บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกคือหนึ่งในต้นแบบของการบริหารจัดการที่ทำงาน บริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกนโยบาย Work from Home ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด COVID-19 หลังจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทิศทางวิธีการบริหาร “ที่ทำงาน” ของบริษัทเหล่านี้จึงชัดเจนขึ้นว่าจะให้ “ตัวเลือก” พนักงานอย่างไรบ้าง
การออกนโยบาย Work from Home หรือจะทำงานระยะไกลจากที่ไหนก็ได้ ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนกทรัพยากรบุคคล ธุรกิจสำนักงานให้เช่า ฯลฯ ต้องอภิปรายกันถึงความเป็นไปได้ที่วิธีทำงานแบบนี้จะกลายเป็นวิถีระยะยาวของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่น ตั้งแต่อาคารสำนักงาน บ้านพัก คมนาคม ไปจนถึงธุรกิจร้านสูทเลยทีเดียว
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดในสหรัฐฯ เริ่มเห็นแสงสว่าง โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปเกือบครบ 100 ล้านคนแล้ว ทำให้บริษัทเทคฯ เริ่มปรับนโยบายอีกครั้งและกลับมา “เปิดออฟฟิศ”
ลองมาชมตัวอย่างวิธีบริหาร “ที่ทำงาน” ของบางบริษัทดูว่าวางนโยบายไว้อย่างไรบ้าง
Facebook – ขออนุญาตทำงานระยะไกลได้
Facebook เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทจะเริ่มเปิดออฟฟิศสำนักงานใหญ่ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ให้พนักงานกลับเข้างานได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 แต่จะทยอยเปิดให้พนักงานเข้าเพียง 10% ในช่วงเริ่มต้น ก่อนจะค่อยๆ เปิดไปจนถึง 50% ของทั้งหมดภายในต้นเดือนกันยายน 2021
สำหรับพนักงานที่ได้รับอนุญาตให้ Work from Home ยาวมาตั้งแต่ปีก่อน จะได้รับผ่อนผันให้ทำงานจากบ้านต่อไปได้อีก 1 เดือนหลังจากออฟฟิศของบุคคลนั้นมีพนักงานกลับเข้าออฟฟิศแตะ 50% แล้ว (แต่ละแห่งอาจเรียกพนักงานกลับออฟฟิศเร็วช้าต่างกัน)
อย่างไรก็ตาม พนักงานจะยังต้องทำตามระบบรักษาสุขอนามัย เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และมีสุ่มตรวจ COVID-19 ทุกสัปดาห์
แต่ก็มิใช่ว่า Facebook จะบังคับให้พนักงานกลับมาทุกคน ตามวิสัยทัศน์ของ Mark Zuckerberg ซีอีโอบริษัท มองว่าประมาณ 50% ของพนักงาน Facebook จะทำงานจากระยะไกลภายในทศวรรษหน้า และบริษัทอนุญาตพนักงานบางส่วนให้ย้ายไปทำงานระยะไกลถาวรแล้วด้วย เพียงแต่ต้องยอมรับการตัดเงินเดือน เพราะถือว่าพนักงานได้ย้ายออกจากพื้นที่ค่าครองชีพสูงอย่างซิลิคอน วัลเลย์ไปแล้ว
Google – เข้างาน 3 วันต่อสัปดาห์
ผู้นำแห่งการจัดการออฟฟิศ Google ศึกษาผลของการ Work from Home ในช่วงโรคระบาด และพบว่า พนักงาน 62% ต้องการจะเข้าออฟฟิศ “บ้าง” เพื่อพบปะกับพนักงานคนอื่น ดังนั้น รูปแบบออฟฟิศแบบไฮบริดจึงน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด
ในที่สุด เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ซีอีโอ Sundar Pichai ก็ออกแถลงการณ์คร่าวๆ ว่าต้องการให้พนักงานวางแผนพักอาศัยในระยะที่ไปกลับออฟฟิศได้สะดวก เพราะบริษัทจะให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 2 วันสามารถทำงานที่บ้านหรือที่ใดก็ตามที่ต้องการ
ทั้งนี้ หากเป็นพนักงานที่ทำหน้าที่ตอบสนองลูกค้าโดยตรง หรือต้องดูแลดาต้า เซ็นเตอร์ หรือต้องเข้าแล็บเพื่อใช้อุปกรณ์พิเศษ ยังจำเป็นต้องเข้าสถานที่ทำงานทุกวัน
สำหรับช่วงแรกของการกลับเข้าออฟฟิศซึ่งยังต้องระวังเรื่องสุขอนามัย ออฟฟิศจะจัดให้มีระบบจองห้องประชุมที่ให้คนเข้าร่วมได้ไม่เกิน 12 คน หากต้องการประชุมคนเยอะกว่านั้นสามารถจัดได้ในพื้นที่กลางแจ้ง
Pichai ยังกล่าวในแถลงการณ์ด้วยว่าบริษัทจะพัฒนาโปรแกรม Meet และ Workspace อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงลดช่องว่างระหว่างเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในออฟฟิศและทำงานจากบ้านให้มากที่สุด
Google ยังประกาศเปิดออฟฟิศเร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน 2021 แต่จะทยอยเปิดตามสถานการณ์ของแต่ละรัฐ โดยยังไม่บังคับให้กลับมาทุกคน เพราะกำหนดการเดิมคือจะเริ่มให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 เป็นต้นไป
Microsoft – ทำงานแบบ “ไฮบริด”
คล้ายกับ Google เพราะ Microsoft มีการสำรวจพนักงานของตนเองเหมือนกันว่าชอบการทำงานระยะไกลแค่ไหน โดยพนักงานบริษัท 73% ตอบว่าต้องการจะทำงานระยะไกลซึ่งยืดหยุ่นกว่าต่อไป
ทำให้ Microsoft พิจารณาที่จะให้พนักงานมีเวลา Work from Home ได้เป็นมาตรฐานใหม่ของบริษัท และจะใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมต่อให้การทำงานของคนที่อยู่บ้านกับคนที่อยู่ออฟฟิศราบรื่น โดยมีโปรแกรมหัวใจสำคัญคือ Microsoft Team ซึ่งจะถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น
ขณะนี้ Microsoft ยังอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีการจัดทำฉากทัศน์หลายๆ รูปแบบเพื่อค้นหารูปแบบที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการทำงานแบบไฮบริด
ปัจจุบัน Microsoft เริ่มเปิดออฟฟิศให้พนักงานกลับเข้างานแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2021 และยังใช้ระบบสมัครใจ สามารถเลือกเองได้ว่าจะกลับเข้าออฟฟิศหรือไม่ รวมถึงจะมาเป็นประจำ หรือจะสลับวันมาออฟฟิศกับการอยู่บ้านก็ได้
Twitter – ทำงานจากบ้านตลอดไป
หนึ่งในบริษัทใหญ่แห่งแรกๆ ที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ “ตลอดไป” บริษัท Twitter นั้นมีแผนมาตั้งแต่ปี 2018 แล้วที่จะอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้แบบตลอดเวลาและตลอดไป เพราะซีอีโอ Jack Dorsey มองจากประสบการณ์ส่วนตัวว่าการทำงานจากบ้านทำให้งานมีประสิทธิภาพมากกว่า
แน่นอนว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นทางเลือกให้พนักงานที่ต้องการ Work from Home สามารถทำได้เลย
โดยแผนของ Twitter ถูกวางไว้มานาน 2 ปี เมื่อเผชิญโรคระบาดบีบสถานการณ์จึงทำให้แผนถูกนำมาใช้เร็วกว่ากำหนดเท่านั้นเอง
Salesforce – เปิด 3 ทางเลือก
บริษัทซอฟต์แวร์และคลาวด์คอมพิวติ้งแห่งนี้ พิจารณาจากสถานการณ์ช่วงโรคระบาดและออกทางเลือกเป็น 3 ทางให้กับพนักงาน เรียกว่า Flex, Fully Remote และ Office-based
ตามชื่อเรียกของแต่ละแผน คือพนักงานสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเข้าออฟฟิศตามปกติ หรือทำงานถาวรจากบ้าน หรือเข้าบ้างเป็นบางวันนั่นคือแผน Flex แปลว่าควรจะเข้าออฟฟิศประมาณ 3 วันต่อสัปดาห์เพื่อมาทำงานที่อาจจะทำแบบออนไลน์ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทเทคฯ จะเป็นผู้นำเรื่องการทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่ใช่ว่าทุกบริษัทจะมองแบบเดียวกันหรือทำตามได้หมด และไม่ใช่แค่เรื่องการปรับใช้เทคโนโลยี แต่ยังมีเรื่องธรรมชาติของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น Goldman Sachs, J.P.Morgan หรือกระทั่ง Netflix ต่างต่อต้านไอเดียการทำงานจากบ้านแบบถาวร เพราะมองว่าไม่เหมาะกับองค์กรของตนเอง
Source: Bloomberg, CNBC, The Verge, Business Insider