SMEs – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 06 Apr 2023 06:14:57 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 กรุงศรีตั้งเป้าสินเชื่อ SME โต 4% ดันลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น https://positioningmag.com/1426591 Wed, 05 Apr 2023 14:50:26 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426591 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ประกาศแผนธุรกิจสำหรับลูกค้ากลุ่ม SME โดยชูเรื่องของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ของธนาคารจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็คาดว่าสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ SME จะเติบโตได้ราวๆ 4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกตอนนี้เศรษฐกิจไม่สดใส มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง ส่งผลต่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีเธอได้ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเป็นเชิงบวกอย่างระมัดระวัง จากประเด็นของการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในแต่ละประเทศมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้

เธอได้ชี้ว่าในปี 2022 กรุงศรีฯ ได้ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการธุรกิSME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME มีสินเชื่อเติบโต 5.4% และมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 296,000 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจของกลุ่มลูกค้า SME ดวงกมลได้เปิดเผยแผนธุรกิจ “Make Life Simple” ผ่านกลยุทธ์ 3P ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และต้องการทำธุรกรรมสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถคว้าโอกาสและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของตนเอง ได้แก่

  1. Portfolio เจาะลึกธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย และจัดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ตามลักษณะการเติบโตของแต่ละประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งยังให้คำปรึกษาด้านการดำเนินธุรกิจและนวัตกรรมการเงินแบบครบวงจร และธนาคารพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้าถ้าหากมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประะเทศ
  2. Products ธนาคารฯ จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการและช่วยพัฒนาธุรกิจ SME ให้เติบโตตามกระแสโลก และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในระยะต่อไป รวมถึงการให้การสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมให้คำแนะนำและผสานความร่วมมือกับพันธมิตรในการให้ความรู้ในด้านการทำธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
  3. Platform ธนาคารฯ​ จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทาง Krungsri The Living Room บริการธุรกรรมออนไลน์เต็มรูปแบบสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME ที่รวบรวมบริการและนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ ของกรุงศรี อาทิ Krungsri Biz Online, Krungsri Business Link, Krungsri Digital Supply Chain, E-FX Confirmation เป็นต้น มาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องล็อกอินหรือล็อกเอาท์หลายครั้ง

ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ SME อยู่ที่ 4% สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ขณะที่ NPL ของลูกค้ากลุ่มนี้คาดว่าไม่เกิน 5.45% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 4.8% โดยเธอให้เหตุผลถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูง

]]>
1426591
บสย. พร้อมค้ำ เติมทุน เปิดตัว “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ลบ. ร่วมพลิกฟื้นธุรกิจ ค่าธรรมเนียมค้ำ….ต่ำสุด ฟรี…ค่าธรรมเนียมค้ำ….นานสูงสุด 4 ปี https://positioningmag.com/1422833 Mon, 13 Mar 2023 03:00:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1422833

บสย. พร้อมค้ำ เติมทุนผู้ประกอบการ SME ปี 2566 พลิกฟื้น เติมเต็ม เสริมแกร่ง ต่อยอด SMEs ทุกระดับ เปิดตัวนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ล้านบาท คล่องตัว ยืดหยุ่น ครอบคลุม ค่าธรรมเนียมค้ำ … ต่ำสุด ระยะเวลาฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน …นานกว่าเดิม มั่นใจ SMEs ฟื้นตัว สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 700,000 อัตรา

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 10 วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ บสย. ได้เร่งดำเนินการเพื่อเปิดรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ โดยแจ้งไปยังสถาบันการเงินที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คาดว่าจะสามารถเปิดบริการในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 นี้เป็นต้นไป

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ที่ บสย. พัฒนาขึ้น โดยจัดสรรวงเงินระยะแรกที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อครอบคลุม ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ดังนี้

1.สตาร์ท อัพ (Start up) สำหรับนักศึกษาจบใหม่ อาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการ SMEs หน้าใหม่ที่ต้องการเงินทุนสำหรับเริ่มต้นกิจการใหม่ ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก ปีถัดไปจ่ายคนละครึ่ง ตลอดอายุการค้ำประกัน วงเงินค้ำประกันระยะแรก 1,000 ล้านบาท

2. สมอลล์ บิซ (Small Biz) สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ขาย ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 200,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำต่อครั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 3,000 ล้านบาท

3.สมาร์ท วัน (Smart One) สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ Covid-19 ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก หรือ ขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 10,000 ล้านบาท

4.สมาร์ท บิซ (Smart Biz) สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการยกระดับเสริมสภาพคล่องการดำเนินธุรกิจ หรือขยายธุรกิจรองรับการเติบโต ได้แก่ SMEs ขนาดเล็ก ขนาดกลาง วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 200,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.25% ต่อปี ฟรี 3 ปีแรก วงเงินค้ำประกันระยะแรก 15,000 ล้านบาท

5.สมาร์ท กรีน (Smart Green) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับปรุงพัฒนา เสริมศักยภาพธุรกิจ สู่ ESG รองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และ BCG เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.5% ต่อปี ฟรี 4 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท

6. สมาร์ท พลัส (Smart Plus) เป็นนวัตกรรมค้ำประกัน ใช้คู่กับโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง เพื่อเพิ่มความคุ้มครองผู้ค้ำประกันสินเชื่อ วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ยื่นขอค้ำประกันขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท อัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1% ต่อปี ฟรี 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกัน 500 ล้านบาท

โครงการ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดวันรับคำขอ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ที่จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท รักษาการจ้างงานกว่า 700,000 อัตรา ผู้ประกอบการ SMEs สามารถลงทะเบียน บริการรับคำปรึกษา ตรวจสุขภาพทางการเงินฟรี ผ่านช่องทาง Line TCG First (@tcgfirst)

สอบถามเพิ่มเติมที่ บสย. Call center โทร. 0-2890-9999

#บสย #TCGFirst #บสยSMEsเข้มแข็ง

]]>
1422833
เจาะลึก 5 กรณีศึกษาจากคอร์ส LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา หลักสูตรปั้นแบรนด์ SMEs ให้ ‘สเกล’ ได้จริง https://positioningmag.com/1420832 Thu, 02 Mar 2023 10:00:08 +0000 https://positioningmag.com/?p=1420832

หลายครั้งที่ผู้ประกอบการระดับ SMEs เผชิญกับ ‘กำแพง’ ในการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นอีกขั้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการศูนย์การค้าอย่าง “เซ็นทรัลพัฒนา” ก็เริ่มเล็งเห็นความจำเป็นของการผลักดันนักธุรกิจดาวรุ่งให้เติบโตไปกับศูนย์ฯ หลักสูตร “LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา” จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของ SMEs โดยปีล่าสุดเป็นรุ่นที่ 4 ที่ผ่านการอบรม และเป็นกรณีศึกษาแบบเจาะลึกว่าคอร์สนี้ช่วยติดสปีดเร่งการ ‘สเกล’ ได้อย่างไร

“เรียนจริง ทำจริง โตจริง” คือนิยามของ LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ที่ล่าสุดเรียนจบเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว พร้อมโซว์ศักยภาพการ ‘สเกล’ ธุรกิจของตนเองหลังผ่านหลักสูตรเข้มข้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน

หลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา นั้นแตกต่างจากหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการทั่วไปเพราะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้หลักสูตรมีทรัพยากรทั้งสถานที่และบุคลากรจาก เซ็นทรัลพัฒนา มาช่วยในการเรียนรู้ ให้โอกาสกับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม และมี passion ในการทำธุรกิจ เพราะวัตถุประสงค์ต้องการจะเป็น ‘Incubator’ ช่วยติดสปีดแบรนด์ดาวรุ่งให้ขยายไปได้อีกขั้นและเป็นการขยายผ่านพื้นที่ศูนย์การค้า

มีบทพิสูจน์จาก 3 รุ่นแรกมีแบรนด์ที่ผ่าน LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา แล้วสามารถขยายไปในระดับประเทศได้ เช่น Fresh Me, Gentlewomen, With it Store, Ravipa, Moshi Moshi, Salad Factory, Beautrium ฯลฯ ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าหลักสูตรนี้ ‘ไม่ได้มาเล่นๆ’

(ที่ 4 จากขวาแถวบน) ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา และ (ที่ 4 จากซ้ายแถวบน) ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ นักปั้นธุรกิจชั้นนำและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีก

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา อธิบายถึงที่มาของหลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 ที่เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุน SMEs ให้เข้ามาเปิดธุรกิจในศูนย์การค้ามากขึ้น และขยายตัวไปด้วยกันได้ โดยตั้งเป้าหมายปรับพื้นที่ 10% ของพื้นที่ศูนย์ฯ ให้เป็นพื้นที่เช่าโดย SMEs รายใหม่

“เมื่อก่อนเรามักจะชอบติดต่อผู้ประกอบการเดิมๆ มาลงพื้นที่เช่าเพราะเราก็รู้ฝีมือกันอยู่ แต่นั่นก็ทำให้ศูนย์ฯ เรามีแต่ร้านเดิมๆ ด้วยเหมือนกัน” ดร.ณัฐกิตต์กล่าว “ดังนั้น การเปิดหลักสูตรนี้จึงมีเป้าหมายสูงสุดของเราคือสนับสนุนให้ SMEs เติบโต”

LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา ได้รับเกียรติจาก ผศ.ปิติพีร์ รวมเมฆ นักปั้นธุรกิจชั้นนำและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีก ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการอบรม โดย ผศ.ปิติพีร์ อธิบายถึงหลักสูตรนี้ว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่การนำเสนอเคสธุรกิจ โดยเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัด pop-up store ให้ในศูนย์การค้าของเครือ เพื่อให้ผู้เรียนทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ได้ทันที จนหลายแบรนด์สเกลธุรกิจได้เรียบร้อยก่อนจบหลักสูตร ไม่ต้องรอลงมือทำหลังเรียนจบ

“pop-up store คือพื้นที่ให้ได้ทำจริง วัดผลสำเร็จด้วยการทำยอดขายจริง และมีการแก้ไขโมเดลธุรกิจกันตลอดระหว่างหลักสูตร ผ่านการแนะนำของอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่เชิญมาร่วมเป็นที่ปรึกษาจากเซ็นทรัลกรุ๊ป และเพื่อนร่วมเรียน” ผศ.ปิติพีร์ กล่าว “หลักสูตรนี้ยังรวมนักเรียนที่เป็นผู้ประกอบการตัวจริงที่ทำให้ได้ช่วยกันคิด อาจมีการคอลแลปสินค้า เมื่อได้ทำงานร่วมกันจริงจึงเกิดความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมธุรกิจที่ยั่งยืนมากกว่าการสังสรรค์ทั่วไป”

โดยรุ่นล่าสุดเป็นการอบรบรุ่นที่ 4 มี 5 แบรนด์ที่ได้รับรางวัลประจำรุ่นจากการสร้างโมเดลธุรกิจที่โดดเด่น เป็นกรณีศึกษาว่า LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา สามารถเป็นหลักสูตร ‘Gateway to Success’ ได้อย่างไร


“ซาลาเปาโกอ้วน” สเกลด้วยการแตกแบรนด์ใหม่ “ชงดี”

เริ่มที่แบรนด์ “ซาลาเปาโกอ้วน” ร้านดั้งเดิมจากหาดใหญ่ที่ขยายเข้ามากรุงเทพฯ ในยุคของ “สุรีย์พร พูนศักดิ์ไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกอ้วน ซาลาเปา แอนด์ ที จำกัด และ บริษัท ชงดีพูนผล จำกัด โดยร้านซาลาเปาโกอ้วนเริ่มจากเปิดร้านสาขาของตนเองก่อนเปิดขายในรูปแบบแฟรนไชส์ จนปัจจุบันมี 20 สาขาทั่วกรุงเทพฯ

“แต่พอมาถึงจุดที่เริ่มจะนิ่ง เริ่มขยายสาขาใหม่ไม่ได้ เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะขยายธุรกิจได้ต่อ” สุรีย์พรอธิบายโจทย์ก่อนจะเข้าร่วมคอร์ส LEAD โดยช่วงก่อนจะร่วมหลักสูตร สุรีย์พรมองสินค้าในร้านตัวหนึ่งที่ขายดีพอควรคือ “ชาเย็น” ซึ่งเป็นชาสูตรทางใต้ มีรสเข้มเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าร้านควรดันสินค้านี้ขึ้นมาเป็นสินค้าหลักคู่กับ “ซาลาเปาทอด” ในร้านเดิม หรือแตกแบรนด์ใหม่ที่เน้นเครื่องดื่มโดยเฉพาะ

“พอเข้ามาทดลองโมเดลธุรกิจในคอร์ส LEAD ทำให้เราตัดสินใจได้ จากการทดลอง pop-up store และคำแนะนำว่าถ้าจะขายเครื่องดื่มเป็นหลัก เราต้องแยกแบรนด์ออกไปเลย ทำให้เกิดเป็นร้าน ‘โรงชาชงดี’ ขึ้น ลักษณะเป็นคาเฟ่ที่เน้นขายเครื่องดื่มและนั่งทานในร้านได้ ปัจจุบันมีเปิดแล้ว 1 สาขาที่ เดอะ เซอร์เคิล ราชพฤกษ์”

แผนในปีนี้สุรีย์พรจะขยายร้านชงดีไปให้ครบ 5 สาขา โดยทดลองรูปแบบร้านหลายลักษณะ ก่อนจะนำแบบร้านที่ดีที่สุดมาเปิดแฟรนไชส์ต่อไป


Nineties Design พลิกมุมคิดปรับแบรนด์ใหม่ให้ตรงกับทำเล

อีกหนึ่งแบรนด์ที่มาด้วยโจทย์เดียวกันคือเริ่มขยายสาขาใหม่ไม่ได้ แต่เกิดขึ้นในสินค้าประเภทเสื้อผ้าแฟชั่น “กัญญาณัฐ ปิยะชัยวุฒิ” และ “สุพพัต ปิยะชัยวุฒิ” สองผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อินสไปเรชั่น ดีไซน์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์ Nineties Design มีหน้าร้านอยู่แล้ว 20 สาขาบนศูนย์การค้า เข้าร่วมคอร์ส LEAD เพราะต้องการหาช่องทางในการสเกล

แบรนด์ Nineties Design นั้นเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ยุค 90s เหมาะกับลูกค้าวัยรุ่น แต่ไม่ใช่ทุกศูนย์การค้าที่จะเป็นแหล่งวัยรุ่นจำนวนมากทำให้การขยายสาขามีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้มีจุดแข็งคือการมีทีมดีไซเนอร์ออกแบบสินค้าเอง และมีเครือข่ายผู้ผลิตตัดเย็บและซัพพลายเออร์ผ้าที่ดี ทำให้พื้นฐานพร้อมในการขยายแบรนด์ไปในทิศทางอื่นได้โดยใช้ทีมออกแบบและผลิตกลุ่มเดิม

“เราได้แนวคิดใหม่กับคอร์ส LEAD ว่าถ้าจะเข้าไปขายในทำเลอื่น ไม่ใช่ว่าเราต้องลงสินค้าเดิมเสมอ แต่เราสามารถแตกแบรนด์ย่อยเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับคนในทำเลนั้นๆ ก็ได้ เช่น ทำเลพระราม 2 ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว เราก็ลองทำแบรนด์ Nineties Kids เป็นเสื้อผ้าเด็กลายยุค 90s หรือทำเลที่เป็นหนุ่มสาวออฟฟิศ เราแตกเป็นแบรนด์ NINE จำหน่ายเสื้อยืดที่มินิมอล เรียบง่าย เน้นคัตติ้งและเนื้อผ้าดี สามารถใส่ไปทำงานได้” กัญญาณัฐอธิบาย

จากกลยุทธ์นี้บริษัทจึงสามารถขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 30 สาขา เป็นการเปิดสาขาจริงระหว่างที่ยังเรียนอยู่ในหลักสูตร และตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 50 สาขาในปีนี้


Amatas แบรนด์รีเทลใหม่จากผู้ผลิต ‘Super Lock’

Amatas (อมาทาส) เป็นแบรนด์ร้านรีเทลใหม่ที่เกิดขึ้นหลัง “พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น” กรรมการผู้จัดการ ไมครอน กรุ๊ป เข้าร่วมหลักสูตร LEAD โดยกลุ่มบริษัทนี้เป็นธุรกิจครอบครัว แต่เดิมเป็นโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์พลาสติก ก่อนที่ต่อมาได้สร้างแบรนด์ของตนเองคือ SuperLock” จำหน่ายสินค้าใช้เก็บและจัดระเบียบในครัว เช่น กล่องอาหาร ขวดน้ำ

การมาร่วมหลักสูตรนี้ของพลาวุฒิ เกิดจากแนวคิดที่บริษัทต้องการจะมีช่องทางรีเทลของตนเอง และจะขยายไปจำหน่าย “เครื่องครัวแบบครบวงจร” หลังผ่านหลักสูตรทำให้ร้านรีเทล Amatas มีคอนเซปต์ที่ชัดเจนคือจะเป็น “ร้านเครื่องครัวแบบมัลติแบรนด์” โดยเน้นนำเข้าสินค้าที่ฟังก์ชันเยี่ยมและดีไซน์มีรสนิยม

ร้านออฟไลน์แห่งแรกกำลังจะเปิดที่เซ็นทรัลเวิลด์ในเดือนมิถุนายนนี้ โดย Amatas เริ่มขายทางออนไลน์แล้ว โดยมีสินค้าเรือธงคือ “Fika” เครื่องครัวสุดมินิมอลจากเกาหลีใต้ที่บริษัทเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเพียงผู้เดียว และสร้างกระแสเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านชาวไทย

พลาวุฒิตั้งเป้าว่าหลังจากเปิด Amatas จะทำให้ไมครอน กรุ๊ป ทั้งเครือมีรายได้แตะ 500 ล้านบาทภายในปี 2568 จากที่เคยมีรายได้ 200 ล้านบาทเมื่อปี 2565 และร้านรีเทล Amatas จะเปิดให้ครบ 10 สาขา นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สเปน อิตาลี เป็นต้น


Tempered ช็อกโกแลตฝีมือคนไทยที่ขอ “ขึ้นห้างฯ”

แบรนด์นี้เป็นสินค้าจากแพสชันของ “ชนิกานต์ ตันบุญเพิ่ม” ผู้ร่วมก่อตั้งและเชฟแบรนด์ Tempered Cooperatives ซึ่งเป็นแบรนด์ช็อกโกแลตคนไทย ผลิตจากเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในไทยทั้งหมด และมีขั้นการผลิตแบบ Zero-Waste เพื่อความยั่งยืน

ก่อนหน้าเข้าร่วมคอร์ส LEAD แบรนด์ Tempered มีหน้าร้านเพียง 1 สาขาเป็นแบบ stand-alone นอกศูนย์การค้า แต่ความมุ่งมั่นของชนิกานต์คือต้องการจะนำร้านขยายสาขาสู่ศูนย์การค้าให้ได้

“ในหลักสูตรนี้เราได้ลองทำ pop-up store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ถูกคอมเมนต์ทุกวัน ต้องแก้ไขเปลี่ยนดิสเพลย์ร้านทุกวัน ได้ยืนหน้าร้านเองเพื่อคุยกับลูกค้า ได้โอกาสคอลแลปสินค้ากับเพื่อนร่วมรุ่น เช่น ไอศกรีมช็อกโกแลต ขนมปังช็อกโกแลต คอร์ส LEAD ช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะสเกลร้านรูปแบบไหน” ชนิกานต์กล่าว

ระหว่างการเรียนในหลักสูตรนี้ทำให้ยอดขายต่อเดือนของ Tempered เพิ่มขึ้น 20-30% และเห็นทิศทางที่ชัดขึ้นในด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะถูกใจกลุ่มลูกค้า


Moreover จากดีไซเนอร์สู่ธุรกิจรีเทล

ปิดท้ายที่แบรนด์ Moreover ภายใต้การนำของ “นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านการออกแบบ บริษัท เข้ากันดี จำกัด แบรนด์นี้จะเน้นการออกแบบของแต่งบ้านที่มีสไตล์ มีไอเดีย เช่น หิ้งพระมินิมอล เครื่องหอม โดยมีทั้งสินค้าของ       แบรนด์เองที่วางจำหน่ายในร้านมัลติแบรนด์ต่างๆ และสินค้ากลุ่มที่คอลแลปรับออกแบบให้กับแบรนด์หรือบริษัทอื่นๆ

โจทย์ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจนี้คือแบรนด์ต้องการจะมีช่องทางขายที่มากขึ้น และเข้าใจการทำธุรกิจสูงขึ้น จากเดิมมีพื้นฐานในด้านงานดีไซน์เป็นหลัก

“หลังมาเรียนคอร์ส LEAD แล้วทำให้เราขยายจุดจำหน่ายได้จาก 15 จุด เป็น 20-30 จุด ซึ่งเกิดจากเราเข้าใจการจัดการสต็อกได้ดีขึ้น” นวัตกล่าว

อีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่เกิดจากการเรียน คือการเริ่มสร้างคอนเซปต์ Flagship Store ในชื่อ “Overlaps by Moreover” เพื่อจะวางขายสินค้าที่บริษัทออกแบบทุกๆ ชิ้นไว้ในร้านเดียว ทั้งสินค้าของแบรนด์และที่คอลแลปกับแบรนด์อื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิด pop-up store กับเซ็นทรัลพัฒนาเพื่อหาโลเคชันที่ดีที่สุด

ดร.ณัฐกิตติ์กล่าวสรุปว่า จากผู้เข้าร่วมหลักสูตร LEAD โดยเซ็นทรัลพัฒนา รวม 4 รุ่น มีแบรนด์ที่ผ่านการอบรม 150 แบรนด์ ร่วมเปิดร้านกับเซ็นทรัลพัฒนาแล้ว 600 ร้าน คิดเป็นพื้นที่ขายรวม 30,000 ตร.ม. และคิดเป็นมูลค่าการเติบโตทางธุรกิจมากกว่า 1,800 ล้านบาท

ส่วนคอร์ส LEAD รุ่นที่ 5 จะเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ โดยจะมีการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกนักเรียนเพียง 40-50 คนเท่านั้น ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องเคยเปิดร้านกับเซ็นทรัลพัฒนามาก่อน แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการตัวจริง และต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดึงศักยภาพแบรนด์ให้ไปได้ไกลที่สุด

ผศ.ปิติพีร์ยังวางวิสัยทัศน์คอนเซปต์การเรียนในรุ่นที่ 5 ว่าจะเป็นธีม “Curation of the Newness” พาแบรนด์ตามโลกที่เปลี่ยนเร็วให้ทัน เชื่อมต่อกับ ‘value’ ใหม่ของผู้บริโภคยุคใหม่เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์อย่างยั่งยืน

สนใจสมัครเข้าร่วมหลักสูตร LEAD รุ่นที่ 5  https://shoppingcenter.centralpattana.co.th/lead/

 

]]>
1420832
เปิดมุมคิด 3 เเบรนด์ดัง พลิกวิกฤตอุตสาหกรรม ‘เสื้อผ้า’ คว้าโอกาสปรับตัวสู่ดิจิทัล https://positioningmag.com/1382271 Tue, 26 Apr 2022 04:49:25 +0000 https://positioningmag.com/?p=1382271 ในยุคที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวเเละปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด พร้อมพัฒนาให้ก้าวทันตลาดอยู่ทุกช่วงเวลา เเม้จะต้องเจอวิกฤตที่ไม่คาดฝัน อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่มีการเเข่งขันสูง ทั้งรายใหญ่รายย่อย โดยมีทั้งเเบรนด์ที่ประสบความสำเร็จกลายเป็นที่รู้จักโด่งดัง เเละอีกมุมหนึ่งก็มีเเบรนด์ที่ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

วันนี้เราจะมาเปิดมุมคิดพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองยุคดิจิทัล จาก 3 เเบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของเมืองไทย อย่างห่านคู่เสื้อยืดที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายทศวรรษ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตามมาด้วยวอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้า รองเท้ากีฬาที่ท้าชนแบรนด์ระดับโลกด้วยกลยุทธ์ออนไลน์ เเละน้องใหม่ไฟเเรงอย่าง ‘Davie Jones’ เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย แบรนด์ไทยที่กำลังเป็นที่นิยม

