การหายหน้าหายตาไปนานกว่า 2 เดือนของมหาเศรษฐีจีนชื่อก้องโลกอย่าง “เเจ็ค หม่า” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ชาวเน็ตเเละสำนักข่าวทั่วโลกกำลังถามหา
เเจ็ค หม่า สร้างชื่อจากการปลุกปั้นอาณาจักรอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “Alibaba” เรื่องราวชีวิตของเขา เป็นเเรง
บันดาลใจให้ผู้คน จากครูยากจนสู่คนรวยระดับท็อป 20 ของโลก มีทรัพย์สินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
แม้ในปี 2019 เขาจะลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารของ Alibaba ไปแล้ว พร้อมทยอยเทขายหุ้นเรื่อยๆ เพื่อเดินหน้าไปทำงานการกุศล เเต่ก็ยังไม่ได้วางมือจากการดูเเล Ant Group ฟินเทคเจ้าของ ‘Alipay’ แอปพลิเคชันชำระเงินและบริการออนไลน์สุดฮิตของคนจีนที่มีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคน
อนาคตของ Ant Group (เเอนท์ กรุ๊ป) ดูเหมือนจะไปได้สวย เคยถูกประเมินว่าจะดมทุนได้ถึง 3.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นสถิติที่สูงสุดในโลก เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา จนกระทั่งกลายเป็น “IPO ตกสวรรค์” หลังถูกรัฐบาลจีน “เบรก” กะทันหันก่อนเปิดขายหุ้นให้เเก่สาธารณชนเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน
ความชุลมุนวุ่นวายระหว่าง Ant Group เเละรัฐบาลจีนภายใต้การนำของ “สีจิ้นผิง” จุดประเด็นข้อสงสัยในการไม่ปรากฏตัวของ “เเจ็ค หม่า” ในตอนนี้
Ant Group กับการหายตัวของตัวแจ็ค หม่า
สำนักข่าวต่างประเทศโยงเหตุการณ์ IPO ตกสวรรค์ เข้ากับ “คำพูด” ของแจ็ค หม่า ที่ได้เเสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์บนเวทีการประชุมในเมืองเซี่ยงไฮ้ เกี่ยวกับ “ระบบธนาคารจีน” อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเสียโอกาสรับทรัพย์มหาศาลไปในพริบตา
โดย แจ็ค หม่า บอกว่าระบบการเงินและกฎระเบียบด้านการเงินของทางการจีนในปัจจุบัน ขัดขวางการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงินของประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” เพื่อให้มีการเติบโตไปได้
เขายังบอกอีกว่า ธนาคารจีนเป็นเหมือน “โรงรับจำนำ” ที่ต้องใช้หลักประกันมูลค่าสูง ผลคือบางบริษัทต้องตัดสินใจลงทุนให้ใหญ่เกินและต้องห้ามล้มเหลว
มีข่าวลือว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ค่อยพอใจที่เเจ็ค หม่าพูดในแง่ลบถึงระบบการเงินของประเทศจีน
เเต่หลายสื่อเห็นว่าคำพูดของเเจ็ค หม่า “ไม่ได้เกินจริง” เพราะธนาคารจีนมักไม่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้รายย่อย ทำให้ SMEs จีนไม่ค่อยมีโอกาสลงทุนแบบสมตัวนัก
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ความเคลื่อนไหวของทางการจีน ตีความได้ว่าเป็นการ “สั่งสอน” มหาเศรษฐีแจ็ค หม่า ให้รู้ว่าอำนาจรัฐในการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ ซึ่งข่าวนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไม่น้อย เเละอาจมีผลต่อการพิจารณาซื้อหุ้นทั้งของ Ant Group เเละ IPO อื่นๆ ของจีนด้วย เพราะเกรงว่าต่อไปทางการจีนก็อาจเข้ามาเเทรกเเซงเช่นนี้ได้อีก
โดยความคืบหน้าตอนนี้ Ant Group เพิ่งเริ่มต้นปรับโครงสร้างและรูปแบบธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับฯ ซึ่งมีกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจด้านฟินเทค อย่างการให้สินเชื่อส่วนบุคคล
งานหินของ Ant Group คือการต้องเจรจากับหน่วยงานที่รัฐบาลจีนจัดตั้งขึ้นเพื่อดูเเลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งผู้ควบคุมระบบการเงิน หน่วยงานของธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ ที่จะเข้ามาอัปเดตเเละรวมรวบข้อมูลต่างๆ ของบริษัท เพื่อนำไปสู่การร่างกฎระเบียบอื่นๆ ในอุตสาหกรรมฟินเทค
Bloomberg เคยคาดการณ์ว่า ร่างกฎระเบียบสำหรับผู้ให้กู้รายย่อย ที่ทางการจีนเพิ่งประกาศออกมาเมื่อเดือนพ.ย. อาจเป็นการบังคับให้ Ant Group ต้องเพิ่มเงินทุนถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้บริษัทผ่านเกณฑ์ข้อกำหนด
นอกจากนี้ Ant Group ยังต้องยื่นขอใบอนุญาตใหม่สำหรับแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมขนาดย่อม เบื้องต้นอีก 2 แพลตฟอร์ม อย่าง Huabei และ Jiebei ซึ่งคาดว่าหน่วยงานกำกับฯ ไม่น่าจะอนุมัติใบอนุญาตทั้ง 2 ใบให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าใหญ่เช่นนี้
ยังไม่หมด Ant Group ยังจะต้องยื่นขอใบอนุญาตบริษัทโฮลดิ้งทางการเงินแยกต่างหากจากธนาคารกลาง เพราะมีการทำงานครอบคลุมส่วนงานการเงินมากกว่า 2 ส่วน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ
อุปสรรคมากมายเหล่านี้ ทำให้การเสนอขายหุ้น IPO ไม่ได้เป็นเเผนการใหญ่ลำดับต้นๆ ของ Ant Group อีกต่อไป (อย่างน้อยก็ในช่วง 2 ปีนี้)
ก่อนสิ้นปี 2020 ยังไม่วายที่ Ant Group จะถูกรัฐบาลจีนซัดอีกรอบ เมื่อรายงานหน่วยงานการเงิน ต้องการจะมากำกับธุรกิจ Ant Group โดยอาจจะถึงขั้นยกเลิกบริการให้เงินกู้และอื่นๆ ให้เหลือเพียงธุรกิจรับชำระเงินเท่านั้น
เมื่อ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศสอบสวนบริษัทเเม่ของ Ant Group อย่าง Alibaba ในข้อกล่าวหาว่ามีแนวโน้ม “ผูกขาดอีคอมเมิร์ซ” ในจีน เเละการปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกันผ่านระบบออนไลน์ของ Ant Group อาจส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารจีน
ด้าน Ant Group ยืนยันว่ากำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีน เพื่อให้ธุรกิจทำตามหลักการ และเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ในอนาคต
การหายตัวไปจากพื้นที่สาธารณะของ “เเจ็ค หม่า” ถูกจุดประเด็นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม หลังเขาไม่ได้ไปเข้าร่วมรายการธุรกิจที่เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน ตามกำหนดออกอากาศเดิม
โดยโฆษกของ Alibaba ชี้แจ้งกับสำนักข่าว Reuters ถึงกรณีที่ไม่ได้มาออกรายการนั้นว่า เป็นเพราะมีปัญหาด้านตารางงานที่ไม่ตรงกัน
หลายคนมองว่า การหายไปของมหาเศรษฐีจีนผู้นี้ อาจเป็นการเก็บตัวเงียบเพื่อต่อรองอะไรบางอย่างกับรัฐบาลจีน หรืออาจจะมีอะไรที่พูดไม่ได้ หรืออาจไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น
และนี่คือคืออัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับมหาเศรษฐี “เเจ็ค หม่า” ที่กำลังเป็นปริศนาอยู่ตอนนี้
ที่มา : Aljazeera , nytimes , Reuters , ibtimes