ตลาดร้านค้าปลีกสินค้าแบรนด์เนมมือสองในเมืองไทย ดูคึกคักขึ้นมาทันที เมื่อรีเทลใหญ่ 2 แบรนด์จากญี่ปุ่น บุกตลาดเมืองไทย โดยมีกลุ่มโรงรับจำนำรายใหญ่เก่าแก่ของไทยอย่าง โรงรับจำนำปิ่นเกล้าคู่ขนานลอยฟ้า เปิดเกมเป็นทางการรายแรกก่อน ที่ปรับภาพลักษณ์มาเป็น มันนี่คาเฟ่ แล้วภายหลังจึงได้นำลิขสิทธิ์ร้าน แบรนด์ ออฟ โตเกียว ( Brand of Tokyo) จากญี่ปุ่น เข้ามาในไทย และปรับร้านมันนี่คาเฟ่เป็นแบรนด์ออฟโตเกียวบายมันนี่คาเฟ่ เปิดร้านแรกเมื่อต้นปี 2561นี้ ที่สยามสแควร์ซอย 3
ล่าสุดกลุ่มคอนซูเมอร์รายใหญ่ของไทย อย่าง เครือสหพัฒน์ ตามหลังมาติดๆ อีกราย ด้วยการดึงเจ้าของจากญี่ปุ่นคือ กลุ่มโคเมะเฮียว (KOMEHYO) จากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาด โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในไทยด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 51:49 เปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตลาดหรือความต้องการสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยนั้น ถือว่ามีอยู่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยุคที่ภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี กำลังซื้อไม่ค่อยฟื้น แต่คนไทยก็ยังมีรสนิยมที่ต้องการสินค้ามีแบรนด์ และแบรนด์เนมมือสองจึงเป็นที่พึ่งได้สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการประดับตัวเองให้ดูดีมีราคาเข้าสังคมได้ แม้เป็นมือสองก็ตาม โดยมีทั้งกลุ่มนักศึกษา หรือคนเริ่มทำงาน ก็มักจะพยายามสร้างบุคลิกตัวเองให้ดูดีด้วยแบรนด์เนม ตามสไตล์ รสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ
ไลฟ์สไตล์คนไทยที่เป็นเช่นนี้เอง บวกกับที่ผ่านมา ร้านแบรนด์เนมมือสอง ประเทศ เป็นที่นิยมของนักชอปชาวไทยอยู่แล้ว ทั้งสองกลุ่มจึงตัดสินใจรุกตลาดด้วยการนำร้านดังจากญี่ปุ่นมาอุดช่องว่างของตลาดนี้
ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มันนี่ คาเฟ่ จำกัด มองว่า “คนไทยนิยมใช้แบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน คนเริ่มทำงาน แม่บ้านยุคใหม่ นักศึกษา วัยรุ่น ก็อยากจะใช้กันทั้งนั้น เริ่มอยากเก็บเงินซื้อใช้บ้าง ดังนั้น การมีสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่ไว้ใจได้ มีมาตรฐาน เข้ามาเปิดบริการ น่าจะเป็นการตอบสนองความต้องการนี้ได้อย่างดี”
ขณะที่ วิชัย กุลสมภพ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ มองว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก และคนไทยก็นิยมใช้ ที่ผ่านมาคนไทยที่เดินทางไปญี่ปุ่นก็ไปชอปปิ้งและซื้อหาสินค้าแบรนด์เนม หรือแม้แต่ไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่ร้านโคเมะเฮียว จำนวนมากเช่นกันอยู่แล้ว เพราะเป็นที่รู้จักกันดี ถึงคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าการบริการ ดังนั้นจึงมั่นใจว่า การที่รุกตลาดเปิดร้านสินค้าแบรนด์เนมมือสองครั้งนี้ น่าจะเป็นการลงทุนที่เหมาะสม”
หากเปรียบมวยแล้ว เรียกได้ว่า ศักดิ์ศรีความใหญ่ของทั้งคู่ไม่แพ้กันเลยทีเดียว
แบรนด์ออฟโตเกียว ถือเป็น 1 ใน 3 รายใหญ่ในตลาดที่ญี่ปุ่น มีสาขากระจายไปมากกว่า 70 ร้านในเอเชียแล้ว เช่น ที่ญี่ปุ่นมีประมาณ 50 สาขา, ที่ฮ่องกงประมาณ 7-8 สาขา, ที่ไต้หวันประมาณ 5 สาขา ซึ่งในร้านจะมีสินค้ามากกว่า 1,000 รายการไว้บริการ โดยมีทั้งสินค้าที่นำมาจากญี่ปุ่นมาขาย และสินค้าที่คนไทยนำมาขายที่ร้านเพื่อขายต่ออีกทอดหนึ่ง
ขณะที่ กลุ่มโคเมะเฮียว จากประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในญี่ปุ่นเช่นกัน และยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวด้วย เปิดธุรกิจมานานกว่า 70 ปีแล้ว ปัจจุบันร้านโคเมะเฮียว ก็มีการขยายสาขามากมายทั้งในญี่ปุ่นเองและต่างประเทศ เช่น คันโต คันไซ จูบุ และในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา รวม 33 สาขา โดยมีสาขาใหญ่อยู่ที่นาโกยา 6,000 ตารางเมตร หรือสาขาชินจูกุ พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร และมีการขยายสาขาไปยัง ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง อีกที่ละ 1 สาขา จำหน่ายทั้งสินค้ามือหนึ่งและสินค้ามือสอง
การเข้ามาปะทะกันในตลาดเมืองไทย จึงน่าติดตามอย่างมาก กับกลยุทธ์ตลาดที่จะนำมาสู้กัน และการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาด แม้จะมีการประเมินกันว่า ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยนั้น ยังไม่มาก มีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเยนต่อปีเท่านั้น แต่ก็เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ยังเทียบไม่ได้กับตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในญี่ปุ่นที่มีมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านเยนต่อปี
เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการทั้งเครือสหพัฒน์และมันนี่คาเฟ่ มั่นใจว่าตลาดนี้ยังีโอกาสโตได้อีกมาก และไปได้ไกลแน่นอน
การซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทย ส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักจะเป็นการซื้อขายกันผ่านโซเชียลมีเดีย ในลักษณะรายบุคคลมากกว่า ซึ่งอาจจะยังมีข้อจำกัดด้านความน่าเชื่อถือ มาตรฐานสินค้าจริงหรือปลอม และเรื่องราคาที่หาจุดลงตัวยาก จึงเกิดความเสี่ยงต่อผู้ซื้อ แต่เมื่อมีร้านรีเทลที่มีระบบ มาตรฐาน ทั้งการจัดการ สินค้า และราคา เข้ามาเปิดบริการ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทันที
ก่อนหน้านี้เครือสหพัฒน์ทดลองตลาด 4 เดือนที่ผ่านมา ให้ลูกค้านำแบรนด์เนมมือสองมาฝากขาย พบว่า ไปได้ดีทีเดียว มีการตอบรับมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 4 เท่า
หรือแม้แต่ค่ายมันนี่คาเฟ่ ก็มีประสบการณ์จากการทำโรงรับจำนำ พบว่า มีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ได้มาไถ่ถอนสินค้าคืนไป หรือเรียกว่าหลุดจำนำ มากกว่า 20% ซึ่งเป็นสินค้าที่ดีและมีแบรนด์เนมด้วย ทำให้มีสินค้าเพิ่มพูนขึ้นมาตลอด จึงคิดหาทางระบายสินค้าเหล่านั้นออก
ร้านแบรนด์เนมมือสอง ก็เป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม ด้วยการเปิดร้านมันนี่คาเฟ่ของตัวเองที่สยามสแควร์ซอย 3 เมื่อปีที่แล้ว (2560) ก่อนที่จะบินข้ามน้ำข้ามฟ้าเจรจาซื้อสิทธิ์ แบรนด์ ออฟ โตเกียว มาเปิดโดยปรับจากร้านมันนี่คาเฟ่เดิม โดยวางแผนเปิด 6 สาขา ภายใน 5 ปี เจาะทำเลห้างค้าปลีก พื้นที่ร้านระหว่าง 50-200 ตารางเมตร โดยกลุ่มเป้าหมายจะมีทั้งนักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงาน และแม่บ้านที่มีกำลังซื้อระดับหนึ่ง
ด้านเครือสหพัฒน์ วางเป้าหมายที่จะเปิดร้านโคเมะเฮียวสาขาแรกในปี 2562 โดยตั้งงบการลงทุนไว้ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการวางรูปแบบนและหาพื้นที่ที่เหมาะสม คาดว่าจะต้องใช้พื้นที่ระหว่าง 600-6,000 ตร.ม. ซึ่งดูเหมือนว่าจะใหญ่กว่าค่ายแบรนด์ออฟโตเกียวมากทีเดียว การเปิดร้านในไทยของโคเมะเฮียวนี้ จะเป็นสาขาแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของโคเมะเฮียว
ลักษณะของทั้งสองค่ายนี้จะใกล้เคียงกัน คือ มีสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่นำเข้ามาจากต่างประเทศส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่มาจากผู้บริโภคคนไทยเองที่นำมาขายเพื่อทางร้านจะนำมาขายต่ออีกทอด ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าแฟชั่น แต่ธุรกิจนี้สำคัญที่สินค้าทั้งหมดจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ว่า เป็นของแท้ของจริงแน่นอน ไม่มีการตีหัวเข้าบ้าน
ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยจากนี้คงมีสีสันไม่น้อย.