ธนาคารยักษ์ใหญ่ในไทยกำลังลงสนาม “สินเชื่อออนไลน์” เอาใจเหล่า “ผู้ขายอีคอมเมิร์ซ” กันโครมๆ ทั้งปล่อยหมัดเด็ดกู้เร็วใน 1 นาทีไม่ต้องใช้เอกสาร หรือให้วงเงินกู้ 1 ล้านในวันเดียว ถ้ามีเงินหมุนเวียนธุรกิจดี
การขยับมา “หาลูกค้าเงินกู้” บนเเพลตฟอร์มใหม่ของธนาคาร ถือเป็น “Big Move” สำคัญทั้งด้านความท้าทายเเละโอกาส เพราะในไทยมีพ่อค้าเเม้ค้าที่เป็น SMEs รายย่อยเยอะมาก ครองตลาดขายของออนไลน์ เเตกต่างจากประเทศอื่นที่มักเป็นบริษัทห้างร้านใหญ่
เเละเหมือนเป็นการอุดช่องโหว่ “กู้นอกระบบ” ที่ไม่ปลอดภัยของไทยด้วย ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของคนค้าขายไทยมาช้านาน นั่นคือการ “หมุนเงินไม่ทัน หาที่กู้ไม่ได้” คราวนี้ถ้าคุณค้าขายด้วยความสุจริต มีประวัติดีก็สามารถกู้ได้จากแอปพลิเคชั่นมือถือ ไม่ต้องเสียเวลามาธนาคาร ได้ทุนมาสต็อกของทันเทศกาลช้อปปิ้งใหญ่อย่าง 11.11 , 12.12
เรียกได้ว่า “วิน-วิน” กันทั้ง 3 ฝ่าย คือผู้ขายได้เงินทุนมาหมุนทัน ขายของดี – ธนาคารได้ดอกเบี้ย – เเพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดขายมากขึ้น สร้าง Branding เเละช่วยผู้ขายชั้นดีขยายกิจการในระยะยาว
ศึกชิงตลาดเงินกู้ผู้ขายออนไลน์
ธนาคารกสิกรไทย เพิ่งออกสโลเเกน “ปฏิวัติเงินกู้ผู้ขายออนไลน์ รู้ผลไว 1 นาที” มาหมาดๆ หลังจับมือกับอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่เเห่งอาเซียนอย่าง Lazada (ลาซาด้า) เเละ Shopee (ช้อปปี้) เเละวันนี้ (11 ธ.ค. ) ธนาคารยูโอบี ก็เปิดตัว สินเชื่อ UOB BizMerchant เพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 วันพร้อมระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจรายย่อยเหมือนกัน
สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “เราเล็งเห็นถึงความต้องการในกลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ ด้านความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเอสเอ็มอีปัจจุบันต้องใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เพื่อทำการตลาดและเพิ่มยอดขายโดยรวม เราเข้าใจความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการออร์เดอร์และสต็อกสินค้าผ่านช่องทางการขายหลายช่องทาง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ Lazada และเบ็นโตะเว็บในครั้งนี้ ที่จะทำให้เราสามารถช่วยผู้ค้า ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่รวดเร็ว พร้อมเครื่องมือในการช่วยจัดการระบบร้านค้า”
ด้าน วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “เราเชื่อว่าผู้ประกอบการต้องการเงินทุนหมุนเวียน ต้องมีการสต็อกของไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ดังนั้นเราจึงให้กู้ตั้งเเต่ 2,000 บาทขึ้นไป โดยไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร ไม่ต้องยื่นเอกสาร ให้เอาเวลาไปทำมาหากินขายของดีกว่า ง่ายกว่าการแชทไปขอยืมเงินเพื่อนเสียอีก”
“เราตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นปี 2563 จะปล่อยกู้ได้ราว 1 หมื่นคน คิดเป็นวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เเละคิดว่ายอดจะโตได้กว่านี้อีก เพราะเเพลตฟอร์ม Lazada ใหญ่มาก”
ผู้บริหารกสิกรไทย ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า “จะมีรายได้จากในส่วนของดอกเบี้ยอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นความท้าทายของกสิกรไทยเช่นกันในแพลตฟอร์มนี้ แต่ด้วยปัจจุบันเรามีลูกค้าเงินกู้ในระบบที่เป็น SMEs ถึง 40% จึงต้องการสนับสนุนอย่างแท้จริง”
- อ่านเพิ่มเติม : ส่องดีล KBank & Lazada ปล่อยเงินกู้ให้ผู้ขายออนไลน์ รู้ผล 1 นาที
เทียบชัดๆ เงินกู้ออนไลน์ UOB vs KBank
UOB BizMerchant
สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์ม Lazada สินเชื่อดังกล่าวมอบ วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาสัญญา 12 เดือน อนุมัติวงเงินภายภายใน 1 วัน เมื่อได้รับเอกสารครบ ลดระยะเวลาจากเดิม 7 วัน ในการขอสินเชื่อธุรกิจแบบเดิม เนื่องจากธนาคารจะใช้ข้อมูลเชิงลึกจากลาซาด้า ในการพิจารณาการให้สินเชื่อ
โดยผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในนามบุคคลทั่วไปหรือจดทะเบียนนิติบุคคล ดำเนินธุรกิจบน Lazada มาอย่างน้อย 6 เดือน และมีรายได้รวมเฉลี่ยในรอบ 6 เดือนล่าสุดมากกว่า 500,000 บาทขึ้นไป สามารถยื่นขอสินเชื่อ UOB BizMerchant ได้ และรับสิทธิพิเศษใช้บริการจากเบนโตะเว็บ ฟรี 3 เดือนแรก เพื่อบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน ทั้งในเรื่องการจัดการคลังสินค้า การคำนวณค่าจัดส่ง บริหารคำสั่งซื้อจากหลายช่องทาง การตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย เป็นต้น
