จากวันแรกที่อบขนมวันละ 4 ชิ้น มาถึงปัจจุบันที่ส่งลูกค้าวันละมากกว่า 100 ออเดอร์ แบรนด์ขนมปังไร้แป้ง-ไร้น้ำตาล “Dancing with a Baker” เติบโตถึงจุดนี้ด้วยเวลาเพียงปีเดียว จากนวัตกรรมสินค้า กิมมิกการตลาด พร้อมประสบการณ์จริงของคนลดน้ำหนัก ส่งให้แบรนด์ติดตลาดในกลุ่มผู้รับประทานอาหารแบบ “คีโตเจนิก”
“ผมไม่ส่องกระจกเลยครับช่วงนั้น” ตรัย สัสตวัฒนา ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Dancing with a Baker ย้อนความหลังเมื่อราว 2 ปีก่อนให้ฟัง เขาเคยหนัก 130 กิโลกรัม กลายเป็นคนที่มีภาวะอ้วน และเมื่อไม่มั่นใจในรูปร่างของตนเอง ความรู้สึกนี้ก็ส่งผลกระทบถึงชีวิตโดยรวมไปด้วย
ในที่สุด พีรดา ศุภรพันธ์ ภรรยาคู่ชีวิตและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Dancing with a Baker จึงแนะนำว่าถ้าหยุดกินไม่ได้ ทำไมไม่ทำอาหารที่ชอบกินเอง แต่ดัดแปลงให้เป็นอาหารที่กินแล้ว ‘ไม่อ้วน’
เป็นที่มาของการลงมือหาข้อมูลการกินอาหารแบบ “คีโตเจนิก” กินไขมันดีไล่ไขมันเสีย ตัดแป้ง ตัดน้ำตาล จากพื้นฐานทางบ้านของตรัยซึ่งเป็นโรงอบขนมปังใน จ.สงขลา และการหาความรู้เชิงวิชาการจากหนังสือบวกกับโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้เขาพัฒนาสูตรทำขนมปังไร้แป้งไร้น้ำตาลแบบของตัวเองได้ โดยดัดแปลงเป็น “ขนมปังไร้แป้ง” ที่ทำจาก Wheat Protein ต่างจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดช่วงนั้นที่มักจะทำจากไข่ขาว
ผลจากการทานขนมปังสูตรใหม่แทนข้าวเพื่อตัดน้ำตาลเป็นเวลา 3 เดือน ตรัยสามารถลดน้ำหนักได้กว่า 30 กิโลกรัม กลับมาเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวเลขสองหลักอีกครั้ง
“มันเปลี่ยนข้างในเขาด้วยค่ะ จากคนที่ไม่มั่นใจ ไม่มีความสุข ก็กลับมาเป็นคนที่มีความสุขอีกครั้ง” พีรดากล่าว
เรื่องต่อจากนั้นก็คล้ายกับคนทำขนมโฮมเมดอื่นๆ คือเมื่อทำทานเองแล้วดีก็อยากจะแบ่งปันให้คนอื่นด้วย โดยตรัยบอกว่าทีแรกเขาตั้งใจจะทำแจกเพราะอยากให้คนอื่นลดน้ำหนักสำเร็จบ้าง แต่ภรรยาห้ามไว้ว่าควรจะจำหน่ายดีกว่า เพราะต้นทุนไม่ใช่น้อยๆ
โตจากพลัง “การบอกต่อ”
สองสามีภรรยาอดีตนักกฎหมาย ลงทุนเปิดร้านแรกที่ ซ.จุฬาฯ 9 โดยกระแสสินค้าของ Dancing with a Baker เกิดจุดติดด้วยความบังเอิญ เพราะลูกค้ารายหนึ่งชิมขนมปังแล้วชอบจึงรีวิวสินค้า ให้ในกรุ๊ป Facebook กลุ่มคนทานอาหารคีโตเจนิกที่มีสมาชิกอยู่ 90,000 คน (ในเวลานั้น) ผลคือยอดคำสั่งซื้อเต็มล่วงหน้าไป 1 เดือน เนื่องจากเตาอบช่วงนั้นยังทำได้แค่วันละ 4 ชิ้น
สินค้าที่ขายจนถึงปัจจุบันมี 3 อย่างหลัก คือ น้องหนมปังกลม น้องหนมปังเหลี่ยม และ น้องเลิฟ ทุกชนิดเป็นขนมปังไว้สำหรับทานคู่กับอาหารอย่างอื่น เป็นสิ่งที่ใช้แทนการกินแป้งหรือข้าวในแต่ละมื้อ เพียงแต่วัตถุดิบและกรรมวิธีผลิตทำให้เนื้อสัมผัสขนมปังแต่ละชนิดต่างกัน ราคาเริ่มต้นชิ้นละ 149 บาท
จากกระแสการบอกต่อในกลุ่ม กับการทำการตลาดบนอินเทอร์เน็ต สร้างเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องการทานคีโตฯ การลดความอ้วน และข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันแบรนด์ย้ายมาผลิตย่านเสนานิคม โดยมีออร์เดอร์สั่งซื้อออนไลน์มากกว่าวันละ 100 ออเดอร์ และได้เข้าไปวางขายในร้านเลม่อนฟาร์ม รวมถึงร้านอาหารสุขภาพอื่นๆ รวม 115 ร้านทั่วประเทศ
วางแบรนด์ให้เป็น “เพื่อน” ของคนลดน้ำหนัก
ปัจจัยที่ทำให้ Dancing with a Baker โตได้ มาจากการทำสินค้านวัตกรรม โดยพีรดากล่าวว่า แบรนด์เป็นเจ้าแรกในตลาดที่ทำขนมปังไร้แป้งไร้น้ำตาลด้วย Wheat Protein และผู้บริโภคบอกต่อเนื่องจากลองทานแล้วได้ผลในการลดน้ำหนัก อีกทั้งราคาที่เทียบกับขนมปังไร้แป้งไร้น้ำตาลยี่ห้ออื่นจัดว่าราคาคุ้มค่า ก็ทำให้คนซื้อซ้ำได้ง่าย
ตัวสินค้ายังพัฒนาให้เป็นที่จดจำในตลาดจากชื่อผลิตภัณฑ์น่ารักๆ และยังดัดแปลงรูปทรงขนมปังให้เป็น “ทรงแบน” ขนส่งใส่กล่องพัสดุได้ง่าย เก็บในตู้เย็นง่าย ล้วนตรงกับเทรนด์ผู้บริโภคยุคนี้
นอกจากนี้ การตลาดที่ใช้ความจริงใจ ความรู้ ประสบการณ์จริงของคนลดน้ำหนัก นำมาแชร์ผ่านโลกออนไลน์ ก็มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วย
“ผมเชื่อมาตลอดว่าเราขายไลฟ์สไตล์ เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเขาไม่ได้เปลี่ยนการกินมาก ให้เขามีความสุข” ตรัยกล่าว โดยเขาวางการสื่อสารแบรนด์ให้เป็นเหมือน “เพื่อน” ที่เคยผ่านความยากลำบากของการลดน้ำหนักมาก่อน เป็นผู้ช่วยให้ความรู้และกำลังใจเพื่อนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ ตรงกับเป้าหมายสูงสุดของผลิตภัณฑ์ที่ทำมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการกิน
ผมเชื่อมาตลอดว่าเราขายไลฟ์สไตล์ เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเขาไม่ได้เปลี่ยนการกินมาก ให้เขามีความสุข
ฝันใหญ่ไปสู่การเป็นซัพพลายเออร์ให้ Horeca
อนาคตของขนมปังไร้แป้งที่วันนี้ยังอยู่ในกลุ่ม “นิช มาร์เก็ต” แน่นอนว่าถ้าหากจะขยายตลาดย่อมเกี่ยวพันกับการทำให้อาหารสุขภาพแบบนี้เข้าถึงตลาดแมสได้มากขึ้น
แต่อุปสรรคของอาหารสุขภาพในตลาดแมสคืออะไร? ตรัยมองว่าหากเปรียบเทียบกลุ่มคน 100 คน ทุกคนย่อมต้องการมีสุขภาพดี แต่คนครึ่งหนึ่งยังไม่ทานอาหารสุขภาพเพราะติดปัญหา 2 อย่างเท่านั้นคือ “รสชาติ” กับ “ราคา”
ประเด็นเรื่องรสชาติคือหลายคนมีทัศนคติว่า “อาหารสุขภาพ = ไม่อร่อย” ซึ่งตัวเขาเองมีการปรับสูตรอย่างต่อเนื่องจนเชื่อว่ารสชาติใกล้เคียงขนมปังปกติ แต่จะกระตุ้นให้เข้าถึงคนทั่วไปมากกว่านี้ วัตถุดิบแบบนี้ต้องเข้าไปอยู่ในร้านอาหารเพื่อทำเป็นเมนูน่าทาน ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าทานได้ รสชาติดี
View this post on Instagram
ขณะนี้เขากำลังติดต่อเชฟ 2-3 รายเพื่อพัฒนาเมนูร่วมกันโดยใช้ขนมปัง Dancing with a Baker เป็นวัตถุดิบ และมองไกลว่าวันหนึ่งขนมปังไร้แป้งอาจจะได้จัดส่งเข้ากลุ่มธุรกิจ Horeca (Hotel Restaurant and Catering) เป็นช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นเรื่องราคา ตรัยกล่าวว่าขนมปัง 1 ชิ้น สามารถแบ่งทานได้ 2-3 มื้อ ราคาจึงตกมื้อละ 50-70 บาท (ไม่รวมวัตถุดิบที่ทานคู่กันอื่นๆ) “ผมว่ามันเท่ากับชาไข่มุก 1 แก้วนะครับ” ตรัยกล่าว โดยเขามองว่าราคานี้เป็นราคาที่คนลดน้ำหนักรับได้ แต่ถ้าหากการผลิตได้มากกว่านี้จะทำให้ต้นทุนลดลง ราคาลดลง เข้าถึงคนได้มากขึ้น เขาก็ต้องการจะไปในทิศทางนั้น โดยปัจจุบันร้านอบขนมย่านเสนาฯ เต็มกำลังผลิตแล้ว และเขากำลังมองที่ทางเพื่อขยับขยายเพิ่ม
“ภาระค่าใช้จ่ายพวกนี้เราจะไม่ยอมโยนไปให้ลูกค้าเด็ดขาด ผมจะถามตัวเองตลอดว่า ถ้าเราเป็นลูกค้าเราจะซื้อไหม จะซื้อซ้ำไหม” ตรัยกล่าว “สิ่งที่เราอยากจะส่งต่อไปให้ลูกค้าคือ ถ้าเกิดว่าคุณเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราก็อยากชวนเดินไปด้วยกัน”