กรีน มาร์เก็ตติ้ง เทรนด์นี้ถ้าไม่มี เชย!

ถ้าองค์กรใดไม่มี CSR ด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเชย…คำพูดของนักการตลาดที่สะท้อนถึง เทรนด์องค์กรในยุคใหม่ที่ว่า หากคุณไม่มีกิจกรรมแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม ย่อมกลายเป็นองค์กรที่ไร้ความทันสมัย ขาดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม และดูเหมือนว่าเรื่องพลังสีเขียวที่เคยมองเป็นเรื่องเล็กๆ วันนี้ได้มีพลังอย่างมหาศาล ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นต่อองค์กรในทศวรรษใหม่ไปแล้ว

สัญลักษณ์แนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น โลโก้ใบไม้ ซึ่งหลายๆแบรนด์สินค้าดีไซน์ขึ้นมาใหม่, การผลิตถุงผ้าเพื่อรณรงค์ลดภาระการใช้ถุงพลาสติกของหลายๆธุรกิจบริการ หรือแม้แต่การสื่อสารการประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบของการ์ดเชิญ ที่นำเอาสีเขียวของต้นไม้ ใบไม้มาเป็นสื่อกลาง รวมทั้งการจัดอีเวนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีเห็นเกือบทุกเดือน ล้วนเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของรูปแบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาแรงอย่างมาก

“กรีน” กระแสที่สร้างกลยุทธ์ธุรกิจ

แม้ในเรื่องของกลยุทธ์ CSR จะมีรูปแบบหลากหลายที่แต่ละองค์กรพยายามหยิบยกมาใช้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกของธุรกิจยุคใหม่ คำว่า Green ดูจะหนักแน่นและมีน้ำหนักมากว่าประเด็นอื่นๆ ด้วยกระแสของโลกร้อน (Global Warming) ได้กลายเป็นกระแสของโลก ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ผ่านกิจกรรมอย่างเข้มข้น

CSR เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่นักกลยุทธ์ CSR เรียกกันว่า Green Marketing ได้กลายเป็นโจทย์ให้องค์กรขนาดใหญ่และเล็กต่างนำไปคิดและตีความออกมาในรูปแบบของกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บางองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถึงขนาดตั้งงบ และวางแผนในระยะยาวที่จะใช้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในการแบรนดิ้งองค์กร

ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์ บีอิ้ง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์ ได้วิเคราะห์เรื่องกระแส CSR เพื่อสิ่งแวดล้อม กับนิตยสาร POSITIONING ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับกระแสโลกร้อน และกลายเป็นเรื่องจำเป็นในการทำกลยุทธ์ CSR ไปแล้วสำหรับทุกๆ องค์กร และเชื่อว่าจะเข้มข้นอย่างมากในปี 2551 เนื่องจากจะหลายองค์กรจะนำมาใช้มากขึ้น

องค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งอยู่ในตลาดหุ้น ถือเป็นนโยบายสำคัญ หรือข้อบังคับของหลักธรรมาภิบาลองค์กร ซึ่งต้องตั้งงบ และดำเนินการด้าน CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และต่อเนื่องในระยะยาว เพราะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม นับเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของกระแสโลก

ที่ผ่านมาหลายองค์กร ได้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างน่าสนใจ ในรูปแบบกลยุทธ์แบบ “กรีนพีอาร์” ผ่านการสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ค่ายรถยนต์โตโยต้า ออกแบบโลโก้ใบไม้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการรับรู้ว่า โตโยต้าได้ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาถึง 60 โครงการแล้ว หรือ การผลิตถุงผ้าเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกค้า อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นตัวอย่างของการใช้เรื่องกรีน มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำพีอาร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร

ขณะที่องค์กรซึ่งไม่เคยนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้เลยในการทำตลาดเมืองไทย อย่างค่ายรถยนต์วอลโว่ ก็นำเรื่องกรีนมาเป็นจุดขายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2007 ที่ผ่านมา โดยนำรถวอลโว่ S 60 E 85 รถแข่งคันแรกที่วิ่งด้วยเครื่องยนต์ไบโอเอทานอล E 85 (ใช้เบนซิน 15% เอทานอล 85%) ซึ่งสามารถคว้ารางวัล ได้สนามแข่งขันที่ประเทศสวีเดนมาเป็นกลยุทธ์กรีนพีอาร์ให้เห็นว่า วอลโว่ เป็นค่ายรถที่เอาจริงเอาจังกับการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

เรื่องของหลักการทำ CSR ต้องไม่หวังผลทางกำไร แต่ผลที่ได้รับมาปฏิเสธไม่ได้ว่า หากองค์กรใดทำจริงจังและต่อเนื่อง ในระยาวจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ดังเช่น ค่ายรถยนต์ฮอนด้า ได้กล่าวไว้ว่า คนสหรัฐฯ ตัดสินใจซื้อรถฮอนด้า ประมาณ 50 % ของการตัดสินใจ เพราะผลของ CSR ของฮอนด้า

กิจกรรมสีเขียวต้องอิงกับธุรกิจตัวเอง

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งทำโครงการเรื่อง CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวอย่างสนใจว่า ปัจจุบัน CSR เป็นข้อบังคับสำคัญของธรรมาภิบาลองค์กร ที่คณะกรรมการผู้ถือหุ้นทุกคน ต้องมีการประชุมและดำเนินการขึ้น จัดตั้งเป็นงบประมาณ เพื่อจัดทำโครงการ หากแต่องค์กรจะเน้นเรื่อง CSR ลักษณะใดต้องมีการคิดและหารูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับองค์กรนั้นๆ

CSR เรื่องโลกร้อน เป็นเทรนด์ที่จำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีจะทำให้องค์กรนั้นๆ ตกยุค ไม่ทันกระแส อย่าง สยามพิวรรธน์ ทำธุรกิจศูนย์การค้า กิจกรรมที่ทำได้ คือ กิจกรรมเรื่องของการประหยัดพลังงาน ลดใช้ไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในองค์กร ซึ่งตั้งเป้าหมายในหนึ่งปีให้ลดลง 7-10% ขณะที่กิจกรรมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเรื่องการตกแต่งศูนย์การค้า เช่น นำวัสดุเหลือใช้ อย่างคูเลอร์น้ำ มาตกแต่งเป็นต้นคริสต์มาส

“การทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องให้เหมาะสมกับธุรกิจ จะให้คนทำศูนย์การค้าไปปลูกป่าชายเลนคงไม่เหมาะ ต้องทำกิจกรรมที่อิงกับศูนย์การค้า จึงนำเรื่องการประหยัดพลังงานมาเป็นจุดขาย”

ตัวอย่างขององค์กรด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่าง “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านทำคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ได้เปิดตัวโครงการ “Green Forward” หรือส่งไอเดียง่ายๆ เพื่อคลายโลกร้อน เป็นกิจกรรม CSR อย่างหนึ่งที่มีภาพสะท้อนอย่างชัดว่า ธุรกิจที่อิงกับสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี CSR สีเขียว เพื่อผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีจิตสำนึกที่ดี

เมธา แจ่มจำรัส ประธานอำนวยการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ข้อคิดเรื่องนี้อย่างสนใจว่า CSR เพื่อโลกสีเขียว ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เกิดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กิจกรรมโลกสีเขียวถูกหยิบขึ้นมาเป็นกระแสใหม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโลกร้อน ทำให้องค์กรต่างๆพยายามสร้างโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้องค์กรมีความทันสมัย ไม่ตกเทรนด์

“Green Forward” เป็นโครงการง่ายๆ ของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ โดยเริ่มจากให้พนักงานในองค์กรส่งไอเดียเรื่องโลกร้อน และรวบรวมส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ลูกค้า และองค์กรอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างภาพลักษณ์ต่อองค์กรที่ดีแล้ว ยังถือเป็นมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้ว่า โครงการภายใต้แบรนด์ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

“โครงการนี้ ได้ร่วมมือกับองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น มูลนิธิโลกสีเขียว ปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นการสร้างผลในระยะยาวให้เกิดความยั่งยืน เป็นรูปแบบ CSR ที่ตอบโจทย์ได้ดีว่า เราไม่ได้ทำแบบฉาบฉวย แต่ให้เกิดผลในระยะยาว”

กรีนดีไซน์ ดีไซเนอร์ก็พลาดไม่ได้

ไม่ใช่แค่โลกธุรกิจอย่างเดียว แนวคิดกรีน ก็ได้กลายเป็นเทรนด์สำหรับโลกของดีไซเนอร์ ซึ่ง ชลิตา ปรีชาวิทยากุล เจ้าของร้านเสื้อแบรนด์ Senada ให้ความเห็นว่า เรื่องของกรีน ได้เป็นโจทย์ให้ดีไซเนอร์ทั้งไทยและทั่วโลกนำไปตีความในการออกแบบเสื้อผ้า เพื่อช่วยรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน และแฟชั่นนี้กำลังขายดิบขายดีไปทั่วโลก

“มันไม่ใช่แค่แฟชั่น ชั่วครู่ชั่วยาม แต่เป็นกระแสแฟชั่นในระยะยาวที่ถ้าคุณไปในต่างประเทศ คุณจะพบว่า ร้านเสื้อผ้าดีไซน์ดังๆ จะมีคอลเลกชั่นแฟชั่นเสื้อผ้าโลกร้อนเป็นส่วนหนึ่งของร้าน ขณะที่เมืองไทยได้เริ่มต้นขึ้นระยะหนึ่งแล้ว และปัจจุบันดีไซเนอร์ไทยกำลังคิดค้นแฟชั่นใหม่ในรูปแบบของกรีนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการผลิต ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการเลือกวัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มาถึงกระบวนการออกแบบ ตัดเย็บ”

ร้านเสื้อแบรนด์ Senada ถือเป็นร้านเสื้อผ้าระดับหรูแบรนด์หนึ่ง ที่นอกจากจะออกแบบเสื้อผ้าในลวดลายของสัตว์ป่า ธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรีนคอลเลกชั่น ยังออกแบบ ตกแต่งร้านในสยามเซ็นเตอร์ ให้บรรยากาศเที่ยวป่า ซึ่งถือเป็นคอลเลกชั่นที่เจ้าของร้านบอกว่า ทำให้ลูกค้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคกำลังสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

…นี่ถือเป็นภาพและตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า กรีนมาร์เก็ตติ้งที่เคยเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ปัจจุบันได้เป็นพลังมหาศาลในโลกของธุรกิจองค์กร ที่ใครไม่ทำถือว่า ตกยุค

ข้อสรุป ทำไม CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมจึงมาแรง!

ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์ บีอิ้ง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์ ได้ให้ข้อสรุปเรื่อง CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างสนใจ ว่า
1.CSR ด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับองค์กร ถ้าองค์กรไหนทำเรื่อง CSR แล้วไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือว่าตกยุค ตกสมัย
2.การสร้าง CSR แท้หรือเทียม ต้องดูที่ความตั้งใจขององค์กรนั้นๆ ถ้าเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ก็ถือว่าเป็น CSR แท้ แต่ถ้าทำในระยะสั้นเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี ควรเรียกว่าเป็นโครงการพิเศษมากกว่าที่บอกว่าองค์กรแห่งนี้ทำ CSR
3.รูปแบบ CSR ที่ได้ผลดี ต้องร่วมมือกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้รูปแบบกิจกรรมที่ยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย
4.ลักษณะ CSR ที่ดีต้องไม่หวังผลในรูปแบบของกำไร หรือรายได้ แต่จะได้ผลทางอ้อมต่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
5.กิจกรรม CSR เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ต้องสอดคล้องกับการทำธุรกิจขององค์กรในแต่ละแห่ง เพื่อจะได้ภาพลักษณ์ต่อเนื่องถึงสินค้าและการบริการ