33% ของ “บริษัทญี่ปุ่น” มีแผนลดใช้ออฟฟิศแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังไม่ให้ Work from Home

(Photo by Carl Court/Getty Images)
ผลสำรวจบริษัทในญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้พบว่า มีบริษัท 65% ที่อนุญาตหรือกระตุ้นให้พนักงาน Work from Home เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แต่มีเพียง 33% ที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับเปลี่ยนการรวมศูนย์สำนักงานไว้ที่เดียวแบบดั้งเดิม แต่การปรับเปลี่ยนนี้ก็ยังต่อต้านการทำงานจากบ้านในระยะยาว

รายงานข่าวจากผลสำรวจของ Reuters Corporate Survey ร่วมกับ Nikkei Research ในญี่ปุ่นที่จัดสำรวจขึ้นเมื่อวันที่ 3-13 สิงหาคมนี้ ทีมวิจัยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่และขนาดกลาง (ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเงิน) จำนวน 495 แห่ง

ผลสำรวจพบว่า บริษัท 65% มีนโยบายอนุญาตหรือกระตุ้นให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from Home) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดย 62% ของบริษัทที่สำรวจกล่าวว่า บริษัทมีการลดการใช้งานออฟฟิศไป 10-20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

(Photo : Shutterstock)

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดที่ยาวนาน บีบให้องค์กรและวิธีการทำงานแบบญี่ปุ่นต้องปรับตัว ทำให้บางบริษัทมีแผนพิจารณาปรับเปลี่ยนการจัดการสำนักงานมากขึ้น โดย 33% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าองค์กรกำลังเปลี่ยนนโยบายการเช่าสำนักงานในรูปแบบดั้งเดิม

จากกลุ่มบริษัทที่จะมีการปรับนโยบายเช่าสำนักงานใหม่ 48% ตอบว่าบริษัทพิจารณาจะเปลี่ยนไปตั้งสำนักงานย่อยเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายพนักงานออกจากกัน 33% เตรียมจะยกเลิกสัญญาเช่าปัจจุุบันเพราะจะลดขนาดบริษัท และมีบริษัท 10% ที่พิจารณาไปใช้พื้นที่ในโคเวิร์กกิ้งสเปซ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบด้วยว่าเกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทเหล่านี้ไม่มีการพิจารณานโยบาย Work from Home ระยะยาว ดังที่เห็นว่าแม้แต่บริษัทที่จะปรับการใช้สำนักงาน ก็ยังเป็นนโยบายการกระจายสำนักงานย่อยมากกว่า นั่นหมายถึงว่าพนักงานยังต้องเข้าออฟฟิศอยู่เหมือนเดิม สะท้อนภาพวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ยังแข็งแรง

 

พนักงานญี่ปุ่น 20% เท่านั้นที่ได้ทำงานจากบ้าน

ผลสำรวจนโยบายบริษัทของ Reuters พบว่ามีบริษัทถึง 65% ที่กระตุ้นและอนุญาตให้พนักงาน Work from Home นับว่าเพิ่มขึ้นมาก หากเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่มีบริษัทถึง 87% ตอบว่าบริษัทไม่อนุญาตให้พนักงาน Work from Home เด็ดขาด โดยช่วงที่สำรวจเป็นช่วงต้นเดือนที่ไวรัสโคโรนาเพิ่งเริ่มแพร่ระบาดออกนอกประเทศจีน

แต่เมื่อมาดูภาพความเป็นจริงจากการสำรวจโดย Japan Productivity Center เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า มีพนักงานญี่ปุ่นที่ทำงานจากบ้านเพียง 20.2% และเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากเดือนพฤษภาคมซึ่งมีคนทำงานจากบ้าน 31.5% โดยในขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ตัวเลขนี้สวนทางกับความต้องการของรัฐบาล โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งร้องขอให้แต่ละบริษัทจัดให้พนักงาน Work from Home อย่างน้อย 70% ของทั้งหมด เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รวมไปถึงขอให้ปรับกิจกรรมในบริษัท ไม่ให้มีการประชุมหรือรวมกลุ่มขนาดใหญ่ ซึ่งหมายรวมถึงงานเลี้ยงสังสรรค์หลังเลิกงานที่เป็นวัฒนธรรมชาวออฟฟิศญี่ปุ่นด้วย

 

วัฒนธรรม “คนขยัน” ที่ปรับเปลี่ยนยาก

แม้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้บริษัทเอกชนเปิดให้พนักงานทำงานจากบ้านได้มากขึ้น เนื่องจากต้องการต่อสู้กับสถานการณ์สังคมสูงวัยจนประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการให้กลุ่ม “แม่บ้านญี่ปุ่น” ที่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน สามารถเข้าทำงานได้ด้วย โดยทำงานแบบ Work from Home

วัฒนธรรมออฟฟิศญี่ปุ่นต้องการการปฏิสัมพันธ์สูงมาก เช่น มีงานเลี้ยงสังสรรค์ของพนักงานหลังเลิกงาน (Photo : Shutterstock)

แต่การนำนโยบายนี้มาใช้จะขัดกับวัฒนธรรมการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศญี่ปุ่นอย่างยิ่ง “ปาริสซา ฮาจีเรียน” ศาสตราจารย์ด้านการจัดการระดับสากล มหาวิทยาลัยโซเฟีย กรุงโตเกียว กล่าวว่า โครงสร้างการทำงานในออฟฟิศญี่ปุ่นจะให้ค่ากับพนักงานทั่วไปที่ทำงานเป็นทีม มากกว่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่ทำงานคนเดียว

เธอกล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานในออฟฟิศญี่ปุ่นจะไม่มีการแบ่งแยกชัดเจนเหมือนโลกตะวันตก ดังนั้นการทำงานคนเดียวจะเป็นไปได้ยาก และออฟฟิศญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานสูง

“โครงสร้างนี้ต้องการให้ทุกคนอยู่พร้อมหน้ากัน (ในที่ทำงาน) และทำทุกอย่างร่วมกัน ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลงวิถีเหล่านี้” ฮาจีเรียนกล่าว

จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่มีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็มีพนักงานญี่ปุ่นไม่มากนักที่มีโอกาสทำงานจากบ้าน และเหตุการณ์นี้ก็ยังไม่อาจเปลี่ยนมุมมองการบริหารองค์กรญี่ปุ่นที่ฝังรากลึกได้

Source: Reuters, The Japan Times, The Straits Times