QR Code รหัสการตลาดเปลี่ยนโลก

QR Code หรือบาร์โค้ด 2 มิติ ในกรอบสี่เหลี่ยมลายเขาวงกตขาวดำ กำลังเข้ายึดทุกพื้นที่ทางการตลาดไปทั่วโลก ไล่ตั้งแต่บนป้ายโฆษณาสินค้า, ป้ายชื่อร้าน, บรรจุภัณฑ์, ป้ายราคา หรือแม้แต่บนนามบัตร

ยิ่งขยับมาในยุคของบาร์โค้ด 3 มิติ AR (Augmented Reality) ด้วยแล้ว ทุกอย่างถูกใช้เป็นสื่อโฆษณาได้ ทั้งตัวอาคาร ถนนหนทาง ซึ่งให้ข้อมูลได้มหาศาลกว่า และประยุกต์ใช้ได้หลากหลายจนถูกมองว่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกในไม่ช้านี้

โดย eMarketer ประเมินว่าจากนี้จนถึงปี 2013 จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และ Social Network ผ่านมือถือเพิ่มขึ้นถึง 43% หนึ่งในแอพลิเคชั่นที่จะออกมาสร้างสีสันอย่างต่อเนื่อง ปลุกกระแสปีนี้คือ QR Code ที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือของค่ายต่างๆ ในการทำตลาดอีกครั้ง หลังเห็นว่าโค้ดหน้าตายึกยือนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาแล้ว

ทรูมูฟใช้เข้าถึงไลฟ์สไตล์

QR Codeในสายตาของทรูมูฟเวลานี้ถือเป็น Pilot Project ระหว่างรอการใช้งาน 3G เต็มรูปแบบ โดยทรูดึงเอาความเป็นมีเดียคอนเวอร์เจนซ์ของตัวเองออกมาประกาศให้คนสัมผัสได้ถึง Lifestyle ที่อยากเพิ่มเสน่ห์ให้บริการต่างๆ ดูเก๋และเท่มากขึ้น ซึ่งทั้งคนกรุงเทพฯ และหัวหินจะได้ทดลองใช้ QR Codeกับสื่อโฆษณา 3G ของทรูที่มีให้ตามจุดต่างๆ รวมทั้งบริเวณช็อปแนวไลฟ์สไตล์ทั้งหลาย ที่สนใจตอบรับเป็นพาร์ตเนอร์กับทรูในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “Fun Living Lifestyle”

หลังจากดาวน์โหลดโปรแกรม i-nigma ที่เป็นแอพพลิเคชั่นอ่าน QR Codeลงในมือถือ สามารถนำไปสแกนโค้ดที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ ได้ทันที เช่น โค้ดในแผ่นพับของทรูที่เพื่อลิงค์ติดตามพัฒนาการของหลินปิง พร้อมกับโหลดคลิปหลินปิงตกพื้น หลินปิงหกล้ม หลินปิงนอนกลิ้ง ฯลฯ ที่เคยออกอากาศสดผ่านทรูวิชั่นส์ให้เก็บไว้ดูเล่นในมือถือได้ด้วย

รู้จักเพลินวานในบรรยากาศย่านหัวหินให้มากขึ้น ผ่านการสแกน QR Codeเอาไว้ลิงค์ดูเว็บไซต์เพลินวานกับหลากหลายข้อมูลและภาพสวยๆ ให้ได้อารมณ์ในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

อัพเดตอัลบั้มเพลงใหม่ รวมทั้งข่าววงการเพลง หรือแม้แต่ MV ของไทยและเทศ ผ่านการสแกนโค้ดที่แปะอยู่หน้าร้านขายซีดีในตำนานย่านสยามสแควร์ได้ไม่ยาก

หรือถ้าอยากเช็กเมนูจานหลัก ที่เชฟร้านอาหารอิสานฟิวชั่นในห้างชั้นนำเรคคอมเมนต์ไว้ ก็แค่สแกน QR Codeที่มีแจกในแผ่นพับของทรูไปพบกับเมนูแนะนำ พร้อมโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ จากทางร้าน

แฟนกีฬายังสามารถเช็กผลรายงานสดกีฬาทุกแมตซ์ได้ด้วย QR Code พร้อมกับเกาะติดสถานการณ์ข่าวด้วยช่องทีวีบนมือถือ พร้อมกับชมรายการถ่ายทอดสดรูปแบบใหม่จาก TrueLife

โออิชิโปรโมตเกมออนไลน์

QR Codeที่โออิชิใช้ในแคมเปญเกมออนไลน์นี้ ต้องสแกนโค้ดที่มีบนกล่องชาเขียวผ่านกล้องเว็บแคม แทนการสแกนด้วยมือถือทั่วไป เพื่อรอรับไอคอนวัตถุดิบต่างๆ เช่น ขนมปัง มะเขือเทศ เนื้อ ชีส ฯลฯ หน้าตาน่ารักซึ่งจะโผล่ออกมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อเสิร์ฟในเกม Oishi Cafe City ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ล่าสุดที่โออิชิทำผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง ผสมผสานการใช้ QR Codeเข้ากับ AR เทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีนี้กำลังถูกพูดถึงมากในแง่การเป็นแอพพลิเคชั่นที่โดดเด่นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้งาน 3G ในแถบอเมริกา

Wellcom ใช้เจาะวัยรุ่น

ค่ายเฮาส์แบรนด์มือถืออย่างเวลคัม ก็ยังกระโจนเข้ามาร่วมวงในกระแส QR Codeครั้งนี้แบบเต็มตัว ด้วยการใส่แอพพลิเคชั่นสำหรับอ่าน QR Codeไว้ในตัวมือถือตั้งแต่ออกจากโรงงานตามโมเดลในญี่ปุ่นและเกาหลี พ่วงด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้นิตยสารฟรีก๊อบปี้เกิดใหม่ไม่ถึงปีอย่าง Wake Up ที่คอนเทนต์ในเล่มบรรจุ QR Code ลิงค์ไปสู่ข้อมูลแสดงที่ตั้งร้านอาหารฮิพๆ แสดงแผนที่ GPS ที่ตั้งร้าน และเมนูอาหารแนะนำ รวมทั้งแสดง URL ลิงค์ไปสู่เว็บดูตัวอย่างหนังใหม่ที่กำลังจะเข้าฉายได้ง่ายๆ ผ่านมือถือ ซึ่งทาร์เก็ตของนิตยสารนี้จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีความเป็นอินดี้และมีรูปแบบ Lifestyle เฉพาะตัว

QR Codeต้นตำรับจากญี่ปุ่น

ก่อนจะบุกไทยนั้น สิ่งที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยมากว่า 10 ปี และทำทุกวันไม่ต่างกับการขึ้นรถไฟใต้ดินไปทำงาน ก็คือการใช้ประโยชน์จาก “QR Code” เครื่องมือที่ช่วยให้นักการตลาดญี่ปุ่นประหยัดพื้นที่โฆษณาอันมีค่ายิ่งกว่าทองได้อย่างมีประสิทธิภาพในโอกาสต่างๆ มากมาย

คู่มือคู่ใจ
QR Codeบนหัวแผนที่รถไฟฟ้าใต้ดิน คู่มือการเดินทางของชาวญี่ปุ่น จะแสดงข้อมูลที่ลิงค์กับจุดต่างๆ บนแผนที่นั้น เช่น ร้านอาหารแนะนำ สถานที่แฮงก์เอาต์ ย่านช้อปปิ้ง ฯลฯ รวมทั้งในแมกกาซีนแฟชั่นต่างๆ ก็พิมพ์ QR Codeไว้ข้างๆ สินค้าเพื่อบอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคา ที่ตั้งช็อป หรือแม้แต่ลิงค์ให้ช้อปปิ้งออนไลน์ได้ทันที ซึ่งการใช้งานในลักษณะนี้มีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น

ช้อปปิ้งจากหน้าจอ
ดูแล้วช้อปเป็นกิจกรรมที่สาวญี่ปุ่นโปรดปรานแบบเข้าขั้น หากเห็นสินค้าถูกใจโฆษณาผ่านหน้าจอทีวี สิ่งที่ต้องทำก็เพียงหยิบมือถือขึ้นมาสแกนโค้ดที่ขึ้นบนจอโทรทัศน์ จากนั้นก็รอรับสินค้าได้ที่บ้านได้เลย โดยพฤติกรรมการออกจากบ้านน้อยลงนี้เองที่ทำให้สื่อ Out of Home ในญี่ปุ่นต้องหาวิธีปรับตัวขนานใหญ่ หลายรายยังมีการใส่ QR Codeลงไปบนบิลบอร์ดหรือพรินต์แอดของตัวเองอีกด้วย

บริโภคข้อมูลนิยม

ไม่ใช่แค่บรรจุลิงค์ไปเปิดเข้าเว็บไซต์ต่างๆ แต่คนญี่ปุ่นยังอ่านข้อมูลโภชนาการของอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งเล่นเกมชิงโชคต่างๆ ผ่านการสแกน QR Codeบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้นๆ

Ticketing Bar code

เมื่ออยากจองตั๋วดูหนัง ดูคอนเสิร์ต หรือจองตั๋วเครื่องบิน การใช้งานจะทำได้สองทาง นั่นคือวิธีเบสิกอย่างการสแกนบาร์โค้ดไปเปิดเว็บเพื่อจองตั๋ว แล้วรอรับตามวิธีปกติ หรือที่ทำได้อีกทางคือการรับบาร์โค้ดจากผู้ให้บริการมาเก็บไว้ในตัวเครื่อง แล้วรอเวลาที่จะผ่านประตูจึงเรียกเอาโค้ดที่มีในมือถือมาผ่านเครื่องสแกนบาร์โค้ดตรงทางเข้า รวมทั้งระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินผ่านการใช้ QR Code ทั้งระบบเติมเงินค่าโทรศัพท์ การจ่ายค่าบัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง จึงทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว

Nice to meet you!

การสแกน QR Codeที่อยู่บนนามบัตร เพื่อแลกข้อมูลคอนแทคการ์ดของคู่ธุรกิจมาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ เป็นกิจกรรมที่ติดอันดับท็อป 5 ในญี่ปุ่น ลืมเรื่องการส่ง SMS และ E-mail หากันแบบเดิมๆ ไปได้เลย เพราะแม้เดี๋ยวนี้การแลกพินกันในแวดวง BB Lover ก็ใช้การสแกน QR Codeผ่านแอพพลิเคชั่น QR Codeรีดเดอร์ในเครื่อง BB แทนการจดจำพินยาวๆ เพื่อเข้าสู่สังคมแชตของกันและกันเหมือนในตอนแรก

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่มีการใช้งาน QR Codeอย่างคับคั่งก็คือเกาหลีใต้ เยอรมัน อิตาลี และอังกฤษ ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มประเทศดังกล่าวแล้ว หลายประเทศก็เริ่มทยอยใช้ QR Codeปูทางการเป็นมีเดียใหม่อย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าโค้ดนี้จะช่วยต่อยอดในแง่การตลาด นอกจากประหยัดเนื้อที่แล้ว ยังทำให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลาในการอยู่กับข้อมูลให้มากขึ้นอีกด้วย

จากนี้จึงต้องจับตาดูว่าคนจะตื่นตัวกับ QR Codeครั้งใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน และกระแสในครั้งนี้แรงพอที่จะแจ้งเกิด QR Codeในไทยให้ฮอตฮิตแพร่หลายเท่าญี่ปุ่นได้หรือไม่ หรือจะเงียบหายไปอย่างที่เคยเป็นมา ขณะที่โอกาสต่างๆ เริ่มมีเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นบนมือถือและความพร้อมในการให้บริการอินเทอร์เน็ตของโอเปอเรเตอร์ รวมทั้งการเจริญเติบโตของสมาร์ทโฟนที่จะ Push ตลาดการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังไม่นับ 3G ที่อย่างไรก็คงต้องมีในอนาคตอันใกล้นี้

บุกยึดทุกหน้าร้าน

ที่ผ่านมาเมื่อเราเดินไปตามย่านการค้า จะเห็นป้ายชื่อร้านต่างๆ อยู่ละลานตา แต่ที่ญี่ปุ่นกำลังปรากฏการณ์ QR Code หรือป้ายบาร์โค้ดสองมิติขนาดใหญ่โผล่หนาแน่นไม่แพ้ตัวอักษรป้ายชื่อร้าน เริ่มที่เขต Tachikawa ในโตเกียวที่บริษัท Qosmo Inc. และบริษัท Teradadesign ที่เข้าติดตั้งป้าย QR Code ตามหน้าตึกต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ iPhone รู้ข้อมูลของตึกและรายละเอียดภายในได้จากภายนอกอย่างง่ายดายแค่ยกกล้องโทรศัพท์ขึ้นเล็ง

“By reading the QR Code with your mobile device you will be taken to a site which includes up to date shop information,” Qosmo Inc. CEO ที่ชื่อ Nao Tokui แถลงว่าข้อมูลสำคัญที่สุดและเป็นอย่างแรกที่จะบรรจุเข้าไปในป้าย QR ต่างๆ ก็คือรายชื่อกับข้อมูลร้านค้าทั้งหมดของแต่ละตึกให้คนเดินถนนและนักช้อป และยังมีผังร้านค้าที่ยังว่างให้นักธุรกิจที่อาจจะกำลังหาทำเลธุรกิจอยู่ด้วย

บริษัท Qosmo กลับไม่แจกจ่ายแอพนี้ผ่าน iTunes หรือ AppStore ใดๆ แต่จะส่งให้ฟรีกับผู้ที่เมลขอไปที่ [email protected]

AR เหนือกว่าอีกขั้น

หากว่า QR Code เป็นเครื่องมือที่จะมาเปลี่ยนแปลงการตลาด AR (Augmented Reality) ก็จะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงโลก เพราะ AR นั้นไม่ต้องใช้สัญลักษณ์บาร์โค้ดใดๆ แต่ใช้ภาพจริง ตำแหน่งจริง มาค้นหา และที่เหนือกว่าคือแสดงข้อมูลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจซ้อนทับไปบนภาพจริง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ AR ที่จะหาดูได้ใน Youtube คนเดินถนนที่ยกโทรศัพท์มือถือมาเล็งที่สี่แยก ในจอจะพบว่ามีกราฟิกเป็นป้ายบอกทาง ที่จะเด้งหรือ Pop-up ขึ้นมาซ้อนกับภาพที่เห็นเพื่อบอกทางว่าแยกไหนไปสถานที่สำคัญอะไรได้บ้าง หรือนักช้อปคนหนึ่งอาจจะยกกล้องมือถือเล็งไปที่ร้านเสื้อผ้า บนจอจะโชว์ว่าช่วงนั้นมีโปรโมชั่นอะไรบ้าง โดยที่ร้านไม่ต้องไปทำป้าย QR Code ขนาดใหญ่มาแปะหน้าร้านให้ยุ่งยาก

ทุกวันนี้เริ่มมีบางบริษัทซอฟต์แวร์พัฒนาระบบออกมา ผสานกับข้อมูลที่ต้องเก็บจากพื้นที่จริง ร้านจริง ซึ่งเริ่มมีทดลองทำกันแล้วในเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน

อีกตัวอย่างที่โดนใจนักเล่น Social Network แน่นอน คือการยกกล้องเล็งไปที่เพื่อนหรือใครก็ตาม แล้วบนจอจะ Pop-up โชว์ขึ้นมาว่าคนคนนั้นใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่าอะไร ใช้ชื่อทวิตเตอร์ว่าอะไร หรือแม้แต่ดึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์นามบัตรดิจิตอลเข้ามาได้ทันที

ฟังก์ชันแบบนี้ถูกมองว่าจะเป็นอนาคตของ Social Network ยุคหน้า และบริษัทที่โด่งดังที่สุดตอนนี้ก็คือ Layar ซึ่งถูกกูเกิลซื้อกิจการไปไม่นานนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือที่จะเล่น AR ได้ ต้องมีระบบ GPS เพื่อเช็กตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของโลก และต้องมีเข็มทิศในตัว ซึ่งปัจจุบันเครื่องที่ทำได้และมีซอฟต์แวร์รองรับแล้วก็เช่นรุ่นท็อปๆ ของ Nokia, iPhone, BlackBerry และ HTC

นอกจาก AR จะช่วยเสริมข้อมูลให้ “ถนน – ร้าน – คน” ผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว AR ยังประยุกต์ใช้กับนิตยสาร หนังสือ หรือโบรชัวร์ได้อย่างมหาศาล เช่นเคสที่โด่งดังของนิตยสาร Esquire ฉบับเดือนธันวาคม 2009 ที่แถมซีดีเมื่อเปิดในโน้ตบุ๊กแล้วนำหน้าปกมาวางหน้าจอ ก็จะพบว่านายแบบบนปกกระโดดออกมาพูดคุยอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมกันนั้นตัวอักษรต่างๆ บนปกก็กลับเลื่อนไหลออกมาได้

เมื่อเปิดหน้าต่างๆ แทบทุกหน้าในนิตยสารต่อหน้ากล้องโน้ตบุ๊ก ก็จะเห็นว่าแต่ละหน้าในจอโน้ตบุ๊กโชว์รายละเอียดขึ้นมาขยายคอนเทนต์แต่ละหน้านิตยสารได้มากมาย เป็นเทรนด์ของนิตยสารยุคหน้าที่ Esquire ก้าวไปไกลกว่านิตยสารที่มี QR Code อีกขั้น

Augmented Reality อาจจะถูกบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยเร็วนี้ ซึ่งหากจะเรียกง่ายๆ แปลตรงๆ ก็คงหมายความได้ว่า “ระบบเสริมข้อมูลให้แก่ภาพจริง” ที่ช่วยให้ทุกสิ่งที่เรามองผ่านกล้องมือถือหรือกล้องโน้ตบุ๊กนั้นมีคำอธิบาย และมีกราฟิกเสริมข้อมูลได้อย่างมากมาย

QR – AR ใช้อย่างไรให้ตอบโจทย์ ?

ศิวัตร เชาวรียวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท m Interaction ซึ่งเป็นเอเยนซี่สื่อออนไลน์ในเครือ Group M ชี้ว่า การใช้งานระหว่าง QR กับ AR นั้นต้องแยกจากกันเพราะ QR เหมาะที่จะใช้ถ่ายทอดข้อมูล 1 ชิ้น ส่วน AR นั้นเหมาะใช้เสริมกราฟิกเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ให้มีความสนุกสนาน และจะถูกนำไปใช้บนโทรศัพท์มือถือในยุคต่อไป

ประโยชน์ข้อแรกของ QR เช่นป้ายโฆษณาและสื่อ Out of home ต่างๆ ที่ “เน้น Visual ไม่เน้น Fact” เช่นป้าย Nike ที่เป็นรองเท้าขนาดใหญ่บนพื้นขาวโล่งๆ ก็จะพิมพ์ QR Code ขนาดใหญ่บนป้าย ให้ผู้สนใจยกมือถือขึ้นถ่ายแล้วได้อ่านชื่อรุ่นสินค้าและรายละเอียดได้โดยไม่รกดีไซน์

ในทางเทคนิคนั้น บาร์โค้ด 2 มิติ นั้น อ่านง่ายกว่าบาร์โค้ดแถบเดียวแบบเดิมๆ มาก ทำให้สะดวกในการนำไปใช้กับมือถือ และคำว่า “QR” ย่อมาจาก “Quick Response” สื่อถึงความใช้ง่ายตอบสนองรวดเร็ว

ส่วน AR นั้นแม้จะไม่ต้องมีรหัสโค๊ดใดๆ แต่ก็ต้องมีรูปภาพเป้าหมายที่เรียกว่า “Marker” เช่นหน้าปกนิตยสาร โบรชัวร์ หรือแม้แต่ตัวตึกจริงๆ มุมถนนจริงๆ