จากรุ่นสู่รุ่น ‘ห่านคู่’ ยกเครื่องดิจิทัล 

เมื่อพูดถึง ‘เสื้อยืด-เสื้อกล้าม’ คลายร้อน ห่านคู่จะเป็นเเบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนไทยรู้จักเเละคุ้นเคยอยู่เสมอ หลังอยู่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 69 ปี

‘คุณากร ธนสารสมบัติ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์ นิตติ้ง จำกัด เล่าว่า ความท้าทายของธุรกิจนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เเละมีอยู่ต่อเนื่องก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ต้องเจอคู่แข่งจากต่างประเทศ ที่มีรูปแบบการเเข่งขันที่เเตกต่างกันไป

การตัดสินใจปรับเปลี่ยนเข้าสู่ ‘digital transformation’ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์เเต่ละยุคสมัย หลังมีฐานกลุ่มลูกค้ากว่า 5 เจเนเรชัน

“ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นมาก ถ้าเราจะอยู่ได้ถึง 100 ปี เราต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้ง 5 กลุ่มนี้ให้ได้”

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เห็นกลุ่มลูกค้าต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น รวบรวมข้อมูลเพื่อทำการประเมินได้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น จากการประเมินด้วยข้อมูลที่เคยเป็น mass สู่การประเมินเเบบฉพาะบุคคลได้อย่างเรียลไทม์ เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าได้มากขึ้น

“ในช่วงวิกฤตผู้ประกอบการต้องหัวใจนักสู้ เสี่ยงให้ถูกทาง การลงทุนเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นมาก Digital Platform จะเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในปัจจุบันและรองรับในอนาคต”

โดยห่านคู่ ได้เข้าร่วมกับโครงการกับ ‘The FinLab Thailand’ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลของเหล่า SMEs ไทย

ทางเเบรนด์ต้องการมุ่งเน้นที่ e-commerce, social commerce รวมทั้งการมีระบบ backend หลังบ้านที่แข็งแกร่ง โดยได้รับคำแนะนำและทำการติดตั้ง ERP เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ supply chain เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในได้ดีขึ้นได้มาก

สำหรับจุดเด่นของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในตลาดไทยนั้น คือการมีอยู่หลาย segment หลายกลุ่มลูกค้า เเละนั่นหมายถึง “การมีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย”

-ร่วมมือกับบาบีคิวพลาซ่า เปิดตัวเสื้อยืดรุ่นลิมิเต็ด “GON X ห่านคู่” ขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่

ขณะที่การแข่งขันในระดับภูมิภาค CLMV และจากประเทศจีนก็ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เเบรนด์ต้องขยายการลงทุนแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มทประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่

ด้านการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นนั้น แต่ละรุ่นจะมีความท้าทายเป็นของตนเองต่างกันในแต่ละยุค “หลักการคงอยู่ ไม่เปลี่ยน แต่วิธีการและเครืองมือเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงวิธีความคิด การยอมรับการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้คือความท้าทาย” 

“เราในฐานะผู้บริหารต้องถอดตรงนี้ออก แล้วลงมือทำไปด้วยกันเลย ตอนนี้องค์กรของเรามีการทำงานเเบบ Flat Organization สามารถที่จะเข้าถึงผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานได้โดยตรง”

เเม้ว่าเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่เรื่องบริหารคนก็สำคัญมากไม่เเพ้กัน การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะปรับเปลี่ยนองค์กร กล้าลองผิดลองถูก ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

“ผู้ประกอบการตระหนักรู้ว่าทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เมื่อคิดแล้วลงมือทำ ต้องประเมินความเสี่ยง แล้วเดินหน้าลุยการตลาดดิจิทัล อย่าคิดว่าสายแล้วเกินจะทำ เพราะถ้าไม่ทำ เราก็จะหายไปเลย”

Warrix ส่งเเบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกด้วย ‘ออนไลน์‘ 

‘วอริกซ์’ (Warrix) แบรนด์เสื้อผ้ารองเท้ากีฬาของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมา 8 ปี จากการวางโพสิชันเป็น sportswear มาสู่เสื้อผ้าด้าน ‘healthy active lifestyle’ บริการด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการฟื้นฟู

แม้จะเจอวิกฤตโควิด เเต่ Warrix ก็ยังสามารถทำยอดขายได้สูงสุดเป็นประวัติการของบริษัทได้ จากการปรับสู่ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ และเข้าเปิดตลาดที่หลากหลาย อย่างเช่น สถานพยาบาล , ที่พักสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ซีอีโอบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด บอกเล่าถึงการตัดสินใจทรานฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลว่า
ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งเเต่ช่วงก่อนโควิด ปี 2017 ตั้งแต่ที่หลังชนะงานประมูล sportswear ทีมชาติไทย

จุดนั้นถือเป็นความท้าทายใหม่ เเละถึงเวลาที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทโดยตรง ตัวเขาเองจึงได้ไปลงคอร์สเรียนธุรกิจดิจิทัล เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ทำให้มีวิสัยทัศน์มาช่วยเร่งสปีดในเรื่องการปรับส่วนต่างๆ ในองค์กร

“ถ้าเราไม่ตัดสินใจทุ่มลงทุนในเรื่องออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2017 เราคงไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้”

โดยเริ่มจากการพัฒนาช่องทางการค้า e-commerce  ทั้ง Inbox Facebook , LineAds, eCommerce เเละ marketplace ชื่อดังต่างๆ อย่าง Lazada ฯลฯ

ทางโครงการ Smart Business Transformation ( SBTP) โดยธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เเละ the FinLab ได้แนะนำให้ Warrix ได้รู้จักกับระบบบริหารกิจกรรมทางการขายบนช่องทางที่หลากหลายให้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว และทำให้เราสามารถพัฒนาต่อยอดจากตรงนั้นได้

เหล่านี้ ทำให้เเบรนด์เห็นความสำคัญของ Data Management การลงทุนกับเว็บไซต์ เเละการนำ AI มาใช้

“เราเริ่มลงทุนกับเว็บไซต์สูงขึ้น ใช้เงินทุนไปหลายล้าน ในส่วนตรงกลางเราก็ลิงก์กับระบบซัพพลายต่างๆ หลังบ้าน เราใช้ SAP B1 ติดตั้งใช้งานเรียบร้อย การเชื่อมต่อได้ดีขึ้น จากนั้นก็กลับมาลงทุนที่หน้าบ้านเราให้ดีขึ้นอีก เเละทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเครื่องมือทางการตลาดก็มีออกมาเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงการเข้าสู่เทคโนโลยีโลก Metaverse ของเเบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Warrix นั้น เขายอมรับว่ามีความเสี่ยง และยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เเต่ก็มองเป็น high risk, high return

ดังนั้น ต้องมีการแสวงหาความร่วมมือ จับมือกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างการจับมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตและบริษัท อินเด็กซ์ ทำ MOU เพื่อร่วมทุนกันซื้อพื้นที่ใน ‘sandbox’

“เราต้องก้าวไปในอนาคต เพื่อไปจับคนกลุ่มใหม่ พาร์ทเนอร์ และความรู้พื้นฐานถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ควรอัปเดตความรู้อยู่เสมอ เพราะการเรียนรู้ทำได้ไม่มีวันจบ มีเครื่องมือทางการตลาดออกมาใหม่มากมาย”

ปัจจุบัน Warrix มีส่วนออนไลน์คิดเป็น 1 ใน 3 ของช่องทางการตลาดทั้งหมด พร้อมมีการจัดงบโฆษณาออนไลน์ ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นรายได้อย่างมาก รวมถึงการใช้ Data Management ในการกระตุ้นยอดขาย

“มีใจสู้ ไม่ยกธงขาวไปก่อน วิกฤตโควิดถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุด เเต่ผมรู้สึก down แค่วันเดียว เราต้องตัดสินใจเรื่องธุรกิจบนพื้นฐานความจริง ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาว”

สำหรับเป้าหมายของ Warrix คือการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น
 การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้เเบรนด์สามารถที่จะขยายธุรกิจเข้าไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม โดยไม่ต้องพึ่งพาเอเจนท์ เพราะเมื่อลูกค้าสนใจสินค้า ก็สามารถเข้าดูสินค้าได้เอง และสั่งได้เองโดยตรงจากเว็บไซต์ของบริษัท หรือตาม marketplace ต่างๆ

-ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของ www.warrix.co.th ที่มีฟังก์ชั่นการค้นหาสินค้าผ่านการเลือกสี ไซส์ ราคา ขนาด ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น

โดยความท้าทายในการขยายธุรกิจนั้น ก็มีหลายด้าน ทั้งการดิสรัปองค์กร การทำ branding ความท้าทายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เเละด้าน digitalization

การสร้างแบรนด์ ให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้นั้นมีความสำคัญมาก เพราะการผลิตสินค้าทุกวันนี้ เอาเข้าจริงก็มักจะมาจากโรงงานเดียวกัน แหล่งวัตถุดิบเดียวกัน แบบก็คล้ายๆ กัน แต่ branding เป็นสิ่งที่จะทำให้เราตั้งราคาได้ต่างกัน เเละได้รับความเชื่อถือจากผู้ซื้อต่างกัน

“ตอนเริ่มทำสินค้าเสื้อผ้า มีแต่คนมาเตือนว่าตลาดเสื้อผ้าอยู่ช่วง sunset ช่วงขาลง แต่ไม่จริงเลย มีโอกาสเกิดใหม่ สร้างโอกาสใหม่ได้มากมาย”

ผู้บริหารต้องสร้างแบรนด์ให้ใหม่ หาทางหนีออกมาจากตลาดที่แข่งขันด้วยราคาให้ได้ หันมาสร้างแบรนด์ให้มี value พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ตราบใดที่คนเราต้องใส่เสื้อผ้าออกจากบ้าน ก็จะต้องเกิดดีมานด์ขึ้น ต้องเดินให้ถูกทางไปพร้อมความต้องการของลูกค้า สร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์ เป็นจุดมีความสำคัญมากๆ

Davie Jones เจาะอีคอมเมิร์ซเเบบ ‘คีพคาแร็กเตอร์’ 

Davie Jones เเบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชาย ที่เริ่มจากการเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ และเริ่มปรับตัวมาจับตลาดในประเทศ หลังเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2015 ณ ตอนนี้มีการขยายสาขา 50-60 แห่งทั่วประเทศ เน้นช่องทางห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์

ศิพิมพ์ อุ่นวรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและอีคอมเมิร์ซ บริษัท วี.พี.อาร์.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของแบรนด์ Davie Jones กล่าวว่า ทุกวันนี้ลูกค้าได้เปลี่ยนทางเลือกในการจับจ่าย กำลังการซื้อของลูกค้าบางกลุ่มไม่ได้ลดลง แต่ลูกค้าหันมาช้อปปิ้งออนไลน์เเทน กดซื้อจากไหนก็ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เเบรนด์อยากจะทรานส์ฟอร์มเเละต้องการที่รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด

เราต้องการรู้จักลูกค้าของเรา รู้ความต้องการ รู้สัดส่วนต่างๆ ในตลาด  ซึ่งเมื่อเรามาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ก็ทำให้เรารู้จักลูกค้าได้เร็วขึ้น เปลี่ยนจาก fast/mass fashion มาสู่ realtime fashion”

ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้าเกิดใหม่มากมาย แต่เราต้องมีตัวตนที่ชัดเจน มีคุณภาพของสินค้าที่ดี ด้วยความที่ Davie Jones มีโรงงานของตัวเอง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ พร้อมมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างประกอบกัน เมื่อลูกค้าทำการซื้อแล้ว ก็เกิดการ re- purchase กับมาซื้ออีกกับเเบรนด์เรา

จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทำให้เเบรนด์สื่อสารผ่านเว็บไซต์ของตัวเองได้ ต่อไปก็จะขยายไปสู่ตลาดเพื่อนบ้าน ที่มีภาษาใกล้เคียงกันเเละชื่นชอบสินค้าไทย อย่าง สปป.ลาว

