ถึงมาช้ากว่าแต่มาแน่! ค่ายรถญี่ปุ่น “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” ประกาศเป้าหมายปี 2567 รถยนต์นั่งที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย จะเป็นรถ “xEV” ทั้งหมด โดยยังไม่เร่งก้าวกระโดดเข้ารถยนต์ประเภทใช้ไฟฟ้า 100% เชื่อว่าประเทศไทยต้องปรับฐานแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้านรถรุ่นเรือธงของปีนี้ส่ง “New Xpander” ลุยตลาด ปรับโฉมใหม่และพัฒนาประสิทธิภาพ พร้อมเปิดจอง 22 มีนาคมนี้
ปล่อยให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยก่อน แต่ค่ายรถญี่ปุ่นที่ตั้งฐานในเมืองไทยมามากกว่า 3 ทศวรรษอย่าง “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” กำลังขยับเข้าตลาดเช่นกัน โดย “เออิอิชิ โคอิโตะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยแผนในงานแถลงข่าวประจำปี 2565 บริษัทเตรียมบุกตลาดรถอีวีอย่างเต็มที่
เป้าหมายในปี 2567 รถยนต์นั่งที่ผลิตและจำหน่ายในไทยของ “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” จะเป็นรถประเภท xEV ทั้งหมด โดยหมายรวมทั้งรถประเภท PHEV (Plug-in Hybrid EV รถยนต์ที่ใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและสันดาป) และรถประเภท BEV (Battery EV รถยนต์ไฟฟ้า 100%) ทั้งนี้ รถประเภทอื่น เช่น ปิกอัพ และรถยนต์นั่งที่ผลิตเพื่อส่งออก อาจจะยังมีรถประเภทสันดาปที่ผลิตอยู่
โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์สชิมลางตลาดรถอีวีไทยไปแล้วด้วยรุ่น “Outlander” ซึ่งเป็นรถ PHEV ออกจำหน่ายเมื่อเดือนมกราคม 2564
ปัจจุบันสายการผลิตรถ xEV ในไทยของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เออิอิชิกล่าวว่ามีไลน์แพ็กเกจจิ้งแบตเตอรี่แล้วที่โรงงานในแหลมฉบัง ส่วนการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าส่วนอื่นๆ มีเป้าหมายจะผลิตและใช้ซัพพลายในไทยให้มากที่สุดที่ทำได้ หากมีดีมานด์สูง อาจจะพิจารณาก่อสร้างโรงงานใหม่สำหรับรถอีวีโดยเฉพาะได้ในอนาคต
ขอสร้างฐานด้วย PHEV ก่อน
เออิอิชิกล่าวว่า บริษัทไม่กังวลแบรนด์ที่เริ่มบุกตลาดด้วย BEV แล้ว เนื่องจากการศึกษาตลาดของบริษัทเองกับผู้ทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย พบว่า แม้รถยนต์ BEV ที่วางคุณสมบัติให้สามารถขับขี่พิสัยไกลได้ถึง 400 กม. จะทำได้จริงตามที่โฆษณา แต่ไฟฟ้าเกือบจะหมดจนเหลือศูนย์ ท่ามกลางระบบนิเวศไทยที่ยังมีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้ยังไม่มั่นใจนักหากจะขับรถ BEV ทางไกล
เรามองว่าการสร้างฐานตลาดจากรถ PHEV ก่อน เป็นการทำให้ฐานตลาดเข้มแข็งกว่าการกระโดดเข้าสู่ BEV เลยทีเดียว
มิตซูบิชิ มอเตอร์สจึงเห็นว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน รถยนต์ประเภท PHEV ยังมีความสำคัญ เพราะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าเมื่อขับขี่ในเมือง และใช้เครื่องยนต์สันดาปสำหรับการขับขี่ระยะไกล คาดว่าในระยะแรก รถยนต์ BEV จะยังมีลักษณะเป็น “รถคันที่สอง” ของครอบครัว ไม่ใช่รถคันหลัก
“เรามองว่าการสร้างฐานตลาดจากรถ PHEV ก่อน เป็นการทำให้ฐานตลาดเข้มแข็งกว่าการกระโดดเข้าสู่ BEV เลยทีเดียว และขณะนี้รัฐบาลไทยก็เริ่มส่งเสริมตลาดแล้ว” เออิอิชิกล่าว