การใช้ AR จึงแยกเป็น 2 แนวการ คือ แนวแรกคือเสริมความสนุกและภาพเคลื่อนไหวให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งคูปอง ซองสินค้า โบรชัวร์ หรือหน้านิตยสาร ซึ่งเขาเองก็เคยทำแคมเปญให้ Dairy Queen โดยแถมคูปองให้นำไปส่องบนเว็บแดรี่ควีนแล้วจะได้ Item พิเศษไปใช้เล่นเกมออนไน์ “Audition” เป็นการสร้างแรงจูงใจให้วัยรุ่นนักเล่นเกมออนไลน์พยายามซื้อไอศกรีมของแดรี่ควีนเพื่อที่จะเล่นเกมได้สนุกขึ้น

กรณีศึกษาที่คล้ายนี้ยังมีในต่างประเทศ เช่นแมคโดนัลด์ที่มีเกมบนเว็บไซต์ให้มือจับชิ้นไก่จริงๆ ไปไล่จุ่มซอสกราฟิกบน 4 มุมจอให้ทันเวลา ซึ่งจะเข้าไปเล่นได้ก็ต้องมีกล่องแมคนักเก็ตที่มีภาพ Marker อยู่เสียก่อน จูงใจให้คนที่อยากลองเล่นต้องซื้อสินค้า และเมื่อซื้อมาเล่นแล้วก็จดจำแบรนด์ลิงค์กับความสนุกและแปลกใหม่

ส่วนแนวการใช้ที่ 2 การใช้เป็นเครื่องนำทางตามถนนและตึกร้านค่าสำนักงานต่างๆ ซึ่งถูกมองว่าจะแพร่หลายและเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะเดิมนักเดินทางหรือผู้ที่ขับรถอาจจะต้องยกมือถือมาเสิร์ชกูเกิลหาข้อมูลถนนเส้นนั้น ห้างนั้น หรือหาร้านอร่อยใกล้ๆ แต่ในยุค AR เพียงแค่ยกมือถือขึ้นส่อง ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจะถูกดึงมาโชว์ได้เป็นกราฟิกซ้อนไปกับภาพจริงทันทีไม่ต้องลงมือพิมพ์

ในสายตานักการตลาดแล้ว แนวที่สองเหมาะกับธุรกิจที่มีหน้าร้าน เช่นร้านอาหารหรืออื่นๆ ที่จะต้องพยายามเข้าไปอยู่ในจอมือถือของกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด แต่ในไทยน่าจะยังไม่นิยมในเร็วๆ นี้เพราะต้องใช้มือถือที่มีสมรรถนะสูงระดับสมาร์ทโฟนขึ้นไป

QR Code (Quick Respond Code) เป็นชื่อของบาร์โค้ดลักษณะพิเศษ ภายใต้การจดทะเบียนของบริษัท Denso Wave ในฐานะผู้คิดค้นเป็นรายแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 ซึ่งอีกชื่อหนึ่งที่บริษัทผู้พัฒนารายอื่นนิยมเรียกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์ก็คือ 2D Bar Code (2Dimension Bar Code) หรือบาร์โค้ด 2 มิติ ด้วยรูปร่างสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่ผ่านการเข้ารหัสดิจิตอล สามารถตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว ส่วนตัวโค้ดสามารถบรรจุข้อมูลสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลผลิตภันฑ์ Web URL ของสินค้า หรือแม้กระทั่งไฟล์เอกสารต่างๆ ได้อย่างสบาย

ก่อนการใช้งานจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสำหรับอ่าน QR Code ไว้ในตัวเครื่องก่อนจึงจะสามารถสแกนโค้ดได้ ซึ่งการใช้งาน QR Codeในประเทศญี่ปุ่นนั้นแพร่หลายมาก ในทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิตคนเมือง และนักการตลาดในญี่ปุ่นยังใช้ QR Code เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำตลาดเวลานี้อีกด้วย