Kbank Lazada (Xpress Loan)
จุดเด่นอยู่ที่การอนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องใช้หลักประกัน ไม่ต้องมีเอกสาร และฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยวงเงินกู้จาก 20,000 – 600,000 บาท เพื่อช่วยให้ผู้ขายออนไลน์บนลาซาด้า มีเงินทุนเพื่อหมุนเวียนและต่อยอดได้ทันความต้องการของธุรกิจ
โดยผู้กู้ต้องเปิดร้านกับ Lazada มาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีประวัติการค้าขายที่ดี มียอดขายสม่ำเสมอ มีความน่าเชื่อถือเเละมีการเปิดบัญชีกับธนาคารกสิกรไทย โดยจะได้รับการอนุมัติผ่านเเอปพลิเคชั่นอย่างเร็วที่สุดคือ 1 นาที เงินโอนเข้าบัญชีทันที เเละต้องดูเป็นรายบุคคล ซึ่งลาซาด้าจะเป็นผู้รับรองให้ว่าผู้ประกอบการว่าโปรไฟล์ดีพอจะกู้ผ่านหรือไม่
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น จะมีการคิดเเบบ Personalised Interest Rate ที่คิดดอกเบี้ยในอัตราตามรายบุคคล เช่นหากคุณทำการค้าขายบน Lazada มายาวนาน ยอดขายสม่ำเสมอ รายได้ดี ก็จะได้รับดอกเบี้ยต่ำมากเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา กสิกรไทยได้ประกาศความร่วมมือกับ ช้อปปี้ (Shopee) โดยมีการให้ “เงินกู้ธุรกิจออนไลน์” (MADFUND) ของร้านค้าบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ ไม่ต้องยื่นเอกสาร ไม่ต้องมีหลักประกัน สมัครง่ายผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS คัดกรองผู้รับสินเชื่อจากข้อมูลรายได้ และพฤติกรรมการค้าขายอื่น ๆ ประกอบกัน ด้วยวงเงินอนุมัติสูงสุด 600,000 บาทเช่นเดียวกัน
- อ่านเพิ่มเติม : ศึกช้างชนช้างสงครามอีคอมเมิร์ซอาเซียน Lazada VS Shopee แข่งชิงบัลลังก์ JD Central มาแรงตลาดไทย
มองอนาคต ตลาดขายของออนไลน์ไทย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ได้เริ่มจัดเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2557 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท เติบโต 10.4% และปี 2561 มูลค่าพุ่งไปที่ 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 14.0%
ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสะสมต่อปีอยู่ที่ 33% ระหว่างช่วงปี 2558-2562 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ เป็น 18,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2568 (อ้างอิงข้อมูลจาก Google, Temasek, Bain & Company e-Conomy SEA 2019 Report)
แจ๊ค จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวถึงความเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในอาเซียนเเละไทยว่า มีการเติบโตเป็นเท่าตัวเเละมีจำนวนผู้ซื้อโตกว่า 100% อย่างไรก็ตาม เเม้ตัวเลขจะดูเยอะเเต่คิดเป็นเพียง 3% ของภาพรวมทั้งหมด ด้วยจีนมีอยู่ถึง 20% เเละสหรัฐฯ อยู่ที่ 15% เเละนี่คือข้อบ่งชี้ว่าตลาดไทยเเละอาเซียนยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีก จึงเป็นเป้าหมายของลาซาด้าที่ต้องการจะยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเพราะเชื่อว่าไม่มีแบรนด์ใดใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไปสำหรับการประสบความสำเร็จในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ในขณะที่ จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “การที่มีผู้ซื้อขายผ่านเเชทออนไลน์ในไทยมากขึ้นนั้นเป็นการผสมผสานข้อดีของการซื้อขายสินค้าในโลกออนไลน์เเละออฟไลน์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนประเทศอื่น โดยในไทยจะเป็นการพูดคุยเเบบ treat me like a friend ให้ความรู้สึกสนิทสนม ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจ เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่เน้นความเป็นสังคมและชุมชน เเละนั่นคือจุดเด่นของการขายสินค้าผ่านการเเชทออนไลน์ที่กำลังเติบโตนี้”
ผู้บริหาร Facebook มองว่า ในปี 2020 องค์กรหรือบริษัทห้างร้านใหญ่ จะกระโดดเข้ามาในตลาด Conversational Commerce มากขึ้น หลังจากผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SMEs คลองตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยมานาน ซึ่งธุรกิจก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันรับเทรนด์นี้
อ่านเพิ่มเติม : รู้จัก Conversational Commerce คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่าน “แชท” มากสุดในโลก