เมื่อวัฒนธรรมกาแฟบุกตลาดจีน ทำไมสตาร์บัคส์จับมือ Ele.me อาลีบาบา โค้กต้องซื้อ คอสต้า คอฟฟี่

แต่เดิมคนจีนจิบชาร้อนแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แต่จีนยุคใหม่มีการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนกำลังกลายเป็นตลาดร้านกาแฟที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสำหรับเครือข่ายร้านกาแฟนานาชาติ แน่นอนย่อมเป็นผลดีที่ส่งต่อไปถึงกลุ่มผู้ปลูกกาแฟทั่วโลกด้วย 

ทำไมต้องตลาดจีน

คำตอบนี้ง่ายมาก ยุคนี้อะไรๆ ก็จีน แม้จะเป็นประเทศที่โดนอเมริกาจ้องตาเขม็ง ถูกกีดกันการค้ามากที่สุดมานาน แต่จีนก็ยังไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้กับเกมการแข่งขัน แถมเป็นเมืองที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันโลก ทำให้คนจีนยุคใหม่มีรายได้ดี ส่งผลต่อวัฒนธรรมการบริโภคและไลฟ์สไตล์ของคนกลุ่มใหญ่ที่เปลี่ยนไป

คนจีนยุคใหม่เลือกที่จะแฮงเอาท์ในร้านกาแฟพร้อมเครื่องดื่มใหม่ล่าสุดในมือ เพราะมีกำลังซื้อและเริ่มรับประสบการณ์ใหม่ด้านผลิตภัณฑ์และบริการจากแบรนด์จากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า การแต่งหน้า กระเป๋า รองเท้า จนมาถึงเรื่องของรสนิยมในการบริโภคแบบตะวันตก

ดังนั้น จากปริมาณการบริโภคกาแฟต่อคนที่ยังอยู่ในปริมาณค่อนข้างต่ำ เพียง 3 ถ้วยต่อคนต่อปี จึงกลายเป็นโอกาสทองของร้านกาแฟดังหลายแบรนด์ที่พร้อมใจกันตบเท้าเข้าจีน ทั้งสตาร์บัคส์ (Starbucks) ที่ประกาศปูพรมขยายสาขาให้ได้ครบ 5,000 สาขาภายในปี 2561 รวมถึงคอสต้า คอฟฟี่ (Costa Coffee) ที่โคคา โคลา (Coca cola) ซื้อเข้ามาไว้ในพอร์ตโฟลิโอเพื่อที่จะใช้บุกตลาดจีนโดยเฉพาะ เป็นต้น

การบริโภคกาแฟโดยรวมของจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นตัวเลขอย่างมีนัยสำคัญ และเติบโตแซงหน้าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอัตราเติบโตเพียงแค่ 2% (ตัวเลขจากองค์การกาแฟระหว่างประเทศ)

จึงไม่แปลกอะไรที่สตาร์บัคส์จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วในจีน พร้อมกับแผนงานการขยายเพิ่มอีกเป็นเท่าตัวตามที่ประกาศไว้ โดย ณ ปัจจุบัน สตาร์บัคส์มีจำนวนสาขาในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3,300 สาขา เพิ่มจาก 1,017 สาขาในปี 2556

นอกจากร้านกาแฟที่ขยายตัว มูลค่าการซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟในจีนก็เติบโตอย่างมาก โดยถ้าดูจากสถิติของอาลีบาบาเจ้าตลาดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่า มีผู้บริโภคชาวจีนที่ซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟในเถาเป่า (Taobao) และทีมอลล์ (Tmall) รวมมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านหยวน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยกลุ่มผู้ซื้อกาแฟ 40% มาจากกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดหลังปี 2523 ซึ่งมีอยู่กว่า 450 ล้านคนในจีน และเป็นกลุ่มคนจีนที่รู้กันดีว่ามีการศึกษาดีและเคยมีประสบการณ์เดินทาง

ธุรกิจร้านกาแฟในจีน โตตามรอยญี่ปุ่น

จีนกำลังดำเนินการตามเส้นทางของญี่ปุ่นในการเป็นหนึ่งในประเทศที่บริโภคกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความนิยมในการดื่มกาแฟของจีนในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายกับญี่ปุ่นในช่วงปี พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ. 2516 ซึ่งมีการเริ่มต้นทำนองเดียวกัน จนตอนนี้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่า เป็นผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000

