ช่วงเดือนกันยายนปี 2020 มีข่าวว่าสายการบินราคาประหยัดอย่าง ‘แอร์เอเชีย’ (AirAsia) พยามยามที่จะสร้าง ‘ซูเปอร์แอป’ ของตัวเองเพื่อจะแข่งขันกับ ‘โกเจ็ก’ (Gojek) และ ‘แกร็บ’ (Grab) โดยจะให้บริการทั้งส่งอาหาร, ของสด, บริการอีคอมเมิร์ซ และเพย์เมนต์ ล่าสุด แอร์เอเชียก็ปิดดีลกับ ‘โกเจ็กไทย’ เพื่อเดินหน้าปั้นซูเปอร์แอปตามที่ตั้งเป้าไว้
อ่าน >>> ‘AirAsia’ เบรกเรื่องบิน หันมาปั้น ‘ซูเปอร์แอป’ ท้าชน ‘Grab’ ‘Gojek’ และ ‘Wechat’
มีรายงานจาก Nikkei Asia ระบุว่า สายการบินราคาประหยัด ‘แอร์เอเชีย’ กำลังพูดคุยในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อซื้อกิจการ ‘โกเจ็ก’ ในประเทศไทย โดยแหล่งข่าวในรัฐบาลมาเลเซีย เปิดเผยว่า หน่วยงานที่กำกับของมาเลเซีย ได้อนุมัติให้แอร์เอเชียซื้อกิจการได้แล้ว โดยคาดว่าจะมีการประกาศการทำสัญญาระหว่างกันเร็ว ๆ นี้
ล่าสุด ‘แอร์เอเชีย ดิจิทัล’ หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลภายใต้กลุ่มแอร์เอเชียก็ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าการเข้าซื้อกิจการของโกเจ็กในประเทศไทยเสร็จสิ้นแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามแผนการเดินหน้าขยายการเติบโตของ airasia super app ให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน
ขณะเดียวกันก็ทำให้โกเจ็กสามารถเพิ่มการลงทุนในการดำเนินงานได้โดยเฉพาะในตลาด เวียดนาม และ สิงคโปร์ โดยโกเจ็กจะเข้าถือหุ้นบางส่วนในแพลตฟอร์ม airasia super app ซึ่งมีมูลค่าประเมินทางตลาดอยู่ที่ประมาณ 1พันล้านเหรียญสหรัฐ
โทนี่ เฟอร์นันเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ airasia super app ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมศักยภาพและสร้างระบบนิเวศธุรกิจของโกเจ็กให้ดีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับพนักงานรับส่งของ ร้านค้า และลูกค้าด้วยสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่มีมากขึ้น เช่น อาหาร ของชำ สินค้าเกี่ยวกับความงาม และการจัดส่งพัสดุด่วน ควบคู่ไปกับบริการเรียกรถรับ-ส่ง โดยตั้งเป้าขยายสู่ตลาดใหม่ในประเทศ อาทิ เชียงใหม่และภูเก็ตในอนาคตอันใกล้
“การประกาศในวันนี้คือ การเริ่มต้นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระยะยาวอย่างยิ่งใหญ่กับ Gojek ของกลุ่มแอร์เอเชีย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมสั่นสะเทือนอย่างแน่นอน ด้วยการผนึกกำลังและสานต่อธุรกิจที่มั่นคงของโกเจ็กในประเทศไทย เชื่อว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนความมุ่งมั่นของเราในพื้นที่นี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ”
อ่าน >>> เหล้าเก่าในขวดใหม่? รื้อเหตุผล ทำไม ‘Get’ ถึงต้องเป็น ‘Gojek’
ปัจจุบัน กลุ่มดิจิทัลของแอร์เอเชียประกอบด้วยบริษัทดิจิทัลหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ‘airasia super app’ แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์สำหรับการท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ บริการทางการเงิน บริการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตรที่ขนส่งตรงจากฟาร์มผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพและการศึกษา
‘Teleport’ บริษัทร่วมทุนด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ พร้อมส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมงทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครอบคลุม 77 เมืองใน 5 ประเทศ และธุรกิจฟินเทค ‘BigPay’ ที่กำลังเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกรรมธนาคารแบบเสมือน (Virtual Bank) รายแรกในภูมิภาค มีผู้ใช้บริการ 1.3 ล้านราย
ทั้งนี้ แอป Gojek จะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ สำหรับผู้ใช้เพื่อรับบริการในกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จนกระทั่งรวมกับ airasia super app ในขณะที่พนักงานรับส่งของทุกคน และร้านค้า จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานกับ airasia super app เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป