WeTV – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 06 Apr 2023 17:02:19 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 คุยกับ ‘WeTV’ แพลตฟอร์มที่ยืนหนึ่งตลาดคอนเทนต์เอเชีย กับกลยุทธ์ที่มากกว่าคอนเทนต์โดนใจ แต่ต้องอยู่กับผู้ชมในทุกทัชพอยต์ https://positioningmag.com/1426070 Fri, 07 Apr 2023 10:00:22 +0000 https://positioningmag.com/?p=1426070

เผลอแป๊บเดียว แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงอย่าง ‘วีทีวี’ (WeTV) ที่ถือเป็นผู้จุดกระแส ‘ซีรีส์จีน’ และกระแส ‘C-Pop’ ให้กับประเทศไทย ก็กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว และปัจจุบัน WeTV ก็ขึ้นแท่นเป็น Top 3 แพลตฟอร์มสตรีมมิงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง Positioning จะพาไปเจาะลึกถึงกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มกับ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตลอด 4 ปีเต็ม


คาแรกเตอร์ชัด ผู้บุกเบิกคอนเทนต์จีน

ทำตลาดในไทยมา 4 ปีเต็มแล้ว สำหรับ ‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีน โดย กนกพร ยอมรับว่าการแข่งขันนั้นดุเดือดขึ้นทุกวัน เพราะไทยถือเป็นหมุดหมายแรก ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงจะเข้ามาทำตลาด โดยผู้เล่นแต่ละรายก็จะมี จุดเด่น และ คาแรกเตอร์ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกันไป สำหรับ WeTV ก็จะเน้นที่คอนเทนต์เอเชียโดยเฉพาะ ซีรีส์จีน

ปัจจุบัน WeTV ถือเป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย โดยมีทั้งซีรีส์ อนิเมะ รายการวาไรตี้ จากจีน ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับบนแพลตฟอร์มของ WeTV ที่ให้บริการในไทยนั้นมีจำนวนคอนเทนต์รวมกว่า 1,200 คอนเทนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนเทนต์จีนที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มถึง 50% ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ซีรีส์จีนย้อนยุค (60%) และโมเดิร์นดราม่า (40%)

“ถ้าคนอยากดูคอนเทนต์จีน เขาก็จะนึกถึงเราเป็น Top of Mind แต่คอนเทนต์จีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเพราะเขามองหาความหลากหลาย ดังนั้น อีก 50% ที่เหลือจะมีทั้งคอนเทนต์จากไทย, เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมะ เข้ามาเสริม”


ซีรีส์จีนไม่ได้โบราณอย่างที่คิด

ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หรือคนยุค 90 อาจจะคุ้นเคยกับซีรีส์และภาพยนตร์จีนมากกว่าคนเจนใหม่ แต่ กนกพร มองว่านั่นไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะซีรีส์จีนในปัจจุบันไม่ได้เหมือนในอดีต แม้ฉากหลังจะย้อนยุคแต่พล็อตเรื่องเป็นแบบสมัยใหม่ เพราะซีรีส์ส่วนใหญ่จะสร้างมาจากนิยาย ทำให้คนเปิดใจได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ดารา คอสตูม เอฟเฟกต์ การถ่ายทำ ก็อลังการ ทำให้สามารถรับชมได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ก็จะมีกลุ่มที่เป็นแฟนนิยายตามมาดูซีรีส์

“ซีรีส์จีนในยุคปัจจุบันแม้จะมีฉากหลังเป็นยุคเก่า แต่พล็อตเรื่องมีความร่วมสมัยและหลากหลายมาก ทั้งแนวต่อสู้กำลังภายใน สืบสวนสอบสวน อย่างเรื่อง เทียบท้าปฐพี (Who Rules The World) ก็มีนางเอกเป็นตัวนำในการดำเนินเรื่อง แหวกขนบสังคมชายเป็นใหญ่”

โดยในปีที่ผ่านมา WeTV มีจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly-active user) เติบโตขึ้น 20% ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยในฝั่งของไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมายอดการรับชมคอนเทนต์จีนยังเป็นอันดับ 1 เติบโต 12%
(รองลงมาคือคอนเทนต์ไทยและอนิเมะ) ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าในกลุ่มผู้ใช้งานคนไทยตอบสนองต่อคอนเทนต์จีน โดยปัจจุบัน ผู้ใช้งาน WeTV ในไทยนั้น ราว 75% เป็นกลุ่มอายุ 18-45 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง


ย้ำจุดแข็งเบอร์หนึ่งคอนเทนต์เอเชีย พร้อมส่ง ‘มินิซีรีส์’ เสริมแกร่งด้านคอนเทนต์

ในส่วนของกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ แน่นอนว่าคอนเทนต์จีนยังเป็นกลยุทธ์หลัก แต่ที่เพิ่มเติมคือ มินิซีรีส์ โดยจะเป็นซีรีส์  สั้น ๆ ตอนละ 5-10 นาที มีความยาวประมาณ 30 ตอน โดยหลังจากลองเปิดตัวมาประมาณ 1 ปีในไทยก็ได้รับกระแส  ตอบรับอย่างดี เกิดกระแสบนโลกออนไลน์มากมาย สอดคล้องกับการเติบโตของระยะเวลาการออกอากาศบนแพลตฟอร์ม WeTV ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โตถึง 420% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้น (Short-video) ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจุดเด่นของมินิซีรีส์คือ จะสามารถดูง่าย จบในตอน ปัจจุบัน มินิซีรีส์ในแพลตฟอร์มมีมากกว่า 100 เรื่อง อีกส่วนที่จะเน้นคือ อนิเมะจีน ที่จะมาจับกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก รวมถึงคอนเทนต์ประเภท วาไรตี้ ที่จะช่วยดึงดูดกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี

สำหรับคอนเทนต์ออริจินัล WeTV ก็มีแผนจะผลิตอย่างต่อเนื่องทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย โดยประเทศไทยได้วางเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ปีละ 4-6 เรื่อง ทั้งซีรีส์วายและซีรีส์ดราม่า โดยจะนำไปฉายให้ครบทุกประเทศที่แพลตฟอร์มให้บริการ อย่างล่าสุดซีรีส์ เมียหลวง ก็ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยการครองอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ให้บริการทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา โดยหนึ่งในจุดมุ่งหมายในการทำออริจินัลของ WeTV คือ อยากทำคอนเทนต์ไทยไปสายตาโลก

“อย่างที่เขาพูดกันว่าซีรีส์วายก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของไทยได้ เพราะเป็นอีกคอนเทนต์ที่ไปตกแม่ ๆ จากต่างประเทศ สำหรับ WeTV ปีที่แล้วก็มีออริจินัลซีรีส์วายออกไป 2 เรื่อง คือ กลรักรุ่นพี่ และ 609 Bedtime Story สำหรับปีนี้ล่าสุดก็มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ผลิตซีรีส์วายอย่าง Dee Hup House และ Just Up นำซีรีส์วาย “ค่อยๆ รัก Step by Step” เวอร์ชัน Uncut มาออกอากาศที่ WeTV ”


ขยายพันธมิตร 100% ทุกด้าน

ที่ผ่านมา WeTV ขยายฐานพันธมิตรแทบ 100% ในทุกแกนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค ซึ่งการจับมือกับพันธมิตรถือเป็นอีกกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ใช้และรายได้ โดยในฝั่งของการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ WeTV ได้จับมือกับช่องดิจิทัลทีวี เช่น ช่อง 8 ที่นำซีรีส์จีนไปฉายตลอด 7 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลองรับชมซีรีส์จีน ถือเป็น Win-Win Strategy
เพราะช่องก็ได้คอนเทนต์คุณภาพไปฉาย ส่วน WeTV อาจจะได้ลูกค้าใหม่ที่ไม่อยากรอชมคอนเทนต์บนทีวี

อีกกลุ่มพันธมิตรสำคัญคือ ผู้ให้บริการการสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำในแต่ละประเทศ อาทิ Telkomsel และ Indihome ในประเทศอินโดนีเซีย AIS, TRUE และ DTAC ในประเทศไทย โดยในระดับภูมิภาค WeTV ยังเป็นพันธมิตรกับแบรนด์และเอเจนซีโฆษณาชั้นนำระดับโลกมากมาย ซึ่ง WeTV ยังเตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์รายไตรมาสในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสด้านพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเอเจนซีโฆษณา อาทิ GroupM, Omnicom Media Group (OMG), และ Dentsu รวมถึงกลุ่มนักโฆษณาและการตลาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มองเห็นศักยภาพจากการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผ่าน WeTV

“เราเชื่อว่าทุกคนพยายามมองหาสิทธิพิเศษให้กับกลุ่มลูกค้าของเขา เราก็ขอเป็น 1 ในสิทธิพิเศษที่เขาจะให้กับลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่กลุ่มโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เติบโตสูงมากจริง ๆ รวมไปถึงการทำโฆษณาบนแพลตฟอร์ม OTT เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยอมรับชมโฆษณามากขึ้น”


เข้าหาแม่ ๆ ในทุกทัชพอยต์

กนกพร ย้ำว่า แน่นอนว่าทุกแพลตฟอร์มใช้คอนเทนต์เป็นสิ่งแรกในการดึงดูดผู้ใช้ แต่สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารกับผู้ใช้งาน โดย WeTV ให้ความสำคัญกับ คอมมิวนิตี หรือ แฟนด้อม มาก ดังนั้น บนแพลตฟอร์มเองก็จะมีการนำเทคโนโลยีจาก Tencent มาพัฒนา In-App engagement Feature ไม่ว่าจะเป็น Killing Feature อย่าง Flying Comment หรือคอมเมนต์เรียลไทม์ระหว่างรับชมคอนเทนต์ และฟีเจอร์ Send Love ที่ให้แฟนๆได้ร่วมส่งของขวัญ ร่วมโหวตให้กับดารา ศิลปินที่ชื่นชอบได้ นอกจากนี้ยังนำฟีเจอร์นี้มาผนวกกับ On Ground Activity เช่น กิจกรรมแฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรม WeTV AWARDS ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมกับ WeTV แบบเอ็กซ์คลูซีฟตลอดทั้งกิจกรรม นอกจากนี้ WeTV ก็มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเหล่าแฟนคลับซีรีส์จีนและคอมมิวนิตีที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“เหล่าแฟนคลับหรือแม่ ๆ สำคัญมาก เพราะถ้าเขาดูและเขาชื่นชอบก็จะมีการบอกต่อ เราก็จะมีการทำงานอย่างใกล้ชิด พยายามจัดงานแฟนมีตกับศิลปิน และมีการใช้ฟีเจอร์อย่าง Live เพื่อให้แฟนคลับทางบ้านได้ดูด้วย โดยเราพยายามจะจัดให้ได้ 4-6 ครั้ง/ปี”


โอกาสเติบโตมากพอ ๆ กับความท้าทาย

สำหรับเป้าหมายของ WeTV ในปีที่ 5 นี้ กนกพร ระบุว่า ต้องการรักษาการเติบโตที่ 20-30% และต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้ที่เด็กลง ปัจจุบัน ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไทยมีประมาณ 52 ล้าน ผู้ที่ใช้งาน OTT มีประมาณ 26 ล้านคน เฉลี่ยผู้ใช้จะมีแพลตฟอร์มประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม/คน แสดงว่ายังมีโอกาสสร้างการเติบโต

ปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ใช้งานแบบ VIP ในแต่ละวันมีสัดส่วนประมาณ 25% โดยเป้าหมายของ WeTV ในอนาคตคือ เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% โดย WeTV ก็ได้มีการจัดแพ็คเกจที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น แพ็คเกจ 129 บาท/เดือน, 339 บาท/ 3 เดือน และ 1,200 บาท/ปี อย่างไรก็ตาม WeTV ให้บริการแบบไฮบริด ดังนั้น แพลตฟอร์มจึงสามารถเติบโตจากสมาชิกและรายได้จากฝั่งโฆษณา

“ความท้าทายของแพลตฟอร์ม OTT ในตอนนี้ คือ ผู้ใช้แต่ละกลุ่มก็ชัดมากและไม่ค่อยข้ามกัน ดังนั้น เมื่อตัวเลือกเยอะขึ้น การแข่งขันก็ต้องเพิ่มขึ้น และในอนาคตจะยิ่งเห็นการแข่งขันด้านราคากันมากขึ้น สำหรับ WeTV เองมองว่าว่าในความท้าทายตรงนี้ ยังมีโอกาสให้เราเติบโตได้ ไม่ว่าผู้ใช้จะอยากเอ็นจอยคอนเทนต์เราแบบไหน เราก็พยายาม Customize แพ็คเกจให้ตอบโจทย์มากที่สุด”

จากทั้ง 3 กลยุทธ์ที่ WeTV ได้วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคอนเทนต์คุณภาพใหม่ ๆ การขยายพันธมิตรในทุกมิติทั้งด้านคอนเทนต์ไปจนถึงการเข้าถึงผู้ใช้งานและคู่ค้า รวมถึงการเสริมแกร่งคอมมิวนิตีทั้งจากพลังของกลุ่มแฟนๆภายนอกและ In-App Feature ล้วนตอกย้ำว่า WeTV ไม่หยุดอยู่แค่ Top 3 ผู้ให้บริการคอนเทนต์คุณภาพของเอเชียแน่นอน และ WeTV ก็พร้อมใช้ความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มเป็นส่วนผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ออกไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกอีกด้วย

]]>
1426070
ย้อนรอย 2 ปีมี ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กี่รายต้องโบกมือลาไป และใครที่ยังอยู่รอด https://positioningmag.com/1364461 Mon, 29 Nov 2021 12:57:45 +0000 https://positioningmag.com/?p=1364461 แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะทำให้ตลาด ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ใช่กับทุกแพลตฟอร์ม เนื่องจากการมาของผู้เล่น ‘หน้าใหม่’ แถมเป็น ‘ขาใหญ่ทุนหนา’ จนกลายเป็นตลาดที่แข่งขันสูง ผู้เล่นในระดับภูมิภาคอาจจะไม่มีกำลังต่อสู้มากพอที่จะผลิตคอนเทนต์มาดึงผู้ใช้ ดังนั้น มาย้อนดูกันว่าตลอด 2 ปีมีใครหายไป และใครที่ยังอยู่บ้าง

HOOQ

สำหรับ ‘HOOQ’ (ฮุค) เกิดจากการก่อตั้งโดย Singtel จากสิงคโปร์ ร่วมด้วย Sony Pictures และ Warner Bros. นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับ Hotstar ของ Disney และ Grab กับ VideoMax ของอินโดนีเซีย โดยได้เริ่มดำเนินกิจการในปี 2015

โดย HOOQ ให้บริการความบันเทิงหลายรูปแบบ มีทั้งหนัง และซีรีส์จากฮอลลีวูด รวมถึงรายการทิ้งถิ่นเพื่อหวังดึงดูดลูกค้าท้องถิ่น นอกจากนั้นก็ยังมีการผลิตเนื้อหาของตัวเองด้วย ซึ่งในช่วงนั้น Netflix เจ้าตลาดในฝั่งตะวันตกยังไม่ได้บุกตลาดเอเชียมากนัก จึงเป็นโอกาสของ HOOQ ที่จะทำตลาด และขายฐานลูกค้า ทำให้ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาสามารถหารายได้ถึง 80 ล้านเหรียญฯ

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ของ HOOQ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็ทำให้ HOOQ ขาดทุนมาตลอด โดยคาดว่าในปี 2019 ขาดทุนสะสมสูงถึง 220 ล้านเหรียญฯ ทำให้ในเดือนเมษายน 2563 HOOQ ก็ได้ประกาศผ่าน Facebook Official ว่าจะปิดให้บริการในวันที่ 30 เมษายน 2020 ปิดตำนานแพลตฟอร์มที่ให้บริการมาตลอด 5 ปี

Photo : Shutterstock

iflix

เป็นแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 348 ล้านเหรียญสหรัฐ และสามารถขยายบริการในกว่า 24 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบตะวันออกกลาง แม้ว่าจะมีการขยายบริการไปในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ใช้กลับมีไม่ถึง 25 ล้านราย

จนมีข่าวว่าในปี 2018 iflix (ไอฟลิกซ์) มีเงินสดในบัญชีเพียงแค่ 12.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ iFlix ต้องการระดมทุนและเตรียม IPO จนมาช่วงต้นปี 2020 ได้มีข่าวว่าบริษัทที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ลดพนักงานประมาณ 50 คนออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นผลพวงมาจากปัญหาทางการเงินที่กระท่อนกระเเท่นมากว่า 2 ปี

ในที่สุด iflix ก็ได้โดนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนอย่าง Tencent ซื้อกิจการไป พร้อมให้เหตุผลว่าเพื่อขยายการเข้าถึง WeTV แพลตฟอร์มสตรีมของตัวเองในภูมิภาค อีกทั้ง Tencent จะได้รับเนื้อหาเทคโนโลยีและทรัพยากรของ iFlix และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่สำคัญของการเติบโต

LINE TV

รายล่าสุดสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ LINE TV (ไลน์ทีวี) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก LINE แพลตฟอร์มแชทอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเปิดตัวให้บริการตั้งแต่ปี 2014 โดยเปิดให้ผู้ใช้ดูฟรี ไม่มีค่าสมาชิก ในช่วงปี 2020 LINE TV มียอดรับชมรวม 1 แสนล้านนาที มีผู้บริโภคกว่า 40 ล้านรายที่เข้าถึงแพลตฟอร์ม

โดยจุดเด่นของ LINE TV อยู่ที่คอนเทนต์ไทย โดยเฉพาะละครรีรัน และซีรีส์วาย ที่มีกว่า 40 เรื่อง อาทิ เพราะเราคู่กัน, Why R U The Series และ En of Love นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนและอนิเมะกว่า 100 เรื่อง

อีกจุดแตกต่างของ LINE TV ในการหารายได้นั้นจะแตกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะเก็บค่าสมาชิก (subscription) หรือทั้ง ดูฟรีและสมัครเป็น VIP แต่รายได้ของ LINE TV มาจาก ค่าโฆษณา เป็นหลัก ดังนั้น ผู้ชมจะได้รับชมคอนเทนต์ฟรี แต่ต้องดูโฆษณาจนจบ และไม่สามารถกดข้ามได้เลย

แม้ปี 2020 LINE TV จะถือเป็นปีทองที่มีการเติบโต แต่ล่าสุด LINE TV ก็ได้ประกาศผ่านเพจ Official ว่าจะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้เท่านั้น โดยอธิบายเพียงว่า ต้องปิดบริการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินการทางธุรกิจของ LINE ประเทศไทย

มีหลายคนมองว่า เนื่องจาก LINE TV ต้องซื้อคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ และราคาของคอนเทนต์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ LINE TV มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่สูงมากขึ้นจากการมาของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ

คู่แข่งระดับโลก

หากพูดถึงผู้เล่นระดับโลกที่อยู่ในไทย แน่นอนก็มี Netflix (เน็ตฟลิกซ์) ที่ยังคงรุกตลาดไทยต่อเนื่อง มีการออกออริจินอลคอนเทนต์ของไทยอย่างน้อยปีละ 2-3 เรื่อง และอีกค่ายที่เพิ่งมาปีนี้ก็คือ Disney+ Hotstar (ดีสนีย์พลัส ฮอทสตาร์) ที่มีแฟรนไชส์คอนเทนต์สุดแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น Marvel, Star Wars, Pixar ฯลฯ และที่สำคัญคือ คอนเทนต์ส่วนใหญ่มี พากย์ไทย อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี HBO Go แพลตฟอร์มจาก WarnerMedia โดยภาพยนตร์และซีรีส์เด่น ๆ ก็คือ DC Comics อย่าง Justice League หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Games of Thrones หรือ Westworld ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย แม้จะยังไม่เห็นการทำตลาดอย่างจริงจัง แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ชอบดูหนังดูซีรีส์

ทั้งนี้ 3 แพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการแบบ subscription หรือสมัครสมาชิกรายเดือน ไม่มีดูฟรี

คู่แข่งจากเอเชีย

ด้านแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์จากเอเชียเป็นหลักจะมี 3 แพลตฟอร์ม โดย 2 รายมาจากจีน ได้แก่ WeTv (วีทีวี) ที่มีบริษัทแม่อย่าง Tencent โดยจะเน้นที่ซีรีส์จีนเป็นหลัก ต่อมา Iqiyi (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ส่วนอีกรายคือ Viu (วิว) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากฮ่องกง โดยมีจุดแข็งที่ซีรีส์เกาหลี ปัจจุบันขึ้นแท่นเบอร์ 2 ของภูมิภาค เป็นรองแค่ Disney+

โดยทั้ง 3 แพลตฟอร์มนอกจากจะเน้นคอนเทนต์เอเชียเหมือนกันแล้ว โมเดลรายได้ก็เหมือนกันคือ สามารถดูฟรีมีโฆษณาและสมัครเป็น VIP

คู่แข่งโอเปอเรเตอร์

สำหรับโอเปอเรเตอร์ของไทยมีอยู่ 2 ค่ายที่โดดเข้ามาทำแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง โดย เอไอเอส (AIS) ก็มี (เอไอเอส เพลย์) ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ นอกจากนี้ เอไอเอสยังเป็นพันธมิตรกับ Disney+ Hotstar อีกด้วย

เช่นเดียวกับ True ID (ทรู ไอดี) เป็นแพลตฟอร์มจาก ทรู ที่สามารถดูได้ไม่จำกัด แต่จะมีจุดเด่นที่คอนเทนต์กีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ นอกจากนี้ ยังมีระบบ เช่าหนังใหม่ อีกด้วย

คู่แข่งสัญชาติไทย

สำหรับแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของไทยมีอยู่ 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Mono Max (โมโน แม็กซ์) และ Doonee (ดูนี่) โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีคอนเทนต์ที่โดดเด่นคล้าย ๆ กัน อาทิ ภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

คู่แข่งการ์ตูน

ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์การ์ตูนในไทยกำลังมาแรงมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระแสของ ดาบพิฆาตอสูร แม้ว่าแพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์การ์ตูนให้ชม แต่ก็มีแพลตฟอร์มที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูนโดยเฉพาะเช่นกัน ได้แก่ Bilibil (บิลิบิลิ), Flixer (ฟลิกเซอร์) และ POPS (พ็อพส์)

 

จะเห็นว่าแค่ช่วงเวลาไม่กี่ปีตลาดสตรีมมิ่งก็มีผู้เล่นจำนวนมากตบเท้ามาให้บริการ และแต่ละแพลตฟอร์มก็มี ทุนหนากันทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายแพลตฟอร์มจะแบกต้นทุนไม่ไหว และสุดท้ายก็ถอยทัพกลับ ก่อนที่จะเจ็บตัวไปมากกว่านี้ จากนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครที่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน และจะมีใครกล้าลงมาเล่นในตลาดนี้อีกหรือไม่

]]>
1364461
‘WeTV’ ขอใช้ ‘ซีรีส์จีน’ ตรึงสาวกสตรีมมิ่ง ท่ามกลางสมรภูมิไร้ลอยัลตี้ https://positioningmag.com/1352893 Wed, 22 Sep 2021 03:00:50 +0000 https://positioningmag.com/?p=1352893 ในตลาดสตรีมมิ่งที่ทวีความดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาค่ายภาพยนตร์ก็หันมาทำสตรีมมิ่งของตัวเองอย่าง ‘Disney’ ที่เพิ่งปล่อย ‘Disney + Hotstar’ ในไทยไปหมาด ๆ จนปัจจุบันตลาดไทยมีผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งกว่า 20 ราย ที่พร้อมจะแย่งชิงเงินและเวลาจากผู้ใช้ให้อยู่กับแพลตฟอร์มตัวเองได้นานที่สุด

‘WeTV’ ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งจาก ‘Tencent’ ยักษ์ใหญ่จากจีนที่รุกตลาดไทยมากว่า 2 ปี ซึ่งถือเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้า เพราะด้วยเงินทุนที่มหาศาลทำให้สามารถผลิต ‘ออริจินอล’ คอนเทนต์ออกมาป้อนบนแพลตฟอร์มได้อย่างต่อเนื่อง กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางของแพลตฟอร์มจากนี้ รวมถึงฉายภาพการแข่งขันในตลาดสตรีมมิ่งไทย

ลอยัลตี้ไม่มีในตลาด

กนกพร ระบุว่า ปัจจุบันตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยมีการแข่งขันคึกคักมาก เพราะมีผู้เล่นกว่า 20 ราย ส่งผลให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นทำให้ ‘ไม่มีลอยัลตี้’ ซึ่งเฉลี่ยแล้วผู้บริโภค 1 คนจะใช้งานประมาณ 4.5 แพลตฟอร์ม และใช้เวลารวมในการรับชมเฉลี่ย 3.30 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น จะเห็นว่าผู้ใช้เข้าและออกตลอดเวลา เจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องพยายาม แสดงจุดยืนในการนำเสนอคอนเทนต์ และหา คอนเทนต์ที่เป็นเทรนดิ้งทำให้เกิดการพูดถึง

“การแข่งขันตอนนี้คือ คอนเทนต์ ผู้เล่นทุกรายพยายามหาคอนเทนต์ดีมีคุณภาพเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค แต่สิ่งสำคัญต้องมีความแตกต่าง โดยเฉพาะคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟหรือออริจินอล”

กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ปักหลักซีรีส์จีน ควบคู่คอนเทนต์เอเชียน

จุดเด่นของ WeTV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจากจีน ดังนั้น คอนเทนต์จำนวน 800 เรื่อง รวมกว่า 1 ล้านนาที กว่า 50% เป็นคอนเทนต์จากจีน ซึ่งถือเป็นการจุดกระแสของ C-POP หรือเหล่า ดาราจีน ให้เป็นที่นิยมในไทยโดยเฉพาะในหมู่สาว ๆ ที่นิยมซีรีส์วาย ประกอบกับการที่คนไทยคุ้นเคยกับคอนเทนต์จีนตั้งแต่อดีต จึงทำให้ WeTV เข้าถึงผู้บริโภคไทยได้ไม่ยาก

ส่วนอีก 50% ของคอนเทนต์จะเน้นไปที่คอนเทนต์เอเชีย อาทิ เกาหลี, ญี่ปุ่น และอนิเมชั่น รวมถึงการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศนั้น ๆ ทำออริจินอลของตัวเอง เพราะรองรับผู้บริโภคที่มีความ fragmentation หรือชอบหลากหลาย โดยในไทย WeTV มีพันธมิตรทางคอนเทนต์มากกว่า 40 ราย

ทั้งนี้ 70% ของผู้ชม WeTV เป็นผู้หญิง และผู้ชมกลุ่มหลักมีอายุเฉลี่ย 18-24 ปี มีสัดส่วน 29% และ 25-34 ปี มีสัดส่วน 26% โดยคอนเทนต์จีนยังเติบโตสูงสุดที่ 137% คอนเทนต์ไทย 40% และคอนเทนต์อนิเมะ 93%

“ความท้ายของเราคือภาพจำที่มีแต่ซีรีส์จีน ซึ่งเราก็พยายามจะเพิ่มความหลากหลาย เพราะอย่างน้อยเปิด WeTV มาจะเจอคอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่งที่ตรงกับความชอบบ้าง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้ไม่หันไปหาแพลตฟอร์มอื่น อย่างอนิเมชั่นก็ช่วยเพิ่มกลุ่มผู้ใช้ชายให้เพิ่มขึ้น”

สร้างคอมมูนิตี้มัดใจผู้ชม

แน่นอนว่าสาวกซีรีส์ย่อมมีคอมมูนิตี้ที่เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยน ดังนั้น WeTV จึงพัฒนาฟีเจอร์ Flying comment ที่ให้ผู้ชมสามารถแสดงความคิดเห็นระหว่างชมคอนเทนต์เพื่อสร้าง Engagement การมีส่วนรวมระหว่าง WeTV กับผู้ชม โดยฟีเจอร์ดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงด้วยยอดโตกว่า 3 เท่า และ มีจำนวนคอมเมนต์ถึงกว่า 1.5 ล้านคอนเมนต์ต่อเดือน

นอกจากนี้มี ฟีเจอร์ Ins-screen ที่ผู้ใช้สามารถย่อจอเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ ในแอปพลิเคชัน มี ฟีเจอร์ Vote สำหรับโหวตในรายการไลฟ์สด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแฟนมีตติ้งกับ WeTV Global Brand Ambassador อีกด้วย

ใช้บริษัทในเครือสร้างการรับรู้

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ WeTV จะใช้และพันธมิตรในเครือเทนเซ็นต์ ประเทศไทย อย่าง Sanook, JOOX, PUBG MOBILE และ WeComics เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับรู้กับผู้ใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ของ WeTV ได้มากขึ้น

รวมถึงพันธมิตรนอกเครือ อย่างการนำคอนเทนต์ไปฉายบน ช่อง 8 เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงผู้ชมโทรทัศน์ นอกจากนี้จะเพิ่มช่องทางชำระเงิน รวมถึงไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มอย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเดลิเวอรี่ หรือการแลกคะแนน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการ และเพิ่มช่องทางในการรับชมออนไลน์

ปักเป้า 3 ปีขึ้นเบอร์ 2 ตลาดอาเซียน

ตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในปี 2019 WeTV ตั้งเป้าขึ้น Top3 ในตลาดไทย โดยตั้งแต่ช่วงมกราคม-สิงหาคม 2021 WeTV มียอดผู้ใช้งาน DAU เพิ่มขึ้นถึง 63% จากปี 2020 และยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่มีผู้ใช้งานแบบรับชมโฆษณา (Advertising Video On Demand – AVOD) และเป็นอันดับ 2 ในส่วนของผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิก (Subscription Video On Demand – SVOD) โดยใน 6 เดือนแรก WeTV มียอดผู้ใช้งานรายเดือน (MAU) เฉลี่ยที่ 13 ล้านคน และ 25% เป็นผู้ใช้ VIP

ขณะที่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ WeTV มีผู้ใช้งานรายเดือน (Monthly Active Users หรือ MAU) กว่า 45 ล้านราย จากภาพรวมตลาด Over-the-top (OTT) ที่มีผู้ใช้รวมทั้งหมด 180 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึง 31% ของประชากรในภูมิภาค โดย WeTV มียอดชมวิดีโอมากกว่า 25 ล้านวิวต่อวัน นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานแบบสมัครสมาชิกของ WeTV ยังเติบโตขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป้าหมายของ WeTV ใน 3 ปีจากนี้คือ ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาด OTT เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเติบโตให้ได้ 3 เท่าในตลาดไทย

]]>
1352893
อัปเดต 13 แพลตฟอร์ม ‘ดูหนัง-ซีรีส์’ สตรีมมิ่งแบบถูกลิขสิทธิ์! https://positioningmag.com/1331833 Wed, 12 May 2021 13:45:00 +0000 https://positioningmag.com/?p=1331833 ประเทศไทยต้องมาเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่า 2 ครั้งก่อนหน้า ดังนั้น หลายคนก็หลีกเลี่ยงที่จะออกนอกบ้านเพื่อป้องกันตัวเอง ดังนั้น Positioning จะมาอัปเดตเหล่าแพลตฟอร์ม ‘วิดีโอสตรีมมิ่ง’ กันอีกครั้ง เผื่อใครอยากลองหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพราะแพลตฟอร์มเดิมอาจจะไม่มีคอนเทนต์อะไรที่น่าดูแล้ว ดังนั้น ไปดูกันว่ามีแพลตฟอร์มไหนบ้าง

Netflix (เน็ตฟลิกซ์)

ชื่อแรกที่ใคร ๆ นึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘Netflix’ แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีซีรีส์หรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ มาปลุกกระแสให้พูดถึงในไทยได้ตลอด ก่อนหน้านี้ก็มีซีรีส์เกาหลีอย่าง ‘Vincenzo’ และล่าสุดที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลฯ ก็คือ ‘เด็กใหม่ ซีซั่น 2’ ซึ่งเป็นการกลับมาของ ‘แนนโน๊ะ’ ซึ่งปัจจุบันได้ก้าวขึ้นสู่ Top 10 คอนเทนต์ยอดนิยมใน 7 ประเทศแถบเอเชียเลยทีเดียว

ปัจจุบัน แพ็กเกจของ Netflix มี 4 แบบ ได้แก่ แพ็กเกจมือถือ 99 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพื้นฐาน 279 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจมาตรฐาน 349 บาทต่อเดือน, แพ็กเกจพรีเมียม 419 บาทต่อเดือน ผู้สมัครใหม่ดูฟรี 30 วันแรก

HBO Go (เอชบีโอ โก)

แพลตฟอร์มจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ‘AT&T’ ประกาศควบรวมกิจการ Warner Media โดยเพิ่งให้บริการในไทยไปหมาย ๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีคอนเทนต์เด่น ๆ อย่าง ‘Justice league snyder cut’ ที่ลงฉายในแพลตฟอร์มวันแรกก็ทำเอาแพลตฟอร์มล่มเลยทีเดียว ซึ่งใครที่เป็นแฟนหนังของค่าย Warner Bros และแฟน DC Coomic ก็เตรียมตัวสมัครได้เลย เพราะมีหนังและซีรีส์ใหม่ ๆ จากทางค่ายให้ดูเพียบ โดยมีค่าบริการที่ 149 บาท/เดือน และสำหรับใครที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 3BB ก็จ่ายเพิ่มแค่ 39 บาท โดยดูฟรีได้ 7 วันหลังสมัคร