ตลอดออนไลน์เป็นโลกที่ต้องรีบเข้าไป จะช่องทางไหนก็ต้องรีบเข้าไปดู ไม่มีคำว่าช้าไป เพราะการที่จะสร้างให้เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจได้ ต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าแม้ในภาวะที่มีปัญหามากมาย ลูกค้าก็ยังสามารถเข้าถึงสินค้าได้

โดยแพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ช่วยให้ยอดขายของ Davie Jones พุ่งกระฉูดช่วงโควิด เเม้จะมีสัดส่วนออนไลน์ประมาณ 20% เท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น activewear, casualwear, streetwear เเบรนด์จะต้องมีตัวตนที่ชัดเจน อย่าง Davie Jones มี denim jogger มีแบบขาจัมพ์ เอวจัมพ์ หรือแบบเดินด้ายเขียวสะท้อนแสง เห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็นของเเบรนด์เรา พร้อมมีจุดยืนที่แตกต่างจากเจ้าอื่น และมีความชัดเจนในคาแร็กเตอร์สินค้า มีช่องทางการตลาดแน่นอน เเต่ยืดหยุ่นได้เเละปรับตัวตลอดเวลา

 

]]>
1382271
เปิดแผน ‘ttb’ บุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง ปรับโฉมแอปฯ ใหม่ ตั้งบริษัทลูกจับตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อ https://positioningmag.com/1375908 Tue, 01 Mar 2022 11:55:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1375908 เปิดเเผนกลยุทธ์ปี 65 ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ตั้งหน่วยงาน “ttb spark” บุกดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มสูบ เปิดตัวบริษัทลูก “ttb consumer” เพื่อความคล่องตัว หวังดันขึ้น TOP 4 ในตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล พร้อมปล่อยแอปพลิเคชัน ‘ttb touch’ โฉมใหม่ เม.ย.นี้ 

หลังการรวมกิจการของ 2 ธนาคารใหญ่ในไทยทั้งทีเอ็มบีและธนชาตสู่การเป็น ทีเอ็มบีธนชาตหรือ ttb เสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อเดือนก..ปีที่ผ่านมา วันนี้ปิติ ตัณฑเกษมประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) มาอัปเดตถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ พร้อมกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ปี 2565

ทีเอ็มบีธนชาตแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้านขึ้น ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบกระแสตอบรับจากลูกค้าและสังคมที่มีต่อธนาคาร เริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เช่น บัญชี ttb all free ที่เพิ่มความคุ้มครองด้านการประกันชีวิตและอุบัติเหตุฟรี ช่วยให้ลูกค้ากว่า 1.9 ล้านราย มีความคุ้มครองพื้นฐานโดยไม่เสียเงิน และส่งผลให้ธนาคารมียอดเงินฝากจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เติบโตสูงถึง 15%

บัญชีเงินฝากประจำ ttb up and up ที่ถอนได้ก่อนกำหนด โดยไม่ถูกลดดอกเบี้ย ตอบโจทย์การออมของลูกค้าที่ต้องการดอกเบี้ยสูง มีลูกค้าเปิดใช้บัญชีเพิ่มขึ้นถึง 120,000 ราย ผลิตภัณฑ์การลงทุน ttb smart port สามารถทำยอด IPO สูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยยอดขายในสัปดาห์แรกกว่า 1 หมื่นล้านบาท และเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในเวลา 6 เดือน

รวมถึงบัตรเครดิต ttb reserve มีผลตอบรับการถือบัตรจากลูกค้ากลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงของธนาคารกว่า 60% ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ตลอดจนการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมกว่า 750,000 ราย 

นอกจากนี้ ธนาคารได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยผลักดันโครงการพักทรัพย์พักหนี้ และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจ เช่น โรงแรม และภาคประชน สามารถผ่านวิกฤตไปได้

ด้วยสถานการณ์โควิด เเละสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารต้องปรับตัว คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า สนับสนุนลูกค้าทุกด้าน โดยช่วงนี้ลูกค้ารายใหญ่กำลังเผชิญกับความผันผวนจากสงครามที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ส่วนลูกค้า SMEs ดีขึ้นกว่าปีก่อน เเต่ก็ยังมีความไม่เเน่นอนอยู่ ส่วนลูกค้าบุคคลทั่วไปยังเจอปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง เราก็ต้องเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่มต่างๆ ให้ตรงจุด

ส่ง ttb consumer ลุยตลาดบัตรเครดิต-สินเชื่อ 

เมื่อปลายปี 2564 ttb ได้เข้าซื้อหุ้น 10% ในบริษัทธนชาตประกันภัยและบริษัทหลักทรัพย์ธนชาตสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันและการลงทุนสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า

รวมไปถึงการที่ ttb broker ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรบริษัทประกันภัยรวมกว่า 20 บริษัท เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและคุ้มครองความเสี่ยงให้กับลูกค้าของธนาคารได้ครบทุกรูปแบบในราคาที่เหมาะสม

ล่าสุด ธนาคารได้วางแผนจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ ‘ttb consumer’ เพื่อเพิ่มศักยภาพการนำเสนอบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ครบวงจรและการเข้าถึงลูกค้าได้ในวงกว้าง พร้อมนำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

“เราวางเป้าหมายว่า ttb consumer จะสามารถก้าวขึ้นติดอันดับ 1 ใน 4 ของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล” 

โดย ttb consumer จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวแทนจำหน่ายที่กระจายผลิตภัณฑ์ต่างๆของ ttb ออกไปให้เข้าถึงผู้คนกลุ่มที่กว้างขึ้น เช่นเดียวกันหลายธนาคารที่มักจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นเพื่อความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ 

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ ttb มองว่าความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องซัพพลายเชนการผลิตและส่งมอบรถยนต์ที่เกิดความล่าช้า

ปั้นทีม ttb spark พัฒนาดิจิทัลโดยเฉพาะ

ttb มีการปรับโครงสร้างภายใน เพื่อพัฒนาด้านดิจิทัล ภายใต้แนวคิด ‘Humanized Digital Banking’ โดยได้จัดตั้ง ‘ttb spark’ ทีมงานที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ไอเดียและพัฒนาดิจิทัลโซลูชันโดยเฉพาะขึ้นมา แยกโครงสร้างการทำงานออกมาอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว 

รัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบี สปาร์ค เล่าว่า หน่วยงานใหม่นี้จะที่ทำงานรูปแบบ Agile คิดนอกกรอบและทดลองวิธีการใหม่ๆ พัฒนา Ecosystem ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มปันบุญ หรือ www.punboon.org ที่ช่วยให้มูลนิธิปรับ Business Model เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคใหม่ๆ ได้

รวมไปถึงโซลูชัน ttb business one ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับลูกค้าธุรกิจ “มีจำนวนการทำรายการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 160% ตั้งแต่เปิดตัว

เปิดตัว ‘ttb touch’ โฉมใหม่ 

จากกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้แนวคิด ‘The Bank of Financial Well-being’ ปีนี้ธนาคารเตรียมที่จะพลิกโฉมแอปพลิเคชัน ‘ttb touch’ ให้กลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวและ ที่ปรึกษาที่รู้ใจ ช่วยให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างรอบด้าน สำหรับ 4 ฟีเจอร์เด่นของ ttb touch ได้เเก่

  •  ผู้ช่วยส่วนตัว

ให้ข้อมูลและแจ้งเตือนเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับลูกค้าโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ Data Analytics วิเคราะห์พฤติกรรม นำเสนอ และ ช่วยแจ้งเตือนในธุรกรรมสำคัญต่าง ๆ

  • ให้คำแนะนำและทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

เช่น บริการด้านประกันที่จะช่วยรวบรวมข้อมูล และแสดงผลภาพรวมความคุ้มครองทั้ง 3 ด้าน คือ ดูแลสุขภาพ ออมเพื่อเกษียณ และ ดูแลคนข้างหลัง โดยแสดงให้เห็นว่าประกันที่มีครอบคลุมและเพียงพอกับ Lifestyle และ Life Stage ของลูกค้าหรือไม่ ทำให้เรื่องประกันที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย

  • รวบรวมและจัดระเบียบเอกสารทางการเงินไว้บน ttb touch

สะดวกในการค้นหา เรียกดูง่าย และ ขอเอกสารได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสาขาอีกต่อไป เช่น เอกสารรับรองสถานะทางการเงิน และเอกสารข้อมูลเครดิตบูโร

  • รวบรวมสิทธิประโยชน์ไว้ในที่เดียว

พร้อมเลือกสรรแคมเปญโปรโมชันที่เหมาะสำหรับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกความคุ้มค่าที่ธนาคารมอบให้

ในอนาคต ‘ttb touch’ จะเป็นมากกว่าผู้ช่วยและที่ปรึกษาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการธนาคารโดยจะเข้ามาช่วยจัดการด้านอื่นๆ เช่นการบริหารจัดการเรื่องการจ่ายค่างวดสินเชื่อรถต่อประกัน รวมไปถึงการขายรถและการหาซื้อรถคันใหม่มาทดแทน

ธนาคารหวังจะผลักดันให้  ttb touch เป็น Mobile Banking ที่มีฐานผู้ใช้งานระดับ Top 3 ของอุตสาหกรรม จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าใช้งาน ttb touch อยู่ราว 4 ล้านราย โดยคาดว่าแอปพลิเคชันโฉมใหม่ จะเปิดตัวได้ภายในเดือนเม.. นี้นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ทีทีบีสปาร์ค กล่าว

เมื่อถามถึงกระแสที่ตอนนี้หลายธนาคารในไทยเริ่มจับมือกับแพลตฟอร์มคริปโตเคอร์เรนซี ทาง ttb มีแผนจะรุกกลุ่มนี้หรือไม่ และมีความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนด้านนี้อย่างไรนั้น ซีอีโอ ttb ตอบว่า

สูตรของ ttb ง่ายมาก เวลาจะทำอะไร เราจะถามคำถามเดียวว่า ลูกค้าจะได้อะไร เพราะแบงก์มีอยู่ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ถ้าการจับมือนั้นจะนำไปสู่โซลูชันหรือโปรดักต์ที่ทำให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้น ไม่ว่าจะลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้า SMEs หรือรายย่อย เราก็มีความสนใจ 

แต่ถ้าการจับมือไม่ได้นำไปสู่จุดนั้น เราก็คงไม่ได้ทำไปตามกระแสที่ว่าเมื่อทุกคนทำเราต้องทำบ้าง เพราะถ้าเกิดว่า สิ่งนั้นทำแล้วไม่ได้ตอบรับกับกลยุทธ์ของเราที่จะได้เครื่องมือใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ หรือพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเราพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับชีวิตทางการเงินของลูกค้า เราก็คงจะไม่สนใจ เพราะว่าแค่โปรดักต์ไลน์อัพที่เราจะต้องพัฒนากันอยู่ตอนนี้ ก็ทำกันแทบไม่ทันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราคงไม่ไปทำอะไรที่ทำให้สูญเสียโฟกัสตรงนี้ออกไป” 

]]>
1375908
‘กสิกรไทย’ กับกลยุทธ์การเติบโต ฉบับ ‘THE METAMORPHOSIS’ พัฒนาเทคโนโลยี จับโอกาสตลาดอาเซียน https://positioningmag.com/1367289 Fri, 17 Dec 2021 04:00:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1367289

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวที่โดดเด่นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ (KBank) ที่สร้างปรากฏการณ์มาหลายครั้ง

ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับการประกาศยกทัพบุกตลาดภูมิภาค ด้วยแนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคาร ให้เติบโตมากกว่าเดิมแบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ และไร้ขอบเขต” น่าสนใจยิ่ง เพราะสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการ บุกทำตลาดต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคน ‘เข้าถึง’ การเงินบนโลกดิจิทัล

โอกาสนี้ เห็นได้จากทิศทางการเติบโตของธุรกิจธนาคารในระดับภูมิภาคของ KBank ที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ท่ามกลางความโกลาหลของเศรษฐกิจโลกในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยในปี 2564 มีการเติบโตมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 34% ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิธนาคารทั้งหมด (Net Total Income-NTI) หรือมีรายได้เติบโตถึง 5 เท่า  พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.6 ล้านราย และเพิ่มเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2567

เส้นทางสู่เป้าหมาย เต็มไปด้วยความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน วางเเผนกลยุทธ์รองรับทุกการเปลี่ยนเเปลง การสร้างสรรค์เทคโนโลยีเเละพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรให้เป็น ‘หนึ่งเดียวกัน’ ผสมผสานความหลากหลายของเชื้อชาติเเละวัฒนธรรม ดึงดูด Top Talent จากทั่วโลก


เติบโตไร้ขีดจำกัด ฉบับ THE METAMORPHOSIS

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก เเละมีเเนวโน้มจะเติบโตได้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า เเละเส้นทางนี้ก็เหมือนการ ‘วิ่งมาราธอน’ ที่ต้องใช้ความพยายาม อดทนเเละต้องคว้าโอกาสสำคัญให้ได้ พร้อมการวางเเผนกลยุทธ์ที่ดี การเติบโตของ KBank จึงเปรียบเสมือน ‘Metamorphosis’ วิวัฒนาการเชิงความคิด การเติบโตผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างรวดเร็วตามเป้าธุรกิจที่ท้าทาย

เปลี่ยนปรัชญาทางธุรกิจไปสู่การให้บริการที่เหนือกว่าธุรกิจธนาคาร ผ่านการสร้างโซลูชันและยกระดับการให้บริการเพื่อมอบชีวิตที่ดีให้ลูกค้า ตาม 3 วิสัยทัศน์หลัก คือ

Limitless Opportunity ธนาคารกสิกรไทยจะไม่ติดกรอบอยู่แค่การทำธุรกิจในประเทศไทย การเติบโตของธนาคารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกภูมิภาคอย่างไร้ขีดจำกัด

Seamless Connectivity ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจาก KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) ทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรทั้งการลงทุน ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ

Borderless Growth สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ศักยภาพ (Capabilities) ทุก ๆ ด้านของคนกสิกรไทยที่จะต้องเติบโตได้อย่างไร้ขอบเขต


โอกาสอยู่ในทุกๆ การเปลี่ยนเเปลง

ด้าน พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ว่า โลกยุคใหม่หลังโควิด-19 เปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก มีทั้งความซับซ้อนเเละท้าทาย เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดิสรัปเร็วกว่าเดิม 4-10 ปี ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว (Morph) และเปิดรับทักษะสมัยใหม่ โดยสามารถเเบ่งเป็น 4 ธีมการเปลี่ยนเเปลงของโลกในระยะต่อไป ได้เเก่

DECOUPLING สำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่าภายในปี 2573 เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ช่วงเวลานี้ เกิดการประลองกันของมหาอำนาจโลก มีการกีดกันทางการค้าและเเข่งขันกันด้านเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นโอกาสที่ไทยเเละ ‘อาเซียน’ จะสามารถเชื่อมต่อกับสองห่วงโซ่ทั้งจีน และสหรัฐฯ จากการเปิดกว้างต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับทั้งสองขั้วอำนาจ ซึ่งต้องมองเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค

ในประเด็นต่อมาคือ REGIONALIZATION 2.0 การปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีน ที่จะผันตัวเองจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกไปเป็นประเทศ ที่เน้นการส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรม

“ธุรกิจของจีนจะทยอยย้ายฐานการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพสูง ในการเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน เพื่อรองรับตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางจำนวนมาก รวมถึงมีความได้เปรียบทั้งเรื่องความสัมพันธ์ วิถีชีวิต มีศักยภาพสูงในการลงทุนทั้งเรื่องของค่าแรง กฎระเบียบต่างๆ”

สำหรับโอกาสของ NEXT-GEN DIGITALIZATION เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ส่วนอีกกระแสสำคัญของปัจจุบัน คือ DECARBONIZATION ที่นานาประเทศเริ่มมุ่งไปสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’ ซึ่งการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

โดยทางจีนที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด ก็มีการประกาศเป้าหมายนี้มาเเล้ว เชื่อว่าต่อไปจะได้เห็นความร่วมมือกันของหลายประเทศ ทั้งภาครัฐเเละเอกชนในด้านต่างๆ อย่างพลังงานลมและโซลาร์เซลล์ เเละรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

“นี่เป็นโอกาสของการทำธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ของไทยเเละอาเซียน ยกระดับเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคบนเส้นทางการเติบโตยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า”

ด้านความเห็นต่อกระเเส Crypto Economy ผู้บริหารกสิกรไทยมองว่า ต่อไปจะเป็นการรวมกันระหว่างตลาดการเงิน สินทรัพย์ดิจิทัลเเละภาคธุรกิจต่างๆ เช่นการนำ  Metaverse มาปรับใช้ จะช่วยสร้างผลิตภาพที่สูงขึ้น การซื้อขายผ่านเงินสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือซื้อขายผ่าน NFT (Non-Fungible Token) สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมรับทุกบริการเพื่อธุรกิจยุคใหม่

 ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา KBTG เพิ่งส่งบริษัทลูกในเครืออย่าง KASIKORN X หรือ KX เดินเกมสร้างธุรกิจใหม่บนโลกของ DeFi เปิดตัว ‘Coral’  มาร์เก็ตเพลส NFT ที่ซื้อขายง่ายด้วยสกุลเงินทั่วไป สร้างโอกาสศิลปินไทยสู่ระดับสากล (คลิกอ่าน ที่นี่)

 โดยโจทย์หลักของ KBank คือ การมุ่งสู่โลกการเงินแห่งอนาคต ยกระดับความสามารถความรู้ให้ทั้งบุคลากรของธนาคาร และลูกค้าเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน และเรื่อง ESG ที่การเติบโตของธุรกิจไม่ได้ดูแค่ผลกำไรเท่านั้น เเต่จะต้องสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย


เทคโนโลยีคือจุดเชื่อมโยง ต่อยอดฟินเทคจีน-อาเซียน

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG (Group Chairman-KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP) กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนในของ ‘ตลาดจีน’ ว่ามี FinTech Landscape ที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1,412 ล้านคน เเละมีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงมากๆ ใช้จ่ายด้านออนไลน์สูง เเละเป็นตลาดที่มีการเเข่งขันสูง เป็นโอกาสของกสิกรไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาดเเละเรียนรู้ได้

ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไท่ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited : KTECH) ที่เซินเจิ้น ซึ่งภารกิจหลักๆ  คือการ ‘หาบุคลากร’ จีนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร เเลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมทั้งต่อยอดโอกาสทางธุรกิจจากฟินเทคในจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปสู่ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน

โดยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในจีน ก็คือ คลาวด์คอมพิวติ้ง นาโนไฟเเนนซ์ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน 5G เเละความปลอกภัยไซเบอร์

ความสำเร็จในก้าวปีแรกของ KBTG คือ การมีส่วนร่วมใน 14 โครงการสำคัญ ครอบคลุมในทุกประสบการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านการปล่อยกู้ เงินฝาก การชำระเงิน รวมทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์กับ 7 พันธมิตรสำคัญในประเทศจีน  และมีแผนเพิ่มทีมงานให้ใหญ่ขึ้นถึง 12 เท่า ภายในปี 2569  “การทำงานของเราจะเป็นไปในรูปแบบ Fast-Fun-Flow-Feedback ทำอย่างรวดเร็วด้วยความสนุก”

ส่วนเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 50 ล้านผู้ใช้ในอีก 5  ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้จำนวนผู้ใช้ในปัจจุบันก็ใกล้เเตะ 20 ล้านรายแล้ว


World Business Group : ก้าวต่อไป KBank ธนาคารเเห่งภูมิภาค

ภัทรพงศ์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับศักยภาพของกลุ่ม World Business Group (WBG) ที่ได้สร้างการเปลี่ยนสู่ธุรกิจ ธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค ว่า ด้วยความที่ KBank นิยามตัวเองว่าเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มี banking license จึงเข้าไปทำตลาดใหม่ๆ ได้อย่าง ‘ตัวเบา’ โดยการเดินหน้าธุรกิจตามโมเดล Kasikorn China ในจีนนั้นจะใช้บนปรัชญา “Better Me” ที่มุ่งให้การสนับสนุนลูกค้าที่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และมุ่งมั่นนำพาตัวเองสู่อิสรภาพทางการเงินสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนพร้อมจะนำแนวคิดธุรกิจนี้ขยายไปต่อยัง ‘เวียดนาม’ ที่ได้เดินหน้าด้วยดิจิทัล แบงกิ้งอย่างเต็มรูปแบบ

ได้แก่ KBank Biz Loan สินเชื่อดิจิทัลที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการขออนุมัติวงเงินและ K PLUS Vietnam โมบาย แบงกิ้งที่ต่อยอดจากต้นแบบ K PLUS ในประเทศไทย

“ในอนาคตจะมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่บนโมเดล Banking-as-a Service (BaaS) ในการให้บริการมากกว่าธุรกิจการเงินที่จะเริ่มที่เวียดนามเป็นแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่มากกว่าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ช่วยให้ฟินเทครายย่อยมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น”

สำหรับในตลาดกัมพูชา KBank พร้อมเปิดตัว Payroll Lending ที่ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่ออย่างง่ายดาย ผ่านแอปพลิเคชันของพันธมิตร ส่วนในฝั่ง สปป.ลาวจะยังคงเดินหน้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานบริการ QR KBank จากปัจจุบันที่มี 1.3 แสนรายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกธุรกรรมการเงินของลูกค้า

เป้าหมายถัดไปของธนาคารกสิกรไทย คือ การเชื่อมต่อกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค โดยปัจจุบันธนาคารได้เร่งสร้างพันธมิตรธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจและส่งมอบบริการทางการเงินให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการจัดตั้งบริษัท K VISION FINANCIAL (KVF) เพื่อขยายการลงทุนด้านดิจิทัลในธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเป้าหมายในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มจำนวนพันธมิตรทางธุรกิจ สู่การเป็น Ecosystem ทางการเงินในระดับภูมิภาค พร้อมชูแผนการสร้าง บริการทางการเงินเพื่อรองรับตลาด Digital Asset ที่จะเติบโตในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เปิดพื้นที่เเชร์ไอเดีย เป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

จากเป้าหมายและพันธกิจที่ใหญ่ขึ้น  WBG ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 1,037 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 52% จากปี 2563 เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และด้วยความตั้งใจที่จะเป็นองค์กรสำหรับ Talent ทั่วโลก

ธนาคารได้เสนอแนวคิด “World of Borderless Growth” เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เห็นโอกาสในการเติบโตอย่างไร้ขอบเขตทุกมิติ อย่าง

Personal Growth การเติบโตผ่านประสบการณ์ทำงานจริงที่ท้าทาย

Growth of Team การเติบโตร่วมกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

Growth of Partners การเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรทั้ง Tech Company และ Startup ระดับโลก

Growth of Community การเติบโตเคียงข้างกับสังคมผ่านทุกภารกิจ (Mission) ของ WBG ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

“เราจะได้สร้างสิ่งใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เเค่พนักงานไม่เคยทำ เเต่ KBank เองก็ยังไม่เคยทำ เป็นประสบการณ์ใหม่ของทีมงานที่จะได้ไปเจอ ให้โอกาสในการเเสดงศักยภาพ เเชร์ไอเดียทำงาน เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่ใจกล้า มีความอยากเรียนรู้เข้ามาช่วยเราทำงาน เเละเติบโตไปด้วยกัน”  ชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

โดยสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยอยากจะเป็นจริงๆ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า คือการเป็นธนาคารที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือลูกค้า เเละ ‘เป็นที่รัก’ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนๆ เเละก็เชื่อว่าทีมงานของเราทุกคนมีความเชื่อเเละปรัชญานี้เหมือนกัน ที่จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต พัฒนาสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก

 

