กลายเป็นทิศทางของร้านกาแฟหลายแห่ง ที่เริ่มมีการสร้างโมเดลใหม่ โดยการให้โอกาสผู้พิการมาเป็นบาริสต้าชงกาแฟ โดยพามาถอดรหัสร้าน Cafe Amazon for Chance ภายใต้ตระกูล Cafe Amazon มีแนวคิดในการเริ่มต้นทำโครงการนี้อย่างไร จนปัจจุบันสามารถสร้างงานให้กับผู้พิการไปแล้วกว่า 33 คน
ทาง Positioning ขอพาไปเปิดข้อมูลเรื่องหน้ารู้ทั้ง 10 ข้อ ของ Cafe Amazon for Chance
1. หนึ่งในยูนิตเพื่อสังคม
โครงการ Cafe Amazon for Chance เริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2017 ตอนนี้ก็มีอายุได้ราวๆ 2 ปี 4 เดือน จุดเริ่มต้นในตอนนั้นทางกลุ่ม ปตท.ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคม จึงได้จัดตั้ง บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ SPSE เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมโดยเฉพาะ
จากนั้นก็มองเห็นว่าในกลุ่ม ปตท.ได้มีร้าน Cafe Amazon เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่ จึงลองศึกษาและปรับวิธีการทำงาน และมองไปยังกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
Cafe Amazon for Chance สาขาแรกตั้งอยู่ที่ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีบาริสต้าเป็นผู้พิการทางการได้ยิน
ก่อนหน้านี้มีโครงการทางกลุ่ม ปตท.ได้สร้าง PTT Group Lounge @ สนามปั่นเจริญสุข มงคลจิต เป็นเลานจ์ให้บริการคนปั่นจักรยานที่สุวรรณภูมิมาใช้งาน มีห้องอาบน้ำ ห้องนั่งเล่น ได้ให้โอกาสผู้สูงอายุมาทำงานที่นี่
เป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องการให้ผู้พิการมีรายได้ มีงานทำ ส่วนกำไรที่ได้นั้นก็นำไปลงทุนต่อไปในภายภาคหน้า
2. ทำไมต้องบาริสต้าผู้พิการด้านการได้ยิน
บาริสต้าของร้าน Cafe Amazon for Chance จะประกอบไปด้วยผู้พิการ 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ออทิสติก, ทหารผ่านศึก, ผู้สูงวัย และผู้พิการด้านการได้ยิน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้พิการด้านการได้ยินสัก 80%
เหตุผลที่คนกลุ่มนี้เยอะที่สุด เพราะว่าในประเทศไทยมีผู้พิการด้านการได้ยินเยอะเป็นอันดับ 2 รองจากผู้พิการทางร่างกาย เมื่อได้ข้อมูลทางสถิติแล้ว ก็ทำการศึกษาตลาด และพฤติกรรมของคนพิการว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ มีปัญหาตรงไหนบ้าง
จากการศึกษาก็พบว่า ผู้พิการด้านการได้ยินจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร ภาษามือจะแตกต่างจากคนทั่วไป อย่างถ้าทำร้านกาแฟ เขาจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องกาแฟทำงานเท่าไหร่ อาจจะต้องใช้พื้นที่ในส่วนของการทำงานมากขึ้นกว่าร้านปกติ จากปกติ 90 เซนติเมตร เป็น 120 เซนติเมตร
ทำให้งบลงทุนของร้าน Cafe Amazon for Chance มากกว่าร้านปกติ 10% เพราะต้องมีเทคโนโลยีที่มารองรับการทำงานมากขึ้น เช่น เครื่องเรียกคิวอัตโนมัติ หน้าจอ 2 ด้าน ให้ลูกค้ากดสั่งเองได้ ต้องดีไซน์ภาษามือให้ลูกค้า และบาริสต้าเข้าใจตรงกัน
3. คนพิการมีความอดทนสูง เทิร์นโอเวอร์ต่ำ!
แม้ผู้พิการด้านการได้ยินจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร แต่ในเรื่องการทำงานแล้ว คนพิการจะมีความอดทนสูงมากกว่าคนธรรมดา เพียงแค่ต้องมีตัวช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกมากกว่าปกตินิดหน่อย
ที่สำคัญคือ พนักงานกลุ่มนี้จะมีอัตราเทิร์นโอเวอร์ต่ำ หรืออัตราการลาออกจากงานต่ำกว่าตลาด มีประมาณ 5% เท่านั้น จากปกติในตลาดร้านกาแฟมีอัตราเทิร์นโอเวอร์เฉลี่ย 30%
แต่จะต้องมีการใช้เวลาเทรนพนักงานนานกว่าคนทั่วไป 1-2 เดือน เช่น คนทั่วไปใช้เวลาเทรน 1 เดือน แต่ผู้พิการด้านการได้ยินใช้เวลาเทรนงาน 2 เดือน ส่วนผู้พิการออทิสติกเทรน 6 เดือน แต่จะมีความยั่งยืนมากกว่า ลาออกน้อยกว่า
4. 10 สาขา สร้างงานให้คนพิการ 33 คน
ตอนนี้ร้าน Cafe Amazon for Chance มีทั้งหมด 10 สาขา ในแต่ละร้านจะมีการบริหารจัดการที่ผสมผสานทั้งพนักงานทั่วไป และพนักงานผู้พิการ แต่จะมีคนพิการ 60% เพื่อให้ได้ช่วยเหลือกันได้ ปัจจุบันมีพนักงานผู้พิการ 33 คน คนทั่วไป 29 คน
การมีพนักงานผสมผสานกันนั้น จะสามารถช่วยในการสื่อสาร หรือสลับช่วงการทำงานกันได้ เช่น ในช่วงเวลาพีคๆ เช่น ช่วงเข้าที่คนจะสั่งเครื่องดื่มเยอะๆ พนักงานทั่วไปจะคอยรับออเดอร์มากกว่า เนื่องจากบางทีจะมีการสื่อสารที่ค่อนข้างช้า ในช่วงเวลาที่ทราฟฟิกไม่เยอะมาก ก็จะสลับให้ผู้พิการมาทำ
ในแต่ละสาขาจะมีบาริสต้าที่เป็นผู้พิการในธีมเดียวกัน เช่น เป็นผู้พิการทางด้านการได้ยินทั้งหมด หรือเป็นผู้สูงวัยทั้งหมด เพราะเคยทำสาขาที่เบลนด์หลายกลุ่มเข้าด้วยกัน ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มีการบริหารจัดการยาก จึงพยายามทำให้แต่ละสาขาเป็นธีมเดียว
5. คนพิการก็มีโอกาสก้าวหน้า!
