เหล่าสตาร์ทอัพสัญชาติ ‘อินโดนีเซีย’ กำลังรุ่ง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ล่าสุด ‘Traveloka’ เเพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เตรียมยื่นจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ผ่านวิธี SPAC ภายในปีนี้
Ferry Unardi ซีอีโอของ Traveloka ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ถึงมุมมองต่อ Special Purpose Acquisition Company หรือ SPAC ว่ามีประสิทธิภาพมาก
“ถ้าเรายิ่งทำได้เร็ว ก็จะสามารถมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการและการเติบโตของบริษัทได้” พร้อมเเย้มว่า Traveloka อาจพิจารณาจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียในอนาคต
โดยขณะนี้ บริษัทได้หารือกับ JP Morgan เพื่อจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสมก่อนที่จะควบรวม หรือซื้อกิจการ หลังการจดทะเบียนต่อไป
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธี SPAC มากกว่าจะขายหุ้นให้สาธารณะเเบบ IPO ดั้งเดิม กำลังเป็น ‘เทรนด์ใหม่’ ที่บริษัทสตาร์ทอัพเลือกใช้ เรียกง่ายๆ ว่า SPAC คือบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น
โดย Pwc ให้คำจำกัดความของ SPAC ว่า เป็นบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ระดมเงินจากนักลงทุนแล้ว แต่ไม่มีแผนธุรกิจแน่ชัด อาจเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่น หรือมีความตั้งใจจะควบรวมเเละเข้าซื้อกิจการอื่น ซึ่งบริษัท SPAC มีเวลา 2 ปีในการหาธุรกิจที่น่าสนใจเพื่อลงทุน หากเลยระยะเวลาดังกล่าวเเล้วบริษัทจะต้องคืนเงินให้แก่นักลงทุน
ด้านสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียอย่าง Gojek และ Tokopedia ก็กำลังอยู่ระหว่างการสรุปเงื่อนไขการควบรวมกิจการ ก่อนที่จะจดทะเบียนนิติบุคคลร่วมกันในอินโดนีเซียและสหรัฐฯ
โดยทางการอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ถือหุ้นแบบ ‘Dual-Class’ สำหรับหุ้น IPO ของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น
Traveloka เริ่มก่อตั้งบริษัทมาตั้งเเต่ปี 2012 ให้บริการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน ได้รับความนิยมในภูมิภาคอาเซียน เมื่อผู้บริโภคสามารถจองเที่ยวบินและโรงแรมข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น มีเเผนจะขยายการให้บริการในด้านไลฟ์สไตล์ให้หลากหลาย ไปจนถึงให้บริการทางการเงิน
ปัจจุบัน Traveloka ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทลงทุนใหญ่ๆ อย่าง Expedia Group , กองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์ GIC และ JD.com ผลักดันให้บริษัทมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากการเเพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรม ‘ท่องเที่ยว’ ทั่วโลก มีรายงานว่า Traveloka เกือบจะตัดสินใจระดมทุน เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าต่ำกว่าการระดมทุนรอบก่อน
นอกจากนี้ ยังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ด้วยการปรับลดตำแหน่งงานในช่วงการเเพร่ระบาด โดยมีการปลดพนักงานในสิงคโปร์ไปราว 80 ตำเเหน่ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ Traveloka ยืนยันว่า มีการวางแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักเดินทางมากขึ้น โดยในส่วนธุรกิจท่องเที่ยวของบริษัท เริ่มกลับมามีกำไรบ้างเเล้ว หลังประเทศต่างๆ ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่มากนัก