ภายในงานสัมมนา “START UP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” จัดโดย positioningmag.com และองค์กรพันธมิตร ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จากการไปประชุมร่วมกับสถาบันระดับโลก Global Entrepreneurship Network (GEN) ทำให้เห็นเลยว่า สตาร์ทอัพของไทยไม่ได้ล้าหลัง เริ่มทำได้ดีพอสมสมควร และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกต่อไป
ก่อนอื่น ต้องดูเรื่องของ “ดิจิทัล ไทยแลนด์” เพื่อเป็นโจทย์ให้ “สตาร์ทอัพ” ของไทยไปคิดต่อ และทำให้เกิดธุรกิจได้จริง ต้องมาจาก 5 ด้าน เพราะเป็นตัวสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ดิจิทัล”
ด้านแรก ดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ ปัจจุบันคนไทยใช้มือถือเกิน 150% ไปแล้ว เฉลี่ย 1.5 เครื่องต่อคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ดีมาก ส่วนอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อยู่ที่ 70% แล้ว จาก 2-3 ปีที่แล้วแค่ 30% เท่านั้น ถือว่าเติบโตเร็วมาก
สำหรับการเข้าถึงบรอดแบนด์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการนำเนื้อหาไปสู่ประชาชน การจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ หลักการ คือ ต้องมีให้ใช้ ต้องเข้าถึงได้ และสามารถจ่ายได้
จากข้อมูลในประเทศไทยมีหมู่บ้าน อีก 50-60% ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะในทางเศรษฐกิจถือว่าไม่คุ้ม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงมีโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อมาอุดช่องว่าง วางเครือข่ายไปแล้ว 24,700 หมู่บ้าน ส่วนการเชื่อมต่อไปยังครัวเรือนก็เปิดให้เอกชนเข้ามาให้บริการในราคาที่ถูกลง ที่เหลือจำนวนอีก 25% จะสร้างบรอดแบนด์ให้ครบ
เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ต้องต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านโครงการ Point of Sale หรือ e-Commerce ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ทางไปรษณีย์ไทยขับเคลื่อน วันนี้กำลังทดสอบระบบไปแล้ว (อ่านประกอบ : สู้ศึกยักษ์ข้ามชาติ! กระทรวงดิจิทัล ดัน “ไปรษณีย์ไทย” หัวหอกยกระดับ “อีคอมเมิร์ซชุมชน” ครบวงจร)
นอกจากนี้มีโครงการที่กระทรวงดีอีได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ทำโครงการ Digital ID เพื่อเป็นแพลตฟอร์ม หรือการแสดงตัวตนในดิจิทัล ไอดี เพื่อให้มีการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งการค้า เศรษฐกิจ การเงิน เป็นไปอย่างลื่นไหล และมีประสิทธิภาพ
ตอนนี้ได้เริ่มสร้าง platform สำหรับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงโอกาสการพัฒนา ทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง โดยแบ่งออกเป็น 3 platforms ด้วยกัน ได้แก่
1. Thaicode.org ซึ่งเป็นห้องเรียนออนไลน์เพื่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) สำหรับนักเรียน เยาวชน ครูผู้สอน และบุคคลทั่วไป โดยมีเป้าหมาย จะพัฒนาครูให้ได้ 15,000 คนและพัฒนาเยาวชน 1,500,000 คนภายใน 3 ปี
2. DigitalMood.com เป็น platform การเรียนรู้ด้วยชุดความรู้ทักษะดิจิทัล สำหรับ digital professionals และ specialists ทั้งความรู้เฉพาะด้านดิจิทัลและทักษะ ความสามารถด้านสังคม (soft skill) เช่น ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายพัฒนา ให้ได้ 60,000 คน ภายใน 3 ปี
3. Thaiskills.com เป็น platform การเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับประชาชนทุกคน ผ่านชุดความรู้พัฒนาทักษะอาชีพ ที่เชื่อมหลักสูตรและเนื้อหาจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ไปสู่นักเรียน นิสิตนักศึกษา แรงงานในภาคการผลิต เกษตรกร ผู้ว่างงาน เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและเนื้อหาที่ตรงกับอาชีพและความต้องการปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายพัฒนา 5,000,000 คนภายใน 3 ปี
ในส่วนของ “การพัฒนาคน” สำคัญมาก ถือเป็น “เสาหลัก” ของการพัฒนา ดิจิทัล ต้องสร้างความเข้มแข็งของคนให้มีความรู้ความสามารถ และคุณภาพที่ตอบโจทย์สำหรับงาน โดยร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชน เพื่อมีเป้าหมายในการสร้างคนที่ชัดเจน ว่าจะสร้างบุคลากรในคลัสเตอร์ไหน เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันยุค ทันสมัย ซึ่งปีนี้เรามีเป้าจะสร้างคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลให้ได้ 1 ล้านคน
สำหรับ IoT Institute หรือสถาบันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต จะตั้งอยู่ใน Digital Park Thailand ซึ่งเป็นเมืองนวัตกรรม เขตเทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Economic Corridor หรือ EEC ของรัฐบาล โดย IoT Institute จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นด้านการส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรมในเทคโนโลยี IoT กับอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรม Automotive และ Manufacturing
นอกจากนี้ สถาบัน IoT ยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเกิด Business Matching ระหว่าง Digital Startup และ Industrial Player โดยภายในสถาบันฯ จะมี Test bed and laboratory สำหรับ IoT, Big Data, AI และ Robotics อีกด้วย
สำหรับการสร้าง Smart City ของประเทศไทย เราตั้งเป้าพัฒนา 7 เมืองอัจฉริยะ ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา City Data Platform สำหรับใช้เป็นคลังข้อมูลคุณภาพ ที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูล ในพื้นที่แบบ real time ผ่านโครงสร้างพื้นฐานหรืออุปกรณ์ดิจิทัลในเมืองโดยอัตโนมัติ เช่น กล้อง CCTV, Smart Pole, IoT Sensors และ Free WIFI เป็นต้น
การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ไม่ใช่แค่นโยบายที่สวยหรู แต่เราในฐานะรัฐ ซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน จึงกำหนดนโยบายการสร้าง Smart City ขึ้นมาเพื่อจะทำให้เกิด Big Data ขนาดใหญ่จากทั้งเมือง ผ่าน Digital Devices หรือ Applications ภายในเมือง ทั้งในด้านความปลอดภัย การจราจร การท่องเที่ยว การแพทย์ และการเกษตร สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างประโยชน์และเกิดผลดีต่อธุรกิจ
แม้ว่าเรากำลังพัฒนาเฉพาะ 7 เมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ แต่เราก็ไม่ลืมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเรายังคงเร่งขับเคลื่อนโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยจำนวน 75,000 หมู่บ้าน มีอินเทอร์เน็ตใช้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง โอกาสที่ประชาชนควรได้รับ เช่น โอกาสเข้าถึงความรู้ การศึกษา สาธารณสุขและบริการภาครัฐ
ด้านที่สาม เรื่อง ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ นอกจากจะมีกฎหมายมารองรับแล้ว จะมีการตั้งศูนย์ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้แห่งชาติ เวลานี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ได้ข้อสรุปในการหารือระดับเจ้าหน้าที่แล้ว ขั้นต่อไปจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
สุดท้ายเรื่องที่จะทำคือ Digital Government มีเรื่องให้ทำหลากหลาย แต่ในปีนี้จะเน้นในรื่องของ BIG DATA เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประสานไปทั้ง 19 กระทรวงเพื่อที่จะเซตระบบขึ้นมา ในส่วนนี้ สตาร์ทอัพสามารถเข้ามาได้เยอะมากพอสมควร บางส่วนสามารถเปิดเผยเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ แต่บางส่วนที่เปิดเผยไม่ได้ก็จะต้องปกป้องไว้ให้ดี
หากพูดถึง Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยในช่วง 2-3 ปีนี้นับว่า สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้เวลาก่อสร้างร่างตัวภายในระยะเวลาเพียงเท่านี้ ถือว่าก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร เรามีสตาร์ทอัพที่มีจุดเน้นในหลายๆ อย่าง
จากข้อมูลจะพบว่าตั้งแต่ปี 2555 จนถึง ปี 2560 สังคมแห่งสตาร์ทอัพของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปี 2555 ประเทศไทยมี Startup ที่ได้รับเงินทุนเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น มี Venter Capital หรือ VC แค่ 1-2 ราย แต่ในปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนถึง 90 ราย
มี VC ที่ลงทุนในประเทศไทยแล้วถึง 96 ราย จากสตาร์ทอัพที่มีในประเทศไทยประมาณ 600 ราย และมี Accelerator ถึง 8 รายจากเดิมที่มีเพียงรายเดียวในปี 2555 และจนถึงปัจจุบัน มูลค่าเงินลงทุนจาก VC ที่ลงทุนไปแล้วในประเทศไทย เป็นอย่างน้อย 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลในปี 2560
แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งอิสราเอลมีสตาร์ทอัพประมาณ 4,500 ราย มีความหนาแน่นของสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากร (Startup Density) อยู่ที่ 1 ต่อประชากร 1,900 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามี Startup ประมาณ 140,000 ราย มี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 2,300 และสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพประมาณ 542,000 ราย มี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 2,800 สำหรับประเทศไทยนั้น เรามี Startup ประมาณ 600 ราย และมี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 113,000
ผมมองว่าประเทศไทยไม่ได้สู้ประเทศอื่นไม่ได้ แต่กลับมองเห็นช่องวางที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพ และการเป็น Hub ของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asia ได้ ประเทศไทยมีปัจจัยหลายด้านที่เหมาะสมจะเป็น Hub ของภูมิภาค ยกตัวอย่าง เช่น
- ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เป็น Destination การท่องเที่ยวจากผู้คนทั่วโลกถึง 35 ล้านคนในปี 2560 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับ Travel Tech Startup
- การเป็นเมืองอาหารอันดับต้นๆของโลก ที่เป็นโอกาสสำหรับ Food Tech Startup
- จากบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และเป็นประเทศที่ผู้คนจากหลายประเทศ เลือกเป็นที่อยู่ในบั้นปลายชีวิตหลังจากเกษียณอายุ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับ Medical Tech Startup
- DNA ความคิดสร้างสรรค์ที่ฝังอยู่ในตัวคนไทย ทำให้เราเป็นประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เป็นโอกาสสำหรับ Digital Content ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้เกิดแนวโน้มความต้องการ เครื่องจักรกลเข้ามาแทนที่แรงงานในอนาคต บ่งบอกถึงโอกาสของ Startup ด้าน Robotics และ AI และโอกาสการขยายไปเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของทีมวิจัย Google และ Temasek ที่เคยทําการศึกษาและเก็บข้อมูลร่วมกัน ในหัวข้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และคาดการณ์ว่าจะก่อเกิดเงินสะพัดในธุรกิจออนไลน์สูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025
ธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้ ยังเติบโตแบบแทบจะทุกหมวดหมู่ธุรกิจ อาทิ หมวดท่องเที่ยว ได้แก่ เว็บไซต์จองเที่ยวบิน, สถานที่ท่องเที่ยว, โรงแรม และร้านอาหาร มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 26,600 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มธุรกิจสื่อ จะมีเงินสะพัดถึง 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงหมวด e-Commerce จะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 100% ภายใน 2 ปี โดยมีการซื้อขายสูงถึง 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่า สตาร์ทอัพ ยังมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคอยู่ เราก็มีการสร้าง “แซนบ็อก” ให้มาทดลอง ซึ่งขณะนี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีให้สตาร์ทอัพเข้ามาทดลองสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ และจะมีหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงตามมาอีก
Digital Startup เรามี depa Fund สำหรับสตาร์ทอัพไทย โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยแบ่ง Funding ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. Pre-seed 50,000 บาท สำหรับการเริ่มทำแผน Startup 2, Seed Fund 1 ล้านบาท สำหรับ Startup ที่จดทะเบียนนิติบุคคลแล้วไม่เกิน 3 ปี และ 3. Growth Fund 5 ล้านบาท สำหรับ Startup ที่จดทะเบียนนิติบุคคลแล้วไม่เกิน 5 ปี
ทั้งนี้ เราไม่ได้ส่งเสริม Digital Startup เฉพาะด้านเงินทุนเท่านั้น แต่เรายังทำการเชื่อมโยง Digital Startup กับผู้ประกอบการ SMEs ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ Digitalized Enterprise ด้วยการสร้างระบบให้ Digital Startup เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ SMEs ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอีกด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดึงดูดให้ชาวต่างชาติต้องการมาทำงานหรือลงทุน ในประเทศไทย จึงได้มีการมอบสิทธิประโยชน์ผ่านโครงการ Smart Visa โดยมีสิทธิประโยชน์มากกว่า Visa ปกติ คือ สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ 4 ปี โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน รวมถึงคู่สมรสและบุตรยังได้สิทธิอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้เท่ากับผู้ถือ Smart Visa และขยายเวลาการรายงานตัวทุกๆ 1 ปี
สำหรับ Smart Visa นั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภทได้แก่ 1. Smart T (Talent) หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง ที่จะเข้ามาทำงานในบริษัททางด้านดิจิทัลหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย 2. Smart I (Investor) หมายถึง นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกลุ่ม อุตสาหกรรมดิจิทัลรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ 3. Smart E (Executive) หมายถึง ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทหรือองค์กรทางด้านดิจิทัล และองค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4. Smart S (Startup) หมายถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นโดยสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านดิจิทัลตลอดจนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และ 5. Smart 0 (Other) หมายถึงคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับ Smart Visa พร้อมกับ 4 กลุ่มข้างต้นด้วย
โดยสรุป เราต้องมีความหวังว่าประเทศไทยกำลังเจริญ และเราไม่ได้หลอกตัวเองว่าหลายต่อหลายอย่างที่นำเสนอไปได้นำมาจากข้อมูลจริง แต่เรียนตรงๆ ว่าทุกอยากจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน เอกชนก็ต้องมาร่วมมือ รัฐก็ต้องเปิดให้กว้าง รวมถึงอีกหลายๆ หน่วยงานที่ต้องช่วยกัน ถ้าร่วมมือกันผมคิดว่าประเทศไทยจะไปได้ดี และถ้ารีบสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ให้กับสตาร์ทอัพ ให้ได้มีความหวังในการสร้างตัวได้จะไปได้ดีอย่างแน่นอน.