บาริสต้าของ Cafe Amazon for Chance จะมีหน้าที่ชงเครื่องดื่ม รับออเดอร์ บริหารจัดการร้าน นอกจากนี้ยังมีการสอนในเรื่องอื่นๆ เช่น สอนทำออเดอร์ ทำบัญชี ไปธนาคาร เบิกเงิน
แม้จะเป็นผู้พิการแต่เมื่อยู่ในร้านนี้ก็มีโอกาสก้าวหน้าเหมือนกับร้านทั่วๆ ไปเช่นกัน ถ้าคนคนนั้นมีความพร้อมก็สามารถโปรโมตเลื่อนขั้นได้
โดยที่หลักการคัดเลือกพนักงานมาเป็นบาริสต้าของที่นี่ หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องมีใจรักบริการ ไม่เป็นโรคร้าย ร่างกายแข็งแรง และมีทัศนคติที่ดี ที่สำคัญคือ คนกลุ่มนี้จะไม่เลือกงาน เขาจะรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของร้าน
6. โลเกชันต้องมีทราฟฟิก แต่ไม่จอแจเกินไป
การเลือกโลเกชันในการขยายสาขาของ Cafe Amazon for Chance ไม่แตกต่างจากร้านอื่นๆ เท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะดูที่ทราฟฟิกเยอะ เพื่อให้มียอดขายดี แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานศึกษา, โรงพยาบาล, สถานที่ราชการ เพิ่งมีสาขาที่ The Offices @ Central World ที่อยู่อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าเป็นครั้งแรก
การเลือกโลเกชันของร้านก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องดูไปถึงกำลังความสามารถของบาริสต้า พนักงานผู้พิการ ต้องดูว่าถ้าทราฟฟิกเยอะแบบอยู่ในศูนย์การค้า ทางบาริสต้าจะรับมือไหวหรือไม่
7. นำร่องขายเบเกอรี่ฝีมือผู้พิการ
นอกจากการจ้างงานให้ผู้พิการแล้ว Cafe Amazon for Chance สาขา The Offices @ Central World เป็นสาขาที่ 2 ที่นำร่องขายเบเกอรี่จากฝีมือผู้พิการในความดูแลของมูลนิธิศูนย์พัฒนา และฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชีย และแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Development Center on Disability (APCD) ภายใต้ธุรกิจร้านกาแฟ และเบเกอรี่ชื่อว่า 60+ Bakery and Chocolate Cafe
โดยกลุ่มผู้พิการที่เข้ามาฝึกอาชีพในร้าน จะเป็นผู้พิการทุกประเภทอายุตั้งแต่ 17-65 ปี ทั้งผู้พิการทางร่างกาย ด้านการมองเห็น ด้านการได้ยิน ความบกพร่องทางจิต ออทิสติก สติปัญญา และการเรียนรู้
8. ผู้หญิงเยอะกว่า รักบริการมากกว่า
บาริสต้าของร้าน Cafe Amazon for Chance มีอายุเฉลี่ย 40 กว่าปี เพราะมีกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ทำให้ค่าเฉลี่ยของอายุจึงสูง แต่จริงๆ แล้วบาริสต้ามีหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ผู้สูงอายุ เด็กจบใหม่ หรือคนที่จบ ป.4 ก็มี โดยส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงรักงานบริการมากกว่า
9. สาขา The Offices @ Central World กับพาร์ตเนอร์ Agoda
สาขานี้เป็นสาขาที่ 10 เป็นสาขาแรกที่อยู่โลเกชันใจกลางเมือง ได้รับการสนับสนุนจาก Agoda ในเรื่องการลงทุนต่างๆ
เหตุผลที่ทาง Agoda ร่วมสนับสนุนร้านนี้ เพราะทาง Agoda เองมีนโยบายในเรื่องการตอบแทนสังคม สนับสนุน ให้คุณค่ากับความสามารถที่หลากหลายของพนักงาน อีกทั้งยังอยากให้พนักงาน Agoda ได้สัมผัสกับผู้ด้อยโอกาส
สาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์จะมีบาริสต้าเป็นผู้พิการด้านการได้ยิน 3 คน และบาริสต้าทั่วไป 3 คน
10. ปีหน้ามีอีก 2-3 สาขา
ภายในปีนี้มีแผนที่จะเปิด Cafe Amazon for Chance อีก 2 สาขา ได้แก่ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ระยอง มีบาริสต้าเป็นผู้สูงวัย กลุ่ม อสม. และสาขาโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มีบาริสต้าเป็นผู้พิการทางการเรียนรู้ ส่วนในปีหน้ามีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 2-3 สาขา