Yves Rocher – Positioning Magazine https://positioningmag.com Thailand's Leading Marketing Magazine Thu, 15 Dec 2022 10:35:01 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.6 167543101 เปิดใจ “วิลาสินี ภาณุรัตน์” จากเจ้าแม่สายบิวตี้ สู่ CEO หญิงคนแรกของ “บาจา” ประเทศไทย https://positioningmag.com/1397941 Mon, 29 Aug 2022 13:11:44 +0000 https://positioningmag.com/?p=1397941 Highlight
  • วิลาสินีทำงานอยู่ในวงการ FMCG และความงามมา 18 ปี ตั้งแต่ยูนิลีเวอร์, ลอรีอัล และอีฟโรเช รู้สึกอิ่มตัว อยากมองหาความท้าทายใหม่ ประกอบกับต้องการความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน
  • วิลาสินีได้ข้อเสนอในการเป็น CEO ของบาจา ประเทศไทย ถือว่าเป็นผู้หญิงคนแรกของตำแหน่งนี้ ตั้งแต่บาจาทำตลาดในไทยมา 93 ปี
  • ภารกิจแรก คือการปรับภาพลักษณ์จากรองเท้ารุ่นป้า รองเท้านักเรียน รองเท้าพยาบาล ให้ทันสมัยขึ้น และทำการตลาดมากขึ้น หลังจากที่ไม่แอคทีฟมาหลายปี

อิ่มตัวกับสายบิวตี้

หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกับ “ลาล่า วิลาสินี ภาณุรัตน์” กันมาบ้าง เพราะเธอคือหนึ่งในนักการตลาดมือทองที่ร่วมงานกับบริษัทท็อปๆ ในไทยมากมาย ที่ผ่านมาได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เจ้าแม่บิวตี้” เพราะได้ร่วมงานกับธุรกิจความงามมาโดยตลอด

แต่วันนี้วิลาสินีมาพร้อมกับบทบาทใหม่ ความท้าทายใหม่ในการก้าวข้ามธุรกิจที่ตนเองถนัด มาสู่ธุรกิจแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ พร้อมกับขึ้นแท่น CEO หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ “บาจา ประเทศไทย”

Positioning ได้ยิงคำถามยอดฮิตที่ว่า ทำไมถึงตัดสินใจมาอยู่บาจา เป็นการข้ามสายจากบิวตี้ มาไลฟ์สไตล์

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล่าว่า

“ที่ผ่านมาอยู่ในวงการบิวตี้มา 18 ปี อยู่เกือบครบทุกบ้าน ยูนิลีเวอร์, ลอรีอัล และอีฟโรเช ค่อนข้างอิ่มตัวกับสายนี้ ทางบาจาได้มา Head Hunt พอดี เริ่มคุยกันตั้งแต่เดือนเมษายน ได้ฟังโจทย์ของบาจาที่มีวิสัยทัศน์ Outside in มากขึ้น ด้วยความที่แบรนด์ทำโรงงานผลิตรองเท้า ก็จะคิดแต่เชิงผลิตเป็นหลัก แต่จะเริ่มฟังผู้บริโภคมากขึ้น อีกอย่างก็คือ ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา แบรนด์ไม่ได้กระทบเท่าไหร่ ก็ยังโต แสดงว่าแบรนด์ต้องมีอะไรดี”

นอกจากปัจจัยในเรื่องการอิ่มตัวกับสายอาชีพ ที่ทำให้วิลาสินีเริ่มหมดไฟกับการทำงานประจำแล้ว ยังมีเรื่องตำแหน่งในหน้าที่การงานด้วย ที่ผ่านมาวิลาสินีอยู่ในตำแหน่งด้านการตลาดมาโดยตลอด ทำให้เธอเริ่มมองหาตำแหน่งในระดับเลเวล Country Manager เมื่อบาจามีข้อเสนอในการเป็นตำแหน่ง CEO เธอจึงยากที่จะปฏิเสธข้อเสนอนี้ไปได้ แถมยังได้ท้าทายกับธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย

“โจทย์ใหญ่ของเราถึงเวลาท้าทายตัวเอง ออกจากวงการบิวตี้ ตอนนี้ถ้าทำบิวตี้หลับตาทำได้แล้ว ขอกระโดดมาวงการใหม่ ก่อนหน้านี้ทำระดับเมเนจเมนต์มาตลอด คิดว่าต่อไปคงต้อง Country Manager แล้ว อีกความท้าทายหนึ่งก็คือ การมาทำแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ที่เชย อยากทำให้คนเห็นว่าไม่เชย เข้ายุคสมัยได้”

สาววิศวะ เริ่มทำงานซัมซุง แจ้งเกิดบิวตี้

แม้จะเป็นนักการตลาดมือทอง แต่วิลาสินีไม่ได้เรียนมาทางสายการตลาดแต่อย่างใด แต่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ อยู่กับตัวเลขมาโดยตลาด เป็นเด็กเนิร์ด หลังจากจบทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็ได้ไปลองสาย MBA และคอมพิวเตอร์ที่ต่างประเทศ ไม่เคยคิดมาสายการตลาด อยากไปทำงานสายโปรแกรมเมอร์

หลังจากที่กลับมาประเทศไทยได้เริ่มต้นงานแรกก็คือ ซัมซุง เป็นหนึ่งในทีมที่เปิดตัวมือถือซัมซุงในไทย ซึ่งยุคนั้นยังเป็นยุค “โนเกีย” อยู่เลย ทำอยู่ 4 ปี ตอนนั้นซัมซุงสามารถครองตลาดเบอร์ 2 รองจากโนเกียได้

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ใน
วิลาสินี ภาณุรัตน์ ในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดสินค้าเมคอัพ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

จากนั้นก็จับพลัดจับผลูได้ร่วมงานยูนิลีเวอร์ที่ประเทศจีน เนื่องจากย้ายตามสามีที่ต้องไปทำงานที่จีน ดูตลาดเอเชียเหนือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน ได้เริ่มทำแบรนด์เคลียร์เป็นแบรนด์ใหญ่สุดของยูนิลีเวอร์จีน สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ด้านการตลาดอยู่ 7 ปี จนเมื่อย้ายกลับประเทศไทยได้พูดคุยกับทางลอรีอัล และได้ดูแลในส่วนของเครื่องสำอาง กับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สินค้าเมคอัพ ลอรีอัล (ประเทศไทย)