Viu (วิว)

แพลตฟอร์มที่เน้นด้านคอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก ไม่ว่าจะจากเกาหลี, ญี่ปุ่น รวมถึงละครย้อนหลังของไทย อาทิ ช่อง One31 และ GMM25 โดยจุดเด่นของ Viu อีกสิ่งที่ถูกอกถูกใจชาวไทยก็คือ ภาคเสียง ‘ภาษาถิ่น’ หากสังเกตจะเห็นว่าหลายแพลตฟอร์มจะเริ่มมีคอนเทนต์พากย์ไทย แต่สำหรับ Viu และมี ‘เสียงภาษาอีสาน’ หรือ ‘เสียงภาษาเหนือ’ เรียกได้ว่าเอาใจคนท้องถิ่นไปเลย

สำหรับใครที่เป็นสาย ‘ดูฟรี’ Viu ก็จัดให้ แต่ต้องดูโฆษณาและได้แค่ความคมชัดภาพแบบ SD แต่ถ้าอยากดูแบบ Full HD ไม่มีโฆษณาก็มีค่าสมาชิกที่ 119 บาท/เดือน 3 เดือน 315 บาท และรายปี 1,199 บาท

WeTV (วีทีวี)

แพลตฟอร์ม ‘WeTV’ ซึ่งมีเจ้าของคือ ‘เทนเซ็นต์’ บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน โดย WeTV มีจุดเด่นด้านซีรีส์จากจีนและเอเชีย โดยเฉพาะภาพยนตร์กำลังภายใน นอกจากนี้ยังร่วมกับผู้ผลิตไทยผลิต ‘ซีรีส์วาย’ ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’”

โดยรูปแบบการใช้บริการมีทั้งดูฟรี (มีโฆษณา) และพรีเมียม (WeTV VIP) โดยราคาสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ รายเดือน ชำระครั้งแรกที่ 59 บาท, สมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติ ราย 3 เดือน ชำระครั้งแรกที่ 159 บาท และสมาชิกแบบต่ออายุอัตโนมัติราย 1 ปี ชำระครั้งแรกที่ 599 บาท

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้)

‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ในเครือ Baidu ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ที่เพิ่งเหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันกับ WeTV คือ เน้นคอนเทนต์ ‘เอเชียน’ โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน โดยคอนเทนต์แม่เหล็กของ iQIYI นอกจากซีรีส์จีนแล้วก็มีรายการวาไรตี้อย่าง Youth With You ที่ได้ ‘ลิซ่า’ วง Blackpink มาทำหน้าที่เป็นเมนเทอร์ และอีกส่วนที่เป็นที่พูดถึงมากก็คือ ‘การ์ตูนญี่ปุ่น’

หน้าแรกเว็บไซต์ iq.com อีกหนึ่งช่องทางรับชมของ iQIYI

LINE TV (ไลน์ทีวี)

แพลตฟอร์มที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดี โดย LINE TV ได้นิยามตัวเองว่า ‘King of Thai Content’ เพราะปัจจุบันมีทั้งละคร ซีรีส์ ซิทคอม ภาพยนตร์ การ์ตูน รายการวาไรตี้ รวมถึง Original Content รวมมากกว่า 1,000 รายการ จากพันธมิตรกว่า 250 ราย ขณะที่ในกลุ่ม ‘ซีรีส์วาย’ ที่กำลังได้รับความนิยม LINE TV ก็ถือว่ามีจำนวนคอนเทนต์มากสุดในไทยถึง 33 เรื่อง อีกจุดเด่นก็คือ ดูฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

AIS Play (เอไอเอส เพลย์)

แพลตฟอร์มคอนเทนต์จากโอเปอเรเตอร์ของไทยที่ให้ดูฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ แต่สำหรับใครที่ไม่จุใจก็สามารถสมัครบริการแบบพรีเมียม โดยจะสามารถดู 31 ช่องรายการ พร้อมหนังและการ์ตูนออนดีมานด์ รวมถึงดูคอนเทนต์ของ ‘Viu’ และ ‘bein sport’ ได้ด้วย

True ID (ทรู ไอดี)

เป็นแพลตฟอร์มจากโอเปอเรเตอร์และสามารถดูได้ไม่จำกัดค่ายเช่นกัน แต่ True ID จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก AIS Play ตรงที่ มีกีฬา ‘พรีเมียร์ลีก’ ให้ชม แน่นอนว่าดูฟรีเฉพาะบางคู่ และสามารถเช่าหนังพรีเมียมได้ในราคา 149 บาท หรือจะใช้ True Point เพื่อเเลกชมก็ได้ โดยหนังใหม่ใน True ID นั้นมาเร็วมาก แต่หนังฟรีก็มี รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์ด้วย

Doonee (ดูนี่)

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่ให้ดูฟรี 30 วันเมื่อสมัคร แถมราคาเเพ็กเกจก็หลากหลาย ทั้งรายวัน 9 บาท รายเดือน 150 บาท และรายปี 1,500 บาท โดยคอนเทนต์ที่โดดเด่นจะเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ Hollywood โดยเฉพาะพวกซีรีส์สืบสวนสอบสวน และรายการดัง ๆ จากฝั่งอเมริกา อย่าง hell kitchen, Master Chef และด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มคนไทย แน่นอนว่าคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะพากย์ไทยด้วย

MONOMAX (โมโนแมกซ์)

คงไม่ต้องบอกสรรพคุณ ใครที่เป็นแฟนหนังและซีรีส์ในช่อง Mono29 ก็ตามไปดูต่อกันผ่านแพลตฟอร์มได้ ล่าสุดก็มีภาพยนตร์เรื่อง ‘007’ มาลงให้ชมครบทุกภาคด้วย แฟน ๆ ก็ตามรอได้เลย ใครสนใจก็สมัครดูได้ ให้ดูฟรี 30 วันเช่นกัน ใครติดใจก็สมัครต่อได้ในแพ็กเกจ 250 บาท/เดือน และ 2,500 บาท/ปี

Bilibil (บิลิบิลิ)

ในปีที่ผ่านมา กระแสของ ‘อนิเมะ’ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาแรงมากในฝั่งบ้านเรา โดยเฉพาะ ‘Demon Slayer’ หรือ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ นอกจากนี้ก็มี My Hero Academia, Attack on Titan หรือ Jujutsu Kaisen ที่กำลังโด่งดังไม่แพ้กัน ทำให้หลายแพลตฟอร์มก็จะมีการ์ตูนเรื่องเหล่านี้อยู่เกือบทุกแพลตฟอร์ม และสำหรับ ‘Bilibili’ ก็จะเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติจีนที่เน้นไปทางอนิเมะแบบเต็มตัว ใครที่เป็นแฟนมังงะการ์ตูนญี่ปุ่นก็โหลดมาดูได้เลย

สำหรับ Bilibili เปิดให้ดูฟรีหรือสมัคร VIP ที่จะสามารถเนื้อหาพิเศษและดูตอนใหม่ ๆ ได้ก่อนในความละเอียด 1080P โดย 1 เดือนราคา 125 บาท 3 เดือน 350 บาท และ 1 ปี 1,200 บาท

Flixer (ฟลิกเซอร์)

แพลตฟอร์มที่เน้นไปที่ ‘การ์ตูน’ เช่นกัน แต่จะไม่ได้เน้นที่อนิเมะ แต่จะเป็นการ์ตูนไลฟ์แอคชั่น อาทิ มาส์กไรเดอร์ ขบวนการเซ็นไท อุลตร้าแมน กันดั้ม โดยบริษัท ฟลิกเซอร์ จำกัด ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เป็น บริษัทดรีม เอกซ์เพรส หรือ DEX ที่เป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากญี่ปุ่นในไทยมานานกว่า 18 ปี โดย Flixer สามารถดูฟรีและแบบพรีเมียมในราคา 79 บาท

POPS (พ็อพส์)

แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก POPS Worldwide (ประเทศไทย) ที่เปิดตัวในเวียดนามปีที่ผ่านมา และเตรียมขยายให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย POPS จะคล้าย ๆ Flixer ที่เน้นคอนเทนต์การ์ตูน รวมไปถึงซีรีส์เกาหลี และมีออริจินัลคอนเทนต์ที่มีพันธมิตรเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง บี้-เดอะสกา, ต่อ-ตอปิโด หรือทีมอีสปอร์ตระดับท็อปของไทยอย่าง เบคอน ไทม์ โดยสามารถดูฟรี

ทั้งนี้ มีอีกเเพลตฟอร์มที่หลายคนตั้งตารออย่าง Disney + ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไทยเมื่อไหร่ แม้ว่าจะมีหน้าเว็บไซต์ภาษาไทยรองรับแล้ว รวมถึงมีราคาค่าสมาชิกที่หลุดมาคือ 219 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าระหว่าง COVID-19 ระลอก 3 กับ Disney + อะไรจะได้เห็นก่อนกัน

]]>
1331833
จับตาสงคราม ‘สตรีมมิ่งจีน’ ของยักษ์ใหญ่ iQIYI กับ WeTV ที่ย้ายสมรภูมิรบมาไทย https://positioningmag.com/1317698 Wed, 03 Feb 2021 13:15:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1317698 หากพูดถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งในไทยเราอาจจะคุ้นกับแพลตฟอร์มยักษ์จากฝั่งตะวันตกอย่าง ‘Netflix’ เสียมากกว่า แม้ว่าช่วง 2-3 ปีหลังจะมีผู้เล่นมากหน้าหลายตาขึ้นก็ตาม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘WeTV’ (วีทีวี) ที่มี Backup เป็น ‘Tencent’ เทคคอมปานียักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้บริการในไทยเมื่อปี 2019

และในปี 2020 ที่ผ่านมา ‘iQIYI’ (อ้ายฉีอี้) สตรีมมิ่งตัว Top ที่ได้ฉายาว่า ‘Netflix เมืองจีน’ ก็เหยียบเท้าเข้ามาในไทยอีกราย โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่มี Position เดียวกันคือ เน้นคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น นี่จึงเป็นศึกที่น่าจับตาอีกศึกในตลาดสตรีมมิ่งไทย

สงครามเดิมแต่ย้ายสมรภูมิ

สำหรับตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยจะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2020 เพราะการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม แต่จริง ๆ ตลาดสตรีมมิ่งไทยมีมานานมากแล้ว เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เกิดสงครามสตรีมมิ่งมาแล้วกว่า 10 ปี โดยผู้เล่น 3 เจ้าใหญ่ ได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent โดย Baidu ก็คือเจ้าของ ‘iQIYI’ ทาง Tencent ก็มี ‘Tencent Video’ ส่วน Alibaba มี ‘Youku’ ที่เสมือน YouTube เมืองจีน โดยเป็นผู้เล่นรายเดียวที่ยังไม่เข้ามาไทย

ทั้ง 3 บริษัทต่างก็ทำสงครามกันมานาน ต่างคนต่างก็ทุ่มให้กับการทำ ‘ออริจินัลคอนเทนต์’ ของตัวเองเพื่อดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุด โดย iQIYI เป็นเบอร์ 1 ในตลาดจีน มีผู้ชมต่อเดือนสูงกว่า 600 ล้านคน มีผู้ใช้งานแบบสมาชิกหรือ VIP ทะลุ 100 ล้านคน

ด้าน Tencent Video ก็ตามมาติด ๆ ด้วยผู้ใช้งานแอคทีฟ 550 ล้านรายต่อเดือน และในที่สุดสงครามดังกล่าวก็ลามมาถึงตลาดไทย โดยเริ่มจาก Tencent ที่เปิดตัว ‘WeTV’ ไปเมื่อปี 2019 ภายใต้บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีแบรนด์ในเครืออย่างเว็บไซต์ Sanook, JOOX มิวสิกสตรีมมิ่ง, เกม PUBG MOBILE ส่วน iQIYI เพิ่งขยับออกมาลุยตลาดต่างประเทศในปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย

ศึกชิงความแข็งแกร่ง ‘เอเชียนคอนเทนต์’

ด้วยความที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีจำนวนมากทั้งผู้เล่นระดับโลกอย่าง Netflix, HBO Max, Amazon Prime Video ผู้เล่นโลคอล อาทิ AIS Play, True ID, Mono Max, Doonee เป็นต้น ซึ่งแต่ละเจ้าก็พยายามลงทุนทำซีรีส์ด้วยทุนสูงเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน

ส่วนรายเล็กที่ไม่มีเงินทุนก็ต้องมีคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างความแตกต่าง เช่นเดียวกันกับ WeTV และ iQIYI ที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าคงจะไม่ไปแข่งที่คอนเทนต์ฝั่งตะวันตกที่ไม่ถนัด แต่จะขอโฟกัสไปที่คอนเทนต์เอเชียเป็นหลัก เพื่อขอชิง ‘เวลา’ ของผู้บริโภคให้มาอยู่ที่แพลตฟอร์มของตัวเองบ้าง ดังนั้น ทั้งคู่จึงเป็นคู่แข่งหลักของกันและกันไปโดยปริยาย

โดยเมื่อเทียบกันแล้ว คอนเทนต์หลักของทั้ง WeTV และ iQIYI กว่า 50% จะเป็นคอนเทนต์ ‘จีน’ เหมือนกัน ส่วนอีก 50% ก็จะเป็นซีรีส์เกาหลี, การ์ตูนญี่ปุ่น จุดที่จะชิงชัยคงจะเป็น ‘คอนเทนต์แม่เหล็ก’ ของตัวเอง อย่างฝั่งของ WeTV ก็มี ‘ปรมาจารย์ลัทธิมาร’ ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในไทย ส่วน iQIYI ก็มีออริจินัลวาไรตี้ขวัญใจวัยรุ่นทั่วโลกอย่าง Youth With You 3 ซีซั่นล่าสุดที่ได้ ลิซ่า BLACKPINK มารับหน้าที่เมนเทอร์ประจำรายการอีกครั้ง

ผู้ผลิตไทยได้ประโยชน์เต็ม

เพราะทั้งคู่ต่างต้องการเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์เอเชียน ดังนั้น การพยายามดึงคอนเทนต์จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาไว้บนแพลตฟอร์มจึงเป็นอีกสงครามนอกจากแค่แย่งลูกค้า ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย โดยที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นความร่วมมือในการดึงลิขสิทธิ์ซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ มาลงในแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงประกาศความร่วมมือกันผลิต ‘ออริจินัลคอนเทนต์’

อย่างที่ผ่านมา WeTV ก็จับกระแสซีรีส์วาย เดินหน้าสร้าง ‘ออริจินัล คอนเทนต์วาย’ ด้วยการจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศไทย สร้างสรรค์คอนเทนต์ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’” และนอกจากซีรีส์วายยังมีออริจินัลซีรีส์ ประเภทอื่น ๆ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ส่วน iQIYI ก็จะเน้นไปที่ ‘ซิทคอม’ โดยดึงเอา ‘เป็นต่อ’ ‘เสือ ชะนี เก้ง’ และ ‘3 หนุ่ม 3 มุม x2’ มาลงในแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งเตรียมจะปั้นออริจินัลซีรีส์ไทยในอนาคตด้วย และด้วยความที่แต่ละแพลตฟอร์มนั้นให้บริการในหลายประเทศ นี่ก็ถือเป็นอีกช่องทางการพาคอนเทนต์ไทย Go Inter ในตลาดโลกได้ด้วย

สงครามที่ไม่มีผู้ชนะขาด

ทั้ง 2 แพลตฟอร์มต่างงัดไม้เด็ดกันมาโกยผู้ใช้ ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ แต่โมเดลของทั้งคู่ยังเป็นแบบ ‘ฟรีเมียม’ โดยให้ดูฟรีได้ (แต่มีโฆษณา และอาจจะดูช้าหน่อย) โดยค่าบริการ VIP ของ WeTV อยู่ที่ 119 บาทต่อเดือน ราคาเดียวกันกับ iQIYI เลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครยอมใครจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แพลตฟอร์มระบุว่าไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องมีผู้ใช้ VIP มากน้อยแค่ไหน (เพราะสามารถหารายได้จากโฆษณาได้อยู่ดี)

ดังนั้น เมื่อผู้เล่น 2 รายใหญ่พยายามจะขับเคี่ยวกันในตลาด ทั้ง 2 ต่างมีงบลงทุนมหาศาลการจะหาผู้ชนะขาดในตลาดนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต่างคนต่างก็มีคอนเทนต์เรือธงที่ต่างกัน แถมผู้บริโภคก็สามารถเลือกที่จะดูทั้ง 2 แพลตฟอร์มได้เพราะดูฟรี

ดังนั้น ปัญหาน่าจะเกิดกับผู้เล่นหน้าใหม่หรือผู้เล่นหน้าเก่าที่จะเข้ามาในตลาด โดยเน้นที่เอเชียนคอนเทนต์มากกว่าอาจเผชิญกับความยากลำบากที่จะสอดแทรกสู้ในสงครามนี้

]]>
1317698
ฟ้าหลังฝน GDH วางเกม “ทำหนังสลับซีรีส์” สู่โกอินเตอร์ หวัง “บุพเพฯ 2” ดึงคนไทยหวนดูหนังโรง https://positioningmag.com/1298788 Mon, 28 Sep 2020 10:43:38 +0000 https://positioningmag.com/?p=1298788 อุตสาหกรรมหนังไทยเหมือนโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อต้องเจอ COVID-19 ทำให้กระเเสหนังไทยยิ่งซบเซาลงไปอีก เจออุปสรรคทั้งต้องเลื่อนฉายในโรงภาพยนตร์ ยกเลิกการถ่ายทำ รวมถึงเงินทุนที่ค่อยๆ หมดไป

เเม้หลังคลายล็อกดาวน์เเล้ว ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ เริ่มกลับมาดูหนังในโรงกันมากขึ้นหลังจากที่โหยหามานาน เเต่การฟื้นตัวของทั้งวงการในยามนี้ ก็ถือว่ายากลำบากมากทีเดียว

เมื่อพูดถึงค่ายหนังที่ครองใจชาวไทย ส่งหนังทำเงินเข้าฉายเป็นประจำ หนึ่งในนั้นต้องมี GDH รวมอยู่ด้วยอย่างเเน่นอน โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งหนัง 3 เรื่อง ติดท็อปทำรายได้สูงสุดของปี 2019 ทิ้งห่างหนังไทยเรื่องอื่นไปหลายเท่า

ดังนั้น ทิศทาง กลยุทธ์เเละการปรับตัวของ GDH ในช่วงต่อไปนี้ จึงมีผลต่ออุตฯหนังไทย เเละมีความน่าสนใจไม่น้อย

ตลาดหนังไทย…เหนื่อยหนัก

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ อุตสาหกรรมหนังในไทยทำรายได้ไปแค่ 580 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีรายได้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาท ในจำนวน 580 ล้านบาทนี้ เป็นรายได้จากหนังไทยเพียง 120 ล้านบาท ซึ่งไม่มีหนังเรื่องไหนเลยที่มีรายได้เเตะ 50 ล้านบาท” 

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด หรือ GDH ให้สัมภาษณ์กับ Positioning พร้อมเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงระบาดหนักว่า ตามปกติบริษัทจะทำหนังออกมาสู่ตลาดปีละ 2-3 เรื่อง โดยปีก่อนมีหนังฉาย 3 เรื่อง ส่วนปีนี้ตั้งใจทำหนัง 2 เรื่อง และละคร 1 เรื่อง แต่พอเจอสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เเผนธุรกิจเเละไทม์ไลน์ต่าง ๆ ที่วางไว้ต้องเปลี่ยนไป

จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GDH

ในปี 2019 หนังของ GDH อย่างตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟคเป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุด ด้วยรายได้ 141 ล้านบาท รองลงมาคือเรื่อง “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อนอยู่ที่ 134 ล้านบาท และฮาวทูทิ้งทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอมีรายได้ที่ 57 ล้านบาท

ภาพรวม “หนังไทยตลอดปี 2019 ไม่ค่อยสดใสนัก มีออกฉายราว 40 เรื่อง ทำรายได้รวมทั้งหมดประมาณ 711 ล้านบาท ลดลง 14% เฉลี่ยต่อเรื่องทำรายได้เพียง 15 ล้านบาทเท่านั้น จากปี 2018 อยู่ที่ 18-19 ล้านบาท เเละที่น่าตกใจคือ มีหนังไทยกว่า 17 เรื่องที่ทำรายได้น้อยกว่า 1 ล้านบาทยิ่งพอมาเจอวิกฤต COVID-19 ไปอีกในปีนี้อาการยิ่งสาหัส

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร GDH มองว่ายังมีความหวังโดยปี 2020 บริษัทจะฉายหนังเพียงเรื่องเดียวในช่วงปลายปี วันที่ 3 .. นี้ คือ  อ้ายคนหล่อลวง” นำทีมนักเเสดงชื่อดังอย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ, ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก และ แบงค์ ธิติ ฯลฯ

แน่นอนว่าปีนี้คงไม่ได้เท่ากับปีที่แล้ว แต่คาดหวังกับ อ้ายคนหล่อลวงไว้สูงเหมือนกัน โดยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 80 ล้านบาท

ขณะที่บรรยากาศของคนดูหนัง หลังวิกฤต COVID-19 นั้นยังมีความกังวลอยู่บ้าง โดยช่วงตั้งเเต่เดือนส.ค.เป็นต้นมา ก็เริ่มมีหนังต่างประเทศเข้ามา อย่าง TENET, Peninsula เเละมู่หลาน ก็เริ่มมีตัวเลขให้เห็นบ้าง เเต่ภาพรวมยังถือว่า “อาการหนัก” โดยจบปีนี้คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมหนังไทยน่าจะมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

“เราหวังว่า ปี 2021 อุตสาหกรรมหนังในไทยจะกลับมาคึกคักแน่นอน และจะมีหนังไทยไม่ต่ำกว่า 45-50 เรื่องเข้าฉาย” 

บรรยากาศของโรงหนังในไทย เมื่อช่วงที่มีมาตรการป้องกัน COVID-19

ฉลาดเกมส์โกง…ช่วยชีวิต

“โชคดีจริงๆ ที่มีละครฉลาดเกมส์โกงมาช่วย เพราะในช่วงที่ผ่านมาไม่มีหนังฉาย ถ่ายทำไม่ได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายต่าง ๆ ไม่งั้น GDH คงเครียดกว่านี้” 

จินา เล่าต่อว่า ละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รายได้จาก ช่องONE และ WeTV รวมถึงสามารถขายในต่างประเทศทั้งจีน และประเทศอื่นๆ รวมได้มาทั้งหมด ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 60 ล้านบาท) 

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ การฉายในโรงภาพยนตร์
และการฉายบนเเอปพลิเคชันเเละเเพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ เช่น WeTV, Netflix, LINE TV, AIS Play, True ID ฯลฯ และช่องทางโทรทัศน์ต่างๆ

“ต้องยกเครดิตให้ WeTV ที่จุดประกายเราให้เราทำละครต่อยอดความสำเร็จจากหนังทำให้เรามีเงินล่วงหน้าได้” 

“คาดว่าปีนี้รายได้รวมของ GDH จะอยู่ที่ 345 ล้านบาท ถือว่าไม่ขาดทุน เเต่จะมีกำไรไม่เท่าปีก่อน เพราะเราได้ฉายหนังเเค่เรื่องเดียว เเละละครอีก 1 เรื่อง เทียบกับปีก่อนเรามีหนังทำเงินถึง 3 เรื่อง ดังนั้นถ้าทำได้สามร้อยกว่าล้านก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว”

ทั้งนี้ GDH ด้วยรายได้รวมอยู่ที่ 471.29 ล้านบาท ในปี 2019 เติบโตจากปี 2018 ประมาณ 12% โดยการทำหนังเรื่องหนึ่งของ GDH มีต้นทุนราว 45-50 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนสร้าง 20-30 ล้าน ส่วนที่เหลือคืองบสำหรับทำการตลาด

เเผนต่อไป GDH : ทำหนังสลับซีรีส์ ต่อยอด OTT โกอินเตอร์ 

เเม้ความสำเร็จของละครละครเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” จะช่วยอุ้มบริษัทไว้ได้ในช่วงวิกฤต เเต่ GDH ยังคงยืนหยัดที่จะทำหนัง “ยังไงหัวใจของ GDH ก็คือทำหนัง เเละเราจะทำหนังต่อไป” 

โดยทิศทางต่อไปของ GDH จะเน้นการ “ผสม” มากขึ้น อาจจะทำเป็นละครหรือซีรีส์สลับกัน เเละมีหลักเป็นการทำหนัง เพราะ “การทำหนังยังไปได้ไกลกว่า” ยกตัวอย่างหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง ที่สามารถทำ Box Office ในจีนได้ถึง 1,200 ล้านบาท หรือหนังเรื่อง Friend Zone ก็ทำรายได้ดีเช่นกัน 

“ต่อไปนี้ถ้ามีดีลกับจีนอีก เราจะไม่ขายขาดเเบบฉลาดเกมส์โกงเเล้ว เพราะเรารู้ตลาดเเล้วว่าทำเงินได้ ก็คงจะเป็นข้อตกลงที่เป็นดีลร่วมกันมากกว่า” 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการ “ต่อยอดคอนเทนต์” เพราะหากทำหนังดี หนังทำเงินได้ขึ้นมาเเล้ว ก็สามารถไปอยู่ต่อในเเพลตฟอร์ม OTT เจ้าต่างๆ ได้อีกช่องทาง เเละวนกลับมาสร้างเป็นสะครเเละซีรีส์ได้อีก “การได้ไปฉายบนเเพลตฟอร์ม OTT คือการปูทางที่หนังของ GDH จะออกสู่สายตาชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางของเราที่ต้องการโกอินเตอร์ ขยายไปทั้งเอเชีย ยุโรปเเละตลาดอเมริกา”  

ขณะที่กระเส “ซีรีส์วาย” ที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบันเเละมีผู้ผลิตคอนเทนต์หลายเจ้ากระโจนเข้าตลาดนี้ GDH มองว่าจะยังคงเป็นเทรนด์ไปอีกสักระยะ เเละจะไม่หายไปง่ายๆ ด้วยการมีฐานเเฟนคลับที่เหนียวเเน่น มีกลุ่มผู้ชมชัดเจนเเละกำลังขยายไปหลายช่วงวัย มีกำลังซื้อสูง ซึ่งบริษัทในเครือของ GDH อย่าง “นาดาว บางกอก” ก็มีการลุยตลาดนี้ต่อไป โดยในส่วนของ GDH นั้นยังไม่ไม่เเผนที่จะทำหนังหรือซีรีส์เเนวนี้ในช่วงนี้ เเต่เเย้มว่า “มีโอกาสที่จะทำในอนาคต” 

“บุพเพฯ 2” หวังสูง…ดึงคนไทยดูหนังโรง 

สำหรับโปรเจกต์ ปี 2021 ของ GDH จะมีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน เริ่มจาก…

1.“โกสต์แล็บ…ฉีกกฎทดลองผี” จากผู้กำกับกอล์ฟ ปวีณ ที่ได้ ต่อ ธนภพ, ไอซ์ พาริส มารับบทนำ ซึ่งตามเดิมต้องถ่ายทำและฉายในปีนี้ เเต่ต้องเลื่อนเพราะสถานการณ์ COVID-19

2. “ร่างทรง” หนังสยองขวัญที่ร่วมทุนกับค่ายหนังเกาหลี  Showbox Crop ฝีมือผู้กำกับ “โต้ง บรรจง” ที่ได้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง “นา ฮงจิน” มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย

3. “W” หนังที่ร่วมทุนกับ นาดาว บางกอกบริษัทในเครือของ GDH นับเป็นหนังเรื่องเเรกของนาดาวฯ โดยมีปิง เกรียงไกร เป็นผู้กำกับ และ ย้ง ทรงยศ เป็นโปรดิวเซอร์

4. “บุพเพสันนิวาส 2” โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดของปี ที่ร่วมทุนกับบรอดคาซท์ ไทยเทเลวิชั่น ได้ปิง อดิสรณ์ ผู้กำกับเดียวกับรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มากำกับให้ พร้อมนักแสดงนำคู่ขวัญจากจอทีวีอย่าง “โป๊ป-เบลล่า” ซึ่งคาดว่าจะออกฉายในช่วงปลายปี 2021

บุพเพสันนิวาส 2 เราใช้เงินลงทุนไปกว่า 80 ล้านบาท เเละตั้งเป้ารายได้ไว้สูงถึง 200 ล้านบาท เรื่องราวจะต่างกับละครทีวี เพราะจะเล่าไปข้างหน้า อารมณ์คล้ายกับการเล่าเรื่องในหนังพี่มากพระโขนง ขึ้นอยู่กับคนทำหนังว่าจะหยิบจับมุมไหนมาต่อยอด เรื่องนี้ก็ถือว่าตั้งความหวังไว้สูง ลงทุนมาก คิดว่าคนน่าจะกลับมาดูหนังกันเเล้ว ก็คิดว่าจะตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 200 ล้านบาท” 

จากโปรเจกต์หนังใหม่ทั้ง 4 เรื่องนี้ ซีอีโอของ GDH คาดว่าบริษัทจะรายได้สูงเกิน 500 ล้านบาท เพราะมีจำนวนหนังที่มากกว่าปกติ บวกกับยังมีรายได้จากนำคอนเทนต์ไปฉายกับแพลตฟอร์ม OTT เเละค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ด้วย

Key Success : ไม่หยุดนิ่ง นำไปต่อยอดได้ 

เเม้วิกฤต COVID-19 จะหนักหนาเอาการ เเต่ไม่ใช่วิกฤตรุนเเรงที่สุดของ GDH โดยจินาเล่าย้อนไปถึงสมัย
“น้ำท่วมใหญ่ ปี 2011” ที่ครั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “ท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน” เข้าฉาย หนังโปรโมตไปหมดแล้ว คนไม่ไปดูหนังในโรง เพราะคนต้องกลับไปดูเเลบ้านตัวเอง ออฟฟิศของบริษัทเองก็ยังต้องทำกระสอบทรายกั้นน้ำกัน วิกฤตครั้งนั้นจึงถือว่าเเรงที่สุด

โดยครั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นอีก อย่างกรณี “โรคระบาดระบาดรอบ 2” ผู้บริหาร GDH มองว่า คนทำหนังคงต้องฉายที่โรงก่อน ต้องใช้วิธี ‘รัดเข็มขัด’ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงถ่ายหนังไม่ได้อีก รายได้หายเเต่รายได้เท่าเดิม การเอาหนังที่ตั้งใจจะฉายในโรงหนัง ไปฉายออนไลน์ ก็ต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เสน่ห์ของการดูหนังในโรงคือการได้ดูจากจอใหญ่ๆ เสียงดีๆ มีบรรยากาศไปเที่ยวกับเพื่อน ไปเดต แต่ว่าเด็กสมัยนี้ดูในมือถือ ดูไปอาจจะทำสิ่งอื่นไปด้วย

“สิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ได้ คือ การไม่อยู่กับที่ ต้องก้าวไปข้างหน้า สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดี เพราะถ้าของมันดี ยังไงคนก็ดู โดยสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไปคือ การต่อยอด เพราะถ้าเราทำแบบเดิม คนก็ดูจะน้อยลง ต้องทำในวิถีทางใหม่ กล้าลอง กล้าทำ ต้องออกไปโกอินเตอร์ให้ได้…” 

อุตสาหกรรม “หนังไทย” จะกลับมาฟื้นได้หรือไม่…ปีหน้าต้องลุ้นกัน

 

]]>
1298788
ฉากต่อไป “ทีวี ธันเดอร์” ยุคเจน 2 ต้องเด็กลง! ขอปรับภาพเกมโชว์ จับตลาด “ซีรีส์วาย” https://positioningmag.com/1297387 Thu, 17 Sep 2020 14:26:40 +0000 https://positioningmag.com/?p=1297387 อานิสงส์คนอยู่บ้านเเละต้อง Work from Home ในช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ตลาดคอนเทนต์เติบโตขึ้นอย่างน่าจับตามอง

เมื่อผู้คนอยู่หน้าจอกันมากขึ้น เสพสื่อหลากหลาย ผ่านทั้งช่องทีวีดั้งเดิม แพลตฟอร์ม OTT ต่างชาติ เเละโซเชียลมีเดีย การเเข่งขันของรายการทีวี วาไรตี้ เเละตลาดใหญ่อย่างซีรีส์ดุเดือดมากขึ้น ผลักดันให้เหล่าผู้ผลิตต้องคิดหาของใหม่เร่งทำผลงานให้เข้าตาเเละเข้าใจผู้ชมยุค New Normal

ที่ผ่านมา เราคงคุ้นเคยกับชื่อของทีวี ธันเดอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่คร่ำหวอดมายาวนานในวงการบันเทิงไทยเกือบ 3 ทศวรรษ มีรายการในตำนานอย่างมาสเตอร์คีย์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทั้งปัญหาเล็กใหญ่ ครั้งนี้ถึงกับยอมรับว่าการมาของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่หนักหนาที่สุด

ท่ามกลางความท้าทายนี้ทีวี ธันเดอร์มองทิศทางต่อไปที่จะปรับภาพลักษณ์จากผู้ผลิตรายการเกมโชว์ วาไรตี้ ละคร ส่งลงตามช่องทีวี หันไปเน้นผลิตซีรีส์ ป้อนให้ OTT มากขึ้น โดยเฉพาะตลาด “ซีรีส์วาย” ที่กำลังเนื้อหอมพร้อมๆ กับการปั้นนักเเสดง ให้มีเเฟนคลับต่างชาติที่มีกำลังซื้อหนา อย่างจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย

จับกระเเสใหม่ ปั้น “ซีรีส์วาย” บุกเเพลตฟอร์ม OTT

ณฐกฤต วรรณภิญโญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นสองที่เข้ามาสืบทอดธุรกิจ เล่าให้ Positioning ฟังว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ทีวี ธันเดอร์รับรู้รายได้ Black log 150 ล้านบาท จากการผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มต่างๆ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการ “ผลิตซีรีส์”

เดิมทีภาพลักษณ์ของทีวี ธันเดอร์ จะถูกมองว่าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทรายการโทรทัศน์ป้อนทีวีสถานีต่างๆ อย่าง ช่อง 3 , ช่อง 8 , PPTV , ไทยรัฐทีวีเเละ True4U เเต่เมื่อมีกระเเสความนิยมการดูวาไรตี้เเละซีรีส์ผ่านเเพลตฟอร์ม OTT ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็น “โอกาสทอง” ที่จะขยายไปเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้

โดยบริษัทเริ่มความสำคัญต่อช่องทาง OTT ตั้งแต่ 3 ปีก่อน เริ่มจาก AIS play และ LINE TV ปัจจุบันได้ขยายไปในหลายแพลตฟอร์มอย่าง WeTV, NetFlix, POPS และ Viu ยิ่งในช่วงการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เร่งให้ OTT ในไทยเติบโตได้เร็วขึ้น “ผลงานของคนไทย” จึงเป็นที่ต้องการของตลาดนี้มากขึ้น

“ทีวีธันเดอร์เป็นเบอร์แรกๆ ที่กลุ่ม OTT ต่างชาติเข้ามาเจรจาพูดคุยให้ผลิตคอนเทนต์ให้ โดยเฉพาะประเภทซีรีส์” ณฐกฤต กล่าว

ณฐกฤต วรรณภิญโญ เเละ ภัทรภร วรรณภิญโญ สองผู้บริหารทีวี ธันเดอร์

ทีวี ธันเดอร์ จึงปรับรับด้วยการตั้งทีมงานใหม่ที่โฟกัสกลุ่มซีรีส์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเทรนด์ซีรีส์วายที่กำลังเติบโตดังนั้นในปีนี้ไปจนถึงปีหน้า บริษัทจะเน้นผลิตคอนเทนต์ซีรีส์ให้เเพลตฟอร์ม OTT เป็นหลัก เช่น Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งเป็นซีรีส์สายวายที่จะทำป้อนให้กับทาง WeTV

“เรามองว่ากลุ่มผู้ชมซีรีส์สายวายมีการเติบโตขึ้น ไม่จำกัดเเค่กลุ่มผู้หญิง เเต่มีกลุ่มผู้ชายเเละหลากหลายช่วงวัย ด้วยความที่ตลาดนี้เริ่มมีผู้เล่นเข้ามาเยอะ ผู้ผลิตหลายเจ้าหันมาจับกระเเสนี้ เราจึงพยายามจะทำคอนเทนต์ให้เเตกต่าง อาจจะทำเป็นซีรีส์วายที่ไม่เน้นความโรเเมนติกจ๋ามาก เเต่หันไปเน้นพล็อตเรื่องที่ซับซ้อน เป็นเรื่องราวการสืบสวน สอบสวน” 

ก่อนหน้านี้ ทีวี ธันเดอร์ เคยประสบความสำเร็จจากซีรีส์วายที่ฉายบน LINE TV อย่าง “Together With Me อกหักมารักกับผม” เกิดกระเเสคู่จิ้น “แม็กซ์-ตุลย์” หรือ แม็กซ์-ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ เเละตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย สองนักเเสดงนำที่ตอนนี้มีเเฟนคลับกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน รัสเซีย ฟิลิปปินส์เเละมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นเเนวทางให้ บริษัทบุกเเผน “ปั้นนักเเสดงหน้าใหม่” ออกมาอีกในช่วงต่อไป

“แม็กซ์-ตุลย์” จากซีรีส์ Together With Me อกหักมารักกับผม

“ภาพรวมของการลงทุนการผลิตคอนเทนต์จากนี้ไปจนถึงปีหน้า อาจจะต้องใช้มากขึ้นราว 20% ถือว่าเป็นปีที่กลับมาลงทุนสูงอีกครั้ง จากปกติที่มีการลงทุนราว 300 ล้านบาทต่อปี” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทีวี ธันเดอร์ ทำคอนเทนต์ป้อนเเพลตฟอร์ม OTT ในสัดส่วน 50% เท่าๆ กับช่องทางทีวี ซึ่งเเผนต่อไปจะขยายทำส่ง OTT มากขึ้น ตามความนิยมของตลาดคนดู

โดยล่าสุด บริษัทมีการผลิตคอนเทนต์ทั้งหมด 5 รายการ ซีรีส์เเละละคร 7 เรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น มาสเตอร์คีย์ , Take Me Out Thailand , ใครเบอร์หนึ่ง Who is No. 1 , Show Me The Money thailand ซีซั่น 2 , ละคร หลวงตามหาชน , ละคร คุณแจ๋วกะเพราไก่คุณชายไข่ดาว , ซีรีส์ เสน่หาสตอรี่ , ซีรีส์ Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย , Take Me Out Reality , ราคาพารวย the Price is Right Thailand เเละ Take Guy Out Thailand

ตลาดทีวีไทย วาไรตี้…ยังขายได้ 

เเม้ทิศทางของทีวี ธันเดอร์ จะมุ่งไปเน้นการทำซีรีส์ป้อน OTT เเต่ก็ยังย้ำว่า “จะไม่ทิ้งทีวี” เพราะมีฐานผู้ชมเหนียวเเน่นมายาวนาน รายการวาไรตี้เเละรายการบันเทิงในตลาดทีวีไทยก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องเเละเพิ่มขึ้น โดยในปีหน้ากำลังเจรจากับทางช่องต่างๆ อยู่ คาดว่าจะมีออกมาอย่างน้อย 2 รายการ

โดยคอนเทนต์ฮีโร่ของทีวี ธันเดอร์ ได้เเก่ Take Me Out Thailand , Show Me The Money thailand เเละ ซีรีส์ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย

ณฐกฤต เล่าเกร็ดเล็กๆ ให้ฟังว่า ปกติเเลัวอายุของรายการทีวีที่มีกระเเสดีมากๆ จะอยู่ราว 3-4 ปี เพื่อไม่ให้คอนเทนต์ซ้ำเเละคนดูยังไม่เบื่อเกินไป เเต่ Take Me Out Thailand อยู่มาเเล้ว 7 ปีก็ถือว่ามาไกลกว่าที่คิดไว้มาก “อนาคตของ Take Me Out Thailand ก็คงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เเต่เราจะไปเน้นที่การรักษาคุณภาพ รักษาระดับที่เคยทำไว้ให้ดีเท่าเดิมมากกว่า” 

Photo : facebook /takemeoutthailand

เเม้ตลาดคอนเทนต์จะเติบโตขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก ผู้บริหารทีวี ธันเดอร์มองว่า สิ่งที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้อง ตามให้ทัน คือ “รสนิยมของผู้ชม” ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความหลากหลาย ทำให้ต้องทำการบ้านกันเยอะขึ้น อีกทั้งการทำคอนเทนต์ส่งลงช่องทางต่างๆ ก็จะทำการตลาดที่ไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนดูทีวี ส่วนใหญ่จะอายุ 35 ปีขึ้นไป ชอบดูอะไรที่คุ้นเคย เข้าใจง่าย ไม่ชอบดูอะไรที่ซับซ้อนมาก ส่วนกลุ่มผู้ชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT ส่วนใหญ่จะอายุต่ำกว่า 25 ปี ต้องการความเเปลกใหม่ ไม่ซ้ำซาก ไม่ยืดยาว มีความเปิดกว้างกว่า 

“ละครผ่านทีวีจะเน้นเป็นบทประพันธ์นักเขียนรุ่นเก่า เเต่ซีรีส์ผ่าน OTT จะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ทำผลงานโด่งดังในโลกโซเชียล ซึ่งทีวี ธันเดอร์ กำลังมองหาบทซีรีส์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งตอนนี้เราก็มีทีมงานคอยเสาะหานักเขียนใหม่ๆ บทใหม่ๆ ตามเเพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ตลอด” 

หารายได้จาก “โซเชียล” ฝ่าพิษ COVID-19 

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าปีนี้ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดของวงการนี้ โดยผู้บริหารรุ่นก่อตั้งอย่าง “ภัทรภร วรรณภิญโญ” ซีอีโอของทีวี ธันเดอร์ เปิดเผยว่า ตั้งเเต่เดือนมี.ค.ช่วงนั้นแทบไม่ได้ออกไปถ่ายทำรายการหรือซีรีส์ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ทำให้รายได้รวมในครึ่งปีนี้ติดลบ 20% เป็นปีแรก ขณะที่ตลาดรวมติดลบไป 30%

“คาดว่ารายได้ในปีนี้ไม่ได้โตไปกว่าปีก่อน และคิดว่าจะลดลงราว 10%” 

สัดส่วนรายได้ของบริษัท หลักๆ มาจากการรับจ้างผลิตคอนเทนต์ 60% โฆษณา 35% เเละอื่นๆ 5% โดยในส่วนอื่นๆ นี้ เเบ่งเป็นการจัดอีเวนต์ การทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งให้เเบรนด์ต่างๆ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากช่องทางโซเชียลมีเดียของทั้งบริษัท

โดยทีวี ธันเดอร์ มีช่องทางออนไลน์ของตัวเองที่สามารถนำมาต่อยอดทำรายได้ เพื่อพยุงรายได้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการพีอาร์นักเเสดง การรับเเอดโฆษณา รายได้ค่าวิดีโอจากเเพลตฟอร์ม อย่าง Youtube เเละ Facebook ซึ่งปัจจุบันช่องทาง Youtube มีตัวเลขผู้ติดตามอยู่ที่ 5.79 ล้านคน ทาง Facebook ของเพจ TV Thunder มีผู้ติดตาม 2.2 ล้านคน Twitter 4,600 คน ยอดผู้ติดตามใน Instagram 92,000 คน และเพจรายการ Take Me Out Thailand มีผู้ติดตามมากที่สุดในเครือที่ 7.8 ล้านคน

“เรามีการหารายได้อื่นๆ พยายามจะเป็น One Stop Service ทั้งผลิตคอนเทนต์ให้ โปรโมตทำมาร์เก็ตติ้งให้ได้ จัดอีเวนต์ได้ มีฐานโซเชียลที่เเข็งเเกร่ง” 

ภัทรภร ทิ้งทายว่า สิ่งที่ทำให้ทีวี ธันเดอร์ ยังอยู่ได้มาเกือบ 3 ทศวรรษ ผ่านมรสุมมามากมายทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง การปฎิวัติ น้ำท่วมใหญ่เเละตอนนี้คือ COVID-19 นั้นก็คือ “การปรับตัวอยู่เสมอ” การที่ตลาดคอนเทนต์โตในช่วงนี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เเละเชื่อว่าธุรกิจจะผ่านวิกฤตไปได้

]]> 1297387 เอาบ้าง! “ไต้หวัน” เปิดศึกบริษัทเทคจีน เตรียมแบนแอปฯ สตรีมมิ่ง iQiyi และ WeTV https://positioningmag.com/1293646 Fri, 21 Aug 2020 04:46:16 +0000 https://positioningmag.com/?p=1293646 “ไต้หวัน” วางแผนแบนยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากจีนอย่าง iQiyi (อ้ายฉีอี้) และ WeTV โดยจะสั่งห้ามมิให้องค์กรหรือบุคคลใดทำงานร่วมกับทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ปกครองที่เปิดศึกกับบริษัทเทคโนโลยีจีนต่อจากสหรัฐฯ และอินเดีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไต้หวันเปิดเผยว่า คำสั่งดังกล่าวจะมีประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 3 กันยายนนี้ โดยจะสั่งการห้ามองค์กรและบุคคลใดทำงานร่วมกับบริษัทสตรีมมิ่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ทั้งสองบริษัทจะให้บริการบนเกาะไต้หวัน “อย่างผิดกฎหมาย” ไม่ได้ แม้แต่การดำเนินการผ่านตัวแทนผู้จัดจำหน่ายหรือเอเย่นต์ก็ไม่สามารถกระทำได้

iQiyi (อ้ายฉีอี้) นั้นเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใหญ่ในเครือ Baidu โดยมีลักษณะคล้าย Netflix คือเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้ ที่ผลิตโดยมืออาชีพมาให้สมาชิกได้รับชม แอปฯ iQiyi ยื่นขออนุญาตเปิดบริษัทย่อยในไต้หวันเมื่อปี 2559 แต่ทางการไต้หวันปฏิเสธการเปิดบริษัทไป

เนื่องจากไต้หวันมี “กฎหมายความสัมพันธ์ทางการปกครองระหว่างพื้นที่สาธารณรัฐไต้หวันกับพื้นที่แผ่นดินใหญ่” ซึ่งกำหนดให้บริษัทจีนสามารถลงทุนจำหน่ายสินค้าและให้บริการในไต้หวันได้เป็นบางหมวดเท่านั้น และบริการสตรีมมิ่งไม่อยู่ในรายการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

WeTV เพิ่งเปิดตัวในไต้หวันไม่ถึงปี แต่มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์ม iQiyi และ WeTV ซึ่งเป็นคู่แข่งประเภทเดียวกันจากเครือ Tencent หลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย โดยการร่วมเป็นพันธมิตรกับธุกิจสื่อท้องถิ่นและตัวแทนจัดจำหน่ายในไต้หวัน เพื่อโปรโมตและบริการสตรีมมิ่งของตนเอง

สำนักข่าว Taipei Times รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า iQiyi อาจจะมีสมาชิกถึง 6 ล้านคนบนเกาะไต้หวัน และมีสำนักข่าวท้องถิ่นรายงานเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนว่า แพลตฟอร์มนี้มียอดวิวทะลุ 1,700 ล้านวิวไปแล้ว เนื่องจากซีรีส์สุดฮิต The Legend of Haolan ออกฉาย ส่วนแอปฯ WeTV มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้งในไต้หวัน หลังจากเปิดบริการมาไม่ถึง 1 ปี

“โคลาส โยทากะ” โฆษกหญิงรัฐบาลไต้หวัน กล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า การอนุญาตให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจีนให้บริการได้บนช่องว่างทางกฎหมาย ด้วยการไปจับมือกับบริษัทท้องถิ่น เป็นการ “ทำผิดต่อหลักประชาธิปไตย” และไต้หวันซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองจะร่างกฎหมายใหม่มาอุดช่องว่างนี้ จากนั้นจึงนำมาสู่การออกกฎหมายห้ามทำงานร่วมกับบริษัทสตรีมมิ่งจากจีน

Tencent ยังไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ส่วน iQiyi กล่าวว่าให้ยึดคำแถลงจาก OTT Entertainment ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นในไต้หวัน ทาง OTT กล่าวว่า “บริษัทจะยึดมั่นในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของสมาชิกผู้ใช้งานอย่างเต็มที่”

TikTok กลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

สถานการณ์ธุรกิจเทคโนโลยีจีนช่วงนี้กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก ด้วยข้อกังวลว่าแอปฯ จีนเหล่านี้ไม่มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้และจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้สหรัฐอเมริกาและอินเดียเริ่มแบนแอปฯ จีนไปจำนวนมาก เช่น TikTok, WeChat สำหรับ TikTok นั้นถูกสหรัฐฯ สั่งการให้ถอนตัวออกจากตลาดภายใน 90 วัน ส่วนอินเดียมีการแบนแอปฯ จีนไปแล้วถึง 59 ราย หลังเกิดการปะทะของกองทัพจีนกับอินเดียบริเวณชายแดนจนมีผู้เสียชีวิต

“การตรวจสอบแอปฯ จีนในระดับสากลจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความมั่นคงของชาติ ประเด็นนี้จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทอินเทอร์เน็ตจีน” เวย์-เซิร์น หลิง นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence กล่าว “การแบนแอปฯ เพื่อตอบโต้เอาคืนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นวิธีที่นำมาใช้ได้ง่าย และยังสร้างผลเสียติดตามมาน้อยกว่าหากเทียบกับวิธีการอื่น เช่น ตั้งกำแพงภาษี”

Source

]]>
1293646
แซงแล้ว! มูลค่าบริษัท ‘Tencent’ ทะลุ 6.6 แสนล้านดอลลาร์ ขึ้นนำ ‘Facebook’ เพราะ Covid-19 https://positioningmag.com/1290029 Thu, 30 Jul 2020 00:17:30 +0000 https://positioningmag.com/?p=1290029 หากพูดถึงชื่อของ ‘เทนเซ็นต์’ (Tencent) บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและเกมดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘WeChat’ ‘Joox’ ‘WeTV’ และเกม ‘PUBG Mobile’ ล่าสุด มูลค่าตลาดของเทนเซ็นต์ก็โตแซงหน้าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระดับโลกอย่าง ‘Facebook’ เรียบร้อยแล้ว

มูลค่ารวมของการซื้อขายหุ้นสาธารณะของเทนเซ็นต์อยู่ที่ 5.15 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 664,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันมูลค่าของ Facebook อยู่ที่ 656,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหุ้นเทนเซ็นต์ได้ปรับตัวขึ้นประมาณ 43% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้มูลค่าตลาดของเทนเซ็นต์เพิ่มขึ้นประมาณ 1.56 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 201,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ Facebook เองมีการปรับตัวขึ้นเพียง 12% โดยราคาหุ้นเคยแตะ 250.15 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา Facebook ต้องเผชิญกับราคาหุ้นที่ลดลง เนื่องจากภาวะขาลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และทางการสหรัฐฯ เพิ่มการคุมเข้มบรรดาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เทนเซ็นต์เติบโตคือ การระบาดของ Covid-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้หลายคนใช้เวลาว่างไปกับการเล่นเกมและเข้าแอปพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเทนเซ็นต์นั้นเป็นเจ้าของเกมมือถือยอดนิยมหลายเกม รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม WeChat แอปส่งข้อความยอดนิยมของจีนที่มีผู้ใช้มากกว่าพันล้านคน นอกจากนี้บริษัทยังให้บริการส่งข้อความด่วนที่เรียกว่า ‘QQ’

ล่าสุด เทนเซ็นต์ก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า ‘Moments’ ซึ่งผู้ใช้สามารถโพสต์รูปภาพ, วิดีโอและลิงก์ โดยเทนเซ็นต์สร้างรายได้จากขายพื้นที่โฆษณาใน Moments ส่งผลให้รายได้จากเครือข่ายสังคมคิดเป็น 23% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มูลค่าตลาดสูงกว่า Facebook แต่มันเคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2017 และมีช่วงเวลาสั้น ๆ ในปี 2018 แต่ในปี 2019 มูลค่าตลาด Facebook ก็อยู่ข้างหน้าเทนเซ็นต์ตลอดทั้งปีตามข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence

Source

]]>
1290029
‘Tencent’ ปิดดีลซื้อ ‘Iflix’ เดินหน้าลุยตลาดสตรีมมิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ https://positioningmag.com/1285539 Mon, 29 Jun 2020 02:55:27 +0000 https://positioningmag.com/?p=1285539 เรียกได้ว่าดุเดือดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาสำหรับตลาด ‘สตรีมมิ่ง’ เพราะว่ามีเจ้าใหญ่อย่าง Disney ได้เปิดตัว Disney + และ Apple ก็มี Apple TV และยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่เตรียมเปิดบริการ ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีผู้เล่นที่ล้มหายตายจากไปอย่าง Hooq เป็นต้น

เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง (Tencent Holdings) บริษัทผู้ให้บริการเกมและโซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่ของจีน

ล่าสุด แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับภูมิภาคอย่าง ‘Iflix’ ก็ได้โดนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตของจีนอย่าง Tencent ซื้อกิจการไปเรียบร้อย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อขยายการเข้าถึง WeTV แพลตฟอร์มสตรีมของตัวเองในภูมิภาค อีกทั้ง Tencent จะได้รับเนื้อหาเทคโนโลยีและทรัพยากรของ iFlix และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่สำคัญของการเติบโต

“สิ่งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราในการขยาย WeTV แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสากลของเราให้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมอบเนื้อหาคุณภาพสูงระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่นให้แก่ผู้ใช้ในหลากหลายประเภทและภาษา” Tencent กล่าว

ทั้งนี้ ดีลดังกล่าวไม่มีการเปิดเผยมูลค่า แต่คาดว่าจะมีมูลค่าที่หลักสิบล้านเหรียญเท่านั้น ขณะที่พนักงานปัจจุบันของ Iflix ส่วนใหญ่รวมถึง Marc Barnett CEO จะยังคงรักษาบทบาทของตนไว้

“ลำดับความสำคัญในปัจจุบันของเราคือ การทำให้แน่ใจว่าการทำงานร่วมกับธุรกิจที่มีอยู่ของเราราบรื่นและการรักษาจุดแข็งของ Iflix”

สำหรับ Iflix เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จนถึงปัจจุบันได้ระดมทุนทั้งสิ้น 348 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายงานว่าบริษัทกำลังพิจารณาที่จะเปิดตัวในออสเตรเลียในปีนี้ แต่ต่อมาก็ยกเลิกแผนการในขณะที่มองหาการระดมทุนเพิ่มเติม และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ลดพนักงานประมาณ 50 คนออก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจประสบปัญหาทางการเงินที่กระท่อนกระเเท่นมากว่า 2 ปี ปัจจุบัน Iflix มีผู้ใช้งานประมาณ 25 ล้านรายจาก 13 ประเทศในหลายภูมิภาค

Source

]]>
1285539