]]>
1367289
ttb business one ต่อยอดฟีเจอร์ใหม่ จาก Pain Point ชาวเอสเอ็มอี จัดการธุรกิจผ่าน ‘มือถือ’  https://positioningmag.com/1362565 Wed, 17 Nov 2021 09:55:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1362565 SMEs ไทยปรับตัวเข้าหาดิจิทัล ttb business one จับโอกาสเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ รับโมบายแอปพลิเคชัน เเก้ Pain Point ผู้ประกอบการ จัดการธุรกิจผ่านมือถือได้ในระบบเดียว 

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs’ (เอสเอ็มอี) ในไทย มีผู้ประกอบการมากถึง 3 ล้านราย คิดเป็นกว่า 99% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งผลต่อ GDP ถึง 42% มีการจ้างงานเเละกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ

เเต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดลากยาวมาเกือบ 2 ปี ผู้ประกอบการรายย่อยรับผลกระทบหนัก ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนเเปลงไป

ในช่วงโควิด SMEs ส่วนใหญ่ยังต้องการความช่วยเหลือ โดย 52% ยังพอประคองตัวไปได้ อีก 10% ไปได้ดี เเต่อีกกว่า 38% อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

ต่อยอดเทคโนโลยีจาก Pain Point ผู้ประกอบการ 

จุดนี้เป็นโอกาสของ ทีเอ็มบีธนชาต ที่จะพัฒนาดิจิทัลโซลูชันttb business one’ มาจับกลุ่มตลาดลูกค้า SMEs โดยเฉพาะ โดยเน้นไปที่การเเก้ Pain Point ของผู้ประกอบการ SMEs ที่มักจะทำธุรกิจผ่านมือถือต้องเจอบ่อยๆ อย่าง

  • การทำธุรกรรมหลายประเภทต้องเข้าหลายระบบ หรือลืมรหัสผ่านเพราะมีหลายอัน
  • ดิจิทัลเเบงก์กิ้งบนคอมพิวเตอร์กับมือถือ ‘เเยกโปรไฟล์กัน’ ทำให้สับสน ใช้งานเฉลี่ย 7 คลิกต่อ 1 ธุรกรรม
  • ไม่รู้ว่าเงินโอนรับเข้ามานั้นมาจากคู่ค้ารายใด ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
  • ไม่รู้วิธีการจ่ายหรือการโอนเงินแบบไหนเร็วที่สุด หรือประหยัดที่สุด
  • โอนจ่ายโดยไม่รู้จำนวนเงินสำรองที่เหลือ
  • ไม่สามารถตั้งเมนู Personalize ได้ตามความต้องการของเเต่ละเเผนกได้

ปัจจุบัน ทีเอ็มบีธนชาต มีลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอีที่ทำธุรกรรมบนดิจิทัลแบงก์กิ้ง ทั้งโมบายแอปพลิเคชัน และอินเทอร์เน็ต รวมเกือบ 200,000 ราย

หากเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs หันมาใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 60% และลูกค้าธุรกิจทั้งหมดมีจำนวนรายการที่ทำผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 160% ขณะที่สัดส่วนการทำธุรกรรมของลูกค้าระหว่างช่องทางดิจิทัลกับช่องทางสาขาเปลี่ยนจาก 40% ต่อ 60% เป็น 80% ต่อ 20% เเล้ว

การออกแบบโมบายแอปพลิเคชันในครั้งนี้ล้วนมาจากความคิดเห็นของลูกค้าจริง ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้มากที่สุด” สุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต กล่าว 

ฟีเจอร์ใหม่ คุมธุรกิจได้ผ่าน ‘มือถือ’ 

ผ่านมาได้ 11 เดือน หลังทีเอ็มบีธนชาต เปิดตัวบริการ ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ในรูปแบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ครั้งนี้ก็ถึงเวลาขยายฟีเจอร์ใหม่ๆ ผ่าน โมบายแอปพลิเคชัน อย่างเต็มรูปเเบบ อิงตามความต้องการของลูกค้า 

โดยคอนเซ็ปต์หลักๆ ของ ttb business one คือการวางจุดเด่นเป็น One Platform ระบบเดียวเข้าได้จากทุกอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์เดียวกันทั้งหมด เห็นทุกอย่างในโปรไฟล์เดียวกัน

One to Control คือระบบเดียวทำได้ทุกธุรกรรม ซื้อ ขาย รับ จ่าย ทั้งในและต่างประเทศ ควบคุมธุรกิจได้จากที่เดียว ไม่ต้องเข้าหลายแอป จำหลาย user password เช่น โอนเงินในประเทศ ต่างประเทศ เรียกดูวงเงิน OD 

เเละ One to Command ระบบเดียว มองเห็นภาพรวมและข้อมูลสรุปทางการเงินภายในบริษัท ด้วย Dashboard ที่เรียกดูง่ายและเข้าใจง่าย สามารถสั่งการต่อได้เลย พร้อมระบบมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

“ฟีเจอร์บนมือถือ จะมีทั้งการอนุมัติรายการ ทำรายการที่ง่ายขึ้นไม่ต้องกดหลายครั้ง การเรียกดูรายงานต่าง ๆ ได้ในหน้าจอเดียว พร้อมการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายงานตามที่ต้องการ สามารถควบคุมทุกเรื่องธุรกิจได้จากมือถือ” 

รัชกร ชยาภิรัต หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมทางดิจิทัลลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต บอกว่า จากตัวเลขการใช้ธุรกรรมช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยืนยันว่า ttb business one มาถูกทางแล้ว ฟีเจอร์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางดิจิทัลได้เต็มที่ 100% มีข้อมูล Data Insightful ช่วยคาดการณ์กระแสเงินสดเข้า-ออก ภายในบริษัทได้ล่วงหน้า ทำให้บริหารจัดการกระแสเงินสดได้ ซึ่งตอนนี้ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม

“ttb ตั้งเป้าว่าด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีลูกค้ามาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น 60% ภายในสิ้นปี” 

 

]]>
1362565
‘GoDaddy’ ลุยตลาดไทยเต็มสูบ เจาะ SMEs ขยับขายออนไลน์ ช่วยทำเว็บไซต์ DIY ได้เอง https://positioningmag.com/1351152 Fri, 10 Sep 2021 10:42:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1351152 ‘GoDaddy’ ยกทีมบุกตลาดไทย หลังมองอีคอมเมิร์ซเติบโตดี ไม่กลัวตลาดโดเมนท้องถิ่นเเข่งดุ ชูจุดเด่นเป็น ‘one-stop-shop’ โซลูชันครบวงจร เจาะกลุ่ม SMEs ให้ทำเว็บไซต์ DIY ได้เองง่ายๆ กลยุทธ์การตลาดเฟสเเรกขอเน้นสร้าง Brand Awareness ให้เป็นที่รู้จักก่อน

หลายคนคงได้ยินชื่อของ Go Daddy ผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมนที่ใหญ่ที่สุดในโลกสัญชาติอเมริกัน มาหลายปี เเต่ยังไม่มีทีมงานมาดูเเลตลาดไทยเเบบเต็มที่ 100% สักที

จนกระทั่งปีนี้ GoDaddy ตัดสินใจขยายสู่ตลาด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้เปิดฝ่ายบริการลูกค้าด้วยภาษาไทยเป็นครั้งเเรก เมื่อเดือนพ..ที่ผ่านมา

“GoDaddy เล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อยในไทย และอยากสร้างการรับรู้ว่าการเริ่มทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลในยุคนี้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่สูง

ปัจจุบัน GoDaddy มีลูกค้ากว่า 20 ล้านราย และมีชื่อโดเมนกว่า 82 ล้านชื่อในมือ ดำเนินธุรกิจใน 50 ตลาดทั่วโลก มีลูกค้าอยู่ใน 100 ประเทศ 

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในปี 2020 บริษัทมียอดลูกค้าใหม่ทั่วโลกเกือบ 1.4 ล้านคน นับเป็นอัตราการเติบโตของจำนวนลูกค้าสุทธิประจำปีสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งมา สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจต่างๆ หันมาขยายช่องทางการสื่อสารเเละสร้างเเบรนด์ผ่านเว็บไซต์มากขึ้น

SMEs ไทยขยับสู่ดิจิทัล 

สายทิพย์ (นิกกี้เชวงทรัพย์ ผู้อำนายการฝ่ายการตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของ Go Daddy คือผู้ประกอบการ SMEs’ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงบุคคลทั่วไป เเบ่งง่ายๆ ให้เห็นภาพเป็น 3 กลุ่มได้เเก่

  • กลุ่มที่มีสินค้าและบริการที่ต้องการจะขาย
  • กลุ่มที่ต้องการขายงานบริการระดับมืออาชีพ เช่น สถาปนิก ออกเเบบเเละตกเเต่งภายใน ศิลปินนักวาด นักบัญชี ฯลฯ
  • ผู้ประกอบการที่ต้องการหาโซลูชันอีคอมเมิร์ซเเบบครบวงจร

Go Daddy มีลูกค้าคนไทยที่ใช้บริการอยู่แล้วราว 60,000 ราย ในส่วนนี้คิดเป็นผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 60-70% เลยทีเดียว

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปี 2020 ระบุว่า ไทยมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 63,340 ราย มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีการลงทะเบียนธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้นราว 64,000 – 66,000 ราย

โดยการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 2% ต่อปี เเละมีจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนสะสมจนถึงปี 2020 ทั้งหมดถึง 58,423 ราย

ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว ไทยมีการจดทะเบียนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 12,883 ราย และคาดว่าในปีนี้ จะมีการจดทะเบียนอีคอมเมิร์ซใหม่ในจำนวนที่สูงขึ้นอีก

ชูจุดขายโซลูชัน one-stop-shop สร้างเว็บไซต์ได้เอง

เมื่อถามถึงการเเข่งขันในตลาดโดเมนเเละโฮสติ้งในไทย Go Daddy มองว่า มีผู้เล่นทั้งบริษัทใหญ่จากต่างชาติ เเละบริษัทเล็กๆ ท้องถิ่นในไทยจำนวนมาก มีการตัดราคากันค่อนข้างสูง

โดยกลยุทธ์ที่บริษัทจะนำมาใช้เป็นจุดเเข็งในการตีตลาดไทย ก็คือการเป็น ‘one-stop-shop’ ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจร จบในที่เดียว มีตัวเลือกมากกว่า น่าเชื่อถือเเละให้บริการดูแลลูกค้าจากเจ้าหน้าที่คนไทย

“GoDaddy ต้องการเป็นที่รู้จักมากกว่าการเป็นแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ เเต่เป็นเเหล่งที่มีเครื่องมือแบบครบวงจรให้ลูกค้า ในการสร้างธุรกิจออนไลน์ ทั้งการแสดงสินค้าและบริการ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ ส่งเสริมการขายเเบบ Websites + Marketing”

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของ GoDaddy คือ ‘Website Builder’ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย ทำเว็บไซต์ของตัวเองได้เเบบ DIY ไม่ต้องมีประสบการณ์เชิงเทคนิคเพียงกดตามขั้นตอนง่ายๆ

โดย Website Builder จะมีระบบป้องกันความปลอดภัยเว็บไซต์ SSL Certification ที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์มือถือ พร้อมเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียและ Google My Business เข้ากับเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังมีบริการหลักๆ อย่างบริการจดทะเบียนชื่อโดเมนและโฮสติ้ง การสร้างเว็บไซต์และการตลาด บริการ Professional Email และ GoDaddy Guides ให้ความช่วยเหลือลูกค้าแบบตัวต่อตัวทั้งทางเเชทเเละโทรศัพท์จากทีมงานคนไทย 

เว็บไซต์คู่โซเชียลมีเดีย 

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยส่วนใหญ่มักนิยมการขายเเละซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่าทางเว็บไซต์ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของที่จะเข้ามาตีตลาดนี้

ผู้บริหาร GoDaddy ตอบว่า คนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดียเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย เชื่อมต่อลูกค้าได้เร็ว เเต่การมีเว็บไซต์นั้นจะช่วยในเรื่องความน่าเชื่อถือ เพิ่มช่องทางการขาย เเละสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เเบรนด์ได้ เเละที่สำคัญคือค้นหาทาง กว่าโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากนัก เพียงหลักพันบาทขึ้นไป อีกทั้งยังได้เป็นเจ้าของเเพลตฟอร์มเอง ค้นหาทาง search engine ได้ง่ายกว่า เเละกระจายความเสี่ยงออกจากโซเชียลมีเดีย

โดยหัวใจสำคัญของการสร้างเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จ คือ ชื่อต้องจำได้ง่าย , ดีไซน์ให้สื่อถึงความเป็นเเบรนด์ , คอนเทนต์ต้องมีคุณภาพเเละสม่ำเสมอ , เชื่อมต่อโซเชียลมีเดียได้ง่าย , ติดต่อลูกค้าได้รวดเร็ว เเละมีขั้นตอนการชำระเงินที่สะดวก เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าตลาดไทย ไม่ใช่ตลาด DIY เหมือนในอเมริกาหรือยุโรป คนส่วนใหญ่ยังคิดว่าการจะทำเว็บไซต์ต้องมีความรู้ด้านเทคนิค ต้องเขียนโค้ดเป็น หรือมองว่าเป็นเรื่องยาก ต้องไปจ้างคนอื่นทำ GoDaddy จึงต้องเข้ามาสร้างความเข้าใจตรงนี้ เเละทำให้ตลาดขยายขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา GoDaddy มีการโปรโมตโฆษณาด้วยดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งต่างๆ โดยเน้นไปที่สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์เเละบริการที่มีอยู่

รวมไปถึงการจัดสัมมนาออนไลน์เป็นภาษาไทย เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs เป็นกลุ่มย่อยในทุกๆ เดือน เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงเป้าหมายให้มากขึ้น 

การบุกไทยอย่างเต็มรูปแบบของยักษ์ใหญ่อย่าง GoDaddy จะกระตุ้นให้ตลาดธุรกิจออนไลน์โตเเค่ไหน เเละจะงัดกลยุทธ์อะไรมาดึงดูดผู้ใช้อีกบ้าง ต้องติดตาม…

 

 

]]>
1351152
SCB เปิด ‘PayZave’ ทลายกำแพงเครดิตเทอม ช่วยรายย่อยหมุน “กระแสเงินสด” ฝ่าวิกฤต https://positioningmag.com/1344685 Fri, 30 Jul 2021 09:03:58 +0000 https://positioningmag.com/?p=1344685 SCB และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดแพลตฟอร์มใหม่ ‘PayZave’ ตัวเชื่อมระหว่างซัพพลายเออร์กับบายเยอร์ต่อรอง “ส่วนลด” แลกกับการทลายเครดิตเทอม ให้ซัพพลายเออร์ “รายย่อย” ได้รับชำระทันที เป็น “กระแสเงินสด” เสริมสภาพคล่อง ลดการกู้นอกระบบ แก้ปัญหาเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ยาก

“ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV) ร่วมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ “PayZave” หวังแก้ปัญหารายย่อยขาดสภาพคล่อง

ธนวัฒน์อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก่อนว่า ปกติแล้วรายใหญ่ซึ่งเป็น “บายเยอร์” มักจะมี “ซัพพลายเออร์” รายย่อยหลายรายที่เป็นคู่ค้ากัน ซึ่งการซื้อขายนั้นรายย่อยมักจะต้องรอเครดิตเทอมหลังวางบิลประมาณ 45-60 วัน แต่ในภาวะวิกฤตนี้ หลายรายมีรายได้ลดลง การรอเครดิตเทอมทำให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง จนบางรายต้องปิดกิจการไปแล้ว

(Photo : Shutterstock)

แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายซอฟต์โลนเพื่อแบ่งเบาภาระ แต่รายย่อยจำนวนมากเข้าถึงสินเชื่อธนาคารยากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต โดยอรพงศ์แจกแจงให้เห็นภาพว่า แหล่งเงินทุนของรายย่อยกรณีสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ดอกเบี้ยยังสูงถึง 10-20% หรือถ้าใช้แหล่งเงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยอาจสูงถึง 30-60%

“ธนาคารจริงๆ แล้วไม่ได้รู้จักผู้ประกอบการดี เพราะธนาคารดูเฉพาะบัญชีการเงินเป็นหลัก ทำให้มองว่า SMEs ไม่แข็งแรง” อรพงศ์กล่าว “แต่คนที่รู้จักซัพพลายเออร์รายย่อยดีที่สุดก็คือบายเยอร์ต่างหาก”

 

บายเยอร์ได้ลด ซัพพลายเออร์ได้เติมสภาพคล่อง

เมื่อเป็นเช่นนี้ SCB และ DV จึงหาโซลูชันที่จะช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยออกแบบเป็นแพลตฟอร์ม PayZave ให้บายเยอร์ตั้งเรื่อง “ขอส่วนลด” แลกกับการ “ชำระเงินให้ทันที” ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรอครบกำหนดชำระ

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่ต้องจัดซื้อกระดาษเข้ามา หลังซัพพลายเออร์วางบิล ผมสามารถกดขอส่วนลด 5% จากบิลนั้น แลกกับการชำระเงินให้ซัพพลายเออร์ทันที หากซัพพลายเออร์กดยอมรับดีล ซัพพลายเออร์จะได้เงินเลย ไม่ต้องรออีก 30 วันหรือเวลาตามเครดิตเทอม” อรพงศ์กล่าว โดยเป็นระบบ ‘วิน-วิน’ บายเยอร์ได้ลดต้นทุน และซัพพลายเออร์ได้กระแสเงินสดไปหมุนเวียน

อรพงศ์ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้รายย่อยอยู่ในภาวะลำบาก ขณะที่รายใหญ่หรือฝั่งบายเยอร์ที่จริงแล้วมีสภาพคล่องเหลือ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และเชื่อว่าหลายๆ รายต้องการช่วยให้ซัพพลายเชนอยู่ได้ คนในอุตสาหกรรมไม่ล้มไปตามๆ กัน

ทั้งนี้ ถ้าหากบายเยอร์ไม่ใช้กระแสเงินสดของตัวเอง ต้องการจะเปิดวงเงินสินเชื่อ OD เพื่อจ่ายให้ซัพพลายเออร์ผ่าน Payzave ก็สามารถทำได้ โดย SCB จะให้วงเงิน OD ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ

 

ตั้งเป้า 80,000 รายเข้าระบบในสิ้นปี

ธนวัฒน์กล่าวว่า หลังเปิดตัว 1 เดือน ปัจจุบัน PayZave มีผู้ใช้งานฝั่งบายเยอร์แล้ว 50 ราย และฝั่งซัพพลายเออร์ 5,000 ราย มุ่งเป้าสิ้นปีนี้จะมีซัพพลายเออร์เข้าระบบ 80,000 ราย โดยเน้นหนักการเชิญบายเยอร์รายใหญ่ เพราะจะทำให้มีซัพพลายเออร์ตามเข้ามาอัตโนมัติ ส่วนวงเงิน OD ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะเฟสแรกเน้นบายเยอร์ที่มีกระแสเงินสดของตัวเองมากกว่า

ด้านผู้ใช้จริง 2 รายให้ความเห็นว่าการใช้งาน PayZave ว่าช่วยซัพพลายเออร์ได้มาก “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด ซึ่งเป็นต้นธารไอเดียการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ด้วย เปิดเผยว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างของเขามีซัพพลายเออร์รายย่อยหลักพันราย ขณะนี้เข้ามาใช้ PayZave กันแล้วประมาณ 100 ราย

(จากซ้ายบน วนตามเข็มนาฬิกา) “ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), “อรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (DV), “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด และ “สุภาพ จรัลพัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด

สุภาพมองว่าการให้ส่วนลดเพื่อรับชำระเงินทันที ทำให้ SMEs อยู่รอดกันได้ เพราะวิกฤตนี้สภาพคล่องสำคัญที่สุด ส่วนรายใหญ่ได้ประโยชน์อย่างไร อาจมองได้หลายมุม บางบริษัทเพียงต้องการช่วยคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออาจจะมองว่าช่วยลดต้นทุนให้ตนเองด้วยก็ได้

ด้าน “วาริช ภูสนาคม” กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด กล่าวว่าบริษัทมีซัพพลายเออร์ประมาณ 1,000 ราย และมีรายย่อยจำนวนมาก บางบริษัทเป็นหน้าใหม่แล้วต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจทันที ทำให้ Payzave ช่วยได้ในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคาร

อรพงศ์ระบุว่า แพลตฟอร์มจะให้ใช้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายไปจนถึง 31 ธ.ค. 2564 เพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤต ส่วนหลังจากนั้น DV จะมีการเก็บค่าธรรมเนียม แต่จะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับดาต้าและสถานการณ์ในช่วงนั้นอีกครั้งหนึ่ง

]]>
1344685
ก้าวต่อไปของทีเอ็มบีและธนชาต เมื่อรวมกันเป็น ‘ttb’กับเป้าหมายสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย https://positioningmag.com/1331937 Mon, 17 May 2021 11:30:20 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331937

เหลือเวลาอีกเเค่หนึ่งเดือนกว่าๆ ดีลประวัติศาสตร์เเห่งวงการเเบงก์เมืองไทยที่หลายคนจับตามอง อย่างการรวมกิจการของ 2 ธนาคารใหญ่ ‘ทีเอ็มบี’ และ ‘ธนชาต’ สู่การเป็น

‘ทีเอ็มบีธนชาต’ หรือ ttb กำลังจะเสร็จสมบูรณ์เเบบ 100% ครบสูตร ‘One Dream, One Team, One Goal’ ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้

การเดินทางครั้งสำคัญของ ttb กับเป้าหมายใหญ่ที่หวังจะช่วยให้คนไทยมี ‘Financial Well-being’ ชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น จะมีทิศทางต่อไปอย่างไร เเผนธุรกิจเเละกลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เเละการเปลี่ยนเเปลงที่จะเกิดขึ้น ลูกค้าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง วันนี้ Positioning จะพามาหาคำตอบกัน

ภารกิจใหญ่ของการรวมธนาคารครั้งนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการรวมจุดแข็งของสองธนาคารมาไว้ที่เดียว

เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ธนาคารใหม่ มีขนาดธุรกิจเพิ่มขึ้น ‘เท่าตัว’ โดยมีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท ขึ้นเเท่นเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ อันดับ 6 ของไทย มีพนักงานรวมกันมากกว่า 15,000 คน

“เราไม่ต้องการเป็นเเค่ธนาคารใหม่ เเต่จะสร้างรากฐานองค์กรใหม่ให้มีความเป็นหนึ่งเดียว สู่เป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยให้คนไทยมีสุขภาพการเงินที่เเข็งเเรงในระยะยาว นำเสนอโซลูชั่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์คนไทยในทุกช่วงชีวิต” ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) กล่าว

รีเเบรนด์ให้ทันสมัย การ ‘เชื่อมต่อ’ คือหัวใจสำคัญ

ไม่กี่วันที่ผ่านมาเราคงได้เห็น ‘ภาพลักษณ์ใหม่’ ของ ttb ออกมาให้ตื่นตาตื่นใจกันเเล้ว ทั้งช่องทางการสื่อสารทางออฟไลน์เเละออนไลน์

จุดเล็กๆ เเต่น่าสนใจคือ เป็นครั้งเเรกของสถาบันการเงินไทยที่เลือกใช้ ชื่อโลโก้ใหม่ เป็นอักษรพิมพ์เล็ก ประกอบด้วยอักษร t ตัวแรกคือ TMB (ทีเอ็มบี) t ตัวที่สองคือ Thanachart (ธนชาต) และอักษร b มาจากคำว่า Bank (ธนาคาร)

ความหมายของโลโก้ของ ttb สื่อให้เห็นความตั้งใจของธนาคารที่จะใกล้ชิดและเข้าใจผู้คน ซึ่งการเชื่อมประสานกันของตัวอักษรทั้งสามตัว ยังมีความหมายถึง ‘การเชื่อมต่อ’ ของสองธนาคารเพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย


ส่วนโทนสีของเเบรนด์ จะมี ‘สีฟ้าเเละสีส้ม’ ซึ่งเป็นสีเดิมของทีเอ็มบีและธนชาต ที่สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เป็นธนาคารที่ทุกคนเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่เรื่องยากหรือเป็นเรื่องที่ไกลตัว

