กระจายข่าว “ซีพีออลล์”

แม้จะเป็นสินค้าบริโภค ซีพีออลล์กลับเป็นองค์กรธุรกิจกลุ่มแรกๆ ของไทยที่ใช้ Twitter เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวต่อสื่อมวลชนมาได้พักใหญ่แล้ว เนื่องจากมีบริษัทในเครือกว่า 10 บริษัท ตั้งแต่ 7-Eleven, Booksmile, คัดสรร และเคาน์เตอร์เซอร์วิส

“ยิ่งเมื่อกระแสทวิตเตอร์โด่งดังจากการเมือง มีผู้ใช้ในไทยเพิ่มขึ้นหลายเท่าในเดือนเดียว ซีพีออลล์ใช้โอกาสนี้ ใช้ทวิตเตอร์สื่อไปถึงผู้บริโภคทั่วไปด้วย ในลักษณะของการสร้างแบรนด์ ข้อความทวีตออกไปจึงเป็นลักษณะเข้าถึงง่ายๆ เช่นการทักทายยามเช้าแล้วถามว่าหิวไหม? โดยโลโก้ของบริษัทประกบคู่ เพื่อสร้างความจดจำ” สำเร็จ ศรีพงษ์กุล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บมจ.ซีพี ออลล์ ทีมงานสร้างทวิตเตอร์ @CPallnews บอก

การขยายสู่ผู้บริโภคยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่ม Traffic ยอดผู้เข้าชมเว็บ ด้วยวิธีลงลิงค์เชื่อมโยงกับข้อมูลในเว็บไซต์ cpallnews.com และเว็บไซต์อื่นๆ ในเครือในข้อความ Tweet ต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนวัย 18 – 50 ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผลที่ตามมาจากการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บ คือ การเผยแพร่โปรโมชั่น และข่าวสารใหม่จากบริษัทแบบเรียลไทม์

ส่วนการเพิ่ม Follower ซีพีออลล์เลือกใช้ วิธีการเล่นเกมชิงรางวัล 2 แบบ แบบแรกคือ “มาก่อนได้ก่อน” ลงประกาศแจกรางวัลในทวิตเตอร์ด้วยคำถามง่ายๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือองค์กร แล้วแจกรางวัลให้ผู้ที่ตอบถูกก่อน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะเล่นเมื่อไร เป้าหมายคือกระตุ้นให้บรรดา Follower หมั่นติดตามทวิตเตอร์ของซีพีออลล์ตลอดเวลา

ส่วนเกมแบบต่อมา คือ การสุ่มแจกรางวัลที่ใหญ่กว่าแบบแรก เป้าหมายคือกระตุ้นให้มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ๆ เข้ามาเพราะอยากได้รางวัล เกิดการบอกต่อ และได้ฐานข้อมูลผู้ที่สนใจติดตามโปรโมชั่นของบริษัทนำไปต่อยอดใช้กับแคมเปญออนไลน์อื่นๆ ภายหลังได้

ในฐานะผู้ดูแลทวิตเตอร์ @CPallnews และเว็บไซต์ CPallnews.com “สำเร็จ” บอกถึงความสำคัญของการใช้ทวิตเตอร์ว่าเป็นกลยุทธ์ Longtail นำเสนอสินค้าเป็นจำนวนมากและหลากหลายกว่าการขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ทั้งสะดวกและต้นทุนต่ำมาก

แต่ละแคมเปญยังสามารถวัดได้จากตัวเลขของการ Follow ในแต่ละวัน และคนเหล่านี้ก็ถูกคาดหวังว่าจะเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ CPallnew มีจำนวน Follower ประมาณ 600 คน

ในโลกการตลาดแบบเดิมๆ มักคิดแผนโปรโมตสินค้ากันเป็นแคมเปญๆ ไป การใช้สื่อก็จะวางแผนสื่อสารกันเป็นช่วงๆ หมดช่วงก็หยุดยิงโฆษณาเงียบหายรอแคมเปญใหม่ แต่บนทวิตเตอร์นั้นเห็นได้ชัดว่าทุกอย่างต้องสร้างความสัมพันธ์ และสื่อสารกันแบบตลอดเวลาและตลอดไป ซึ่งเรียกกันว่า “Foreverism” แบบที่ต้องพลิกวิธีคิดกันใหม่ ดังที่แบรนด์ไทยผู้บุกเบิกบนทวิตเตอร์ทั้งหลายกำลังทำอยู่นั่นเอง