

เมื่อมีทั้งแม่เหล็ก เช้าตรู่ ยามดึก และดองกิ 24 ชม. ทำให้ MBK จะเป็นศูนย์ฯ ที่แทบไม่มีเวลาหลับใหลเลยทีเดียว!

]]>
1317279
เปิดภาพ MBK ช่วงผลัดใบ ร้านขายของฝากทยอย “เลิกกิจการ” รอเปลี่ยนเป็นร้านรับคนไทย https://positioningmag.com/1316838 Thu, 28 Jan 2021 08:09:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1316838 บรรยากาศ MBK ยุคหลัง COVID-19 น่าใจหาย คนเดินเงียบเหงา พบห้องเช่าว่างจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มร้านรับนักท่องเที่ยวที่โบกมือลา ผู้เช่าเผยเตรียมย้ายออกอีกเพียบจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ตามแผนของ MBK ที่จะปรับศูนย์การค้ารับคนไทยแทนต่างชาติ

Positioning ลงสำรวจพื้นที่ในศูนย์การค้า MBK Center หรือ มาบุญครอง ช่วงเวลา 17.30-18.30 น. เมื่อวันอังคารที่ 26 ม.ค. 64 พบบรรยากาศเงียบเหงาและร้านค้าจำนวนมากปิดกิจการเป็นห้องว่าง หรือกำลังขึ้นป้ายลดล้างสต๊อกเลิกกิจการ

โดยตั้งแต่ชั้น 1-3 ซึ่งปกติเป็นร้านขายสินค้าแฟชั่น ของฝาก เสริมด้วยร้านอาหารบางส่วน พบห้องว่างขึ้นป้าย “พื้นที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง เตรียมพบกับบรรยากาศใหม่เร็วๆ นี้” มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ล้อมป้ายชื่อร้านใหม่ที่จะมาแทนที่ร้านเดิมเรียบร้อยแล้ว เช่น ร้าน “ป้อน” บริเวณชั้น 1 ของศูนย์ฯ เตรียมเปิดสาขาใหม่ และมีกลุ่มร้านชาไข่มุกเปิดใหม่หลายร้านเข้ามาให้เห็น

บรรยากาศชั้น 2-3 ศูนย์การค้า MBK วันที่ 26 ม.ค. 64
บรรยากาศชั้น 2-3 ศูนย์การค้า MBK วันที่ 26 ม.ค. 64
ป้ายลดล้างสต๊อกถูกแขวนขึ้นหน้าร้านหลายร้าน

ถัดขึ้นไปชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นซื้อขายและรับซ่อมโทรศัพท์มือถือดูโล่งกว่าที่เคย มีล็อกว่างหลายล็อก แต่โซนธนาคารและร้าน Daiso ยังตั้งอยู่เหมือนเดิม

ชั้น 4 โซนมือถือ
ชั้น 4 ร้านกาแฟและร้าน Daiso ยังอยู่ที่เดิม รวมถึงธนาคารที่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน

ขณะที่ชั้น 5 เรียกว่าพลิกโฉมใหม่หมดจด เพราะกลายเป็นดินแดนสถาบันกวดวิชาทั้งเวิ้ง โดยมีสถาบันที่ขึ้นป้ายล้อมร้าน อยู่ระหว่างตกแต่ง หรือเปิดดำเนินการแล้ว เช่น ออนดีมานด์, Absolute Learning, คณิตครู Sup’K, Monkey Monkey เป็นต้น

ชั้น 5 สถาบันกวดวิชาเริ่มเข้ามาเปิดแล้ว

ส่วนชั้น 6 ปีกฝั่งเดียวกับโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส พื้นที่ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงทั้งหมด เกือบทุกร้านเดิมได้ย้ายออกไปแล้ว โดยมีป้ายระบุว่ากำลังปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 63 – 10 ก.พ. 64 ขณะที่ฝั่งฟู้ดคอร์ทและร้านอาหารใหม่ๆ ที่เคยปรับไปตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 ก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะเงียบเหงาไปบ้าง

ชั้น 6 ที่เคยเป็นร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ของฝาก กลายเป็นล็อกว่างเกือบทั้งเวิ้ง โดย MBK ระบุว่าชั้นนี้จะกลายเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซและออฟฟิศ

ถัดขึ้นไปที่ชั้น 7 ชั้น โรงภาพยนตร์ SF คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง แหล่งรวมตู้เกม ร้านขายการ์ตูนยักษ์ใหญ่ Animate และมีเธียเตอร์ของ BNK48 กิจกรรมความบันเทิงเหล่านี้ยังอยู่กันครบ แต่ร้านอาหารบางร้านย้ายออกไปแล้ว โดยมีป้าย SF One Floor Entertainment ล้อมเอาไว้ก่อน

ชั้น 7 มีป้าย SF One Floor Entertainment ขึ้นแทนที่ร้านอาหารที่ปิดไป

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าโตคิว ซึ่งกินพื้นที่ 4 ชั้น 12,000 ตร.ม. ก็กำลังจะปิดกิจการ 31 ม.ค. นี้ ดังที่มีการประกาศออกไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน

ทั้งนี้ Positioning ได้สอบถามเจ้าของร้านขายของฝาก-เครื่องประดับบนชั้น 3 ที่ขึ้นป้ายเลิกกิจการ ระบุว่าร้านของตนกำลังจะปิดกิจการสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยสถานการณ์ร้านที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยวทยอยย้ายออกนั้นเกิดขึ้นมาแล้วหลายเดือน และมีอีกหลายร้านรอบๆ จะไม่ต่อสัญญา ทยอยย้ายออกกันจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 เนื่องจากทาง MBK จะปรับศูนย์ฯ ไปเจาะกลุ่มคนไทยมากขึ้น

ขณะที่พนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดร้านหนึ่ง ระบุว่าช่วงหลังการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น เพราะทำให้ลูกค้าคนไทยไม่เข้ามา จากปกติช่วงปีก่อนยังมีลูกค้าเดินห้างฯ บ้างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

บรรยากาศใน MBK

แผนการปรับเปลี่ยน MBK ให้เป็นศูนย์การค้าเจาะกลุ่มคนไทยนั้น ทาง บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวแจ้งตั้งแต่เดือนตุลาคม’63 ว่า บริษัทเตรียมงบลงทุน 1,000 ล้านบาทเพื่อทยอยปรับศูนย์ฯ ไปจนถึงสิ้นปี 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ชั้น G และ ชั้น 2 จะมีการปรับโซนด้านหน้าห้างฯ และโซนแฟชั่นทั้งหมดให้เป็นร้านอาหาร ที่ตกลงแล้วมี 9 ร้าน เช่น สุกี้ตี๋น้อย, 2 Fast Food เป็นต้น บางร้านจะเปิดบริการตั้งเเต่ 7 โมงเช้า และบางร้านปิดดึกถึงตี 2

ชั้น 3 รวมสินค้าขายชาวต่างชาติ และเล็งพัฒนาเป็นศูนย์รวมสินค้าไทยคุณภาพดี เช่น ผลไม้ที่ขายตรงโดยเกษตรกร

ชั้น 4 โซนโทรศัพท์และและธนาคารเหมือนเดิม แต่จะมีร้านเพิ่มเติม อาทิ เสียวหมี่ คอมเซเว่น และบานาน่าไอที

ชั้น 5 ปรับจาก Outlet เป็นโซนการศึกษาสำหรับ “สถาบันกวดวิชา” ต่าง ๆ ครบ 19 สถาบัน มีศูนย์บริการทำพาสปอร์ต และปรับเป็นโซนบริการความงาม

ชั้น 6 เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ และออฟฟิศ

ชั้น 7 จะเป็นโซนเอนเตอร์เทนเมนต์เหมือนเดิม โดยมีโรงภาพยนตร์ SF, เกม, เธียเตอร์ของ BNK48

ตัวอย่างร้านใหม่ที่เข้ามาแล้ว : มี-ความ-สุข ชานมไข่มุกกระบอก

ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ศูนย์การค้า MBK มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติถึง 70% ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันออกกลาง อินเดีย อินโดนีเซีย ทำให้ร้านค้าจำนวนมากจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มร้านขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ สูท กระเป๋า กระเป๋าเดินทาง ของฝาก ที่ตรงกับรสนิยมชาวอาหรับ ส่วน 30% ที่เหลือที่เป็นคนไทย ได้อานิสงส์ส่วนใหญ่จากนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่อยู่โดยรอบ

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ขึ้นทำให้ทราฟฟิก MBK ลดจาก 100,000 คนต่อวัน เหลือ 30,000-40,000 คนต่อวัน (ข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม’63) ยิ่งช่วงนี้ที่สถาบันการศึกษายังปิดชั่วคราว เป็นไปได้ว่าทราฟฟิกจะลดลงอีก

อย่างไรก็ตาม จากแผนการปรับร้านค้าภายในแบบ “ยกเครื่อง” ทางบริษัทเชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนสมดุลขึ้น วางเป้ามีชาวต่างชาติ 50% และคนไทย 50% ทำให้ทราฟฟิก MBK กลับมามากยิ่งกว่าเดิม โดยคาดหวังเป้า 120,000 คนต่อวันในปี 2565

ส่วนช่วงนี้นั้นนับได้ว่า MBK หรือ มาบุญครอง ศูนย์การค้าเก่าแก่อายุ 36 ปี ยังอยู่ท่ามกลางพายุครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ ต้องรอลุ้นว่าแผนครั้งนี้จะพาผ่านพ้นวิกฤตได้สำเร็จหรือไม่!

]]>
1316838
ลาอีกราย! ห้าง “โตคิว” จ่อปิดสาขาที่ MBK สิ้นเดือนม.ค. 64 เจอปัญหาการเงิน ไม่มีนักท่องเที่ยว https://positioningmag.com/1303378 Wed, 28 Oct 2020 05:18:21 +0000 https://positioningmag.com/?p=1303378 ค้าปลีกญี่ปุ่นเตรียมถอยทัพจากประทเศไทยอีกราย Tokyu (โตคิว) ได้ประกาศปิดสาขาที่เหลือแห่งเดียวที่ MBK ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 คาดว่าเกิดปัญหาทางการเงิน และไม่มีนักท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

จากรายงานของ Nikkei Asia บอกว่า ห้างสรรพสินค้า Tokyu สัญชาติญี่ปุ่น เตรียมปิดสาขาในกรุงเทพฯ ในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2564 หลังจากเกิดปัญหาทางด้านการเงินครั้งใหญ่ และไม่มีนักท่องเที่ยว

การปิดสาขาของ Tokyu ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าห้างค้าปลีกญี่ปุ่นได้ถอยทัพจากตลาดในประเทศไทยจนเกือบหมด เหลือเพียงแค่ “ทาคาชิมายา” ที่ดิ ไอคอนสยามแห่งเดียวเท่านั้น หลังจากที่ “อิเซตัน” ก็เพิ่งโบกมือลาไปไม่นานมานี้ เพราหมดสัญญากับทางเซ็นทรัลเวิลด์

ห้าง Tokyu ได้เปิดสาขาในประเทศไทยเมื่อปี 1985 นับได้ว่าทำตลาดมา 35 ปีแล้ว โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีห้างค้าปลีกญี่ปุ่นตบเท้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วก็มีล้มหายตายจาก ม้วนเสื่อกลับบ้านไปตามๆ กัน

สาเหตุหลักของการปิดสาขาในครั้งนี้ของ Tokyu มาจากสถานการณ์ทางการเงิน และการท่องเที่ยว โดยที่กลุ่มลูกค้าหลักของห้างเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยว

เมื่อปีที่ผ่านมามีปัญหาค่าเงินบาทแข็ง แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมาก ในขณะเดียวกันการแข่งขันในตลาดค้าปลีกในประเทศไทยก็ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เป็นตะปูตอกฝาโลงให้ Tokyu ก็คือสถานการณ์ COVID-19 ที่จำกัดนักท่องเที่ยว และคนญี่ปุ่นที่เข้ามาในไทย ทำให้ไม่มีทราฟฟิก และรายได้เท่าที่ควร

จากนี้ไปต้องมาลุ้นสถานการณ์ค้าปลีกของห้างญี่ปุ่นแห่งสุดท้ายในประเทศไทย แต่ก็ต้องลุ้นสถานการณ์ค้าปลีกสัญชาติไทยด้วยกันเองด้วยเช่นกัน…

Source

]]>
1303378
เปิดภารกิจมัดใจนักช้อปไทย ‘MBK’ ยอมทุ่มพันล้านลบภาพ ‘ห้างต่างชาติ’ https://positioningmag.com/1301662 Thu, 15 Oct 2020 11:51:56 +0000 https://positioningmag.com/?p=1301662 หากพูดถึงห้างฯ ‘MBK’ หรือ ‘มาบุญครอง’ ภาพจำของใคร ๆ คงจะคิดว่าเป็นห้างฯ ที่มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพราะที่ผ่านมา 70% ของผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย, อินเดีย และอาหรับ ที่เหลือเป็นนักช้อปไทย แต่จากวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้น่านฟ้าไทยปิดไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งสำหรับ MBK นั้น นี่เปรียบเสมือนการ ‘Set Zero’ ของธุรกิจเลยทีเดียว

วิกฤตใหญ่สุดในรอบ 36 ปี

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติยอดคนเดิน MBK เฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คน/วัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 30,000-40,000 คน/วัน เพราะนักท่องเที่ยวหาย ซึ่งนี่ถือเป็นวิกฤตหนักสุดตั้งแต่เปิดศูนย์การค้ามา 36 ปี ไม่ว่าจะเกิดโรคหรือวิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ม็อบทางการเมืองก็ไม่หนักเท่านี้ เพราะไม่ใช่แค่ไทยแต่เป็นทั่วโลก

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา MBKไม่เคยขาดทุน แถมถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกคน แต่มาวันนี้ไม่ใช่แล้ว ซึ่งโชคดีที่ธุรกิจอื่น ๆ ในเครือยังพอทำกำไร ทำให้เรายังไม่เข้าเนื้อ ไม่งั้นป่านนี้คงเจ๊งไปแล้ว”

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ปรับภาพดึง ‘คนไทย’

พฤติกรรมของลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่เข้ามาใช้จ่ายในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 89% ซื้อสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า, รองเท้า, กระเป๋า, เครื่องประดับ) 38% สินค้าอุปโภคบริโภคในท็อปส์ 23% ชมภาพยนตร์/เล่นเกม 21% โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ 19% โดย MBK ยอมทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาทปรับโฉมห้างฯ ใหม่เพื่อดึงดูดคนไทย โดยจะทยอยปรับไปทีละชั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2564

ชั้น G และ ชั้น 2 จะมีการปรับโซนด้านหน้าห้างฯ ให้เป็นอาหาร ในโซนแฟชั่นทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็นร้านอาหารเช่นกัน เบื้องต้นมีร้านที่ตกลงแล้ว 9 ร้าน อาทิ สุกี้ตี๋น้อย, 2 Fast Food เป็นต้น ซึ่งร้านอาหารบางร้านจะเปิดบริการตั้งเเต่ 7 โมงเช้า และบางร้านปิดดึกถึงตี 2 เลยทีเดียว

ชั้น 3 รวมสินค้าขายชาวต่างชาติ และเล็งพัฒนาเป็นศูนย์รวมสินค้าไทยคุณภาพดี เช่น ผลไม้ที่ขายตรงโดยเกษตรกร

ชั้น 4 โซนโทรศัพท์และและธนาคารเหมือนเดิม แต่จะมีร้านเพิ่มเติม อาทิ เสียวหมี่ คอมเซเว่น และบานาน่าไอที

ชั้น 5 ปรับจาก Outlet เป็นโซนการศึกษาสำหรับสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ครบ 19 สถาบัน, มีศูนย์บริการทำพาสปอร์ต และปรับเป็นโซนบริการความงาม

ชั้น 6 เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ และออฟฟิศ

ชั้น 7 จะเป็นโซนเอนเตอร์เทนเมนต์เหมือนเดิม โดยมีโรงภาพยนตร์ SF, เกม, เธียเตอร์ของ BNK48

“เราคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารจากเดิมมี 20% จะเพิ่มเป็น 22%, แบงก์เซอร์วิสจาก 9% เป็น 19%, เอนเตอร์เทนเมนต์ 17% เท่าเดิม, สินค้าแฟชั่นจาก 20% ลดเหลือ 15%, โมบาย 10% เท่าเดิม, ความงามจาก 9% เหลือ 7% และอื่น ๆ 10%”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิด COVID-19 มีลูกห้องหายไป 10% จากทั้งหมด 1,700 ร้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายสินค้าให้ชาวต่างชาติ เช่น ชุดอาหรับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทาง MBK เข้าใจถึงปัญหา โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ก็ลดค่าเช่า 70% ตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ และจากนี้ยังต้องดูสถานการณ์เดือนต่อเดือนว่าจะลดยาวถึงเมื่อไหร่ โดยอาจจะยืดไปถึงปีหน้า

“ในส่วนของร้านอาหารนั้นไปได้ หลัง COVID-19 มาร้านเต็มตลอด แต่กับสินค้าแฟชั่นทำได้แค่เลี้ยงตัวเอง”

เพิ่มกิจกรรมดึง ‘วัยรุ่น’

เมื่อต้นปี MBK ได้วางกลยุทธ์ ‘ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง’ (Idol Marketing) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพิ่มทราฟฟิก และทำให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในศูนย์ฯ นานขึ้น จนปัจจุบันสัดส่วนวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้งาน MBK อยู่ที่ 50 : 50 โดยกลุ่มลูกค้าอายุ 18 – 24 ปีเข้ามาใช้บริการร้านอาหารเป็นจุดนัดพบปะสังสรรค์ และร่วมกิจกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ จับจ่ายสินค้าแฟชั่นและโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

โดยจากนี้ MBK ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์เดิม แต่จะจัดให้ ‘ถี่’ ยิ่งขึ้น อาทิ โปรเจกต์ไอดอล เอ็กซ์เชนจ์ (Idol Exchange) ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน และมีกิจกรรมพิเศษอย่าง ‘บ้านผีสิงไอดอล’ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดเต้น MBK Center Cover dance เป็นต้น

น่านฟ้าเปิดตั้งเป้าโกยนักช้อป 1.2 แสนคน/วัน

MBK ตั้งเป้าเพิ่มทราฟฟิกจากคนไทยให้ได้วันละ 1,500 คน/วัน และหลังจากรีโนเวตพื้นที่สมบูรณ์ในปี 2565 คาดว่าจะมีนักช้อปไทยและต่างชาติมาใช้บริการวันละ 120,000 คน/วัน และคาดหวังว่าสัดส่วนลูกค้าคนไทยและต่างชาติจะเป็น 50 : 50

“เรามั่นใจว่าเมื่อน่านฟ้าเปิด นักท่องเที่ยวจะกลับมา MBK อีกครั้ง เพราะเราเป็นเหมือนแลนด์มาร์กที่ต้องมาให้ได้สักครั้ง ซึ่งมีผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวทุกคนอย่างน้อยต้องมา MBK 1 ครั้ง”

แม้ภารกิจการปรับภาพของ MBK ให้มาดึงดูดคนไทยจะเริ่มทำตั้งแต่ปี 2562 แต่เพราะ COVID-19 ที่บีบให้ต้องเร่งมือยิ่งกว่าเดิมเพราะไม่มีลูกค้าต่างชาติมาเดินอีกต่อไป แต่การเจาะกลุ่มคนไทยและนักเรียน นักศึกษาไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะอย่าลืมว่ามีก้างชิ้นใหญ่อย่าง ‘สามย่านมิตรทาวน์’ น้องใหม่ในถิ่นเดียวกันที่มัดใจวัยทีนไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันอีกที ว่ายอมทุ่มงบขนาดนี้จะลบภาพห้างฯ ชาวต่างชาติได้หรือไม่

]]>
1301662
MBK เทหมดหน้าตัก! ลดค่าเช่า 30-70% ต่ออีก 3 เดือน เปิดลานโปรโมชั่นฟรี เยียวยาแม่ค้า https://positioningmag.com/1281293 Sat, 30 May 2020 05:53:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1281293
ศูนย์การค้า MBK Center สรุปมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในศูนย์เพิ่มเติม โดยเพิ่มส่วนลดอีก 30-70% นานอีก 3 เดือน โดยมีส่วนลดเป็นขั้นบันได แบ่งเบาภาระผู้เช่าในช่วงวิกฤต COVID-19 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. เวลาประมาณ 17.00 น. บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โดย นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ได้นัดประชุมผู้ประกอบการร้านค้าเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันหารือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID19

ซึ่งมีผู้ประกอบการร้านค้าให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้ข้อสรุปคือ

1. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะสั้น แบ่งเป็น ผู้ประกอบการร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มอบส่วนลดเป็นสัดส่วนเรียงตามลำดับ ดังนี้ ส่วนลด 70% ในเดือนมิถุนายน 60% ในเดือนกรกฎาคม และ 50% ในเดือนสิงหาคม ผู้ประกอบการร้านค้าประเภทอื่นๆ ให้ส่วนลดค่าเช่า 30% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563

2. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะยาว มอบส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มิถุนายนสิงหาคม)

3. ร้านค้าที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนประเภทสินค้า สามารถแจ้ง MBK เพื่อให้พิจารณา ได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ของ MBK Center เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรืSME และบริษัทยังคงให้ความสำคัญ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยได้สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและมีช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยเห็นใจและเข้าใจร้านค้าที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวและต้องการปรับตัวสามารถแจ้งความประสงค์ในการเปลี่ยนประเภทสินค้าได้

4. เปิดพื้นที่ลานโปรโมชันฟรี 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563 ให้ร้านค้าในศูนย์การค้าฯ สลับกันนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษ เพื่อสร้างบรรยากาศคึกคักในการจับจ่าย

สุเวทย์ ได้พูดถึงมาตรการลดค่าเช่าของ MBK ว่า “บริษัทได้ลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือร้านค้าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่มีสถานการณ์ COVID-19 ล่าสุดวันนี้ก็มีการออกมาตรการมาช่วยเหลืออีกครั้ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทั่วโลกและเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อขนาดไหน ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ MBK Center ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าเช่า พนักงานที่ต้องดูแล แต่เราก็เห็นใจและเข้าใจความยากลำบากของร้านค้า โดยเฉพาะร้านค้าที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งเวลานี้น่านฟ้ายังปิด เรามีการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน มองทางออกหลายๆ ทาง ต้องการให้ทุกคนอยู่และไปด้วยกันได้ เราต้องยืนอยู่ให้ได้และถ้าร้านค้ารายใดไม่ไหวก็ยินดีให้เข้ามาคุยกัน ร้านค้าอยู่กันมานานก็เหมือนคนในครอบครัวที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ตอนนี้เราต้องปรับตัว ที่ผ่านมาเอ็มบีเคก็ปรับตัวมาตลอด มีการเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ และบริการที่เข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น”
]]>
1281293
ห้างที่เปิดใจให้ “กิจกรรมวัยรุ่น” MBK จับความนิยม “ไอดอล” มัดใจนักศึกษา https://positioningmag.com/1264379 Fri, 14 Feb 2020 04:05:19 +0000 https://positioningmag.com/?p=1264379 ถ้าเอ่ยถึงศูนย์การค้า MBK หัวมุมแยกปทุมวัน ภาพจำของแต่ละคนอาจต่างกันเพราะห้าง MBK มีแม่เหล็กหลายอย่าง ตั้งแต่ศูนย์รวมมือถือบนชั้น 4 บรรดาของฝากนักท่องเที่ยว หรือกระทั่งฟู้ดคอร์ตขนาดใหญ่บนชั้น 6 ในอีกมุมหนึ่ง MBK เป็นห้างขวัญใจนักเรียนนักศึกษาในละแวกปทุมวัน ไม่เพียงแต่ทำเลที่อยู่กลางดงสถานศึกษา แต่เพราะมีร้านค้าและการเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมให้วัยรุ่น ซึ่ง MBK กำลังชูสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นจุดขายมากกว่าเดิมผ่านกลยุทธ์ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง”

ภาพจำของนักเรียนนักศึกษาต่อห้าง MBK คือพื้นที่บนชั้น 7 สถานที่ตั้งของโรงภาพยนตร์-โบว์ลิ่ง-คาราโอเกะจาก SF Cinema City พ่วงด้วยพื้นที่ Game Arcade ขนาดใหญ่ ร้านหนังสือการ์ตูน ไปจนถึงเมดคาเฟ่ บางมุมว่างๆ ของห้างยังมีกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มกันซ้อมเต้น โดยไม่ถูกห้ามปราม รวมถึงกิจกรรมอีเวนต์คอสเพลย์ การ์ตูนและเกมตามแบบฉบับญี่ปุ่นยังจัดขึ้นที่นี่อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่ารอบทศวรรษ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ MBK เป็นเหมือนสวรรค์วัยรุ่นที่ไม่ได้ต้องการเพียงช้อปปิ้งเสื้อผ้า แต่ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมในแบบของตัวเอง

บรรยากาศงาน J-Trends in Town ที่ MBK Center งานรวมตัวคอสเพลเยอร์จำนวนมาก (Facebook @mbkcenterth)

ปัจจุบันหลังทยอยปรับปรุงภายนอกและภายในห้างอย่างต่อเนื่องด้วยงบลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท พื้นที่ชั้น 7 ของ MBK มีการปรับเปลี่ยนผู้เช่าใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้าวัยรุ่นกลุ่มนี้ให้อยู่ด้วยกันแบบเหนียวแน่นขึ้น ตั้งแต่ร้าน Animate Bangkok ศูนย์รวมหนังสือการ์ตูน ดีวีดี ของเล่น ของสะสม ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มาตั้งสาขาตั้งแต่ปี 2559 ตามด้วยการประกาศเปิด “ตู้ปลา” หรือ Digital Live Studio ของวงไอดอลชื่อดัง BNK48 ในเดือนธันวาคม 2562 (ย้ายมาจากเอ็มควอเทียร์)

ดูเหมือนว่า MBK จะจับทางได้ว่ากำลังซื้อของ “โอตะ” นั้นประมาทไม่ได้ โดย “สมพล ตรีภพนารถ” กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในทราฟฟิกเข้าห้างทั้งหมดของ MBK แบ่งสัดส่วนเป็นต่างชาติ 60% และคนไทย 40% ใน 40% ที่ว่านั้น ลูกค้ากลุ่มหนึ่งคือวัยนักเรียนนักศึกษาอายุ 18-24 ปีนี่เอง

ด้วยทุนเดิมของ MBK ที่ให้การสนับสนุนเชิงกิจกรรมกับวัยรุ่นมาตลอด ทำให้ไม่ยากที่จะต่อยอดไปอีกขั้น สมพลกล่าวว่าปี 2563 นี้ MBK จะใช้กลยุทธ์ “ไอดอล มาร์เกตติ้ง” เป็นตัวนำในการทำตลาดวัยรุ่น

ไม่ใช่แค่เพียง BNK48 แต่จะดึงวงไอดอลอื่นๆ อีกมากมาจัดกิจกรรมกันทุกเดือน ยกตัวอย่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2563 ห้างจะมีกิจกรรม “IDOL LOVE FORWARD ไอดอลบอกรัก” รวมไอดอลไม่ต่ำกว่า 15 กลุ่มมาพบปะแฟนๆ โดยการจัดกิจกรรมอีเวนต์แบบนี้ สมพลมองว่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้บริการอยู่ภายในห้างได้นานขึ้นกว่าเดิม

กิจกรรมพบปะไอดอล ดึงดูดวัยรุ่นเดินห้าง

การขยายฐานไปในกลุ่มแฟนๆ วงไอดอลยังเป็นการจับตลาดที่น่าสนใจเพราะถ้าทำได้จะทำให้เกิดชุมชน ซื้อขายแลกเปลี่ยนและพบปะที่ห้างอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก เหมือนกับที่ MBK เคยทำได้มาแล้วในกลุ่มตลาดมือถือ (ก่อนที่จะถูกอีคอมเมิร์ซเข้ามาตีชิงลูกค้าไปพอสมควร)

พลังโอตะมีมูลค่ามากแค่ไหน อ้างอิงจาก “จิรัฐ บวรวัฒนะ” ประธานเจ้าหน้าหน้าที่บริหาร i AM ผู้บริหารกลุ่มไอดอล BNK48 เปิดเผยในช่วงกลางปี 2562 ว่า BNK48 มีมูลค่าแบรนด์มากกว่า 2,000 ล้านบาท และมีฐานแฟนคลับมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว

ด้วยกลยุทธ์การตลาดของ BNK48 ที่ปั้นให้ไอดอลเป็นคนดังที่เข้าถึงได้ ทำให้มีการเปิด Digital Live Studio ดังกล่าวเพื่อให้แฟนๆ ได้มาเห็นหน้าค่าตาไอดอลที่ตัวเองชอบได้ง่ายๆ ทุกสัปดาห์ ดังนั้นเหล่าแฟนคลับที่จะติดตามมาชมกันทุกอาทิตย์จึงเป็นลูกค้าเข้าห้างที่แน่นอนสำหรับศูนย์การค้าทันที และถ้าเข้ามาทั้งที การจับจ่ายกินใช้ในห้างจึงน่าจะเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย เหมือนอย่าง เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่เป็นที่ตั้งโรงละครของ BNK48 ชี้ว่า กลุ่มโอตะทำให้มีทราฟฟิกเข้าห้างมากกว่าเดิม

ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง จะได้ผลในแง่กำลังซื้อแค่ไหน คงต้องรอชมตอนต่อไป แต่ที่เกิดไปแล้วแน่ๆ คือการ “ได้ใจ” วัยรุ่นของ MBK!

Source

]]>
1264379
MBK ทำใจ ‘ไวรัสโคโรนา’ ลูกค้าโรงแรม-ศูนย์การค้าหด เตรียมปรับเป้ารายได้ปี’63 https://positioningmag.com/1263704 Sat, 08 Feb 2020 05:21:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1263704 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาแผลงฤทธิ์ MBK รับลูกค้าศูนย์การค้าหดกว่า 10% แขกโรงแรมขอยกเลิกห้องพัก ประเมินปรับเป้ารายได้ปี 2563 แต่ยังคงแผนการลงทุนรีโนเวตโรงแรมและโครงการคอมมูนิตี้มอลล์เช่นเดิม มองผลกระทบไวรัสอู่ฮั่นยังอยู่ต่ออีกอย่างน้อย 2 เดือน

“สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาว่า ศูนย์การค้า MBK ได้รับผลกระทบช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ลูกค้าเข้าห้างฯ ลดลงจากปกติ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

ส่วน โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส พบแขกขอยกเลิกการจองห้องพักจำนวนมากโดยขอไม่เปิดเผยสัดส่วน แต่มีการเข้าพักลดลงกว่าปกติที่ช่วงนี้โรงแรมจะคึกคักมีอัตราเข้าพักสูงกว่า 80% เนื่องจากเป็นเทศกาลตรุษจีน ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง จากเหตุการณ์โคโรนาไวรัส นอกจากลูกค้าจีนจะไม่สามารถเดินทางมาได้ ยังส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ลูกค้าสิงคโปร์ลดลงด้วย ส่วนลูกค้าฮ่องกงลดลงจากเหตุการณ์การประท้วงอยู่แล้ว คงเหลือนักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่ยังเดินทางเป็นปกติ

“เหตุการณ์ไม่ได้ร้ายแรงมาก เพียงแต่เราไม่ได้เตรียมใจว่าจะเกิดขึ้น” สุเวทย์กล่าว “ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวอื่นเข้ามาแทนทันทีคงทำไม่ได้ อย่างน้อยต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์”

“สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)

จากเหตุการณ์นี้ สุเวทย์กล่าวว่า MBK จะพิจารณาปรับเป้ารายได้ลงแต่ยังไม่ตัดสินใจว่าลดลงมากแค่ไหน เพราะต้องประเมินว่าการควบคุมไวรัสจะทำได้รวดเร็วเพียงใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอีกอย่างน้อย 2 เดือน และหวังว่าจะไม่กระทบจนถึงช่วงกลางปีที่ชาวตะวันออกกลางและออสเตรเลียจะเดินทางจำนวนมาก

“สำหรับศูนย์การค้า ถ้าเรื่องเริ่มซา เริ่มดูปลอดภัยมากขึ้น คนไทยน่าจะกลับมาเดินห้างฯ เหมือนเดิม” สุเวทย์กล่าว

แม้จะมีปัจจัยลบเพิ่มเติมและต้องปรับเป้ารายได้ลง ซีอีโอ MBK กล่าวว่าเขายังคงเดินหน้า แผนการลงทุน รีโนเวตโรงแรมและก่อสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ในปีนี้ โดยจะรีโนเวตโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซสอีก 2 เฟส มูลค่าลงทุน 300-400 ล้านบาท และก่อสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ย่านปทุมธานี มูลค่าลงทุน 500 ล้านบาท

]]>
1263704
หนีฝุ่นพิษ LINE ให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ MBK ให้คนท้อง-มีโรคประจำตัว ลาหยุดได้ https://positioningmag.com/1211801 Sat, 02 Feb 2019 02:57:42 +0000 https://positioningmag.com/?p=1211801 แจกหน้ากาก N95 ไม่พอ มาตรการดูแลพนักงาน ท่ามกลางวิกฤติพิษฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ยังส่งผลกระทบ

หลังจากที่ธนาคารเกือบทุกแห่ง ออกประกาศดูแลพนักงานในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่อง จนส่งผลต่อสุขภาพ ธนาคารต่างๆ ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคาร SME ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงให้พนักงานอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มีลูกเล็กไม่มีคนเลี้ยง เพราะโรงเรียนปิด สามารถทำงานที่บ้านได้ โดยมีระยะเวลาแตกต่างกันไป

จากนั้น ก็เริ่มขยายมายังศูนย์การค้า และองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ได้ออกมาตรการดูแลพนักงาน

LINE ให้ทำงานที่บ้าน อาทิตย์ละ 1 วัน

ไลน์ ประเทศไทย ออกนโยบาย ให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ โดยจะเริ่มทดลองใช้นโยบายอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้เป็นเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไป พนักงานสามารถขออนุญาตต่อหัวหน้าทีมเพื่อทำงานที่บ้านได้ 1 วันต่อสัปดาห์โดย หลังจากนั้น บริษัทฯ จะพิจารณาตามสภาพแวดล้อมและความเหมาะสม

ศูนย์การค้า MBK ให้หยุดไม่ถือเป็นวันลา

ทางด้านศูนย์การค้า MBK Center โดย สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) มีมาตรการดูแลพนักงานออกมาต่อเนื่อง เช่น แจกหน้ากากอนามัย N95 รณรงค์ให้พนักงาน Car Pool ลดการใช้รถยนต์ ไป-กลับเส้นทางเดียวกันเดินทางร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้พนักงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถลาหยุดงานได้เป็นกรณีพิเศษ อาทิ พนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ พนักงานที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ หรือโรคประจำตัวที่เกี่ยวเนื่องมาจากฝุ่นละอองเป็นพิษ รวมถึงพนักงานที่มีอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ สามารถลาหยุดงานเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่มีผลกระทบกับวันลาประจำปี

ส่วนอาคารเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้ฉีดพ่นหมอกน้ำในอากาศจากหัวฉีดจำนวน 4 หัว บริเวณชั้น 29 โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส วันละ 2 รอบ เช้าและบ่ายทุกวันและจะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะดีขึ้น.

]]>
1211801
“MBK” โกออนไลน์ ควัก 80 ล้านลุย อี-เอ็กซ์ซิบิชัน ปั้น “ชอปดีล” รับตลาดพุ่ง 3 ล้านล้านบาท https://positioningmag.com/1148065 Fri, 24 Nov 2017 12:08:01 +0000 https://positioningmag.com/?p=1148065 ยศสันธ์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด ในเครือเอ็ม บี เค กรุ๊ป

ลูกค้าเวลานี้มี “อีมาร์เก็ตเพลส”มาให้เลือกอีกรายแล้ว เมื่อห้าง MBK เลือกโกออนไลน์  ยกธุรกิจเครือรวมทั้งพันธมิตรต่าง ๆขึ้นเว็บ เอ็มบีเคโกดอทคอม  เป็น อี-เอ็กซ์ซิบิชัน ในรูปแบบของชอปดีล

การโก อีคอมเมิร์ซของเอ็มบีเอ มองเห็นโอกาสจาก แนวโน้มการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง

  • ปี  2557  มูลค่าประมาณ 2,033,493 ล้านบาท
  • ปี 2558 มูลค่า 2,245,147 ล้านบาท เติบโต 10.4%,
  • ปี 2559 มูลค่า 2,560,103 ล้านบาท เติบโต 14%,
  • ปี 2560 มูลค่า 2,812,592 ล้านบาท เติบโต 9.8%
  • คาดว่าในปี 2561 จะมีมูลค่า 3,133,729 ล้านบาท เติบโต 11.4%

กลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซ โตต่อเนื่องมาตลอด

  • ปี 2558 มีมูลค่า 569,203 ล้านบาท
  • ปี 2559 มูลค่า 623,367 ล้านบาท เติบโต 9.5%
  • คาดการณ์ว่าในปีหน้า (2561) จะมีมูลค่า 739,714 ล้านบาท เติบโต 9.1%
  • กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ยังเป็นรอง มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่สอง ประมาณ 677,847 ล้านบาท เติบโต 8.7% ในปี 2560

เอ็มบีเคกรุ๊ป จึงตัดสินใจตั้งบริษัทใหม่ทำธุรกิจด้านดิจิตอลโดยเฉพาะ ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 80 ล้านบาท

เริ่มจากธุรกิจ เอ็ม บี เค โก (MBKgo.com) ลักษณะอี-เอ็กซ์ซิบิชัน ซึ่งเป็น “ชอปปิ้งดีล”รูปแบบใหม่ที่เป็นงานอี-เอ็กซ์ซิบิชันออนไลน์ ที่ไม่ใช่การจัดอีเวนต์ในพื้นที่จริงเหมือนที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่ 3 หมวดใหญ่ คือ การท่องเที่ยว กิจกรรม และร้านอาหาร เจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทยก่อน และในอนาคตจะขยายกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยด้วย

ก่อนเปิดจริงใช้เวลาทดลอง 3 เดือน จนพบว่าได้ผลตอบรับดี ยอดขายเติบโต 100% ทุกเดือน ลูกค้ามาซื้อซ้ำ 40% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่มี 20-30%

ประเภทร้านค้าและบริการ ประเภทโรงแรมที่พัก 25% กิจกรรมสันทนาการ 25% และอีก 50% เป็นหมวดร้านอาหาร จากทั้งหมด มูลค่าการซื้อเฉลี่ย 900-1,000 บาทต่อครั้ง แยกเป็น การจ่ายผ่านบัตรเครดิต 80% ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10% ผ่านการโอนเงิน 8% และผ่านบัตรเดบิต 2% เป็นลูกค้าผู้หญิง 65% และผู้ชาย 35%” เป็นการชอปปิ้งผ่านมือถือ 80% ผ่านคอมพิวเตอร์ 20 %

เป้าหมายต่อไปในปี 2561 จะเพิ่มอีเวนต์ในอีคอมเมิร์ซเป็น 100 อีเวนต์ตลอดทั้งปี เพิ่มจำนวนร้านค้าเป็น 1,500 รายหรือบูทต่องาน เพิ่มปริมาณคนเข้าชมงานผ่านเว็บเป็น 500,000 คนต่ออีเวนต์ และการเพิ่มพันธมิตรร้านค้าบริการต่างๆ จากปัจจุบันนี้มีร้านค้าและบริการในเครือเอ็มบีเคทั้งหมดทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สนามกอล์ฟ รวมกว่า 10% และร้านค้าบริการนอกเครืออีก 90% จากจำนวนทั้งหมด และมากกว่า 30% ที่เป็นพันธมิตรที่ไม่เคยร่วมมือแบบนี้กับใครมาก่อน

ถือเป็นจุดเริ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิตอลออนไลน์ของเอ็มบีเคกรุ๊ปอย่างเต็มรูปแบบ จากนั้นจะผสมผสานระหว่างตลาดออฟไลน์กับออนไลน์ให้กับธุรกิจในเครือเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน

รายได้ของบริษัทฯ จะมาจาก “ค่าธรรมเนียม”ที่เกิดการซื้อขายระหว่างลูกค้ากับร้านค้า และอนาคตจะมีรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าเว็บไซต์ด้วย

ที่มา : mgronline.com/business/detail/9600000118447

]]>
1148065