“แบรนด์เนมมือสอง” โต 200% คนไทยประหยัดงบต่อชิ้น เน้นแฟชั่นหรูเปลี่ยนเร็วมากขึ้น

SF Brandname เพจขาย “แบรนด์เนมมือสอง” บนโซเชียลมีเดีย ชี้ตลาดนี้ยิ่งขายดีเมื่อเศรษฐกิจซบเซา เพราะคนไทยหันมาเลือกมือสองเพื่อประหยัดงบ ส่งให้ยอดขายของร้านปีนี้เติบโตถึง 200% ปี 2564 เตรียมยกระดับเปิดเว็บไซต์ขายแบรนด์เนมมือสอง ตอบรับดีมานด์ที่มากขึ้น

เศรษฐกิจไทยติดพิษ COVID-19 ในปีนี้ แต่หนึ่งในธุรกิจที่ยังขายดีและยิ่งดีขึ้นไปอีกคือ “แบรนด์เนมมือสอง” โดย “สมฤทัย สางชัยภูมิ” ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน SF Brandname (เอสเอฟ แบรนด์เนม) เปิดเผยกับ Positioning ว่า ตลาดแบรนด์เนมมือสองปี 2563 ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และคึกคักมากขึ้นด้วย โดยยอดขายของร้านเองเติบโตขึ้นถึง 200% และมีกระเป๋าเข้ามาฝากขายกับร้านหมุนเวียน 6,000 รายการต่อปี

ปัจจัยบวกคาดว่ามาจากเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ลูกค้าบางกลุ่มเลือกจะประหยัดงบมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาตลอดอยู่แล้วคือ กลุ่มลูกค้าที่เข้าใจว่าการซื้อขายแบรนด์เนมนั้น “ซื้อง่ายขายคล่อง” กว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องซื้อมือหนึ่งแล้วเก็บไว้นาน สามารถซื้อมือสองและเปลี่ยนใหม่ได้ตลอดเวลา

“กลุ่มลูกค้าซื้อแบรนด์เนมมือหนึ่งกับมือสองจะมองต่างกัน คนซื้อมือหนึ่งคือต้องการซื้อเป็นรางวัลชีวิตให้ตนเองหรือซื้อเป็นของขวัญ แต่คนซื้อมือสองคือคนที่รักแฟชั่นแบรนด์เนม ต้องการเปลี่ยนแฟชั่นเรื่อยๆ ทำให้คนกลุ่มนี้ถ้าเจอของที่ชอบจะซื้อเลย” สมฤทัยกล่าว “ลูกค้าที่ซื้อมือสองประจำ เดือนหนึ่งจะซื้อหลายชิ้น เพราะเขามีประสบการณ์มาแล้วว่าซื้อมาขายไปได้ง่าย ก็จะตัดสินใจง่าย”

กระเป๋า “แบรนด์เนมมือสอง” ที่ SF Brandname ลงขาย

แนวโน้มของตลาดแบรนด์เนมมือสองในไทยดูเป็นไปในเชิงบวก เพราะเมื่อปีที่แล้ว เครือสหพัฒน์ก็เพิ่งดีลร่วมทุนดึงร้าน Komehyo (โคเมเฮียว) ร้านมือสองจากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย และประเมินว่าตลาดแบรนด์เนมมือสองไทยน่าจะมีมูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท แม้จะเป็นนิชมาร์เก็ตที่มีมูลค่าไม่สูงมาก แต่ผู้ซื้อไทยเป็นนักช้อปกระเป๋าหนักที่บินไปช้อปกันถึงญี่ปุ่น ทำให้ตลาดมีความน่าสนใจ

สมฤทัยให้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไทยว่า ขณะนี้แบรนด์ท็อปในใจคนไทย Louis Vuitton และ Chanel ยังเป็นกระเป๋าที่ขายดีที่สุด โดยราคาเฉลี่ยที่ซื้อจะอยู่ในช่วง 30,000-50,000 บาท และราคาสูงสุดที่ยังคงซื้อขายง่ายคือ 300,000 บาท

 

จากเพจโซเชียล ยกระดับเป็นเว็บไซต์

สำหรับ SF Brandname เกิดจากสองผู้ร่วมก่อตั้ง คือ สมฤทัย สางชัยภูมิ และ วัฒนพล อุทยานะกะ เป็นคู่รักที่ชอบสินค้าแบรนด์เนมเป็นทุนเดิม ทำให้ตัดสินใจตั้งร้านออนไลน์เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนของแบรนด์เนมเมื่อ 5-6 ปีก่อน

เริ่มจากการตั้งร้านแบบโซเชียลคอมเมิร์ซผ่านเพจ Facebook “SFBrandname รับซื้อ ฝากขาย กระเป๋าแบรนด์เนมแท้ มือสอง เน้นหลุยส์” ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 120,000 คน และบัญชี Instagram @sfbrandname มีผู้ติดตามกว่า 211,000 คน มีหน้าร้านเพื่อนัดชมสินค้าที่ 101 True Digital Park

วัฒนพล อุทยานะกะ และ สมฤทัย สางชัยภูมิ ผู้ร่วมก่อตั้ง SF Brandname

ดีมานด์ที่สูงขึ้นทำให้ SF Brandname เปิดเว็บไซต์ www.sfbrandname.com โดยจะเปิดบริการเต็มรูปแบบเดือนมกราคม 2564 สาเหตุที่ต้องเปิดเป็นเว็บไซต์ของตนเอง สมฤทัยมองว่า จะทำให้การซื้อขายคล่องตัวขึ้น เป็นระบบขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซ มีหลายประการ ยกตัวอย่างคือ ระบบยังพึ่งพิงมนุษย์มาก ต้องมีแอดมินถึง 20 คนคอยตอบลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง และทำให้ตกหล่นคำสั่งซื้อได้ง่าย เสียโอกาสการขาย ขณะที่การใช้ “บอท” อัตโนมัติตอบลูกค้า ยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ เพราะแบรนด์เนมมือสองเป็นสินค้าที่แตกต่างกันทุกชิ้น เช่น รายละเอียดรอยตำหนิ ซึ่งบอทอัตโนมัติยังทำงานส่วนนี้ไม่ได้ในการตอบลูกค้า

หน้าเว็บไซต์ sfbrandname.com เปิดตัวสมบูรณ์ปี 2564

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเฉพาะของธุรกิจที่เคยพบคือ บัญชี Instagram ของร้านถูกปิดชั่วคราว เพราะร้านใช้แฮชแท็กของแบรนด์หนึ่งแล้วถูกรายงาน เนื่องจากแบรนด์ทางการเข้าใจว่าร้านจำหน่ายสินค้าปลอม ทำให้ร้านมองเห็นแล้วว่าการฝากตนเองไว้บนโซเชียลมีเดียนั้นไม่มั่นคง

ส่วนการเปิดร้านบนมาร์เก็ตเพลสซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระบบการขายได้ดีกว่า เธอมองว่าก็ยังมีจุดอ่อนเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ซึ่งสำคัญมากกับลูกค้าที่ซื้อของแบรนด์เนม

ดังนั้น SF Brandname จึงตัดสินใจเปิดเป็นเว็บไซต์ เพื่อลงรายละเอียดสินค้าทุกอย่างให้ลูกค้าศึกษาเองได้และสามารถคลิกซื้อเองได้เลย ซึ่งจะทำให้การขายง่ายและเร็ว ลูกค้าซื้อได้สะดวก แต่ร้านจะยังไม่ทิ้งฟีเจอร์แชทผ่านไลน์ หากลูกค้ามีข้อสงสัย เพราะทราบดีว่าลูกค้าไทยยังเคยชินและต้องการพูดคุยกับมนุษย์ก่อนซื้อเพื่อความมั่นใจ

การเปิดเป็นเว็บไซต์ยังทำให้ร้านเพิ่มฟีเจอร์อัตโนมัติต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น Find my bag ให้ลูกค้ากรอกรายละเอียดกระเป๋าที่ตามหาทิ้งไว้ในเว็บไซต์ได้ เมื่อมีผู้ฝากขายกระเป๋าแบบที่ตรงกัน ลูกค้าจะได้สิทธิซื้อก่อน รวมถึงเว็บไซต์ยังเป็นการเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศด้วย เพราะจะทำระบบ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เปิดตัวเองสู่ตลาดสากล

อนาคตหลังเปิดเว็บไซต์ สมฤทัยตั้งเป้าปี 2564 จะทำให้ร้านมียอดขายกระเป๋าเฉลี่ยชั่วโมงละ 10 รายการ และปูทางให้ร้านสามารถเปิดไปสู่ตลาดมือหนึ่งด้วย ในฐานะผู้นำเข้ากระเป๋าประเภท Limited Edition ที่แม้แต่ใน Official Shop ของไทยก็ไม่มีจำหน่าย ซึ่งจะทำให้ร้านเป็นเหมือนกับแหล่งกระเป๋าแบรนด์เนมแบบมัลติแบรนด์