ด้านการพัฒนารถ BEV ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งเซ็น MOU กับ “ไปรษณีย์ไทย” และ บมจ. ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก หรือ “OR” นำเข้ารถ “มินิแวน” รุ่น “มินิแค็บ มีฟ” ที่ใช้ไฟฟ้า 100% มาใช้ในการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทยจำนวน 2 คัน เพื่อทดลองการใช้งานในเส้นทางประจำระหว่างกรุงเทพฯ-ปทุมธานีเป็นเวลา 1 ปี ส่วน OR จะติดตั้งสถานีชาร์จ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 2 แห่ง
โดยบริษัทเริ่มทดลองกับการใช้รถเชิงพาณิชย์ก่อนเพราะเห็นว่าจะเป็นตลาดที่สำคัญ และบริษัทจะมีโอกาสเก็บข้อมูลไปพัฒนารถให้เหมาะกับเมืองไทยซึ่งมีความต่างจากญี่ปุ่นหลายด้าน เช่น สภาพอากาศ
เรือธงปีนี้ส่ง “New Xpander” ลงตลาด
เออิอิชิกล่าวต่อถึงการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของปีนี้ โดยต่อยอดจากความสำเร็จของรถรุ่น Xpander ที่สามารถครองตลาดรถประเภท MPV ได้ 60-70%
ปีนี้จะมีการออกรุ่น New Xpander ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากอินโดนีเซียที่มีการเปิดขาย รุ่นนี้จะมีการปรับปรุงใหม่หลายๆ ด้าน ดังนี้
- มีการปรับรูปลักษณ์ภายนอกและภายในให้มีความสปอร์ตสูงขึ้นในสไตล์รถ SUV เพิ่มอุปกรณ์ใหม่ทันสมัยกว่าเดิม
- ปรับช่วงล่างให้ศักยภาพดีขึ้น โช้กอัพปรับให้เท่ากับรุ่น Pajero Sport ใช้ล้อแมกซ์ 17 นิ้ว รับน้ำหนักได้ดีขึ้น
- ปรับ Ground Clearance (ความสูงจากพื้นถนน) สูงขึ้นเป็น 220 มม. แต่จะไม่โคลงเคลงในการขับขี่ โดยรวมแล้วทำให้การขับขี่แบบ off-road ทำได้ดี ตาม DNA ของมิตซูบิชิ มอเตอร์สที่เป็นรถสำหรับแข่งแรลลี่ ลุยได้แม้เป็นทางขรุขระ
- เปลี่ยนจากเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด เป็นเกียร์ Eco Dynamic CVT รอบเครื่องหมุนน้อยลงเพื่อทำความเร็วเท่าเดิม ซึ่งทำให้ประหยัดพลังงานได้ 13% และยังทำให้การเร่งเครื่องจาก 0-100 กม./ชม. ลดเวลาลง 2 วินาที
ขณะนี้มิตซูบิชิ มอเตอร์สยังไม่ประกาศราคา New Xpander แต่จะเปิดให้สัมผัสและทดลองขับคันจริงที่งานมอเตอร์โชว์ประจำปี 2565 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี อย่างไรก็ตาม จะเปิดจองผ่านดีลเลอร์ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมนี้ และเริ่มจำหน่ายจริงช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 บริษัทยังแย้มด้วยว่า ผู้ที่สนใจและต้องการรถด่วนควรรีบจองก่อน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังส่งผลต่อการผลิตอยู่ในขณะนี้
ปิดท้ายที่ผลการดำเนินงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เมื่อปี 2564 เออิอิชิรายงานว่า ปีก่อนสถานการณ์ตลาดเริ่มดีขึ้นจากดีมานด์ต่างประเทศ ทำให้การผลิตและการส่งออกดีขึ้น โดยการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น 41.3% เป็น 318,000 คัน และการส่งออกเพิ่ม 54% เป็น 285,000 คัน
ฐานผลิตมิตซูบิชิ มอเตอร์สในไทยถือเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกของแบรนด์ มีกำลังผลิต 400,000 คันต่อปี และมีการส่งออกสะสมแล้ว 4 ล้านคัน เป้าหมายต่อไป บริษัทต้องการจะส่งออกสะสมให้ได้ 5 ล้านคันเร็วๆ นี้