“ตอนนั้นจากที่เคยทำยูนิลีเวอร์ ดูในส่วนของแฮร์แคร์มี 7 SKUs ต้องมาดูลอรีอัลที่มี 2,000 กว่า SKUs แต่ก็สนุกมาก ได้ทำแคมเปญเมืองคานส์ พอทำได้ 8 เดือนทางลอรีอัลได้ซื้อแบรนด์ NYX ก็เป็นคนเปิดตัวในไทย ตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ผลประกอบการก็ดีกว่าที่คาดไว้ เลยได้รับผิดชอบ 3 แบรนด์ใหญ่ ลอรีอัล, เมเบอลีน และ NYX”

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อีฟโรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด

หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับวงการเครื่องสำอางที่ลอรีอัล 5 ปี วิลาสินีเคยตั้งเป้ากับตัวเองว่าอยากออกจากวงการนี้แล้ว แต่ก็ได้รับข้อเสนอเป็น CMO จาก “อีฟโรเช”

นอกจากการทำงานในองค์กรใหญ่แล้ว วิลาสินียังได้ทำธุรกิจส่วนตัว แบรนด์  Worry-Free Beauty (วอรี่-ฟรี บิวตี้) เป็นสกินแคร์สายคลีน วางจุดยืนเป็นคลีนบิวตี้ในราคาที่จับต้องได้ เป็นการทำธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตัวเองล้วนๆ

โละภาพรองเท้ายูนิฟอร์ม รองเท้ารุ่นป้า

“หลายคนนึกว่าบาจาเป็นแบรนด์ไทย แบรนด์รองเท้านักเรียน รองเท้าพยาบาล แบรนด์เชยๆ” หลายสิ่งเหล่านี้คือภาพลักษณ์ที่คนไทยมีต่อแบรนด์บาจา

บาจาเป็นแบรนด์รองเท้าจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก มีอายุ 123 ปี ส่วนในประเทศไทยได้เข้ามาทำตลาดได้ 93 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 แต่บาจาไม่ค่อยมีการทำการตลาดเท่าไหร่ เน้นที่ตัวสินค้าเป็นหลัก การดึงตัววิลาสินีเข้ามาร่วมงาน ก็มีเหตุผลในการทำการตลาดมากขึ้น

โจทย์ใหญ่ที่วิลาสินีต้องแก้ก่อนเป็นอันดับแรกๆ ก็คือ การปรับภาพลักษณ์ที่ดูเชย ให้ทันสมัยขึ้น หลายคนยังคิดว่าเป็นแบรนด์รองเท้านักเรียน รองเท้ายูนิฟอร์ม แต่จริงๆ มีหลายกลุ่ม

“จากการสำรวจกับลูกค้า พบว่าเขานึกถึงบาจาว่าเป็นรองเท้าใส่สบาย อีกกลุ่มที่ใหญ่ ก็คือ รองเท้าไปสัมภาษณ์งาน รองเท้าคัทชู รองเท้าโรงงาน รองเท้ายูนิฟอร์มต่างๆ ซึ่งเป็นฟังก์ชันล้วนๆ ไม่ค่อยมีใครซื้อเรื่องอีโมชันนอลเท่าไหร่ เลยอยากพลิกภาพแบรนด์เชยๆ เป็นแบรนด์เทรนดี้ขึ้น ให้เขารู้ว่าเป็นรองเท้าถูกและดี ราคาย่อมเยา และแฟชั่นด้วย”

วิลาสินี เสริมอีกว่า แต่ก่อนคนมองว่าบาจาเป็นของถูก และดี แต่ไม่ค่อยกล้าบอกใครว่าใส่บาจา จึงอยากทำให้บาจาเป็น Inspire Brand ได้ ทำให้เป็นแบรนด์เข้าถึงง่าย มีสินค้าหลากหลาย และภูมิใจที่บอกคนอื่นได้ว่าใส่บาจา อยากทำให้พนักงานภูมิใจที่ทำงานบาจาด้วยเช่นกัน รวมไปถึงเรื่องความสบายด้วย อยากเป็นแบรนด์ที่ว่าถ้าใครจะซื้อรองเท้าให้แม่ ต้องคิดถึงบาจา เป็นรองเท้าสุขภาพได้ด้วย ใช้ทนทาน แต่สิ่งที่ลูกค้ายังไม่ตระหนักคือสไตล์ เจ็บปวดที่คนบอกรองเท้าบาจาเชย เราการันตีได้เลยว่าคอลเลกชันต่อไปจะไม่เชย มีการตั้งทีมมาร์เก็ตติ้งใหม่ แต่บาจาไม่อยากเป็นถึงขั้นรองเท้าแฟชั่น มันดูวูบวาบไป ขอแค่มีสไตล์ก็พอ

CEO หญิงไทยคนแรก

วิลาสินีขึ้นชื่อว่าเป็น CEO หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของบาจา ประเทศไทยตั้งแต่ทำตลาดมา 93 ปี และยังเป็นคนไทยคนแรกอีกด้วย โดยปกติตำแหน่งนี้จะนำโดยผู้ชาย และเป็นชาวต่างชาติ แต่บาจาเองก็จำเป็นต้องไดเวอร์ซิฟายตามยุคสมัย การมีผู้บริหารคนไทยทำให้เข้าใจพฤติกรรมคนไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“แต่ก่อนตำแหน่งเลเวลท็อปๆ จะนำโดยผู้ชายเกือบ 100% พอตลาดในอินเดียเติบโตมาก บาจาจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้หญิงขึ้นมาบริหาร ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้หญิงเลย แต่ก่อนคนบาจาจะเรียกตำแหน่งนี้ว่านายห้าง เพราะเป็นต่างชาติ”

หลังจากที่วิลาสินีได้เข้ารับตำแหน่งนี้ได้ราวๆ 2 เดือนนั้น เธอบอกว่า สิ่งที่ได้เห็นอันดับต้นๆ ก็คือ มีการตลาดมากขึ้น เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำการตลาดเลย สินค้าถูกจริตคนไทยมากขึ้น ต้องสวย มีคุณภาพ ไม่แฟชั่น แต่มีสไตล์ ไม่เชย

ส่วนเป้าหมายระยะยาว วิลาสินีอยากให้บาจาเป็นเบอร์หนึ่งในวงการรองเท้า ตอนนี้อยู่อันดับ 5 ในตลาด เนื่องจากเสียส่วนแบ่งการตลาดมาหลายปี เพราะไม่ได้ทำการตลาดเท่าไหร่ โดยที่ในตลาดรองเท้าครองแชมป์โดย 1. Adidas 2. Nike  3. นันยาง 4. กีโต้-แอดด้า และ 5. บาจา

โดยอยากขึ้นเป็นเบอร์ 3 ก่อน ในปี 2566 จากนั้นอยากขึ้นแซงหน้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Adidas และ Nike ให้ได้ภายใน 5 ปี

อ่านเพิ่มเติม

]]>
1397941
Worry-Free Beauty สกินแคร์คลีนบิวตี้ สไตล์ “ลาล่า-วิลาสินี” อดีตผู้บริหาร Yves Rocher https://positioningmag.com/1385766 Thu, 19 May 2022 04:16:31 +0000 https://positioningmag.com/?p=1385766 “วิลาสินี ภาณุรัตน์” อดีต CMO มือการตลาดของ Yves Rocher สกินแคร์จากฝรั่งเศส ได้ผันตัวจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ มาปั้นแบรนด์ของตัวเอง ผุด Worry-Free Beauty วางจุดยืนเป็นคลีนบิวตี้ ในราคาจับต้องได้

ปั้นคลีนบิวตี้ด้วยตัวเอง

เทรนด์ของสวยรักษ์โลกยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ ทั้งแบรนด์ระดับโกลบอล หรือแบรนด์เล็กๆ แบบ SME ต่างปรับตัวเพื่อรับกับกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแพ็กเกจจิ้งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงส่วนผสมต่างๆ ที่สร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ไม่มีการทดลองกับสัตว์

“วิลาสินี ภาณุรัตน์” หรือ ลาล่า เป็นอีกหนึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการสกินแคร์มายาวนาน ก่อนหน้านี้เธอดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อีฟโรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือแบรนด์ Yves Rocher ที่หลายคนรู้จัก

วิลาสินี ภาณุรัตน์
วิลาสินี ภาณุรัตน์

วิลาสินีอยู่ที่ Yves Rocher ประมาณ 2-3 ปี เธอได้ปลุกปั้นแบรนด์จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ต่างๆ หรือคีย์ แมสเสจต่างๆ จะพูดเรือ่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วางจุดยืนให้แบรดน์เป็น “สวยรักษ์โลก” มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นการปรับแพ็กเกจจิ้งเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการห่อพลาสติกในตัวสินค้า เปลี่ยนเป็นกระดาษแทน ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล มีจุด Refill สินค้า เพื่อลดการใช้แพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงส่วนผสมของสกินแคร์ ที่ลดการรบกวนสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

จะเห็นได้ว่าวิลาสินีค่อนข้างมี Passion กับการทำกรีนบิวตี้มาโดยตลอด ล่าสุดวิลาสินีได้ผันตัวจาก CMO ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เพื่อมาปั้นแบรนด์ของตัวเอง ได้เปิดตัว Worry-Free Beauty (วอรี่-ฟรี บิวตี้) วางจุดยืนเป็นคลีนบิวตี้ในราคาที่จับต้องได้

ต้องโปร่งใส ตรวจสอบที่มาสินค้าได้

คำว่าคลีนบิวตี้ของแบรนด์นี้ ยึดคำนิยามความคลีนที่ทางแบรนด์มีต่อผู้บริโภคว่าต้องโปร่งใส ปลอดภัย ให้ประโยชน์สูงสุด และปราศจากความกังวล มีความเชื่อว่ายิ่งในยุคนี้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น แบรนด์ที่มีจุดยืนชัดเจนจะได้ใจผู้บริโภคมากที่สุด

ยิ่งในยุคนี้ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ได้เลือกแบรนด์จากแค่สินค้าอย่างเดียว แต่ยังมองถึงเรื่องราว และที่มาของแบรนด์ด้วย ถ้าใส่สตอรี่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งได้ใจผู้บริโภคเข้าไปใหญ่

worry free beauty

วิลาสินี ภาณุรัตน์ Chief Cheerleader & CREATOR แบรนด์วอรี่-ฟรี บิวตี้ กล่าวว่า

“ตัวเองอยู่ในวงการมาสักระยะหนึ่งแล้ว ได้ทำและเห็นอะไรมาค่อนข้างมาก จนถึงตอนนี้เกิดเป็นความตั้งใจที่อยากจะปรับมาตรฐานของวงการบิวตี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยต้องการให้สินค้าที่แบรนด์นำเสนอออกไปนั้นต้องจริงใจ และให้เกียรติลูกค้าที่สุด ด้วยการเปิดเผยรายละเอียดที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมีความโปร่งใส คัดสรรส่วนผสมที่ปลอดภัยมีคุณภาพตามคำกล่าวอ้าง และยังใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีการเล่าที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน”

“การตีโจทย์คำว่าคลีนบิวตี้ของเรานั้น แตกต่างจากคนอื่น เราไม่ได้ต่อต้าน non-clean หรือไม่ได้สื่อสารว่าสารเคมีทุกตัวนั้นไม่ดี เราจึงต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย เราตีโจทย์ว่าคลีนบิวตี้ คือ การปราศจากสิ่งที่เป็นอันตราย หรือมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค ดังนั้น ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์จะต้องเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง  “Transparency” คือ Commitment แรกที่เราเลือกใช้”

ลูกค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดได้ด้วยตนเอง สินค้าทุกตัวจะมี QR code อยู่ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เมื่อลูกค้าสแกนก็จะเชื่อมต่อไปที่ w clean beauty standard ทันที สามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ รายละเอียดของส่วนประกอบต่างๆ รวมถึงสาเหตุที่เลือกใส่ส่วนประกอบนั้นๆ หรือสาเหตุที่หลีกเลี่ยง

จะเรียกว่า Yes List กับ No List  เพื่อให้ได้ดังคุณสมบัติที่เราบอกไป โดยต้องไม่เกินความเป็นจริง หรือหลอกลวง ซึ่งถือเป็น trademark

กลุ่มสินค้าของ Worry-Free Beauty จะมี 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สกินแคร์, Personal Care และอาหารเสริม โดยเน้นที่กลุ่มสกินแคร์เป็นกลุ่มใหญ่ มีราคาดังต่อไปนี้

  • Serum 899 บาท
  • Cream 799 บาท
  • Body Lotion 399 บาท
  • Shower 199 บาท
  • Anti-hair Loss Shampoo 399 บาท
  • Hair food Conditioner 399 บาท
  • Detox Jelly 699 บาท (10 ซอง/กล่อง)
]]>
1385766
โควิดพ่นพิษ! Yves Rocher โละกลุ่มเครื่องสำอาง ขอ “สวยรักษ์โลก” ที่สุด ในกลุ่มบิวตี้ https://positioningmag.com/1372690 Wed, 02 Feb 2022 07:33:48 +0000 https://positioningmag.com/?p=1372690 COVID-19 ยังคงพ่นพิษอย่างต่อเนื่อง Yves Rocher (อีฟโรเช่) แบรนด์ความงามจากฝรั่งเศส เตรียมงดทำตลาดกลุ่มเครื่องสำอาง เพราะยอดขายตก คนแต่งหน้าน้อยลงเพราะใส่หน้ากากอนามัย และทำงานอยู่บ้าน พร้อมเดินหน้ากับจุดยืนสวยรักษ์โลก ขอกรีนที่สุดในกลุ่มบิวตี้

ย้ำภาพ “สวยรักษ์โลก”

จริงๆ แล้วตลาดความสวยความงามไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์, เครื่องสำอาง หรือบริการต่างๆ ที่ช่วยเสริมความงาม ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจดาวรุ่งมาโดยตลอด เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี เครียดอย่างไร สาวๆ ก็ยังต้องดูดี อยากสวยอยู่ตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตแบบสวนกระแสมาโดยตลอด

แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบหลายคลื่น ทั้งรายได้ลดลง กำลังซื้อน้อยลง บางคนต้องทำงานอยู่บ้าน ต้องใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้านตลอดเวลา ทำให้ตลาดเครื่องสำอางหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ฉุดตลาดความงามในภาพรวมให้หดตัวลงไปด้วย หลายแบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ยกใหญ่เพื่อความอยู่รอด

yves rocher

อีฟ โรเช่ (Yves Rocher) เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ความงามจากฝรั่งเศสที่มีการปรับตัวค่อนข้างเยอะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ในปี 2020 ได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ พร้อมปรับภาพลักษณ์ “สวยรักษ์โลก” อย่างเต็มตัว ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะต้องการสร้างแบรนด์ให้แมสขึ้น จึงต้องสร้างจุดต่าง และทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่

อีฟ โรเช่ได้เปิดแคมเปญ “สวยโลกไม่เสีย” เป็นแคมเปญใหญ่มาตลอด ต้องการย้ำภาพกรีนบิวตี้อย่างเต็มตัว และต้องการสื่อสารว่าเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ทั้งในด้านส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และแพ็กเกจจิ้ง Eco Design ที่ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล 100%

เมื่อต้นปี 2564 อีฟ โรเช่ได้เปิดตัว Refill Station สำหรับนำขวดเดิมมาเติมสบู่ และแชมพู เป็นการลดขยะพลาสติกที่เกิดจากแพ็กเกจจิ้ง ในราคา 99 บาท ประเดิมสาขาเซ็นทรัลเวิลด์แห่งแรก แต่โปรเจกต์นี้อยู่เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

Refill Station ได้เปิดตัวที่ฝรั่งเศสประเทศแม่ของแบรนด์เมื่อปลายปี 2563 หลังจากนั้นก็ได้เปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ซึ่งต้องบอกว่าจุด Refill Station นี้ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้เห็นในแวดวงสินค้า FMCG ในยุคนี้มากขึ้น เพราะหลายแบรนด์เริ่มให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ต้องการลดขยะพลาสติกจากแพ็กเกจจิ้งมากขึ้น

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อีฟโรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า

“การวางจุดยืนเป็นกรีนบิวตี้ เพราะผู้ก่อตั้งมีเจตจำนงด้านธรรมชาติอย่างมาก ไม่ได้ต้องการแค่ใช้ส่วนประกอบอย่างเดียว เขาอินกับธรรมชาติ ต้องการทำให้ยั่งยืนในทุกๆ ด้าน มีการปรับแพ็กเกจจิ้งตั้งแต่ปี 2563 ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ทุกวัสดุ สกินแคร์ที่เคยมีแรปพลาสติก ก็เอาออกหมดเลย เปลี่ยนเป็นกระดาษ จะเริ่มเปลี่ยนทั้งหมด คาดว่าจะเสร็จสิ้นปีนี้ “

 วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท อีฟโรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ขวดที่ผลิตออกมาจากโรงงานของอีฟ โรเช่จะเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ 100% ซึ่งตอนนี้กำลังจะทยอยวางจำหน่ายที่หน้าร้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มทุกชั้นในทุกไลน์ผลิตภัณฑ์ พร้อมกับการเอาพลาสติกที่ห่อผลิตภัณฑ์สกินแคร์ออกให้หมด เปลี่ยนเป็นกระดาษแบบไม่มีพลาสติกห่อ จะเริ่มปรับให้เสร็จสิ้นในทุกไลน์สินค้าในสินปีนี้ คาดว่าจะสามารถลดพลาสติกได้ถึง 2,700 ตันต่อปี ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ไปกว่า 30%

นอกจากแพ็กเกจจิ้งแล้ว ในเรื่องของแบรนด์ และส่วนผสมก็พยายามที่จะกระทบสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สด เช่น กลุ่ม Anti-Age Global สินค้า AAG Super Serum Bud Nectar ส่วนผสมอย่าง บัด เนคต้าร์ นำมาจากกระบวนการปลูก และเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน โดยสกัดจากหน่อยอดอ่อนของดอกไวท์ไลแลคอย่างเข้มข้นเพียง 1 ดอกเท่านั้น เพื่อที่จะได้รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด เป็นการรักษาซึ่งแหล่งกำเนิดของ บัด เนคต้าร์ แต่สามารถเก็บรักษาประสิทธิภาพไว้ได้สูงสุดด้วย บรรจุภัณฑ์ได้ใช้ขวดแก้วที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และกล่องที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิลที่มาจากป่าที่ได้รับการปลูกแบบยั่งยืน

เลิกขายเครื่องสำอาง ยุบไลน์ Whitening

แต่เดิมอีฟ โรเช่มีไลน์สินค้าทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ สกินเเคร์, กลุ่ม Hair Hygiene ดูเเลเส้นผม, เครื่องสำอาง เเละน้ำหอม พร้อมกับบริการทรีตเมนต์อีกหนึ่งกลุ่ม

ถ้าย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 2563 ตลาดความงามในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่ 6% – 7% ทุกปี มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มสกินแคร์ดูแลผิวหน้า ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสกินแคร์อยู่ที่ 80% จากมูลค่าภาพรวมอยู่ที่กว่า 90,000 ล้านบาท

ในช่วง COVID-19 ระลอกแรก ตลาด Face Skincare (เฟส สกินแคร์) ได้รับผลกระทบทันทีเนื่องจากคนมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ยอดขายร่วงลงอย่างรวดเร็ว ประจวบกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มใหญ่ของสินค้าหมวดนี้คือ นักท่องเที่ยว เลยทำให้ตลาดเฟส แคร์ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลาย 10 ปี

แต่เมื่อมีการคลายล็อก และมีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้ตลาดเริ่มกลับมาสดใส ผู้บริโภคเริ่มปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ มีการใช้สกินแคร์ดูแลผิว แต่อาจจะลดใช้เครื่องสำอางอยู่ เพราะยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอด ทำให้ตลาดเครื่องสำอางค่อนข้างทรงๆ ไปจนถึงติดลบ

ในปีนี้ทางอีฟ โรเช่จึงตัดสินใจยุบไลน์สินค้า “กลุ่มเครื่องสำอาง” ออก โดยจะจำหน่ายแค่สินค้าในสต๊อกอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีการทำตลาดพิ่ม คาดว่าจะจำหน่ายถึงเดือนมีนาคมนี้ เบนเข็มไปเน้นทำตลาดในกลุ่มที่มีการเติบโตดีกว่า

กลุ่มที่เป็นดาวรุ่ง และมีการเติบโตสูงก็คือกลุ่ม Hair Care และกลุ่ม Bath & Body Care ดูแลผม และผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เป็นกลุ่มหลักที่ดันรายได้ให้อีฟ โรเช่ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้จากกระแสบอกต่อของ “แชมพูลดผมร่วง” ในโซเชียลมีเดีย จึงดึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้มากขึ้น

Yves Rocher

วิลาสินี บอกว่า แบรนด์ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อายุเด็กลงจากกลุ่มดูแลผมมากขึ้น เพราะมีกระแสบอกต่อ กระแสรีวิวในทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดกระแสใช้ต่อๆ กัน แต่กลุ่มผมมูลค่าไม่ได้สูงมาก จึงต้องดันตลาดกลุ่มสกินแคร์มากขึ้น ได้ไลน์ Anti-Age Global เข้ามาเสริม

กลุ่ม Anti-Age Global กลายเป็นโปรดักต์ฮีโร่ในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นสินค้าสำหรับลดริ้วรอยในวัยเริ่มต้น ทำให้ขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม 20 ปลายๆ ไปจนถึง 35 ปี ที่เริ่มมีความกังวลเรื่องริ้วรอย และมีกำลังซื้อสูง จากแต่เดิมแบรนด์มีฐานลูกค้าอายุเฉลี่ย 48 ปี ตอนนี้ได้กลุ่มวัยรุ่นขึ้น

Yves Rocher

ปีนี้อีฟ โรเช่ตัดสินใจยุบไลน์สินค้ากลุ่ม Whitening หรือกลุ่มเพิ่มความขาว เปลี่ยนเป็นกลุ่ม Brightening ลดริ้วรอยแทน ปรับตามเทรนด์ความงามทั่วโลกที่ไม่ได้ยึดติดกับความขาวอย่างเดียว

โดยระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา COVID-19 ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดธุรกิจความงาม ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดลดลง 11% แต่อีฟ โรเช่เติบโต 6% และในปี 2564 มูลค่าตลาดความงามโดยรวมลดลง 12% แต่อีฟ โรเช่เติบโต 7%

ลดสาขา เปลี่ยนเป็น Virtual BA

นอกจากการปรับเรื่องไลน์สินค้า และแพ็กเกจจิ้งแล้ว อีฟ โรเช่ยังเตรียมปรับหน้าร้านเพิ่มเติม โดยเตรียมยุบบางสาขาที่ไม่สร้างรายได้ เพื่อตอบรับกับตลาดรีเทลที่หดตัวลง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ก่อนหน้านี้อีฟ โรเช่มีหน้าร้านทั้งหมด 128 สาขา พนักงานรวม 330 คน ปัจจุบันหลือเพียง 70 สาขา

วิลาสินี บอกว่า อยากปิดเพิ่มอีก 15 สาขา แต่บางสาขายังมีติดเรื่องสัญญา อีกทั้งตลาดรีเทลคงไม่กลับไปเหมือนปี 2562 อีกแล้ว ทราฟฟิกกลับมาแค่ 30% จากประสบการณ์เคยทำแบรนด์ไซส์เท่านี้ มีสาขาแค่ 30 สาขา ส่วนพนักงานมีการเปลี่ยนบางคนเป็น Virtual BA พูดคุยกับลูกค้าทางโทรศัพท์ 30 คน

ในปีนี้ มีการตั้งเป้าการเติบโตที่ 19% จากปีก่อน โดยจะมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเส้นผม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนในการสร้างรายได้กว่า 75% และอีก 25% ของรายได้จะมาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เตรียมดันบริการนวด และทรีตเมนต์กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

]]>
1372690
Yves Rocher นำร่อง Refill Station นำขวดเก่าเติมสบู่แชมพู ประเดิมสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ https://positioningmag.com/1316356 Mon, 25 Jan 2021 14:27:03 +0000 https://positioningmag.com/?p=1316356 อีฟ โรเช่ (Yves Rocher) เปิดตัว Refill Station สำหรับนำขวดเดิมมาเติมสบู่ และแชมพู เป็นการลดขยะพลาสติกที่เกิดจากแพ็กเกจจิ้ง ในราคา 99 บาท ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์

ในช่วงปีที่แล้วอีฟ โรเช่ได้ทำการรีแบรนด์ใหม่ เป็นการรีเฟรชแบรนด์ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับการวางจุดยืนเป็นแบรนด์รักษ์โลกอย่างเต็มตัวด้วยการเปิดตัวแคมเปญใหญ่ “สวยโลกไม่เสีย” ซึ่งมีทั้งกลยุทธ์ในการใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อลดการใช้พลาสติก โดยสามารถลดพลาสติกได้ถึง 2,700 ตันต่อปี ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ไปกว่า 30%

ล่าสุดอีฟ โรเช่ได้เปิดตัว Refill Station เป็นจุดที่ให้ลูกค้านำขวดแพ็กเกจจิ้งเดิมมาเติมผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ในราคาพิเศษ เป็นการลดขยะพลาสติก ได้ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์

Refill Station ได้เปิดตัวที่ฝรั่งเศสประเทศแม่ของแบรนด์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ได้เปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ซึ่งต้องบอกว่าจุด Refill Station นี้ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้เห็นในแวดวงสินค้า FMCG ในยุคนี้มากขึ้น เพราะหลายแบรนด์เริ่มให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ต้องการลดขยะพลาสติกจากแพ็กเกจจิ้งมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการใน Refill Station จะมี 2 รายการด้วยกัน ได้แก่ แชมพู และเจลอาบน้ำ โดยเงื่อนไขก็คือ ต้องนำบรรจุภัณฑ์ของอีฟ โรเช่มาเติมเท่านั้น ไม่สามารถนำขวดอื่นๆ มาเติมได้

  • ขวดเปล่าเจลอาบน้ำ ขนาด 400 ml ทุกกลิ่น ของอีฟ โรเช่ สามารถนำมาเติมเป็น Shower Gel กลิ่นพีช ได้ในราคา 99 บาท
  • ขวดเปล่าแชมพู ขนาด 300 ml ทุกสูตรของอีฟ โรเช่ สามารถนำมาเติมเป็นแชมพูสูตร Anti-Hair Loss ได้ใน ราคา 99 บาท

บริการนี้จำกัดเฉพาะสมาชิกเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์นี้ สามารถเติมได้จำนวนคนละ 2 ขวด (เจลอาบน้ำ 1 ขวด และ แชมพู 1 ขวด) ต่อวัน

แต่ Refill Station ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์นี้ เป็นโมเดลชั่วคราวที่จะอยู่ตั้งแต่วันที่  20 – 31 มกราคม 2564 เท่านั้น หลังจากนั้นจะดูผลตอบรับเพื่อที่จะขยายไปยังสาขาอื่นๆ หรือตั้งเป็นจุดถาวรในอนาคต

]]>
1316356
มองตลาดบิวตี้ไทย ผ่านมุม Yves Rocher รีเเบรนด์ใหม่รอบ 60 ปี สู่ “สวยรักษ์โลก” ยุคดิจิทัล https://positioningmag.com/1300040 Wed, 07 Oct 2020 11:09:24 +0000 https://positioningmag.com/?p=1300040 “ตลาดความงาม” ในไทยยัง “เหนื่อยหนัก” จากเดิมเป็นตลาดที่เเข็งเเกร่งเเห่งหนึ่งในโลกเเละเอเชีย มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจความงามและเครื่องสำอางในไทยอยู่ที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการเติบโตต่อเนื่องราว 7-8% เเต่ว่าปีนี้กลับได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบทศวรรษ จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19

วันนี้ Positioning ฉายภาพตลาดบิวตี้เมืองไทย ผ่านมุมมองของ Yves Rocher (อีฟ โรเช่) เเบรนด์อันดับ 1 จากฝรั่งเศสที่อยู่ยาวนานกว่า 60 ปี เข้ามาตีตลาดไทยกว่า 23 ปี เเล้ว เเละกำลังมีการเคลื่อนไหวเเบบยกเครื่องใหม่ ด้วยการ “รีแบรนดิ้งและทรานส์ฟอร์ม ครั้งใหญ่ คว้าโอกาสเทรนด์ “สวยรักษ์โลก” ให้คนไทยได้รู้จักความเป็น
เเบรนด์วีเเกน 100% ไปพร้อมๆ กับการขยายฐานลูกค้าไปสู่ “คนรุ่นใหม่” ผ่านเเพลตฟอร์มดิจิทัล

ตลาดความงามไทย ปีนี้ “ไม่โต” 

Yves Rocher เป็นเเบรนด์ที่ทำตลาดทั้งระดับเเมสเเละเฉพาะกลุ่ม มีสาขาทั้งเเบบเคาน์เตอร์เเละสเเตนด์อโลน มีไลน์สินค้าทั้งกลุ่มสกินเเคร์, กลุ่ม Hair Hygiene ดูเเลเส้นผม, เครื่องสำอาง (เมคอัพ) เเละน้ำหอม ซึ่งการที่มีสาขากว่า 120 เเห่งในไทยนั้น ก็ได้รับผลกระทบหนัก เมื่อต้องปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์ 

วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด อีฟ โรเช่ (ประเทศไทย) เล่าว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าที่ “ติดลบ” มากที่สุดคือ เครื่องสำอาง ที่ยอดขายลดลงไปถึง 40% เเละในตลาดโลกก็ติดลบ 30% จากปกติที่กลุ่มเมคอัพจะโตทุกปีราว 9-10% ส่วน น้ำหอม ยอดขายลดลง 10% เพราะลูกค้ามองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงที่ไม่ได้ออกจากบ้าน

“เคาน์เตอร์เเบรนด์ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนลักชัวรีเเบรนด์ เพราะพึ่งพาลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยว ของเราบางสาขาที่อิงลูกค้าต่างชาติอย่าง เซ็นทรัลเวิลด์เเละไอคอนสยาม ก็จะโดนผลกระทบเยอะ”

เมื่อก่อนคนซื้อลิปสติกตามอารมณ์ เเต่ตอนนี้คิดเยอะขึ้น ลูกค้าถามตัวเองมากขึ้นว่า จำเป็นต้องใช้หรือไม่ กลายเป็นซื้อตามเหตุผลมากขึ้น

ส่วนตลาดที่เติบโตขึ้นเเบบไม่คาดคิดเลยคือ กลุ่มสินค้า Hair Hygiene เพราะที่ผ่านมาอยู่ในจุด “อิ่มตัว” ไปเเล้ว บางปีโตเเค่ 1-2% หรือติดลบด้วยซ้ำไป เเต่พอมี COVID-19 เข้ามา สินค้ากลุ่มนี้กลับเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองว่าจำเป็นเพราะต้องการดูเเลรักษาความสะอาดร่างกายมากขึ้น โดยตลาดรวมของ Hair Hygiene โตขึ้นมากถึง 9-10%

หลังจากที่ Yves Rocher เริ่มบุกตลาดดูเเลเส้นผมมาตั้งเเต่ปีที่เเล้ว บวกกับอานิสงส์โรคระบาด ก็ถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่ “โตเร็วที่สุด” ของเเบรนด์ประมาณ 54%

ตอนนี้ถ้าพูดถึงสินค้าของ Yves Rocher ส่วนที่เป็นกลุ่มเเฮร์ ตอนนี้ดังที่สุดเเล้ว รวมถึงสินค้าประเภทครีม
อาบน้ำเเละการทำความสะอาด ก็มีเเนวโน้มการเติบโตที่ดีมาก ดีมานด์เยอะ เเละมองว่าจะเป็นไปเรื่อยๆ เเม้จะผ่านวิกฤต COVID-19 ไปเเล้วก็ตาม

ส่วน “สกินเเคร์” ซึ่งเป็นสินค้าหลักของ Yves Rocher ได้รับผลกระทบพอสมควร ติดลบไป 30% เเต่ไม่ได้ลดลงด้วยเหตุผลเดียวกับเมคอัพเเละน้ำหอม เนื่องจากลดลงเพราะผู้คนไม่ได้ออกไปช้อปปิ้ง “มีดีมานด์อยู่เเต่ไม่มีโอกาสซื้อ” เเม้จะมีช่องทางขายออนไลน์ เเต่ยอดขายก็ไม่เท่าในร้านที่ลูกค้าอาจจะหยิบซื้อสินค้าอื่นๆ เพิ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ

กลุ่มสกินเเคร์ ติดลบในช่วงล็อกดาวน์ เเต่เป็นกลุ่มที่กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะกลับมาเป็นบวก เพราะพอเปิดสาขาได้เเล้ว คนก็เเห่มาซื้อเหมือนเดิม ยิ่งเมื่อคนต้องใส่หน้ากากกันอยู่ การซื้อเมคอัพก็ยังน้อยลง เเต่มาให้ความสำคัญกับการบำรุงผิวมากขึ้น

ผู้บริหาร Yves Rocher คาดว่าทั้งปี 2020 ตลาดบิวตี้ไทยโดยรวมน่าจะติดลบหรือทรงตัว ดีที่สุดคือบวก 1-2% กลุ่มเครื่องสำอางยังไม่น่าจะกลับมา เพราะเมื่อกลุ่มลิปสติกร่วง กลุ่มอื่นก็ร่วง คนจะเน้นไปที่การเเต่งตามากกว่า เเต่เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยทุกบริษัทความงามตอนนี้ กำลังหานวัตกรรมเครื่องสำอางใหม่ๆ ที่เข้ากับ New Normal ทาเเล้วไม่เลอะหน้ากาก เเต่ตอนนี้ยังไม่มีวางขาย จึงมองว่าตลาดความงามทั้งปีนี้น่าจะติดลบ

ส่วนปีหน้ายังมองด้วยความหวัง เเม้จะยังคาดเดายากเเต่ตลาดนี้อย่างไรผู้หญิงก็ไม่หยุดสวย ต้องกลับมาเเน่นอน เเต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อคนไทยเดินห้างลดลง หลังคลายล็อกดาวน์มาราว 3 เดือนกว่า พบว่า ทราฟฟิกของลูกค้าที่กลับมาช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้ามีเเค่ 50% ยังไม่รวมส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป จึงเป็นจุดที่ฉุดให้ตลาดบิวตี้ยังฟื้นตัวยาก เพราะยังพึ่งพาตลาดออฟไลน์เยอะ เพราะบางสินค้าจุดขายมันอยู่ที่การได้ลองไม่ว่าออนไลน์จะโตขนาดไหน ณ ขณะนี้

“Yves Rocher จะเริ่มปรับตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เมื่อคนปรับจากซื้อโดยใช้อารมณ์ เป็นใช้เหตุผลมากขึ้น หน้าที่ของเเบรนด์ จึงกลายเป็นการหาเหตุผลให้ลูกค้าว่าทำไมต้องซื้อสิ่งนี้

โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 นี้ Yves Rocher มีเเผนจะผลักดันกลุ่มที่เติบโตไวอย่างHair Hygiene” ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เเละจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา พร้อมโปรโมตเรื่องการดูเเลความสะอาดไม่ให้กระเเสหายไป เเละจะเน้นไปที่การบุกตลาดสกินเเคร์ ตามเเนวโน้มตลาดที่ฟื้นตัว

รักษ์โลก…ให้คนรู้ Yves Rocher ขอรีเเบรนด์ใหญ่ รอบ 60 ปี 

อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ลูกค้าเริ่มใส่ใจว่าอะไรอยู่ในขวด มาจากไหน อะไรบ้าง ทำให้ต้องซื้อเเบรนด์ที่เชื่อใจได้ เป็นโอกาสของเเบรนด์ Yves Rocher ที่จะชูจุดเเข็งของเเบรนด์ที่มีความเป็นมากว่า 60 ปี เป็นแบรนด์ความงามอันดับ 1 จากฝรั่งเศสเเละมีชื่อเสียงในยุโรป มาเจาะใจตลาดคนไทยให้รู้จักกันมากขึ้น

เเม้ Yves Rocher จะเปิดในไทยมากว่า 23 ปีเเล้วเเต่ก็ยังไม่เเมสมากนัก ถึงคราวที่เเบรนด์จะรีแบรนดิ้งและทรานส์ฟอร์ม ครั้งใหญ่ ปรับตัว ปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ดึงดูดและสร้างการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

เดิมที Yves Rocher มุ่งเน้นตลาดไปยังลูกค้า Loyalty ที่ใช้แบรนด์ต่อเนื่อง โดยกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 300,000 คน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี เเต่การรีเเบรนด์ครั้งนี้ จะขยายกลุ่มลูกค้าไปยังวัยทำงานรุ่นใหม่ ที่มีอายุเฉลี่ยที่ประมาณ 25-31 ปี ซึ่งมีเเนวโน้มมาใช้สินค้ามากขึ้น หลังเเบรนด์เริ่มบุกทำการตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง

“Yves Rocher เป็นเเบรนด์วีเเกน 100% เป็นเรื่องราวของเเบรนด์ที่อยากให้คนรับรู้เเละเข้าถึงมากขึ้น ตอกย้ำจุดยืนแบรนด์รักษ์โลก โดยมีการปฏิรูปการออกแบบบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิด Eco Design มานานหลายปีมาแล้ว ตอนนี้เราจึงผลิตขวดพลาสติกที่ใช้รีไซเคิลต่อได้ 100% ทำให้ลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 35 ตันต่อปี 

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 เป็นต้นไป ขวดที่ผลิตออกมาจากโรงงานของ Yves Rocher จะเป็นพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ 100% ซึ่งกำลังจะทยอยวางจำหน่ายที่หน้าร้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มทุกชั้นในทุกไลน์ผลิตภัณฑ์ โดยที่ผ่านมา Yves Rocher ผลิตขวดพลาสติกมากถึง 135 ล้านขวดต่อปี

นอกจากนี้ การรีเเบรนด์ของ Yves Rocher จะครอบคลุมไปถึงการปรับ Mood & Tone ของผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์โฆษณาต่างๆ ให้มีสีสันสดใสขึ้น เเต่ยังคงเน้นความเป็นธรรมชาติ ป่าเเละมหาสมุทร ที่ได้แรงบันดาลใจจากบ้านเกิดของแบรนด์ ที่เมืองลา กาซิลี แคว้นบริตทานี ฝรั่งเศส เป็นการแสดงความหมายของ ธรรมชาติแบบโมเดิร์นขึ้น และมีความแอคทีฟ เพื่อสื่อถึงความเป็น “ Activistมากยิ่งขึ้น

“เราลดการใช้สารต่างๆ ในสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ลด Carbon Footprint จากโรงงานผลิตให้มากขึ้นทุกปี ที่ทำได้ก็เพราะ Yves Rocher ไม่มีตัวกลางในสายการผลิต เราปลูกเอง วิจัยเอง ผลิตเอง”

สำหรับเเคมเปญ ‘สวยโลกไม่เสีย’ จะมีการต่อยอดไปในปีต่อๆ ไป อย่าง การเปิดบริการ “รีฟิล” เติมสินค้าที่ร้านให้ใช้บรรจุภัณฑ์ให้ใช้ซ้ำได้ การใช้ Cardboard Box รุ่นใหม่ ที่เป็น Recycle Paper ซึ่งมาจาก Sustainability Forest รวมถึงป้ายต่างๆ ในร้านที่จะเอาพลาสติกออกทั้งหมด เป็นต้น

ลดสาขา มุ่งทำตลาดดิจิทัล 

ผู้บริหาร Yves Rocher ย้ำว่า การรีแบรนด์ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลโก้หรือเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง แต่เป็นการเปลี่ยนทั้งแนวคิดและแนวทางการทำธุรกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล

โดยช่วงต้นปีมีการเปลี่ยน “ทีมงานใหม่” เเทบจะยกชุด เพื่อปรับรูปแบบขึ้นมาสื่อสารบนออนไลน์มากขึ้น ขยายทีมงาน โดยเฉพาะในสายงาน Digital Marketing ที่เป็น คนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ตามกลยุทธ์บุกตลาดดิจิทัลจริงจัง

ทั้งนี้ การนำผลิตภัณฑ์ในพอร์ตของ Yves Rocher ทำตลาดชิงรุกในช่องทางขายใน E-Marketplace อย่าง Lazada (60%) Shopee (33%) และ Konvy (7%) ทำให้แบรนด์มีอัตราการเติบโตยอดขายในช่องทางออนไลน์สูงถึง 357%

เเผนต่อไปหลักๆ คือ Digitalized Omni-Channel เชื่อมโยงออฟไลน์-ออนไลน์ ที่ได้เริ่มทำมาตั้งแต่หลัง COVID-19 เช่น โปรแกรมที่กำลังจะเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างการขายด้วยรูปแบบโซเชียลเซลลิ่ง (Social Selling) ที่จะสามารถเพิ่มรายได้เสริมจากการแชร์ข้อมูลสินค้าไปบน Social Media Platform
ของสมาชิก

ขณะที่กลยุทธ์ด้านสาขานั้น ปัจจุบันมีหน้าร้านราว 120 สาขา แต่ในปีนี้จะปรับลดเหลือ 88 สาขา โดยเลือกปิดสาขาที่ทำเลไม่ตรงกับตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ โดยบริษัทวางเป้ารายได้เติบโตคงที่เท่าปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน่าพอใจเเล้วในสถานการณ์นี้

“เราตั้งเป้าจะเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อีกราว 1 เเสนคน ก่อนสิ้นปี 2020 ด้วยกลยุทธ์ Omni-Channel และ CRM หวังว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ช่วยผลักดันฐานรายได้ เเละหวังว่ายอดขายเติบโตเท่าตัวได้ภายใน 3 ปี คาดว่ายอดขายปี 2021 จะโตขึ้น 7% โดยแบ่งเป็นตลาดออนไลน์ 40% ตลาดออฟไลน์ 60%” 

นอกจากนี้ แบรนด์ยังเตรียมทำการตลาดผ่าน “พรีเซ็นเตอร์ใหม่” เพิ่มอีกถึง 2 คนในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในแบรนด์ ทั้งในแง่ของการพรีเซนต์สินค้าและการทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย 

ผู้บริหาร Yves Rocher ปิดท้ายด้วยมองความท้าทายในตลาดไทยว่า หลักๆ เป็นเรื่องการสร้างการรับรู้เเละการทำให้รู้จักของเรื่องราวเเบรนด์ให้มากขึ้น ส่วนความสามารถในการเเข่งขันนั้นมองว่า “สู้ได้สบาย”

โดยการที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจความสะอาด สุขภาพเเละสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่ “ยอมจ่ายเพื่อเเบรนด์ที่เป็นมิตรกับโลก” ซึ่งจะอยู่ต่อไปในอนาคต นับเป็น “โอกาสทอง” ของ Yves Rocher ที่มีจุดเเข็งเป็นแบรนด์ความงามที่แสดงจุดยืนอย่างเป็นรูปธรรมในฐานะของแบรนด์รักษ์โลกมายาวนาน 60 ปี เเละมีราคาที่เข้าถึงได้อยู่เเล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ คือ “ให้คนรู้จักความเป็น Yves Rocher มากขึ้น” นั่นเอง 

 

 

]]>
1300040