ญี่ปุ่นหวังขึ้นแท่น “ฮับซื้อขายงานศิลปะ” แห่งเอเชีย จากนโยบายเปิดพื้นที่ปลอดภาษีสำหรับงานแฟร์และประมูลงานศิลป์ ช่วงชิงตำแหน่งจาก “ฮ่องกง” ที่ขณะนี้สั่นคลอนด้วยนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งอาจปิดกั้นการสร้างสรรค์ศิลปะเสรี
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามขึ้นแทนที่ฮ่องกงในการเป็นตลาดงานศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งภูมิภาคเอเชีย และเป็นหนึ่งในฮับระดับสากลควบคู่กับฮับแห่งโลกตะวันตก 2 แห่ง คือ ลอนดอน และ นิวยอร์ก หลังจากเกาะฮ่องกงถูกสั่นคลอนตำแหน่งจากกฎหมายความมั่นคงที่เข้ามาดิสรัปต์การสร้างสรรค์ผลงานอย่างเสรี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นปรับข้อบังคับกฎหมายใหม่ อนุญาตให้แกลเลอรีศิลปะ การประมูลศิลปะ และงานนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นในเขตศุลกากร สามารถนำงานศิลป์เข้าสู่ประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งปกติภาษีก้อนนี้อาจคิดเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สำหรับงานที่มีมูลค่าสูงมาก ภาษีนำเข้าจะถูกคิดก็ต่อเมื่องานชิ้นนั้นถูกซื้อและนำเข้ามาในญี่ปุ่น พ้นจากฟรีเทรดโซนดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ดีลเลอร์ศิลปะจะต้องจ่ายภาษีสูงมากเมื่อนำเข้างานศิลป์จากต่างประเทศมาขาย ประมูล หรือจัดแสดงในญี่ปุ่น เมื่อภาษีก้อนนี้ถูกยกเว้นให้ในเขตฟรีเทรดโซน รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าจะกระตุ้นให้แกลเลอรีทั่วโลกพิจารณานำงานมาจัดในญี่ปุ่นมากขึ้น
ชิงส่วนแบ่งตลาดมูลค่าสูง
ข้อมูลจาก Art Basel และรายงานของ UBS Global Art Market ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายศิลปะและของเก่าทั่วโลกมีมูลค่ารวมกัน 5.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 ซึ่งลดลง 22% จากปี 2019 เนื่องจากโรคระบาด COVID-19
20% ในยอดขายจำนวนนี้มาจาก “จีนแผ่นดินใหญ่” จากกลุ่มนักสะสมผู้ร่ำรวยชาวจีนซึ่งมักจะเข้าไปซื้อขายศิลปะที่ฮ่องกง สถานที่จัดงาน Art Basel งานแฟร์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะที่ Art Tokyo ออร์กาไนเซอร์งานแฟร์ของญี่ปุ่น ประเมินว่าตลาดซื้อขายศิลปะภายในญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.76 หมื่นล้านบาท) เมื่อปี 2020 ซึ่งคิดเป็นเพียง 4% ของตลาดซื้อขายศิลปะทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีศักยภาพมากที่จะขึ้นเป็นฮับศิลปะ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐีนักสะสมศิลปะมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 31.9 ล้านคนเข้ามาเมื่อปี 2019
ฮับดึงเศรษฐีนักสะสมแข่งกับ ‘ฮ่องกง’
Nikkei Asia รายงานข้อมูลจากคนในแวดวงตลาดศิลปะว่า ปกติผู้เข้าร่วมงาน Art Basel ที่ฮ่องกงมักจะแวะพักที่โตเกียวและเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่นเพื่อท่องเที่ยวก่อนจะกลับประเทศอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศญี่ปุ่นมีโอกาสมากที่จะดึงคนจากชุมชนศิลปะให้เข้ามาซื้อขายและท่องเที่ยวไปในตัว
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันฮ่องกงถูกสั่นสะเทือนด้วยนโยบายจีนเดียวซึ่งทำให้งานศิลปะอาจถูกปิดกั้นการแสดงออกไปด้วย แต่การจะชิงตำแหน่งจากฮ่องกงมาก็ไม่ง่ายนัก
“ความเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นจะสร้างความตื่นเต้นอย่างมาก และจะดึงการสนองตอบจากโลกแห่งศิลปะตลอดจนกลุ่มนักสะสม” มาร์ค กลิมเชอร์ ประธานบริหาร Pace Gallery หนึ่งในแกลเลอรีขนาดใหญ่ในนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia
แต่เขากล่าวเสริมด้วยว่า “เรามีฐานที่มั่นคงมากในฮ่องกง และเป็นที่ที่ทำให้เราได้สร้างสัมพันธ์กับคนจำนวนมากจากทั่วภูมิภาคนี้ ยากมากที่จะแข่งขันกับสถานที่ที่เป็นประตูทางผ่านแบบฮ่องกง”
“คัตสึระ ยามางุจิ” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจในญี่ปุ่นจากโรงประมูล Christie’s มองว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เกิดงานแฟร์ศิลปะต่างประเทศขึ้นในญี่ปุ่น
“อำนวยความสะดวกการซื้อขายด้วยการปลดภาระภาษีเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก แต่เรื่องสำคัญอย่างแรกคือ ต้องสร้างรากฐานศิลปะให้กับประเทศ” ยามางุจิกล่าว “ตัวอย่างเช่น เปิดพิพิธภัณฑ์ระดับโลก เหมือนอย่างเมืองบิลเบาในสเปนมีกุกเกนไฮม์ ซึ่งไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่ยังเป็นแหล่งรวมคนในแวดวงศิลปะด้วย”