เหตุผลที่จะทำให้จีนเป็นแบบญี่ปุ่นในด้านกาแฟ เพราะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีการเติบโตอย่างน่าสนใจจากฐานการบริโภคที่ขยายอย่างรวดเร็วและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าชนชั้นกลางของจีนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 600 ล้านคนในปี 2565

ชนชั้นกลางเหล่านี้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชั้นสามและสี่มากกว่าเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้หรือปักกิ่ง และเป็นเมืองที่มีประชากรมากกว่า 4 ล้านคน นั่นหมายความว่าพวกเขามีศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้อีกมาก

ร้านกาแฟที่บุกจีนมีข้อมูลเหล่านี้ในมือ เช่นเดียวกับที่สตาร์บัคส์วางแผนจะขยายเข้าสู่ 100 เมืองในจีนภายในปี 2565

ขณะที่ คอสต้า คอฟฟี่ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,200 สาขาในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 449 สาขาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เชนร้านกาแฟนานาชาติหลายแห่งรวมกันมีแผนการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวถึง 6,000 เครื่องภายในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโต 18% ต่อปี หรือร้านใหม่ทุกๆ 15 ชั่วโมง เช่น Tim Horton ซึ่งเป็นคู่ค้าชาวแคนาดาเปิดเผยแผนการที่จะเปิดร้านค้ากว่า 1,500แห่ง ในประเทศจีนใน 10 ปีข้างหน้า

ร้านกาแฟยุคนใหม่ต้องขายประสบการณ์

การชงกาแฟที่ดีขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ กลายเป็นจุดขายของร้านกาแฟที่คนทั่วโลก รวมทั้งผู้บริโภคชาวจีนก็ต้องการ ซึ่งพวกเขายังซื้อกาแฟสำเร็จรูปมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกาแฟสด เพื่อให้ได้รสชาติและคุณภาพที่ดีขึ้น จนทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์กาแฟสดเติบโตเป็น 2 เท่าในจีนในปี 2560

Euromonitor ยังสำรวจพบว่า ข้อมูลจากแพลตฟอร์มของอาลีบาบา มียอดขายของเมล็ดกาแฟเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับกาแฟสำเร็จรูปในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งยอดขายกาแฟแคปซูลบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบาก็เพิ่มขึ้น 10 เท่าในช่วงเดียวกัน

เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจ ถ้าจะพบคอฟฟี่บาร์แบบพรีเมียมได้ในประเทศจีนที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมชาได้ไม่ยากในยุคนี้ แม้แต่ในออนไลน์ก็มีการสอนเกี่ยวกับการดื่มกาแฟ ตัวอย่างเช่นแบรนด์ ดาวิดอฟฟ์ (Davidoff) เลือกใช้ออนไลน์บอกเล่าเรื่องราวของกาแฟตั้งแต่ภาพสวนกาแฟ กระบวนการผลิต ไปจนถึงคำแนะนำต่างๆ จนกลายเป็นกาแฟพร้อมดื่มในถ้วย

อนาคตออนไลน์แบบออฟไลน์ในโลกของกาแฟจีน

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลกำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกาแฟของจีนไม่ต่างธุรกิจอื่น ๆ กลุ่มกาแฟกำลังมองหาหุ้นส่วนในการจัดส่งเพื่อขยายยอดขายนอกเหนือจากร้านค้าที่มีอยู่จริง บิ๊กดีลระหว่างอาลีบาบากับสตาร์บัคส์คือตัวอย่างที่ดี เมื่อแบรนด์ร้านกาแฟจากอเมริกันอย่างสตาร์บัคส์ เลือกใช้เครือข่ายจัดส่งอาหารของอาลีบาบา Ele.me เพื่อตอบสนองการสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่ตอบพฤติกรรมผู้บริโภคและช่วยสร้างยอดขายให้กับสตาร์บัคส์ได้อย่างดีและได้เปรียบร้านกาแฟคู่แข่งอื่นๆ

ฉะนั้นเตรียมใจกันได้เลยว่า เมื่อไรที่อยากจิบกาแฟที่จีน คุณเลือกสั่ง เลือกดื่มได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในร้านนอกร้าน หรือที่ไหนๆ จากร้านกาแฟที่คุณต้องการด้วยบริการส่งถึงที่ที่คงจะมีให้เลือกเพิ่มขึ้นจากร้านกาแฟอีกหลายร้านที่จะต้องให้บริการตามๆ กันมาในอนาคต.

Source


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง