เเผนเปิดกรุงเทพฯ จ่อเลื่อน เหตุฉีดวัคซีนยังล่าช้า ได้ไม่ถึง 70% วิจัยกรุงศรี ประเมินยอดผู้ติดเชื้อ ‘ผ่านจุดสูงสุด’ แล้ว สิ้นปีอาจเหลือ 2,500 รายต่อวัน เสียชีวิต 40 รายต่อวัน เเม้ผ่อนคลายมาตรการ แต่ยังน่ากังวล–ไม่แน่นอนสูง รัฐใช้เเผนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หวังหารายได้ชดเชยภาคท่องเที่ยว อาจต้องรอนานถึงปี 68 กว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาระดับปกติ
จ่อเลื่อนเเผนเปิดกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 70%
วิจัยกรุงศรี ประเมินว่า ทางการจะเลื่อนเปิดกรุงเทพฯ ซึ่งการผ่อนคลายในระยะต่อไปยังต้องระมัดระวัง และอาจขึ้นอยู่กับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระยะที่ 2 เบื้องต้นเตรียมเปิดเพิ่มอีก 4 จังหวัดพื้นที่นำร่องในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ได้แก่ เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) ชลบุรี (พัทยา สัตหีบ อ.บางละมุง) เพชรบุรี (ชะอำ) และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน)
ส่วนในกรุงเทพฯ อาจต้องเลื่อนออกไปจนกว่าจำนวนประชากรในพื้นที่จะได้รับวัคซีน 2 โดส ตามเกณฑ์ที่ 70% ของประชากร ล่าสุด ณ วันที่ 19 กันยายน มีอัตราการฉีดที่ 40.7%
ยอดติดเชื้อรายวันผ่าน ‘จุดสูงสุด’ แต่ยังน่ากังวล
อย่างไรก็ตาม เเม้ทางการจะทยอยเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แต่ความกังวลและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยจะยังสูงอยู่ ‘อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564’ หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม
ในกรณีฐาน : การฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะช่วยควบคุมการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง ภายใต้ข้อสมมติว่า ฉีดวัคซีนเฉลี่ยวันละ 460,000 โดส และประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 50%
วิจัยกรุงศรี มองว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ตลอดช่วงที่เหลือของปี โดยในช่วงสิ้นปีจะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 2,500 รายต่อวัน และเสียชีวิตราว 40 รายต่อวัน
“มาตรการควบคุมการระบาดจึงยังมีความจำเป็น การผ่อนคลายมาตรการควรดำเนินการไปทีละขั้นตอนแต่ยังคงข้อจำกัดบางประการด้วยความระมัดระวังตลอดทั้งปี”
ทั้งนี้ อาจมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้หรือเป็นช่วงที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 150 รายต่อวัน
ในกรณีเลวร้าย : แม้จะฉีดวัคซีนได้ 90 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เเต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจยังอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมเร็วเกินไป ในกรณีนี้อาจเห็นการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง
ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หวังหารายได้ชดเชยท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ทางการได้เตรียมออกมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยตั้งเป้า 5 ปี (2565-2569) ไว้ที่ราว 1 ล้านล้านบาท เเบ่งเป็นเพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท หวังสร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงที่ภาคท่องเที่ยวยังฟื้นช้า
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
1. กลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูง
2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
คาดจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาปกติ ปี 68
เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ ‘ภาคท่องเที่ยว’ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละเกือบ 2 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนต่อปี
ขณะที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มล่าช้า วิจัยกรุงศรี คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดอาจต้องใช้เวลาหลายปี หรือราวปี 2568
ปัจจุบันแม้แผนการฉีดวัคซีนจะเร่งขึ้นแต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีเพียง 0.15 ล้านคน และ 2.5 ล้านคน ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ
ผลจากการระบาดที่รุนแรงกว่าคาดจึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและทำให้แผนการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวหลักบางแห่งเลื่อนช้าออกไปอีก ทั้งหลายประเทศสำคัญได้ปรับยกระดับคำเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและอังกฤษ
“การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียอาจล่าช้า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน และการกลายพันธุ์ของไวรัส”
- กรณีศึกษา “ล็อกดาวน์” ยิ่งเข้ม ยิ่งฟื้นเร็ว แต่ต้องสื่อสาร มาตรการชัดเจน
- เมย์แบงก์ ประเมินเศรษฐกิจชาติอาเซียน ส่งสัญญาณฟื้นตัว ไทยยังติดผลกระทบ ‘ท่องเที่ยว’