ข่าวร้ายเรื่องการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมการบินยังคงมีต่อเนื่อง ไม่เว้นเเม้เเต่สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง American Airlines ล่าสุดออกมาประกาศว่า เตรียมจะเลิกจ้างพนักงานกว่า 19,000 คน “โดยไม่สมัครใจ” ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ขยายโครงการช่วยเหลือต่อ
ก่อนหน้านี้ American Airlines บอกว่า จำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงอย่างน้อย 40,000 คน จากจำนวนทั้งหมด 133,700 คนทั่วโลก เพื่อประคองธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19 โดยในจำนวนนี้ 12,500 คน ตกลงที่จะออกจากบริษัทด้วยการเกษียณอายุก่อนกำหนด ตั้งเเต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เเละยังมีอีก 11,000 คน ตกลงที่จะลาออกโดยสมัครใจในเดือนต.ค.นี้
“แม้จะมีการเสียสละของสมาชิกในทีมไปแล้วก็ตาม แต่ยังจะมีพนักงานอีก 19,000 คนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยไม่สมัครใจ ในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ เว้นแต่จะมีการขยายความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง” Doug Parker ซีอีโอของ American Airlines ระบุในจดหมายที่ส่งถึงพนักงาน
สำหรับโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย CARES Act ได้ให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ มากถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) โดยมีข้อกำหนดว่า สายการบินไม่สามารถปลดพนักงานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งกำลังจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้
American Airlines เคยประกาศเตือนพนักงานราว 25,000 คน เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ว่ากำลัง “ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง” ที่อาจจะต้องสูญเสียตำเเหน่งงานในช่วงเดือนต.ค. พร้อมกับการปรับเเผนลดเที่ยวบินในช่วงไตรมาส 4 ที่จะลดเที่ยวบินภายในประเทศให้เหลือไม่ถึง 50% และลดบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศให้เหลือเพียง 25% เท่านั้น
ขณะที่กลุ่มสายการบินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการเจรจาความช่วยเหลือเพิ่มเติมกับรัฐบาลกลาง แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อตกลงที่เเน่ชัด
ฝั่งสายการบินยักษ์ใหญ่อีกเจ้าอย่าง United Airlines ประกาศเตรียมเลิกจ้างงาน 36,000 ตำเเหน่ง นับเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมดในสหรัฐฯ พร้อมกับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 5,000 ล้านเหรียญที่นำมาจ่ายค่าจ้างภายใต้กฎหมาย CARES Act ก็กำลังจะหมดลงเช่นกัน
ด้านความต้องการเดินทางโดยเครื่องบินในสหรัฐฯ ยังชะลอตัวเเละจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินลดฮวบลงถึง 75% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.ปีที่เเล้ว อันเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางทางอากาศลดลงถึง 95% สายการบินทั่วโลก รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ทยอยปลดพนักงานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย หลายสายการบินถึงขั้นยื่นล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการในช่วงนี้
- ยื้อไม่ไหว ! สายการบินราคาประหยัด “Tigerair Australia” ประกาศเลิกกิจการ หลังเจอมรสุม COVID-19
- อุตสาหกรรมการบิน “ฟื้นตัวช้า” IATA คาดต้องรอถึงปี 2024 กว่าจะกลับมาได้เท่าช่วงก่อน COVID-19