พร้อมมีการเฉดสีใหม่ อย่างสีฟ้าเฉดใหม่ ‘Confident Blue’ ที่หมายถึงการเปี่ยมไปด้วยพลัง ความคิดสร้างสรรค์ เเละสีส้ม ‘Refreshing Orange’ หมายถึง ความสดใส มีชีวิตชีวา โดยสะท้อนให้เห็นถึง ความก้าวหน้า ความอบอุ่น และความกระตือรือร้นที่จะบริการลูกค้า

รวมไปถึงเพิ่มสีน้ำเงิน ‘Trusted Navy’ สื่อถึงความมั่นคง น่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพ สามารถเป็นที่พึ่งพาให้แก่ทุกคน เหมือนที่เป็นตลอดมา และเพิ่มสีขาว ‘Honest White’ คือ การเป็นตัวแทนของความโปร่งใส การเปิดเผยและซื่อสัตย์ ที่เป็นหลักการที่ธนาคารยึดมั่นอยู่เสมอ โดยจะทยอยเปลี่ยนโฉมสาขา และ ATM เป็นแบรนด์ ttb ทั่วประเทศไทย

กลยุทธ์สู่ Main Bank : ขยายฐานลูกค้า – รุกดิจิทัล – เสริม

สกิลพนักงาน

ในปีนี้ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ได้ลำดับความสำคัญทางธุรกิจที่จะเร่งดำเนินการไว้ 3 เรื่อง ได้เเก่

1) ขยายฐานลูกค้า ที่เลือกใช้ ttb เป็น ’ธนาคารหลัก’ (Main Bank) ผ่านกลยุทธ์ Financial Well-being solution พัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ผ่าน 4 เสาหลัก คือ

  • ฉลาดออมฉลาดใช้ (Mindful spending & start saving)
  • รอบรู้เรื่องกู้ยืม (Healthy borrowing)
  • ลงทุนเพื่ออนาคต (Investing for future)
  • มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ (Sufficient protection)

2) สร้างศักยภาพด้าน ‘Digital-first operating model’ บนโมบายแบงก์กิ้งแพลตฟอร์ม ที่เป็นมิตรและรู้ใจตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละคน แต่ละช่วงชีวิต มอบประสบการณ์ที่ดีกว่า สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้า และมีความคล่องตัวที่สูงขึ้นในการขับเคลื่อนนวัตกรรม

3) สร้างศักยภาพบุคลากร (People development) ให้สอดรับกับยุคดิจิทัล

“ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเทคโนโลยี แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินผ่านพนักงานของธนาคาร โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่มาช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า”

โดยพนักงานทั้งหมด จะได้รับการพัฒนายกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up-skill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Re-skill) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนทิศทางของธนาคารที่จะสร้าง Humanized digital หรือ รูปแบบการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นมิตรและรู้ใจ

สำหรับการ ออกแบบ ‘โซลูชันทางการเงิน’ นั้นจะเน้นให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงชีวิต โดยยกตัวอย่างโซลูชันที่เหมาะสมกับลูกค้า 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเริ่มทำงาน

เป็นวัยที่ต้องการก่อร่างสร้างตัว เพื่อหา ‘ล้านแรก’ ในชีวิต ttb จะเสนอโซลูชันด้านฉลาดออม ฉลาดใช้ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง พร้อมรับสิทธิประโยชน์รอบด้าน รวมถึงประกันอุบัติเหตุฟรี ที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงหากเกิดอุบัติเหตุผ่านบัญชี all free และ ออมอย่างมีวินัยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินผ่านบัญชี no fixed

กลุ่มลูกค้าที่เริ่มสร้างครอบครัว

วัยนี้จะเป็นเสาหลักของบ้าน ที่ต้องการชีวิตอิสระในวันข้างหน้า ธนาคารจะเสนอโซลูชันเกี่ยวกับสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ต้องการมีบ้าน มีรถ ที่ใหญ่ขึ้นสำหรับการสร้างครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้คนกลุ่มนี้มีระเบียบวินัยในการผ่อนชำระ พร้อมโซลูชันการรวบหนี้ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อให้ จัดการปลอดหนี้ได้เร็วที่สุด สามารถเริ่มต้นเก็บออม และลงทุนเพื่ออนาคตได้ต่อไป      

กลุ่มลูกค้าที่ประสบความสำเร็จจากหน้าที่การงาน

กลุ่มนี้ต้องการมีชีวิตที่มั่นคงและเกษียณอย่างไร้กังวล ธนาคารจึงจะเน้นการให้ความรู้ด้านการลงทุน จัดทัพตามความเสี่ยง ต่อยอดความมั่งคั่ง ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และ ttb smart port พอร์ตการลงทุน ที่ตอบทุกโจทย์การลงทุนครบวงจร โดยมืออาชีพ

กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง

วัยนี้กำลังจะเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ เเละอยากใช้ชีวิตได้ตามใจ ‘สุขภาพเป็นหนึ่ง ลูกหลานสบาย’ ธนาคารพร้อมส่งมอบโซลูชันด้านประกันชีวิตและการลงทุนที่มอบความอุ่นใจ ในการรักษาความมั่งคั่ง พร้อมดูแลสุขภาพ และวางแผนส่งต่อมรดกให้กับทายาท


ttb DRIVE ต้องเป็นให้ได้มากกว่า ‘สินเชื่อรถยนต์’

วิกฤตโควิด-19 สะเทือนทุกหย่อมหญ้า ในปีที่ผ่านมา ttb ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อยและธุรกิจไปกว่า 750,000 ราย และในช่วงเวลานี้ ได้เตรียมมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

‘สินเชื่อรถยนต์’ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ตัวชูโรงของ ttb โดยธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าและคู่ค้าผ่านโครงการ “ตั้งหลัก” ซึ่งช่วยลูกค้าผ่อนหนักเป็นเบาได้กว่า 600,000 ราย และมอบประกันคุ้มครองโควิด-19 ให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วกว่า 3,000 รายทั่วประเทศตลอดปีที่ผ่านมา

ส่วนความเคลื่อนไหวต่อไปในปีนี้ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของธนาคาร จะนำเสนอออกมาภายใต้แบรนด์ ‘ttb DRIVE’ ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น “มากกว่าสินเชื่อรถ… เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น”

โดย ttb DRIVE พร้อมช่วยลูกค้าเคลียร์ทุกอุปสรรคทางการเงิน รวมหนี้ ลดภาระ เพิ่มสภาพคล่องด้วย “รถแลกเงินเคลียร์หนี้” และมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่รักษาวินัยทางการเงินเป็นอย่างดีผ่านโครงการ “จ่ายดีมีคืน” อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยโปรแกรม auto-approve ผนวกกับ scoring model พร้อมเจ้าหน้าที่ ttb DRIVE agent ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ได้เปิดตัว “DRIVE Connect Platform” ทำตลาดออนไลน์ผ่านทาง Facebook ให้กับกลุ่ม ดีลเลอร์รถมือสอง และยังมีระบบ “Cross-area Booking” สามารถรองรับการซื้อขายรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วผ่านช่องทางออนไลน์ ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้แก่คู่ค้า

พร้อมยกระดับศักยภาพทีมงาน ttb DRIVE เพื่อการทำงานในยุคดิจิทัล ผ่าน DRIVE Academy  เพื่อสร้างบริการที่ดีให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย

หนุนเงินทุน เสริมดิจิทัลขับเคลื่อน SMEs – ธุรกิจใหญ่

การเติบโตของธุรกิจรายย่อยไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ttb จึงวางเเผนออกสร้างโซลูชันการเงิน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของลูกค้าธุรกิจ ดังต่อไปนี้

มอบแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมและเพียงพอ

เน้นการสนับสนุน SMEs ที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้รับวงเงินที่เพียงพอบนเงื่อนไขที่เหมาะสมผ่าน “สินเชื่อเพื่อเครือข่ายธุรกิจ ทีทีบี (ttb supply chain solutions)” และช่วยเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตด้วยโครงการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี (Special Loan) และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ที่สอดคล้องนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ช่วยบริหารธุรกิจ ด้วย ttb business one

มอบโซลูชันและบริการที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ ด้วย “ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ทีทีบี บิสซิเนสวัน (ttb business one)” ที่เป็นมากกว่าเครื่องมือการทำธุรกรรมออนไลน์

ช่วยให้ทำธุรกรรมได้ครบตั้งแต่เรื่องสินเชื่อ จนถึงธุรกรรมต่างประเทศ มีรายงานครบถ้วน เรียกดูง่าย และนำไปต่อยอดทำรายงานเชิงวิเคราะห์ได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบของพันธมิตรและลูกค้า เช่น ERP POS และอีกหนึ่งดิจิทัลโซลูชันที่ช่วยลดเรื่องการใช้เงินสดและเอกสารอย่างเต็มรูปแบบก็คือ “ระบบบริหารการเรียกเก็บเงิน ทีทีบี (ttb digital invoice management)”

“เป็นการนำโซลูชันของธนาคารมาเชื่อมต่อกับระบบการเรียกเก็บเงินของลูกค้าธุรกิจ ลดการใช้เงินสดและเอกสาร ลดเวลาดำเนินการ และค่าใช้จ่ายเรื่องคน”

มอบชีวิตทางการเงินที่ดีให้แก่พนักงานและคู่ค้า

มีบริการที่น่าสนใจอย่าง “การจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน ทีทีบี เพย์โรลพลัส (ttb payroll plus)” รวมไปถึงบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความเสี่ยงและด้านประกัน อย่างเช่น “ประกันสินเชื่อธุรกิจ ทีทีบี วันไลฟ์ (ttb one life business insurance)” เป็นต้น


ttb ยุคใหม่…ลูกค้าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ?

สำหรับในช่วงเวลานี้ลูกค้าทีเอ็มบีเเละธนชาต สามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ได้ ‘เช่นเดิม’ และยังสามารถใช้ช่องทางของ ttb ได้อีกด้วย

ลูกค้าทีเอ็มบีเดิม สามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้เหมือนเดิมภายใต้แบรนด์ใหม่ โดยธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการทยอยเปลี่ยนช่องทางบริการจาก ทีเอ็มบี เป็น ttb

ลูกค้าธนชาตเดิม หลังการรวมระบบในเดือนก.ค.สำเร็จ ผลิตภัณฑ์และบริการเดิมจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด รวมไปถึง ‘สิทธิประโยชน์’ ที่เพิ่มขึ้น

โดยลูกค้าธนชาตจะได้รับจดหมายแจ้งรายละเอียด ซึ่งจะมี ‘QR Code’ ให้สแกนเข้าไปดูข้อมูลเฉพาะของแต่ละบุคคล อย่างเลขที่บัญชีเงินฝากและเลขที่สัญญาสินเชื่อ เพื่อไว้ใช้ทำธุรกรรมตั้งเเต่วันจันทร์ที่ 5 ก.ค. เป็นต้นไป

“จดหมายนี้จะทยอยส่งออกไปหาลูกค้าตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป เพื่อให้ลูกค้าเตรียมตัวล่วงหน้า”

หากได้รับจดหมายเรียบร้อยเเล้ว ลูกค้าสามารถสเเกน ‘ดาวน์โหลดไฟล์ pdf’  เพื่อเก็บรายละเอียดผลิตภัณฑ์เเละบริการของตัวเองไว้ใช้อ้างอิงได้ หรือสามารถตรวจสอบข้อมูล หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ผ่านแอป touch ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. เป็นต้นไป

กรณีที่ผ่านไปซักพักเเต่ยังไม่ได้รับจดหมาย ลูกค้าธนชาตสามารถติดต่อไปยัง ttb contact center โทร.1428 หรือติดต่อที่สาขา ttb ได้ทั่วประเทศ

 “ธนาคารขอให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะนำไปสู่การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน”

การเดินทางของ 2 ธนาคารใหญ่ที่มีอายุยาวนานหลายทศวรรษ สู่การรวมพลังกันเป็น ‘หนึ่งเดียว’ ก้าวไปพร้อมๆ กับฐานลูกค้ามากกว่า 10 ล้านรายในครั้งนี้ จะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ เข้ามาช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยได้อย่างไรอีกบ้าง…ต้องติดตาม

]]>
1331937