Think Retail ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ต้องมีหน้าร้านของตัวเอง

ยุคนี้กลายเป็นความจำเป็นไปแล้วที่ทุกธุรกิจจะต้องมีหน้าร้านของตัวเอง เพื่อขายสินค้า บริการ หรือแม้กระทั่งให้บริการกับลูกค้า ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจการเงิน หลักทรัพย์ บัตรเครดิต หรือตัวแทนบริษัทท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขัน ที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็นั่งรอลูกค้าอยู่เฉยๆ ไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องปรับตัวเองรุกเข้าหาลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งเลิกคิดว่าการมีหน้าร้านเป็นเรื่องของต้นทุน แต่ต้องมองว่านั่นคือโอกาสของการหารายได้ที่มากขึ้น

“ผมไม่คิดว่าวันนี้มีธุรกิจอะไรที่น่าตื่นเต้นเท่าธุรกิจรีเทล ขนาดธุรกิจธนาคารยังต้องเอาหลักของรีเทลบิสซิเนสไปบริหารงาน เพราะโลกทุกวันนี้เป็นโลกของปัญเจกชน รีเทลจึงกลายเป็น Back Bone ของธุรกิจหลักไปแล้ว” คำพูดของ Timothy Arrowsmith ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท Blue Marlin Brand Design Asia เป็นการย้ำถึงความสำเร็จของรีเทลได้อย่างดี

มุมมองของทิมมาจากฝั่งของผู้สร้างสรรค์แบรนด์ ซึ่งได้ผลรับจากรีเทลโดยตรง สอดคล้องกับความคิดของ ศิริกุล เลากัยกุล นักสร้างแบรนด์อีกคน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท The Brandbeing Consultant ก็มองความสำคัญของรีเทลไปในทิศทางเดียวกันว่า รีเทลเป็นเรื่องของการสร้าง Brand Expression มากกว่า Decoration เพื่อต่อยอดความเป็นแบรนด์

“จะเห็นว่ารีเทลไม่ได้ความเฉพาะหน้าร้าน แต่ไอเดียของรีเทลสามารถแสดงถึงช่องทางการค้าหรือบริการที่จะไปถึงผู้บริโภคโดยตรง เช่น การขายบริการของบริษัททัวร์ สามารถจัดบริการผ่านเว็บไซต์ ก็ทำให้เกิดรีเทลในรูปแบบของอินเตอร์แอคทีฟ หรือแม้กระทั่งร้านขายแฟชั่นเสื้อผ้า ก็สามารถพัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นร้านค้าออนไลน์ ด้วยการดีไซน์รูปแบบบนเว็บไซต์ให้ลูกค้าสามารถเลือกและทดลองเปลี่ยนเสื้อผ้าได้เหมือนเล่นเกม เหมือนที่แบรนด์ Uniqlo ของญี่ปุ่นทำบนเว็บของตัวเอง เป็นการเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้พัฒนาร้านค้าปลีกของตัวเองได้แม้กระทั่งบนออนไลน์” ทิมกล่าว

สำหรับใครที่คิดว่าอยากประหยัดต้นทุนเรื่องหน้าร้าน ก็ลองเริ่มต้นจากวิธีนี้ได้ แต่คงต้องมีการทำตลาดออนไลน์ควบคู่กันไปด้วยอีกนิด เพราะถ้าเกิดบนออนไลน์หากไม่มีการบอกกล่าวด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งร้านค้าที่ไม่เคยมีใครเห็นจะเป็นถูกค้นพบได้อย่างไร

ความสำคัญของรีเทล หากพัฒนาให้ดี สามารถพัฒนาไปสู่การเป็น Destination Brand หรือการเป็นร้านที่ทุกคนอยากหาโอกาสแวะไปเมื่อมีโอกาส เหมือนที่ทุกคนรู้สึกอยากไปสตาร์บัคส์เมื่ออยากหาที่นั่งพักนั่งคุย (มากกว่าอยากกินกาแฟ) หรือไป IKEA เพื่อดูดีไซน์เฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้านใหม่ๆ เก๋ๆ คอลเลกชั่นใหม่

ถ้าไม่เชื่อว่ามีความรู้สึกแบบนี้อยู่จริง ลองถามคนใกล้ตัวอาจจะมีใครสักคนที่ถึงขนาดอยากไปมาเลเซียเพื่อไปช้อปที่ร้านไอเกียที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงขั้นตอนเหล่านี้ นอกจากทำหน้าร้านให้ถูกใจ บริการต้องดี และยังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมาก ทุกองค์ประกอบต้องไปทางเดียวกัน ภาษาที่ใช้ ความเป็นแบรนด์ที่เห็นได้ชัดแม้ในพื้นที่เล็กๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้หนีไม่พ้นการเรียนรู้ วางแผน และประสบการณ์ เช่นเดียวกับที่บริโภคค้นหาจากแบรนด์หรือบริการนั่นๆ เช่นกัน

ทิมบอกว่า ความประทับใจแรกของรีเทลที่ผู้บริโภคสัมผัสได้ มักจะเริ่มต้นที่ Signess ของร้าน หรือ Window Display ฉะนั้นการตกแต่งร้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต่างกับการพัฒนาสินค้าและบริการในร้าน และเป็นเรื่องที่แบรนด์และนักการตลาดต้องสนใจมากกว่าปล่อยให้เป็นธุระของฝ่ายจัดวางสินค้าฝ่ายเดียว

“บางร้านสามารถเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ ได้โดยไม่ต้องใช้งบโฆษณาด้วยซ้ำ ดังนั้นการลงทุนที่ทำให้เกิดความประทับใจแรกจะคุ้มค่ามากสำหรับรีเทล ตัวอย่างเช่นร้านแบรนด์เนมชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น ดิออร์เท็กเจอร์ ที่โตเกียว ที่สร้างความสนใจได้แม้กระทั่งดีไซน์ของตัวอาคาร หรือตึกปราด้า ที่โตเกียว ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่แพ้กัน”

กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นคนหนึ่งที่ตอบรับแนวคิดนี้เป็นอย่างดี ทุกปีเขาจะต้องมีการอัพเดตไอเดียใหม่ๆ ให้กับร้านค้าย่อยในศูนย์ของเซ็นทรัลพัฒนา เพื่ออัพเดตถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพราะถ้าร้านค้าย่อยพัฒนาตามทันการเปลี่ยนแปลงเทรนด์และผู้บริโภค ผลประกอบการที่ดีของร้านค้าย่อยก็คือผลลัพธ์ที่น่าพอใจของผู้บริหารศูนย์อย่างเซ็นทรัลพัฒนาด้วยเช่นกัน

“รีเทลเริ่มหาจุดยืน หา Identity ของตัวเอง ผนวกแบรนด์เข้ามาในทุกๆ อย่าง ฉะนั้นเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และดีมานด์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เราเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าของเราซึ่งก็คือบรรดาร้านค้าย่อยในศูนย์ทั้งหมด”

ดังนั้นนอกจากจะปล่อยให้ร้านค้าย่อยพัฒนาตัวเองฝ่ายเดียว ผู้บริหารศูนย์รายนี้ก็ทุ่มเทกับการพัฒนาตกแต่งบรรยากาศของเซ็นทรัลเวิลด์อย่างต่อเนื่อง ทั้งบรรยากาศที่เห็นได้จากภายนอกและภายใน

กระตุ้นยอดขายผ่านรีเทล

ในกลุ่มสินค้าไอที การที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะหันมาเปิดรีเทลช้อปของตัวเอง ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยการคาดหวังถึงยอดขายที่สูงกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว เพราะต้องมั่นใจแล้วว่า สินค้าและบริการจะต้องมีเพียงพอที่จะซัพพอร์ตความรีเทลช้อปของตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้กินความหมายครอบคลุมถึงเรื่องของแบรนด์ และประสบการณ์ของลูกค้าที่จะได้รับเมื่อแวะมาที่ช้อป

จึงไม่ใช่แค่เฉพาะพันธุ์ทิพย์ที่เดียวอีกต่อไป ที่คุณจะได้รีเทลช้อปของแบรนด์ไอทีชั้นนำที่มีอยู่ แต่รีเทลช้อปเหล่านี้ กระจายไปอยู่ในทุกศูนย์การค้า ไม่ว่าจะเป็นห้างหรูอย่างสยามพารากอน ห้างเทรนดี้อย่างสยามสแควร์หรือดิสคัฟเวอรี่ หรือไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์อย่างเซ็นทรัลเวิลด์และเอสพละนาด

แต่กรณีที่สินค้าหรือบริการใดยังไม่พร้อมที่จะมีรีเทลช้อปถาวร เพราะอาจจะยังไม่มีแนวทางชัดเจน การชะลอไว้ก่อนแล้วทำเมื่อพร้อมก็จะดีต่อแบรนด์มากกว่า แต่ก็สามารถเปิดรีเทลช้อปเป็นครั้งคราวได้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ป๊อปอัพสโตร์ สตาร์บัคส์ที่เข้าไปเปิดในงานอีเวนต์ใหญ่ๆ หรือการจัดคอร์ปอเรทเซล ในรูปแบบเต็นท์ คานิวัล ก็เป็นรูปแบบที่ใช้กระตุ้นยอดขายและสร้างประสบการณ์แปลกสนุกให้กับลูกค้าได้เหมือนกัน งานนี้อยู่ที่ไอเดียจะสร้างสรรค์กันได้แค่ไหน

“บทบาทของรีเทลไม่ได้มีไว้แค่ขายสินค้า แต่ต้องทำให้เป็นแหล่งสะสมประสบการณ์ของลูกค้ากับแบรนด์ หรือการสร้างประสบการณ์ของแบรนด์กับลูกค้า เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จักแบรนด์ไหนอย่างจริงจังต้องหาโอกาสไปสัมผัสรีเทลช้อปของแบรนด์นั้น ความหมายใช้ได้ถึงระดับประเทศ ลองจินตนาการถึงการไปออกบูธของหน่วยงานราชการ คุณจะทำอย่างไรให้คนที่แวะมาเห็นภาพการค้าหรือบริการที่คุณต้องการนำเสนอในบูธ บูธการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคงจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทุกครั้งที่ไปออกบูธจะต้องจำลองบรรยากาศและแบรนด์ดิ้งประเทศไทยว่ามีจุดเด่นที่ตรงไหนไปพร้อมๆ กัน ย้ำว่ารีเทลจะกลายเป็นหลักของทุกธุรกิจ” ทิมให้ประโยชน์เพิ่มเติมของรีเทลช้อป

ไฮไลต์รีเทลของธุรกิจการเงิน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่ทำให้ผู้บริโภคไทยเห็นความเป็นรีเทลชัดขึ้นที่สุด หนึ่งในนั้นคือธุรกิจธนาคาร ที่ต่างปรับตัวเป็นฝ่ายรุกเข้าหาผู้บริโภค โดยใช้ประโยชน์จากสาขาที่มีอยู่อย่างเต็มที่กว่าเดิม ที่ใช้เป็นเพียงจุดตั้งรับ ทุกธนาคารปรับโฉมและภาพลักษณ์ภายนอกและภายในสาขา เพื่อให้บริการที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และเวลาของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งเรื่องเวลาการเปิดปิด การเลือกทำเลเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการให้บริการที่เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็อาศัยสาขาต่อเติมความแข็งแกร่งเรื่องแบรนด์อย่างต่อเนื่อง

ทุกธนาคารจัดสีสัน โลโก้ และชื่อ ที่ใช้สีและสัญลักษณ์เดียวในทุกสาขา เพื่อเป็นการรีมายด์ผู้บริโภคในทุก ๆ จุดที่มองเห็น การเลือกใช้สาขาธนาคารในด้านนี้ ทำให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีตัวแทนสี ที่ผู้บริโภครู้จักและกลายเป็นไอคอนที่แข็งแกร่งของแบรนด์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งไอคอน

ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี เป็นธนาคารที่ประกาศตัวรุกอย่างชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้

“แนวคิดของเอสซีบี พอเราบอกว่ายุทธศาสตร์เราต้องการขยายไปทางรีเทลแบงกกิ้ง สิ่งแรกคือลูกค้า ถ้าจะทำรีเทล ลูกค้าสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะมาจากคอร์ปอเรท เอสเอ็มอี ทุกคนคือคนจ่ายเงินคนในแบงก์ เลยเข้าไปเปลี่ยนแง่มุมว่า ลูกค้าสำคัญกว่าพวกเรา สมัยก่อนคนแบงก์สำคัญกว่าลูกค้า แต่ดิฉันไม่เชื่อ ลูกค้าสำคัญที่สุด เราต้องเอาใจลูกค้า สอง-เมื่อเราอยู่ธุรกิจธนาคาร เราเป็นธุรกิจบริการไม่ใช่การเงินซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบ คนใช้เราต้องบริการให้ดีและถูกต้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละประเภท เป็นที่มาของการเปลี่ยนมุมมอง” กรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์ พูดถึงนโยบายด้านรีเทล

หน้าร้านพร้อมคนต้องพร้อม

“เดี๋ยวนี้ไม่พอแล้ว การเงิน หรือการตลาดอย่างเดียวไม่พอ เว้นแต่ทำหน้าที่เดียวไม่เจอใครเลย แต่วันนี้ทุกคนมีหน้าที่ต้องเจอลูกค้า เพื่อให้ได้ถึงใจลูกค้า ใครเก่งด้านเดียวไม่พอ ต้องเอาอย่างอื่นมาผสมด้วย สมัยนี้ถ้าคนแบงก์อุ้มคุณไปนั่งได้ก็จะทำแล้ว เพราะทุกบาทที่ลูกค้าเอามาให้อยากตอบแทนให้คุ้มทุกบาท”

กรรณิการ์ใช้ประสบการณ์จริงของตัวเองในการคิดงานบริการ ทดลองเข้าไปใช้บริการด้วยตัวเอง เพื่อหาว่าลูกค้าทั่วไปมีปัญหาติดขัดตรงไหน แล้วนำมาบอกให้พนักงานแก้ไข หรือคิดเป็นบริการที่จะทำให้ลูกค้า

“ดิฉันชอบลอง เลขาฯจะเอาเช็กเข้าให้บอกไม่ต้องจะทำเอง เข้าไปแล้วงงเลย พนักงานบอกว่าแบบฟอร์มอยู่ตรงไหนก็หาไม่เจอ เจอแล้วก็กรอกยาก เพราะคนไม่ได้ทำบ่อยๆ เลยเป็นที่มาว่าต้องเอาคนแบงก์มาช่วยบริการทำให้ลูกค้า เพราะเขาอยู่กับงานแบบนี้ทุกวันคุ้นเคยและเข้าใจ แล้วลูกค้าก็รู้สึกดีขึ้น”

นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า หน้าร้านดีแค่ไหน ถ้าเข้ามาแล้วลูกค้าไม่ประทับใจ ทุกสิ่งที่ทำไปก็อาจจะสูญเปล่าได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำต้องพร้อมทั้งร้านทั้งคน

Retail Big Idea from A to Z

ไอเดียของการพัฒนารีเทล สำหรับธุรกิจที่กำลังมอง ลองดูไอเดียที่ Timothy Arrowsmith ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ บริษัท Blue Marlin Brand Design Asia และ ศิริกุล เลากัยกุล Founder & Principle Consultant, The Brandbeing Consultant สรุปไว้ สามารถนำไปเป็นคู่มือในการพัฒนารีเทลต่างๆ ได้ดีมากๆ บางไอเดียอาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งคู่ก็ยืนยันว่า การพัฒนารีเทล ไม่จำเป็นต้อง Big Change เสมอไป บางครั้งแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เกิดความสดใหม่ได้เช่นกัน

Arts with retail
ศิลปะสามารถเข้าไปสอดแทรกได้ทุกพื้นที่ของรีเทล แม้กระทั่งผนังตึก แต่ต้องเป็นศิลปะที่สะท้อนจุดยืนของแบรนด์ หรือต่อยอดความเป็นแบรนด์ ไม่ใช่แค่การตกแต่ง ตัวอย่างเช่น การตกแต่งตึกปราด้าที่ Epicenter ในนิวยอร์ก

Brand Building
การตกแต่งร้านที่สะท้อนบุคลิกแบรนด์ก็เท่ากับเป็นการสร้างแบรนด์ไปในตัว เช่น ร้านอดิดาส ที่ตกแต่งด้วยการใช้ไอคอนหรือสัญลักษณ์ของเส้นสามเส้น มาเป็นตัวนำสายตาการตกแต่งในร้าน เป็นการเสริมสร้างแบรนด์ไอคอนที่แข็งแกร่งให้กับตัวเอง

Creativity with technology
การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแต่งร้านจะช่วยทำให้แบรนด์ดูทันสมัยขึ้นได้

Destination Brand
ทำให้ร้านของคุณเป็นร้านที่คุณนึกถึงและต้องแวะไป เหมือนคนต้องไป IKEA เพื่ออัพเดตเทรนด์ หรือสตาร์บัคส์ที่กลายเป็นสถานที่ที่คนนึกถึงรองจากบ้านและที่ทำงาน

Environmental Evangelists
ปัจจุบันทุกคนหันมาจับเรื่อง Green หรือไม่ก็ Eco Design การทำเรื่องเหล่านี้ให้ดีต้องมีคำมั่นสัญญาไม่ควรใช้เป็นเรื่องตามกระแส หรือทำให้เป็นแนวคิดทางธุรกิจ

Future is now
คล้ายกับการตกแต่งด้วยเทคโนโลยีแต่เน้นแสดงความล้ำสมัย ที่นิยมใช้กันมากคือกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะต้องการใช้รีเทลช้อปเป็นจุดโฆษณาแทนข้อห้ามในการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ถ้าใช้คอนเซ็ปต์นี้ต้องอย่าลืมคุมธีมให้ถึงแพ็กเก็จในร้านที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกัน

Great Design
ดีไซน์เป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน คนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว การดีไซน์ไม่ได้ขึ้นกับงบประมาณ แต่ต้องเลือกให้เหมาะกับแบรนด์ และอย่าลืมว่าทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไป

Hybrid Retail
Illy Coffee และเครื่องซักผ้าแอลจี เป็นตัวอย่างได้ดีในประเด็นนี้ รายแรกนำแกลเลอรี่มาไว้ในร้านกาแฟที่นิวยอร์ก ขณะที่หลายหลังติดตั้งเครื่องซักผ้าไว้ในคอฟฟี่ช็อป เป็นการคิดโจทย์จากไลฟ์สไตล์และได้พลังจากการทำ Co-branding อย่างน่าสนใจ

Interact @ Every level
เป็นอินโนเวทีฟในเรื่องการเสนอขาย เป็นการแก้ปัญหาให้กับสินค้าที่ความจริงอาจจะไม่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย (Personalize หรือ Customize) เต็มที่ แต่สามารถเลี่ยงมาปรับเปลี่ยนที่วิธีการนำเสนอได้

Journey’s first step
หมายถึงการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าตั้งแต่แรกเห็น การเป็นรีเทลไม่จำเป็นว่าต้องเน้นที่สินค้าอย่างเดียว การลงทุนตกแต่งหน้าร้านก็เป็นเรื่องสำคัญ รีเทลบางแห่งให้หน้าร้านเป็นตัวบอกเทรนด์ใหม่ คอลเลกชั่นใหม่ ซึ่งทำให้ประหยัดงบโฆษณา

Keep it real
ถ้าจะทำรีเทลให้สะท้อนแบรนด์ ต้องแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ออกมา เช่น ร้านมูจิ ซึ่งแสดงทุกอย่างด้วยความเรียบง่ายเสมอ จนความเรียบง่ายที่รักษาไว้กลายเป็นความยิ่งใหญ่ของมูจิในทุกวันนี้

Little Things Matter
ประเด็นนี้คือการเตือนให้ทุกคนอย่าละเลยเรื่องเล็กๆ เพราะบางครั้งอะไรที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก็สามารถหยิบมาขยายเป็นบิ๊กไอเดียได้ สำคัญว่าหยิบมาใช้ได้ถูกไหม

Massclusively
กลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยให้สินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายจำกัดขยายฐานได้มากขึ้น เหมือนที่แบรนด์เสื้อผ้า H&M ให้มาดอนน่ามาดีไซน์เสื้อผ้าทำเป็นซับแบรนด์ นอกจากได้ลูกค้าใหม่ก็ไม่ทำให้เสียงภาพลักษณ์ของแบรนด์เดิม ยังขยายลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น

New New New
การขยายไปทำธุรกิจที่ไม่มีใครคิดทำมาก่อน เช่น ร้านอาหารแทนที่จะขายอาหารก็มาขายแฟชั่นอาหาร บริการเช่าใช้สินแบรนด์เนม ในเมืองไทยคนที่ใช้กลยุทธ์นี้ล่าสุดที่เห็นชัดก็คือซิงเกอร์ที่ประกาศทำธุรกิจให้เช่าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้ทดลองมีประสบการณ์กับแบรนด์ก่อนจะเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้ด้วย

Open for a moment
บางคนเรียกว่าป๊อปอัพรีเทล เป็นร้านชั่วคราวที่เปิดขึ้นในทำเลต่างๆ เพราะรีเทลบางครั้งรอผู้ซื้อมาไม่ได้ ต้องเข้าไปหาผู้ซื้อ ใช้ได้ดีกรณีกระตุ้นยอดขาย

Pure Indulgence
ไอเดียสำหรับพวกแฟนพันธุ์แท้ เช่น คนชอบช็อกโกแลตก็มีร้านที่ขายแต่ช็อกโกแลต เป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ ได้ แบบนี้เห็นได้มากในญี่ปุ่น มีทั้งศูนย์รวมขายราเมน เค้ก หรือเมืองของเล่น

Queer Eye
ตลาดที่เมื่อก่อนหลายคนไม่กล้าเล่น แต่ความที่กลุ่มเกย์เป็นตลาดใหญ่ขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีรสนิยม มีความก้าวหน้า ชอบของเทรนดี้ ทำให้หลายแบรนด์กล้าบอกโพสิชั่นของแบรนด์ชัดขึ้น เช่น ฌองพอลโกธิเย่บอกเลยว่าเป็นเซ็กเมนต์ของเกย์ เป็นต้น

Reclaim the past
ตัวอย่าง Nike Vintage รถยนต์มินิ และอดิดาส ซึ่งนอกจากจะใช้สัญลักษณ์ขีดสามขีด ยังนำสัญลักษณ์ดอกไม้สามกลีบในยุคแรกกลับมาใช้ควบคู่กันด้วย เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบให้หวนระลึกถึงอดีต ทำของรุ่นเชยๆ ให้กลายเป็นของแพง หายาก เหมาะกับแบรนด์ที่มีมานาน มีประวัติศาสตร์ หรือแบรนด์ไหนเริ่มรู้สึกเก่า ก็สามารถปรับเอาความเก่ามาทำให้คลาสสิกหรือกลายเป็นเทรนดี้เสียเลย

Showroom Store
ร้านประเภทที่ ถ้าลูกค้าอยากรู้ว่าประสบการณ์ของแบรนด์นั้นเป็นอย่างไรต้องมาที่ร้านนั้นเท่านั้น

Talk it up!
การสร้างแบรนด์ขึ้นกับภาษาที่ใช้ วิธีเลือกคำ โทนของภาษา วิธีการพูด เพื่อแสดงความเป็นแบรนด์ และเป็นภาษาเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย

Urban Adaptation
การสร้างรีเทลช้อป แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ก็ต้องสามารถทำร้านให้พรีเซนต์ตัวเองได้ด้วย ตัวอย่างเช่น iStudio ของแอปเปิล ไม่ว่าเห็นที่ไหนใหญ่หรือเล็กอย่างไรก็สะท้อนบุคลิกแบรนด์ชัดเจน

Virtual World
ผลจากการเติบโตของโลกอินเทอร์เน็ต การสร้างรีเทลช้อปปิ้งผ่านเวอร์ช่วลเวิลด์จึงกลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ จะสำเร็จต้องใส่ Retail Thinking ลงไปอย่างกลมกลืน

What the…
ทำให้เกิดการคาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดหวัง เช่น สร้างทางเข้าที่น่าตื่นเต้น กรณีนี้ไม่มีคอนเซ็ปต์ตายตัว แต่ต้องทำให้ได้อารมณ์ชนิดเห็นแล้วอุทานได้ว่า อะไรน่ะ หรือ คิดได้ไง ตัวอย่างที่เริ่มเห็นในร้านขายเสื้อผ้าบ้านเรา ก็เช่นการแขวนสินค้าที่ต่างไปจากรูปแบบปกติ เช่น วางสินค้ากลับตัว โชว์รถแบบแยกชิ้นส่วน เป็นครีเอทีฟแบบ รีมาร์เกเบิล เพื่อให้คิดไม่ถึง

Xtream
เหมาะกับกลุ่มที่เป็น Luxury Customer เพราะส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะรู้สึกว่าอะไรที่เป็นวัตถุมีหมดแล้ว แต่จะใช้เงินซื้อประสบการณ์ เช่น การซื้อทัวร์อวกาศ ยอมจ่ายกับอะไรที่เป็นเอ็กซ์ตรีม โรงแรมน้ำแข็ง หรือเป็นสินค้าประเภทยอมจ่ายเพื่อขอลองสักครั้ง

Gen : Y
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบมองหานวัตกรรมที่มีความหมาย คีย์สำหรับคนกลุ่มนี้การนำเสนอจะต้องมีความหมายกับตัวเขา แค่รู้สึกแปลกไม่พอ ต้องช่วยประหยัดเวลา เพราะคนกลุ่มนี้คิดว่าความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่เขามีเวลาให้กับสิ่งที่สนใจมากแค่ไหน

Gen : Z
ณ วันนี้ยังไม่มีทิศทางแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน ที่พอจะมองเห็นได้ไม่กี่ปัจจัย ได้แก่ โลกทั้งโลกของคนกลุ่มนี้เกิดในมือถือ ซึ่งอาจจะทำให้เรื่องอื่นๆ เช่น การช้อปปิ้งก็อาจจะเกิดขึ้นบนมือถือ เป็นรุ่นที่เปลี่ยนจากอนาล็อกโหมดมาเป็นดิจิตอล เพราะฉะนั้นใครที่ประกอบธุรกิจยุคนี้ก็ไม่ควรพลาดที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าคนกลุ่มนี้จะไปในทิศทางใด เพราะเขาคือหนึ่งในกลุ่มของผู้บริโภคยุคที่คุณต้องเจอและเป็นผู้อำนาจซื้อในรุ่นต่อไปในอีกไม่นานนี้